#EA


EA ตัดขายอีเอโซล่า 8 พันล. หนุนการเงิน

EA ตัดขายอีเอโซล่า 8 พันล. หนุนการเงิน

          หุ้นวิชั่น - EA แผนจำหน่ายทรัพย์สินโครงการโรงไฟฟ้า ESP ไม่ต่ำกว่า 8,000.00 ล้าน คาดเจรจาเงื่อนไขเสร็จใน มี.ค.-เม.ย. 2568 หวังลดภาระหนี้ 4.3 พันลบ. พร้อมเสริมสภาพคล่องและลงทุนในโครงการใหม่ โบรกมองกำไรหด 30-44% ปี 69 หลังหมด Adder โซลาร์เม.ย.68 ตาม โบรกเผย โครงการดังกล่าวจะสิ้นสุด Adder 6.5 บาท/หน่วย ในเดือนเมษายน 2569 ดังนั้น เบื้องต้นภายใต้สมมติฐานการจำหน่ายโครงการดังกล่าวออกไปทั้ง 100% จะส่งผลให้ปี 2569 คาดว่า EA จะมีกำไรปกติลดลงราว 30%-44%           นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ที่ประชุมฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าทำรายการจำหน่ายทรัพย์สินในโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท อีเอ โซล่า พิษณุโลก จำกัด (“ESP”) รวมถึงอนุมัติกรอบและหลักการเกี่ยวกับการจำหน่ายสินทรัพย์ดังกล่าว ในการจำหน่ายทรัพย์สินนี้อาจอยู่ในรูปแบบการจำหน่ายหุ้นสามัญใน ESP ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการโอนทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดของโครงการโรงไฟฟ้า ESP หรือการโอนสิทธิหรือผลประโยชน์จากการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของ ESP ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด           โดยมีมูลค่าการเสนอขาย (1) ตามมูลค่ากิจการ (Enterprise Value) หรือ (2) ตามมูลค่าเสนอขายโครงการ โดยมูลค่าการเสนอขายดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่า 8,000.00 ล้านบาท ให้กับบุคคล และ/หรือ นิติบุคคล รายหนึ่งหรือหลายราย โดยกลุ่มบุคคล และ/หรือนิติบุคคลดังกล่าวต้องมีจำนวนรวมกันไม่เกินสิบราย (รวมเรียกว่า “ผู้ลงทุน”) และไม่ใช่บุคคลที่เกี่ยวโยงกันกับบริษัทฯ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 21/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ. 2546 (รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) (“ประกาศรายการเกี่ยวโยงกัน”) เพื่อเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการทางการเงินและชำระหนี้สินของบริษัทฯ (รวมเรียกว่า “ธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สิน”) ทั้งนี้ ESP เป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดพิษณุโลก และมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ลงทุน รวมทั้งการพิจารณากำหนดรูปแบบการเข้าทำรายการ โดยอาจจะเข้าทำรายการในรูปแบบดังต่อไปนี้ 1. การจำหน่ายหุ้นสามัญทั้งหมดหรือบางส่วนใน ESP บริษัทฯ จะเจรจากับผู้ลงทุนเพื่อกำหนดสิทธิกับผู้ขาย และ/หรือ บริษัทฯ และ/หรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ ในการซื้อหุ้นสามัญของ ESP บางส่วนหรือทั้งหมดคืนจากผู้ลงทุน ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลา 25 ปี นับจากวันที่ธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินเสร็จสมบูรณ์ (Completion Date) ในราคาที่ตกลงกันต่อไป โดยมีมูลค่าไม่เกิน 1,000,000 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะกำหนดในสัญญาที่เกี่ยวข้องต่อไป 2. การโอนทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดของโครงการโรงไฟฟ้า ESP บริษัทฯ จะเจรจากับผู้ลงทุนเพื่อกำหนดสิทธิกับผู้ขาย และ/หรือ บริษัทฯ และ/หรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ ในการซื้อและรับโอนทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดของโครงการโรงไฟฟ้า ESP คืนจากผู้ลงทุน ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลา 25 ปี นับจากวันที่ธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินเสร็จสมบูรณ์ (Completion Date) ในราคาที่ตกลงกันต่อไป โดยมีมูลค่าไม่เกิน 1,000,000 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะกำหนดในสัญญาที่เกี่ยวข้องต่อไป 3. การโอนสิทธิหรือผลประโยชน์จากการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของ ESP ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 25 ปี           นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริษัทฯ มีอำนาจในการเจรจาในหลักการ เงื่อนไข และข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อเข้าทำธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทฯ           ในเบื้องต้น บริษัทฯ คาดว่าการเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงต่าง ๆ รวมถึงการเข้าทำสัญญาที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขบังคับก่อนทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นภายในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2568 ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินจะเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2568 เป็นอย่างช้า           สืบเนื่องจากปัจจุบัน บริษัทฯ มีภาระเงินกู้ยืมที่ต้องชำระ โดยแบ่งเป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 27,498.20 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 31,166.00 ล้านบาท โดยในปี 2568 บริษัทฯ มีภาระทางการเงินที่ต้องชำระเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกู้ เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 15,194.06 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7,744.06 ล้านบาท และหุ้นกู้ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7,450.00 ล้านบาท           ด้วยเหตุนี้ การเข้าทำธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวจะช่วยลดภาระเงินกู้ยืมของบริษัทฯ จำนวน 4,365.18 ล้านบาท ที่ ESP มีภาระที่ต้องชำระต่อสถาบันการเงิน (อ้างอิงจากงบการเงินสอบทานโดยผู้สอบบัญชีของ ESP สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)           นอกจากนี้ เงินที่ได้รับจากการทำธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สิน (หลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทฯ ต่อไป โดยสามารถสรุปได้ดังนี้ 1. บริษัทฯ จะได้รับเงินสดจากการทำธุรกรรมหลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และจะนำเงินที่ได้รับไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมของโครงการ ESP จำนวน 4,365.18 ล้านบาท และชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินของบริษัทฯ รวมถึงไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระ เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลง ส่งผลให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น 2. บริษัทฯ จะสามารถนำเงินที่จะได้รับไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ 3. บริษัทฯ จะสามารถนำเงินที่จะได้รับไปใช้ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป           บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุถึง EA อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะสิ้นสุด Adder 6.5 บาท/หน่วย ในเดือนเมษายน 2569 ดังนั้น เบื้องต้นภายใต้สมมติฐานการจำหน่ายโครงการดังกล่าวออกไปทั้ง 100% จะส่งผลให้ปี 2569 คาดว่า EA จะมีกำไรปกติลดลงราว 30%-44% จากเดิม หรือราว 350-500 ล้านบาท มาอยู่เพียง 649-799 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2570 เป็นต้นไป ภายหลังจาก Adder ของโครงการดังกล่าวหมดลง คาดว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกำไรปกติของ EA และประมาณการอย่างมีนัยสำคัญมากนัก           สำหรับคำแนะนำด้านปัจจัยพื้นฐาน ยังคง Underperform จากแนวโน้มกำไรปกติปี 2567 เป็นต้นไป ที่ทยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจาก Adder โรงไฟฟ้าที่ทยอยหมดไปจนถึงปี 2572 และยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง รวมถึงแผนการดำเนินธุรกิจที่ไม่ชัดเจน

EA เพิ่มทุน 7.4 พันล้าน! กดราคาหุ้นร่วง รับผลกระทบ Dilution-กำไรหด

EA เพิ่มทุน 7.4 พันล้าน! กดราคาหุ้นร่วง รับผลกระทบ Dilution-กำไรหด

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.กสิกรไทย ประเมิน EA เสนอขายหุ้น RO 3,713 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2 บาท หวังระดมทุน 7.4 พันล้าน ใช้ชำระหนี้ 6.6 พันล้าน คาดกำไรปี 67-69 ลดลงสูงสุด 50% ราคาหุ้นร่วง 31% จากผลกระทบ XR พร้อมปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ 3.80 บาท ท่ามกลางแรงกดดันธุรกิจ EV และแบตเตอรี่ Investment Topics           ระดมทุนชำระหนี้: เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. EA ประกาศเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (RO) จำนวน3,713 ล้านหุ้น โดยออกหุ้นใหม่ 1 หุ้น ต่อหุ้นเดิม ในราคาหุ้นละ 2.00 บาท ผู้ถือหุ้นที่จองซื้อ หุ้น RO จะได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิ EA-W1 ในอัตราส่วน 3 หุ้น RO ต่อ 1 ใบสำคัญแสดง สิทธิ โดยไม่คิดมูลค่าใบสำคัญแสดงสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวมีราคาใช้สิทธิ 4.00 บาทต่อหุ้น และมีอายุ 3 ปี โดย EA ตั้งเป้าระดมทุนจำนวน 7.4 พันลบ. และจัดสรรเงินจำนวน 6.6 พันลบ. เพื่อชำระหนี้และหุ้นกู้ ผลกระทบจาก dilution: การขึ้นเครื่องหมาย XR ในวันนี้ (13 ธ.ค.) คาดว่าจะส่งผลให้ราคา หุ้นลดลง 31% ส่งผลให้ราคาหุ้น EA ลดลงเหลือ 3.63 บาท จากราคาปิดก่อนหน้าที่ 5.25 บาท โดยคาดว่า EPS dilution จะอยู่ที่ 50% จากหุ้น RO เพียงอย่างเดียว และ 57% รวมการ ใช้สิทธิซื้อหุ้นทั้งหมด           บรรเทาสภาพคล่องในระยะสั้น: ณ ไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (interest-bearing debt) จำนวน 6 หมื่นลบ. ซึ่งรวมถึงเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดภายใน 1 ปี จำนวน 7.7 พันลบ. และหุ้นกู้ 7.4 พันลบ. ที่ครบกำหนดในปี 2568 ขณะที่เงินที่ได้จากการระดมทุนคาดว่าจะอยู่ที่ 7.4 พันลบ. รวมกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ 7-8 พันลบ. น่าจะเพียงพอต่อการชำระหนี้ที่ครบกำหนดในปี 2568 ซึ่งจะช่วยบรรเทาความกังวลเรื่องสภาพคล่องได้ในระยะอันใกล้           ปรับประมาณการกำไร: เราปรับประมาณการกำไรปี 2567-69 ลง 36%/41%/50% เป็น2.8 พันลบ./2.1 พันลบ./1.2 พันลบ. ตามลำดับ สะท้อนมุมมองเชิงอนุรักษ์นิยมมาก ขึ้น ต่อยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ การปรับประมาณการครั้งนี้ยังคำนึงถึงผล การดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ที่อ่อนแอกว่าคาด และการคาดการณ์ ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง           แนวโน้มยังคงท้าทาย: คาดว่ากำไรจะหดตัวลงอีกในไตรมาส 4/2567 เนื่องจากธุรกิจ EVยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องในปี 2568 ขณะที่การสิ้นสุดของ adder กำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 90 เมกะวัตต์ในเดือน ก.พ. จะเพิ่มแรงกดดันมากขึ้น ส่งผลให้ประมาณการกำไรของเราจะลดลง 22% YoY เป็น 2.3 พันล้านบาท           Valuation and Recommendation คงคำแนะนำ “ถือ” แต่ลดราคาเป้าหมายเป็น 3.80 บาท: เราคงคำแนะนำ “ถือ” EA แต่ปรับราคาเป้าหมายลงเป็น 3.80 บาท ตาม dilution จากการเพิ่มทุนและการปรับประมาณการ กำไร ขณะที่โปรไฟล์ความเสี่ยงต่อผลตอบแทน (risk-reward profile) ของ EA ถูกจำกัดโดยกำไรที่ลดลงจาก adder ของพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำลังจะหมดอายุ และผลขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญจากการดำเนินงาน EV และแบตเตอรี่

EA เพิ่มทุนROราคา2 บาท 3.7พันล้านหุ้น-ตามกันไหม!

EA เพิ่มทุนROราคา2 บาท 3.7พันล้านหุ้น-ตามกันไหม!

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งพิเศษที่ 13/2567 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 497,333,333.30 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 373,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 870,333,333.30 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,973,333,333 หุ้น1/ มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.10บาท เพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) และการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ รุ่นที่ 1 (“ใบสำคัญแสดงสิทธิ EA-W1”) เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) รวมทั้งอนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทฯเรื่องทุนจดทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ           ที่ประชุมฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ EA-W1 จำนวนไม่เกิน 1,243,333,333 หน่วย เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ในอัตราส่วน 3 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ต่อใบสำคัญแสดงสิทธิ EA-W1 1 หน่วย โดยไม่คิดมูลค่า (ราคาเสนอขายต่อหน่วยเท่ากับ 0 บาท) และมีราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ เท่ากับ 4.00 บาทต่อหุ้น และมีระยะเวลาการใช้สิทธิ 3 ปีทั้งนี้ ในกรณีที่มีเศษของใบสำคัญแสดงสิทธิ EA-W1 เหลือจากการคำนวณตามอัตราส่วนการจัดสรรดังกล่าวให้ปัดเศษดังกล่าวทิ้งทั้งจำนวน           และที่ประชุมฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน 2 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 3,730,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ไม่ว่าคราวเดียวหรือหลายคราว ในอัตราส่วนการจัดสรรหุ้น 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยมีราคาเสนอขายหุ้นละ 2.00 บาท           ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมอาจจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเกินกว่าสิทธิของตนได้ (Oversubscription) โดยที่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อเกินกว่าสิทธิจะได้รับการจัดสรรหุ้นที่จองซื้อเกินกว่าสิทธิต่อเมื่อมีหุ้นเหลือจากการจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ของบริษัทฯ ที่ได้จองซื้อตามสิทธิครบถ้วนทั้งหมดแล้วเท่านั้น

EA อนุมัติรับเงินช่วยเหลือ 900 ล้านบาท จาก

EA อนุมัติรับเงินช่วยเหลือ 900 ล้านบาท จาก "นายสมโภชน์" ผู้ถือหุ้นใหญ่

          ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ") ครั้งพิเศษที่ 8/2567 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ รับความช่วยเหลือทางการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและนำไปชำระคืนเงินกู้ของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะออกตั๋วแลกเงินระยะสั้นโดยไม่มีหลักประกันให้กับนายสมโภชน์ อาหุนัย (“นายสมโภชน์”) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท เอสพีบีแอล โฮลดิง จำกัด (“SPBL”) เป็นจำนวน 900 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี และครบกำหนดไถ่ถอนตั๋วแลกเงินในวันที่ 28 ตุลาคม 2567           ลักษณะโดยทั่วไปของรายการ คือ บริษัทฯ ประสงค์ที่จะออกตั๋วแลกเงินระยะสั้น โดยไม่มีหลักประกัน ให้กับนายสมโภชน์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทางอ้อมของบริษัทฯ เป็นจำนวน 900 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,553,424.66 บาท โดยจะครบกำหนดไถ่ถอนตั๋วแลกเงินในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เพื่อนำไปไถ่ถอนตั๋วแลกเงินระยะสั้นที่ได้ออกให้กับนายสมโภชน์ เมื่อวันที่ 30กันยายน 2567 ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 ตุลาคม 2567           มูลค่ารวมและเกณฑ์ที่ใช้กำหนดมูลค่ารวมของรายการ มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทน คือ ดอกเบี้ยที่จะชำระให้แก่นายสมโภชน์ จากการออกตั๋วแลกเงินระยะสั้น โดยไม่มีหลักประกัน โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,553,424.66 บาท ทั้งนี้ มูลค่าของรายการคิดเป็นร้อยละ 0.0045 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัทฯ อ้างอิงตามงบการเงินรวมฉบับสอบทานของบริษัทฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 (มูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัทฯ ณ วันที่ 30มิถุนายน 2567 เป็นจำนวนเท่ากับ 34,256.31 ล้านบาท) และเมื่อรวมกับขนาดรายการที่เกี่ยวโยงกันในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาอีกร้อยละ 0.0401 จึงทำให้มีขนาดรายการรวมคิดเป็นร้อยละ 0.0446 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัทฯ ซึ่งมีขนาดรายการมากกว่าร้อยละ 0.03 แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และเปิดเผยสารสนเทศการเข้าทำรายการดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามประกาศเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกัน

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

EA ได้เงินทุนระยะสั้น

EA ได้เงินทุนระยะสั้น

          วันนี้ (30 กันยายน 2567) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA หนึ่งในผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของประเทศไทย ประกาศว่า บริษัทฯ ได้เงินทุนระยะสั้นจำนวน 1,200 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นเงินทุนที่ได้มาจาก 2 แหล่งที่มา คือนิติบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกันและนายสมโภชน์ อาหุนัย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ EA เป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท และ 900 ล้านบาทตามลำดับ           นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน EA กล่าวว่า เงินทุนที่ได้มาจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ในระหว่างที่บริษัทกำลังเดินหน้าสู่ข้อสรุปที่กำลังเจรจากับ Strategic Partners           “เราได้จัดการเรื่องต่างๆ คืบหน้าเป็นอย่างดี จนสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้ว และความเชื่อมั่นในการให้เงินกู้ดังกล่าวนี้เป็นสัญญานที่ดี และเรามีความยินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเรามีความเชื่อมั่นในธุรกิจมากพอที่จะให้เงินกู้ในจำนวนที่มากพอสมควรเช่นนี้กับบริษัท โดยไม่มีหลักประกันเงินกู้ใดๆ ทั้งสิ้น” นายวสุกล่าว           EA คือหนึ่งในผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของประเทศไทยและผู้นำพลังงานแห่งอนาคตอันได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า แบตเตอรี่ และระบบกักเก็บพลังงาน