#STARK


ศาลแพ่งไฟเขียว! คดีแบบกลุ่มหุ้น STARK  ผู้เสียหายลุ้นความยุติธรรม

ศาลแพ่งไฟเขียว! คดีแบบกลุ่มหุ้น STARK ผู้เสียหายลุ้นความยุติธรรม

          หุ้นวิชั่น - ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ดำเนินคดีแบบกลุ่ม สืบเนื่องจากคำประกาศฉบับที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 กลุ่มตัวแทนโจทก์ผู้เสียหาย มีคำร้องขอให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ช่วยกระจายข่าวสารไปยังกลุ่มผู้เสียหายเมื่อมีความคืบหน้าของคดี การยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 ซึ่งศาลได้กำหนดนัดฟังคำสั่งเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มในวันนี้ (วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น.)                     วันนี้-18 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 611 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลได้โปรดมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 โดยอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าในคดีดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ และศาลได้กำหนดขอบเขตของสมาชิกกลุ่ม ดังนี้ “กลุ่มบุคคลที่ซื้อหรือขายหุ้นของบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2566”           ทั้งนี้ จำเลยในคดียังคงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลดังกล่าวได้           ผลของคำสั่งศาลที่อนุญาตให้คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญของ STARK ดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action นับเป็นคดีแบบกลุ่มเกี่ยวกับหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญคดีแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับแต่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของกระบวนการยุติธรรมในการเริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนมากให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้           โดยผลของการที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มจะส่งผลให้ผลของคดีที่ดำเนินการโดยโจทก์ทั้งห้าในคดี และคำพิพากษาของคดีดังกล่าว (เมื่อศาลมีคำพิพากษาในลำดับต่อไป) มีผลผูกพันสมาชิกในกลุ่มที่มีลักษณะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกันด้วยโดยอัติโนมัติ           สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตามกระบวนการยุติธรรม ให้บังเกิดผล และช่วยกระจายข่าวสารไปยังกลุ่มผู้เสียหายตามคำร้องขอของโจทก์ตัวแทนผู้เสียหายเมื่อมีความคืบหน้าของคดี เป็น “คำประกาศ” ไปแล้ว เป็นจำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1/2567 ลว. 19 กันยายน 2567 และ ฉบับที่ 2/2567 ลว. 12 พฤศจิกายน 2567           นอกจากนี้ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ยังมีการแจ้งข้อมูล ผ่านช่องทางการสื่อสาร คือ 1) ระบบออนไลน์ ตามอีเมล์ของผู้เสียหายแต่ละบุคคลที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคมฯ  2) ระบบออนไลน์ ในหน้าเว็ปไซด์ ของสมาคมฯ คือ www.thaiinvestors.com (ชื่อเมนู Class  Action) ตลอดจนได้รับความอนุเคราะห์ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน และสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับทราบข้อมูล ตระหนักแห่งสิทธิของตนอย่างทั่วถึง           หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมอย่างไร สมาคมฯ จะแจ้งให้ทุกท่านทราบต่อไป

DSI เปิดเวทีเสวนา STARK: ถอดบทเรียน

DSI เปิดเวทีเสวนา STARK: ถอดบทเรียน "แผนประทุษกรรม" สู่วิธีป้องกัน-เยียวยาผู้เสียหายกว่า 14,000 ล้านบาท

          หุ้นวิชั่น -  วันนี้ (2 ธันวาคม 2567) ณ ห้องประชุม 10-09 อาคารกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจตรี ยุทธนาแพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “แผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)” ขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากการกระทำความผิดในตลาดทุนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มีพฤติการณ์การตกแต่งบัญชีและใช้งบการเงินอันเป็นเท็จในลักษณะที่มุ่งหวังหลอกลวงนักลงทุนผ่านการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนและเสนอขายหุ้นกู้ โดยการกระทำดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียหายรวมกว่า 4,700 ราย และมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 14,000 ล้านบาท                     เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามาตรการป้องกันในเชิงรุกที่ครอบคลุมและทันเหตุการณ์ยิ่งขึ้นรวมถึงเพื่อพัฒนามาตรการเยียวยาผู้เสียหายให้เหมาะสมกับบริบทและรูปแบบสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นประธานคณะทำงาน มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงานอัยการสูงสุด กรมบังคับคดี สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านกฎหมายและด้านตลาดทุน รวมถึงตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญเป็นคณะทำงาน และมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ (1) เพื่อเป็นกรณีศึกษา โดยมีกรณีศึกษาของบริษัท สตาร์คฯ เป็นศูนย์กลางของการถอดบทเรียน (2) เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและกรอบการดำเนินงานเพื่อป้องกันและปราบปรามคดีที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม และ (3) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่มีประสิทธิภาพในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของตลาดทุนและตลาดเงินในการสร้างระบบการกำกับดูแลตรวจสอบและแจ้งเตือนล่วงหน้า อันจะยังผลให้ตลาดทุนและตลาดเงินมีเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสตรวจสอบได้ตามมาตรฐานสากล                       หลังจากคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมฯได้มีการประชุมร่วมกันทั้งสิ้น 7 ครั้ง เพื่อยกร่างรายงานศึกษาการถอดบทเรียนแผนประทุษกรรมกรณีดังกล่าว โดยได้เชิญหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ปปง. รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการตรวจสอบบัญชี มาให้ข้อคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ อีกทั้งยังมีการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ร่างรายงานศึกษาการถอดบทเรียนฯ มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนในทุกมิติ นำไปสู่การร่างเอกสารรายงานศึกษาการถอดบทเรียน ประกอบด้วย 4 บท ได้แก่ (1) ข้อเท็จจริงและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ บริษัท สตาร์คฯ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธีการ Backdoor Listing จนถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด (2) มาตรการป้องกันที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และที่ควรมีเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของการกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน กรรมการอิสระ การจัดทำลักษณะ/พฤติการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิด (red flag) และผู้ให้เบาะแส (whistle blower)      (3) มาตรการปราบปรามและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความซ้ำซ้อนและระยะเวลาในภาพรวมที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวน และ (4) มาตรการเยียวยา ซึ่งรวมถึงแนวทางในการติดตามเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเพื่อคืนให้กับผู้เสียหาย ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีแนวคิดในเรื่องการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ                     การจัดงานเสวนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี/ประธานคณะทำงาน นายธวัชชัย  พิทยโสภณ รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นผู้ร่วมเสวนา  โดยมีเนื้อหาประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักคือ (1) การนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษา และ (2) การรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ  โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร สมาคม สถาบันการศึกษา            กลุ่มผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรืออาจเข้าข่ายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนามาตรการป้องกัน มาตรการปราบปราม และมาตรการเยียวยา กรณีการกระทำความผิดในตลาดทุน ซึ่งคณะทำงานฯ จะนำข้อคิดเห็นและข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ได้จากงานเสวนาในครั้งนี้ ไปใช้ในการปรับปรุงร่างรายงานศึกษาการถอดบทเรียนฯ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและจะเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ทราบต่อไป