##SET


KSS คาด SET “Rebound” ต้าน 1433 จุด ชู BJC, CRC, KTB

KSS คาด SET “Rebound” ต้าน 1433 จุด ชู BJC, CRC, KTB

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) คาด SET วันนี้ “Rebound” ต้าน 1429/1433 จุด รับ 1415/1411 จุด ตลาดหุ้นสหรัฐแกว่งขึ้น ดัชนีS&P500 +0.38% หุ้นเทคฯนำตลาด Broadcom ยังมีโมเมนตัม ขณะที่ปัจจัยมหภาค Flash PMI สหรัฐฯ ธ.ค. 24 ภาคบริการขยายตัว ดีกว่าคาด เร่งขึ้นสู่ 58.5 จุด ชดเชยฝั่งภาคผลิตที่ต่ำกว่าคาด หนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นภาพ Goldilocks to Soft Landing แต่ตลาดน่าจะเริ่มรอสัญญาณช่วงถัดไปโดยเฉพาะมุมมองดอกเบี้ยและเศรษฐกิจจากการประชุม Fed (ไทยทราบผลเช้า 19 ธ.ค.) บ่งชี้จาก US Bond Yield 10 ปีที่ยังแกว่ง 4.4% ขณะที่เอเชียการฟื้นตัวจีนยังค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ความน่าสนใจระยะสั้นที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนยังไม่มาก ด้านไทยหลังตลาดปรับตัวลดลง 6 วันติด ส่งผลให้ Current Equity Risk Premium (ERP) แตะ 3.8% > ค่าเฉลี่ย 3.1% ส่วน Forward ERP ขึ้นไป 4.4% > Avg + 1 S.D. (4.05%) น่าจะเริ่มเป็นจุดกลับมาสร้างความน่าสนใจตลาดหุ้นไทย ผสาน ภายในลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม            ประเมิน SET วันนี้ Rebound หุ้นนำ คือ กลุ่ม Domestic ธนาคาร ค้าปลีก กลุ่มที่เป็นเป้า Domestic Long Term Funds อาทิ สื่อสาร วันนี้แนะนำ BJC, CRC, KTB

“EE” ชี้แจง ลงทุนสู่ธุรกิจเทคฯ  มุ่งความมั่นคงและการเติบโตระยะยาว

“EE” ชี้แจง ลงทุนสู่ธุรกิจเทคฯ มุ่งความมั่นคงและการเติบโตระยะยาว

          หุ้นวิชั่น - บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE โดย นายอิศรา เรืองสุขอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจและอำนาจควบคุมต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วัน 11 ธันวาคม 2567 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจ Tech ว่าบริษัทฯจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจกัญชงและกัญชาต่อไป แต่ด้วยความผันผวนของนโยบายภาครัฐและภาวะอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อราคาผลผลิตตกต่ำจากสภาวะอุปทานส่วนเกิน บริษัทฯ จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการขยายการลงทุนสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว บริษัทฯ ได้วางแนวทางการขยายสู่ ธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ (“ธุรกิจ Tech”) ซึ่งมีโอกาสในการสร้างรายได้และการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย: 1.         ธุรกิจสื่อเทคโนโลยี (Technology Media) 2.         ธุรกิจให้บริการชำระเงิน (Payment Gateway Solution) 3.         ธุรกิจแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Marketplace Platform) บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าธุรกิจ Tech จะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 12.0 พร้อมศักยภาพการเติบโตที่มั่นคงในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทุนในธุรกิจใหม่ดำเนินไปได้ทันต่อสถานการณ์ บริษัทฯ มีแผนระดมทุนผ่าน Private Placement โดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด แม้ว่าบริษัทฯ ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อธุรกิจที่อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนได้ในขณะนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนแห่งอื่น และอาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาธุรกรรม บริษัทฯ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจ Tech ภายในไตรมาส 2–3 ของปี 2568 บริษัทฯ ขอย้ำถึงความตั้งใจที่จะสร้างความมั่นคงและผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้น พร้อมมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอนาคต           เกี่ยวกับบริษัท EE: บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจกัญชงและกัญชา พร้อมขยายสู่ธุรกิจเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อสร้างรายได้และการเติบโตที่มั่นคงในระยะยาว

PF-GRAND มุ่งลดหนี้ 16,000 ลบ. เล็งพันธมิตรใหม่ต่อยอด

PF-GRAND มุ่งลดหนี้ 16,000 ลบ. เล็งพันธมิตรใหม่ต่อยอด

          หุ้นวิชั่น -  กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค และ แกรนด์ แอสเสทฯ เผยแผนลดหนี้ สร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน ปี 2567 ลดภาระหนี้ลงแล้ว 8,000 ล้านบาท ปี 2568 เดินหน้าลดหนี้ต่อเนื่องอีก 8,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำสุดในรอบทศวรรษ ลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ถึง 1,000 ล้านบาท พร้อมเร่งสร้างรายได้จากโครงการร่วมทุน เตรียมรับคืนเงินลงทุนจากการร่วมทุน 4,000 ล้านบาทภายใน 2 ปี ด้านทิศทางปี 2568 เล็งร่วมมือพันธมิตรรายใหม่ลงทุนต่อยอดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์           นายศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) และ แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) วางเป้าหมายในการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงินให้แข็งแกร่ง ทั้งการลดภาระหนี้ เพิ่มสภาพคล่อง เร่งสร้างยอดขาย รายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงเผชิญกับความท้าทาย การเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ “กลุ่มบริษัทมีแผนลดภาระหนี้รวม 16,000 ล้านบาท โดยปีนี้สามารถลดภาระหนี้ลงได้แล้ว 8,000 ล้านบาท จากการขายโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิท และชำระคืนหุ้นกู้ ภายในปี 2568 ยังตั้งเป้าจะเร่งลดหนี้ลงอย่างต่อเนื่องอีก 8,000 ล้านบาท เป็นของ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 3,000 ล้านบาท และ แกรนด์ แอสเสทฯ 5,000 ล้านบาท ทั้งจากการขายที่ดินและเงินลงทุน ร่วมทุน และการชำระคืนหุ้นกู้ การลดภาระหนี้ลงตามแผนจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินครั้งใหญ่ของกลุ่มบริษัท และยังทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง มีสภาพคล่องทางการเงินสูงขึ้น ที่สำคัญยังจะมีผลให้อัตรา ส่วนหนี้สินต่อทุนของกลุ่มบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ” พร้อมกันนี้ยังจะเร่งสร้างรายได้จากโครงการร่วมทุน ซึ่งกลุ่มบริษัทเริ่มพัฒนาโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรชั้นนำจากต่างประเทศ 3 องค์กร ตั้งแต่ปี 2561 เรื่อยมา และประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับอย่างดีในการสร้างความแตกต่างให้กับตลาดที่อยู่อาศัยด้วยมาตรฐานระดับสากล  ในปี 2568–2569 กลุ่มบริษัทยังจะได้รับคืนเงินลงทุนและ Shareholder Loan จากโครงการร่วมทุน เป็นจำนวน 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและกระแสเงินสดให้กับกลุ่มบริษัท ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีการพัฒนาโครงการร่วมทุนทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 27,950 ล้านบาท ทั้งการร่วมทุนกับ “ซูมิโตโม ฟอเรสทรี” ผู้นำในธุรกิจป่าไม้และก่อสร้างบ้านจากประเทศญี่ปุ่น ในโครงการคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ “ไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อ” มูลค่า 6,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะปิดการขายโครงการได้ในปี 2569 และโครงการบ้านเดี่ยว “เลค ฟอเรสต์ ราชพฤกษ์ตัดใหม่” มูลค่า 4,450 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับ “ฮ่องกง แลนด์” บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก ในโครงการ “เลค เลเจ้นด์” บ้านหรูระดับซุเปอร์ลักซ์ชัวรี่ริมทะเลสาบใน 2 ทำเล คือ แจ้งวัฒนะ และ บางนา-สุวรรณภูมิ รวมมูลค่า 13,870 ล้านบาท  มีความร่วมมือกับ “เซกิซุย เคมิคอล” ผู้นำในตลาดรับสร้างบ้านของประเทศญี่ปุ่น พัฒนาบ้านนวัตกรรมที่ก่อสร้างด้วยระบบ       โมดูลาร์ ในโครงการเพอร์เฟค มาสเตอร์พีซ 5 ทำเล ได้แก่ กรุงเทพกรีฑา รามคำแหง สุขุมวิท รัตนาธิเบศร์ และ แจ้งวัฒนะ มูลค่ารวม 3,430 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถปิดการขายทั้ง 5 ทำเลได้ในกลางปีหน้า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2568 กลุ่มบริษัทมีความมั่นใจในศักยภาพและโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจ ทั้งจากการเปิดโครงการใหม่ การเพิ่มยอดขายจากกลุ่มโครงการลักซ์ชัวรี่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด บริษัทยังมีแผนพัฒนาโครงการภายใต้คอนเซ็ปท์ใหม่เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าในเซกเมนต์ระดับบน อีกทั้งยังจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ร่วมลงทุนต่อยอดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สนับสนุนกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี

ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สนับสนุนกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี

          หุ้นวิชั่น - นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับมอบเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงราย จำนวน 1,000,000 บาท จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งบริจาคผ่านกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย โดยมีนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมด้วยผู้บริหารจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งเป็นผู้แทนจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ร่วมมอบ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

ปตท.สผ. ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการระดับ “ดีเลิศ” จาก CGR 2024

ปตท.สผ. ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการระดับ “ดีเลิศ” จาก CGR 2024

          หุ้นวิชั่น - บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้รับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการในระดับ “ดีเลิศ” (Excellent) หรือ 5 สัญลักษณ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ต่อเนื่องเป็นปีที่ 23 และได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top Quartile ของบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าทางการตลาดไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2567 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR 2024) ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ภายใต้การสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การจัดอันดับดังกล่าว สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. ในการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

