#SAF


ยูโอบี ปล่อยกู้ 6,500 ล้าน! หนุนบางจากสร้างโรงงานผลิต SAF แห่งแรกในไทย

ยูโอบี ปล่อยกู้ 6,500 ล้าน! หนุนบางจากสร้างโรงงานผลิต SAF แห่งแรกในไทย

           หุ้นวิชั่น - กรุงเทพฯ 13 ธันวาคม 2567 – ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้มอบสินเชื่อภายใต้กรอบการสนับสนุน ทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance Framework) จำนวน 6,500 ล้านบาทให้กับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย เพื่อใช้ในการพัฒนาก่อสร้างและเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน สำหรับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจปัจจุบันได้ยากครั้งแรกในประเทศไทย            นางสาวพนิตสนีย์ ตั๊นสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจลูกค้าองค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ธุรกรรมนี้เป็นการยืนยันของยูโอบีในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อกลุ่มบริษัทบางจาก ให้ครอบคลุมใน ทุกด้าน พร้อมทั้งยืนยันจุดยืนของเราในฐานะธนาคารหลักที่สนับสนุนกลุ่มบริษัทฯ ในด้านกลยุทธ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ของบางจากฯ ซึ่งเป็นโครงการแรกของประเทศไทย ภายใต้กรอบการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านนี้ ธนาคารยูโอบี มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมการเปลี่ยนผ่านในหลากหลายด้าน สำหรับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจปัจจุบัน ได้ยาก ซึ่งรวมถึงการผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) การใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ (CCUS) และการมีส่วนร่วมในโครงการคาร์บอนเครดิตโดยสมัครใจ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการผลิต SAF ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนในภาคการบินได้” โดยสินเชื่อนี้ได้รับการออกแบบให้มีการจัดสรรคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของบางจากฯ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกสำหรับธนาคารยูโอบีในการให้บริการในลักษณะนี้ในประเทศ            นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานบัญชีและการเงิน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "โครงการนี้สะท้อนความพยายามของบางจากฯ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนผ่านธุรกิจของเราไปสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 ความร่วมมือนี้ช่วยให้เราสามารถดำเนินการแผนการลดคาร์บอนได้อย่างเป็นรูปธรรม เราขอขอบคุณธนาคารยูโอบี ในการสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้ และความมุ่งมั่นที่จะอยู่เคียงข้างตลอดการเดินทางสู่ความยั่งยืนของเรา" โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่โซลูชันพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ โครงการ SAF นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ของบางจากฯ ในการก้าวไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำและนวัตกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas Industry)            น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ผลิตจากทรัพยากรที่ยั่งยืนซึ่งสามารถผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการนี้ใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่คุณค่าแบบบูรณาการของบางจากฯ (Integrated Value Chain) โดยสามารถจัดหาน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากสถานีบริการน้ำมันของบางจากฯ ทั่วประเทศและเครือข่ายพันธมิตร ทั้งนี้ โครงการ SAF จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับบางจากฯ ในฐานะหน่วยงานการค้า/การตลาดหลัก และจำหน่ายให้ลูกค้าอาทิ ผู้จำหน่ายเชื้อเพลิง สายการบิน และผู้ค้าน้ำมัน อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ บางจากฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายกับบริษัท เชลล์ อินเตอร์เนชันแนล อีสเทิร์น เทรดดิ้ง ในประเทศสิงคโปร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว            บางจากฯ ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกการผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วในประเทศไทยผ่านบริษัทย่อย บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ซึ่งบางจากได้ลงทุน 8,500 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการผลิต SAF ที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 2/2568 โดยมีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งนี้ การใช้ SAF จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิม

SAF พลังงานทางเลือกสำหรับโลกที่ยั่งยืน

SAF พลังงานทางเลือกสำหรับโลกที่ยั่งยืน

          น้ำมัน SAF (Sustainable Aviation Fuel) หรือ น้ำมันเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน คือเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่ใช้ในอุตสาหกรรมการบิน โดยผลิตจากวัตถุดิบที่ยั่งยืน เช่น น้ำมันพืชใช้แล้ว ไขมันสัตว์ เศษอาหาร หรือวัตถุดิบชีวภาพอื่นๆ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิม           SAF ถูกพัฒนาเพื่อช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดย SAF สามารถผสมกับเชื้อเพลิงการบินแบบดั้งเดิมได้และใช้งานกับเครื่องบินที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยไม่ต้องปรับปรุงเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ การใช้น้ำมัน SAF เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก           ทั้งนี้ Used Cooking Oil (UCO) หรือ น้ำมันพืชใช้แล้ว เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตน้ำมัน SAF น้ำมันพืชใช้แล้วที่เหลือจากการปรุงอาหารสามารถนำมาแปรรูปได้           โดย ASTM (American Society for Testing and Materials) ได้รับรองมาตรฐาน SAF โดยสามารถผสมในน้ำมันเครื่องบินได้ในอัตราส่วน 10-50% ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตเฉพาะ           ขณะที่ ภาครัฐกำลังเดินหน้าในการจัดทำ Oil Plan 2024 ในส่วนของภาคขนส่งทางอากาศ โดยมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการบิน มุ่งใช้ศักยภาพวัตถุดิบจากในประเทศ เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) น้ำมันปาล์มดิบ และเอทานอล คาดว่าจะสามารถเริ่มมีสัดส่วนการผสม SAF ที่ 1% ในปี พ.ศ. 2569 บริษัทในตลาดหุ้นที่กำลังเดินหน้าในเรื่องของน้ำมัน SAF ได้แก่: BCP BBGI OR PTTGC BAFS EA UAC BCP และ BBGI เดินหน้าน้ำมัน SAF           นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับเชิญร่วมเสวนาในงานสัมมนา “60 YEARS OF EXCELLENCE” ครบรอบ 60 ปี สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association: TMA)           นายชัยวัฒน์ ได้กล่าวถึงความท้าทายในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล ธุรกิจและประชาชน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่สามารถมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกบริโภคอย่างรับผิดชอบและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ภาครัฐและธุรกิจเดินหน้าดำเนินการได้อย่างเต็มที่ สร้างวัฒนธรรมที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในขณะที่ภาคธุรกิจ ต้องผนวกหลักการด้าน ESG เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ การลงทุนในนวัตกรรมสีเขียว การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างความร่วมมือข้ามภาคส่วน ที่สำคัญคือต้องอาศัยแนวทางแห่งสมดุลที่ผสานการเติบโตขององค์กรเข้ากับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว ในขณะที่ภาครัฐบาล มีหน้าที่กำหนดทิศทางและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมาตรการที่สร้างแรงจูงใจและกรอบการดำเนินงานที่เอื้อต่อองค์กรและบุคคลในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน           ภายในงาน บางจากฯ ได้ร่วมนำบูธนิทรรศการนำเสนอนวัตกรรมสีเขียวของกลุ่มบริษัทบางจากในการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและสร้างระบบนิเวศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น การบุกเบิกการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) และ Carbon Markets Club คลับรักษ์โลกลดก๊าซเรือนกระจกแห่งแรกของไทย เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ           นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI เปิดเผยว่า บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ ลงนามข้อตกลงร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) โดยมีสัดส่วนการลงทุนจากบางจากฯ 51%, ธนโชค ออยล์ ไลท์ 29%, และบีบีจีไอ 20% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) จากน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหาร (Used Cooking Oil) ซึ่งถือเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินการในลักษณะนี้           ขณะนี้โรงงานผลิต SAF กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีความคืบหน้าแล้วกว่า 50-60% และคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 โรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตสูงถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้เป็นหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหารแห่งแรกในประเทศไทย           ปัจจุบัน กลุ่มบางจากฯ ได้รับความสนใจจากลูกค้าสายการบินที่ติดต่อขอซื้อน้ำมัน SAF อย่างต่อเนื่อง โดยราคาขายน้ำมัน SAF ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 60-80 บาทต่อลิตร ซึ่งอ้างอิงตามราคาจาก Argus ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรายงานข้อมูลด้านพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคานี้ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานของน้ำมัน SAF และที่ผ่านมาส่วนต่างราคาก็มีการปรับลดลงตามความผันผวนของตลาด ที่มา: บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)