#KTC


เคทีซี x สภาพัฒน์ฯ ชี้เศรษฐกิจปี 2568 โอกาสเติบโตท่ามกลางความท้าทาย ในอุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภค

เคทีซี x สภาพัฒน์ฯ ชี้เศรษฐกิจปี 2568 โอกาสเติบโตท่ามกลางความท้าทาย ในอุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภค

           เคทีซีเปิดเวทีเสวนา KTC FIT Talk 13 "โฟกัสเศรษฐกิจปี 2568: โอกาสและความท้าทาย" นำเสนอข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจ การรับมือความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้นในปี 2568 ชี้อุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคมีโอกาสเติบโตท่ามกลางความท้าทาย โดยมีดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ ผู้อำนวยการ - การเงิน “เคทีซี” ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ณ “เคทีซี” อาคารยูบีซี 2            ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.7% โดยไตรมาส 4/2567 จีดีพีจะขยายตัวได้ 4% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวของการส่งออก แต่ในปี 2568 นั้น ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัว 2.9% แต่แนวโน้มยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีความเสี่ยงที่โน้มเอียงไปในทิศทางขาลง ซึ่งทางไอเอ็มเอฟคงจะนึกถึงการชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ และความเสี่ยงของภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นหากมองไปในปี 2568 จะมี 4 ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้คือ การส่งออกสินค้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ50% ของจีดีพี โดยการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เท่ากับเกือบ 10% ของจีดีพี จะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่มีผลกระทบทางลบหรือความเสียหาย (downside risk) มาก และตลาดยุโรปกับจีนก็ดูจะไม่แข็งแรง การท่องเที่ยวคงจะฟื้นตัวต่อไป คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี2568 น่าจะกลับไปที่ 40 ล้านคน เท่ากับปริมาณก่อนการระบาดของโควิด 19 แต่รายจ่ายต่อหัวจะยังต่ำกว่า แรงกระตุ้นจากภาครัฐคงจะมีต่อเนื่องถึงประมาณกลางปีหน้า จากการแจกเงินก้อนสุดท้าย และการเร่งใช้งบลงทุน แต่การที่รัฐมนตรีคลังพูดถึงการเก็บภาษีเพิ่ม แปลว่า นโยบายการคลังน่าจะตึงตัวขึ้น นโยบายการเงินนั้น ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง2 ครั้งในปี 2568 เพราะเงินเฟ้อต่ำมาก แต่ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังคงจะส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ และธนาคารพาณิชย์เองก็คงจะต้องใช้เวลากับการแก้หนี้เสียที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย ดังนั้น แนวโน้มของการลดลงของสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ (debt deleveraging) ก็จะยังดำเนินต่อไปในปี 2568            อย่างไรก็ตาม หากธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป ผลที่จะตามมาคือ กำลังซื้อในประเทศจะไม่แข็งแรงและเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกได้”   นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ  ผู้อำนวยการ - การเงิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยว่า “เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 2.9 ในปี 2568 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกในภูมิภาค การที่สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมอีกร้อยละ 60 และขึ้นภาษีทั่วไปร้อยละ 10 สำหรับประเทศอื่นๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ในระยะสั้น จากการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังอาเซียน (China+1) แม้ว่าในระยะยาวอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดส่งออก จุดแข็งสูงสุดของการเติบโตคาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4/2567 และไตรมาส 1/2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50-2.00 สอดคล้องกับทิศทางทั่วโลก เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลยังคงมีแนวโน้มเข้ามาต่อเนื่อง โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกของ 2568            ภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม บริการสุขภาพที่ได้ประโยชน์จากสังคมผู้สูงอายุ และสถาบันการเงินที่มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและปรับตัวสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก ควบคู่ไปกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว            อุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคมีโอกาสเติบโตจากเศรษฐกิจที่จะเร่งตัวขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ซึ่งเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้มากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ความ ท้าทายสำคัญยังคงเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม รวมถึงการปรับตัวต่อกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นและการแข่งขันจากผู้ให้บริการเดิมและผู้เล่นใหม่ โดยเคทีซีพร้อมที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย            ทิศทางธุรกิจเคทีซีในปี 2568 จะนำพาองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลอย่างยั่งยืนด้วย 3 องค์ประกอบ คน ระบบและเทคโนโลยี เราเชื่อมั่นว่าการทำความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และการวางแผนกลยุทธ์ที่รอบคอบ จะช่วยให้เคทีซีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคที่โลกเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรามุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยบริการทางการเงินที่ทันสมัยและครบวงจร พร้อมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน และขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดสินเชื่อผู้บริโภคและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2568 และต่อไปในอนาคต”            ผลการดำเนินงานในปี 2567 เคทีซีทำกำไรสุทธิ 5,549 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรก และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายกำไรสุทธิ 7,295 ล้านบาทในสิ้นปี สำหรับปี 2568 บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยพอร์ตสินเชื่อรวมคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 4-5% พร้อมรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อให้มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL (Non-Performing Loan) ไม่เกิน 2.0% เคทีซียังวางแผนเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 10% โดยใช้กลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และขยายผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) เติบโต 3% และยอดลูกหนี้ใหม่ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,000 ล้านบาท ด้วยโซลูชันการเงินเฉพาะบุคคลที่    ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

บล.ทรีนีตี้ มอง Top pick Q4 SAWAD, AEONTS, KTC, DIF, CPNREIT เด่น

บล.ทรีนีตี้ มอง Top pick Q4 SAWAD, AEONTS, KTC, DIF, CPNREIT เด่น

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด คาด ตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในภาวะซึมๆ โดยวอลุ่มการซื้อขายลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ดัชนี SET จะทะลุ 1400 จุดขึ้นมา คาดส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยการเมืองที่เรากล่าวไปเมื่อวานนี้ หันกลับมาที่วันนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกมีโอกาสถูกกดดันเล็กน้อยจาก Bondyield สหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของรอบจากความคาดหวังการลดดอกเบี้ย Fed ที่ลดลง รวมถึงการ Price in ความเป็นไปได้ที่นาย Donald Trump จะคว้าชัยจากการชิงชัยตำแหน่งปธน.สหรัฐฯที่มากขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่การออกพันธบัตรสหรัฐฯ (Supply) ขนาดใหญ่ที่รออยู่ได้ อย่างไรก็ดี ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับขึ้นของ Bond yield ไทยมากนักซึ่งยังคงถือเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อ SET Index บนมาตรวัด Earning yield gap           Strategy : ในเชิงกลยุทธ์ มองกลุ่มหุ้น Rate-sensitive และ Bond-liked ภายในประเทศ ยังคงได้เปรียบในสภาวะที่ Bond yieldของไทยยังคงทรงตัวต่อ โดย Top pick ในกลุ่มนี้ประจำไตรมาส 4 ยังคงได้แก่ SAWAD, AEONTS, KTC, DIF, CPNREIT เป็นต้น           มองปัจจัยเฝ้าระวังที่อาจต้องติดตามในช่วง 1 เดือนข้างหน้าได้แก่ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯซึ่งหากออกมาในกรณีที่ Trump ได้รับชัยชนะ หรือแย่ไปกว่านั้นคือกรณี Red sweep จะส่งผลกดดันต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ ผ่านความกังวลสงครามการค้าที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง รวมถึงเม็ดเงินที่อาจโยกย้ายเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯมากขึ้นเนื่องจากจะเป็นตลาดหุ้นที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรการลดภาษีต่างๆของ Trump

KTC มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุน คาดกำไรปีหน้าโต 8%

KTC มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุน คาดกำไรปีหน้าโต 8%

           หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บล.กรุงศรี มีมุมมอง KTC  Neutral ต่อกำไรสุทธิ 3Q24 ที่ 1,919 ลบ. เพิ่มขึ้น +3% y-y และ +5% q-q เพราะการเพิ่มขึ้นของรายได้รวม ทั้งการเพิ่มขึ้นของ NIM รายได้ค่าธรรมเนียม-บริการ และหนี้สูญรับคืน รวมถึงการลดลงของค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL) ด้านคุณภาพสินทรัพย์บริหารจัดการได้ดี NPL Ratio อยู่ที่ 1.93% ใกล้กับ 2Q24 ทั้งนี้เราปรับกำไรสุทธิ 2025-26F ขึ้นปีละ +1% จากทิศทางดอกเบี้ยขาลง ส่งผลให้ TP25F ปรับเพิ่มเป็น 55 บาท เราชอบ KTC เพราะ i) คาดมาตรการของ ธปท. และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐจะช่วยลดปัญหาการตกชั้นของลูกหนี้ ii) ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง iii) มีจุดแข็งเรื่องงบดุล iv) คาดกำไรสุทธิปี 2025F ที่ +8% y-y โตต่อจากปี 2024F ที่ +3% y-y กำไรสุทธิ 3Q24 ที่ 1,919 ลบ. เพิ่มขึ้น +3% y-y และ +5% q-q            KTC รายงานกำไรสุทธิ 3Q24 ที่ 1,919 ลบ. เพิ่มขึ้น +3% y-y และ +5% q-q เพราะรายได้รวมเพิ่มขึ้น +7% y-y และ +2% q-q จาก i) NIM ที่ 13.8% เพิ่มจาก 13.6% ใน 3Q23 เพราะสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่ม ii) รายได้ค่าธรรมเนียม-บริการเพิ่มขึ้น +15% y-y และ +3% q-q จากค่าธรรมเนียมการเบิกจ่ายล่วงหน้าและค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า iii) หนี้สูญรับคืนเพิ่มขึ้น +25% y-y จากมูลหนี้มากขึ้น และ +1% q-q จาก 2Q เป็นช่วง low season ในการตามเก็บหนี้ iv) ค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL) ลดลง -5% q-q จากการตัดจำหน่ายหนี้สูญ (write-off) ลดลง สำหรับสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น +0.3% q-q จากสินเชื่อส่วนบุคคล ด้านคุณภาพสินทรัพย์บริหารได้ดี NPL Ratio อยู่ที่ 1.93% ใกล้กับ 2Q24 ที่ 1.97% ปรับกำไรสุทธิ 2025-26F ขึ้นปีละ +1% จากรายได้ดอกเบี้ย            เราปรับกำไรสุทธิปี 2025-26F ขึ้นปีละ +1% อยู่ที่ 8,118 และ 8,681 ลบ. ตามลำดับ เพราะทิศทางดอกเบี้ยนโยบายขาลง เราใช้สมมุติฐานดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.0% ซึ่งคาดจะมีการปรับลงอีกครั้งในช่วง 1Q25 คำแนะนำ            เราปรับ TP25F ขึ้นเป็น 55 บาท เดิม 52 บาท เราคงคำแนะนำ BUY เพราะ i) คาดมาตรการของ ธปท. และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐจะช่วยลดปัญหาการตกชั้นของลูกหนี้ ii) ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง iii) มีจุดแข็งเรื่องงบดุล iv) คาดกำไรสุทธิปี 2025F ที่ +8% y-y โตต่อจากปี 2024F ที่ +3% y-y

KTC มีกำไรไตรมาส 3/2567 เพิ่มขึ้น 3.4% แม้เผชิญหนี้ครัวเรือนสูง – รักษาคุณภาพพอร์ตได้ดีต่อเนื่อง

KTC มีกำไรไตรมาส 3/2567 เพิ่มขึ้น 3.4% แม้เผชิญหนี้ครัวเรือนสูง – รักษาคุณภาพพอร์ตได้ดีต่อเนื่อง

          กลุ่มบริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยยังสามารถรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อไว้ได้ดี แม้ต้องเผชิญแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนสูงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น           บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ("กลุ่มบริษัท") มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 และ 9 เดือนของปี 2567 เท่ากับ 1,919 ล้านบาท และ 5,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% และ 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566           ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 กลุ่มบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อรวม 106,183 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตต่อเนื่องที่ 10.0% (YoY) สำหรับพอร์ตสินเชื่อบุคคลยังคงขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กลุ่มบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพพอร์ต โดยมี NPL Ratio อยู่ที่ 1.93% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และมี NPL Coverage Ratio อยู่ที่ 373.31% ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและเพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด           ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 กลุ่มบริษัทรายได้รวมเติบโต 6.6% (YoY) จากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ รวมถึงหนี้สูญที่ได้รับคืน ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 8.5% (YoY) จากค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 9.1% (YoY) จากการตัดหนี้สูญที่เร็วขึ้นตามนโยบายการตัดหนี้สูญใหม่และการตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวัง สำหรับต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 2.6% (YoY) ตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน           แม้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังคงกดดันภาคเศรษฐกิจและการปล่อยสินเชื่อโดยรวม แต่ KTC ยังคงรักษาคุณภาพพอร์ตได้ดี และสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่นต่อสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป สะท้อนผ่านอัตรากำไรสุทธิและอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 27.2% และ 20.1% ตามลำดับ           นอกจากนี้ KTC ยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 ภาพรวมอุตสาหกรรม           ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และ 2568 จากเดิมที่ 2.6% และ 3.0% เป็น 2.7% และ 2.9% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอุปสงค์ในประเทศของภาครัฐ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี เหลือ 2.25% ต่อปี โดยหวังว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนบางส่วน และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้           นอกจากนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นมา หลายพื้นที่ของประเทศไทยได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยเนื่องจากอุทกภัย จึงมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน ธปท. จึงได้ออกหนังสือที่ “ธปท.ฝนส. (01) ว.601/2567 เรื่อง ขอความร่วมมือให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2567” โดยได้ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงิน ในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามความจำเป็นและเหมาะสม           สำหรับเคทีซีได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีสถานะปกติ หรือไม่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 30 วันนับตั้งแต่วันที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตที่ประสบสาธารณภัย โดยสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 ผ่านลิงก์: https://www.ktc.co.th/about/news/measures-flood           ทั้งนี้ เคทีซีคาดว่ามูลค่าการช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในภาพรวม

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน