#KKP


บลจ.เกียรตินาคินภัทร เปิดตัวกองทุน KKP EWUS500-UH เสนอขาย (IPO) วันที่ 27 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม นี้

บลจ.เกียรตินาคินภัทร เปิดตัวกองทุน KKP EWUS500-UH เสนอขาย (IPO) วันที่ 27 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม นี้

          หุ้นวิชั่น - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด (บลจ.เกียรตินาคินภัทร) เล็งเห็นโอกาสการลงทุนในหุ้นสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มเติบโตในหลากหลายอุตสาหกรรมจากคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในปีหน้า จึงเปิดเสนอขายกองทุนใหม่ ได้แก่ กองทุนเปิดเคเคพี US500 EQUAL WEIGHT- UNHEDGED (KKP EWUS500-UH) ประเภทไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน โดยมีกลยุทธ์การบริหารการลงทุนแบบเชิงรับ (Passive Management) มุ่งหวังให้ผลตอบแทนสอดคล้องไปกับดัชนี S&P 500 Equal Weight ที่มีรูปแบบการคำนวณน้ำหนักการลงทุนในหุ้นรายตัวด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักเท่ากัน (Equal Weighting) และครอบคลุมการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำหนดการเสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2567 ด้วยมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อเพียง 1,000 บาท            นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นโลกตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 16% จากการที่เฟดเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจสหรัฐฯ รอดพ้นภาวะถดถอย ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตต่อเนื่องไปในปีหน้า และส่งผลให้ผลประกอบการของหุ้นสหรัฐฯ ที่ไม่ใช่ หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 ตัวที่ทรงอิทธิพล หรือที่เรียกว่าหุ้น 7 นางฟ้า เช่น Apple Amazon และ Alphabet มีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่า P/E ของดัชนีหุ้นสหรัฐฯ S&P 500 Equal Weight ในปีหน้าที่ระดับ 18.2 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตย้อนหลัง 5 ปี และต่ำกว่า P/E ของดัชนีหุ้นสหรัฐฯ S&P 500 ที่ 22.48 เท่าแล้ว ทำให้ KKPAM มองว่าการลงทุนในดัชนีหุ้นสหรัฐฯ S&P 500 Equal Weight มีความน่าสนใจในการลงทุน จึงได้นำเสนอกองทุนเปิดเคเคพี US500 EQUAL WEIGHT- UNHEDGED (KKP EWUS500-UH) แก่นักลงทุนไทยเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน สำหรับ กองทุน KKP EWUS500-UH ระดับความเสี่ยง 6 เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนประเภท Feeder Fund มีนโยบายเน้นลงทุนในกองทุนหลัก Invesco S&P 500 Equal Weight ETF ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม และไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (UNHEDGED) โดยกองทุนหลักมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนให้สอดคล้องกับดัชนี S&P 500 Equal Weight (ดัชนีอ้างอิง) ซึ่งวัดผลการดำเนินงานของตราสารทุนของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ โดยดัชนี S&P 500 Equal Weight มีรูปแบบการคำนวณด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักเท่ากัน (Equal Weighting) กล่าวคือ ให้น้ำหนักของแต่ละหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในน้ำหนักที่เท่ากัน ลดการกระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่ ช่วยกระจายการลงทุนและครอบคลุมการเติบโตของหลักทรัพย์ในหลากหลายอุตสาหกรรม ในขณะที่ดัชนี S&P 500 มีรูปแบบการคำนวณน้ำหนักตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weighting) ซึ่งจะมีน้ำหนักการลงทุนกระจุกตัวในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถขอรับหนังสือชี้ชวนและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://am.kkpfg.com หรือบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร โทร 02 165 5555 หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้ง ข้อมูลกองทุน KKP EWUS500-UH : เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ระหว่าง วันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2567 มูลค่าขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรก 1,000 บาท ครั้งถัดไป 1,000 บาท คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุน KKP EWUS500-UH จะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น กองทุนจึงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ โปรดศึกษาคำเตือนที่สำคัญอื่นและข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม https://am.kkpfg.com หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้ง

KKP ชี้อสังหาฯ ปี 67 หดตัวหนัก บ้านใหม่เสี่ยงเหลือ-หวังมาตรการใหม่ช่วย

KKP ชี้อสังหาฯ ปี 67 หดตัวหนัก บ้านใหม่เสี่ยงเหลือ-หวังมาตรการใหม่ช่วย

          หุ้นวิชั่น - สายงานสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เผยว่าในปี 2567 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล เผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวนี้ได้แก่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP การปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในระดับสูง และการสะสมของสินค้าคงค้าง (inventory) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ รวมถึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงการระดับราคาสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การอิ่มตัวในตลาดสินค้าระดับนี้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมีมากขึ้น เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน มาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะมีความเข้มข้นมากขึ้นจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ตลาดมีการฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลใหม่ ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์           กำลังซื้อหด ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยปี 2567 สะดุด จากการคาดการณ์ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจะลดลง 15% หรือประมาณ 320,000 หน่วย ซึ่งเป็นยอดที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะลดลง 8% และในภาคตะวันออกลดลงถึง 11% สาเหตุหลักมาจากการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงเข้มงวด ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่           แน้วโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2567 การเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2567 มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่มียอดเปิดตัวลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2566 โครงการแนวราบก็มีการชะลอการเปิดตัวเช่นกัน แต่ลดลงในอัตราที่น้อยกว่า (3%) ตลาดบ้านเดี่ยวมีการเติบโตถึง 60% ในเขตปริมณฑล ขณะที่โครงการทาวน์เฮ้าส์กลับพบว่ามียอดเปิดตัวลดลงถึง 24% เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มระดับกลาง-ล่างลดลงอย่างชัดเจน           ทิศทางการพัฒนาโครงการและความต้องการในปี 2567 บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีความต้องการสูง โดยเฉพาะในระดับราคา 5-10 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ ในขณะที่บ้านเดี่ยวระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาทเริ่มมีสัญญาณการอิ่มตัว และสินค้าคงค้างของบ้านในระดับนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน ทาวน์เฮ้าส์กลุ่มระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่สูง           การปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดที่ชะลอตัว เช่น การลดต้นทุนการดำเนินงาน หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่มีความยั่งยืน รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ และสถานออกกำลังกาย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว สำหรับภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและการปฏิเสธสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด อย่างไรก็ตาม การโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดได้ในบางพื้นที่ ขณะที่การปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนและการขยายธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดที่ผันผวน           ตลาดอสังหาฯ ปี 2568 มีปัจจัยบวกจากการลดดอกเบี้ย บ้านแฝด บ้านเดี่ยว 7-15 ล้านมีแนวโน้มโตดี สายงานสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 0.5% - 0.75% ในปี 2568 จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางและล่างที่ได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนสูงในช่วงก่อนหน้า การปรับตัวของภาคบริการ ที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในปี 2568 จะช่วยสร้างรายได้และกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง ส่งผลบวกต่อตลาดอสังหาฯ ที่เชื่อมโยงกับภาคบริการในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการควรปรับเปลี่ยนพัฒนาโครงการแนวราบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยจริง (Real Demand) อย่างไรก็ตามการพัฒนาบ้านเดี่ยวในราคาสูงกว่า 20 ล้านบาทอาจเผชิญภาวะอิ่มตัว แต่โครงการบ้านเดี่ยวในราคากลาง (7-15 ล้านบาท) จะยังคงเป็นตลาดที่น่าลงทุน ส่วนทาวน์เฮ้าส์ กลุ่มระดับราคากลาง-ล่าง ยังคงต้องเฝ้าระวัง จากปัญหารายได้ยังปรับไม่ทันกับราคาทาวน์เฮ้าส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาระหนี้ของกลุ่มผู้ซื้อบ้านราคานี้ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนบ้านแฝดยังสามารถพัฒนาได้ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้น           โอกาสของการพัฒนาโครงการคอนโด คอนโดระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทมีการแข่งขันสูงและกำลังซื้อที่จำกัด น่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2568 หากไม่มีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้จะมีโอกาสในการฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสร้างใกล้แล้วเสร็จ หรือมีความชัดเจนมากขึ้น อย่าง สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฏร์บูรณะ) สายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) และสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี)           แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติ ตลาดการซื้อคอนโดของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจีนและรัสเซีย จะยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนตลาดคอนโดในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา การพัฒนาของระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าและสนามบินจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น           อสังหาฯ เพื่อความยั่งยืนมาแรง ตอบโจทย์ผู้บริโภค แนวโน้มการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นความยั่งยืน เช่น บ้านประหยัดพลังงาน ระบบกรองอากาศเพื่อลดมลพิษในการอยู่อาศัย การใช้วัสดุรักษ์โลก ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ จะเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นในปี 2568 เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพมากขึ้น การพัฒนาบ้านที่เน้นเทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดได้ สรุปแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 คาดว่าจะมีการฟื้นตัวแบบช้าๆ โดยมีปัจจัยบวกจากการลดดอกเบี้ยและการขยายตัวของภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ตลาดคอนโดราคาต่ำยังคงเผชิญความท้าทายสูง ในขณะที่ตลาดแนวราบ โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวระดับกลาง จะยังคงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในการลงทุน

KKP รวมพลัง ฟื้นชายหาดบางแสน ดูแลสิ่งแวดล้อมหลังวันลอยกระทง

KKP รวมพลัง ฟื้นชายหาดบางแสน ดูแลสิ่งแวดล้อมหลังวันลอยกระทง

                      หุ้นวิชั่น – ชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญอย่าง วันลอยกระทง ต้องเผชิญกับปัญหาขยะสะสมจำนวนมากจากกระทงและสิ่งของต่างๆ ที่ถูกทิ้งลงในทะเลและชายหาด แม้จะมีการรณรงค์ให้เลือกใช้วัสดุกระทงที่เหมาะสมกับแหล่งน้ำเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีขยะบางส่วนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อร่วมฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหลังคืนวันลอยกระทงบริเวณชายหาดบางแสน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) พร้อมด้วยมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเทศบาลเมืองแสนสุข ได้จัดกิจกรรม “KKP VolunTeam: อาสาสมัครเก็บขยะริมชายหาด จัดการปลายทางขยะอย่างถูกต้อง” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 โดยมีพนักงานจิตอาสาของ KKP เข้าร่วมจำนวนกว่า 100 คน           นางสาวพัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด กล่าวว่า “KKP มีธุรกิจหลักเป็นสถาบันการเงิน แต่ก็ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน กิจกรรมนี้ไม่ใช่เพียงการเก็บขยะ แต่สร้างประโยชน์ในหลายด้าน ตั้งแต่การช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยการป้องกันสัตว์ทะเลจากการกินหรือสัมผัสกับขยะที่อาจเป็นอันตราย การปรับปรุงทัศนียภาพของชายหาดบางแสนเพื่อให้คงความสวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยว การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่พนักงานและผู้เข้าร่วมในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ด้านพนักงานจิตอาสาของ KKP นายวีรพัทธ์ ตาใจ กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้ว่า “เมื่อได้ลงมือเก็บขยะ เราได้เห็นถึงผลกระทบของขยะที่ไม่ถูกจัดการอย่างถูกต้องต่อธรรมชาติ ทำให้รู้สึกอยากช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และอยากส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังคนรอบตัวให้มากขึ้น” พบว่าสำหรับขยะกระทงในปัจจุบันมักใช้วัสดุสังเคราะห์ เช่น โฟมและพลาสติก ซึ่งย่อยสลายได้ยาก รวมถึงใช้เศษตะปูและวัสดุอันตรายในการยึดหรือตกแต่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวและสัตว์ทะเล ขยะเหล่านี้จึงไม่เพียงทำลายความสวยงามของชายหาด แต่ยังส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง เช่น สัตว์ทะเลกินขยะ เศษพลาสติก หรือสีที่ใช้ในกระทงบางประเภทอาจปล่อยสารเคมีปนเปื้อนน้ำทะเล ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการขยะอย่างไม่ถูกวิธี ยังทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จนประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกในแง่ของการปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง กิจกรรมเก็บขยะครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการจัดการขยะอย่างถูกวิธีและครบวงจร ผ่านกระบวนการ “คัดแยก ส่งคืน ใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อลดขยะหลุมฝังกลบ” โดยคัดแยกประเภทการเก็บขยะอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น เพื่อให้สามารถจัดการได้อย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้ 1.          กลุ่มขวดพลาสติกใส ขวดแก้ว กระป๋อง และเศษเชือก แห-อวน นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และ ฝาขวดพลาสติก ยางวง นำไป Upcycle ผ่านกลุ่มบางแสนคอลเลคชั่น 2.          กลุ่มถุงพลาสติก ถุงหูหิ้ว ถุงขนม สายเดี่ยวแก้วน้ำ กล่อง-แก้วพลาสติก โฟม หลอด ช้อน/ส้อมพลาสติก รองเท้า ฟองน้ำ เศษยาง ส่งให้เทศบาล ส่งต่อไปเป็นขยะเชื้อเพลิง 3.          เศษอาหาร เทศบาลส่งให้กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ ส่วนขยะอินทรีย์อื่น ๆ เช่น ลูกมะพร้าว เศษไม้ ตะเกียบไม้ ใบไม้ ใบตอง รวมทั้งกล่อง-ถ้วย-จานชานอ้อย เทศบาลนำไปทำปุ๋ย แจกจ่ายให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ 4.          กลุ่มไฟแช็ค เศษพลุ ก้นบุหรี่ ขยะที่มีสารเคมี รวบรวมส่งให้เทศบาล ส่งต่อกำจัดอย่างถูกวิธี ขยะที่เก็บได้จากกิจกรรมนี้มีน้ำหนักรวม 430 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะกระทง 345 กิโลกรัม วัสดุรีไซเคิล 75 กิโลกรัม และขยะที่จะต้องกำจัด 10 กิโลกรัม ซึ่งการคัดแยกและกำจัดขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 87 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า กิจกรรม KKP VolunTeam: อาสาสมัครเก็บขยะริมชายหาด จัดการปลายทางขยะอย่างถูกต้อง เป็นอีกสิ่งที่สะท้อนถึงความร่วมกันระหว่างองค์กรเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชนที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาว โดยไม่เพียงช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายหาด แต่ยังส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงปัญหาขยะ อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในพื้นที่ร่วมกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี น้ำสะอาด และอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนรุ่นหลัง

KKP ทำไมกำไรQ3สูงกว่าคาด สาเหตุมาจากอะไร?

KKP ทำไมกำไรQ3สูงกว่าคาด สาเหตุมาจากอะไร?

          หุ้นวิชั่น- บล. ดาโอ ปรับคำแนะนำ KKP  ขึ้นเป็น “ถือ” จากเดิมที่ “ขาย” และปรับราคาเป้าหมายขึ้นมาอยู่ที่ 50.00 บาท อิง 2025E PBV ที่ 0.65x (-1.50SD below 10-yr average PBV) จากเดิมที่ 40.00 บาท อิง 2025E PBV ที่ 0.50x (-2.00SD below 10-yr average PBV) จากการปรับกำไรและ PBV ขึ้น โดย KKP ประกาศกำไรสุทธิ 3Q24 อยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท (+2% YoY, +70% QoQ) ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 918 ล้านบาท และเราคาดที่ 881 พันล้านบาท เพราะมีการตั้งสำรองฯที่ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 681 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่ 1.8 พันล้านบาท           ขณะที่มีผลขาดทุนรถยึดยังอยู่ในระดับสูงที่ 1.2 พันล้านบาท ลดลง -11% YoY แต่เพิ่มขึ้น +13% QoQ เพราะราคารถมือสองยังอยู่ในระดับต่ำ ด้าน NPL เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.10% จากไตรมาสก่อนที่ 4.00% เพราะสินเชื่อหดตัวลง -4.8% QoQ หรือ -6.4% YTD แต่มูลค่า NPL ทรงตัว QoQ           โดย NPL ของสินเชื่อรายใหญ่ลดลง แต่ NPL ของสินเชื่อรายย่อยยังคงเพิ่มขึ้น กำไรสุทธิ 9M24 คิดเป็น 86% จากประมาณการทั้งปี ทำให้เรามีการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2024E/2025E ขึ้น +16%/+14% โดยมีการปรับ credit cost ลดลง           ขณะที่ปรับการเติบโตของสินเชื่อปี 2024E ลง ทำให้กำไรสุทธิปี 2024E อยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท ลดลง -12% YoY จากขาดทุนรถยึดที่จะยังทรงตัวระดับสูงตามสภาวะของตลาดรถยนต์ในปัจจุบันที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง           ขณะที่คาดกำไร 4Q24E จะเพิ่มขึ้น YoY จากสำรองฯที่ลดลง แต่จะลดลง QoQ จาก OPEX ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ราคาหุ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น +9% เมื่อเทียบกับ SET เพราะมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นฟื้นตัวได้ดี และมีโครงการซื้อหุ้นคืน(วงเงินไม่เกิน 950 ล้านบาท จำนวนไม่เกิน 22 ล้านหุ้น, โดยปัจจุบันซื้อไปแล้ว 530 ล้านบาท จำนวน 11 ล้านหุ้น)           อย่างไรก็ดีเห็นความเสี่ยงจากแนวโน้มขาดทุนรถยึดที่ยังทรงตัวในระดับสูง แต่ยังมี Dividend yield ที่ราว 5% จึงแนะนำ “ถือ”

