ภาวะมีบุตรยากขาขึ้น ล็อกมง GFC-SAFE
หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) แนะนำ Bullish กลุ่ม Fertility service ชี้ SAFE เด่น เคาะเป้า 16.30 บาท ด้าน GFC "ซื้อ" พิกัด 8.30 บาท แนวโน้มตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากโลกและไทยเป็นขาขึ้น National Statistics Offices UN ระบุ ในปี 2022 ตลาดบริการภาวะมีบุตรยากทั่วโลก (Global Fertility Services) รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่เกี่ยวกับการช่วยเจริญพันธุ์ มีมูลค่าราว 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2027 และ 117,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2032 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 13.8% ต่อปี สำหรับตลาดบริการ Intracytoplasmic Sperm Injection (ICSI) ในปี 2022 มีมูลค่าราว 17,725 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 35,582 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2027 และ 69,277.2 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2032 ตามลำดับ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 14.3% ต่อปี ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ คือ อายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของการมีบุตรคนแรกของผู้หญิงในหลายประเทศ และการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก (Fertility Tourism) โดยข้อมูลจาก Medicaltourism.com คาดการณ์ว่าตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกจะมีมูลค่าประมาณ 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2026 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% CAGR ในช่วงปี 2019-2026 โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุดราว 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2026 หรือเติบโตเฉลี่ย 17% ต่อปี (ปี 2019-2026) รวมทั้งคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีมูลค่าราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ Fertility Tourism ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, อินเดีย, ออสเตรเลีย, และญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก National Statistics Offices ระบุว่าในปี 2019 ตลาดให้บริการผู้มีบุตรยากมีมูลค่าราว 211 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2027F ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากของไทยจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 518 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% CAGR ในช่วงปี 2023-2027 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อธุรกิจให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเติบโตขาขึ้น สอดคล้องกับตลาดโลก ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์มองเป็นโอกาสทั้ง GFC และ SAFE ในการขยายตลาดกลุ่มต่างชาติใหม่ๆ ฝ่ายวิเคราะห์ให้น้ำหนักลงทุน Bullish สำหรับกลุ่มผู้ให้บริการภาวะผู้มีบุตรยาก (Fertility service) เนื่องจากการให้บริการภาวะผู้มีบุตรยากเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ทางการแพทย์ที่ภาครัฐผลักดัน เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็น “Medical Hub” รวมทั้งเป็นทางเลือกของคนอยากมีลูก และตอบโจทย์วาระแห่งชาติส่งเสริมการมีบุตร นอกจากนี้ คาดว่าใน 4Q24F กำไรสุทธิรวมกลุ่มฯ จะมีการฟื้นตัว q-q และปี 2025F คาดกำไรสุทธิรวม (+17% y-y) เข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ มีปัจจัยสนับสนุน แนวโน้มตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากของโลกและไทยยังเติบโตเป็นขาขึ้น เนื่องจากอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในการมีบุตรคนแรกของผู้หญิงหลายประเทศ ทำให้ภาวะผู้มีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบในหลายประเทศ โดย National Statistics Offices UN คาดการณ์ตลาดบริการภาวะมีบุตรยากทั่วโลก (Global Fertility Services) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 14% ต่อปี (2022-32) ส่วนตลาดไทยคาดมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 15% CAGR 2023-27 จึงเป็นโอกาสในการขยายตลาดกลุ่มใหม่ให้กับ GFC และ SAFE ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 ปี (2012-2022) จาก 818,901 คน หรือคิดเป็นอัตราการเกิดร้อยละ 12.7 ต่อพันคน ในปี 2012 เป็น 502,107 คน หรือคิดเป็นอัตราการเกิดร้อยละ 7.6 ต่อพันคน ในปี 2022 ซึ่งเป็นจำนวนการเกิดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ทำให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ และการให้บริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับครอบครัวที่อยากมีลูก กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลใช้บังคับ 22 ม.ค. 2025 ประกอบกับมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริการภาวะผู้มีบุตรยาก รวมทั้งเสนอปรับแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้คู่สมรสที่มีทะเบียนสมรสสามารถอุ้มบุญได้ โดยรวมถึงคู่สมรสเพศเดียวกัน และสำหรับกรณีชาวต่างชาติ มองเป็นปัจจัยช่วยเพิ่มความต้องการมีบุตรเปิดกว้างขึ้นหุ้นเด่นเลือก SAFE (Buy TP25F 16.30 บาท) ปรับคำแนะนำเป็น Buy (เดิม Trading Buy) เนื่องจากคาด 4Q24F กำไรสุทธิ (-33% y-y +18% q-q) กลับมาเติบโต q-q และปี 25F คาดกำไรสุทธิ (+17% y-y) เติบโตเด่นกว่า GFC (vs กำไรสุทธิ +7% y-y) จากศักยภาพให้บริการพร้อมทั้งบุคลากรการแพทย์และเทคโนโลยีใหม่ ประกอบกับไม่มีผลกระทบต้นทุนและค่าใช้จ่ายของสาขาใหม่เหมือน GFC เทคโนโลยีใหม่ PGT-A Seq ให้บริการเต็มปี 2025 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพตัวอ่อนและอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ รวมทั้งเป็นโอกาสให้บริการลูกค้าภายนอกทั้งคลินิก IVF และ รพ. ต่างๆ เอเจนซี่ต่างชาติรายใหม่เข้ามาเพิ่มเติมทั้งจีน, อินเดีย, บังคลาเทศ และเวียดนาม ทำให้มีโอกาสขยายตลาดต่างชาติเพิ่มเติมจากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ต่างชาติราว 45% ส่วน GFC (Buy TP25F 8.30 บาท) ฝ่ายวิเคราะห์ปรับคำแนะนำเป็น Buy (เดิม Trading Buy) เนื่องจากคาด 4Q24F กำไรสุทธิ (-19% y-y +11% q-q) กลับมาเติบโตได้ q-q จากการใช้บริการเพิ่มขึ้น ประกอบกับสาขาใหม่อุบลราชธานีให้บริการเต็มไตรมาส และสาขาพระราม 9 เริ่มให้บริการมีปัจจัยบวกจากการปรับขึ้นค่าบริการเฉลี่ยราว 10% มีผลตั้งแต่ 4Q24F และสาขาพระราม 9 ให้บริการเต็มปี 25F มองเป็น S-curve ใหม่ในการเติบโตจากการขยายตลาดลูกค้าต่างชาติ ซึ่งปัจจุบัน GFC มีสัดส่วนรายได้ต่างชาติเพียง 1% อย่างไรก็ตามฝ่ายวิเคราะห์ชอบ GFC น้อยกว่า SAFE เนื่องจากคาดปี 25F GFC จะยังมีปัจจัยกดดันด้วยต้นทุนของ 2 สาขาใหม่ รวมทั้งอยู่ระหว่างหาเอเจนซีรายใหม่ร่วมทำตลาดต่างชาติ ทำให้คาดการสร้างรายได้จะเติบโตช้ากว่าต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ช่วง 1Q24 ราคาหุ้น SAFE (+16%) ปรับตัวขึ้นดีกว่า GFC (-3%) และกลุ่มการแพทย์ (-0.5%) มีปัจจัยบวกจากผลการดำเนินงาน 1Q24 ทะลุ all time high จากอานิสงส์ความต้องการมีลูกในปีมังกร ทำให้มีการใช้บริการเร่งขึ้นทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ ทั้งนี้นับจากต้นปี 24 ราคาหุ้น SAFE (-33% ytd) และ GFC (-37% ytd) ปรับตัวลงแย่กว่ากลุ่มการแพทย์ (-13% ytd) สะท้อนผลการดำเนินงานปีนี้ผ่านช่วงดีสุดใน 1Q24 ทำให้ราคาปัจจุบัน SAFE และ GFC ซื้อขาย PE ปี 25F เฉลี่ย 18 เท่า หรือเทียบเท่า Forward PE -2.0 SD มองเป็นโซนน่าลงทุน เมื่อเทียบกับแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิกลุ่มฯ เฉลี่ย 17% CAGR ปี 25F-26F ประกอบกับการให้บริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ทางการแพทย์ที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐและกฎหมายสนับสนุนต่างๆ มองว่าราคาหุ้น SAFE และ GFC ควรถูก Re-rated PE ขึ้นจากระดับ -2.0 SD เพื่อสะท้อนแนวโน้มกำไรสุทธิปี 25F กลับมาเติบโต ในปี 2024F คาดว่ากลุ่มผู้ให้บริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากที่ศึกษาจะมีกำไรสุทธิรวม 260 ลบ. (-7% y-y) ลดลงตามทิศทางผลการดำเนินงานของ SAFE คาดมีกำไรสุทธิ 179 ลบ. (-11% y-y) ลดลง เนื่องจากคาดว่า SAFE จะมีรายได้ให้บริการ (-0.5% y-y) ชะลอตัวตามจำนวนรอบการเก็บไข่และให้บริการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน ทำให้มีผลของ Economies of scale ลดลงตามการใช้บริการ รวมทั้งการทำตลาดเชิงรุกร่วมกับเอเจนซี่ต่างชาติในประเทศจีน, บังคลาเทศ และอินเดีย ทำให้คาดว่าจะมีค่าใช้จ่าย SG&A (+12% y-y) เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ชะลอตัว ส่วน GFC คาดมีกำไรสุทธิ 81 ลบ. (+5% y-y) เติบโต เนื่องจากคาดว่าจะมีรายได้ให้บริการ (+7% y-y) เติบโตจากจำนวนรอบการเก็บไข่ที่เพิ่มขึ้น และมีการปรับขึ้นค่าบริการช่วง 4Q24F ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปิด 2 สาขาใหม่ คาดเริ่มเห็นผลกระทบบางส่วนใน 4Q24F (ปลายเดือน ส.ค. 24 เปิดสาขาอุบลราชธานี และปลาย 4Q24F เปิดสาขาพระราม 9) ทิศทางและเป้าหมายปี 2025F ผู้บริหาร GFC และ SAFE มีมุมมองบวกต่อการเติบโตของรายได้ที่ดีขึ้นจากการตลาดเชิงรุกและขยายลูกค้าใหม่ โดย GFC ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 10-15% ยังไม่รวมการขยายตลาดลูกค้าต่างชาติของสาขาพระราม 9 ส่วน SAFE ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตราว 15% ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของตลาด IVF ในประเทศไทย โดยในปี 2025F คาดว่ากลุ่มผู้ให้บริการภาวะมีบุตรยากที่ศึกษาจะมีกำไรสุทธิรวม 297 ลบ. (+14% y-y) เข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ เนื่องจากคาดว่า GFC และ SAFE จะมีรายได้เติบโตดีขึ้นตามการใช้บริการและมีจำนวนรอบการเก็บไข่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า GFC จะมีรายได้ให้บริการเติบโต +16% y-y รวมลูกค้าต่างชาติของสาขาพระราม 9 คาดเริ่มให้บริการใน 2Q25F เป็นต้นไป ส่วน SAFE คาดรายได้ให้บริการเติบโต +12% y-y ตามที่คาดว่าจะมีจำนวนรอบการเก็บไข่และให้บริการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่า GFC จะมีปัจจัยกดดันจากการรับรู้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายของ 2 สาขาใหม่เต็มปี ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 87 ลบ. (+7% y-y) เติบโตในอัตราน้อยกว่ารายได้ และเติบโตน้อยกว่า SAFE ที่เราคาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 210 ลบ. (+17% y-y) เนื่องจากคาดว่า SAFE จะมีผลบวกจาก Economies of scale ของการให้บริการเพิ่มขึ้นทั้งการให้บริการ IVF และให้บริการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน รวมทั้งไม่มีปัจจัยกดดันต้นทุนจากการเปิดสาขาใหม่เหมือน GFC