#RS


RS มุ่ง Sustainable Life Enriching  ใช้ Entertainmerce โตยั่งยืน

RS มุ่ง Sustainable Life Enriching ใช้ Entertainmerce โตยั่งยืน

          บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ อาร์เอส กรุ๊ป "RS" ในฐานะองค์กรเอกชนชั้นนำที่มุ่งเน้นการส่งมอบความสุขผ่านงานบันเทิง สินค้าและบริการเพื่อสุขภาพอย่างครบวงจรให้แก่ผู้บริโภคและสัตว์เลี้ยง ภายใต้โมเดลธุรกิจ Entertainmerce ซึ่งนอกจากสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ยังให้ความสำคัญกับการทำงานด้านความยั่งยืนโดยใส่ใจและมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ภายใต้กรอบ ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจของธุรกิจในเครือ อาร์เอส กรุ๊ป ต้องอยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตและยั่งยืนภายใต้แนวคิด Sustainable Life Enriching  ซึ่งมาจากความเชี่ยวชาญทางธุรกิจและประสบการณ์ของพนักงานและผู้บริหาร โดยเน้นการดำเนินการอย่างยั่งยืน ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ เสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Enhance Health and Wellbeing) ที่อาร์เอส กรุ๊ป เราเชื่อว่าทุกชีวิตมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้องค์กรเติบโต จึงมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและสัตว์เลี้ยงให้มีความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดี (Consumer Health and safety) ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกายและใจ ด้วยมาตรฐานและนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับระดับโลก โดย สุขภาพคน มีการสร้างสรรค์และส่งมอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Innovation Development) ด้านสุขภาพที่หลากหลายให้แก่ผู้บริโภค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมด้วยบริการที่ไม่เพียงแต่ดูแลเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอก แต่ยังช่วยสร้างความรื่นรมย์ต่อจิตใจอีกด้วย ด้าน สุขภาพสัตว์ ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงในฐานะสมาชิกสำคัญของครอบครัว ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีชีวิตที่มีความสุข แข็งแรง และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมในทุกช่วงวัย สนับสนุนการลงทุนด้านสังคม (Contribute to Social Investment) อาร์เอส กรุ๊ป พร้อมที่จะแบ่งปันความบันเทิง ทรัพยากร และความเชี่ยวชาญจากบุคลากรที่หลากหลาย ด้วยการส่งมอบโอกาสและสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคม มุ่งสร้างความสุขที่ยั่งยืน ผ่านการต่อยอดความรู้และเพิ่มทักษะในการทำงาน เพื่อนำไปปรับใช้ในโลกยุคปัจจุบัน ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ โครงการ RS Have A Seat เป็นโครงการที่แบ่งปันพื้นที่พิเศษในกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ของ อาร์เอส กรุ๊ป ให้กับกลุ่มเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัย หรือผู้พิการ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงประสบการณ์ความบันเทิงเต็มรูปแบบ ช่วยเติมเต็มความสุข รอยยิ้ม และสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต (Social Inclusion) สำหรับปีนี้ ได้มอบสิทธิพิเศษให้กับ สมาชิกกลุ่มจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ร่วมสนุกในคอนเสิร์ต “RS Meeting Concert 2024 Dance Marathon 2 ยกกำลัง...เต้น จำนวน 30 คน, ผู้พิการและผู้ช่วยพิการ จากโครงการกาลพลิก จำนวน 50 คน ร่วมชมวาไรตี้ซีรีส์คอนเสิร์ต “ยัยตัวร้ายกับนายหัวโจก” และล่าสุด ทีมพนักงานกวาด จากสำนักเขตจตุจักร จำนวน 40 คน เข้าร่วมชมคอนเสิร์ต อำพลฟูดส์ presents DAN - BEAM DREAM 2 BE CONCERT 21st CENTURY DADDY’S CLUB โครงการ RS Young Blood อาร์เอส กรุ๊ป แบ่งปันความเชี่ยวชาญขององค์กร เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามาศึกษาดูงาน และเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อเสริมสร้างทักษะและแรงบันดาลใจในการก้าวสู่เส้นทางอาชีพในอนาคต (People Development) ไม่ว่าจะเป็นการลงนาม MOU จับมือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เปิดหลักสูตร “Entertainmerce”, การเปิดบ้านต้อนรับคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่สำนักงานวิทยทรัพยากรและสถานีวิทยุจุฬา Chula Radio, เปิดสตูดิโอ COOLfahrenheit และช่อง 8 ให้นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สัมผัสประสบการณ์จริง เป็นต้น RS Nearby ช่วยชุมชนบอกต่อของดี โครงการส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนย่านจตุจักรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยย่านจตุจักร (Local Economic Development) จากการเป็นสื่อกลางในการโปรโมตของดีในชุมชนผ่านสื่อต่างๆ ของอาร์เอส กรุ๊ป ทั้งทางสื่อโซเชียลมีเดียของบริษัทฯ และการนำเสนอคอนเทนต์ผ่านรายการปากท้องต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 รวมถึงการประชาสัมพันธ์ในช่วงต่างๆ ของสถานีเพลง COOLfahrenheit ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับร้านค้าและผลิตภัณฑ์คุณภาพในชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย เขตจตุจักร กิจกรรม People Development ที่มุ่งมั่นพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในองค์กร ด้วยการเพิ่มทักษะและความรู้ใหม่ๆ ผ่าน RS Learning Center พร้อมกับการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถเติบโตและก้าวหน้าไปพร้อมกับองค์กร มีทั้งกิจกรรมเวิร์คช็อป “RS Healthy Mind for Healthy Engagement สร้างภูมิคุ้มกันจิตใจ, กิจกรรมเติมเต็มความรู้ด้านความยั่งยืน RS Group Sustainability Training สร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม (Protect our Planet) อาร์เอส กรุ๊ป เชื่อว่าการสร้างโลกที่ยั่งยืนจะนำไปสู่อนาคตที่สดใส และส่งผลดีต่อธุรกิจและสังคม เราจึงมุ่งสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่โลกใบนี้ (Environmental Preservation) โดยผลักดันให้องค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และลดสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 จึงตั้งเป้าดำเนินธุรกิจตามแนวปฏิบัติ RS Net Zero และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การลดการใช้พลังงานและการจัดการคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการพัฒนากระบวนการธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและลดผลกระทบต่อโลกในระยะยาว Low Carbon Event สร้างสรรค์ มิวสิคเฟสติวัลคาร์บอนต่ำ ที่มุ่งเน้นการจัดระเบียบการแยกขยะภายในงาน สนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแยกขยะเพื่อส่งเข้าสู่ระบบจัดการอย่างถูกวิธี และลดขยะในงานไม่ให้เกิดปัญหากับชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม ปราศจากการฝั่งกลบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี พ.ศ.2567 มีการจัดเทศกาลดนตรี COOL Summer Fest 2024 ณ ชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จัดการขยะรวม 1,187 กิโลกรัม และเทศกาลดนตรี COOL Windy Fest 2024 จัดการขยะรวม 894 กิโลกรัม RS Green Army การมีส่วนร่วมในการลดการใช้พลังงานและลดขยะในองค์กร โดยพนักงานทุกคนยังเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ และเชิญชวนให้ทุกคนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน อาทิ ความร่วมมือลดใช้พลังงานในองค์กร, กิจกรรม #ฮาวทูทิ้ง สะสมฝาขวดน้ำเพื่อส่งเข้าสู่ระบบรีไซเคิล โดยปีนี้สามารถรวบรวมฝาขวดน้ำได้มากถึง 70 กิโลกรัม Green Packaging เป็นการสร้างมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจคอมเมิร์ซที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าที่ปราศจากสารตกค้างที่อันตราย และคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบรนด์ vitanature+ ได้ปรับบรรจุภัณฑ์มาเป็น PCR (Post-Consumer Recycled Plastic), Hato Pet Wellness เลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบ รีฟิลทุกสาขาเพื่อลดขยะ Contribution คืนชีพขวดพลาสติก PET1 จากขยะสร้างสรรค์ใหม่ให้กลายเป็นกระเป๋าจากเส้นใย รีไซเคิล โดยนำรายได้ทั้งหมดไปสมทบทุนสนับสนุนการดูแลสัตว์ทะเลหายากและระบบนิเวศ ร่วมมือกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมกว่า 300,000 บาท โดยทำต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว           ทั้งนี้ อาร์เอส กรุ๊ป พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยความมุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญของแต่ละธุรกิจในเครือ ทั้งการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก (Inspire) กับทุกธุรกิจ สร้างการป้องกันและผลกระทบเชิงลบ (Prevent) ด้วยสินค้าและบริการ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Connect) และการสร้างโอกาสและการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม (Access) มุ่งสู่การเป็น Sustainable Life Enriching ที่พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนรวมถึงสัตว์เลี้ยงผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในทุกมิติอย่างยั่งยืน           ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวต่างๆ ของ อาร์เอส กรุ๊ป ได้ทาง www.rs.co.th และ https://www.facebook.com/RSGROUPOFFICIAL

GRAMMY & RS: การปรับโฉมธุรกิจบันเทิงสู่โอกาสการเติบโตใหม่ [HoonVision x FynnCorp]

GRAMMY & RS: การปรับโฉมธุรกิจบันเทิงสู่โอกาสการเติบโตใหม่ [HoonVision x FynnCorp]

          GRAMMY & RS: การปรับโฉมธุรกิจบันเทิงสู่โอกาสการเติบโตใหม่           Key Highlights การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัว อุตสาหกรรมบันเทิงไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งจากกระแสดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูง อาทิ อีคอมเมิร์ซและสุขภาพ ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง GRAMMY และ RS จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน GRAMMY ปรับโฉมจากธุรกิจเพลงสู่การเป็นบริษัทบันเทิงครบวงจร มุ่งเน้นการเติบโตในด้านคอนเทนต์ดิจิทัล การจัดคอนเสิร์ต และการผลิตภาพยนตร์ โดยอาศัยจุดแข็งจากคลังเพลงมากกว่า 40,000 เพลงและการสร้างพันธมิตรในแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างการเติบโตระยะยาว RS ก้าวสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซและความงาม ผ่านแบรนด์ Well U และ Lifestar พร้อมขยายช่องทางอีคอมเมิร์ซผ่าน RS Mall รุกตลาด CLMV และเปิดตัวผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง สะท้อนความสามารถในการขยายธุรกิจในตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง การพลิกโฉมธุรกิจสร้างโอกาสการลงทุนที่น่าจับตา GRAMMY และ RS แสดงให้เห็นศักยภาพการเติบโตผ่านกลยุทธ์ที่แตกต่าง แม้ยังเผชิญความท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจ สำหรับ GRAMMY คำแนะนำคือ "ถือ" (Hold) เนื่องจาก Forward P/E ที่ 22 เท่าอยู่ในกรอบที่เหมาะสม (20-22 เท่า) แต่ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนศักยภาพการเติบโตระยะยาวอย่างเต็มที่ ส่วน RS อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นฟูธุรกิจคอมเมิร์ซและขยายตลาดสุขภาพและสัตว์เลี้ยง คำแนะนำคือ "รอดู" (Wait and See) เพื่อติดตามผลลัพธ์จากกลยุทธ์ใหม่และความสามารถในการสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต           วิวัฒนาการของธุรกิจบันเทิงไทย: เมื่อค่ายเพลงปรับตัวสู่ธุรกิจที่มากกว่าดนตรี อุตสาหกรรมดนตรีโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านจากยุคสื่อกายภาพสู่ยุคดิจิทัลได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างรายได้และรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ แม้ตลาดดนตรีดิจิทัลในประเทศไทยจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยมูลค่าถึง 1.9 พันล้านบาทในปี 2566 แต่การแข่งขันที่เข้มข้นและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องแสวงหาแนวทางใหม่เพื่อสร้างการเติบโตและความยั่งยืนทางธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีดิจิทัลได้สั่นคลอนโมเดลธุรกิจดนตรีแบบดั้งเดิม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวทั้งในมิติการสร้างสรรค์เนื้อหา การจัดจำหน่าย และการสร้างรายได้ ขณะเดียวกัน การเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลก็ได้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ในการเข้าถึงผู้ฟังและเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์สินทางปัญญาด้านดนตรี ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนากลยุทธ์ที่ผสานความสมดุลระหว่างการรักษาธุรกิจหลักและการแสวงหาโอกาสเติบโตในรูปแบบใหม่ ในบริบทของไทย บริษัทบันเทิงชั้นนำได้รับมือกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) และ อาร์เอส (RS) ที่เลือกเส้นทางแตกต่างกันในการพัฒนาธุรกิจ ในขณะที่บริษัทหนึ่งมุ่งเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจดนตรีผ่านการปรับโครงสร้างและขยายช่องทางดิจิทัล อีกบริษัทหนึ่งใช้ความเชี่ยวชาญด้านความบันเทิงเป็นสะพานสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง กลยุทธ์การปรับตัวของทั้งสององค์กรอาจสร้างโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในตลาดทุนไทย หากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจประสบความสำเร็จ ด้วยฐานทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่งและความพยายามในการสร้างกระแสรายได้จากหลากหลายช่องทาง ทั้งจากการปรับธุรกิจดนตรีให้เข้ากับยุคดิจิทัลและการขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งสององค์กรอาจสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจในระยะยาวหากการปรับโมเดลธุรกิจเป็นไปตามแผน การติดตามความคืบหน้าในการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจของทั้งสององค์กรจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินโอกาสการลงทุนในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้           วิเคราะห์ธุรกิจจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY): 40 ปีแห่งการเปลี่ยนผ่านจากค่ายเพลงสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจบันเทิง           จุดเริ่มต้นและการเติบโตของธุรกิจ GRAMMY บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 โดยคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ภายใต้ชื่อ แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เริ่มต้นจากการเป็นค่ายเพลงที่ผลิตผลงานเพลงไทยสากลและบริหารศิลปินชั้นนำในประเทศ บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2545 และในช่วงระหว่างปี 2530-2545 ถือเป็นยุครุ่งเรืองที่ GRAMMY มีรายได้หลักจากการจำหน่ายเทปและซีดี (70% ของรายได้รวม) ด้วยยอดขายเฉลี่ย 20-30 ล้านชิ้นต่อปี อัลบั้มยอดนิยมสามารถทำยอดขายได้ถึง 1-2 ล้านชิ้น รายได้เพิ่มเติมมาจากคอนเสิร์ตและอีเวนต์ (20%) และลิขสิทธิ์ (10%) อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะการเติบโตของสตรีมมิ่งและการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่งผลให้ยอดขายสื่อกายภาพลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2550 บริษัทจึงเริ่มปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจโดยขยายสู่ธุรกิจโทรทัศน์และภาพยนตร์ จนถึงปี 2555 สัดส่วนรายได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ รายได้จากธุรกิจเพลงลดลงเหลือ 45% ขณะที่ธุรกิจสื่อและความบันเทิงเติบโตเป็น 40% และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ อยู่ที่ 15%           การปรับโครงสร้างครั้งสำคัญและธุรกิจในปัจจุบัน           ตั้งแต่ปี 2557 GRAMMY ได้ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลและโฮมช้อปปิ้ง (O Shopping) ซึ่งช่วยกระจายรายได้และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจเพลงเพียงอย่างเดียว ปี 2560 สัดส่วนรายได้ของบริษัทเปลี่ยนเป็น ธุรกิจเพลง 35% สื่อและความบันเทิง 35% โฮมช้อปปิ้ง 20% และภาพยนตร์ 10% สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2566 เมื่อ GRAMMY ตัดสินใจแยกธุรกิจเพลงออกมาภายใต้บริษัทใหม่ "GMM Music Co., Ltd." ซึ่งได้รับการจัดตั้งเพื่อมุ่งเน้นการบริหารธุรกิจเพลงอย่างครบวงจร รวมถึงเตรียมเสนอขายหุ้น IPO ของ GMM Music เพื่อดึงดูดการลงทุนและเพิ่มศักยภาพในการเติบโต           ปัจจุบัน ธุรกิจของ GRAMMY แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก โดยมีสัดส่วนรายได้ในไตรมาส 1/2567 ดังนี้: ธุรกิจเพลงและบริหารศิลปิน (69% ของรายได้): ผลิตและจำหน่ายเพลงดิจิทัล บริหารลิขสิทธิ์เพลงและศิลปิน จัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี เช่น "Rock Mountain 2024" และ "90's Forever Concert" ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง (21%): ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์ม O Shopping ที่เน้นสินค้ากลุ่มสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจภาพยนตร์ (4%): ผ่านแบรนด์ GDH ซึ่งสร้างภาพยนตร์คุณภาพที่ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจอื่นๆ (6%): เช่นธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ผลิตคอนเทนต์สำหรับทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่าง