#HoonVision x FynnCorp


วิเคราะห์ผู้เล่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์: HANA [HoonVision x FynCorp]

วิเคราะห์ผู้เล่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์: HANA [HoonVision x FynCorp]

เซมิคอนดักเตอร์ในไทย เริ่มก้าวสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ           หากพูดถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ คงหนีไม่พ้น เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแผงวงจรควบคุมและประมวลผลข้อมูลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิด ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะการผลิตชิป ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของโลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยมูลค่าตลาดที่ถูกคาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ตามความต้องการใช้ AI, Data Center, IoT, EV, เครื่องมือแพทย์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้หน่วยประมวลผลที่ทำจากเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบหลัก           หากดูจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในส่วนกลางน้ำ (Midstream) และปลายน้ำ (Downstream) ซึ่งจะเป็นขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนประกอบ (components) และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (finished goods) เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ (OSAT) การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) โดยในปี 2566 BOI รายงาน ไทยมียอดส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.5 ล้านล้านบาท หรือ 25% ของการส่งออกทั้งหมด โดยเป็นมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มูลค่า 5.1 แสนล้านบาท           นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมากในไทยช่วง 2 ปีมานี้ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ไต้หวัน และญี่ป่น จนในปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศ นโยบายสส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ           บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าดึงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี (2568-2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในภูมิภาค ซึ่งในเดือนธันวาคม 2567 บริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำ ภายใต้กลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือของ Foxconn เข้ามาตั้งฐานการผลิตแห่งที่ 4 ของโลกในไทย ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรก 10,500 ล้านบาท โดยตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอมตะซิตี้ ระยอง ซึ่งบริษัทมีโรงงานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา           ดังนั้น การที่ FITI เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย จะเป็นขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) และจะเป็นโอกาสในการสร้างพันธมิตรที่ดีของผู้เล่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยได้ อีกทั้ง ในปี 2567 นี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่าง HANA ได้มีแผนร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิป (Wafer Fabrication) แห่งแรกในไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นจุดสำคัญที่ไทยจะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำ HANA: 1 ใน 50 บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก           บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) (HANA) ซึ่งบริษัทแม่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 และได้เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 บริษัทและบริษัทย่อยให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Electronics Manufacturing Service: EMS) แก่ลูกค้า (Original Equipment Manufacturer: OEM) ผ่านฐานการผลิตรวมทั้งสิ้น 7 แห่ง ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย จีน สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และเกาหลี ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของ HANA แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ การผลิตและประกอบแผงวงจร “PCBA” การผลิตและประกอบและทดสอบวงจร “IC” และการผลิตและประกอบ RFID และ Liquid Crystal on Silicon “LCOS”           1) ผลิตภัณฑ์ประเภทแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) - Printed Circuit Board Assembly Source: 56-1 One Report 2566           PCBA เป็นการประกอบแผงวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ลงบนแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ที่เป็นฐานสำหรับยึดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมต่อวงจรให้แผ่นวงจรไฟฟ้าให้สามารถทำงานได้ โดย HANA มีโรงงานผลิต PCBA 3 แห่ง อยู่ที่จังหวัดลำพูน ประเทศไทย ที่เมืองเจียซิง ประเทศจีน และจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา 2) ผลิตและทดสอบการทำงานของผลิตภัณฑ์แผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC Assembly) Source: 56-1 One Report 2566           แผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC) คือ สารกึ่งตัวนำที่ประกอบด้วยส่วนประกอบวงจร เช่น ตัวต้านทาน (Resistor) ตัวเก็บประจุตัวเหนี่ยวนำ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด เป็นต้น ซึ่งเชื่อมต่อด้วยสายไฟวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการพัฒนาขนาดที่เล็กลง โดยโรงงานประกอบ IC ของบริษัทมี 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย เมืองเจียซิง ประเทศจีน และที่จังหวัดชุงชองบุกโด ประเทศเกาหลีใต้ 3) การผลิตและประกอบ RFID Source: 56-1 One Report 2566           RFID หรือ Radio Frequency Identification คือ อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหรือระบุตัวตน ด้วยการอ่านรหัสคลื่นวิทยุ ใช้สำหรับรับส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วแบบไร้สาย ส่วน Microdisplay เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสัญญาณทางไฟฟ้าเป็นสัญญาณภาพที่มีความละเอียดสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ LCoS (Liquid Crystal on Silicon) อุปกรณ์ MEMS หรือ HTP (High-Temperature Polysilicon) ซึ่งใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ เช่น แว่นตาแสดงภาพเหมือน (Virtual and Augmented Reality Goggles) เครื่องฉายภาพ (Multimedia Projector) เป็นต้น โดยโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ เมืองทวินส์เบิร์กและโซลอน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา โครงสร้างรายได้           บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ PCBA เป็นหลัก คิดเป็น 61% ของรายได้จากการขายทั้งหมดในปี 2566 ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ IC Assembly หรือ 33% ส่วน RFID & Microdisplay มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 6% ซึ่งแบ่งรายได้ตามประเทศที่ตั้งหน่วยการผลิตได้ตามรูปด้านล่าง Source: 56-1 One Report 2566 สภาพตลาดและการแข่งขัน           HANA ถือว่าเป็น 1 ใน 50 บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก ซึ่งมีเพียงไม่กี่ผู้เล่นในไทยที่ทำธุรกิจเช่นนี้ แต่ถ้าดูผู้เล่นในไทยที่ผลิต PCBA จะเป็น SMT, Benchmark, Fabrinet และ SVI ส่วนคู่แข่งในด้าน IC Assembly ได้แก่ UTAC และ SMT ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่นอกประเทศที่ให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร อย่างเช่น IMI, Flextronics, Solectron, Plexus และ Pemstar นี้ บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะแข่งขันโดยตรง โดยเน้นการรับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทไมโครอิเล็กทรอนิกส์ การร่วมทุนกับกลุ่ม ปตท. ลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในไทยภายใน 2 ปี ยังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์           บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. มีแผนร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิปชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) แห่งแรกของไทย (Wafer Fabrication) ภายใต้ บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1) ภายหลังที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และออกบัตรส่งเสริมในเดือนสิงหาคม 2567 โดยโรงงานจะถูกก่อสร้างในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ด้วยระยะเวลาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร 2 ปีโดยประมาณ และคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาสแรก ปี 2570 Source: 56-1 One Report 2566           บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด มีแผนลงทุนกว่า 11,500 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตชิปต้นน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เป็นชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) เป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ มีคุณสมบัติแตกต่างจากชิปทั่วไปที่ผลิตจากซิลิคอน ตรงที่มีความสามารถทนไฟขั้นสูงสามารถแปลงแรงดันไฟฟ้ากำลังสูง เหมาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานในวงกว้างตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในครัวเรือน อุปกรณ์ Cloud Computing อินเวอร์เตอร์ไฟฟ้า EV/OBC รวมทั้งในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำให้ SiC มีความยากในการผลิตและต้นทุนสูง           อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ความต้องการในอุตสาหกรรม (FT1 Business Demand) ที่ชะลอตัวลงในปัจจุบัน ทำให้บริษัทยังคงจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจนกว่าจะถึงช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 ถึงความเหมาะสมที่จะตัดสินใจลงทุน ระยะเวลาเริ่ม รวมถึงมูลค่าเงินที่จะลงทุนในโครงการ Risk Factors ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ราคาขายและอุปสงค์ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในตลาดโลกที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น สงครามการค้า ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย สภาพเศรษฐกิจที่คาดว่าจะถดถอยและปัญหาพลังงาน           อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านนี้ โดยการรักษาฐานลูกค้าและกระจายการผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และจากนโยบายการค้าของสหรัฐที่ทำให้เกิดความเสียเปรียบทางธุรกิจสำหรับโรงงานผลิตในจีน บริษัทจึงปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นลูกค้าในจีนเป็นหลัก ทั้งนี้ สงครามการค้าอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจให้โรงงานในประเทศที่เหลือของบริษัท ความเสี่ยงของระบบห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสามารถเกิดขึ้นได้อีกโดยเฉพาะจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานโลกมีความซับซ้อนและบูรณาการมากขึ้น ทำให้บริษัทมีการประสานงานและทำงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ในส่วนวัตถุดิบและชิ้นส่วนหลักในการผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่ค้าที่เป็นพันธมิตร ความเสี่ยงของฐานลูกค้ารายใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงหลักที่กลุ่มฐานลูกค้ารายใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ การเปลี่ยนเจ้าของกิจการหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงโดยมีสัดส่วนสินค้าที่ผลิต กระจายตัวอยู่ในตลาดที่หลากหลายในอุตสาหกรรมและมีสัดส่วนการกระจายการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ด้วยการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น โดยลูกค้ารายใหญ่ที่สุดมียอดขายไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดขายกลุ่มบริษัท หุ้น HANA           หุ้น HANA มี Market Cap อยู่ที่ 21,514.41 ล้านบาท (อิงข้อมูล ณ วันที่ 19 ธันวาคม 67) หรือเป็นอันดับที่ 4 ให้หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) โดยผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ยังคงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลต่อต้นทุนเพิ่ม ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลง รวมถึงการตั้งด้อยค่าสินค้าคงคลัง ขณะที่ความต้องการใน SiC ยังคงอ่อนตัวลงและราคาลดลงจากการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ชะลอตัว รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาษี EV ที่กระทบต่อการผลิตที่ตลาดจีน           อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 ปี 2567 หน่วยงานพาวเวอร์ มาสเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ในเกาหลีใต้ (PMS) และหน่วยงานฮานา เทคโนโลยี (HTI) ในสหรัฐอเมริกามียอดขายเพิ่มขึ้น 40% YoY และ 20% YoY ตามลำดับ Unit: THB Million           ในด้านเงินปันผล บริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลตั้งแต่ 30% ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวมหลังหักเงินสำรองต่างๆทุกประเภท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการลงทุนและกระแสเงินสด โดยล่าสุด (13 ธันวาคม 67) บริษัทได้จ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.25 บาทต่อหุ้น (DPS) ซึ่งมูลค่าที่ลดลงอาจเกิดจากการวางแผนเก็บเงินสดไว้ลงทุน อย่างเช่นการสร้างโรงงาน หรือเน้นการเติบโตในระยะยาวมากกว่า รายละเอียดเพิ่มเติม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/8ebd9f84-5a2d-47c2-a2c5-068bd4084898

เทียบ 2 หุ้นวัสดุก่อสร้าง: HMPRO และ GLOBAL [HoonVision x FynnCorp]

เทียบ 2 หุ้นวัสดุก่อสร้าง: HMPRO และ GLOBAL [HoonVision x FynnCorp]

Key Highlights: แนวโน้มการเติบโตของตลาดวัสดุก่อสร้างดีขึ้น ตามดีมานต์ทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชน ส่งผลดีต่อผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มอย่าง HMPRO และ GLOBAL ด้วยจำนวนสาขากว่า 133 แห่ง และ 127 แห่งทั้งในและต่างประเทศ ตามลำดับ HMPRO ชูกลยุทธ์ปรับ Product Mix และขยายสาขาในประเทศ ซึ่งเน้นเป็นสาขาตามจังหวัดใหญ่ พร้อมกับการเพิ่มยอดขายสินค้าอัตรากำไรสูงอย่าง Private Brand เพื่อเพิ่มกำไร โดย HMPRO เจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย เน้นกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน GLOBAL มุ่งขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสินค้าหลากหลายสำหรับงานก่อสร้าง โดย GLOBAL เน้นการขายสินค้าวัสดุก่อสร้างให้แก่กลุ่มผู้รับเหมา ซึ่งมีสาขากระจายไปทุกภูมิภาค รวมถึงมีการขยายสาขาไปในประเทศเพื่อนบ้าน กลยุทธ์ที่แตกต่างตามเป้าหมายของการลงทุนที่ต่างกัน HMPRO เน้นการจ่ายปันผลอัตราสูงและผลตอบเเทนที่สม่ำเสมอ ส่วน GLOBAL เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่มองหาการเติบโตของมูลค่าหุ้นในระยะยาว รองรับศักยภาพในอนาคตผ่านการขยายธุรกิจ ตลาดวัสดุก่อสร้างแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากงานลงทุนภาครัฐและเอกชนเริ่มฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ           แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ตลาดวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการชะลอการเปิดโครงการใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดจากสถาบันการเงินซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงการหดตัวของการลงทุนภาครัฐจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ในช่วงปลายปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 ความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ต้องการรีโนเวตเพื่อเร่งยอดขาย ท่ามกลางทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเงินลงทุนในปีงบประมาณ 2568 ที่เพิ่มขึ้น เกิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 หมื่นบาทและแจกเงินเยียวยาน้ำท่วม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งดีมานต์จากทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ ลูกค้ารายย่อย ถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผู้ค้าวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ในประเทศอย่าง HomePro และ Global HMPRO: หนึ่งในผู้นำธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับบ้านภายใต้ One Stop Shopping Home Center           บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2544 ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “HMPRO” โดยประกอบธุรกิจค้าปลีก จำหน่ายสินค้าในกลุ่ม Hard Line อย่าง วัสดุก่อสร้าง สี อุปกรณ์ปรับปรุงบ้าน ห้องน้ำ และ สุขภัณฑ์ เครื่องครัว อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่ม Soft Line อย่าง สินค้าประเภทเครื่องนอน พรม ผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ สินค้าตกแต่ง และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อีกทั้งมีบริการเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีก (Home Service) อย่าง การติดตั้งก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคาร บ้าน และที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร (One Stop Shopping Home Center) ครอบคลุมถึงบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Service) 24 ชั่วโมง           นอกจากนี้ บริษัทยังประกอบธุรกิจให้บริการพื้นที่เพื่อร้านค้าเช่า มีการจัดสรรพื้นที่และพัฒนาเป็น “มาร์เก็ต วิลเลจ” (Market Village) ผู้เช่าส่วนใหญ่ ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ธนาคาร ร้านหนังสือ ร้านสินค้าไอที เป็นต้น ปัจจุบัน บริษัทมีสาขาในรูปแบบ “มาร์เก็ต วิลเลจ” ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ หัวหิน ภูเก็ต (ฉลอง) ราชพฤกษ์ และรังสิตคลอง 4 ลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าต่างกันของ HomePro และ Mega Home           ในส่วนธุรกิจค้าปลีก บริษัทใช้ชื่อทางการค้า "โฮมโปร" (HomePro) และ “เมกาโฮม” (Mega Home) โดย Mega Home เป็นแบรนด์ที่เน้นการค้าส่งสินค้าวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง เครื่องใช้ภายในบ้าน เจาะกลุ่มช่างก่อสร้างและผู้รับเหมา เจ้าของโครงการอสังหาฯ ครอบคลุมในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่ HomePro เป็นกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน ที่เน้นการค้าปลีกในกลุ่มลูกค้าผู้อยู่อาศัย           หากแบ่งตาม 3 Business Units พบว่าโฮมโปรมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด คิดเป็น 79% ของรายได้ทั้งหมด ตามด้วย เมกาโฮม 18% และหากแบ่งตามรายได้ของกลุ่มสินค้าและบริการพบว่า รายได้จากกลุ่มสินค้า Hard Line มีสัดส่วนมากสุด หรือ 62.1% ของรายได้รวมปี 2566 ตามมาด้วย สินค้ากลุ่ม Soft Line 13.2% และรายได้อื่นๆ ซึ่งรวมค่าเช่าพื้นที่ ค่าสนับสนุนการขาย สัดส่วน 6.2% ส่วนรายได้จากบริการ Home Service คิดเป็น 1.1% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้จากบริษัทย่อย           บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่าย (Offline) ทั้งหมด 133 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 ได้แก่ 1) HomePro ในประเทศไทย 92 สาขา 2) HomePros ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าจำนวน 5 สาขา 3) Mega Home 29 สาขา 4) HomePro ที่ประเทศมาเลเซีย 7 สาขา           และช่องทางการขาย Online ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท และ Market place เช่น Shopee Lazada TikTok กลยุทธ์การเติบโตผ่าน Private Brands และการขยายสาขา           บริษัทมีการพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองหลากหลาย (Private Brand) ครอบคลุมทั้งสินค้ากลุ่ม Hard Line และ Soft Line ซึ่งมีอัตราการทำกำไรที่ดีเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไปอยู่ที่ 10% - 15% โดยสัดส่วนยอดขายของ Private Brand ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ของโฮมโปร อยู่ที่ 20.8% และเมกาโฮมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 21.1% จากเป้าที่วางไว้ 21%           บริษัทมีแผนการขยายสาขา ซึ่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีการขยายไปแล้ว 3 สาขาในรูปแบบ Hybrid (การเปิดโฮมโปรและเมกาโฮมในพื้นที่เดียวกัน) ที่ระยองและหนองคาย และในไตรมาส 4 ปีนี้ บริษัทมีแผนจะขยายอีก 4 สาขา ได้แก่ โฮมโปรแบบ Hybrid 1 สาขา และ standalone 2 สาขา รวมถึง เมกาโฮมอีก 1 สาขา (Hybrid) ทำให้สิ้นปี 2567 บริษัทจะมีสาขาทั้งหมด 137 สาขา GLOBAL: ศูนย์รวมวัดสุก่อสร้างและตกแต่งบ้านครบวงจรรายใหญ่ในประเทศ           บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2538 โดยโกลบอลเฮ้าส์สาขาแรกตั้งอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในปี 2540 และได้ยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จนเสนอหุ้นไอพีโอในปี 2552 ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ "GLOBAL" เพื่อประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ต่อเติม ตกแต่ง บ้านและสวน ภายในอาคารหลังเดียวขนาดใหญ่ลักษณะเป็นแวร์เฮ้าส์สโตร์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “โกลบอลเฮ้าส์” (Global House)           กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Global คือ กลุ่มลูกค้าเจ้าของบ้าน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ช่าง ผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็ก ร้านค้าวัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก ไปจนถึงโครงการก่อสร้างและที่พักอาศัย โดยสินค้าที่จัดจำหน่ายมีมากกว่า 300,000 รายการ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) ประเภทวัสดุก่อสร้าง สำหรับงานด้านโครงสร้าง (ปูนซีเมนต์ เหล็ก ตะปู หลังคา อุปกรณ์ติดตั้ง ท่อน้ำ ปั๊มน้ำ งานเกษตรและตกแต่งสวน) 2) ประเภทวัสดุตกแต่ง สำหรับงานตกแต่งอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์ ประตู หน้าต่าง วัสดุปูพื้น เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ไฟฟ้า กลุ่มสี เคมีภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เป็น House Brand ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทมากกว่า 10,000 รายการ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าสินค้าระดับเดียวกันในท้องตลาด           โดยกลุ่มสินค้าทั้ง 2 ประเภทหลัก มีสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงกัน ซึ่งกลุ่มวัสดุตกแต่งคิดเป็น 49.02% ของรายได้รวมปี 2566 ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สร้างรายได้ 47.74% ที่เหลือจะเป็นรายได้อื่น (รายได้บริการขนส่ง ค่าเช่ารับ ดอกเบี้ยรับ) และรายได้จากบริษัทย่อย คิดเป็น 1.79% และ 1.45% ตามลำดับ กลยุทธ์การเติบโตผ่านการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ ด้วยสินค้าที่ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่           ปัจจุบัน บริษัทมีสาขาทั้งหมด 90 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการขยายสาขาไปทั้งหมด 7 แห่งในปี 2567 กระจายตามจังหวัดต่างๆ และวางแผนจะขยายในปี 2568 อีก 11 สาขา เพื่อให้เกิน 100 สาขาทั่วประเทศ ตามเป้าที่เคยกำหนดไว้ โดยมีที่ดินที่รองรับไว้แล้วในภาคต่างๆ มากกว่า 15 แปลง นอกจากนั้น ยังได้มีการขยายสาขาในต่างประเทศ โดยบริษัทมีสาขาในประเทศพม่า 12 สาขา อินโดนีเซีย 15 สาขา กัมพูชา 2 สาขา และลาว 8 สาขา เปรียบเทียบ HMPRO และ GLOBAL           ในหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง HMPRO และ GLOBAL ถือเป็นสองผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่ม ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) กว่า 127,500 ล้านบาท และ 82,700 ล้านบาทในปัจจุบัน ตามลำดับ แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน แต่ทั้งสองบริษัทมีการเจาะกลุ่มลูกค้าต่างกัน: HMPRO เน้นการเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเจ้าของที่อยู่อาศัยในเขตเมือง เน้นงานตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงมีบริการครบวงจร (Home Service) ส่วน GLOBAL เน้นกลุ่มลูกค้าช่างและผู้รับเหมาในระดับภูมิภาค ในพื้นที่ชานเมืองและหัวเมืองใหญ่ สินค้าจะเป็นวัสดุก่อสร้างเป็นหลักแบบครบวงจรในราคาที่คุ้มค่า           โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ผลการดำเนินงานทั้งสองบริษัท ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และการเข้าสู่ฤดูฝนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายในสาขาลดลง จนส่งผลต่อยอดขายที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า           ในด้านสินค้าคงคลัง HMPRO มีอัตราการหมุนเวียนสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover Ratio) ที่สูงกว่า เนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นจำหน่ายสินค้าที่สอดคล้องกับเทรนด์การตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตามความนิยมและเทคโนโลยี ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มักมีรอบชีวิตที่สั้นและต้องหมุนเวียนเร็วเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและหลีกเลี่ยงสินค้าล้าสมัย ซึ่งแตกต่างจาก GLOBAL ที่เน้นสินค้าก่อสร้างพื้นฐานที่มีอายุการใช้งานยาวและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ จึงสะท้อนการมี Turnover ที่ต่ำกว่า HMPRO สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในกลยุทธ์และประเภทสินค้าที่จำหน่ายระหว่างสองบริษัท           ในด้านของเงินปันผล HMPRO มีอัตราส่วนการจ่ายปันผล (Dividend Payout Ratio) อยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงถึงนโยบายที่มุ่งเน้นการคืนกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก และมีการตอบแทนผู้ถือหุ้นผ่านเงินปันผลได้ดีกว่า ซึ่งอาจเป็นจุดดึงดูดสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง ขณะที่ GLOBAL มีการจ่ายปันผลที่ต่ำกว่า สะท้อนว่าบริษัทอาจเลือกเก็บกำไรไว้สำหรับการลงทุนและการขยายธุรกิจในอนาคต           นอกจากนั้น ราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 พบว่า HMPRO อยู่ที่ 19.77 เท่า ขณะที่ GLOBAL อยู่ที่ 34.27 เท่า ดังนั้น หากพิจารณาแล้ว หุ้น HMPRO จะโดดเด่นด้านการจ่ายปันผลในระดับสูง เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอและผลตอบแทนที่มั่นคงต่อเนื่อง ขณะที่ หุ้น GLOBAL เป็นหุ้นที่ถูกมองว่าอาจมีโอกาสในการเติบโตได้ในอนาคต จากการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ จึงสะท้อนผ่าน P/E ที่สูงกว่า ประกอบกับ แนวโน้มการจ่ายปันผลที่มากขึ้น อาจสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว รายละเอียดเพิ่มเติม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/682ea04f-47fe-4be6-8c34-a5a44dec5bbd

