THG ปัด “หมอบุญ” ไม่เกี่ยว “จิณณ์ เวลบีอิ้ง ฯ” พร้อมชี้แจงงบการเงินรวม
หุ้นวิชั่น - นางสาวจินดา อริยพรพงศ์ เลขานุการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) หรือ THG ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงบการเงินรวมของบริษัทฯ สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 และโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ นั้น คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 โดยได้พิจารณาข้อสอบถามเพิ่มเติมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้ 1.การตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ ได้ตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากการดำเนินงานของบริษัทฯ (“ค่าเผื่อฯ”) รวมทั้งสิ้นจำนวน 336 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 343 เมื่อเทียบกับงบการเงินรวมของบริษัทฯ สำหรับปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 นั้น บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงสาเหตุและรายละเอียดตามกลุ่มลูกหนี้ค่าเผื่อฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้ 1.1 กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19 บริษัทฯ และบริษัทย่อย ได้แก่ บจ. โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง บมจ. โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี บจ. ตรังเวชกิจ และ บจ. ธนบุรี เวลบีอิ้ง (“บริษัทย่อยฯ”) มีลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19 ซึ่งรับรู้ค่าเผื่อฯ ในงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 จำนวนรวม 284 ล้านบาท สาเหตุของการรับรู้ค่าเผื่อฯ ในงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 จำนวนรวม 284 ล้านบาท นั้นเป็นเพราะที่ผ่านมา บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ ประสบปัญหาเกี่ยวกับการได้รับชำระเงินจากหน่วยงานภาครัฐ ในส่วนของการเบิกจ่ายจากการให้บริการรักษาพยาบาลในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในช่วงปี 2564 – 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย โดยเฉพาะ บจ. โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง (“THB”) ได้รับรู้รายได้จากการให้บริการผู้ป่วยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการประมาณการส่วนลดเพื่อสะท้อนจำนวนเงินที่คาดว่าจะได้รับชำระ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลและอัตราที่ได้รับชำระจริงในอดีต โดยใช้อัตราส่วนที่คาดว่าจะได้รับชำระในช่วงระหว่างร้อยละ 29 ถึงร้อยละ 60 ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามหลักความระมัดระวัง และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป ในปี 2567 เนื่องจากบริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ ได้รับรู้รายได้โดยรับรู้ประมาณการส่วนลดซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลและอัตราส่วนลดที่เกิดขึ้นจริงแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19 มีสถานะค้างชำระนานเกินกว่า 365 วัน และการชำระหนี้จากหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ จะติดตามทวงถามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนในอนาคต ดังนั้น เพื่อสะท้อนความเสี่ยงทางการเงินอย่างเหมาะสมและระมัดระวัง บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ จึงได้ตั้งค่าเผื่อฯ จำนวนร้อยละ 75 ของมูลหนี้คงเหลือ อย่างไรก็ตาม หากภายในสิ้นปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ ยังไม่ได้รับการชำระหนี้ค้างจากหน่วยงานภาครัฐสำหรับลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19 บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ จะพิจารณาตั้งค่าเผื่อฯ เพิ่มเติมเป็นร้อยละ 100 ของมูลหนี้คงเหลือ ซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 81 ล้านบาท การพิจารณาตั้งค่าเผื่อฯ ดังกล่าวสะท้อนถึงการประเมินความเสี่ยงผลขาดทุนด้านเครดิตและเป็นการดำเนินการตามหลักความระมัดระวัง 1.2 ลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วยซึ่งรับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยตนเอง ในปี 2566 บริษัทย่อยของบริษัทฯ รายบริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (“THB”) ได้บันทึกบัญชีลูกหนี้คงค้างในกลุ่มลูกหนี้ค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 42 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีอย่างละเอียดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วว่ารายการดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่อาจไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพื่อให้การบันทึกบัญชีสะท้อนถึงสภาพการณ์ที่แท้จริงและสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ จึงได้ตัดสินใจตั้งค่าเผื่อฯ ไว้เต็มจำนวนสำหรับยอดลูกหนี้ดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายการลูกหนี้ดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ในรูปแบบของรายการอันควรสงสัย และได้จัดส่งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) แล้ว 1.3 ลูกหนี้การค้าอื่น และลูกหนี้อื่น ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 บริษัทย่อยของบริษัทฯ ราย บจ. ตรังเวชกิจ ตั้งค่าเผื่อฯ จำนวน 1 ล้านบาทสำหรับรายการลูกหนี้การค้าอื่น ซึ่งเป็นการตั้งค่าเผื่อฯ เพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งค้างชำระนานเกินกว่า 180 วัน เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ด้านเครดิตของลูกหนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลง ในช่วงเวลาเดียวกัน THB ได้ตั้งค่าเผื่อฯ เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาทสำหรับรายการลูกหนี้อื่น โดยบริษัทฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ารายการดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้และถือเป็นรายการอันควรสงสัย ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 และจัดส่งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการดังกล่าวไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบกับการเปิดเผยข้อมูลตามรายละเอียดข้างต้น และมีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้ การตั้งค่าเผื่อฯ สำหรับลูกหนี้กลุ่ม COVID-19 เป็นการดำเนินการตามหลักความระมัดระวัง แม้ว่าลูกหนี้จะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สำหรับลูกหนี้อื่นนั้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของบริษัทฯ การตั้งค่าเผื่อฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ เนื่องจากผลประกอบการจากการดำเนินงานตามปกติ (ไม่รวมการบันทึกบัญชีค่าเผื่อฯ) ไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานแต่อย่างใด การพิจารณาตั้งค่าเผื่อฯ นั้น บริษัทฯ ได้มีการหารือร่วมกับผู้สอบบัญชีเป็นประจำทุกปี โดยยึดหลักความระมัดระวังที่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เป็นกระบวนการที่เป็นไปตามปกติของการดำเนินธุรกิจ หากมีความจำเป็นต้องตั้งค่าเผื่อฯ หรือรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่า บริษัทฯ จะพิจารณาและดำเนินการตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลทางการเงินสะท้อนถึงสถานะและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ 2.รายการกับ Bewell Saigon Health Clinic Company Limited ในปี 2566 บริษัทฯ ได้เข้าทำข้อตกลงร่วมทุนกับ IFF Holdings Joint Stock Company เพื่อจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง โดย IFF Holdings Joint Stock Company จะถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 60 และบริษัทฯ (หรือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทฯ) จะถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 40 (“บริษัทโฮลดิ้ง”) และบริษัทโฮลดิ้งจะถือหุ้นร้อยละ 100 ใน Bewell Saigon Health Clinic Company Limited (“Bewell”) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในประเทศเวียดนามเพื่อดำเนินธุรกิจคลินิกตรวจสุขภาพเชิงลึก โดย IFF Holdings Joint Stock Company มิได้เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ แต่อย่างใด ในปี 2566 และ 2567 บริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบเงินให้กู้ยืมแก่ Bewell เพื่อใช้สำหรับการตกแต่งสถานที่ ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือ และการเช่าพื้นที่สำหรับการตั้งคลินิก ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ณ ปัจจุบัน Bewell มีภาระหนี้คงค้างประมาณ 49 ล้านบาท (เทียบเป็นเงินบาทไทย) นอกจากนี้ ผู้ร่วมทุน IFF Holdings Joint Stock Company ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ Bewell เช่นกัน จำนวนประมาณ 12.5 ล้านบาท (เทียบเป็นเงินบาทไทย) พร้อมทั้งสนับสนุนในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น การจัดหาสถานที่ การบริหารและควบคุมกระบวนการก่อสร้าง ตลอดจนการจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง สำหรับเงินกู้บางส่วนซึ่งบริษัทฯ ได้ให้แก่ Bewell จำนวนประมาณ 12.6 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดชำระแล้วนั้น บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาแปลงหนี้ดังกล่าวเป็นเงินลงทุนในบริษัทโฮลดิ้ง และ/หรือ Bewell โดยมีกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2568 ในส่วนของใบอนุญาตดำเนินการคลินิกของ Bewell นั้น บริษัทฯ คาดการณ์ว่า Bewell จะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาสแรกของปี 2568 ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทฯ คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบกับการเปิดเผยข้อมูลตามรายละเอียดข้างต้น และมอบหมายให้ฝ่ายบริหารดำเนินการติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด และรายงานผลให้คณะกรรมการบริษัทฯ ทราบในการประชุมคณะกรรมการคราวถัดไป เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด 3.