#EGCO


GUNKUL-BGRIM ปลื้มได้ไฟเพิ่ม รัฐสั่งลุยไฟฟ้าทดแทน 2.1 พัน MW

GUNKUL-BGRIM ปลื้มได้ไฟเพิ่ม รัฐสั่งลุยไฟฟ้าทดแทน 2.1 พัน MW

          กกพ. ไฟเขียวผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 2,145 MW ด้าน GUNKUL กวาด 7 โครงการ 319 MW ดันกำลังการผลิตเพิ่ม ปักหมุดรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท ส่วน EGCO คว้าสิทธิ 11 โครงการ 448 MW ฟาก BGRIM รับ 60 MW เสริมฐานพลังงานหมุนเวียน ส่วน EA ได้เพิ่ม 90 MW หนุนแผนขยายธุรกิจ จ่อทยอย SCOD ปี 2569-2573 โบรกมอง GUNKUL เด่นสุด เนื่องจากกำลังผลิตที่ได้รับคัดเลือกในรอบดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของกำลังผลิตทั้งหมดในปัจจุบัน           สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประชุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 72 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 2,145.4 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นพลังงานลม จำนวน 8 ราย รวม 565.40 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ตั้งแต่ปี 2571-2573 และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย รวม 1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ 2569-2573           โดยมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ให้การไฟฟ้าคู่สัญญาแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 14 วันนับถัดจากวันที่สำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อ และกลุ่มที่ 2 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่มีรูปแบบการเชื่อมต่อสถานีไฟฟ้าเดียวกัน ตกลงรูปแบบการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายตามหลักการแบ่งปันสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน (Common Facilities Sharing) และยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่ประกาศผลการคัดเลือก           นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในปี 2568 เชื่อว่ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2567 เนื่องจากภาพรวมตลาดยังมีศักยภาพ ทั้งงานจากโครงการพลังงานทดแทนรอบใหม่ และงานของภาครัฐที่มีงบลงทุนด้านพื้นฐานเพิ่มเติมตามความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากประมาณการรายได้ปี 2567 ที่คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตตามเป้า 15% จากปีก่อน ซึ่งปัจจุบันถือว่าใกล้เคียงแล้ว หลัก ๆ การเติบโตยังคงมาจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) และเทรดดิ้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า           ทั้งนี้ ปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้างานในมือจากธุรกิจ EPC ไว้ที่ประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าวางเป้ากำลังการผลิตเติบโต 35% ใน 2 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่กว่า 1,500 เมกะวัตต์           โดยล่าสุดสำนักงาน กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 กำลังการผลิตที่เสนอขายรวม 2,145 เมกะวัตต์ ซึ่งกลุ่มบริษัทย่อยที่ GUNKUL ถือหุ้นทางตรงผ่านบริษัท กันกุล วิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี 9 จำกัด ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 319 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 284 เมกะวัตต์ และโซลาร์กำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ โดยจะทยอย COD ตั้งแต่ปี 2570-2573 ส่งผลทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็นประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งเป้าหมายของบริษัทฯ คือการมีเมกะวัตต์สะสมเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2569 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าพลังงานลม           ขณะที่โครงการพลังงานหมุนเวียนจำนวน 832 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าวินด์ฟาร์ม ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปก่อนหน้านี้ จะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตั้งแต่ปี 2569-2573 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 38,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังมีเงินลงทุนเพียงพอ และปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนยังอยู่ในระดับต่ำ พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง           “ตามที่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้บริษัทในกลุ่มของ GUNKUL ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการขายสินค้าในระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและรับเหมาก่อสร้างจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมไปด้วย โดยเฉพาะงานรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับโอกาสทำสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมองว่าในอนาคตหากประเทศไทยมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและต้องการมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น GUNKUL ก็ยังมีโอกาสในการที่จะเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้น รวมถึงภาคเอกชนที่ตอนนี้ก็หันมาใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจโซลาร์ที่เป็น Private PPA ของ GUNKUL จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน” นางสาวโศภชา กล่าวในที่สุด           ส่วน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผ่านการคัดเลือกกว่า 60 เมกะวัตต์ ขณะที่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผ่านการคัดเลือก 90 เมกะวัตต์           บล. หยวนต้า ระบุว่า โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้น บริษัทในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกมากที่สุดคือ EGCO (ได้รับคัดเลือก 11 โครงการ ขนาดรวม 448 MW และเป็นโครงการแสงอาทิตย์ทั้งหมด) ตามมาด้วย GUNKUL (ได้รับคัดเลือก 7 โครงการ ขนาดรวม 319 MW แบ่งออกเป็นโครงการลม 4 โครงการ ขนาดรวม 284 MW และโครงการแสงอาทิตย์ 3 โครงการ ขนาดรวม 35 MW) มองว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดคือ GUNKUL ([email protected]) เนื่องจากกำลังผลิตที่ได้รับคัดเลือกในรอบดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของกำลังผลิตทั้งหมดในปัจจุบัน (ทั้งที่ COD แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