L&E ส่งซิก Q4 โตต่อเนื่อง  ชนะประมูลงานโคม LED 60,000 ชุด

L&E ส่งซิก Q4 โตต่อเนื่อง ชนะประมูลงานโคม LED 60,000 ชุด

หุ้นวิชั่น - L&E เผยโค้งสุดท้ายของปีโตกว่า Q3/67 และโมเมนตัมการเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปี 68 ปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยรับรู้รายได้งานในมือ และล่าสุดคว้างานใหม่โคมไฟถนน LED 60,000 ชุด จากการไฟฟ้านครหลวง นอกจากนี้ โอกาสได้งานบัญชีนวัตกรรมจากภาครัฐ ควบคู่บุกช่องทางจัดจำหน่าย และการพัฒนาสินค้านวัตกรรมมากขึ้น รวมทั้ง LEM & LES ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ L&E เริ่มทยอยกลับมาผลิตสินค้าจำนวนมากเพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา โดยเน้นปรับปรุงเครื่องจักรลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มช่องทางการขาย ชูความแข็งแกร่งรับมือสถานการณ์ตลาดโลกผันผวน นายอนันต์ กิตติวิทยากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E ผู้นำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายโคมไฟฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์แสงสว่างรายใหญ่ของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจโค้งสุดท้ายของปีสัญญาณดี จากครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ทิศทางไตรมาส 3 เริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีโมเมนตัมที่ดีมาถึงไตรมาส 4/67 จากปัจจุบันงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 1,300 ล้านบาท เตรียมทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 60% และในปีหน้า 40% อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงติดตามงานโครงการมิกซ์ยูสใหญ่ๆ 2-3 โครงการที่อยู่ใน Backlog แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งมอบงานให้แล้วเสร็จทันภายในปีนี้ หรือเลื่อนไปรับรู้ในช่วงต้นปี 68 ทำให้ภาพรวมรายได้ทั้งปีมองว่ายังทรงตัว แต่คาดว่ากำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ ล่าสุด L&E ชนะงานประมูลงานโคมไฟถนน LED 60,000 ชุด จากการไฟฟ้านครหลวงฯ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์รับรู้รายได้ 30% ในปี 67 ส่วนที่เหลือ 70% ในปี 68 อีกทั้ง บริษัทฯ มีโอกาสคว้างานใหม่ต่อเนื่อง อาทิ งานบัญชีนวัตกรรมจากภาครัฐ รวมทั้ง งานโครงการภาคเอกชนที่มีการเดินหน้าโปรเจ็กต์ใหม่ ควบคู่ให้ความสำคัญในการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย และการพัฒนาสินค้านวัตกรรมมากขึ้น ขณะที่ บริษัท แอล แอนด์ อี แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด หรือ LEM และ บริษัท แอล แอนด์ อี โซลิดสเตท จำกัด หรือ LES ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ L&E เริ่มทยอยกลับมาผลิตสินค้าจำนวนมากเพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา สนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วงโค้งสุดท้ายของปี และที่สำคัญที่สุดคือ การที่โรงงาน LEM & LES ลดต้นทุนต่อเนื่อง มีการเพิ่มกำลังผลิตเครื่องจักรหลักที่สำคัญ จะเห็นผลได้ในปีหน้าอย่างเป็นนัยสำคัญ เนื่องจากการปรับปรุงทำให้เพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้า OEM & ODM ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ที่มีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โคม panel ดาว์ไลท์ ไฮเบย์ ไฟถนน  เป็นต้น เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่บริษัท ทั้งราคา และคุณภาพที่ลูกค้าเชื่อมั่น บริการดี รวดเร็ว ตรงตามความคาดหวังของลูกค้า นอกจากนี้มีการลงทุนในเครื่องจักรใหม่เพื่อผลิตสินค้าที่มียอดสั่งซื้อสูงเพื่อทดแทนการนำเข้า  เช่น ไฟเส้น LED Strip Lights, อุปกรณ์ควบคุม LED ให้เป็น Smart Lighting  เป็นต้น นายอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมถึง การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน จากการที่ L&E มี จุดแข็งเป็น Lighting Solution Provider ในงานโครงการ เรามีความพร้อมเป็นอย่างมาก แม้ในสถานการณ์โลกผันผวน ทั้งปัจจัยกระทบเรื่องสงคราม และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งในด้านการผลิต รวมทั้ง ประสบการณ์ที่มีก่อนหน้านี้ ในการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ จะทำให้ L&E ได้เปรียบกว่าคู่แข่งขัน เรามองว่าเป็นโอกาสมากกว่าภัยคุกคาม รวมทั้ง เพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ เช่น ช่องทางการขายผ่านออนไลน์ เป็น Platform เชื่อมต่อระหว่างลูกค้ากับ L&E นอกจากนี้ การมุ่งเน้นสินค้านวัตกรรมที่แตกต่าง ตอบสนองความต้องการลูกค้าและไลฟ์สไตล์ ยุค 5G  ซึ่งตอนนี้ L&E มีสินค้าที่เป็น IoT+AI ตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ และยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้า IoT ในด้านแสงสว่าง และระบบควบคุมแสงสว่างอาคาร จากประสบการณ์งานโครงการที่ L&E สั่งสมมาในงานโครงการใหญ่ ๆ เช่น โครงการ One Bangkok, Park Silom, Bytedance HQ, Data Center KTB, อาคารจอดรถ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นต้น ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าโคมไฟอัจฉริยะรูปแบบใหม่ง่ายต่อการออกแบบและติดตั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบฟังก์ชั่นก่อนใช้งาน และมีธุรกิจใหม่คือ Entertainment  Lighting สนับสนุนงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ครบวงจร ทัดเทียมมาตรฐานงานต่างประเทศ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังพร้อมเดินหน้าตอบสนองกับเป้าหมายของภาครัฐในการพัฒนาเมืองใหญ่ มุ่งสู่ Smart City ขับเคลื่อนองค์กรเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ดำเนินธุรกิจตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเที่ยงตรง

