#FSMART


[Vision Exclusive] FSMART การเงินฮอต! จับตา

[Vision Exclusive] FSMART การเงินฮอต! จับตา"คุณสู้ เราช่วย"

          หุ้นวิชั่น - FSMART จับตามาตรการ "คุณสู้ เราช่วย" คาดธุรกิจสินเชื่อเข้าเกณฑ์มาตรการที่สอง มูลหนี้ NPL ไม่เกิน 30 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อราว 1,000 ล้านบาท เชื่อช่วยหนุนรากหญ้ามีสภาพคล่องเพิ่ม พร้อมลุ้นธุรกิจหลายภาคส่วนฟื้นตัวหลังการจับจ่ายใช้สอยกระเตื้อง           นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “FSMART” เปิดเผยกับ ทีมข่าวหุ้นวิชั่น ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการจ่ายตรงคงทรัพย์ และมาตรการจ่ายปิดจบ โดยลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมได้จะต้องทำสัญญาสินเชื่อก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และมีสถานะเป็นลูกหนี้ค้างชำระระหว่าง 31-365 วัน ส่วนการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมมาตรการสามารถทำได้ผ่าน ธปท. ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568           สำหรับมาตรการจ่ายปิดจบ จะครอบคลุมหนี้ที่มียอดรวมไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยเฉพาะลูกหนี้ NPL บุคคลธรรมดาในทุกประเภทสินเชื่อที่มีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งลูกหนี้จะต้องชำระบางส่วนเพื่อเป็นการปิดบัญชี โครงการดังกล่าวจะช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกคือผู้ที่มีหนี้จำนวนมาก เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ และกลุ่มที่สองคือหนี้ NPL ที่ไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งคาดว่าธุรกิจสินเชื่อของ FSMART จะเข้าข่ายในกลุ่มที่สอง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องติดตามเกณฑ์หรือกติกาของกลุ่ม Non-Bank ว่าจะมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรต่อไป           จากการประเมินกลุ่มลูกหนี้ของ FSMART ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท และคาดว่ามีหนี้ NPL ที่สามารถเข้าร่วมโครงการช่วยเหลืออยู่ประมาณ 20-30 ล้านบาท หากโครงการสามารถเดินหน้าตามแผนได้ จะช่วยให้ลูกหนี้หรือผู้บริโภคสามารถปรับสภาพคล่องทางการเงินได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นกลุ่มรากหญ้าให้มีเงินเหลือสำหรับการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจในหลายภาคส่วนฟื้นตัวตามไปด้วย           จากโครงการที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดจะสนับสนุนการเติบโตในหลายภาคส่วน ขณะที่แนวโน้มธุรกิจของ FSMART คาดจะเติบโตต่อเนื่องต่อเนื่องจากปี 2567 ทั้ง 3 กลุ่ม ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ ธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร ธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า           คาดการณ์ว่าในปี 2568 ธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติจะมีแนวโน้มการใช้บริการทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2567 แต่บริษัทคาดว่าจะเห็นอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการหมดภาระค่าเสื่อมราคาของ ตู้บุญเติม ที่ดำเนินการมาต่อเนื่องถึง 8 ปี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในธุรกิจนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลเชิงบวกต่อผลกำไรสุทธิของบริษัทในภาพรวม           บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรในปี 2568 โดยคาดว่าการปล่อยสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% จากปี 2567 ปัจจัยหนุนการเติบโตมาจากการขยายฐานลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงกลุ่มลูกค้าบริษัทที่มีพนักงานเกิน 1 ล้านราย ซึ่งบริษัทเล็งเห็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพในการใช้บริการทางการเงิน           ส่วนธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า คาดว่าปี 2568 จำนวนตู้ “เต่าบิน”จะเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันมีตู้ให้บริการ 6,983 จุดทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ยอดขายจากตู้ดังกล่าวคาดว่าจะเติบโตสอดคล้องกับจำนวนตู้ที่เพิ่มขึ้น รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

[Vision Exclusive] FSMART สินเชื่อติดเทอร์โบ ‘เต่าบิน’ ตู้ไฮเทคโตแรง

[Vision Exclusive] FSMART สินเชื่อติดเทอร์โบ ‘เต่าบิน’ ตู้ไฮเทคโตแรง

          หุ้นวิชั่น – รู้หรือไม่! FSMART ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร “บุญเติม” และให้บริการชำระเงินผ่านเครือข่ายตู้อัตโนมัติและดิจิทัลในประเทศไทย พร้อมมีศักยภาพที่จะเติบโตในระยะยาวในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล           นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ“FSMART” เปิดเผยกับ ทีมข่าวหุ้นวิชั่น ว่า  ในไตรมาส 3/2567 และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ โดยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มธุรกิจการเงินครงวงจร โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อ ยอดการให้วงเงินสินเชื่อคงค้าง  อยู่ที่ 904.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราหนี้เสีย (NPL) อยู่ในระดับต่ำที่ 3.13%           สำหรับแนวโน้มในปี 2567 FSMART ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมแตะระดับ 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีฐานลูกค้าสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 100,000 ราย ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ธุรกิจสินเชื่อถือเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผลประกอบการของ FSMART ในปีนี้ และบริษัทยังคงมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าและพัฒนาธุรกิจทางการเงินเพื่อรองรับความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น           ขณะที่ทิศทางธุรกิจในไตรมาสสุดท้าย หรือไตรมาส 3/2567 คาดแนวโน้มจะเติบโตได้ในทุกๆธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ ธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร ธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า           สำหรับธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติไตรมาส 4/2567 คาดจะเห็นภาพการเติบโตขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 (กลุ่มผู้สูงอายุ) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย หรือใช้บริการผ่านตู้เติมเงินและกาชำระเงินอัตโนมัติ บริการมูลค่าใช้บริการผ่านช่องทางของบริษัทเพิ่มขึ้น 5-10% จากปีก่อน           ส่วนธุรกิจการเงินครบวงจร บริษัทจะขยายฐานกลุ่มธุรกิจการเงินและสินเชื่อครบวงจรกับกลุ่มลูกค้าอื่น นอกหนือจากกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านราย ขณะที่บริษัทยังคงยืนหยัดในธุรกิจเติมเงินและระบบรับชำระเงินอัตโนมัติอย่างแข็งแกร่ง ด้วยบริการครอบคลุมเข้าสู่ชุนชน 120,391  จุดทั่วประเทศ พร้อมบริการทางการเงินครบวงจรทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ลูกค้าเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยรักษาฐานลูกค้าเดิม และเพิ่มลูกค้าใหม่ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการขายที่น่าสนใจ และบริการใหม่ที่อัพเดตอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป           และธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า “ตู้เต่าบิน” ปัจจุบันมีตู้ให้บริการ 6,983 จุดทั่วประเทศ โดยมีแผนขยายการติดตั้งตู้ที่อัพเกรดประสิทธิภาพการให้บริการ ลดระยะเวลาเข้าเติมวัตถุดิบและให้บริการเครื่องดื่มได้มากขึ้น พร้อมรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ และจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายดึงดูดลูกค้าใหม่มาใช้บริการมากขึ้น ซึ่ง FSMART ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน  (Equity Income Method) จากการถือหุ้น 26.71% ในบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด เจ้าของ “เต่าบิน” เช่นเดิม           พร้อมกันนี้ ยังเดินหน้าขยายการติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA Change Point เพิ่มเติมมากกว่า 210 จุดทั่วประเทศในขณะนี้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ซึ่งการติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้ายังเป็นไปเทรนด์ของยอดผลิต และใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละปี           นาย ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางในปี 2568 เชื่อว่าโดยรวมยังเติบโตได้ ซึ่งการเติบโตจะมาจากการขับเคลื่อนธุรกิจทั้ง 3 ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ ธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร ธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า           คาดการณ์ว่าในปี 2568 ธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติจะมีแนวโน้มการใช้บริการทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2567 แต่บริษัทคาดว่าจะเห็นอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการหมดภาระค่าเสื่อมราคาของ ตู้บุญเติม ที่ดำเนินการมาต่อเนื่องถึง 8 ปี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในธุรกิจนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลเชิงบวกต่อผลกำไรสุทธิของบริษัทในภาพรวม           บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรในปี 2568 โดยคาดว่าการปล่อยสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% จากปี 2567 ปัจจัยหนุนการเติบโตมาจากการขยายฐานลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงกลุ่มลูกค้าบริษัทที่มีพนักงานเกิน 1 ล้านราย ซึ่งบริษัทเล็งเห็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพในการใช้บริการทางการเงิน           ส่วนธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า คาดว่าปี 2568 จำนวนตู้ “เต่าบิน”จะเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันมีตู้ให้บริการ 6,983 จุดทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ยอดขายจากตู้ดังกล่าวคาดว่าจะเติบโตสอดคล้องกับจำนวนตู้ที่เพิ่มขึ้น รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision