[Vision Exclusive] HARN แตกไลน์การแพทย์ ต่อยอดธุรกิจเครื่องพิมพ์ 3D
หุ้นวิชั่น - HARN แตกไลน์ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ต่อยอดเครื่องพิม์ 3D บิ๊กบอส "วิรัฐ สุขชัย" คาดจดทะเบียนแล้วเสร็จไตรมาสแรกปี 68 ส่งซิกผลงานรวมปี 67 สดใส อวด Backlog สิ้น Q3/67 แน่น 452 ล้านบาท เดินหน้ารักษามาร์จิ้น 30% ลุยแผน 5 ปีโรดแมพ เพิ่ม Market Cap. เป็น 5,000 ล้านบาท นายวิรัฐ สุขชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HARN เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ได้มีมติอนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อย โดยบริษัทถือหุ้นร้อยละ100 ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจหลักในการค้าเครื่องมือแพทย์ ผลิต ทํา ประกอบ หรือประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์ แบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุเครื่องมือแพทย์ ปรับปรุง แปรสภาพ หรือดัดแปลงเครื่องมือแพทย์ ทําให้เครื่องมือแพทย์ปราศจากเชื้อ รวมตลอดถึงการผลิตและค้ายางเทียมสิ่งทําเทียม วัตถุดิบหรือสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทจะดําเนินการจดทะเบียนบริษัทย่อยให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2568 การขยายธุรกิจสู่การค้าเครื่องมือแพทย์ ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจการพิมพ์แบบ 3D และขยายตลาดไปยังธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ขณะที่ทิศทางธุรกิจเดิมในส่วนของการจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีในปี 2568 โดยแม้ว่าในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ผลประกอบการจะไม่ค่อยดีนัก แต่ผลประกอบการในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เริ่มกลับมาฟื้นตัวดี ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของแนวโน้มธุรกิจของบริษัท HARN ขณะที่ Backlog ออเดอร์ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 452 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลข Backlog ที่อยู่ในระดับสูง และคาดจะทำให้ยอดขายใกล้เคียงเป้า ขณะเดียวกันเชื่อว่าอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ปี 2567 จะใกล้เคียงกับที่ผ่านมาที่ 30.09% โดน 9 เดือนแรกปี 2567 ที่ 27.58% บริษัทมองทิศทางการเติบโตในปี 2568 กลุ่มธุรกิจของ HARN ยังมีแนวโน้มการเติบโต แม้เศรษฐกิจในประเทศถดถอย แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 เริ่มเห็นผลการเติบโตที่ดีขึ้น อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เพื่อเสริมรายได้ให้กับธุรกิจ สำหรับคู่แข่งในตลาดปัจจุบันมีมากขึ้น แต่บริษัทกำลังมองหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท และรักษาอัตราการทำกำไร (มาร์จิ้น) โดยที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า ทำให้บริษัทมีต้นทุนสูงจากการนำเข้าสินค้า และบริษัทได้ปรับราคาขายให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยน และบริษัทจะพยายามบริหารอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ให้ได้ 30% โดยการบริหารต้นทุนและหาตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท บริษัทมีเป้าหมายในการเติบโตระยะยาว 5 ปี โดยการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ หรือ Market Cap. จาก 1,350 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท และจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ รักษาความพึงพอใจของลูกค้าไม่ต่ำกว่า 90% และความพึงพอใจของพนักงานมากกว่า 85% รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision