#GLOBAL


เทียบ 2 หุ้นวัสดุก่อสร้าง: HMPRO และ GLOBAL [HoonVision x FynnCorp]

เทียบ 2 หุ้นวัสดุก่อสร้าง: HMPRO และ GLOBAL [HoonVision x FynnCorp]

Key Highlights: แนวโน้มการเติบโตของตลาดวัสดุก่อสร้างดีขึ้น ตามดีมานต์ทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชน ส่งผลดีต่อผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มอย่าง HMPRO และ GLOBAL ด้วยจำนวนสาขากว่า 133 แห่ง และ 127 แห่งทั้งในและต่างประเทศ ตามลำดับ HMPRO ชูกลยุทธ์ปรับ Product Mix และขยายสาขาในประเทศ ซึ่งเน้นเป็นสาขาตามจังหวัดใหญ่ พร้อมกับการเพิ่มยอดขายสินค้าอัตรากำไรสูงอย่าง Private Brand เพื่อเพิ่มกำไร โดย HMPRO เจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย เน้นกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน GLOBAL มุ่งขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสินค้าหลากหลายสำหรับงานก่อสร้าง โดย GLOBAL เน้นการขายสินค้าวัสดุก่อสร้างให้แก่กลุ่มผู้รับเหมา ซึ่งมีสาขากระจายไปทุกภูมิภาค รวมถึงมีการขยายสาขาไปในประเทศเพื่อนบ้าน กลยุทธ์ที่แตกต่างตามเป้าหมายของการลงทุนที่ต่างกัน HMPRO เน้นการจ่ายปันผลอัตราสูงและผลตอบเเทนที่สม่ำเสมอ ส่วน GLOBAL เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่มองหาการเติบโตของมูลค่าหุ้นในระยะยาว รองรับศักยภาพในอนาคตผ่านการขยายธุรกิจ ตลาดวัสดุก่อสร้างแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากงานลงทุนภาครัฐและเอกชนเริ่มฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ           แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ตลาดวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการชะลอการเปิดโครงการใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดจากสถาบันการเงินซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงการหดตัวของการลงทุนภาครัฐจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ในช่วงปลายปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 ความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ต้องการรีโนเวตเพื่อเร่งยอดขาย ท่ามกลางทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเงินลงทุนในปีงบประมาณ 2568 ที่เพิ่มขึ้น เกิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 หมื่นบาทและแจกเงินเยียวยาน้ำท่วม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งดีมานต์จากทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ ลูกค้ารายย่อย ถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผู้ค้าวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ในประเทศอย่าง HomePro และ Global HMPRO: หนึ่งในผู้นำธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับบ้านภายใต้ One Stop Shopping Home Center           บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2544 ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “HMPRO” โดยประกอบธุรกิจค้าปลีก จำหน่ายสินค้าในกลุ่ม Hard Line อย่าง วัสดุก่อสร้าง สี อุปกรณ์ปรับปรุงบ้าน ห้องน้ำ และ สุขภัณฑ์ เครื่องครัว อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่ม Soft Line อย่าง สินค้าประเภทเครื่องนอน พรม ผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ สินค้าตกแต่ง และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อีกทั้งมีบริการเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีก (Home Service) อย่าง การติดตั้งก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคาร บ้าน และที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร (One Stop Shopping Home Center) ครอบคลุมถึงบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Service) 24 ชั่วโมง           นอกจากนี้ บริษัทยังประกอบธุรกิจให้บริการพื้นที่เพื่อร้านค้าเช่า มีการจัดสรรพื้นที่และพัฒนาเป็น “มาร์เก็ต วิลเลจ” (Market Village) ผู้เช่าส่วนใหญ่ ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ธนาคาร ร้านหนังสือ ร้านสินค้าไอที เป็นต้น ปัจจุบัน บริษัทมีสาขาในรูปแบบ “มาร์เก็ต วิลเลจ” ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ หัวหิน ภูเก็ต (ฉลอง) ราชพฤกษ์ และรังสิตคลอง 4 ลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าต่างกันของ HomePro และ Mega Home           ในส่วนธุรกิจค้าปลีก บริษัทใช้ชื่อทางการค้า "โฮมโปร" (HomePro) และ “เมกาโฮม” (Mega Home) โดย Mega Home เป็นแบรนด์ที่เน้นการค้าส่งสินค้าวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง เครื่องใช้ภายในบ้าน เจาะกลุ่มช่างก่อสร้างและผู้รับเหมา เจ้าของโครงการอสังหาฯ ครอบคลุมในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่ HomePro เป็นกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน ที่เน้นการค้าปลีกในกลุ่มลูกค้าผู้อยู่อาศัย           หากแบ่งตาม 3 Business Units พบว่าโฮมโปรมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด คิดเป็น 79% ของรายได้ทั้งหมด ตามด้วย เมกาโฮม 18% และหากแบ่งตามรายได้ของกลุ่มสินค้าและบริการพบว่า รายได้จากกลุ่มสินค้า Hard Line มีสัดส่วนมากสุด หรือ 62.1% ของรายได้รวมปี 2566 ตามมาด้วย สินค้ากลุ่ม Soft Line 13.2% และรายได้อื่นๆ ซึ่งรวมค่าเช่าพื้นที่ ค่าสนับสนุนการขาย สัดส่วน 6.2% ส่วนรายได้จากบริการ Home Service คิดเป็น 1.1% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้จากบริษัทย่อย           บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่าย (Offline) ทั้งหมด 133 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 ได้แก่ 1) HomePro ในประเทศไทย 92 สาขา 2) HomePros ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าจำนวน 5 สาขา 3) Mega Home 29 สาขา 4) HomePro ที่ประเทศมาเลเซีย 7 สาขา           และช่องทางการขาย Online ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท และ Market place เช่น Shopee Lazada TikTok กลยุทธ์การเติบโตผ่าน Private Brands และการขยายสาขา           บริษัทมีการพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองหลากหลาย (Private Brand) ครอบคลุมทั้งสินค้ากลุ่ม Hard Line และ Soft Line ซึ่งมีอัตราการทำกำไรที่ดีเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไปอยู่ที่ 10% - 15% โดยสัดส่วนยอดขายของ Private Brand ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ของโฮมโปร อยู่ที่ 20.8% และเมกาโฮมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 21.1% จากเป้าที่วางไว้ 21%           บริษัทมีแผนการขยายสาขา ซึ่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีการขยายไปแล้ว 3 สาขาในรูปแบบ Hybrid (การเปิดโฮมโปรและเมกาโฮมในพื้นที่เดียวกัน) ที่ระยองและหนองคาย และในไตรมาส 4 ปีนี้ บริษัทมีแผนจะขยายอีก 4 สาขา ได้แก่ โฮมโปรแบบ Hybrid 1 สาขา และ standalone 2 สาขา รวมถึง เมกาโฮมอีก 1 สาขา (Hybrid) ทำให้สิ้นปี 2567 บริษัทจะมีสาขาทั้งหมด 137 สาขา GLOBAL: ศูนย์รวมวัดสุก่อสร้างและตกแต่งบ้านครบวงจรรายใหญ่ในประเทศ           บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2538 โดยโกลบอลเฮ้าส์สาขาแรกตั้งอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในปี 2540 และได้ยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จนเสนอหุ้นไอพีโอในปี 2552 ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ "GLOBAL" เพื่อประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ต่อเติม ตกแต่ง บ้านและสวน ภายในอาคารหลังเดียวขนาดใหญ่ลักษณะเป็นแวร์เฮ้าส์สโตร์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “โกลบอลเฮ้าส์” (Global House)           กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Global คือ กลุ่มลูกค้าเจ้าของบ้าน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ช่าง ผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็ก ร้านค้าวัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก ไปจนถึงโครงการก่อสร้างและที่พักอาศัย โดยสินค้าที่จัดจำหน่ายมีมากกว่า 300,000 รายการ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) ประเภทวัสดุก่อสร้าง สำหรับงานด้านโครงสร้าง (ปูนซีเมนต์ เหล็ก ตะปู หลังคา อุปกรณ์ติดตั้ง ท่อน้ำ ปั๊มน้ำ งานเกษตรและตกแต่งสวน) 2) ประเภทวัสดุตกแต่ง สำหรับงานตกแต่งอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์ ประตู หน้าต่าง วัสดุปูพื้น เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ไฟฟ้า กลุ่มสี เคมีภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เป็น House Brand ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทมากกว่า 10,000 รายการ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าสินค้าระดับเดียวกันในท้องตลาด           โดยกลุ่มสินค้าทั้ง 2 ประเภทหลัก มีสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงกัน ซึ่งกลุ่มวัสดุตกแต่งคิดเป็น 49.02% ของรายได้รวมปี 2566 ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สร้างรายได้ 47.74% ที่เหลือจะเป็นรายได้อื่น (รายได้บริการขนส่ง ค่าเช่ารับ ดอกเบี้ยรับ) และรายได้จากบริษัทย่อย คิดเป็น 1.79% และ 1.45% ตามลำดับ กลยุทธ์การเติบโตผ่านการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ ด้วยสินค้าที่ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่           ปัจจุบัน บริษัทมีสาขาทั้งหมด 90 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการขยายสาขาไปทั้งหมด 7 แห่งในปี 2567 กระจายตามจังหวัดต่างๆ และวางแผนจะขยายในปี 2568 อีก 11 สาขา เพื่อให้เกิน 100 สาขาทั่วประเทศ ตามเป้าที่เคยกำหนดไว้ โดยมีที่ดินที่รองรับไว้แล้วในภาคต่างๆ มากกว่า 15 แปลง นอกจากนั้น ยังได้มีการขยายสาขาในต่างประเทศ โดยบริษัทมีสาขาในประเทศพม่า 12 สาขา อินโดนีเซีย 15 สาขา กัมพูชา 2 สาขา และลาว 8 สาขา เปรียบเทียบ HMPRO และ GLOBAL           ในหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง HMPRO และ GLOBAL ถือเป็นสองผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่ม ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) กว่า 127,500 ล้านบาท และ 82,700 ล้านบาทในปัจจุบัน ตามลำดับ แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน แต่ทั้งสองบริษัทมีการเจาะกลุ่มลูกค้าต่างกัน: HMPRO เน้นการเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเจ้าของที่อยู่อาศัยในเขตเมือง เน้นงานตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงมีบริการครบวงจร (Home Service) ส่วน GLOBAL เน้นกลุ่มลูกค้าช่างและผู้รับเหมาในระดับภูมิภาค ในพื้นที่ชานเมืองและหัวเมืองใหญ่ สินค้าจะเป็นวัสดุก่อสร้างเป็นหลักแบบครบวงจรในราคาที่คุ้มค่า           โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ผลการดำเนินงานทั้งสองบริษัท ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และการเข้าสู่ฤดูฝนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายในสาขาลดลง จนส่งผลต่อยอดขายที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า           ในด้านสินค้าคงคลัง HMPRO มีอัตราการหมุนเวียนสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover Ratio) ที่สูงกว่า เนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นจำหน่ายสินค้าที่สอดคล้องกับเทรนด์การตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตามความนิยมและเทคโนโลยี ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มักมีรอบชีวิตที่สั้นและต้องหมุนเวียนเร็วเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและหลีกเลี่ยงสินค้าล้าสมัย ซึ่งแตกต่างจาก GLOBAL ที่เน้นสินค้าก่อสร้างพื้นฐานที่มีอายุการใช้งานยาวและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ จึงสะท้อนการมี Turnover ที่ต่ำกว่า HMPRO สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในกลยุทธ์และประเภทสินค้าที่จำหน่ายระหว่างสองบริษัท           ในด้านของเงินปันผล HMPRO มีอัตราส่วนการจ่ายปันผล (Dividend Payout Ratio) อยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงถึงนโยบายที่มุ่งเน้นการคืนกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก และมีการตอบแทนผู้ถือหุ้นผ่านเงินปันผลได้ดีกว่า ซึ่งอาจเป็นจุดดึงดูดสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง ขณะที่ GLOBAL มีการจ่ายปันผลที่ต่ำกว่า สะท้อนว่าบริษัทอาจเลือกเก็บกำไรไว้สำหรับการลงทุนและการขยายธุรกิจในอนาคต           นอกจากนั้น ราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 พบว่า HMPRO อยู่ที่ 19.77 เท่า ขณะที่ GLOBAL อยู่ที่ 34.27 เท่า ดังนั้น หากพิจารณาแล้ว หุ้น HMPRO จะโดดเด่นด้านการจ่ายปันผลในระดับสูง เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอและผลตอบแทนที่มั่นคงต่อเนื่อง ขณะที่ หุ้น GLOBAL เป็นหุ้นที่ถูกมองว่าอาจมีโอกาสในการเติบโตได้ในอนาคต จากการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ จึงสะท้อนผ่าน P/E ที่สูงกว่า ประกอบกับ แนวโน้มการจ่ายปันผลที่มากขึ้น อาจสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว รายละเอียดเพิ่มเติม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/682ea04f-47fe-4be6-8c34-a5a44dec5bbd

จัดพอร์ตหุ้นรับวายุภักษ์ KTB-BBL-BCP น่าสะสม

จัดพอร์ตหุ้นรับวายุภักษ์ KTB-BBL-BCP น่าสะสม

หุ้นวิชั่น- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุว่า การลงทุนที่น่าสนใจ หุ้นที่คาดได้อานิสงส์จากกองทุนวายุภักษ์รอบใหม่ โดยเลือกหุ้น SET100 ที่มีคุณสมบัติ 1) จ่ายเงินปันผลดี โดยให้ Dividend Yield ขั้นต่ำปีละ 3.5% 2) มี ESG Ratings สูงตั้งแต่ระดับ A-AAA และ CG ระดับ 5 ดาว และ 3) มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตได้ในปี 2025 เลือก KTB BBL BCP ADVANC HMPRO นักลงทุนที่ต้องการหุ้นเก็งกำไรซึ่งคาดได้อานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง แนะนำ กลุ่มเช่าซื้อ (MTC TIDLOR) กลุ่มอสังหาฯ (AP SIRI) กลุ่มค้าปลีก (CPALL) กลุ่มโรงไฟฟ้า (GULF) กลุ่ม REITs (LHHOTEL DIF) นักลงทุนที่ต้องการหุ้นเก็งกำไรซึ่งได้อานิสงส์บวกจากสถานการณ์น้ำท่วม แนะนำ HMPRO GLOBAL CPALL BJC DCC และ TASCO ซึ่งจากสถิติปีที่เกิด La Nina หากลงทุนช่วงครึ่งหลัง ก.ย. และขายต้น พ.ย. คาดหวังจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 5.0%

ดิจิทัลหมื่นบาทมาแล้ว มีหุ้นอะไรได้ประโยชน์?

ดิจิทัลหมื่นบาทมาแล้ว มีหุ้นอะไรได้ประโยชน์?

          หุ้นวิชั่น - บล. DAOL เผยคาดใช้จ่ายกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมากสุดหลังเริ่มแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท           วานนี้ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เริ่มจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิรับเงิน 10,000 บาท ตามโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล โดยมีการเริ่มทยอยโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์และบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้ให้กับผู้มีสิทธิ์ และจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. นี้ รวม 6 วัน จำนวน 14.5 ล้านราย หรือคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 145,000 ล้านบาท จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภคและอุปโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ ของใช้ในบ้าน, สินค้าเพื่อการศึกษา, สินค้าเพื่อการเกษตร, สินค้าไอที โทรศัพท์มือถือ DAOL: คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม Commerce เป็น "มากกว่าตลาด"           โครงการแจกเงิน 10,000 บาทจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม โดยคาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ซึ่งจะช่วยหนุนและเป็นบวกต่อหุ้นในกลุ่ม Commerce โดยตรง เรายังมองเป็นบวกต่อกลุ่ม Commerce ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมได้ โดยจะเป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อการบริโภคโดยรวมของกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคสูง           ฝ่ายวิเคราะห์ ชอบ CPAXT (ซื้อ/เป้า 36.00 บาท), CPALL (ซื้อ/เป้า 84.00 บาท) และ CRC (ซื้อ/เป้า 40.00 บาท) ตามลำดับ จากการคาดการณ์การใช้จ่ายจะอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก           รองมาเป็นกลุ่ม Home Improvement HMPRO (ซื้อ/เป้า 15.00 บาท), GLOBAL (ถือ/เป้า 16.00 บาท) และ DOHOME (ถือ/เป้า 11.00 บาท) จากจำนวนสาขาที่มีในพื้นที่ที่มีผู้ได้รับสิทธิ์มากที่สุด ตามลำดับ หุ้นอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์           และยังชอบกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยตรง คือ NEO (ซื้อ/เป้า 64.00 บาท) มีสัดส่วนรายได้จากสินค้าอุปโภค 100%, OSP (ซื้อ/เป้า 28.00 บาท) มีสัดส่วนรายได้สินค้าอุปโภคที่ 9% ของรายได้รวม และ SFLEX (ซื้อ/เป้า 4.80 บาท) ได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้ flexible packaging เพิ่มขึ้น, CBG (ซื้อ/เป้า 88.00 บาท) กลุ่มเปราะบางเป็นลูกค้าหลักของเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์คาราบาวแดง คาดช่วยหนุนรายได้เครื่องดื่มชูกำลังในประเทศใน 4Q24E โตต่อ YoY, QoQ