EGCO เดินหน้ากลยุทธ์ 'Triple P' ทุ่มงบ 30,000 ล้าน/ปี มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2593

EGCO เดินหน้ากลยุทธ์ 'Triple P' ทุ่มงบ 30,000 ล้าน/ปี มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2593

          EGCO Group ประกาศขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กลยุทธ์ “Triple P” ระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) มุ่งเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และกำไร เน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก และแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2583 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2593 จะบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)           ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ในยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน EGCO Group ได้ทบทวนและปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) โดยมีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่ง 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรอย่างยั่งยืน การบรรลุเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ และการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้จะขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ “Triple P” 3 ด้าน ได้แก่ • Profitability and Performance Energizing เพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อดูแลอัตราส่วนหนี้สินและรักษาอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ถือหุ้น ด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ • Power and Energy-related Focus เน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักและรากฐานความแข็งแกร่งของ EGCO Group ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผ่านการลงทุนทั้งรูปแบบ M&A และ Greenfield ตลอดจนแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยต่อยอดการลงทุนในประเทศที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว 8 ประเทศ ด้วยการตั้งงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท • Portfolio and People Management บริหารจัดการพอร์ตการลงทุนและทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นสร้างความเป็นเลิศในกระบวนการดำเนินงาน (Operational Excellence) ให้ความสำคัญกับการบริหารสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์เพื่อนำรายได้ไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ (Asset Recycling) ที่จะสร้างการเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในระดับสากล ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อรองรับโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต           “EGCO Group” เชื่อมั่นว่า กลยุทธ์ “Triple P” จะตอบโจทย์การเติบโตขององค์กรอย่างอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างโอกาสทางธุรกิจ ผลการดำเนินงานที่แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และการบรรลุเป้าหมายเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น ภายในปี 2573 เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2583 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2593 จะบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)” ดร.จิราพร กล่าว           สำหรับการดำเนินงานในปี 2568 ECGO Group เดินหน้าลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตั้งงบลงทุน 30,000 ล้านบาท การเติบโตทางธุรกิจในปีหน้าจะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากโครงการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ การรับรู้รายได้เต็มปีจากการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐอเมริกา และจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย จ.ระยอง การรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวัน การรับรู้รายได้จากการขายโครงการพลังงานหมุนเวียนและการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ APEX ในสหรัฐอเมริกา การเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสปิดดีลโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ทันที           ดร.จิราพร ยังกล่าวถึงผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนของปี 2567 ว่า “ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,604 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,463 ล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรจากการดำเนินงาน 7,014 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,518 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ และกลุ่มโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ EGCO Group ยังสามารถผลักดันโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้มีความก้าวหน้าตามเป้าหมาย โดยเฉพาะ Yunlin ที่ติดตั้งเสากังหัน (Monopiles) และกังหันลม (Wind Turbine Generators - WTGs) ครบ 80 ต้น เรียบร้อยแล้ว และได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 68 ต้น คิดเป็นกำลังผลิต 544 เมกะวัตต์ บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบ 640 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้” [PR News]

EGCO โชว์กำไร Q3/67 กว่า 3,600 ลบ. แรงหนุนจากกลุ่มโรงไฟฟ้าต่างประเทศ

EGCO โชว์กำไร Q3/67 กว่า 3,600 ลบ. แรงหนุนจากกลุ่มโรงไฟฟ้าต่างประเทศ

          หุ้นวิชั่น - บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,604 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,463 ล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรจากการดำเนินงาน 7,014 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,518 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ และกลุ่มโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ EGCO Group มั่นใจจะสามารถปิดจ๊อบ Yunlin พร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบ 640 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้ ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า “ภาพรวมการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 EGCO Group ได้สร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่อยู่ใน Portfolio อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนสามารถผลักดันโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้มีความก้าวหน้าตามเป้าหมาย โดยเฉพาะ Yunlin โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน ที่ติดตั้งเสากังหัน (Monopiles) และกังหันลม (Wind Turbine Generators - WTGs) ครบ 80 ต้น เรียบร้อยแล้ว และได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 67 ต้น คิดเป็นกำลังผลิต 536 เมกะวัตต์ บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบ 640 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้” สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 EGCO Group มีรายได้รวม 12,354 ล้านบาท ในขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,604 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากผลประกอบการของโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ได้แก่ Paju ES ในเกาหลีใต้ Nam Thuen 2 ใน สปป.ลาว และ Quezon ในฟิลิปปินส์ โดยในไตรมาสนี้ EGCO Group มีกำไรสุทธิ 2,463 ล้านบาท ด้านผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 EGCO Group มีรายได้รวม 35,225 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 7,014 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5,518 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักนอกจากโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ได้แก่ Paju ES ในเกาหลีใต้ Nam Thuen 2 ใน สปป.ลาว และ Quezon ในฟิลิปปินส์ แล้ว ยังเสริมด้วยโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Linden Cogen และ Compass ตลอดจน APEX ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ ที่รับรู้รายได้จากการขายโครงการ “ผลประกอบการของ EGCO Group ดังกล่าว สะท้อนถึงศักยภาพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดไฟฟ้าและพลังงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นหนึ่งในฐานธุรกิจที่สำคัญของ EGCO Group โดยบริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีข้อได้เปรียบจากการมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทที่ “มุ่งมั่นเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน” ดร.จิราพร กล่าว เกี่ยวกับ EGCO Group ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 EGCO Group มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 7,019 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,463 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด) ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าและโครงการต่างๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด “ESCO” ให้บริการงานเดินเครื่อง บำรุงรักษา วิศวกรรม ก่อสร้าง อนุรักษ์พลังงาน และการฝึกอบรมแก่โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค “CDI” ในอินโดนีเซีย ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “TPN” โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง “ERIE” บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม “Innopower” และบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน “Peer Power” ทั้งนี้ EGCO Group ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Dow Jones Sustainability Index (DJSI) มา 4 ปีต่อเนื่อง (2563-2566) สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ EGCO Group เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.egco.com และ www.facebook.com/EGCOGroup

EGCO ขายหุ้น 49% ใน RISECปรับพอร์ตลงทุน หาโอกาสโตระยะยาว

EGCO ขายหุ้น 49% ใน RISECปรับพอร์ตลงทุน หาโอกาสโตระยะยาว

          บริษัท ผลิตไฟฟ้า จํากัด (มหาชน) หรือ EGCO ใคร่ขอเรียนให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทราบว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 EGCO RISEC II, LLC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ EGCO ถือหุ้นทั้งหมดและ จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Shell Energy North America (US). L.P.(“SENA”) Cogentrix RISEC CPOCP Holdings, LLC และ Cogentrix RISEC CPP II Holdings, LLC ซึ่งสองบริษัทหลังเป็นบริษัทย่อยของ Carlyle Group (รวมเรียกว่า “Carlyle”) เพื่อขายเงินลงทุนของ EGCO RISEC II,LLC ในสัดส่วนร้อยละ 49 ใน RISEC Holdings, LLC (“RISEC”) ให้แก่ SENA (“การเข้าทํารายการ”) ในขณะเดียวกัน Carlyle จะขายหุ้นของตน ในสัดส่วนร้อยละ 51 ให้แก่ SENA ดังนั้น หากการทํารายการดังกล่าวแล้วเสร็จ SENA จะเป็นเจ้าของ RISEC ในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่ EGCO และ Carlyle จะสิ้นสุดการเป็นผู้ถือหุ้นของ RISEC การเข้าทํารายการดังกล่าวได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ในการประชุมครั้งที่ 11/2567เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 โดยคาดว่าจะดําเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 หลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกํากับดูแลที่เกี่ยวข้องการขายเงินลงทุนในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์การบริหารพอร์ตการลงทุนของ EGCO ซึ่งทําให้ EGCO สามารถนํารายได้จากการเข้าทํารายการ เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะสร้างความเติบโตให้แก่ EGCO ในระยะยาว อีกทั้งยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของบริษัท RISEC เป็นเจ้าของ Rhode Island State Energy Center, LP ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาด 609 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เมืองจอห์นสตัน รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา โรงไฟฟ้า RISEC จําหน่ายไฟฟ้าในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE) และ ทําสัญญาขายกําลังการผลิตพร้อมจ่ายทั้งหมดและให้บริการเสริมความมั่นคงและระบบไฟฟ้า blackstart กับ ISO-NE อีกทั้งโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้ทําสัญญาจําหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดพร้อมทั้งให้บริการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าอื่น ๆ กับ SENA ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบรับจ้างแปลงพลังงาน (Energy Tolling Agreement)           การเข้าทํารายการดังกล่าวไม่ใช่รายการเกี่ยวโยงกัน และไม่เข้าข่ายที่ต้องรายงานสารสนเทศ ตามหลักเกณฑ์การทํารายการที่มีนัยสําคัญในการได้มาหรือจําหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน โดยเกณฑ์มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทนที่ได้รับ เปรียบเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์รวมของบริษัท ตามงบการเงินของ EGCO ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีขนาดน้อยกว่าร้อยละ 15 จึงไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ขั้นตอน และการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศการทํารายการที่มีนัยสําคัญในการได้มาหรือจําหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวเป็นการรายงานในกรณีที่บริษัทยกเลิกการเข้าร่วมทุนกับบริษัทอื่นโดยสัดส่วนของการยกเลิกร่วมทุนตั้งแต่ร้อยละ 10 ของทุนที่ชําระแล้วของบริษัทร่วมทุน

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

EGCO ติดตั้งกังหันลม Yunlin จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 640 MW สิ้นปีนี้

EGCO ติดตั้งกังหันลม Yunlin จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 640 MW สิ้นปีนี้

          บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เฮลั่น! แจ้งความก้าวหน้าของ Yunlin โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน ติดตั้งกังหันลม (Wind Turbine Generators - WTGs) ครบ 80 ต้น เรียบร้อยแล้ว ลุยเชื่อมระบบจ่ายไฟฟ้าครบทุกต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ สิ้นปีนี้           ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า “การก่อสร้าง Yunlin มีความก้าวหน้าตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ติดตั้งกังหันลมซึ่งทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าครบทั้งหมด 80 ต้น เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้วางสายเคเบิลเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 78 เส้น จาก 81 เส้น ความก้าวหน้าของ Yunlin เป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการบริหารโครงการและการวางแผนการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสนับสนุนของรัฐบาลไต้หวันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน EGCO Group มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า Yunlin จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบทั้งหมดสิ้นปีนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะสร้างกระแสเงินสดให้ EGCO Group เฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการ”           EGCO Group ถือหุ้น 26.56% ในโครงการ Yunlin กำลังผลิตสุทธิรวม 640 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวัน ห่างจากชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของมณฑลหยุนหลิน ในไต้หวัน เป็นระยะทางประมาณ 8-30 กิโลเมตร และครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 90 ตารางกิโลเมตร โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี กับ Taipower (Taiwan Power Company) ปัจจุบันกังหันลมที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วได้จ่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าไต้หวันแล้วมากกว่า 1,600 กิกะวัตต์ชั่วโมง เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับครัวเรือนไต้หวันได้มากกว่า 600,000 หลังคาเรือน [PR News]