[FynnCorp IAS] BLC: หนึ่งในผู้นำการผลิตและวิจัยผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของประเทศ

[FynnCorp IAS] BLC: หนึ่งในผู้นำการผลิตและวิจัยผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของประเทศ

บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) [Ticker: BLC] กลุ่มอุตสาหกรรม: สินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP) หมวดธุรกิจ: ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ (PERSON) ราคาปิด ณ วันที่ 28 พ.ย. 67 (บาท): 5.10 จำนวนหุ้นชำระแล้ว (ล้านหุ้น): 600 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันที่ 28 พ.ย. 67 (ล้านบาท): 3,060 ช่วงราคา 52 สัปดาห์ ต่ำ/สูง (บาท): 4.30/ 6.30 % ถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย ณ วันที่ 14 มี.ค. 67: 37.11% ผู้ผลิตยาที่บูรณาการภูมิปัญญาไทย ผ่านศูนย์วิจัยที่ทันสมัย Overview ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ ยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอื่นๆ คิดค้นยาสมุนไพรที่เป็นต้นตำรับและสร้างสรรค์นวัตกรรม (Original Innovative Herbal Medicine) พัฒนาศูนย์วิจัย BLC Research Center เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของตัวเอง Key Highlights: กว่า 30 ปีในอุตสาหกรรมยา และมุ่งพัฒนายาสมุนไพรไทย จากยาแผนปัจจุบันที่มีแบรนด์เป็นที่ยอมรับและจำหน่ายในโรงพยาบาล ร้านขายยา และคลินิก กว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งจุดเด่นในการนำสมุนไพรไทยมาใช้เทคโนโลยีแผนปัจจุบันในการผลิต จนสามารถนำยารักษาไวรัสตับอักเสบบีเข้าสู่บัญชียานวัตกรรม และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสมุนไพรไทยสารสกัดจากพริก เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายได้จากการขายและให้บริการ รวมถึงกำไรสุทธิใน 9 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 12.2% และ 20.5% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการทำการตลาดเชิงรุก สร้างการรับรู้แบรนด์ ด้วยกลยุทธ์หลักเน้นการพัฒนาและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่ออัตรากำไร แนวโน้มรายได้เติบโตต่อเนื่องในปี 2567-2568 มาจากปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ 1) การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกไตรมาส โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง 2) การพาทเนอร์กับบริษัทยาของญี่ปุ่น Nichi-iko ตั้งแต่ 2Q2567 ที่ทำให้ BLC ได้รับสิทธิ์จำหน่ายยาแผนปัจจุบันของ Nichi-iko ผ่านช่องทางร้านขายยาในประเทศไทย 3) การเพิ่มยอดขายโดยเฉพาะจากโรงพยาบาลรัฐ จากการที่มีผลิตภัณฑ์ยาได้เข้ารับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ และบัญชียานวัตกรรม Company Overview บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) (BLC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 โดยเภสัชกร 3 ท่าน ได้แก่ ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์  ภก.สมชัย พิสพหุธาร และภก.ศุภชัย สายบัว เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ โดยเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2536 และได้รับใบอนุญาต รวมถึงผลิตยาตำรับแรกในปี 2537 จนได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมิถุนายน ปี 2566 BLC ได้พัฒนาศูนย์วิจัย BLC (BLC Research Center) ขึ้นในปี 2555 เพื่อให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ มุ่งเน้นการบูรณาการภูมิปัญญาไทย โดยนำวิธีการผลิตยาปัจจุบันมาผลิตยาสมุนไพร อย่างเช่น Capsika, Kachana, Plaivana เป็นต้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ ปัจจุบัน บริษัทผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพอื่นๆ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักได้ ดังนี้ 1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceuticals) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ (Generics Drugs and New Generic Drugs) ซึ่งมีตัวยาสำคัญเหมือนกับยาต้นแบบหรือยาจดสิทธิบัตร ซึ่งจะผลิตได้ภายหลังยาต้นแบบหมดสิทธิบัตรไปแล้ว ได้แก่ กลุ่มยาที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ กลุ่มยาที่เกี่ยวกับผิวหนัง กลุ่มยาที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร กลุ่มยาที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นต้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น Gastro, DiabeDerm, Felgesic gel, Arotika cool gel เป็นต้น Source: The company's website ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร (Herbal Medicines) สําหรับการรักษาโรคไม่เรื้อรัง อาทิ กลุ่มยาที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น Capsika, Plaivana, Kachana เป็นต้น Source: The company's website ผลิตภัณฑ์ยาสําหรับสัตว์ (Animal Medicines) โดยจะเน้นยาสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ เช่น สุกร สัตว์ปีก โคนม และสัตว์น้ำ เป็นต้น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท เพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในฟาร์มปศุสัตว์ Source: The company's website 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ (Other Health-Related Products) ได้แก่ เครื่องสําอาง (Cosmetics) เช่น เจลว่างหางจระเข้ Burnova gel, Aloe Vera gel, Vitara Anti Acne ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplements) อย่าง Calza C, Kacha, Bamion, DeeDay ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สเปรย์ฉีดกันยุง (JUNGO) เป็นต้น Source: The company's website โครงสร้างรายได้ บริษัทมีรายได้หลักมาจากผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ คิดเป็น76.5% ของรายได้จากการขายรวมในปี 2566 ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 10.6% ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร 7.6% ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3.5% รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างละประมาณ 1% และในเก้าเดือนแรกของปี 2567 สินค้าแต่ละกลุ่มยังคงสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงเดิม ยกเว้น ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9.2% ของยอดขายรวม 9M2567 Source: Opportunity Day Year-end-2023, Analyst Presentation 3Q2024 โดยรายได้ของบริษัทมาจากภายในประเทศเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนมากกว่า 94% ของรายได้จากการขายรวมใน 9M2567 ที่เหลือเป็นรายได้จากต่างประเทศอย่าง ลาว กัมพูชา ฮ่องกง และอื่นๆ ตามลำดับ Source: Opportunity Day 3Q2024 โครงสร้างบริษัทและช่องทางการจัดจำหน่าย บริษัทมีช่องทางการจำหน่ายหลักผ่านโรงพยาบาลและร้านขายยา คลินิก รวมกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางการขายอื่นๆ รวมประมาณ 5 ช่องทาง โดยแบ่งตามการจำหน่าย ได้ดังนี้ การจำหน่ายแบบผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (B2B) ให้กับ ลูกค้าร้านขายยา ได้แก่ ร้านขายยาแบบยี่ปั๊ว ร้านขายยาปลีกทั่วไปและที่เป็นเครือข่าย (Health up และ Icare เป็นต้น) และร้านขายยาตาม 7-Eleven โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมถึงคลินิกอายุรกรรมทั่วไป คลินิกแพทย์เฉพาะทาง เช่น กระดูกและข้อ ผิวหนัง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบประสาท เป็นต้น รวมถึง คลินิกเสริมความงาม ร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้แก่ ร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า (Boots, Watsons, Tsuruha, และ Matsumoto Kiyoshi) การส่งออก ผ่านตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ (Selling Agent) รวมมากกว่า 10 ประเทศ เช่น ลาวกัมพูชา ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย และอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทมีการจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคโดยตรง (B2C) ผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) ซึ่งจะเป็นการขายสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในการจัดจำหน่ายไปในแต่ละช่องทางของ BLC จะผ่านบริษัทย่อยที่มีความชำนาญในการจำหน่ายสินค้าแต่ละกลุ่ม ซึ่ง BLC เองจะทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าเกือบทุกประเภทและจำหน่ายไปให้บริษัทย่อยเพื่อทำการจำหน่ายต่อไป โดย BLC มีการถือหุ้นผ่านบริษัท บางกอก ดรัก (BDC) ซึ่งทำหน้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ และ บริษัท ฟาร์ม่า อัลลิอันซ์ (PAC) อย่างละ 99.99% ซึ่ง PAC จะสนับสนุนงาน Back Office ให้กับบริษัทฝ่ายขายอย่างบริษัท ฟาร์ม่าไลน์ (FLC) บริษัท บีริช (BRC) และบริษัท บางกอก เมดิก้า (BMC) ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายยา เครื่องสำอางสำหรับบำรุงผิว และยาสำหรับสัตว์ ตามลำดับ ในไตรมาส 3 ปี 2567 BLC ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ BKD VIVA ภายใต้ BDC เพื่อจะขยายช่องทางการขายออนไลน์ผ่าน Facebook, Shopee, Lazada และ TikTok โดยเน้นการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ด้วยกลยุทธ์การไลฟ์สดเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า Source: Analyst Presentation 3Q2024 ในด้านสัดส่วนยอดขายในแต่ละช่องทางการขาย พบว่าบริษัทมีรายได้จากช่องทางร้านขายยาเป็นหลักคิดเป็นสัดส่วน 53.7% ของยอดขายรวมใน 9M2567 ตามมาด้วยจากโรงพยาบาล 37% ส่งออก 5.7% Modern Trade และ ช่องทาง Online คิดเป็น 2.0% และ 1.7% ตามลำดับ กลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ ใช้การตลาดเชิงรุก เน้นการสร้าง Brand Royalty ให้กับกลุ่มลูกค้าเดิม และสร้าง Brand Awareness ให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยการใช้สื่อออนไลน์ให้ความรู้และสร้างเนื้อหาสุขภาพ รวมถึงการเข้าไปเป็น Sponsorship ตามงานต่างๆ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ไพลวาน่าในงานของเวทีมวยลุมพินี ผลิตภัณฑ์ Clena และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร DeeDay ในเวทีการประกวด “มิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025” และแบรนด์ Arotika ในงานแข่งขันกีฬา TAAP Qualifier 2 และ Spartan Race Thailand 2024 มีเป้าหมายการวางจำหน่ายสินค้าใหม่ในทุกไตรมาส โดยเป็นยาสามัญใหม่ไม่น้อยกว่า 2 รายการต่อปี ซึ่งบริษัทมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์กลุ่มยาสามัญและยาสามัญใหม่ 2-3 รายการในปี 2568 รวมถึงสินค้ากลุ่มอื่นอย่างเครื่องสำอาง อาหารเสริม หรือยาสุมนไพร โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 1 ตัวต่อ 1 ไตรมาส เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของรายได้และอัตราการทำกำไรของบริษัท ประกอบกับการเน้น Portfolio Management เพิ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร เวชสำอาง ยาสัตว์ให้มากขึ้น นำเสนอสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากยาที่วางจำหน่ายในโรงพยาบาลรัฐจะเป็นการสั่งซื้อจำนวนมากและต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมีทีมขายในแต่ละบริษัทย่อยที่เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลรัฐครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มจากโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นตัวสินค้า และจะขยายเครือข่ายกลุ่มแพทย์ตามกลุ่มโรคการรักษา พาทเนอร์กับ Nichi-iko ซึ่งเป็นบริษัทยาชั้นนำของญี่ปุ่น ทำให้ BLC ได้รับสิทธิ์จำหน่ายยาแผนปัจจุบันของบริษัทนิชิอิโคะ (Nichi-Iko) ผ่านช่องทางร้านขายยาแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยเริ่มจัดจำหน่ายตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ซึ่งบริษัทคาดว่าจะส่งผลต่อยอดขายในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างยาของ Nichi-Iko ที่จำหน่ายในไทย ได้แก่ กลุ่มยารักษาเบาหวาน (NIKP-Glimepiride tablet 3 mg) กลุ่มยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด (NIKP-Bisoprolol tablet 2.5mg) ยาที่ใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (NIKP-Pitavastatin tablet 2mg) เป็นต้น สร้างโรงงานการผลิตใหม่ เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตเดิมที่มีการใช้เกือบเต็มกำลัง โดยเฉพาะการใช้อัตรากำลังการผลิตของยาครีมรูปแบบหลอดและรูปแบบกระปุกในไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 129% และ 130% ตามลำดับ ซึ่งโรงงานใหม่จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตยารูปแบบอื่นๆ รวมถึงยาครีมแบบหลอดจากเดิม 7.5 ล้านหลอด เป็น 45.6 ล้านหลอดต่อปี และแบบกระปุกจากเดิม 3 แสนกระปุก เป็น 2.4 ล้านกระปุกต่อปี โดยโรงงานเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2567 แล้วคาดว่าจะเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2569 ตั้งเป้ายอดขายโตเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท บริษัทวางแผนให้รายได้จากการขายโตเฉลี่ยปีละ200 ล้านบาท ในปี 2567 - 2569 โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในปี 2567 นี้ มาจากการเพิ่มช่องทางการขาย การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการที่ยาสมุนไพรได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ อย่าง CAPSIKA ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายผ่านสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐบาลได้ ส่งผลต่อยอดการสั่งซื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง ยา Hepivir (ยารักษาไวรัสตับอักเสบบี) ได้รับการประกาศบรรจุเข้าสู่บัญชียานวัตกรรม ส่งผลให้เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้กับโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น Industry Analysis อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบัน ในช่วงปี 2564 - 2566 ตลาดยาในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ประมาณ 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 (CAGR 0.9%) และคาดว่าจะเติบโตไปถึง 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2570 ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักอย่างการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 28% ของจำนวนประชากรในปี 2567 เทรนการใส่ใจดูแลสุขภาพ และรวมไปถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปอาจเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะในโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น Source: Opportunity Day 2Q2024, Statista (Company data) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยาของไทยยังเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่มีราคาถูกจากจีนและอินเดีย ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ (บริษัทยาต่างชาติ) ที่เป็นตัวแทนนำเข้ายาต้นตำรับหรือยาจดสิทธิบัตร (Original drug หรือ Patented drug) และบางรายใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ประกอบกับต้นทุนของผู้ผลิตยาในประเทศสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบนำเข้า นอกจากนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทยส่วนใหญ่ จะอยู่ในขั้นปลาย คือ การผลิตยาสำเร็จรูป โดยจะนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญ (Active Ingredients) จากต่างประเทศ และนำมาพัฒนา ผสม และผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ อุตสาหกรรมยาสมุนไพร มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่ที่ 57,000 ล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 9.3% จากปีก่อนหน้า (อ้างอิงข้อมูลจาก งานมหกรรมสมุนไพรนานาชาติ International World Trade of Herbal city 2024) ซึ่งไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด และยังติดอันดับโลกด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ซึ่งในปี 2565 มีผู้ป่วยต่างชาติมารักษา 34,088 ครั้ง สร้างรายได้กว่า 34,000 ล้านบาท ด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถึง 14,023 แห่ง และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อตอบรับนโยบายของรัญบาลในการเป็น Medical Hub ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 จึงทำให้การบริโภคสมุนไพรไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต พร้อมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แม้จะมีการผลักดันการบริโภคจากภาครัฐบาล แต่ผู้เพาะปลูกสมุนไพร หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้นน้ำยังได้รับผลตอบเเทนน้อย ประกอบกับ การแปรรูปสมุนไพรโดยใช้นวัตกรรมขั้นสูง อย่าง สารสกัด/ สารตั้งต้น หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร เช่น เครื่องสำอาง ยา และเสริมอาหาร ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ส่งผลให้พืชสมุนไพรยังไม่ถูกนำมาพัฒนาอย่างกว้างขวางมากนักในไทย ท่ามกลางประเทศคู่แข่งที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและมีชื่อเสียงในกลุ่มสมุนไพรหายาก อย่างเช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดได้เปรียบของ BLC ในการเป็นผู้นำด้านการคิดค้นนวัตกรรมยาสมุนไพร สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดได้เป็นอย่างดี อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ได้วิเคราะห์ภาพรวมตลาดความงามของไทยในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ขยายตัว 9.5% ใกล้เคียงกับปี 2566 ซึ่งปัจจัยหลักในการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจาก E-Commerce ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้การเลือกซื้อสะดวกมากขึ้น โดยตลาดเครื่องสำอางที่ผลิตภายในประเทศ คิดเป็น 85% ของธุรกิจเครื่องสำอางในไทย และตลาดเครื่องสำอางที่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็น 15% สำหรับตลาดเครื่องสำอางในประเทศ ส่วนใหญ่เป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare) ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 46.8% (แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า 84% และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย 16%) ถัดมาเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม (Haircare) มีส่วนแบ่งตลาด 18.3% ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย (Hygiene) มีส่วนแบ่งตลาด 16.3% และผลิตภัณฑ์ตกแต่งใบหน้า (Makeup) มีส่วนแบ่งตลาด 13.5% อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยในปี 2567 เผชิญกับอัตราการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นประมาณ 30% ในบางรายการ และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รวมทั้งกำลังซื้อในประเทศโดยเฉพาะตลาดกลางและล่างที่ยังไม่คึกคักมากนัก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ข้อมูลจาก Euromonitor รายงาน มูลค่าอุตสาหกรรมเสริมอาหารในประเทศไทย อยู่ที่ 87,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนภายหลังวิกฤต COVID-19 ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น ส่งผลบวกต่อมูลค่าตลาดเสริมอาหาร โดยเฉพาะผู้บริโภควัยทำงานและผู้สูงอายุที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเป็น 85% ของประชากรในปี 2571 จะเป็นกลุ่มที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยข้อมูลจากการสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธาณสุข ระบุว่าประชาชนกว่า 70% มองว่าอาหารเสริมควรเป็นสิ่งที่รับประทานเป็นประจำ Financial Performance รายได้จากการขายในปี 2566 ขยายตัว 13.5% YoY มาอยู่ที่ 1,406.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167.7 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า จากกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกต่อเนื่อง เน้นสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย การออกบูธแสดงสินค้า และการสื่อสารผ่านช่องทางทั้ง Offline และ Online ท่ามกลางอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องจากการกลับมารักษาในโรงพยาบาลตามปกติของผู้ป่วย ส่งผลต่อความต้องการใช้ยารักษาโรคเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงบริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์ยาสามัญใหม่ในช่วงไตรมาส 4 เช่น Finasteride ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมสำหรับผู้ชาย ผลการดำเนินงานในปี 2566 โตขึ้น 16.3% YoY สะท้อนที่อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 10.5% ในปี 2565 เป็น 10.7% ในปี 2566 ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและบริการ พร้อมกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดลง จึงส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิสำหรับปีเพิ่มขึ้น 21.1 ล้านบาท รายได้จากการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกปี 2567 ยังเติบโตต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 12.2% จากงวดเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 1,134 ล้านบาท โดยหลักจากการจับมือพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้าเพิ่มขึ้น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่องในทุกไตรมาส ประกอบกับการที่มียาได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ และบัญชียานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของช่องทางการขายในโรงพยาบาลรัฐ พร้อมทั้งการทำการตลาดเชิงรุกต่อเนื่องของบริษัท ท่ามกลางความต้องการใช้ยารักษาโรคเพิ่มขึ้น อีกทั้ง มีการจัดตั้งบริษัทย่อย BKD VIVA เพื่อขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมมากขึ้นทุกแพลตฟอร์ม และมีรายได้อื่นเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยรับของเงินลงทุนระยะสั้น ซึ่งส่งผลให้กำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน เพิ่มขึ้น 20.5% YoY และอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10.7% ในปี 2567-2568 รายได้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มาจากปัจจัยสนับสนุน ดังนี้ 1) การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกไตรมาส โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยาสามัญและยาสามัญใหม่ ประมาณ 2-3 รายการในปี 2568 และบริษัทตั้งเป้าหมายจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์ต่อไตรมาสในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่จะสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 5% 2) การพาทเนอร์กับบริษัทยาของญี่ปุ่น Nichi-iko (นิชิอิโคะ) ทำให้บริษัทมีสิทธิจำหน่ายยาแผนปัจจุบันของ Nichi-Iko ผ่านช่องทางร้านขายยาแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทได้จัดจำหน่ายยาของ Nichi-iko ในร้านขายยาแล้วกว่า 200 แห่ง และมีแผนขยายเป็น 400 แห่ง ภายในปี 2568 3) การที่ผลิตภัณฑ์ได้เข้ารับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มยอดขายโดยเฉพาะจากโรงพยาบาลรัฐได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นการสั่งซื้อในปริมาณมากและต่อเนื่อง รายได้จากการขายและกำไรสุทธิ Risk Factors ความเสี่ยงจากการแข่งขันสูง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันของบริษัท เป็นประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ ซึ่งมีตัวยาสำคัญ (Active Ingredient) ชนิดเดียวกันกับยาต้นแบบ โดยเมื่อสิทธิบัตรของยาต้นแบบหมดอายุ ผู้ผลิตยาสามัญใหม่ที่สามารถผลิตและออกสู่ท้องตลาดรายแรกๆ จะมีอัตรากำไรค่อนข้างสูง เนื่องจากสามารถจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่ายานำเข้าที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่หลังจากนั้น ก็จะมีผู้ผลิตยาขนาดกลางและขนาดเล็กออกมาผลิตยาสามัญใหม่แบบเดียวกันคุณภาพต่างกัน เพื่อทำการแข่งขันด้านราคา ทำให้อัตราการทำกำไรของยาชนิดนั้นๆ ลดลง ประกอบกับ การนำเข้ายาราคาถูกจากจีนและอินเดีย ดังนั้น บริษัทจะเผชิญกับสินค้าของคู่แข่งที่ทดแทนกับสินค้าของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าการวางจำหน่ายยาไม่น้อยกว่าปีละ 2 รายการ โดยมุ่งเน้นยารักษาโรคที่มีอัตราผู้เป็นโรคในประเทศไทยสูง อีกทั้ง BLC มีศูนย์วิจัยและความสามารถในการผลิต Active Ingredient จากการสกัดสารจากสมุนไพรไทย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและเพิ่มอัตราการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากการปรับสินค้าได้ยาก ด้วยรายได้จากช่องทางโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้รองลงมาจากร้านขายยา เผชิญข้อจำกัดในเรื่องราคากลางอ้างอิง ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับราคาขายยาสูงกว่าราคากลางได้ ประกอบกับเมื่อผู้ผลิตยาขนาดกลางและเล็ก ผลิตยาสามัญใหม่รูปแบบเดียวกันคุณภาพต่างกัน เพื่อทำการแข่งขันด้านราคา ก็จะส่งผลต่อราคาและการทำกำไรของยาสามัญใหม่ค่อยๆปรับลดลง ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บริษัทอาจไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ทันที ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการทำกำไรได้ ดังนั้น บริษัทมีแนวทางลดความเสี่ยงในการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดจำหน่าย รวมถึง เป้าหมายการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางในทุกไตรมาส จะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาและสร้างอัตราในการทำกำไรในภาพรวมไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากในการผลิตยาสามัญ จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญจากต่างประเทศภายหลังที่สิทธิบัตรของยาต้นแบบ (Original Drugs หรือ Patented Drugs) หมดอายุ โดยบริษัทนำเข้าวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศ คิดเป็น 9% และ 12% ของยอดซื้อทั้งหมดในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งส่วนมากเป็นการนำเข้าด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากประเทศจีน อินเดีย และประเทศแถบยุโรป แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญต่อบริษัท แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนสูง ซึ่งสามารถส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำหนดแนวทางจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจน โดยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) หรือ วิธีเจรจาซื้อสินค้าในสกุลบาท ข้อจำกัดความรับผิด (Disclaimers): กดด้านล่างเพื่อดูรายละเอียด ข้อจำกัดความรับผิด: Pornbhuda Rijiravanich | Analyst, Managing Director  Email: [email protected] Nicharee Aramrungrojchai | Analyst Assistant         Email: [email protected]

คัด 3 หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าและมีแนวโน้มธุรกิจที่เติบโต [HoonVision x FynnCorp]

คัด 3 หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าและมีแนวโน้มธุรกิจที่เติบโต [HoonVision x FynnCorp]

          ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญกับโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ การแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้เป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการลดดอกเบี้ยเช่นกัน แต่เงินบาทยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางนโยบายการเงินโลกที่ซับซ้อน           ในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเช่นนี้ นักลงทุนควรจับตามองหุ้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบริษัทที่มีปัจจัยหนุนด้านธุรกิจแข็งแกร่งในช่วงปลายปีและต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยเสริมแรงบวกจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น SYNEX, AAV และ GULF เป็นหุ้นสามตัวที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าและแนวโน้มธุรกิจที่เติบโตในไตรมาสสุดท้ายของปี รวมถึงมีศักยภาพในการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต 1) SYNEX: ผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้า IT ที่พร้อมจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง SYNEX ผู้นำในการจัดจำหน่ายสินค้า IT ในไทย มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าซึ่งช่วยลดต้นทุนนำเข้าและเพิ่มอัตรากำไร ประกอบกับการเติบโตของตลาด IT จากเทรนด์การทำงานที่บ้านและเรียนออนไลน์ บริษัทมีโอกาสเติบโตทั้งยอดขายและกำไร โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่มีเทศกาลช้อปปิ้งและแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ในปี ภาพรวมธุรกิจ บริษัท ซินเน็ค จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง ซอฟต์แวร์ ระบบสารสนเทศ และอุปกรณ์สื่อสาร บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตมากกว่า 50 แบรนด์จากต่างประเทศ ตั้งแต่ Apple, Huawei, Nintendo และ Samsung SYNEX มีฐานลูกค้าเป็นผู้ประกอบการประมาณ 5,000 ราย ประกอบไปด้วยผู้วางระบบซอฟต์แวร์ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกทั่วประเทศ โดย SYNEX มีช่องทางการจำหน่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และให้บริการจัดส่งสินค้าและบริการหลังการขาย บริษัทมีรายได้รวมในปี 2566 และช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 36,000 ล้านบาท และ 18,000 ล้านบาทตามลำดับ โดยปกติแล้ว จะมีสัดส่วนรายได้จากการขายอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ หรือ ระบบไอที มากกว่า 99% ของรายได้ทั้งหมด แผนภูมิแสดงรายละเอียดรายได้และค่าใช้จ่ายของ SYNEX ในปี 2023 โดยมีรายได้หลักจากการขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไอที มากถึง 36.47 พันล้านบาท คิดเป็น 99.7% ของรายได้ทั้งหมด สัดส่วนของรายได้แยกตามหมวดของสินค้า โดยมีเปอร์เซ็นต์ของช่วงครึ่งปีแรกของ 2024 เป็นสัดส่วนที่อยู่วงนอก ต้นทุนหลักของ SYNEX คือต้นทุนขายสินค้า ซึ่งคิดเป็นประมาณ 93% ของรายได้ เมื่อแบ่งลงไปอีก จะแยกเป็นการจัดซื้อสินค้า 69% จากผู้ผลิตต่างประเทศที่มีฐานการผลิตในไทย และนำเข้า 31% จากผู้ผลิตในต่างประเทศโดยตรง ในด้านการบริหารสินค้าคงคลัง SYNEX ใช้ระบบการสั่งซื้อตามความถี่การขาย โดยสั่งซื้อสินค้าที่มียอดขายสูงอย่างสม่ำเสมอ และสั่งซื้อล่วงหน้าสำหรับสินค้าโครงการหรือสินค้าที่มีระยะเวลาการส่งมอบนานโดยทั่วไป บริษัทได้รับเครดิตเทอม 30-60 วันจากผู้ผลิตในประเทศ และ 30-45 วันจากผู้ผลิตต่างประเทศ ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเงินบาทแข็งค่า ราคาหุ้นของ SYNEX ก็มักจะปรับตัวขึ้นตามไปด้วย กราฟนี้แสดงให้เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาท (USD/THB ลดลง) มักสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น SYNEX FynnCorp IAS มองว่าการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลดีโดยตรงต่อ SYNEX เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า IT จากต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็น 31% ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิ เหตุใด SYNEX จึงน่าลงทุน? ผลประโยชน์จากเงินบาทแข็งและการเติบโตของตลาด IT: SYNEX ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดลงของต้นทุนนำเข้าเมื่อเงินบาทแข็งค่า ในขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้า IT ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากเทรนด์การทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ ทำให้บริษัทมีโอกาสเติบโตทั้งในด้านยอดขายและอัตรากำไร โอกาสจากยอดขายพุ่งในไตรมาส 4 และการเปิดตัวสินค้าใหม่: ช่วงเทศกาลช้อปปิ้งปลายปีมักส่งผลให้ยอดขายของ SYNEX เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับแผนการเปิดตัวสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรุ่นใหม่ในไตรมาส 4 ปี 2567 จะเป็นตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของรายได้ ปัจจัยเสี่ยง การแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี: ตลาด IT มีการแข่งขันสูงและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว SYNEX ต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันและบริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสินค้าล้าสมัย ภาวะเศรษฐกิจและการพึ่งพาซัพพลายเออร์: ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะที่การพึ่งพาซัพพลายเออร์รายใหญ่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความต่อเนื่องของธุรกิจหากเกิดปัญหากับซัพพลายเออร์หลัก 2) AAV: โอกาสจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและเงินบาทแข็งค่า AAV ผู้นำสายการบินต้นทุนต่ำในไทย มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเงินบาทแข็งค่าซึ่งช่วยลดต้นทุนดำเนินงานที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ เช่น ค่าเช่าเครื่องบินและค่าบำรุงรักษา บริษัทมีโอกาสเติบโตจากแผนขยายเส้นทางบินใหม่ โดยเฉพาะในเส้นทางที่มียอดจองสูง และการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ภาพรวมธุรกิจ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เป็นบริษัทแม่ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำชั้นนำในประเทศไทยที่ให้บริการทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2023 