OR หนุนพัฒนาเยาวชน  ชู OR Seeding the Future ASEAN Camp

OR หนุนพัฒนาเยาวชน ชู OR Seeding the Future ASEAN Camp

หุ้นวิชั่น - นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วย นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ OR ร่วมเปิดโครงการค่ายเยาวชน “OR Seeding the Future ASEAN Camp 2024” ผ่านแนวคิด "Z-Leads: Business Game Changer" ณ ห้องประชุม Multiverse ชั้น 10 อาคารซี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์           นายดิษทัต กล่าวว่า OR ได้จัดโครงการค่ายเยาวชนเป็นปีที่ 8 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษา จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่ OR ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจอยู่ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ทั้งที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและในประเทศของตน จำนวน 50 ราย โดยผ่านการคัดเลือกจากผลงานสื่อวีดีโอแสดงวิสัยทัศน์ตามหัวข้อที่กำหนดพร้อมแนะนำตนเอง เพื่อสนองตามนโยบายและทิศทางกลยุทธ์ของ OR ในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก (Global Brand) ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะได้รับความรู้ และประสบการณ์ระดับนานาชาติ ผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชนในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสในการคัดสรรบุคลากรเพื่อเข้าร่วมงานกับบริษัทในเครือของ OR ที่ดำเนินการอยู่ในภูมิภาคอาเซียน และพัฒนาไปสู่เครือข่ายทรัพยากรบุคคลในกลุ่มประเทศสมาชิก AEC จากกลุ่มเยาวชนสมาชิกค่ายที่มีศักยภาพ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพเยาวชนเพื่อช่วยพัฒนาประเทศในอนาคต นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนจะได้มีโอกาสทัศนศึกษาดูงานการดำเนินธุรกิจของ OR และกลุ่ม ปตท. ในประเทศไทย รวมถึงได้ร่วมฝึกงานกับ OR และบริษัทในเครือที่อยู่ในประเทศนั้นๆ เพื่อได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจากสถานการณ์จริง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะทางการคิด ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ศักยภาพในด้านต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายเยาวชนที่แน่นแฟ้นในหมู่เยาวชนในประเทศอาเซียน โครงการ OR Seeding the Future ASEAN Camp ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนอาเซียน แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนในประเทศที่ OR ดำเนินธุรกิจอยู่ ผ่านการสร้างความเข้าใจในธุรกิจและวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งสะท้อนผ่านวิสัยทัศน์ "Empowering All toward Inclusive Growth" หรือ "เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน " โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความผูกพันระหว่างแบรนด์ OR กับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต

abs

SSP : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

KKP ชี้อสังหาฯ ปี 67 หดตัวหนัก บ้านใหม่เสี่ยงเหลือ-หวังมาตรการใหม่ช่วย

KKP ชี้อสังหาฯ ปี 67 หดตัวหนัก บ้านใหม่เสี่ยงเหลือ-หวังมาตรการใหม่ช่วย

          หุ้นวิชั่น - สายงานสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เผยว่าในปี 2567 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล เผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวนี้ได้แก่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP การปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในระดับสูง และการสะสมของสินค้าคงค้าง (inventory) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ รวมถึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงการระดับราคาสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การอิ่มตัวในตลาดสินค้าระดับนี้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมีมากขึ้น เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน มาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะมีความเข้มข้นมากขึ้นจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ตลาดมีการฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลใหม่ ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์           กำลังซื้อหด ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยปี 2567 สะดุด จากการคาดการณ์ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจะลดลง 15% หรือประมาณ 320,000 หน่วย ซึ่งเป็นยอดที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะลดลง 8% และในภาคตะวันออกลดลงถึง 11% สาเหตุหลักมาจากการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงเข้มงวด ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่           แน้วโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2567 การเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2567 มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่มียอดเปิดตัวลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2566 โครงการแนวราบก็มีการชะลอการเปิดตัวเช่นกัน แต่ลดลงในอัตราที่น้อยกว่า (3%) ตลาดบ้านเดี่ยวมีการเติบโตถึง 60% ในเขตปริมณฑล ขณะที่โครงการทาวน์เฮ้าส์กลับพบว่ามียอดเปิดตัวลดลงถึง 24% เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มระดับกลาง-ล่างลดลงอย่างชัดเจน           ทิศทางการพัฒนาโครงการและความต้องการในปี 2567 บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีความต้องการสูง โดยเฉพาะในระดับราคา 5-10 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ ในขณะที่บ้านเดี่ยวระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาทเริ่มมีสัญญาณการอิ่มตัว และสินค้าคงค้างของบ้านในระดับนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน ทาวน์เฮ้าส์กลุ่มระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่สูง           การปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดที่ชะลอตัว เช่น การลดต้นทุนการดำเนินงาน หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่มีความยั่งยืน รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ และสถานออกกำลังกาย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว สำหรับภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและการปฏิเสธสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด อย่างไรก็ตาม การโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดได้ในบางพื้นที่ ขณะที่การปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนและการขยายธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดที่ผันผวน           ตลาดอสังหาฯ ปี 2568 มีปัจจัยบวกจากการลดดอกเบี้ย บ้านแฝด บ้านเดี่ยว 7-15 ล้านมีแนวโน้มโตดี สายงานสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 0.5% - 0.75% ในปี 2568 จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางและล่างที่ได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนสูงในช่วงก่อนหน้า การปรับตัวของภาคบริการ ที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในปี 2568 จะช่วยสร้างรายได้และกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง ส่งผลบวกต่อตลาดอสังหาฯ ที่เชื่อมโยงกับภาคบริการในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการควรปรับเปลี่ยนพัฒนาโครงการแนวราบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยจริง (Real Demand) อย่างไรก็ตามการพัฒนาบ้านเดี่ยวในราคาสูงกว่า 20 ล้านบาทอาจเผชิญภาวะอิ่มตัว แต่โครงการบ้านเดี่ยวในราคากลาง (7-15 ล้านบาท) จะยังคงเป็นตลาดที่น่าลงทุน ส่วนทาวน์เฮ้าส์ กลุ่มระดับราคากลาง-ล่าง ยังคงต้องเฝ้าระวัง จากปัญหารายได้ยังปรับไม่ทันกับราคาทาวน์เฮ้าส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาระหนี้ของกลุ่มผู้ซื้อบ้านราคานี้ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนบ้านแฝดยังสามารถพัฒนาได้ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้น           โอกาสของการพัฒนาโครงการคอนโด คอนโดระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทมีการแข่งขันสูงและกำลังซื้อที่จำกัด น่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2568 หากไม่มีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้จะมีโอกาสในการฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสร้างใกล้แล้วเสร็จ หรือมีความชัดเจนมากขึ้น อย่าง สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฏร์บูรณะ) สายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) และสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี)           แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติ ตลาดการซื้อคอนโดของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจีนและรัสเซีย จะยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนตลาดคอนโดในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา การพัฒนาของระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าและสนามบินจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น           อสังหาฯ เพื่อความยั่งยืนมาแรง ตอบโจทย์ผู้บริโภค แนวโน้มการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นความยั่งยืน เช่น บ้านประหยัดพลังงาน ระบบกรองอากาศเพื่อลดมลพิษในการอยู่อาศัย การใช้วัสดุรักษ์โลก ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ จะเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นในปี 2568 เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพมากขึ้น การพัฒนาบ้านที่เน้นเทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดได้ สรุปแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 คาดว่าจะมีการฟื้นตัวแบบช้าๆ โดยมีปัจจัยบวกจากการลดดอกเบี้ยและการขยายตัวของภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ตลาดคอนโดราคาต่ำยังคงเผชิญความท้าทายสูง ในขณะที่ตลาดแนวราบ โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวระดับกลาง จะยังคงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในการลงทุน

SPREME เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุน โชว์ศักยภาพธุรกิจ

SPREME เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุน โชว์ศักยภาพธุรกิจ

หุ้นวิชั่น - คุณภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล (กลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร , คุณนงลักษณ์ มุกดา (ที่ 6 แถวหน้าฝั่งซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (SPREME) ร่วมกับคุณวรชาติ ทวยเจริญ (ที่ 5 แถวหน้าฝั่งขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มนักลงทุน ภายหลังกิจกรรม Company Visit โดยผู้บริหารให้ข้อมูลแผนการดำเนินธุรกิจ โชว์ผลงานไตรมาส 3/2567 กำไรสุทธิ 68.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 226.50% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน และยังมีโครงการที่ทำสัญญาแล้ว รอรับรู้รายได้หลังส่งมอบงาน (Backlog) ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 จำนวน 455.64 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเข้าร่วมประมูลโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ตามแผน รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นประมูลกว่า 3,500 ล้านบาท  คาดว่าจะเริ่มต้นดำเนินโครงการได้ในปี 2568 ทำให้ Backlog เพิ่มขึ้น สนับสนุนผลการดำเนินงานในปี 2568 เติบโตก้าวกระโดด ตามเป้าหมายที่วางไว้ ณ ห้องประชุมบริษัท เมื่อเร็วๆ นี้

COCOCO ร่วมงาน Opportunity Day ฉายภาพธุรกิจเติบโต

COCOCO ร่วมงาน Opportunity Day ฉายภาพธุรกิจเติบโต

          หุ้นวิชั่น - บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO นำโดย ดร.วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ และนางสาวพัฒรา ทัศจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและสารสนเทศ บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ “COCOCO” ร่วมให้ข้อมูลผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/2567 ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) ถ่ายทอดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยรายงานผลการดำเนินงาน 9 เดือนปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้ 4,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 3,271 ล้านบาท สนับสนุนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2567 มีกำไรสุทธิ 603 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72%  ทำให้บริษัทฯ คาดว่ารายได้ทั้งปีจะเติบโต 30-40%จากปีก่อนตามเป้าหมายที่คาดไว้ โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นการขยายตลาดต่างประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวและกะทิที่ได้รับความนิยมสูงในต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่บริษัทเริ่มขยายสู่ตลาดสากลและเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มกำลังการผลิต รองรับ Demand ที่เพิ่มขึ้น

abs

Hoonvision

WICE ร่วมงาน “Opp day” ย้ำปี 67 เป็นไปตามเป้า จากการขยายเครือข่ายต่อเนื่อง

WICE ร่วมงาน “Opp day” ย้ำปี 67 เป็นไปตามเป้า จากการขยายเครือข่ายต่อเนื่อง

           หุ้นวิชั่น –  นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ พร้อมด้วยนางสาวบุศรินทร์ ต่วนชะเอม ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร ร่วมให้ข้อมูลกับนักลงทุนในงาน Opportunity Day ประจำไตรมาส 3 ปี 2567 เปิดเผยถึงผลดำเนินการ 9 เดือนที่ผ่านมาว่า บริษัทมีรายได้จากการบริการที่ 3,168 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 131 ล้านบาท ขณะที่งบไตรมาส 3 บริษัทมีรายได้ 1,131 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 18 ล้านบาท            สำหรับผลประกอบการปี 2567 นี้ คาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 20% จากปริมาณการนำเข้าและส่งออกที่เติบโต และค่าระวางเรือที่ปรับตัวดีกว่า ปี 2566 โดยยังคงเน้นกลยุทธ์ในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจรครอบคลุมทั่วภูมิภาคตลอดจนการสร้างโซลูชั่นการบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าควบคู่ไปด้วย เพื่อผลักดันให้ WICE เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของภูมิภาคเอเชีย

AMATA 9เดือนกำไรโต21% ฟันยอดขายที่ดิน 2.5 พันไร่

AMATA 9เดือนกำไรโต21% ฟันยอดขายที่ดิน 2.5 พันไร่

          หุ้นวิชั่น - “อมตะ”เผยผลดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2567  รายได้รวมกว่า 9,000 ล้านบาท เติบโต 39% ทำกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตุน Backlog สิ้นกันยายนอยู่ที่ 19,269 ล้านบาท สะท้อนผลบวก นักลงทุนย้ายฐานการผลิต เข้าพื้นที่นิคมอมตะ ทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมั่นยอดขายที่ดินปี 67 เป็นไปตามเป้าหมาย2,500 ไร่  ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืน  มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ภายในปี 2583           นางสาวเด่นดาว โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA เปิดเผยว่า ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น9,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ ทั้งสิ้น1,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% สะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาใช้พื้นที่ลงทุนของอมตะ  ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งจากการโอนที่ดิน รายได้ค่าสาธารณูปโภค และการให้เช่าอาคารและโรงงานสำเร็จรูป และการทำพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อให้บริการกับลูกค้า          สำหรับรายได้ที่เพิ่มขึ้น มาจากการโอนที่ดิน 4,254 ล้านบาท เติบโตขึ้น 34% รายได้ค่าสาธารณูปโภคและอื่น ๆ 3,967 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 52% และรายได้จากการเช่าอาคารและโรงงานสำเร็จรูป 702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการโอนที่ดินไปแล้วทั้งสิ้น 766 ไร่ และมีมูลค่ายอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้ (Backlog) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 จำนวน 19,269 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในไตรมาส 4  จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้น ดังนั้นเชื่อว่ายอดขายที่ดินในปีนี้ จะเป็นไปตามเป้าหมาย  2,500 ไร่           “ผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น  เป็นผลมาจากการบริหารจัดการและการดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นการพัฒนาธุรกิจทุกภาคส่วน ทั้งในด้านที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค และบริการให้เช่า ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเติบโตระยะยาวของบริษัท  ที่มุ่งมั่นการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรม   ที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ  ทั้งจากการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการน้ำและขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญ  ที่อมตะยึดมั่นเพื่อสร้างการเติบโตให้กับชุมชนและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ” นางสาวเด่นดาว กล่าว            อย่างไรก็ตาม การพัฒนาธุรกิจกลุ่มอมตะ ได้วางเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน  โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) ภายในปี 2583 โดยมีแผนงานด้านการจัดการพลังงาน การอนุรักษ์น้ำและธรรมชาติ และการบริหารจัดการขยะภายใต้แนวคิด Zero Waste to Landfill ซึ่งเป็นการลดขยะสู่การฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุด           นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเน้นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีจุดมุ่งหมายในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างสังคมที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนและยังคงเดินหน้าพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยมุ่งมั่นสร้างเมืองอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกับทุกภาคส่วน

XSpringยกระดับการเงิน สินทรัพย์ดิจิตอลคึกคัก

XSpringยกระดับการเงิน สินทรัพย์ดิจิตอลคึกคัก

          หุ้นวิชั่น – รู้หรือไม่! บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ “XPG” ประกอบธุรกิจการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุน พร้อมทั้งการให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรผ่านบริษัทในเครือ          สำหรับ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ “XPG” มีบริษัทในเครือ ประกอบไปด้วย บริษัท กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) – ธุรกิจหลักทรัพย์ และวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด – ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง จำกัด - ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด – ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล          นางสาววรางคณา อัครสถาพร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ “XPG” เปิดเผยว่า XSpring คาดแนวโน้มรายได้ในไตรมาส 4/2567 เติบโตโดดเด่น หนุนรายได้รวมทั้งปีแตะเป้าหมาย 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทเดินหน้าขยายฐานลูกค้าในตลาดตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ XSpring มองว่าภาวะตลาดการเงินที่ตึงตัวส่งผลให้อุปสงค์ทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขอสินเชื่อเงินทุนมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง สอดรับกับรายได้จากธุรกิจสินเชื่อที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเล็งเห็นโอกาสในการขยายพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโตในอนาคต          ธุรกิจของ XSpring มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าเสริมแกร่งทุกกลุ่มธุรกิจ โดยบริษัทมีแผนพิจารณานำเรื่องการจ่ายเงินปันผลเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในช่วงต้นปี 2568 ทั้งนี้ การพิจารณาจ่ายปันผลจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการที่แข็งแกร่งและความพร้อมทางการเงินของบริษัท ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการตอบแทนผู้ถือหุ้นและสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาว          บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด หรือ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทคาดจะได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่กลับมาคึกคักอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการจากการเทรดเพิ่มสูงขึ้น และภาครัฐยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ทำให้บริษัทเตรียมจะออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) โดยปัจจุบันมีงานในมือแล้ว 2-3 ดีล คาดว่าจะสามารถทยอยออกเสนอขายได้ในไตรมาส 1/2568          นอกจากนี้ XSpring จะมีการเติบโตจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากหนี้ในระบบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้ยากขึ้น กลายเป็นโอกาสให้บริษัทขยายการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกัน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ในเครือ XSpring AMC เดินหน้าขยายพอร์ต ด้วยเป้าหมายการซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มอีก 1,000-2,000 ล้านบาท จากพอร์ตปัจจุบันที่มีอยู่ราว 4,000-5,000 ล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง          บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด – ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน นายยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด เปิดเผยว่า คาดสัดส่วนสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ปี 2567 อยู่ที่ราวๆ 10,000 ล้านบาท  ขณะที่สินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำลงทุน (AUA) มีแนวโน้มจะทำได้เกินเป้า ที่ 1,800-2,000 ล้านบาทห          และคาด SET Index ปัจจุบันเคลื่อนไหวในกรอบ 1,460-1,480 จุด ขณะที่ทิศทางในปี 2568 คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นไปที่ระดับ 1,580-1,600 จุด โดยได้รับแรงหนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวนถึง 36 ล้านคน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นไทยกลับมามีทิศทางที่สดใสขึ้น          สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนในปี 2568 นักลงทุนถูกแนะนำให้ลงทุนในหุ้น 50% โดยกระจายการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เช่น อเมริกา และในตลาดเกิดใหม่อย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสำหรับตลาดหุ้นไทย กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก ท่องเที่ยว บริการ และโรงพยาบาล ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาแข็งแกร่งในปีหน้า

BGRIM ประสบความสำเร็จ ปิดการขายหุ้นกู้ 8 พันล้าน

BGRIM ประสบความสำเร็จ ปิดการขายหุ้นกู้ 8 พันล้าน

          หุ้นวิชั่น – บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผู้ผลิตไฟฟ้าอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 23 โครงการ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศอีก 41 โครงการ ประสบความสำเร็จจากการออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ โดยผู้ลงทุนให้ความสนใจตอบรับจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท ที่เสนอขายในระหว่างวันที่ 14-15 และ 18-19 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ขณะที่ บี.กริม เพาเวอร์  เผยพร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจตามแผน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  ขอขอบคุณผู้ลงทุนที่ให้การตอบรับลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ของ บี.กริม เพาเวอร์  รวมถึงสถาบันการเงินผู้จัดการการจัดจำหน่ายทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ที่อำนวยความสะดวกทั้งการให้ข้อมูลและเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี   สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการชำระคืนหนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ครั้งที่ 1/2562 ที่จะถึงกำหนดวันชำระคืนก่อนครบกำหนดครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน 2567 จำนวน 8,000 ล้านบาท โดย บี.กริม เพาเวอร์ กำหนดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรกไว้ที่ 5.75% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยไม่จำกัดระยะเวลาและจำนวนครั้ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ออกหุ้นกู้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยจะปรับทุกๆ 5 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ณ ขณะนั้น แล้วบวกส่วนเพิ่มคงที่ (Initial Credit Spread) 3.49% ต่อปี และส่วนเพิ่มตามช่วงเวลา (Step-up coupon) ตั้งแต่ 0.25% - 2.00% ต่อปี โดย บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท ที่ระดับ “A” แนวโน้ม “คงที่” ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ที่เสนอขายในครั้งนี้อยู่ที่ระดับ “BBB+” โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 นอกจากนี้ ในปี 2567 บี.กริม เพาเวอร์ ได้ประกาศยุทธศาสตร์ GreenLeap – Global and Green มุ่งสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก และผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและปลอดภัย โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 4,071 เมกะวัตต์ ณ เดือน พฤศจิกายน 2567 เป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ผ่านการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ระหว่างการแสวงหาการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งยุโรป เพื่อกระจายความเสี่ยงจากต้นทุนพลังงาน  ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ของ บี.กริม เพาเวอร์กล่าวเสริมว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ มาจากความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ทั้งในด้านยุทธศาสตร์และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้จะทำให้โครงสร้างทางการเงินของบี.กริม เพาเวอร์ ยังคงความแข็งแกร่ง สอดรับกับแผนการขยายการลงทุนของบริษัท ในอนาคต

ตลท.ขึ้น CB หลักทรัพย์ SABUY และ JCKH

ตลท.ขึ้น CB หลักทรัพย์ SABUY และ JCKH

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย CB บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY และ บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JCKH เป็นเหตุจากบริษัทผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงิน

SKY ผลงาน 9 เดือนนิวไฮรายได้ทะลุ 4,730 ลบ.

SKY ผลงาน 9 เดือนนิวไฮรายได้ทะลุ 4,730 ลบ.

          หุ้นวิชั่น - “สกาย กรุ๊ป” โชว์ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 2567 กวาดรายได้ 4,730 ล้านบาท โต 66% กวาดกำไรสุทธิ 331 ล้านบาท ปัจจัยหนุนการเติบโตหลังตลาดนักท่องเที่ยวฟื้นตัวเต็มที่ผู้โดยสารเดินทางในสนามบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมเดินหน้าเปิดให้บริการระบบ Biometric ที่สนามบินเต็มรูปแบบ หลังได้รับการตอบรับดีเยี่ยม โชว์แบ็คล็อกแกร่ง 23,000 ล้านบาท เสริมการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว             นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ สกาย กรุ๊ป (SKY Group) เปิดเผยว่า ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย. 67) บริษัทสามารถทำรายได้รวมทั้งสิ้น 4,730 ล้านบาท เติบโตขึ้น 66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และทำกำไรสุทธิอยู่ที่ 331 ล้านบาท โดยผลประกอบการในไตรมาส 3/67 (ก.ค.-ก.ย. 67) บริษัทสามารถทำรายได้รวม 1,715 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 111 ล้านบาท โดยมีรายได้เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นถึง 58% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YOY)           สกาย กรุ๊ป สามารถขับเคลื่อนธุรกิจในช่วง 9 เดือนแรกให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุนหลักๆ มาจากตลาดนักท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกประเทศไทยถึง 100 ล้านคน และคาดว่าในปีนี้จะมีนักเดินทางเข้าออกประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รายได้จากโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทยังคงเติบโตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทมีการรับรู้รายได้จากบริษัทในเครืออย่าง บริษัท เมทเธียร์ จำกัด และบริษัท โปร อินไซด์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทอื่นที่มีศักยภาพ อาทิ บริษัท วันทูวัน โปรเฟสชั่นแนล จำกัด (OTP) ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ           นายสิทธิเดช กล่าวอีกว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/67 บริษัทได้เข้าทำสัญญาใหม่และมีงานที่อยู่ระหว่างรอส่งมอบตามสัญญาในอนาคต (Backlog) อยู่ทั้งสิ้นประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้รายได้ให้กับสกาย กรุ๊ปในอีกอย่างน้อย 6-7 ปี เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างการเติบโตระยะยาวในอนาคต นอกจานี้ สกาย กรุ๊ป ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ สามารถต่อยอดได้ด้วยเทคโนโลยี เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่าในปีนี้ภาพรวมบริษัทจะยังคงเติบโตได้อย่างมั่นคง             สำหรับบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีชั้นนำในประเทศไทยที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน การรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ และแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยบริษัทมุ่งเดินหน้าให้บริการโซลูชันใหม่ๆ ให้สอดรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบิน พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และส่งมอบประสบการณ์การเดินทางที่ดีที่สุดให้กับผู้โดยสารผ่านบริการต่างๆ อาทิ การรวมระบบ แอปพลิเคชัน ระบบรักษาความปลอดภัย และบริการอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยาน

TOG กำไรปกติ Q3 โต 20%  การผลิตใหม่ดัน - เป้า 12 บ.

TOG กำไรปกติ Q3 โต 20% การผลิตใหม่ดัน - เป้า 12 บ.

       หุ้นวิชั่น - บทวิเคราะห์ บล.ดาโอ คงคำแนะนำ “ซื้อ” TOG และราคาเป้าหมาย 12.00 บาท โดยปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2025E แต่ de-rate PER ลงเล็กน้อยเป็น 12x (-1SD below 5-yr average PER) จากเดิม 13x เพื่อสะท้อนแนวโน้มการค้าโลกอาจมีปัจจัยท้าทายมากขึ้นจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใหม่ ทั้งนี้ รายงานกำไรปกติ 3Q24 (ไม่รวมขาดทุน Fx) ที่ 120 ล้านบาท (+20% YoY, +6% QoQ) กำไรปกติที่ปรับตัวขึ้น YoY หนุนโดยการขยายกำลังการผลิตเลนส์ Rx ตั้งแต่ต้นปี ทำให้รองรับคำสั่งซื้อได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ ขณะที่กำไรปกติโต QoQ ได้อานิสงส์จาก SG&A ลดลงจากค่าใช้จ่ายการเดินทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายภาษีปรับตัวลง ซึ่งคาดเป็นผลจากการที่สายการผลิตใหม่ที่ได้สิทธิ BOI ทยอย ramp up แต่ปัจจัยเหล่านี้ถูก offset บางส่วนจากรายได้กลับมาชะลอจากบาทแข็ง คงกำไรปกติปี 2024E/25E ที่ 436 ล้านบาท/478 ล้านบาท (+2% YoY/+10% YoY) สำหรับ 4Q24E เบื้องต้นคาดการณ์กำไรปกติจะปรับตัวดีขึ้น YoY, QoQ หนุนโดยกำลังการผลิตใหม่ ramp up ต่อเนื่องและ high season ราคาหุ้น underperform SET -6% ใน 3 เดือน จากบาทแข็ง แต่เริ่มกลับมา in line กับ SET ใน 1 เดือน แม้จะมีปัจจัยความไม่แน่นอนจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใหม่ ที่อาจมีการขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งจะกระทบผู้ส่งออก   คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะถูกชดเชยบางส่วนจากทิศทางเงินบาทที่มีโอกาสอ่อนค่า ขณะที่ล่าสุดเงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าราว 4-5% MoM นอกจากนี้มี catalyst จากการขยายกำลังการผลิตเลนส์ Rx เพิ่มเติม และความคืบหน้ารายละเอียดแผนลงทุนโรงงานใหม่ใน 1Q25E

[ภาพข่าว] TSE ลุ้นข่าวดี! โซลาร์ฟาร์มเฟส 2

[ภาพข่าว] TSE ลุ้นข่าวดี! โซลาร์ฟาร์มเฟส 2

           ข่าวดีมาให้แฟนๆ ลุ้นกันในช่วงปลายปีอีกแล้วสำหรับ บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) ที่พร้อมเกินร้อยในการเข้าร่วมคัดเลือก โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบFeed-in Tariff (FiT)  ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง เฟส2โดยในเฟส 2นี้ ผู้ที่ผ่านการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะเนนคุณภาพ(scoring)ในเฟสแรกแต่ยังไม่ได้รับการคัดเลือกจะได้สิทธิ์ในการพิจารณาก่อน... โดยTSE มีโครงการอยู่ใน Pipeline กว่า 200 MW และคาดว่าจะได้อย่างน้อย 100 – 150 MW แนวโน้มปังซะขนาดนี้ ใครยังไม่มีหุ้นติดพอร์ตเสียดายแทนเลยคร้า!!