#BLC


[ภาพข่าว] BLC คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings 2567 ระดับ BBB

[ภาพข่าว] BLC คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings 2567 ระดับ BBB

          นับเป็นหุ้นในเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับ บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค หรือ BLC ล่าสุด ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ บิ๊กบอส BLC ตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจตามแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบายการจัดการด้านความยั่งยืน ด้วยการคว้าผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ “BBB” ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค จากการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนความแข็งแกร่งของ BLC ในฐานะผู้นำธุรกิจผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มุ่งมั่นสร้างการเติบโต ด้วยหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี

[FynnCorp IAS] BLC: หนึ่งในผู้นำการผลิตและวิจัยผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของประเทศ

[FynnCorp IAS] BLC: หนึ่งในผู้นำการผลิตและวิจัยผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของประเทศ

บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) [Ticker: BLC] กลุ่มอุตสาหกรรม: สินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP) หมวดธุรกิจ: ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ (PERSON) ราคาปิด ณ วันที่ 28 พ.ย. 67 (บาท): 5.10 จำนวนหุ้นชำระแล้ว (ล้านหุ้น): 600 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันที่ 28 พ.ย. 67 (ล้านบาท): 3,060 ช่วงราคา 52 สัปดาห์ ต่ำ/สูง (บาท): 4.30/ 6.30 % ถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย ณ วันที่ 14 มี.ค. 67: 37.11% ผู้ผลิตยาที่บูรณาการภูมิปัญญาไทย ผ่านศูนย์วิจัยที่ทันสมัย Overview ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ ยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอื่นๆ คิดค้นยาสมุนไพรที่เป็นต้นตำรับและสร้างสรรค์นวัตกรรม (Original Innovative Herbal Medicine) พัฒนาศูนย์วิจัย BLC Research Center เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของตัวเอง Key Highlights: กว่า 30 ปีในอุตสาหกรรมยา และมุ่งพัฒนายาสมุนไพรไทย จากยาแผนปัจจุบันที่มีแบรนด์เป็นที่ยอมรับและจำหน่ายในโรงพยาบาล ร้านขายยา และคลินิก กว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งจุดเด่นในการนำสมุนไพรไทยมาใช้เทคโนโลยีแผนปัจจุบันในการผลิต จนสามารถนำยารักษาไวรัสตับอักเสบบีเข้าสู่บัญชียานวัตกรรม และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสมุนไพรไทยสารสกัดจากพริก เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายได้จากการขายและให้บริการ รวมถึงกำไรสุทธิใน 9 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 12.2% และ 20.5% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการทำการตลาดเชิงรุก สร้างการรับรู้แบรนด์ ด้วยกลยุทธ์หลักเน้นการพัฒนาและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่ออัตรากำไร แนวโน้มรายได้เติบโตต่อเนื่องในปี 2567-2568 มาจากปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ 1) การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกไตรมาส โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง 2) การพาทเนอร์กับบริษัทยาของญี่ปุ่น Nichi-iko ตั้งแต่ 2Q2567 ที่ทำให้ BLC ได้รับสิทธิ์จำหน่ายยาแผนปัจจุบันของ Nichi-iko ผ่านช่องทางร้านขายยาในประเทศไทย 3) การเพิ่มยอดขายโดยเฉพาะจากโรงพยาบาลรัฐ จากการที่มีผลิตภัณฑ์ยาได้เข้ารับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ และบัญชียานวัตกรรม Company Overview บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) (BLC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 โดยเภสัชกร 3 ท่าน ได้แก่ ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์  ภก.สมชัย พิสพหุธาร และภก.ศุภชัย สายบัว เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ โดยเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2536 และได้รับใบอนุญาต รวมถึงผลิตยาตำรับแรกในปี 2537 จนได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมิถุนายน ปี 2566 BLC ได้พัฒนาศูนย์วิจัย BLC (BLC Research Center) ขึ้นในปี 2555 เพื่อให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ มุ่งเน้นการบูรณาการภูมิปัญญาไทย โดยนำวิธีการผลิตยาปัจจุบันมาผลิตยาสมุนไพร อย่างเช่น Capsika, Kachana, Plaivana เป็นต้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ ปัจจุบัน บริษัทผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพอื่นๆ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักได้ ดังนี้ 1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceuticals) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ (Generics Drugs and New Generic Drugs) ซึ่งมีตัวยาสำคัญเหมือนกับยาต้นแบบหรือยาจดสิทธิบัตร ซึ่งจะผลิตได้ภายหลังยาต้นแบบหมดสิทธิบัตรไปแล้ว ได้แก่ กลุ่มยาที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ กลุ่มยาที่เกี่ยวกับผิวหนัง กลุ่มยาที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร กลุ่มยาที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นต้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น Gastro, DiabeDerm, Felgesic gel, Arotika cool gel เป็นต้น Source: The company's website ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร (Herbal Medicines) สําหรับการรักษาโรคไม่เรื้อรัง อาทิ กลุ่มยาที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น Capsika, Plaivana, Kachana เป็นต้น Source: The company's website ผลิตภัณฑ์ยาสําหรับสัตว์ (Animal Medicines) โดยจะเน้นยาสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ เช่น สุกร สัตว์ปีก โคนม และสัตว์น้ำ เป็นต้น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท เพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในฟาร์มปศุสัตว์ Source: The company's website 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ (Other Health-Related Products) ได้แก่ เครื่องสําอาง (Cosmetics) เช่น เจลว่างหางจระเข้ Burnova gel, Aloe Vera gel, Vitara Anti Acne ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplements) อย่าง Calza C, Kacha, Bamion, DeeDay ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สเปรย์ฉีดกันยุง (JUNGO) เป็นต้น Source: The company's website โครงสร้างรายได้ บริษัทมีรายได้หลักมาจากผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ คิดเป็น76.5% ของรายได้จากการขายรวมในปี 2566 ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 10.6% ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร 7.6% ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3.5% รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างละประมาณ 1% และในเก้าเดือนแรกของปี 2567 สินค้าแต่ละกลุ่มยังคงสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงเดิม ยกเว้น ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9.2% ของยอดขายรวม 9M2567 Source: Opportunity Day Year-end-2023, Analyst Presentation 3Q2024 โดยรายได้ของบริษัทมาจากภายในประเทศเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนมากกว่า 94% ของรายได้จากการขายรวมใน 9M2567 ที่เหลือเป็นรายได้จากต่างประเทศอย่าง ลาว กัมพูชา ฮ่องกง และอื่นๆ ตามลำดับ Source: Opportunity Day 3Q2024 โครงสร้างบริษัทและช่องทางการจัดจำหน่าย บริษัทมีช่องทางการจำหน่ายหลักผ่านโรงพยาบาลและร้านขายยา คลินิก รวมกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางการขายอื่นๆ รวมประมาณ 5 ช่องทาง โดยแบ่งตามการจำหน่าย ได้ดังนี้ การจำหน่ายแบบผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (B2B) ให้กับ ลูกค้าร้านขายยา ได้แก่ ร้านขายยาแบบยี่ปั๊ว ร้านขายยาปลีกทั่วไปและที่เป็นเครือข่าย (Health up และ Icare เป็นต้น) และร้านขายยาตาม 7-Eleven โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมถึงคลินิกอายุรกรรมทั่วไป คลินิกแพทย์เฉพาะทาง เช่น กระดูกและข้อ ผิวหนัง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบประสาท เป็นต้น รวมถึง คลินิกเสริมความงาม ร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้แก่ ร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า (Boots, Watsons, Tsuruha, และ Matsumoto Kiyoshi) การส่งออก ผ่านตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ (Selling Agent) รวมมากกว่า 10 ประเทศ เช่น ลาวกัมพูชา ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย และอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทมีการจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคโดยตรง (B2C) ผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) ซึ่งจะเป็นการขายสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในการจัดจำหน่ายไปในแต่ละช่องทางของ BLC จะผ่านบริษัทย่อยที่มีความชำนาญในการจำหน่ายสินค้าแต่ละกลุ่ม ซึ่ง BLC เองจะทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าเกือบทุกประเภทและจำหน่ายไปให้บริษัทย่อยเพื่อทำการจำหน่ายต่อไป โดย BLC มีการถือหุ้นผ่านบริษัท บางกอก ดรัก (BDC) ซึ่งทำหน้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ และ บริษัท ฟาร์ม่า อัลลิอันซ์ (PAC) อย่างละ 99.99% ซึ่ง PAC จะสนับสนุนงาน Back Office ให้กับบริษัทฝ่ายขายอย่างบริษัท ฟาร์ม่าไลน์ (FLC) บริษัท บีริช (BRC) และบริษัท บางกอก เมดิก้า (BMC) ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายยา เครื่องสำอางสำหรับบำรุงผิว และยาสำหรับสัตว์ ตามลำดับ ในไตรมาส 3 ปี 2567 BLC ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ BKD VIVA ภายใต้ BDC เพื่อจะขยายช่องทางการขายออนไลน์ผ่าน Facebook, Shopee, Lazada และ TikTok โดยเน้นการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ด้วยกลยุทธ์การไลฟ์สดเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า Source: Analyst Presentation 3Q2024 ในด้านสัดส่วนยอดขายในแต่ละช่องทางการขาย พบว่าบริษัทมีรายได้จากช่องทางร้านขายยาเป็นหลักคิดเป็นสัดส่วน 53.7% ของยอดขายรวมใน 9M2567 ตามมาด้วยจากโรงพยาบาล 37% ส่งออก 5.7% Modern Trade และ ช่องทาง Online คิดเป็น 2.0% และ 1.7% ตามลำดับ กลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ ใช้การตลาดเชิงรุก เน้นการสร้าง Brand Royalty ให้กับกลุ่มลูกค้าเดิม และสร้าง Brand Awareness ให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยการใช้สื่อออนไลน์ให้ความรู้และสร้างเนื้อหาสุขภาพ รวมถึงการเข้าไปเป็น Sponsorship ตามงานต่างๆ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ไพลวาน่าในงานของเวทีมวยลุมพินี ผลิตภัณฑ์ Clena และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร DeeDay ในเวทีการประกวด “มิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025” และแบรนด์ Arotika ในงานแข่งขันกีฬา TAAP Qualifier 2 และ Spartan Race Thailand 2024 มีเป้าหมายการวางจำหน่ายสินค้าใหม่ในทุกไตรมาส โดยเป็นยาสามัญใหม่ไม่น้อยกว่า 2 รายการต่อปี ซึ่งบริษัทมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์กลุ่มยาสามัญและยาสามัญใหม่ 2-3 รายการในปี 2568 รวมถึงสินค้ากลุ่มอื่นอย่างเครื่องสำอาง อาหารเสริม หรือยาสุมนไพร โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 1 ตัวต่อ 1 ไตรมาส เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของรายได้และอัตราการทำกำไรของบริษัท ประกอบกับการเน้น Portfolio Management เพิ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร เวชสำอาง ยาสัตว์ให้มากขึ้น นำเสนอสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากยาที่วางจำหน่ายในโรงพยาบาลรัฐจะเป็นการสั่งซื้อจำนวนมากและต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมีทีมขายในแต่ละบริษัทย่อยที่เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลรัฐครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มจากโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นตัวสินค้า และจะขยายเครือข่ายกลุ่มแพทย์ตามกลุ่มโรคการรักษา พาทเนอร์กับ Nichi-iko ซึ่งเป็นบริษัทยาชั้นนำของญี่ปุ่น ทำให้ BLC ได้รับสิทธิ์จำหน่ายยาแผนปัจจุบันของบริษัทนิชิอิโคะ (Nichi-Iko) ผ่านช่องทางร้านขายยาแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยเริ่มจัดจำหน่ายตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ซึ่งบริษัทคาดว่าจะส่งผลต่อยอดขายในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างยาของ Nichi-Iko ที่จำหน่ายในไทย ได้แก่ กลุ่มยารักษาเบาหวาน (NIKP-Glimepiride tablet 3 mg) กลุ่มยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด (NIKP-Bisoprolol tablet 2.5mg) ยาที่ใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (NIKP-Pitavastatin tablet 2mg) เป็นต้น สร้างโรงงานการผลิตใหม่ เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตเดิมที่มีการใช้เกือบเต็มกำลัง โดยเฉพาะการใช้อัตรากำลังการผลิตของยาครีมรูปแบบหลอดและรูปแบบกระปุกในไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 129% และ 130% ตามลำดับ ซึ่งโรงงานใหม่จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตยารูปแบบอื่นๆ รวมถึงยาครีมแบบหลอดจากเดิม 7.5 ล้านหลอด เป็น 45.6 ล้านหลอดต่อปี และแบบกระปุกจากเดิม 3 แสนกระปุก เป็น 2.4 ล้านกระปุกต่อปี โดยโรงงานเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2567 แล้วคาดว่าจะเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2569 ตั้งเป้ายอดขายโตเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท บริษัทวางแผนให้รายได้จากการขายโตเฉลี่ยปีละ200 ล้านบาท ในปี 2567 - 2569 โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในปี 2567 นี้ มาจากการเพิ่มช่องทางการขาย การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการที่ยาสมุนไพรได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ อย่าง CAPSIKA ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายผ่านสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐบาลได้ ส่งผลต่อยอดการสั่งซื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง ยา Hepivir (ยารักษาไวรัสตับอักเสบบี) ได้รับการประกาศบรรจุเข้าสู่บัญชียานวัตกรรม ส่งผลให้เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้กับโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น Industry Analysis อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบัน ในช่วงปี 2564 - 2566 ตลาดยาในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ประมาณ 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 (CAGR 0.9%) และคาดว่าจะเติบโตไปถึง 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2570 ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักอย่างการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 28% ของจำนวนประชากรในปี 2567 เทรนการใส่ใจดูแลสุขภาพ และรวมไปถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปอาจเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะในโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น Source: Opportunity Day 2Q2024, Statista (Company data) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยาของไทยยังเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่มีราคาถูกจากจีนและอินเดีย ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ (บริษัทยาต่างชาติ) ที่เป็นตัวแทนนำเข้ายาต้นตำรับหรือยาจดสิทธิบัตร (Original drug หรือ Patented drug) และบางรายใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ประกอบกับต้นทุนของผู้ผลิตยาในประเทศสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบนำเข้า นอกจากนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทยส่วนใหญ่ จะอยู่ในขั้นปลาย คือ การผลิตยาสำเร็จรูป โดยจะนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญ (Active Ingredients) จากต่างประเทศ และนำมาพัฒนา ผสม และผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ อุตสาหกรรมยาสมุนไพร มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่ที่ 57,000 ล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 9.3% จากปีก่อนหน้า (อ้างอิงข้อมูลจาก งานมหกรรมสมุนไพรนานาชาติ International World Trade of Herbal city 2024) ซึ่งไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด และยังติดอันดับโลกด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ซึ่งในปี 2565 มีผู้ป่วยต่างชาติมารักษา 34,088 ครั้ง สร้างรายได้กว่า 34,000 ล้านบาท ด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถึง 14,023 แห่ง และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อตอบรับนโยบายของรัญบาลในการเป็น Medical Hub ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 จึงทำให้การบริโภคสมุนไพรไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต พร้อมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แม้จะมีการผลักดันการบริโภคจากภาครัฐบาล แต่ผู้เพาะปลูกสมุนไพร หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้นน้ำยังได้รับผลตอบเเทนน้อย ประกอบกับ การแปรรูปสมุนไพรโดยใช้นวัตกรรมขั้นสูง อย่าง สารสกัด/ สารตั้งต้น หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร เช่น เครื่องสำอาง ยา และเสริมอาหาร ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ส่งผลให้พืชสมุนไพรยังไม่ถูกนำมาพัฒนาอย่างกว้างขวางมากนักในไทย ท่ามกลางประเทศคู่แข่งที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและมีชื่อเสียงในกลุ่มสมุนไพรหายาก อย่างเช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดได้เปรียบของ BLC ในการเป็นผู้นำด้านการคิดค้นนวัตกรรมยาสมุนไพร สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดได้เป็นอย่างดี อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ได้วิเคราะห์ภาพรวมตลาดความงามของไทยในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ขยายตัว 9.5% ใกล้เคียงกับปี 2566 ซึ่งปัจจัยหลักในการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจาก E-Commerce ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้การเลือกซื้อสะดวกมากขึ้น โดยตลาดเครื่องสำอางที่ผลิตภายในประเทศ คิดเป็น 85% ของธุรกิจเครื่องสำอางในไทย และตลาดเครื่องสำอางที่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็น 15% สำหรับตลาดเครื่องสำอางในประเทศ ส่วนใหญ่เป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare) ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 46.8% (แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า 84% และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย 16%) ถัดมาเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม (Haircare) มีส่วนแบ่งตลาด 18.3% ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย (Hygiene) มีส่วนแบ่งตลาด 16.3% และผลิตภัณฑ์ตกแต่งใบหน้า (Makeup) มีส่วนแบ่งตลาด 13.5% อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยในปี 2567 เผชิญกับอัตราการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นประมาณ 30% ในบางรายการ และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รวมทั้งกำลังซื้อในประเทศโดยเฉพาะตลาดกลางและล่างที่ยังไม่คึกคักมากนัก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ข้อมูลจาก Euromonitor รายงาน มูลค่าอุตสาหกรรมเสริมอาหารในประเทศไทย อยู่ที่ 87,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนภายหลังวิกฤต COVID-19 ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น ส่งผลบวกต่อมูลค่าตลาดเสริมอาหาร โดยเฉพาะผู้บริโภควัยทำงานและผู้สูงอายุที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเป็น 85% ของประชากรในปี 2571 จะเป็นกลุ่มที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยข้อมูลจากการสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธาณสุข ระบุว่าประชาชนกว่า 70% มองว่าอาหารเสริมควรเป็นสิ่งที่รับประทานเป็นประจำ Financial Performance รายได้จากการขายในปี 2566 ขยายตัว 13.5% YoY มาอยู่ที่ 1,406.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167.7 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า จากกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกต่อเนื่อง เน้นสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย การออกบูธแสดงสินค้า และการสื่อสารผ่านช่องทางทั้ง Offline และ Online ท่ามกลางอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องจากการกลับมารักษาในโรงพยาบาลตามปกติของผู้ป่วย ส่งผลต่อความต้องการใช้ยารักษาโรคเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงบริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์ยาสามัญใหม่ในช่วงไตรมาส 4 เช่น Finasteride ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมสำหรับผู้ชาย ผลการดำเนินงานในปี 2566 โตขึ้น 16.3% YoY สะท้อนที่อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 10.5% ในปี 2565 เป็น 10.7% ในปี 2566 ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและบริการ พร้อมกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดลง จึงส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิสำหรับปีเพิ่มขึ้น 21.1 ล้านบาท รายได้จากการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกปี 2567 ยังเติบโตต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 12.2% จากงวดเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 1,134 ล้านบาท โดยหลักจากการจับมือพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้าเพิ่มขึ้น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่องในทุกไตรมาส ประกอบกับการที่มียาได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ และบัญชียานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของช่องทางการขายในโรงพยาบาลรัฐ พร้อมทั้งการทำการตลาดเชิงรุกต่อเนื่องของบริษัท ท่ามกลางความต้องการใช้ยารักษาโรคเพิ่มขึ้น อีกทั้ง มีการจัดตั้งบริษัทย่อย BKD VIVA เพื่อขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมมากขึ้นทุกแพลตฟอร์ม และมีรายได้อื่นเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยรับของเงินลงทุนระยะสั้น ซึ่งส่งผลให้กำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน เพิ่มขึ้น 20.5% YoY และอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10.7% ในปี 2567-2568 รายได้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มาจากปัจจัยสนับสนุน ดังนี้ 1) การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกไตรมาส โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยาสามัญและยาสามัญใหม่ ประมาณ 2-3 รายการในปี 2568 และบริษัทตั้งเป้าหมายจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์ต่อไตรมาสในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่จะสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 5% 2) การพาทเนอร์กับบริษัทยาของญี่ปุ่น Nichi-iko (นิชิอิโคะ) ทำให้บริษัทมีสิทธิจำหน่ายยาแผนปัจจุบันของ Nichi-Iko ผ่านช่องทางร้านขายยาแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทได้จัดจำหน่ายยาของ Nichi-iko ในร้านขายยาแล้วกว่า 200 แห่ง และมีแผนขยายเป็น 400 แห่ง ภายในปี 2568 3) การที่ผลิตภัณฑ์ได้เข้ารับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มยอดขายโดยเฉพาะจากโรงพยาบาลรัฐได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นการสั่งซื้อในปริมาณมากและต่อเนื่อง รายได้จากการขายและกำไรสุทธิ Risk Factors ความเสี่ยงจากการแข่งขันสูง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันของบริษัท เป็นประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ ซึ่งมีตัวยาสำคัญ (Active Ingredient) ชนิดเดียวกันกับยาต้นแบบ โดยเมื่อสิทธิบัตรของยาต้นแบบหมดอายุ ผู้ผลิตยาสามัญใหม่ที่สามารถผลิตและออกสู่ท้องตลาดรายแรกๆ จะมีอัตรากำไรค่อนข้างสูง เนื่องจากสามารถจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่ายานำเข้าที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่หลังจากนั้น ก็จะมีผู้ผลิตยาขนาดกลางและขนาดเล็กออกมาผลิตยาสามัญใหม่แบบเดียวกันคุณภาพต่างกัน เพื่อทำการแข่งขันด้านราคา ทำให้อัตราการทำกำไรของยาชนิดนั้นๆ ลดลง ประกอบกับ การนำเข้ายาราคาถูกจากจีนและอินเดีย ดังนั้น บริษัทจะเผชิญกับสินค้าของคู่แข่งที่ทดแทนกับสินค้าของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าการวางจำหน่ายยาไม่น้อยกว่าปีละ 2 รายการ โดยมุ่งเน้นยารักษาโรคที่มีอัตราผู้เป็นโรคในประเทศไทยสูง อีกทั้ง BLC มีศูนย์วิจัยและความสามารถในการผลิต Active Ingredient จากการสกัดสารจากสมุนไพรไทย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและเพิ่มอัตราการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากการปรับสินค้าได้ยาก ด้วยรายได้จากช่องทางโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้รองลงมาจากร้านขายยา เผชิญข้อจำกัดในเรื่องราคากลางอ้างอิง ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับราคาขายยาสูงกว่าราคากลางได้ ประกอบกับเมื่อผู้ผลิตยาขนาดกลางและเล็ก ผลิตยาสามัญใหม่รูปแบบเดียวกันคุณภาพต่างกัน เพื่อทำการแข่งขันด้านราคา ก็จะส่งผลต่อราคาและการทำกำไรของยาสามัญใหม่ค่อยๆปรับลดลง ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บริษัทอาจไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ทันที ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการทำกำไรได้ ดังนั้น บริษัทมีแนวทางลดความเสี่ยงในการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดจำหน่าย รวมถึง เป้าหมายการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางในทุกไตรมาส จะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาและสร้างอัตราในการทำกำไรในภาพรวมไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากในการผลิตยาสามัญ จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญจากต่างประเทศภายหลังที่สิทธิบัตรของยาต้นแบบ (Original Drugs หรือ Patented Drugs) หมดอายุ โดยบริษัทนำเข้าวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศ คิดเป็น 9% และ 12% ของยอดซื้อทั้งหมดในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งส่วนมากเป็นการนำเข้าด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากประเทศจีน อินเดีย และประเทศแถบยุโรป แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญต่อบริษัท แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนสูง ซึ่งสามารถส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำหนดแนวทางจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจน โดยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) หรือ วิธีเจรจาซื้อสินค้าในสกุลบาท ข้อจำกัดความรับผิด (Disclaimers): กดด้านล่างเพื่อดูรายละเอียด ข้อจำกัดความรับผิด: Pornbhuda Rijiravanich | Analyst, Managing Director  Email: [email protected] Nicharee Aramrungrojchai | Analyst Assistant         Email: [email protected]

[Gossip] BLC มองแนวโน้ม 4Q2567 สดใสเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน

[Gossip] BLC มองแนวโน้ม 4Q2567 สดใสเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน

         หุ้นวิชั่น - ถือเป็นบริษัทที่ทำผลการดำเนินงานเติบโตทุกไตรมาสมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค หรือ BLC ผู้นำธุรกิจวิจัย พัฒนา ผลิตและจัดจำหน่าย ยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจรของไทย ล่าสุด ‘ภก.สมชัย พิสพหุธาร’ ประธานเจ้าหน้าที่สายบัญชีและการเงิน ได้นำเสนอข้อมูลใน Opportunity Day โชว์ผลงานงวด 9 เดือน ปี 2567 เติบโตโดดเด่นทั้งรายได้และกำไรสุทธิ ประเมินผลการดำเนินงาน 4Q2567 มีแนวโน้มที่ดี หลังจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน พร้อมโชว์กลยุทธ์สร้างการเติบโตผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง รวมทั้งเดินหน้าขยายตลาดทั้งในประเทศผ่านการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และขยายตลาดในต่างประเทศ อาทิ ลาว และฮ่องกง เป็นต้น ผสานรวมกับกลยุทธ์การ Re-Brand เพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มผลิตภัณฑ์ ร่วมกับการเดินหน้าสร้าง Brand Awareness อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เรียกได้ว่าสร้างการเติบโตอย่างไม่มีหยุด งานนี้ผู้ถือหุ้นสบายใจหายห่วง...

BLC ผลงาน 9 เดือน New High กำไร 121.3 ล.

BLC ผลงาน 9 เดือน New High กำไร 121.3 ล.

          ‘บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค หรือ BLC’ ประกาศผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2567 ทำสถิติสูงสุดใหม่กวาดรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1,134 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 121.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% และ 20.5% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประเมินแนวโน้มไตรมาส 4/2567 ยังเติบโตต่อเนื่อง รับปัจจัยบวกจากสังคมสูงวัย-เทรนด์สุขภาพหนุนโต พร้อมเตรียมลุยตลาด E-Commerce เต็มสูบ มุ่งสร้างการรับรู้ของแบรนด์ วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายร้านยาชั้นนำทั่วประเทศ พร้อมนำผลิตภัณฑ์ยาเข้าจดทะเบียนในต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน           ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เปิดเผยว่า บริษัทฯ สามารถทำผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 สะท้อนความแข็งแกร่งของพื้นฐานธุรกิจ และศักยภาพการเติบโตตามแผนที่วางไว้ โดยในช่วงไตรมาส 3/2567 (กรกฎาคม - กันยายน) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 398.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 43.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเดินหน้ากลยุทธ์สร้าง Brand awareness อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการออกบูธ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างครอบคลุม ส่งให้ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2567 (มกราคม - กันยายน) มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 1,134 ล้านบาท เติบโต 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 121.3 ล้านบาท เติบโต 20.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า           ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BLC กล่าวว่า บริษัทฯ ประเมินผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/2567 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง เทรนด์สุขภาพที่เน้นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech)  ยังช่วยให้การเข้าถึงการรักษาง่ายขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพทั้งภายในและภายนอกมากขึ้น เห็นได้จากความนิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงเตรียมความพร้อมรุกตลาดอีคอมเมิร์ซเต็มสูบ           นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยส่งเสริมการเติบโต จากการนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสมุนไพรจากพริก เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ทำให้ใช้สวัสดิการประกันสุขภาพของรัฐบาลเบิกจ่ายได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาของผู้ป่วย และสนับสนุนยอดขายให้เติบโตขึ้น รวมทั้ง การทำ Brand awareness ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญของบริษัทฯ ในการเดินหน้าสร้างแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอให้แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการเป็นสปอนเซอร์ให้รายการประกวด, การแข่งขันกีฬา และการใช้ Influencer Marketing เพื่อสร้างการับรู้ของแบรนด์ และเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ มีแผนที่จะนำยาสามัญ และยาสามัญใหม่ เข้าจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศมากขึ้น และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมทุกร้านขายยาชั้นนำทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างครอบคลุม พร้อมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม Shopee, TikTok และ Facebook และวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และผลักดันรายได้เติบโตตามเป้า           “BLC มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร ที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด จะช่วยผลักดันให้ BLC บรรลุเป้าหมายการเติบโตที่วางไว้    และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน” ภก.สุวิทย์ กล่าว [PR News]

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

BLC สนับสนุน ‘มิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025’ ชูผลิตภัณฑ์นำร่องแบรนด์ “Clena”

BLC สนับสนุน ‘มิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025’ ชูผลิตภัณฑ์นำร่องแบรนด์ “Clena”

          หุ้นวิชั่น - ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เปิดเผยว่า BLC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของ “เวทีมิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025” ซึ่งเป็นเวทีที่ทรงคุณค่าและได้รับความสนใจจากคนไทยทั่วประเทศ และระดับโลก การสนับสนุนในครั้งนี้ นับเป็นการสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ BLC ในการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) โดยนำผลิตภัณฑ์ “Clena” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากผู้บริโภคชาวไทยมาอย่างยาวนาน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “DeeDay” มาเป็นตัวชูโรงในการสนับสนุนครั้งนี้ โดยเชื่อมั่นว่าเวทีมิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025 จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยให้ BLC เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ และขยายฐานลูกค้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น           ทั้งนี้ การสนับสนุนเวทีมิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025 ไม่เพียงแต่ช่วยสร้าง Brand Awareness ให้กับ BLC และผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังส่งผลดีในด้านอื่นๆ อาทิ 1) สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ ผ่านการปรากฏตัวของแบรนด์บนเวทีการประกวดระดับประเทศ ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ 2) เพิ่มโอกาสทางการตลาด การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เปิดโอกาสในการขยายฐานลูกค้า และเพิ่มยอดขายให้แบรนด์ 3) ตอกย้ำความเป็นผู้นำ การสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงไทย ตอกย้ำความเป็นผู้นำของ BLC ในฐานะแบรนด์ไทยที่ให้ความสำคัญแก่สังคมเป็นสำคัญ           นอกจากนี้ BLC ยังคงเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นช่องทาง BKD VIVA ซึ่งเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ “Clena” เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างทั่วถึง ผ่านการจัดกิจกรรมสุดพิเศษ แคมเปญแข่งขันขาย Clena ช่องทางออนไลน์ เพื่อเฟ้นหา Best Seller จากเหล่าสาวงามผู้เข้าประกวด โดยผู้ที่ทำยอดขายได้สูงสุดจะได้รับรางวัลและสิทธิ์ในการเข้ารอบ 6 คนสุดท้าย ซึ่งกิจกรรมนี้ ไม่เพียงช่วยเพิ่มสีสันและความตื่นเต้นให้กับการประกวด แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประกวดได้แสดงศักยภาพ และเรียนรู้การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลอีกด้วย ทั้งนี้ BLC มั่นใจว่ากลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่ง จะผลักดันให้ “Clena” และ “DeeDay”ประสบความสำเร็จ และสร้างรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้           “การสนับสนุนเวทีมิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025 ในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ Clena ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อมั่นว่าเวทีการประกวดมิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025 จะเป็นโอกาสอันดีในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ และช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การสร้างการรับรู้ของแบรนด์ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย” ภก.สุวิทย์ กล่าว

[ภาพข่าว] BLC เปิดบ้านต้อนรับผู้ถือหุ้นเยี่ยมชมโรงงาน

[ภาพข่าว] BLC เปิดบ้านต้อนรับผู้ถือหุ้นเยี่ยมชมโรงงาน

          ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ (แถวหน้า ที่ 4 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ภก. สมชัย พิสพหุธาร (ที่ 2 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่สายบัญชีและการเงิน บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ร่วมให้การต้อนรับผู้ถือหุ้นเข้าเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้เข้าใจถึงการดำเนินงานของบริษัทฯ มากยิ่งขึ้น พร้อมอัปเดตความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการผลิตของ BLC ตลอดจนแผนการดำเนินงานเชิงรุกในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต ณ โรงงาน จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567