AAV มีรายได้จากการดำเนินงานเที่ยวบินหลักอยู่ที่ 41 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 135% จากปี 2022 สะท้อนถึงความสำเร็จในการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินและการขยายเส้นทางบินใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดการบิน โดยรายได้จากเที่ยวบินภายในประเทศคิดเป็น 60% และระหว่างประเทศคิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมด ภาพแสดงการกระจายรายได้และค่าใช้จ่ายของ AAV ในปี 2023 โดยรายได้หลักมาจากการดำเนินงานเที่ยวบิน (41.03 พันล้านบาท) ในปี 2566 ต้นทุนหลักของ AAV ประกอบด้วย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคิดเป็น 37% ของต้นทุนรวม และยังเป็นต้นทุนที่มีความผันผวนสูงตามราคาน้ำมันโลก นอกจากนี้ยังมี ค่าใช้จ่ายสนามบินและค่าจอดเครื่องบิน คิดเป็น 14% ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินและการจอดเครื่องบิน และ ค่าบำรุงรักษาและค่าซ่อมแซม คิดเป็น 15% ของต้นทุนรวม เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาเครื่องบินให้พร้อมใช้งานและปลอดภัย ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลดีโดยตรงต่อ AAV เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่น ค่านํ้ามัน, ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าบำรุงรักษา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิ เหตุใด AAV จึงน่าลงทุน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาค: ตลาดการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567 AAV อยู่ในตำแหน่งที่ดีในการได้รับประโยชน์จากการเติบโตนี้ ด้วยเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุมและแบรนด์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน: AAV ได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและการบริหารจัดการฝูงบิน กลยุทธ์การขยายธุรกิจที่มุ่งเน้นการเติบโต: AAV มีแผนขยายเส้นทางบินใหม่ โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีศักยภาพสูงและมียอดจองแน่น เช่น เส้นทางไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น การขยายตัวนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ แต่ยังช่วยกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ปัจจัยเสี่ยง ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว: แม้ว่าการท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์โรคระบาด หรือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณนักท่องเที่ยวในระยะสั้น ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง: แม้ว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนการดำเนินงานของ AAV การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการบิน: การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอาจนำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะในด้านราคา ซึ่งอาจกดดันอัตรากำไรของ AAV ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง 3)  GULF: ผู้นำด้านพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า GULF ผู้นำในธุรกิจพลังงานของไทย กำลังขยายการลงทุนสู่พลังงานหมุนเวียนและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยได้รับประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าซึ่งช่วยลดภาระหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์และต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยี บริษัทมีโอกาสเติบโตจากแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกและการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริการดิจิทัล โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูล นอกจากนี้ GULF ยังมีความได้เปรียบจากประสบการณ์และเครือข่ายในอุตสาหกรรมพลังงาน ภาพรวมธุรกิจ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานของประเทศไทย โดยดำเนินโครงการด้านพลังงานทั้งจากพลังงานฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน ในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมประมาณ 114 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 21% จากปีก่อน โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจก๊าซธรรมชาติ GULF มีแผนขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดและขยายศูนย์ข้อมูล (Data Centers) ในประเทศไทย โดย GULF เองมีแผนที่จะลงทุน มากถึง 1,800 ล้านบาทใน Data Center ในช่วงระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า รายได้หลักของ GULF ในปี 2023 มาจากธุรกิจพลังงานเป็นหลัก คิดเป็น 93% ของรายได้รวม ซึ่งประกอบไปด้วย ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รายได้ส่วนอื่นของ GULF จะมาจากโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค, ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และอื่นๆ แผนภูมิแสดงรายได้และค่าใช้จ่ายของ GULF ในปี 2023 โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจพลังงาน เป็น 106.13 พันล้านบาท สิ้นปี 2566 GULF มีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยกว่า 282,626 ล้านบาท โดยเกือบ 18% อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินมีบทบาทสำคัญต่อภาระหนี้ของบริษัท ในปีที่ผ่านมา บริษัทต้องบันทึกขาดทุนทางบัญชี 576 ล้านบาท จากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แม้ว่าจะไม่ใช่การสูญเสียเงินสดจริง แต่ก็ส่งผลต่อการรายงานผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทกลับเป็นผลดีต่อ GULF ในแง่ของการจ่ายหนี้ เพราะทำให้ใช้เงินจ่ายน้อยลงเมื่อหนี้อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์ ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อ GULF ในหลายด้าน ประการแรก ช่วยลดภาระหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้บริษัทมีโอกาสในการลดต้นทุนทางการเงินและเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ ประการที่สอง ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความคล่องตัวในการขยายการลงทุน ทำให้ GULF สามารถเร่งแผนการลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพสูงได้เร็วขึ้น เหตุใด GULF จึงน่าลงทุน โอกาสการเติบโตในธุรกิจพลังงานสะอาดและดิจิทัล: GULF กำลังขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูล ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกและการเติบโตของความต้องการบริการดิจิทัล การลงทุนในสองธุรกิจที่มีศักยภาพสูงนี้จะช่วยสร้างแหล่งรายได้ใหม่และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ประโยชน์จากการบริหารต้นทุนและหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ: การแข็งค่าของเงินบาทช่วยลดต้นทุนการนำเข้าอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับโครงการใหม่ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์ เปิดโอกาสให้ GULF สามารถรีไฟแนนซ์หนี้ในอัตราที่ต่ำลง เพิ่มความสามารถในการทำกำไรและการลงทุนในอนาคต ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมพลังงาน: GULF มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงาน พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการขยายธุรกิจไปสู่พลังงานหมุนเวียนและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ ปัจจัยเสี่ยง ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐและกฎระเบียบ: การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานและดิจิทัลของภาครัฐ รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาจส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนและการดำเนินงานของ GULF โดยเฉพาะในโครงการพลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูล ความผันผวนของราคาพลังงานและวัตถุดิบ: แม้ว่า GULF จะกำลังขยายไปสู่พลังงานหมุนเวียน แต่ธุรกิจหลักยังคงเป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและความสามารถในการทำกำไร ความท้าทายในการขยายธุรกิจใหม่: การขยายธุรกิจไปสู่พลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูลอาจเผชิญกับความท้าทายในด้านการดำเนินงานและการแข่งขัน เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่ GULF อาจยังไม่มีประสบการณ์มากนัก อาจต้องใช้เวลาในการสร้างความเชี่ยวชาญและส่วนแบ่งตลาด อ่านรายละเอียดเพิ่ม คลิก https://app.visible.vc/shared-update/b7514fb8-becc-4ff0-a481-b1cba459cb46

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน