หุ้นวิชั่น - KResearch คาดมูลค่าคลาดธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่มปี 68 ที่ 6.57 แสนล้าน โต 4.6% ชี้ท่องเที่ยวในประเทศหนุน "อาฟเตอร์ ยู" ติดโผ หุ้นเด่น ฮอตขนมหวานติดตลาด ใส่เกียร์ขยายสาขา ขายแฟรนไชส์ทำเงิน แนะ “ซื้อ” เป้า 12.50 บาท
ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) ระบุว่า แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 657,000 ล้านบาท เติบโต 4.6% จากปี 2567 จากภาคการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังเติบโต การขยายสาขาของผู้ประกอบการไปยังภูมิภาค รวมถึงไลฟ์ สไตล์ของผู้บริโภคและความต้องการอาหารและเครื่องดื่มใหม่ที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนการเติบโตของตลาด แต่ธุรกิจมีการแข่งขันสูงทำให้การลงทุนยังต้องระวัง
ธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 572,000 ล้านบาท เติบโต 4.8% จากปี 2567 กลุ่มร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีอัตราการเติบโตดีกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้รับความนิยมจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) ในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 85,320 ล้านบาท เติบโต 3.2% จากปี 2567
แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ ในปี 2568 คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 657,000 ล้านบาท เติบโต 4.6% แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวจากปี 2567
การเติบโตของธุรกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวทั้งการเดินทางท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติที่คาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องจากปี 2567 โดยการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกอปรกับไทยมีร้านอาหารที่ติดอยู่ในมิชลินไกด์ กว่า 482 ร้านอาหาร จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า การใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 ของการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหมด
นอกจากนี้การเติบโตของมูลค่าตลาดยังเป็นผลมาจากราคาที่ปรับสูงขึ้นตามภาวะแนวโน้มต้นทุนทางธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงการขยายสาขาของผู้ประกอบการและกลยุทธ์การตลาดกระตุ้นให้รายได้ต่อครั้งการสั่งอาหารเพิ่มขึ้น
การแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม
ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศมีการแข่งขันรุนแรงในทุกระดับราคาและประเภทของอาหาร ประเทศไทยมีความหนาแน่นของร้านอาหารต่อประชากรอยู่ที่ 9.6 ร้านต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราส่วนที่สูง โดยในปี 2568 คาดว่าร้านอาหารและเครื่องดื่มจะมีจำนวนประมาณ 6.9 แสนร้าน ในปี 2568 ผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบรายเล็ก (บุคคล) ยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการในตลาดมีแผนที่จะขยายสาขาในกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มเดิม รวมถึงการเปิดแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มใหม่ครอบคลุมทุกเช็กเม้นท์ของตลาด และส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มร้านอาหารเอเชีย
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มยังมาจากแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเปิดใหม่เป็นปัจจัยสนับสนุนจำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทิศทางลงทุนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวสูง อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพ โดยจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศ
นอกจากนี้ การแข่งขันในธุรกิจยังมาจากการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้นสะท้อนได้จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มูลค่าทุนจดทะเบียนร้านอาหารและเครื่องดื่มจำแนกตามสัญชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มจากจีนมีมูลค่าการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น และแนวโน้มการเข้ามาลงทุนน่าจะเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้การแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงก็ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปิด-ปิดกิจการของผู้ประกอบการใหม่และเก่าเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน สะท้อนจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ร้านอาหารปิดตัวเร่งขึ้นโดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ร้านอาหารมีการจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจสูงถึง 89% (YoY) ขณะที่การเปิดตัวใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แนวโน้มธุรกิจร้านอาหาร
ในปี 2568 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านอาหาร (รวมร้านอาหารประเภทร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด และร้านอาหารข้างทางหรือ Street Food ที่มีหน้าร้าน) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 572,000 ล้านบาท เติบโต 4.8% จากปี 2567
การเติบโตของร้านอาหารแต่ละรูปแบบมีปัจจัยเฉพาะที่ต่างกัน อาทิ ทำเลที่ตั้งของร้าน ความหนาแน่นของร้านอาหารทั้งที่เป็นประเภทเดียวกันและต่างกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงราคา คุณภาพ/รสชาติของอาหาร และการให้บริการ รวมไปถึงเทรนด์การบริโภคของผู้บริโภค การนำเสนอเมนูใหม่ๆ และมีเอกลักษณ์ก็มีผลต่อการเติบโตของร้านอาหาร
- ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 2.9%จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 213,000 ล้านบาท โดยร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่มองเรื่องความคุ้มค่าและไลฟ์ สไตล์ที่เปลี่ยนไป สำหรับกลุ่มร้านอาหารประเภทอะลาคาร์ท (A La Carte)อย่างกลุ่ม Casual Dining อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ไทย และตะวันตก ในกลุ่มราคาระดับกลางจะเจอกับความท้าทายจากกำลังซื้อและการแข่งขันจากร้านที่เปิดให้บริการจ านวนมาก
- ร้านอาหารที่ให้บริการ จำกัด (Limited Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 3.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 93,000 ล้านบาท การขยายตัวจะมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการอย่างกลุ่มพิซซ่า และไก่ทอด และจากผู้ประกอบการที่ให้บริการในรูปแบบ Full Service ได้ปรับรูปแบบร้านอาหารมาเป็นแบบ Quick service มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นและเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ
- ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ที่มีหน้าร้าน คาดว่าจะเติบโต 6.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 266,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่สูง ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้ยังขยายตัวดีกอปรกับร้านอาหารแนว Street Food ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติ
แนวโน้มธุรกิจร้านเครื่องดื่ม
ในปี 2568 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 85,320 ล้านบาท เติบโต 3.2% จากปี 2567 การเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก (บุคคล) ยังมีการเปิดร้านใหม่ รวมถึงการขยายแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มของชาวต่างชาติที่น่าจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น นอกจากนี้เครื่องดื่มและเบเกอรี่ใหม่ๆจากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาด มีส่วนกระตุ้นความต้องการบริโภคเครื่องดื่มและเบเกอรี่มากขึ้น
ความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม
• กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อภาวะการมีงานทำและกำลังซื้อของผู้บริโภค
• ต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2568 ต้นทุนรอบด้านของธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่า รวมถึงต้นทุนสำคัญ ได้แก่
- ต้นทุนค่าแรง โดยผู้ประกอบการยังต้องติดตามนโยบายของภาครัฐในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2568ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก
- ต้นทุนวัตถุดิบอาหารซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจร้านอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของต้นทุนธุรกิจ ด้วยสภาวะอากาศที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในหลายประเทศทำให้ราคาวัตถุดิบอาจปรับขึ้นได้โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบนำเข้าอย่างนมผง เนย ชีส โกโก้ และแป้งสาลี โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าในปี 2568 ยังทรงตัวสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนในกลุ่มร้านเบเกอรี่และอาหารตะวันตกค่อนข้างมาก
• พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจบริการโดย “ความแปลกใหม่+ประสบการณ์+สุขภาพ+ราคาสมเหตุสมผล” ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำและเปลี่ยนแปลงตามกระแสอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ได้เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า ธุรกิจร้านอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่น่าสนใจ ได้แก่ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU จากแผนการขยายสาขา ขายแฟรนไชส์ การวางขายสินค้าใน Modern Trade ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ได้รับกระแสนิยมทุกปี
อีกทั้ง 9 เดือนแรกปี 2567 AU สามารถทำยอดขายได้ถึง 210.22 ล้านบาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) คาด AU ในไตรมาส 4/2567 บริษัทจะยังคงเติบโต YoY, QoQ จากการขยายรายได้ในทุกช่องทาง ได้แก่ รักษา SSSG ที่เป็นบวก (เทียบกับ 4.5% ใน ไตรมาส 3/2567) และขยายสาขาเพิ่ม 1-2 แห่ง เป็น 63 สาขาในปี 2567
โดยมีเป้าหมายเพิ่มอีก 10 สาขาในปี 2568 รายได้จากการขายสินค้า AU ขยายการขายใน 7-Eleven เพื่อให้ครอบคลุม 14,000 สาขาภายในต้นปี 2568 (จากปัจจุบันที่ 8,000 สาขา) รวมถึงการจับมือกับการบินไทยในการจำหน่ายขนมปังของ After You ในเที่ยวบินตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2024 ถึง 31 พฤษภาคม 2025 และวางแผนขยายฐานลูกค้า OEM เพื่อเพิ่มสัดส่วนช่องทางนี้จากปัจจุบัน 13% ในไตรมาส 3/2567
ฝ่ายวิเคราะห์ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2567-2569 ขึ้น 9-14% การปรับเพิ่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขาย 4-7% ซึ่งขับเคลื่อนโดยยอดขายสำหรับร้านขนมหวานที่เติบโตกว่าคาด และการขยายช่องทางการขายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ เช่น 7-Eleven และสายการบินไทย
อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น (65.5% ในปี 2567, 64.7% ในปี 2568-2569) เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นและผลประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด ดังนั้นคาดว่าอัตรากำไรสุทธิจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 18.4% ในปี 2567-2569 เพิ่มขึ้นจาก 14.6% ในปี 2566
คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายใหม่ 12.50 บาท (DCF) ด้วยราคาเป้าหมายที่ปรับขึ้นเป็น 12.50 บาท (จากเดิม 11.50 บาท) อิงจาก DCF โดยสมมติฐาน Rf 2.5%, RPM 8% และ Beta 0.9 ซึ่งเทียบเท่ากับ 29 เท่า PER ปี 2024F และ PEG ที่ 1.5 เท่า โดยพิจารณาจากการเติบโตกำไร 19% YoY
ที่มา https://www.settrade.com/th/research/businessanalysis