ช่อง GMM25           การปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ทางธุรกิจของ GRAMMY สะท้อนถึงความจำเป็นในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมดนตรี จากค่ายเพลงที่พึ่งพารายได้จากการขายสื่อกายภาพเป็นหลัก สู่การเป็นบริษัทบันเทิงที่มีรายได้หลากหลายและมีความยืดหยุ่นสูง การปรับตัวครั้งสำคัญในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการขยายสู่ธุรกิจสื่อ การลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือการแยกธุรกิจเพลงออกมาเป็นบริษัทเฉพาะ ล้วนเป็นการวางรากฐานเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว           ผลของการปรับโครงสร้างธุรกิจต่อผลประกอบการและฐานะการเงินของ GRAMMY ณ ปัจจุบัน           GRAMMY ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคอนเทนต์ดิจิทัล ลิขสิทธิ์เพลง และคอนเสิร์ต ผลประกอบการในปี 2564-2566 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 4,215 ล้านบาทในปี 2564 เป็น 5,988 ล้านบาทในปี 2566 (+42%) โดยรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปี อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 48.38% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 39.34% ในปี 2566 เนื่องจากต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายบริหารที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปี 2566 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 126.85 ล้านบาท           ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 GRAMMY มีรายได้รวม 4,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 4,159 ล้านบาท (+7%) โดยได้รับแรงหนุนจากการจัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีมากขึ้น เช่น Rock Mountain Music Festival ที่พัฒนาขึ้นในรูปแบบใหม่ และคอนเสิร์ตใหญ่ เช่น PALMY Universe Concert นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ GDH สองเรื่องยังประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ ช่วยสนับสนุนรายได้และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบันเทิง           GRAMMY ยังคงมีความสามารถในการแข่งขันผ่านธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น คอนเทนต์ดิจิทัล คอนเสิร์ต และภาพยนตร์ การจัดการต้นทุนและการขยายตัวในธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว           โอกาสการเติบโตของ GRAMMY           การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ของ GRAMMY ได้สร้างปัจจัยการเติบโตใหม่ที่สำคัญให้กับบริษัท โดยการปรับโครงสร้างธุรกิจและการกระจายแหล่งรายได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสใหม่ในยุคดิจิทัล ปัจจุบัน GRAMMY ได้รับแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัยการเติบโตที่ช่วยผลักดันรายได้และกำไรของบริษัท: การเติบโตของรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงดิจิทัลและคอนเทนต์ ธุรกิจลิขสิทธิ์เพลงและคอนเทนต์ดิจิทัลของ GRAMMY เติบโตแข็งแกร่งจากการขยายตัวของตลาดสตรีมมิ่งที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปีในช่วง 2564-2566 บริษัทมีคลังเพลงขนาดใหญ่กว่า 40,000 เพลงและการผลิตเพลงใหม่กว่า 200 เพลงต่อปี รายได้จากลิขสิทธิ์เพลงดิจิทัลเติบโต 35% ในปี 2566 และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากการขยายความร่วมมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลก เช่น Spotify และ YouTube Music การฟื้นตัวของธุรกิจจัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ ธุรกิจคอนเสิร์ตและอีเวนต์ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นหลังการเปิดประเทศ ในปี 2566 GRAMMY จัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ 15 งาน สร้างรายได้รวม 850 ล้านบาท เติบโต 120% จากปีก่อน และมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 45% ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าจัดคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 25 งาน โดยรวมถึงการร่วมงานกับศิลปินต่างประเทศและการขยายตลาดไปยัง CLMV เพื่อเพิ่มฐานผู้ชมและรายได้ การเติบโตของธุรกิจภาพยนตร์ผ่าน GDH GDH ประสบความสำเร็จในการผลิตภาพยนตร์คุณภาพสูงที่สร้างรายได้เฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อเรื่อง สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 80 ล้านบาท บริษัทวางแผนเพิ่มการผลิตภาพยนตร์เป็น 4-5 เรื่องต่อปีในปี 2567-2568 และขยายการผลิตซีรีส์สำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 50% พร้อมทั้งเพิ่มความหลากหลายในเนื้อหาเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น โอกาสการเติบโตจาก O Shopping ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งของ GRAMMY มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและการขยายฐานลูกค้าออนไลน์ ยอดขายออนไลน์เติบโต 45% ในปี 2566 และเพิ่มสัดส่วนเป็น 35% ของรายได้รวม บริษัทตั้งเป้าขยายส่วนแบ่งยอดขายออนไลน์เป็น 50% ภายในปี 2568 ผ่านการลงทุนในแอปพลิเคชัน ระบบโลจิสติกส์ และการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพและอัตรากำไร GRAMMY มีแผนเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นจาก 40% เป็น 45% ภายในปี 2568 โดยการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูง เช่น ลิขสิทธิ์ดิจิทัลและคอนเทนต์ พร้อมทั้งควบคุมต้นทุนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในไตรมาส 1/2567 อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 41% ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของกลยุทธ์นี้และแนวโน้มที่แข็งแกร่งในอนาคต           ความเสี่ยงหลักของ GRAMMY           แม้ว่า GRAMMY จะมีการปรับตัวเชิงกลยุทธ์และสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่แข็งแกร่ง แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงจากการแข่งขันในธุรกิจคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล การแข่งขันในตลาดคอนเทนต์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการลงทุนของแพลตฟอร์มต่างชาติ เช่น Netflix, Disney+, และ Prime Video ซึ่งลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทในปี 2566 เพื่อผลิตคอนเทนต์ไทย เพิ่มขึ้น 85% จากปีก่อน การแข่งขันนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตคอนเทนต์เพิ่มขึ้น และเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังมีอำนาจต่อรองที่สูง ทำให้ส่วนแบ่งรายได้ต่อคอนเทนต์ที่ GRAMMY ได้รับลดลงในบางกรณี ซึ่งอาจกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี พฤติกรรมการบริโภคสื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials ที่ใช้เวลามากขึ้นกับ Short-form Content เช่น TikTok และ Reels ในปี 2566 เวลาการใช้งาน Short-form Content เพิ่มขึ้น 45% ขณะที่การรับชมทีวีดิจิทัลลดลง 15% ส่งผลกระทบต่อรายได้โฆษณาของ GMM25 ที่ลดลง 12% ในปี 2566 นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI เช่น Generative AI อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตคอนเทนต์ ทำให้ต้นทุนลดลงแต่ยังต้องปรับตัวให้ทันกับมาตรฐานคุณภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีใหม่อาจลดความเกี่ยวข้องของ GRAMMY ในตลาดได้ ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง (O Shopping) แม้ O Shopping เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญของ GRAMMY (คิดเป็น 21% ของรายได้รวม) แต่ธุรกิจนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ เช่น Shopee และ Lazada ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน โลจิสติกส์ และเครือข่ายลูกค้า ในปี 2566 ส่วนแบ่งตลาดของ O Shopping ลดลงจาก 8% เป็น 6% และอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 35% เป็น 32% การแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือดและการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคสู่อีคอมเมิร์ซอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจนี้ และสร้างความผันผวนต่อรายได้รวมของ GRAMMY            วิเคราะห์ธุรกิจอาร์เอส (RS): จากรากฐานธุรกิจเพลงสู่ผู้นำด้านคอมเมิร์ซและสุขภาพ           จุดเริ่มต้นและโครงสร้างธุรกิจเดิมของ RS           บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เริ่มต้นในปี 2519 โดยคุณเกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ในชื่อ "Rose Sound" และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 2546 บริษัทเริ่มต้นในฐานะค่ายเพลงที่มีจุดเด่นจากกลุ่มศิลปินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยสากล ลูกทุ่ง หรือเพลงวัยรุ่น โดยในช่วงปี 2535-2545 ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของธุรกิจเพลง RS สร้างรายได้หลักจากการจำหน่ายเทปและซีดี คิดเป็น 80% ของรายได้รวม โดยมีการขายเฉลี่ย 15-20 ล้านชิ้นต่อปี รายได้ที่เหลือมาจากคอนเสิร์ตและอีเวนต์ (15%) และลิขสิทธิ์ (5%) อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2550 ยอดขายสื่อกายภาพเริ่มลดลงจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปใช้ช่องทางดิจิทัล ส่งผลให้ RS ขยายสู่ธุรกิจสื่อ เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสื่อเป็น 45% ในปี 2553 ขณะที่ธุรกิจเพลงลดลงเหลือ 50% และรายได้อื่นๆ อยู่ที่ 5% การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และโครงสร้างธุรกิจในปัจจุบัน           ปี 2557 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับ RS โดยบริษัทได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสำหรับช่อง 8 และเริ่มต้นธุรกิจคอมเมิร์ซผ่าน RS Mall โดยนำเสนอสินค้าแบบโฮมช้อปปิ้งผ่านช่องทางโทรทัศน์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ในปี 2560 สัดส่วนรายได้จากคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเป็น 40% สื่อ 45% และธุรกิจเพลงลดลงเหลือเพียง 15%           ในปี 2563 RS ได้ขยายตัวเข้าสู่ตลาดสุขภาพและความงาม ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ Well U และการเข้าซื้อกิจการ Lifestar เพื่อตอบสนองเทรนด์ผู้บริโภคด้านสุขภาพ การขยายตัวนี้ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัท และในปี 2566 สัดส่วนรายได้ของ RS เปลี่ยนไปดังนี้: คอมเมิร์ซและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (39%): ธุรกิจนี้ครอบคลุม RS Mall, Well U, และ Lifestar โดยเน้นโมเดล "Star Commerce" ซึ่งใช้ดาราและอินฟลูเอนเซอร์ร่วมในการขาย สื่อและความบันเทิง (45%): รวมรายได้จากช่อง 8 และ COOLanything ซึ่งยังคงสร้างความนิยมด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย ธุรกิจเพลง (16%): ยังคงมีรายได้จากการบริหารลิขสิทธิ์เพลง การจัดคอนเสิร์ต และผลิตคอนเทนต์           การปรับโมเดลธุรกิจของ RS จากค่ายเพลงสู่ผู้นำด้านคอมเมิร์ซและสุขภาพ สะท้อนวิสัยทัศน์ในการมองเห็นโอกาสและความกล้าในการเปลี่ยนแปลง การใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าและความเชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์ ผสานกับการจับเทรนด์สุขภาพ ทำให้ RS สามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา           ผลของการปรับโครงสร้างธุรกิจต่อผลประกอบการและฐานะการเงินของ RS ณ ปัจจุบัน           RS ได้เปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจจากค่ายเพลงและสื่อบันเทิงสู่การเป็นบริษัทที่มีความหลากหลายในธุรกิจคอมเมิร์ซและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลประกอบการในช่วงปี 2564–2566 แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน แม้รายได้รวมจะทรงตัวในปี 2564 และ 2565 ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท ก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3,650 ล้านบาทในปี 2566 (+3.3%) โดยรายได้จากการให้บริการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง (+22%) ขณะที่รายได้จากการขายสินค้าลดลง (-16.4%) อัตรากำไรขั้นต้นในช่วงดังกล่าวคงที่เฉลี่ย 49% สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนในธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจคอมเมิร์ซที่มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 60% ของรายได้รวมในปี 2566 นอกจากนี้ การขายสินทรัพย์สำคัญ เช่น ลิขสิทธิ์เพลงในปี 2566 ช่วยเสริมสถานะการเงิน โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 1,393 ล้านบาทในปีนั้น เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 139 ล้านบาทในปี 2565 แม้รายได้หลักยังไม่สม่ำเสมอ           ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 RS มีรายได้รวม 2,116 ล้านบาท ลดลง 24% จากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากความต้องการที่ชะลอตัวในช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่บริษัทอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากบางธุรกิจ โดยเฉพาะรายได้จาก Online Channel ที่เติบโตถึง 79.1% ในไตรมาส 2/2567 เมื่อเทียบกับปีก่อน และธุรกิจสินค้าสัตว์เลี้ยงที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2566 ก็แสดงพลวัตการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยขยายตัว 49.1% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน           เฉลี่ย 12% ต่อปี RS มีความได้เปรียบจากฐานข้อมูลลูกค้าที่ 45% ของลูกค้า RS Mall มีสัตว์เลี้ยง แม้ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมาอาจยังไม่สม่ำเสมอ แต่การขยายธุรกิจของ RS ไปสู่ตลาดใหม่ที่อยู่นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญเดิมเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว การเติบโตของธุรกิจสุขภาพและสินค้าสัตว์เลี้ยงสร้างกระแสลมหนุนที่สำคัญให้กับบริษัท ขณะเดียวกัน การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น ศิลปินและความเชี่ยวชาญด้านความบันเทิง อาจช่วยผลักดันการเติบโตในธุรกิจคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น RS ยังคงอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอนาคต           โอกาสการเติบโตของ RS           การปรับโมเดลธุรกิจของ RS จากค่ายเพลงสู่การเป็นผู้นำด้านคอมเมิร์ซและสุขภาพ ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในหลายมิติ กลยุทธ์สำคัญ เช่น การขยายตัวในตลาดสุขภาพและความงาม การพัฒนาช่องทางคอมเมิร์ซที่ทันสมัย และการรุกตลาดต่างประเทศ ช่วยให้ RS สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่มั่นคงและมีศักยภาพต่อการเติบโตในระยะยาว การขยายตัวของธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ธุรกิจ Well U และ Lifestar ของ RS เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยรายได้เพิ่มขึ้น 85% ในปี 2566 ด้วยอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 65% บริษัทมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 15 รายการในปี 2567 โดยเน้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและความงามระดับพรีเมียมที่ครอบคลุมตลาดสุขภาพมูลค่ารวม 2 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี RS ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก 5% เป็น 10% ภายในปี 2568 พร้อมทั้งเสริมความแข็งแกร่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเฉพาะบุคคล (personalized health solutions) การพัฒนา RS Mall เป็นแพลตฟอร์มคอมเมิร์ซครบวงจร RS Mall กำลังพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มคอมเมิร์ซแบบ O2O (Online-to-Offline) ที่เน้นประสบการณ์ลูกค้า ปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ซื้อซ้ำ 1.8 ล้านราย (เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2565) และยอดซื้อเฉลี่ยต่อรายการ 2,500 บาท บริษัทลงทุน 500 ล้านบาทในระบบ Data Analytics และ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขาย การจัดการสินค้าคงคลัง และสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าเป็น 3 ล้านรายภายในปี 2568 การรุกตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง RS เตรียมเปิดตัว LIFESTAR PET ในครึ่งหลังของปี 2567 เจาะตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดนี้มีมูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านบาทและเติบโตและใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าลูกค้าทั่วไป 35% ด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่คาดว่าจะสูงถึง 55-60% บริษัทตั้งเป้าสร้างรายได้จาก LIFESTAR PET ที่ 500 ล้านบาทในปี 2568 การขยายสู่ตลาดต่างประเทศใน CLMV RS เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม Well U และ Lifestar ไปยังเวียดนามในไตรมาส 2/2567 ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่ารวม 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปี บริษัทมีแผนขยายการส่งออกไปยังลาว กัมพูชา และเมียนมาในปีถัดไป ตั้งเป้ารายได้จากตลาดต่างประเทศ 1,000 ล้านบาทภายในปี 2568 การพัฒนาช่องทาง Social Commerce และ Live Commerce RS กำลังเร่งขยายช่องทางการขายผ่าน Social Commerce ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี บริษัทใช้ทีม KOL และ Live Commerce กว่า 500 คน ซึ่งสร้างยอดขายเฉลี่ย 150 ล้านบาทต่อเดือนในไตรมาส 1/2567 (เพิ่มขึ้น 85% จากปีก่อน) ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จาก Social Commerce ให้คิดเป็น 30% ของรายได้คอมเมิร์ซทั้งหมดภายในปี 2568 โดยใช้ระบบ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและปรับปรุงกลยุทธ์การขาย           ความเสี่ยงหลักของ RS           การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของ RS จากค่ายเพลงสู่ผู้นำในธุรกิจคอมเมิร์ซและสุขภาพ แม้จะสร้างโอกาสการเติบโตที่สำคัญ แต่ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพาธุรกิจหลักและการแข่งขันในตลาดที่เติบโตเร็ว กลยุทธ์การกระจายธุรกิจที่ครอบคลุมหลายภาคส่วน เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทีวีช้อปปิ้ง และ Social Commerce ทำให้ RS ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านที่ต้องจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตในระยะยาว ความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจสุขภาพและความงามในสัดส่วนที่สูง RS มีรายได้กว่า 60% มาจากผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ซึ่งอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยในปี 2566 มีแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาดกว่า 200 แบรนด์ รวมถึงบริษัทข้ามชาติที่มีทรัพยากรและช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง เช่น Unilever และ P&G การแข่งขันที่รุนแรงนี้อาจส่งผลให้ RS สูญเสียส่วนแบ่งตลาดหรือจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งอาจกระทบต่ออัตรากำไรและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท หาก RS ไม่สามารถปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้ ความเสี่ยงจากการพึ่งพาช่องทางการขายที่มีข้อจำกัดด้านการเติบโต แม้ RS จะขยายสู่การขายออนไลน์และ Social Commerce แต่บริษัทยังคงพึ่งพารายได้จากทีวีช้อปปิ้งและช่อง 8 ถึง 45% ซึ่งผู้ชมทีวีดิจิทัลลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 15% ต่อปี และอายุเฉลี่ยของผู้ชมเพิ่มขึ้นเป็น 45 ปี พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้ช่องทางทีวีมีข้อจำกัดในการเข้าถึงลูกค้าใหม่ RS จำเป็นต้องเร่งขยายช่องทางการขายที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์ม E-commerce และ Live Commerce เพื่อชดเชยรายได้ที่อาจลดลงจากทีวี ความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและมาตรฐานการกำกับดูแล ธุรกิจของ RS ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและทีวีช้อปปิ้ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวด โดยในปี 2566 การกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโดย อย. เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโฆษณาเพิ่มขึ้น 25% และระยะเวลาอนุมัติยาวขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มการควบคุมทีวีช้อปปิ้งโดย กสทช. ที่อาจจำกัดรูปแบบการขายหรือเพิ่มข้อกำหนดที่ซับซ้อน การปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่อาจเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานและลดความยืดหยุ่นของบริษัท           สรุปเปรียบเทียบ RS และ GRAMMY หลังจากการวิเคราะห์เชิงลึกของทั้ง RS และ GRAMMY สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเส้นทางการเติบโตที่แตกต่างกันของทั้งสองบริษัท แม้ทั้งคู่จะเริ่มต้นจากธุรกิจเพลง แต่ RS ได้เลือกที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซและสุขภาพ ในขณะที่ GRAMMY ยังคงขยายธุรกิจในวงการบันเทิงและภาพยนตร์           คำแนะนำการลงทุนใน GRAMMY และ RS           จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY):           จากมุมมองพื้นฐาน GRAMMY มีศักยภาพในการเติบโตจากการใช้ความเชี่ยวชาญและทรัพย์สินในอุตสาหกรรมเพลงขยายเข้าสู่ธุรกิจสื่ออื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และการจัดแสดงโชว์ การขยายตัวนี้เสริมด้วยการเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มและผู้เล่นระดับโลกที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงและสร้างรายได้ใหม่ ความแข็งแกร่งของแบรนด์และคลังเพลงกว่า 40,000 เพลงยังเป็นตัวสนับสนุนที่สำคัญต่อการเติบโตในธุรกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดคอนเทนต์และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคยังคงเป็นความท้าทาย ค่าเฉลี่ย P/E ของอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 15-25 เท่า ซึ่งระดับ P/E ที่ 20-22 เท่าสำหรับ GRAMMY สะท้อนถึงทั้งโอกาสและความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม           ปัจจุบัน GRAMMY มี Forward P/E อยู่ที่ 22 เท่า ซึ่งอยู่ในช่วงที่เหมาะสมที่ประเมินไว้ (20-22 เท่า) แต่ราคาหุ้นปัจจุบันยังไม่ดึงดูดเพียงพอเมื่อเทียบกับศักยภาพการเติบโตในระยะยาว จึงแนะนำ “ถือ” (Hold) และรอให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงก่อนเพื่อเพิ่มส่วนต่างการลงทุน นักลงทุนควรติดตามผลการดำเนินงานในธุรกิจอีคอมเมิร์ซและสื่อดิจิทัลอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความคืบหน้าและศักยภาพที่แท้จริงในอนาคต           อาร์เอส (RS):           RS มีศักยภาพในการเติบโตจากการปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่ตลาดสุขภาพและความงาม รวมถึงการขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่าน RS Mall และช่องทาง Social Commerce ที่สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลและทรัพย์สินในธุรกิจบันเทิงมาช่วยเสริมความได้เปรียบ กลยุทธ์นี้ช่วยสร้างความยืดหยุ่นและเปิดโอกาสในการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มสุขภาพและความงาม รวมถึงธุรกิจสัตว์เลี้ยงที่มีแรงสนับสนุนจากแนวโน้มตลาดที่เป็นบวก อย่างไรก็ตาม การพลิกฟื้นธุรกิจคอมเมิร์ซยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมยังต้องติดตามต่อไป           แม้ว่า RS จะมีโอกาสที่ชัดเจนจากแรงหนุนในธุรกิจสุขภาพและสัตว์เลี้ยง แต่การพลิกโฉมธุรกิจคอมเมิร์ซยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ คำแนะนำการลงทุนในขณะนี้คือ “รอดู” (Wait and See) โดยให้นักลงทุนเฝ้าติดตามความคืบหน้าในธุรกิจคอมเมิร์ซ รวมถึงการบริหารต้นทุนและความสามารถในการสร้างรายได้จากกลยุทธ์ใหม่ หากบริษัทสามารถแสดงความก้าวหน้าที่ชัดเจนได้ในอนาคต อาจเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนในระยะยาว Pornbhuda Rijiravanich | Analyst, Managing Director

RS ตั้ง บ.ย่อย ‘อันดามัน เอ็นเตอร์เทนเมนท์’ ลงทุน Entertainment Complex

RS ตั้ง บ.ย่อย ‘อันดามัน เอ็นเตอร์เทนเมนท์’ ลงทุน Entertainment Complex

          บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS วางแผนลงทุนในธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ผ่านบริษัทย่อย ‘อันดามัน เอ็นเตอร์เทนเมนท์’ ทุนจดทะเบียนตั้งต้น 100 ล้านบาท ปักธงภูเก็ต-พังงา โดยมีคุณจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท และมีคุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เป็นกรรมการบริหาร ขณะนี้ อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกองทุนจากต่างประเทศหลายราย พร้อมทั้งยังเปิดรับพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพและสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการดังกล่าวนับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของ อาร์เอส กรุ๊ป ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ใหม่ที่ยั่งยืนให้แก่บริษัทฯ           คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า “เรามองหาโอกาสเพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ เมื่อมีนโยบายของภาครัฐในการผลักดันสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ และเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) ทาง อาร์เอส กรุ๊ป จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจสื่อ-บันเทิง และใช้ศักยภาพที่เรามีทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และวางแผนเข้าลงทุนในธุรกิจ Entertainment Complex ผ่านบริษัทย่อย ‘อันดามัน เอ็นเตอร์เทนเมนท์’  ซึ่งบริษัทฯ มีแผนกลยุทธ์ในการสร้างแหล่งบันเทิงและกีฬารูปแบบใหม่ที่จังหวัดภูเก็ต-พังงา เมืองท่องเที่ยวระดับโลก เพื่อพัฒนาโครงการที่ประกอบไปด้วยโรงแรมรีสอร์ทระดับลักซ์ชัวรี ศูนย์สุขภาพและสปา รวมทั้งอารีน่ากีฬาที่ทันสมัย นอกจากนี้ ยังมีบริการอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย โปรแกรมความบันเทิงและการแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงเกมสันทนาการที่ตื่นเต้นเร้าใจ โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สัมผัสวิถีท้องถิ่น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ ครอบครัว และผู้ที่ชื่นชอบกีฬา เชื่อมั่นว่าโครงการ Entertainment Complex นี้จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ที่ช่วยยกระดับภูเก็ต-พังงาให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่โดดเด่น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย”           ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวต่างๆ ของ อาร์เอส กรุ๊ป ได้ทาง www.rs.co.th และ https://www.facebook.com/RSGROUPOFFICIAL [PR News]

ก.ล.ต. สั่ง GIFT ชี้แจงข้อมูลการเข้าทำธุรกรรม

ก.ล.ต. สั่ง GIFT ชี้แจงข้อมูลการเข้าทำธุรกรรม

          ก.ล.ต. สั่งการให้ GIFT ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของการเข้าทำธุรกรรมการได้มาซึ่งทรัพย์สินและเงินลงทุน และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่มีนัยสำคัญซึ่งเข้าข่ายรายการที่เกี่ยวโยงกัน รวมทั้งความเหมาะสมของธุรกรรมและราคา           วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 | ฉบับที่ 234 / 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการให้บริษัท กิฟท์ อินฟินิท จำกัด (มหาชน) (GIFT) ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 กรณีคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ซื้อ ทรัพย์สินและเงินลงทุนในบริษัทย่อยของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบวงจำกัด (Private Placement) ที่มีนัยสำคัญ ให้แก่ RS ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน โดย RS จะขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Whitewash) ต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2567 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567           ตามที่ GIFT ได้เปิดเผยมติคณะกรรมการบริษัทและสารสนเทศในการทำรายการต่าง ๆ เช่น การเข้าซื้อบริษัทย่อยและหน่วยธุรกิจของบริษัทย่อยของ RS โดยจะชำระค่าตอบแทนเป็นเงินสดและหุ้นเพิ่มทุนออกใหม่ของ GIFT ซึ่ง RS จะขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดย Whitewash จากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งดังกล่าว นอกจากนี้ RS จะซื้อหุ้นเดิม GIFT จากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GIFT ราย นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ และบริษัทที่เกี่ยวข้องของนายสุรชัย ซึ่งจะทำให้ RS ถือหุ้นใน GIFT ร้อยละ 49.99           ก.ล.ต พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ผู้ถือหุ้น หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ลงทุน จึงอาศัยตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ให้ GIFT ชี้แจงข้อมูล ดังนี้ (1) ความสมเหตุสมผลภายหลังการทำธุรกรรมที่ทำให้โครงสร้างการประกอบธุรกิจระหว่าง RS และ GIFT อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รายการระหว่างกันจำนวนมาก โครงสร้างการถือหุ้นไขว้ และโครงสร้างกรรมการอิสระหรือกรรมการตรวจสอบบางรายที่ทับซ้อนกัน นอกจากนี้ ให้ชี้แจงเกี่ยวกับความจำเป็นสมเหตุสมผลของมูลค่าการลงทุนในบริษัทย่อยและทรัพย์สินของบริษัทย่อยของ RS ที่มีมูลค่าสูง แต่การประเมินมูลค่าอาจไม่สอดคล้องกับข้อมูลงบการเงินในอดีต (2) ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นถึงความสมเหตุสมผลและประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นโดยรวมของการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อโดย Whitewash ของ RS           ทั้งนี้ ให้ GIFT ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. พร้อมกับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 และเผยแพร่คำชี้แจงดังกล่าวผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ระบบ SETLink)           อนึ่ง ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยในการติดตามและตรวจสอบในกรณีนี้และหากพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป หมายเหตุ : แจ้งมติคณะกรรมการบริษัท การได้มาซึ่งสินทรัพย์กรณีบริษัทฯ เข้าซื้อสินทรัพย์จากบมจ.อาร์เอส และบจก. อาร์เอส มอลล์ เพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อเสนอขายหุ้น PP ให้บุคคลเกี่ยวโยง การขอผ่อนผันทำ Whitewash การเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ และการจัดประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 2/2567 https://www.set.or.th/th/market/news-and-alert/newsdetails?id=91563501&symbol=GIFT การได้มาซึ่งสินทรัพย์บริษัทฯ เข้าซื้อสินทรัพย์จากบมจ.อาร์เอส และบจก. อาร์เอส มอลล์ เพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อเสนอขายหุ้น PP ให้บุคคลเกี่ยวโยง การผ่อนผัน Whitewash การเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ และการจัดประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2567 (เพิ่มเติม) https://www.set.or.th/th/market/news-and-alert/newsdetails?id=91712901&symbol=GIFT

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

RS คว้า CGR ระดับ 5 ดาว ‘ดีเลิศ’ 6 ปีซ้อน 100 คะแนนเต็ม

RS คว้า CGR ระดับ 5 ดาว ‘ดีเลิศ’ 6 ปีซ้อน 100 คะแนนเต็ม

          บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ อาร์เอส กรุ๊ป ได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2567 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2024 : CGR) ในระดับ 5 ดาว หรือ “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลกิจการภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมก้าวสู่การเป็นบริษัท Consumer Lifestyle ครบวงจร           ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้รับการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (AGM Checklist) ประจำปี 2567 ในระดับ 5 เหรียญ (100 คะแนนเต็ม ดีเยี่ยมสมควรเป็นตัวอย่าง) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้           ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวต่างๆ ของ อาร์เอส กรุ๊ป ได้ทาง www.rs.co.th และ https://www.facebook.com/RSGROUPOFFICIAL [PR News]

GIFT ตั้ง ‘เชษฐ เชษฐโชติศักดิ์’ เป็นซีอีโอใหม่ ดำเนินการเปลี่ยนชื่อเป็น RSXYZ 

GIFT ตั้ง ‘เชษฐ เชษฐโชติศักดิ์’ เป็นซีอีโอใหม่ ดำเนินการเปลี่ยนชื่อเป็น RSXYZ 

           บริษัท กิฟท์ อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ GIFT ประกาศแต่งตั้ง คุณเชษฐ เชษฐโชติศักดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อย่างเป็นทางการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ GIFT กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ RSXYZ ต่อจากนี้ คุณเชษฐ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ จะนำความรู้ความสามารถในด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ เข้ามาสนับสนุนการทำธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่สินค้าและบริการของ RSXYZ            โดยก่อนหน้านี้ คุณเชษฐ เคยเป็นผู้รับผิดชอบโปรเจกต์การรีแบรนด์ อาร์เอส กรุ๊ป จนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ คุณเชษฐ ยังมีประสบการณ์มากกว่า 8 ปี ในการบริหารธุรกิจร้านอาหารและสถานที่แฮงก์เอาต์ยอดนิยม อาทิ BEAM, Beer Belly, OKONOMI และอื่นๆ รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้ง 72 Courtyard แฮงก์เอาต์มอลล์ชื่อดังย่านทองหล่ออีกด้วย อย่างไรก็ตาม คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ จะยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัทและกรรมการบริษัท

[PR News] RS GROUP ควบรวมกิจการ GIFT ดันรายได้ทะลุ 7 พันล้านบาทปี68

[PR News] RS GROUP ควบรวมกิจการ GIFT ดันรายได้ทะลุ 7 พันล้านบาทปี68

          ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ อาร์เอส กรุ๊ป มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทฯ และการเข้าลงทุนใน บริษัท กิฟท์ อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ GIFT โดยบริษัทฯ ขายธุรกิจบางส่วน ได้แก่ บริษัท อาร์เอส ลิฟเวลล์ จำกัด และธุรกิจหน่วยงาน อาร์เอส มอลล์ ให้กับ GIFT ในขณะที่ GIFT มีการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ให้ อาร์เอส กรุ๊ป จึงส่งผลให้ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GIFT ในสัดส่วน 49.99% พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัท ‘GIFT Infinite’ เป็น ‘RSXYZ’  โดยการเข้าควบรวมกิจการในครั้งนี้นับเป็นโอกาสในการขยาย Ecosystem ธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ป ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มั่นใจหลังจาก Synergy ธุรกิจและเชื่อมโยงดาต้าเบสของทั้งกลุ่มเข้าด้วยกันแล้ว จะผลักดันธุรกิจเติบโตก้าวกระโดดทันทีในทุกมิติ ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ผลประกอบการของ อาร์เอส กรุ๊ป จะทะลุ 7,000 ล้านบาท           คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หลังจาก อาร์เอส กรุ๊ป ได้ขยายธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในการทรานส์ฟอร์มองค์กรจากธุรกิจสื่อและบันเทิงไปสู่ธุรกิจพาณิชย์ จนปัจจุบันมีสินค้าและบริการสำหรับผู้คนและสัตว์เลี้ยงในหลากหลายแบรนด์ และมีช่องทางการขายสินค้า Multi-channel platform เป็นของตนเอง ซึ่งการพัฒนาองค์กรอย่างไม่หยุดยั้งนี้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทที่ต้องการยกระดับความสุขและคุณภาพชีวิตของผู้คนและสัตว์เลี้ยง ในขณะที่ GIFT ก็เป็นบริษัทที่กำลังเติบโตสูง ประกอบธุรกิจที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ทั้งธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Tech & Innovations) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) และธุรกิจสุขภาพและความงาม (Health & Beauty) ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการของ อาร์เอส กรุ๊ป จึงมีมติเห็นชอบให้เข้าลงทุนใน GIFT พร้อมปรับโครงสร้างของทั้งสองบริษัทใหม่ทั้งหมด เพื่อยกระดับการทำงานของทุกธุรกิจในเครือให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มุ่งสู่การเป็นบริษัท Consumer Lifestyle ครบวงจร”           การควบรวมกิจการในครั้งนี้ มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นไม่เกิน 5,068.2 ล้านบาท โดย อาร์เอส ซื้อหุ้นสามัญของ GIFT รวมไม่เกิน 1,206.7 ล้านหุ้น แบ่งเป็น 1.) หุ้นสามัญเพิ่มทุน PP (Private Placement) จำนวนไม่เกิน 651.8 ล้านหุ้น ที่ราคา 4.2 บาท 2.) หุ้นสามัญ GIFT จาก คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ จำนวนไม่เกิน 238.5 ล้านหุ้น ที่ราคา 4.2 บาท และ 3.) หุ้นสามัญ GIFT จาก บจก. เชษฐโชติ โฮลดิ้งส์ จำนวนไม่เกิน 316.5 ล้านหุ้น ที่ราคา 4.2 บาท           โดยการถือหุ้นของ อาร์เอส ใน GIFT คิดเป็นสัดส่วน 49.99% และหลังการควบรวมกิจการในครั้งนี้ จะส่งผลให้ คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ และกลุ่มเชษฐโชติศักดิ์ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ อาร์เอส ในสัดส่วนไม่เกิน 36%           ทั้งนี้ แหล่งที่มาของเงินทุนมาจากการที่ อาร์เอส ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน Private placement (PP) เสนอขายให้กับคุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ และกลุ่มเชษฐโชติศักดิ์ จำนวน 364.2 ล้านหุ้น ที่ราคา 6.4 บาท รวมเป็นมูลค่า 2,330.8 ล้านบาท และการจำหน่ายธุรกิจ RS Livewell ให้กับ GIFT ด้วยมูลค่ารวม 2,737.4 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังปรับโครงสร้างธุรกิจให้ RS Mall ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท ไปอยู่ภายใต้การดูแลของ GIFT           สำหรับการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัท นับเป็นการผสานจุดแข็งของแต่ละบริษัทเพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจหลายประการ อาทิ อาร์เอส จะสามารถใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะผู้นำ Digital marketing ผ่าน platform online ต่างๆ ของ A lot tech ในเครือ GIFT ที่มีศักยภาพสูงมาก มีฐานลูกค้าหลายล้านคนต่อเดือน ซึ่งการันตีด้วยยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์กว่าปีละ 2,500 ล้านบาท มาใช้สนับสนุนการขายสินค้าของ RS LiveWell นอกจากนี้ ยังเป็นการขยาย Ecosystem ของ อาร์เอส ให้เข้าสู่ธุรกิจ B2C มากขึ้น ผ่านธุรกิจ F&B ในเครือ GIFT ที่มีหลากหลายแบรนด์และมีฐานลูกค้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น จากเดิมที่ อาร์เอส มีฐานที่กว้างและแข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว จากการเข้าลงทุนในธุรกิจ HATO และ Erb ขณะเดียวกัน GIFT จะสามารถใช้ศักยภาพของสื่อและบันเทิง ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญหลักของ อาร์เอส มาสนับสนุนการทำกลยุทธ์และเป็นเครื่องมือสำคัญทางการตลาด ทั้งนี้ GIFT ยังสามารถใช้ทรัพยากรบุคคล รวมถึงระบบ Back office และ Fulfillment ของอาร์เอส ในการทำงานและการให้บริการลูกค้าได้ทันที ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณการลงทุนของ GIFT ไปได้มาก จึงเห็นได้ว่าความร่วมมือของทั้งสองบริษัทหลังการควบรวมกิจการ จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้าสู่การเป็นบริษัท ‘Consumer Lifestyle’ ที่ประกอบไปด้วย ธุรกิจเพลง สื่อและบันเทิง ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการด้านสุขภาพสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ที่มีช่องทางจัดจำหน่ายของตนเอง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน           “หลังจาก GIFT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ อาร์เอส กรุ๊ป แล้ว ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อบริษัท ‘GIFT Infinite’ เป็น ‘RSXYZ’  ซึ่งบริษัทภายใต้ชื่อใหม่นี้จะผสานจุดแข็งหลักของ อาร์เอส กรุ๊ป เข้ากับการริเริ่มลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย อันได้แก่ ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจเวลเนส ธุรกิจฮอสพิทอลลิตี้ ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจการศึกษา ซึ่งล้วนเป็นรากฐานสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมไทย อย่างไรก็ตาม โครงสร้างธุรกิจใหม่ของ อาร์เอส กรุ๊ป จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเดือนมกราคม 2568 แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สามารถแบ่งสัดส่วนโครงสร้างธุรกิจหลักเป็น 2 ส่วน ได้แก่ Consumer Lifestyle ประมาณ 75% และ Entertainment ประมาณ 25% เรามั่นใจว่าด้วยโครงสร้างธุรกิจใหม่ที่ครบถ้วนหลังควบรวมกิจการ จะส่งผลให้ อาร์เอส กรุ๊ป เติบโตอย่างก้าวกระโดดทันที และพร้อมเดินหน้ารุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะสะท้อนกลับไปยังผลประกอบการที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเด่นชัด โดยคาดว่าในปี 2568 บริษัทฯ จะมีรายได้ทะลุ 7,000 ล้านบาท ซึ่งมาจาก RS Music&Entertainment 25%, RSXYZ (GIFT เดิม) 65% และ RS pet all 10%” คุณสุรชัย กล่าวปิดท้าย           ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อาร์เอส กรุ๊ป ได้ที่ www.rs.co.th และ https://www.facebook.com/RSGROUPOFFICIAL

abs

SSP : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต