เปิดตัว 'SET Carbon' จับมือพันธมิตร ลุย Climate Finance สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

          หุ้นวิชั่น - ตลท. เปิดตัวระบบ SET Carbon ช่วย บจ. บริหารจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ลดต้นทุนและเพิ่มความน่าเชื่อถือ พร้อมลงนามความร่วมมือกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ และ EXIM Bank ขับเคลื่อน Climate Finance สนับสนุนธุรกิจไทยเติบโตสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน           นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐและผู้ลงทุนมีความต้องการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 มี บจ. ไทยประมาณ 30% ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างครบถ้วน ขณะที่ยังมี บจ. อีกจำนวนมากที่ต้องการเครื่องมือช่วยจัดทำรายงานดังกล่าวให้รองรับกับกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงพัฒนาระบบ SET Carbon ให้เป็นเครื่องมือจัดการข้อมูลและคำนวณข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยระบบเปิดให้องค์กรธุรกิจใช้งาน 16 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป           ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เริ่มต้นการศึกษามา 15 ปี แล้วเสดงถึงวิสัยทัศน์และการมองการไกล ทำให้ปัจจุบันมีเครื่องมือ ทั้ง 1. Knowledge 2. Climate Action Program for listed companies 3. Climate data และ 4.SET Net Zero รวมไปถึงการผลักดัน ESG Academy ที่จะเน้นการฝึกฝนให้คนสามารถวัดคาร์บอนได้ เพราะปัจจุบันยังมีจำนวนไม่เพียงพอ           นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการจัดการข้อมูลผ่าน SET Carbon ตั้งแต่ต้นทางของข้อมูล ไปจนถึงปลายทางในการนำข้อมูลมาให้พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ บจ. เพื่อลดการรายงานซ้ำซ้อน และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น           ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์  2568 ซึ่งร่างกฎหมายฯ จะเป็นการสร้างสมดุลในมิติการบังคับและการสนับสนุนให้ประเทศเกิดความพร้อมและมีศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยมีกลไกการเงินจากกองทุนสภาพภูมิอากาศ (Climate Fund) ร่วมกับการจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงิน (Taxonomy) และกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เพื่อเร่งการลงทุนและการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศภายใต้กฎกติกาและกลไกทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก   ทั้งนี้คาดหวังว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2026           ทั้งนี้ การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับและลดภาระในการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากภาคเอกชน ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะนำไปใช้พิจารณารูปแบบของกระบวนการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) ที่จะเชื่อมกับการส่งเสริมโครงการคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใต้ตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และการพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในระยะยาวต่อไป           ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า เครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Finance เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเติบโตได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันโลกยังคงมีความต้องการ Climate Finance อีกมาก EXIM BANK จึงมุ่งดำเนินบทบาท Green Development Bank เร่งเติมเต็ม Climate Finance ในประเทศไทย ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญกับการรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากล ยกระดับความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้กับโครงการหรือกิจการที่มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการนี้ ทุกภาคส่วนต้องบริหารจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ภายในองค์กรและบูรณาการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของคู่ค้า ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว EXIM BANK พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อแบ่งเบาภาระและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงินทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นเพียง 1.99% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอด 3 ปี 4.99% ต่อปี)           ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ EXIM Bank จะสร้างระบบนิเวศข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ครบวงจร ช่วยให้ธุรกิจไทยเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนากลไกสนับสนุนธุรกิจให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ในตลาดโลก