วิเคราะห์ผู้เล่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์: HANA [HoonVision x FynCorp]
เซมิคอนดักเตอร์ในไทย เริ่มก้าวสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ หากพูดถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ คงหนีไม่พ้น เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแผงวงจรควบคุมและประมวลผลข้อมูลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิด ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะการผลิตชิป ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของโลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยมูลค่าตลาดที่ถูกคาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ตามความต้องการใช้ AI, Data Center, IoT, EV, เครื่องมือแพทย์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้หน่วยประมวลผลที่ทำจากเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบหลัก หากดูจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในส่วนกลางน้ำ (Midstream) และปลายน้ำ (Downstream) ซึ่งจะเป็นขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนประกอบ (components) และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (finished goods) เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ (OSAT) การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) โดยในปี 2566 BOI รายงาน ไทยมียอดส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.5 ล้านล้านบาท หรือ 25% ของการส่งออกทั้งหมด โดยเป็นมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มูลค่า 5.1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมากในไทยช่วง 2 ปีมานี้ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ไต้หวัน และญี่ป่น จนในปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศ นโยบายสส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าดึงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี (2568-2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในภูมิภาค ซึ่งในเดือนธันวาคม 2567 บริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำ ภายใต้กลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือของ Foxconn เข้ามาตั้งฐานการผลิตแห่งที่ 4 ของโลกในไทย ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรก 10,500 ล้านบาท โดยตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอมตะซิตี้ ระยอง ซึ่งบริษัทมีโรงงานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การที่ FITI เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย จะเป็นขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) และจะเป็นโอกาสในการสร้างพันธมิตรที่ดีของผู้เล่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยได้ อีกทั้ง ในปี 2567 นี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่าง HANA ได้มีแผนร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิป (Wafer Fabrication) แห่งแรกในไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นจุดสำคัญที่ไทยจะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำ HANA: 1 ใน 50 บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) (HANA) ซึ่งบริษัทแม่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 และได้เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 บริษัทและบริษัทย่อยให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Electronics Manufacturing Service: EMS) แก่ลูกค้า (Original Equipment Manufacturer: OEM) ผ่านฐานการผลิตรวมทั้งสิ้น 7 แห่ง ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย จีน สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และเกาหลี ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของ HANA แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ การผลิตและประกอบแผงวงจร “PCBA” การผลิตและประกอบและทดสอบวงจร “IC” และการผลิตและประกอบ RFID และ Liquid Crystal on Silicon “LCOS” 1) ผลิตภัณฑ์ประเภทแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) - Printed Circuit Board Assembly Source: 56-1 One Report 2566 PCBA เป็นการประกอบแผงวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ลงบนแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ที่เป็นฐานสำหรับยึดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมต่อวงจรให้แผ่นวงจรไฟฟ้าให้สามารถทำงานได้ โดย HANA มีโรงงานผลิต PCBA 3 แห่ง อยู่ที่จังหวัดลำพูน ประเทศไทย ที่เมืองเจียซิง ประเทศจีน และจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา 2) ผลิตและทดสอบการทำงานของผลิตภัณฑ์แผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC Assembly) Source: 56-1 One Report 2566 แผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC) คือ สารกึ่งตัวนำที่ประกอบด้วยส่วนประกอบวงจร เช่น ตัวต้านทาน (Resistor) ตัวเก็บประจุตัวเหนี่ยวนำ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด เป็นต้น ซึ่งเชื่อมต่อด้วยสายไฟวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการพัฒนาขนาดที่เล็กลง โดยโรงงานประกอบ IC ของบริษัทมี 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย เมืองเจียซิง ประเทศจีน และที่จังหวัดชุงชองบุกโด ประเทศเกาหลีใต้ 3) การผลิตและประกอบ RFID Source: 56-1 One Report 2566 RFID หรือ Radio Frequency Identification คือ อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหรือระบุตัวตน ด้วยการอ่านรหัสคลื่นวิทยุ ใช้สำหรับรับส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วแบบไร้สาย ส่วน Microdisplay เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสัญญาณทางไฟฟ้าเป็นสัญญาณภาพที่มีความละเอียดสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ LCoS (Liquid Crystal on Silicon) อุปกรณ์ MEMS หรือ HTP (High-Temperature Polysilicon) ซึ่งใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ เช่น แว่นตาแสดงภาพเหมือน (Virtual and Augmented Reality Goggles) เครื่องฉายภาพ (Multimedia Projector) เป็นต้น โดยโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ เมืองทวินส์เบิร์กและโซลอน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา โครงสร้างรายได้ บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ PCBA เป็นหลัก คิดเป็น 61% ของรายได้จากการขายทั้งหมดในปี 2566 ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ IC Assembly หรือ 33% ส่วน RFID & Microdisplay มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 6% ซึ่งแบ่งรายได้ตามประเทศที่ตั้งหน่วยการผลิตได้ตามรูปด้านล่าง Source: 56-1 One Report 2566 สภาพตลาดและการแข่งขัน HANA ถือว่าเป็น 1 ใน 50 บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก ซึ่งมีเพียงไม่กี่ผู้เล่นในไทยที่ทำธุรกิจเช่นนี้ แต่ถ้าดูผู้เล่นในไทยที่ผลิต PCBA จะเป็น SMT, Benchmark, Fabrinet และ SVI ส่วนคู่แข่งในด้าน IC Assembly ได้แก่ UTAC และ SMT ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่นอกประเทศที่ให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร อย่างเช่น IMI, Flextronics, Solectron, Plexus และ Pemstar นี้ บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะแข่งขันโดยตรง โดยเน้นการรับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทไมโครอิเล็กทรอนิกส์ การร่วมทุนกับกลุ่ม ปตท. ลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในไทยภายใน 2 ปี ยังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. มีแผนร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิปชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) แห่งแรกของไทย (Wafer Fabrication) ภายใต้ บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1) ภายหลังที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และออกบัตรส่งเสริมในเดือนสิงหาคม 2567 โดยโรงงานจะถูกก่อสร้างในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ด้วยระยะเวลาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร 2 ปีโดยประมาณ และคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาสแรก ปี 2570 Source: 56-1 One Report 2566 บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด มีแผนลงทุนกว่า 11,500 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตชิปต้นน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เป็นชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) เป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ มีคุณสมบัติแตกต่างจากชิปทั่วไปที่ผลิตจากซิลิคอน ตรงที่มีความสามารถทนไฟขั้นสูงสามารถแปลงแรงดันไฟฟ้ากำลังสูง เหมาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานในวงกว้างตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในครัวเรือน อุปกรณ์ Cloud Computing อินเวอร์เตอร์ไฟฟ้า EV/OBC รวมทั้งในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำให้ SiC มีความยากในการผลิตและต้นทุนสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ความต้องการในอุตสาหกรรม (FT1 Business Demand) ที่ชะลอตัวลงในปัจจุบัน ทำให้บริษัทยังคงจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจนกว่าจะถึงช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 ถึงความเหมาะสมที่จะตัดสินใจลงทุน ระยะเวลาเริ่ม รวมถึงมูลค่าเงินที่จะลงทุนในโครงการ Risk Factors ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ราคาขายและอุปสงค์ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในตลาดโลกที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น สงครามการค้า ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย สภาพเศรษฐกิจที่คาดว่าจะถดถอยและปัญหาพลังงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านนี้ โดยการรักษาฐานลูกค้าและกระจายการผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และจากนโยบายการค้าของสหรัฐที่ทำให้เกิดความเสียเปรียบทางธุรกิจสำหรับโรงงานผลิตในจีน บริษัทจึงปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นลูกค้าในจีนเป็นหลัก ทั้งนี้ สงครามการค้าอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจให้โรงงานในประเทศที่เหลือของบริษัท ความเสี่ยงของระบบห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสามารถเกิดขึ้นได้อีกโดยเฉพาะจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานโลกมีความซับซ้อนและบูรณาการมากขึ้น ทำให้บริษัทมีการประสานงานและทำงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ในส่วนวัตถุดิบและชิ้นส่วนหลักในการผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่ค้าที่เป็นพันธมิตร ความเสี่ยงของฐานลูกค้ารายใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงหลักที่กลุ่มฐานลูกค้ารายใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ การเปลี่ยนเจ้าของกิจการหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงโดยมีสัดส่วนสินค้าที่ผลิต กระจายตัวอยู่ในตลาดที่หลากหลายในอุตสาหกรรมและมีสัดส่วนการกระจายการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ด้วยการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น โดยลูกค้ารายใหญ่ที่สุดมียอดขายไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดขายกลุ่มบริษัท หุ้น HANA หุ้น HANA มี Market Cap อยู่ที่ 21,514.41 ล้านบาท (อิงข้อมูล ณ วันที่ 19 ธันวาคม 67) หรือเป็นอันดับที่ 4 ให้หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) โดยผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ยังคงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลต่อต้นทุนเพิ่ม ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลง รวมถึงการตั้งด้อยค่าสินค้าคงคลัง ขณะที่ความต้องการใน SiC ยังคงอ่อนตัวลงและราคาลดลงจากการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ชะลอตัว รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาษี EV ที่กระทบต่อการผลิตที่ตลาดจีน อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 ปี 2567 หน่วยงานพาวเวอร์ มาสเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ในเกาหลีใต้ (PMS) และหน่วยงานฮานา เทคโนโลยี (HTI) ในสหรัฐอเมริกามียอดขายเพิ่มขึ้น 40% YoY และ 20% YoY ตามลำดับ Unit: THB Million ในด้านเงินปันผล บริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลตั้งแต่ 30% ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวมหลังหักเงินสำรองต่างๆทุกประเภท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการลงทุนและกระแสเงินสด โดยล่าสุด (13 ธันวาคม 67) บริษัทได้จ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.25 บาทต่อหุ้น (DPS) ซึ่งมูลค่าที่ลดลงอาจเกิดจากการวางแผนเก็บเงินสดไว้ลงทุน อย่างเช่นการสร้างโรงงาน หรือเน้นการเติบโตในระยะยาวมากกว่า รายละเอียดเพิ่มเติม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/8ebd9f84-5a2d-47c2-a2c5-068bd4084898