#GC


GC, OR และ TG ผนึกกำลัง! ผลักดัน SAF ขับเคลื่อนการบิน

GC, OR และ TG ผนึกกำลัง! ผลักดัน SAF ขับเคลื่อนการบิน

หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงาน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC, บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TG ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อผลักดันการใช้ด้านเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ภายใต้พันธกิจร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบิน สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลกที่กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่คาร์บอนต่ำ ความร่วมมือระหว่าง GC, OR และ TG ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการวิจัยและพัฒนาการผลิต รวมถึงส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิง SAF ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบจากของเสียทางการเกษตร การตรวจสอบคุณภาพเชื้อเพลิง ไปจนถึงการจำหน่าย และการใช้ในการชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการขยายการใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมการบินไทย อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงการนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) มาปฏิบัติจริง ผลิตภัณฑ์ SAF ไม่เพียงแต่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของการเดินทางทางอากาศ แต่ยังเสริมสร้างการตระหนักรู้ในระดับสากลถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ           คุณทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ GC เปิดเผยว่า GC ภูมิใจที่ได้เป็นองค์กรผู้บุกเบิกการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) โดยใช้การแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ร่วมกับน้ำมันดิบ ภายใต้โครงการ Biorefinery เป็นรายแรกของประเทศ  ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโรงกลั่นชีวภาพ GC จึงสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการผลิต SAF ในระดับเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ โดยในระยะแรกมีกำลังการผลิต 5,000 ตัน หรือ 6 ล้านลิตรต่อปี และจะขยายเป็น 25,000 ตัน หรือ 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15,000 ตันต่อปีในระยะแรก และ 60,000 ตันต่อปีในระยะที่สอง  กระบวนการนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการแปรรูปวัสดุชีวภาพ แต่ยังสร้างความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินไทยจะสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และมีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน เรามั่นใจว่าการนำนวัตกรรมนี้มาใช้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์ความท้าทายด้านพลังงานในยุคปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ           คุณสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท OR เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังระหว่าง OR ในฐานะผู้นำการจำหน่ายน้ำมันอากาศยานของไทย และการบินไทย (TG) ในฐานะสายการบินชั้นนำ รวมทั้ง GC ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล โดย OR มีความมั่นใจในความสามารถที่จะให้บริการด้านการจำหน่าย การจัดส่ง และรองรับเทคโนโลยีเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) โดย OR และ GC ได้ร่วมพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับการผสม SAF โดยนำกระบวนการ Co – Processing ของ GC มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินเป็นครั้งแรกเพื่อรองรับนโยบายการบังคับใช้ SAF ของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งของ OR ที่ครอบคลุมการจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วประเทศ OR จึงมีความพร้อมในการจัดส่ง SAF ไปยังทุกภูมิภาคของประเทศไทย และด้วยความร่วมมือร่วมกับการบินไทย (TG) เพื่อใช้ SAF ในเที่ยวบินของการบินไทยทั้งเส้นทางบินในประเทศและต่างประเทศ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ธุรกิจยั่งยืน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อแสดงถึงการตระหนักในความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการร่วมลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศตามข้อบังคับของ ICAO ในอนาคต รวมทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจของ OR ที่มุ่งสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2608   คุณเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย  เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะ         อย่างยิ่ง เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ถือเป็นทางเลือกที่สำคัญในการช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่ต้องการบรรลุ Net Zero ภายในปี พ.ศ.2593  การบินไทยในฐานะสายการบินชั้นนําของประเทศไทยจะได้ทํางานเคียงข้างกับ OR และ GC  โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะเทคโนโลยีในการผลิต การใช้งาน และการรักษาคุณภาพของเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน รวมถึงการทํางานร่วมกันในการพิจารณาโครงการใหม่ๆ ในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก สําหรับการดำเนินธุรกิจอากาศยานของไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินไทยให้ก้าวไปข้างหน้าในทิศทางที่ยั่งยืน ความร่วมมือในการผลักดันการใช้ SAF ของ GC, OR และ TG ไม่เพียงเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการบินไทย แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดผลกระทบต่อโลก พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคธุรกิจทั่วโลกในการร่วมมือเพื่อการเติบโตอย่างสมดุล ด้วยความตั้งใจที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว สามองค์กรชั้นนำนี้ยังตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมพลังงานและการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะไม่หยุดเพียงแค่ SAF แต่ยังขยายไปสู่การสำรวจและพัฒนาโครงการพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินในอนาคต เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และนวัตกรรมด้านพลังงานที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นผู้นำในความพยายามสร้างโลกที่ดีขึ้นให้กับทุกคน

[PR News] GC จับมือ OR ร่วมพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

[PR News] GC จับมือ OR ร่วมพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

          30 กันยายน 2567 - กรุงเทพมหานคร: บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ลงนามบันทึกข้อตกลงในความร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อศึกษาโอกาสทางการตลาดและกลยุทธ์การขายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืนของประเทศไทย           GC มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2593 พร้อมผสานแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ควบคู่การกับพัฒนาธุรกิจ จึงเกิดการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ผสานเทคโลยีการกลั่น ขั้นสูงสู่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งถือเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable & Sustainable Energy ที่มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม           OR กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Energy Solution Provider ด้วยแนวทางการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขยายสู่อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่สามารถผสมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF เข้ากับน้ำมัน JET โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เป็นหลักการเดียวกับการผสมเอทานอลกับน้ำมันเบนซิน หรือ การผสมไบโอดีเซลกับน้ำมันดีเซล ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาคการบินทั้งสายการบินในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง SAF เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ.2608           นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า GC ในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญด้านโรงกลั่นน้ำมัน โดยเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพโรงกลั่นสู่การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืนหรือ SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้ว การบุกเบิกผลิตภัณฑ์ SAF ในเชิงพาณิชย์ สู่อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งความร่วมมือระหว่าง GC และ OR ในฐานะผู้นำด้านการตลาดและการจำหน่ายน้ำมันอากาศยานของไทย จะเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้สำเร็จ           นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า "ความร่วมมือระหว่าง OR และ GC ในครั้งนี้ OR ในฐานะผู้นำการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานของไทย มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกับ GC ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนระดับสากล เพื่อศึกษาและนำน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) จากกระบวนการ Co-Processing ของ GC มาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้สายการบินทั้งในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศได้ใช้ SAF เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2608 และยังเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานของ ICAO และ IATA ในอนาคต นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายการเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solution Provider) ของ OR เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไป           GC และ OR ผนึกกำลังผสานจุดแข็งร่วมกันเพื่อยกระดับศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่การเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ในกลุ่ม ปตท. และร่วมผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ส่งผลให้ตอบสนองความต้องการของตลาดในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

[PR News] GC ผนึก 12 สถาบันการเงินเตรียมออกหุ้นกู้

[PR News] GC ผนึก 12 สถาบันการเงินเตรียมออกหุ้นกู้

          เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ และนางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พร้อมกับผู้บริหารสถาบันการเงิน 12 แห่ง เข้าร่วมพิธีแต่งตั้งผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท หรือ Perpetual Bond           นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ CEO GC ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล และแกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. กล่าวว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมการออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไข (“หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน”) ต่อผู้ลงทุนทั่วไป (Public Offering) เพื่อสนับสนุนโครงสร้างทางการเงินของกลุ่มบริษัท GC ให้แข็งแกร่ง เสริมสร้างธุรกิจและต่อยอดการเติบโตของบริษัทในอนาคต           นายณะรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นครั้งแรกของ GC ที่ออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน และเป็นการออกหุ้นกู้ประเภทนี้ในประเทศไทยในรอบ 10 ปี ของกลุ่ม ปตท. ซึ่งการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการ #ก้าวต่อไปกับการเติบโตที่ยั่งยืนของ GC นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายฐานผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยของ GC และเพิ่มทางเลือกการลงทุนที่มั่นคงและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป           หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่จะเสนอขายในครั้งนี้ ทาง GC สามารถใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดได้เมื่อหุ้นกู้มีอายุครบ 5 ปี 6 เดือน เป็นต้นไป มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยและวันจองซื้อที่แน่นอน โดยทาง GC จะแจ้งให้ทราบต่อไป สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป สามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารกสิกรไทย บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัทหลักทรัพย์กรุงไทย เอ็กซ์สปริง บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ธนาคารทหารไทยธนชาต และบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) ซึ่งทาง GC มั่นใจว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของ GC จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุน ด้วยพื้นฐานธุรกิจ ความแข็งแกร่งทางการเงินของ GC และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อการตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของ GC ในครั้งนี้           การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสของผู้ลงทุนที่จะลงทุนในหุ้นกู้ของ GC ซึ่งเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนในระดับสากล โดย GC เป็นบริษัทหนึ่งเดียวในโลกที่ได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ในกลุ่ม World Index ให้เป็นที่ 1 ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ด้วยคะแนนสูงสุด 5 ปีต่อเนื่อง โดย S&P Global ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนในระดับสากล ด้วยการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงดุลยภาพของสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Governance & Economic) (ESG) ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ พร้อมมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 สอดคล้องกับความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ           ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของ GC อยู่ที่ระดับ “AA(tha)” แนวโน้ม “มีเสถียรภาพ” เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567  และอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่เสนอขายในครั้งนี้อยู่ที่ระดับ “A+(tha)” จัดอันดับโดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 นอกจากนี้ GC จะเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่จะสามารถนำหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไปนับเป็นส่วนของทุนของบริษัท สำหรับการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกทั้ง Moody’s Investors Service S&P Global Ratings และ Fitch Ratings Inc. ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความแข็งแกร่งของ GC ในระดับสากล โดย GC จะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนครั้งนี้เพื่อใช้ชำระคืนหนี้สินสกุลเงินบาทและสกุลเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ ผู้สนใจสามารถติดต่อจองซื้อ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา (ยกเว้นสาขาไมโคร) หรือ โทร. 1333 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร. 02-626-7777 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา โทร. 02-888-8888 กด 869 และรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โทร. 02-165-5555 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่านแอปฯ Dime! และรวมถึง ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร. 02-111-1111 หรือจองซื้อออนไลน์บนแอปพลิเคชัน Krungthai Next ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร. 02-777-6784 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่านแอป SCB EASY และรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด โทร. 02-680-4004 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร.1572 บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด โทร. 02-695-5000 บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โทร. 02-658-5050 ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร. 1428 กด #4 (เปิดจองซื้อเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น) และรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 02-009-8351-56 หมายเหตุ: แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. การจัดสรรหุ้นกู้ดังกล่าวให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ตามแต่จะเห็นสมควร คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดได้จากแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ www.sec.or.th