รายการเกี่ยวกับหนี้ของบริษัทฯ จากผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ซึ่งไม่เป็นไปตามคาดการณ์ รวมถึงรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินตามที่กำหนดไว้ในสัญญาที่บริษัทฯ ทำไว้กับ Credit Guarantee and Investment Facility, a trust fund of the Asian Development Bank (“CGIF”) ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทฯ ได้นั้น ไม่มีผลทำให้ผู้ค้ำประกันหนี้สามารถเพิกถอนการค้ำประกันหนี้ได้ และไม่มีผลทำให้บริษัทฯ ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตามหนี้แต่อย่างใด ทั้งนี้ ผลจากการไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าวได้ ทำให้บริษัทฯ มีภาระต้องชำระค่าปรับให้แก่ CGIF ตามข้อกำหนดในสัญญา ซึ่งถือเป็นมาตรฐานปกติของสัญญาประเภทนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ CGIF เพื่อขอผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการในสัญญา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะได้รับข้อสรุปดังกล่าวภายในไตรมาสแรกของปี 2568 ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทฯ คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบกับการเปิดเผยข้อมูลตามรายละเอียดข้างต้น และมอบหมายให้ฝ่ายบริหารเจรจาผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการกับ CGIF เพื่อให้บริษัทฯ ไม่ต้องมีภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นมากนัก 4.รายการเกี่ยวกับโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ 4.1 สถานะและความคืบหน้าของการขายโครงการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (“ธนบุรี เวลบีอิ้ง”) ยังคงดำเนินการขายโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ตามปกติ ซึ่งโครงการมีจำนวนห้องทั้งหมด 494 ห้อง ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 โครงการมีจำนวนห้องที่ ยังไม่ได้ขายจำนวน 234 ห้อง โดย ธนบุรี เวลบีอิ้ง ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น การออกบูธประชาสัมพันธ์โครงการ และการนำเสนอโครงการผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและสร้างความรับรู้ในตัวโครงการอย่างสม่ำเสมอ และในเดือนธันวาคม 2567 ธนบุรี เวลบีอิ้ง เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวน 3 ห้อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ธนบุรี เวลบีอิ้ง ได้รับผลกระทบจากข่าวต่าง ๆ ในทางลบ ทำให้ลูกค้ายกเลิกการซื้อกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวน 2 ห้อง และขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดสำเร็จเพียง 1 ห้อง 4.2 การเปลี่ยนการบันทึกโครงการจากสินทรัพย์หมุนเวียนไปเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน รายการซึ่งมีการเปลี่ยนการบันทึกโครงการจากสินทรัพย์หมุนเวียนไปเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนคือที่ดินที่ ธนบุรี เวลบีอิ้ง ได้จัดสรรไว้สำหรับการพัฒนาโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เฟส 2 และ 3 ในอนาคต โดยที่ดินดังกล่าวมีขนาดพื้นที่ 28,469.44 ตร.ว. มูลค่าต้นทุน 840.39 ล้านบาท ซึ่งเดิมจัดอยู่ในประเภทสินทรัพย์หมุนเวียน อย่างไรก็ตาม หลังจากการประเมินสถานการณ์โดยรอบคอบ บริษัทฯ เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่จะยังไม่มีการเริ่มต้นก่อสร้างหรือพัฒนาในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า ซึ่งตามมาตรฐานบัญชี หากสินทรัพย์ไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะเวลาสั้น และมีลักษณะการถือครองเพื่อการพัฒนาในระยะยาว บริษัทฯ จำเป็นต้องปรับปรุงการจัดประเภทของที่ดินดังกล่าวจาก “สินทรัพย์หมุนเวียน” เป็น “สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน” เพื่อให้สะท้อนถึงลักษณะการใช้งานจริง และสอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต 4.3 การขายห้องชุดของโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 ธนบุรี เวลบีอิ้ง มีรายได้รอการรับรู้จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการขายห้องชุดแบบตกแต่งครบ (Fully Furnished) ให้กับบริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด ซึ่งราคาขายดังกล่าวได้รวมค่าเฟอร์นิเจอร์ไว้ด้วย แต่เนื่องจากการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ยังไม่แล้วเสร็จ ธนบุรี เวลบีอิ้ง จึงยังไม่สามารถรับรู้รายได้ในส่วนค่าเฟอร์นิเจอร์ตามมาตรฐานบัญชีได้ ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ขอยกเลิกการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ และ ธนบุรี เวลบีอิ้ง ได้หักกลับลบหนี้ระหว่างรายการค้างรับและรายการค้างจ่าย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดรายได้รอการรับรู้จำนวน 20 ล้านบาทนี้ ไม่ถือเป็นหนี้สินทางบัญชีอีกต่อไป ความเห็นคณะกรรมการบริษัทฯ คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบกับการเปิดเผยข้อมูลตามรายละเอียดข้างต้น และมอบหมายให้ฝ่ายบริหารเน้นย้ำให้สาธารณชนรับทราบว่านายแพทย์บุญ วนาสิน ไม่ได้มีส่วนร่วมในการลงทุนในโครงการดังกล่าว โดยโครงการนี้เป็นการลงทุนโดย ธนบุรี เวลบีอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นเกือบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าข้อมูลข้างต้นจะช่วยเพิ่มความชัดเจนแก่นักลงทุน ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในหลักการบริหารจัดการที่โปร่งใส และมุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างยั่งยืนในระยะยาว