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

KKP ชี้แจกเงินฟื้นชั่วคราว ชำแหละปัจจัยเสี่ยงที่ควรรู้

KKP ชี้แจกเงินฟื้นชั่วคราว ชำแหละปัจจัยเสี่ยงที่ควรรู้

           หุ้นวิชั่น- แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว KKP Research ปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 2567 ขึ้นจาก 2.6% เป็น 2.8% และปี 2568 ขึ้นจาก 2.8% เป็น 3.0% เพื่อสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น จากสองปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1) การแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางของภาครัฐในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ตั้งรอไว้สำหรับปี 2568 2) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ภาคการผลิตบางกลุ่ม และการบริโภคสินค้าคงทนยังคงเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นการปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้นเท่านั้นจากแรงกดดันเชิงโครงสร้างในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ปัญหาความสามารถในการแข่งขันระยะยาวในภาคการผลิต และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยประเมินว่าการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตได้ต่ำกว่า 2.5% หากไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชัดเจน การส่งออกปรับตัวดีกว่าคาด แต่ผลต่อเศรษฐกิจอาจไม่มาก            KKP Research ปรับประมาณการการส่งออก (ที่แท้จริง) ในปี 2567 ขึ้นจาก 1.3% เป็น 2.3% จากการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ โดยการขยายตัวของการส่งออกปรับตัวดีขึ้นในหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตามข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ผลทางบวกต่อเศรษฐกิจจากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกอาจมีไม่มากเท่ากับในอดีต จากหลายสาเหตุ คือ 1) การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นในบางสินค้ามีแนวโน้มเกิดจากการ “Rerouting” หรือเป็นการเปลี่ยนเส้นทางการค้าจากจีนไปสหรัฐฯ โดยตรงเป็นการส่งสินค้าจากจีนผ่านไทยไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันทางภาษี ซึ่งอาจจะมีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศค่อนข้างน้อย 2) การส่งออกที่เป็นตัวเงินปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การส่งออกที่แท้จริงอาจปรับตัวสูงขึ้นน้อยกว่า 3) การผลิตสินค้าบางกลุ่มยังไม่ปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออก เนื่องจากสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง เช่น กลุ่ม ICs และ Electronics เป็นต้น จากมูลค่าเพิ่มในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง KKP Research ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของการส่งออก 1% จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจลดลงจากประมาณ 0.3ppt เหลือประมาณ 0.1ppt ถึง 0.2ppt เท่านั้น ความหวังจากนโยบายภาครัฐใหม่            เศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลบวกระยะสั้นจากนโยบายแจกเงินของรัฐบาลในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมีการแจกเงินจำนวน 142,000 ล้านบาทให้กับกลุ่มเปราะบางหรือคิดเป็นประมาณ 0.7% ของ GDP KKP Research ประเมินว่าผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะมีค่า Multiplier ที่ประมาณ 0.3 โดยประเมินว่าการแจกเงินในรอบแรกส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.2-0.3 ppt และมีแนวโน้มส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้เติบโตได้เกิน 4% อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2567/6825 ยังมีการอนุมัติงบประมาณอีก 150,000 – 180,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.8% - 0.9% ของ GDP ซึ่ง KKP Research ประเมินว่าการแจกเงินก้อนที่สองจะมีการใช้งานได้ในช่วงไตรมาส 2 ถึง ไตรมาส 3 ปี 2568 และน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้ประมาณ 3% ในปี 2568            นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่และแนวโน้มสถานการณ์การเมืองไทยที่มั่นคงขึ้นในระยะสั้น KKP Research ประเมินว่านโยบายที่สำคัญ คือ 1) การปรับโครงสร้างหนี้ 2) การส่งเสริมและปกป้องผู้ประกอบการรายเล็กถึงกลางจากการแข่งขันจากต่างประเทศ 3) การให้ความช่วยเหลือด้านราคาพลังงานและสาธารณูปโภค 4) การดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบ และ 5) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม KKP Research ยังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายของภาครัฐ จากหลายนโยบายที่ยังไม่มีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน และข้อจำกัดด้านหนี้สาธารณะของภาครัฐ โดยในสถานการณ์ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อ GDP ของภาครัฐกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าสู่ระดับ 70% ของ GDP ในขณะที่ รายได้ภาษีต่อ GDP มีแนวโน้มลดลง 4 ปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงฉุดให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ            KKP Research ยังคงมุมมองระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยโดยประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มโตได้ต่ำกว่า 2.5% หากไทยยังขาดนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนโดยประเมินว่าในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังคงเผชิญกับสี่แรงกดดันเชิงโครงสร้างที่สำคัญ คือ            โครงสร้างประชากร โครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบันกำลังเป็นปัจจัยลบต่อศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว จากจำนวนคนวัยทำงานที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2558            ความสามารถในการแข่งขัน ภาคการผลิตไทยเผชิญกับปัญหาควาสามารถในการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี โดยการผลิตมีทิศทางที่หดตัวลงต่อเนื่องจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ            ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนไทยหดตัวลงรุนแรงถึง 5.7% ในไตรมาส 2 ของปีสูงกว่าที่คาดไว้ โดยการหดตัวเกิดขึ้นหลังจากภาคการผลิตไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในขณะที่การลงทุนในกลุ่มการก่อสร้างหดตัวลงเช่นกันตามตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ            สถานะทางการเงินของครัวเรือนที่อ่อนแอ โดยหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 80% ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มฉุดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบกับหนี้เสียในภาคธนาคารเริ่มปรับตัวสูงขึ้นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาสอดคล้องกับยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีแนวโน้มหดตัวลง ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงอ่อนแอ            ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งขึ้นเร็วมากที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าการแข็งค่าของเงินบาทยังมีแนวโน้มเกิดจากปัจจัยระยะสั้นซึ่งเกิดจากการอ่อนค่าลงเร็วของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และบรรยากาศการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองที่มีทิศทางชัดเจนขึ้น และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ            อย่างไรก็ตามในระยะต่อไป KKP Research ประเมินว่าว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาวไม่สอดคล้องกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในระยะสั้น และยังคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังมีแนวโน้มต่ำกว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับไปใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดแล้วก็ตาม โดยการเกินดุลในระยะต่อไปจะอยู่ในระดับประมาณ 1% - 3% ของ GDP เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิดที่ระดับ 7% - 8% ของ GDP ซึ่งเป็นผลมาจากหลายองค์ประกอบ จากทั้งดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลงตามราคาน้ำมันและความสามารถในการแข่งขัน รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง และค่าขนส่งที่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด ดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลง            แม้ว่า KKP Research จะปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 และ 2568 ขึ้นแต่ยังคงประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปีนี้ และจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 2 ครั้งในไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้าสู่ระดับ 1.75% จากระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างสูงแล้วเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ระดับอัตราดอกเบี้ยในอดีต และระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่หนี้ครัวเรือนที่อยูในระดับสูงเริ่มมีสัญญาณปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา

[PR News] บลจ.เกียรตินาคินภัทร เปิดตัวกองทุน KKP SIB-H และ KKP SIB-UH

[PR News] บลจ.เกียรตินาคินภัทร เปิดตัวกองทุน KKP SIB-H และ KKP SIB-UH

          บลจ.เกียรตินาคินภัทร เปิดตัวกองทุน KKP SIB-H และ KKP SIB-UH ขยายโอกาสสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตกับตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่เน้นลงทุนในสหรัฐ เสนอขายครั้งแรก (IPO) วันที่ 8 – 16 ตุลาคมนี้           บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด (บลจ.เกียรตินาคินภัทร) มองเห็นโอกาสการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ช่วยในการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน จึงเปิดเสนอขาย 2 กองทุนใหม่ล่าสุด ได้แก่ กองทุนเปิดเคเคพี สตราทิจิค อินคัม บอนด์ เฮดจ์ (KKP SIB-H) และกองทุนเปิดเคเคพี สตราทิจิค อินคัม บอนด์ อันเฮดจ์ (KKP SIB-UH) ที่เน้นลงทุนในกองทุนหลัก Neuberger Berman Strategic Income Fund ซึ่งมุ่งเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทหรือรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ด้วยกลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรุก (Active Management) โดยเปิดเสนอขายทั้งประเภทป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเกือบทั้งหมด (HEDGED) และไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (UNHEDGED) เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุน ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท กำหนดการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 8 – 16 ตุลาคม 2567           นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า แม้ FED จะเริ่มวัฎจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว แต่การปรับลดคาดว่าจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยประมาณการอัตราดอกเบี้ยของ FED (FED Dot Plot) ชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในช่วง 4.25%-4.5% ในสิ้นปีนี้และช่วง 3.25%-3.5% ในปีหน้า ตามคาดการณ์เศรษฐกิจเติบโตลดลงแต่ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย (Soft landing) ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปีในปัจจุบันที่ 3.74% เป็นระดับที่ไม่ต่ำเกินไป ทำให้มองว่าการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศมีความน่าสนใจทั้งในเรื่องอัตราดอกเบี้ยจากการลงทุนและการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว บลจ.เกียรตินาคินภัทร จึงได้นำเสนอกองทุน KKP SIB-H และ KKP SIB-UH แก่นักลงทุนไทยเพื่อเป็นทางเลือกการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ           สำหรับ กองทุน KKP SIB-H และ KKP SIB-UH ระดับความเสี่ยง 5 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง) เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนประเภท Feeder Fund มีนโยบายเน้นลงทุนในกองทุนหลัก Neuberger Berman Strategic Income Fund ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยกองทุนหลักจะลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทหรือรัฐบาล ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทหรือรัฐบาลนอกสหรัฐอเมริกา ความน่าสนใจของกองทุนหลักคือ เป็นกองทุน Multi-Sector Bond ที่ลงทุนได้แบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนอายุเฉลี่ยของตราสารและอุตสาหกรรมได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้สามารถลงทุนในตราสารหนี้ได้หลากหลายประเภท รวมถึงมีทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ยาวนานเฉลี่ยกว่า 25 ปี           กองทุน KKP SIB-H จะทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ส่วนกองทุน KKP SIB-UH จะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ           สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถขอรับหนังสือชี้ชวนและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โทร. 02 305 9559 หรือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทรทุกสาขา หรือ https://am.kkpfg.com หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้ง ข้อมูลกองทุน KKP SIB-H และ KKP SIB-UH : เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ระหว่าง วันที่ 8-16 ตุลาคม 2567 มูลค่าขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรก 1,000 บาท ครั้งถัดไป 1,000 บาท คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุน KKP SIB-H จะทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเกือบทั้งหมด (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ) กองทุนจึงอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนที่ไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุน KKP SIB-UH จะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น กองทุนจึงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ โปรดศึกษาคำเตือนที่สำคัญอื่นและข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม https://am.kkpfg.com หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้ง

[PR News] KKPS คว้ารางวัลไพรเวทแบงก์ยอดเยี่ยม

[PR News] KKPS คว้ารางวัลไพรเวทแบงก์ยอดเยี่ยม

           บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) คว้ารางวัล Best Private Bank in Thailand จากเวที Triple A Private Capital Awards 2024 ซึ่งจัดขึ้นโดย The Asset นิตยสารการเงินชั้นนำแห่งเอเชีย ด้วยกลยุทธ์ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจงแต่ละราย            นายณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ ประธานสายงานที่ปรึกษาและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาแวดวงการลงทุนอาจต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ แต่ธุรกิจ Private Bank ของบล.เกียรตินาคินภัทร ได้พยายามมุ่งมั่นนำเสนอบริการที่จะพาลูกค้าก้าวผ่านความท้าทายและตอบโจทย์ครอบคลุมทุกมิติของความต้องการ จนสามารถคว้ารางวัลจากหลายสถาบันอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปี รวมถึงล่าสุดคือ The Triple A Private Capital Award - Best Private Bank in Thailand จาก The Asset นิตยสารการเงินชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย            “กลยุทธ์สำคัญคือการมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยไม่เพียงจำกัดอยู่ที่ความเป็นบริษัทหลักทรัพย์ขององค์กร แต่ยังผนวกเอาจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรในทุกส่วนมาเสริมศักยภาพจนกลายเป็นบริการที่ครอบคลุมได้ทุกความต้องการ เช่น การให้คำแนะนำและบริหารการลงทุนส่วนบุคคล การบริหารสภาพคล่อง ไปจนถึงการแนะนำกระบวนการเข้าสู่ตลาดทุน (IPO) การควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) การบริหารความเสี่ยง หรือการส่งต่อธุรกิจและทรัพย์สินให้แก่ทายาท            นอกจากนี้ บล.เกียรตินาคินภัทร ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ทัดเทียมมาตรฐานระดับสากลอยู่ตลอด และจับมือกับพันธมิตรที่มีความชำนาญ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการและโอกาสการลงทุนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหรือภูมิภาคใดของโลก การได้รับรางวัลในครั้งนี้นับเป็นการการันตีถึงศักยภาพการให้บริการด้าน Private Bank ขององค์กร ขอขอบคุณลูกค้าที่เชื่อมั่นในบล.เกียรตินาคินภัทรและไว้วางใจใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง เราจะมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าคนสำคัญของเราต่อไป”            ทั้งนี้ Triple A Private Capital Awards เป็นเวทีที่มอบรางวัลให้กับสถาบันการเงินชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีความโดดเด่นในด้านการบริหารจัดการความมั่งคั่ง การให้คำปรึกษาการลงทุน และบริการด้านการลงทุนต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นมามากกว่า 20 ปี พิจารณาและตัดสินโดยคณะบรรณาธิการของ The Asset และจากบทวิจัยประสบการณ์ของลูกค้าในอุตสาหกรรมการเงิน

abs

SSP : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

KKP : คาดกำไรสุทธิ 3Q24F ที่ 870 ลบ. ลด y-y เพิ่ม q-q

KKP : คาดกำไรสุทธิ 3Q24F ที่ 870 ลบ. ลด y-y เพิ่ม q-q

          หุ้นวิชั่น รายงานว่า บล.กรุงศรี มีมุมมอง Neutral ต่อกำไรสุทธิ 3Q24F ของ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ที่ 870 ลบ. กำไรลดลง -32%y-y เพราะ i) สินเชื่อหดตัว โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ ii) ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรเพิ่มขึ้น +13% q-q จาก i) เงินลงทุน (FVTPL) เพิ่มขึ้น ii) ค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL) ลดลง ด้านขาดทุนรถยึดคาดยังคงระดับสูงที่ -1.10 พันลบ. ใกล้กับ 2Q24 จาก KKP ทยอยระบายสต๊อครถยึดอย่างต่อเนื่อง สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ลูกหนี้อ่อนแอ NPL Ratio อยู่ที่ 4.10% จาก 4.00% ใน 2Q24 หลักๆจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ภาพรวมเรายังไม่ชอบ KKP เพราะตลาดเช่าซื้อซึ่งเป็นพอร์ตหลักของ KKP (45% ของสินเชื่อรวม) ยังน่ากังวล โดยเฉพาะคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอ ทำให้กระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อรวม

แนะ 3 แนวทางรับมือ

แนะ 3 แนวทางรับมือ "สินค้าจีนทะลักไทย" KKP ชี้ e-Commerce ตัวเร่ง

          สินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในสื่อ  ซึ่งเริ่มเห็นสินค้าจีนหลากหลายประเภทหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ  KKP Research ประเมินว่าแนวโน้มดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับจีนโดยตรงเท่านั้น แต่ยังจะกระทบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งรายได้ธุรกิจและแรงงาน การขาดดุลทางการค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณามาตรการในการช่วยดูแลผลกระทบอย่างเหมาะสม จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและกำลังรุกคืบเข้ามาไทย           จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในภาคการผลิตโลกอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ประเทศจีนเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ในปี 2001 อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤตโควิด มีหลายการเปลี่ยนแปลงที่เร่งให้สินค้าจากจีนสามารถส่งออกไปยังโลกและไทยได้เร็วมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็นสองปัจจัยผลักจากจีน คือ (1) พัฒนาการการเติบโตที่รวดเร็วของแพลตฟอร์ม e-Commerce ในจีนโดยและธุรกรรมในประเทศจีนมีขนาดใหญ่กว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งโลก  และยังขยายธุรกิจส่งออกโดยอาศัย e-Commerce ข้ามประเทศ (Cross-border e-Commerce) ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 15% ในปี 2021 โดยประเทศไทยมีสัดส่วนจากการส่งสินค้าข้ามประเทศจากจีนขนาดประมาณ 24% ของมูลค่า e-Commerce ทั้งหมด (2) เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่ชะลอตัวลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนต้องหันมาพึ่งพาภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ           อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่ามี 4 ปัจจัยในไทยเอง ที่มีส่วนดึงดูดสินค้าจากจีนให้เร่งเข้ามามากกว่าในหลายประเทศ คือ  1) ประเทศไทยมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากจีน ตัวอย่างเช่น การคิดอัตราภาษีจากสินค้าจีนในระดับต่ำ 2) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า 3) การเกิดขึ้นของ e-Commerce ในประเทศไทย โดยคนไทยมีความคุ้นเคยและนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพิจารณาจากราคา ไม่ยึดติดกับแบรนด์  4) การให้ Free visa กับนักท่องเที่ยวจากจีน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด เปิดช่องทางให้คนจีนเข้ามาทำการค้าทำธุรกิจในไทยได้โดยง่าย           ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายการส่งออกสินค้าจากจีน ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเร่งตัวของการขาดดุลการค้ากับจีนเร็วมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ของ GDP ในปี 2012 เป็น 7.5% ของ GDP ในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5 p.p.  ซึ่งเกิดจากทั้งการนำเข้ามาเพื่อบริโภคในประเทศเอง และการนำเข้าเพื่อส่งออกสินค้าต่อไปยังต่างประเทศ สินค้าที่ทะลักเข้าไทยมากที่สุด            KKP Research ประเมินว่าหากพิจารณาพัฒนาการของการค้าระหว่างไทยกับจีนในรายละเอียดอาจสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มสินค้าสำคัญที่น่าสนใจ คือ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นกลุ่มที่ส่งผลให้มีการขาดดุลมากที่สุด โดยสินค้าที่สำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีนค่อนข้างมาก คือ สินค้าในกลุ่ม smartphone ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ผ่าน e-Commerce Platform ทำให้เห็นภาพว่า e-Commerce มีบทบาทสำคัญเช่นกันในการส่งผ่านสินค้าจากจีนมายังไทยมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สินค้าในกลุ่มเครื่องจักร เคยเป็นหนึ่งในประเภทสินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีนจากสินค้าอย่าง Hard Disk Drive อย่างไรก็ดี ในภายหลังสินค้าเครื่องจักรจากจีนเริ่มเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น นำโดย Laptop และเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าในกลุ่มยานยนต์ สินค้าที่ขาดดุลกับจีนเป็นอันดับต้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่สินค้าที่เกินดุลการค้ากับจีนเป็นสินค้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จแล้ว โดยในปี 2022 เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงจากการที่ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนในสินค้ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นแซงหน้าชิ้นส่วนยานยนต์ทุกประเภท เหล็กกล้าและอะลูมิเนียม พบว่าเหล็กและอะลูมิเนียมขาดดุลการค้ามากขึ้นทุกปีกับจีน โดยมีสาเหตุจากกำลังการผลิตที่เกินอุปสงค์ภายในประเทศจีนที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ สุดท้ายจึงต้องส่งออกเหล็กสำเร็จรูปเหล่านั้นมาที่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย เคมีภัณฑ์และพลาสติก เปลี่ยนจากการเกินดุลการค้าเป็นขาดดุลการค้าในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าในปัจจุบันจีนมีการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยมีกำลังผลิตรวมมากกว่ายุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รวมกันเสียอีก จีนจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอีกต่อไป e-Commerce platform คลื่นยักษ์ลูกใหม่ที่เร่งการทะลักของสินค้าจีนมาไทย           KKP Research ประเมินว่าหนึ่งในปัจจัยเร่งการส่งสินค้าจีนมายังไทย คือ   การเติบโตของ e-Commerce platform โดยข้อมูลชี้ว่ามูลค่า e-Commerce เติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 10.5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตเร่งขึ้นมากในช่วงโควิดส่งผลให้ในปี 2023 ตลาด e-Commerce มีมูลค่าโดยรวมอยู่ที่ราว 5.96 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนกว่า 50% เป็นธุรกิจประเภท Business-to-Consumer (B2C) คือการขายของออนไลน์จากธุรกิจไปยังผู้บริโภคโดยตรง ในด้านช่องทางการซื้อขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันดับแรก คือ e-Marketplace           สาเหตุที่ทำให้ e-Commerce ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้สูงจากหลายปัจจัย ได้แก่ (1) การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 88% จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 66% (2) สัดส่วนการเข้าถึง smart phone สูงถึง 77.2% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 69%  (3) การเข้าถึงข่องทางการชำระเงินออนไลน์ (online payments) ที่หลากหลาย ช่วยสนับสนุนการค้าปลีกออนไลน์ให้มีความสะดวกในต้นทุนที่ต่ำ  ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ในระยะข้างหน้าการแข่งขันในสมรภูมิ e-Commerce กำลังจะเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อ มี e-Marketplace platform เจ้าใหม่ที่เจาะตลาดไปแล้วถึง 51 ประเทศทั่วโลกและได้รุกก้าวเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ เศรษฐกิจไทยภายใต้แรงกดดันจากสินค้าจีน           ในกรณีของประเทศไทยการเติบโตของ e-Commerce มีแนวโน้มส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยผลจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ 1) ผู้บริโภคมีแนวโน้มได้ประโยชน์ เพราะสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง 2) ผู้ผลิตในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบราคาถูก หรือธุรกิจที่โตไปพร้อมกับ e-Commerce 3) ผู้ผลิตในกลุ่มสินค้าเดียวกับสินค้าที่นำเข้าผ่าน e-Commerce มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากการเข้ามาทดแทนของสินค้าจีน ตัวอย่างเช่น สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า           เมื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่มีแนวโน้มส่งออกผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce มายังประเทศไทย กลุ่มสินค้าที่ไทยมีแนวโน้มขาดดุลกับจีนมากขึ้นและมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับ e-Commerce คือ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มมากถึง 8.8% ของภาคการผลิตไทย เครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าเพิ่ม 3.5 % และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้ามีมูลค่าประมาณ 3 % โดยนับรวมเป็นมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตในกลุ่มที่มีความเสี่ยงนี้คิดเป็นประมาณ 18% ของ มูลค่าการผลิตทั้งหมดของประเทศ โดยเริ่มเห็นทิศทางการผลิตที่ชะลอลงแล้วในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้การเข้ามาของ e-Commerce ยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อ ภาคบริการแบบเก่า คือ กลุ่มค้าปลีกมีโอกาสได้รับผลกระทบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ถึงประมาณ 16% ของ GDP           KKP Research ประเมินว่าอาจมีผลกระทบสำคัญตามมาอีกอย่างน้อย 5 เรื่อง คือ 1) รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มถูกกระทบรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ปรับตัวได้ยากกว่า 2) หนี้เสียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นกลุ่มสินค้าเดียวกันกับสินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนมากขึ้น เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า เหล็ก  3) ดุลการค้ามีแนวโน้มพลิกเป็นขาดดุลในระยะยาวและกดดันค่าเงินบาทจากการนำเข้าสินค้าจีนทดแทนการผลิต 4) เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากสินค้าราคาถูกจากจีน 5) รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ภาษี จากการที่การชำระเงินให้กับการซื้อสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านี้ ถูกจ่ายตรงไปยังธุรกิจในต่างประเทศ ไทยควรรับมืออย่างไร ?           การเข้ามาบุกตลาดของสินค้าจีนอาจมีข้อดีทำให้ซื้อสินค้าในราคาถูกลง แต่ตามมาด้วยผลกระทบด้านลบต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้การออกมาตรการสกัดกั้นหรือตอบโต้สินค้าจากจีนอาจเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ KKP Research ประเมินว่าภาครัฐไม่จำเป็นต้องกีดกันสินค้าจากจีนในวงกว้าง หากแต่ควรพิจารณาออกแบบมาตรการรับมือ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และหลักการในมิติดังต่อไปนี้ Fair competition: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีการลักลอบ หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี หรือเป็นการทุ่มตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียผลประโยชน์จากการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม Quality and standards: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดโดยมาตรฐานสินค้าและอาหารของหน่วยงานภาครัฐไทยหรือไม่? Strategic industry: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่มาแข่งขันกับการผลิตในประเทศในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจไทย และการจ้างงานในภาพรวมหรือไม่?           ในกรณีที่สินค้ามีลักษณะที่ตรงตามเกณฑ์ต่าง ๆ ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือธุรกิจไทยในกรณีที่มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจมีเวลาปรับตัวมากเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ           อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการใดที่จะใช้ในการตั้งรับกับการแข่งขันในสมรภูมิสินค้าที่ดุเดือดมากขึ้นนี้ก็อาจเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการได้พอมีเวลาปรับตัว แต่สุดท้ายแล้วผู้ชนะในตลาดนี้จำเป็นต้องแข่งกันด้วยคุณภาพของสินค้า ประสิทธิภาพในการผลิต ความคุ้มค่า รวมไปถึงการบริการที่ตอบโจทย์และได้ความพึงพอใจจากผู้บริโภค นับเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคการผลิตไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต สร้างนวัตกรรม สร้างแบรนด์ที่มีความแตกต่าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น โดยภาครัฐอาจต้องช่วยส่งเสริมด้วยการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาปรับปรุงการผลิต รวมถึงการบุกเบิกตลาดใหม่