ปรับแต่งการตั้งค่าการให้ความยินยอม

เราใช้คุกกี้เพื่อช่วยให้คุณสามารถไปยังส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำหน้าที่บางอย่าง คุณจะพบข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ทั้งหมดภายใต้หมวดหมู่ความยินยอมแต่ละประเภทด้านล่าง คุกกี้ที่ได้รับการจัดหมวดหมู่ว่า "จำเป็น" จะถูกจัดเก็บไว้ในเบราว์เซอร์ของคุณ เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการทำงานของฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์... 

ใช้งานอยู่เสมอ

คุกกี้ที่จำเป็นมีความสำคัญต่อฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์ และเว็บไซต์จะไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์หากไม่มีคุกกี้เหล่านี้

คุกกี้เหล่านี้ไม่จัดเก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้แบบฟังก์ชันนอลช่วยทำหน้าที่บางอย่าง เช่น แบ่งปันเนื้อหาของเว็บไซต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวบรวมความคิดเห็น และฟีเจอร์อื่นๆ ของบุคคลที่สาม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้วิเคราะห์ใช้เพื่อทำความเข้าใจวิธีการที่ผู้เยี่ยมชมโต้ตอบกับเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัด เช่น จำนวนผู้เข้าชม อัตราตีกลับ แหล่งที่มาของการเข้าชม ฯลฯ

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้ประสิทธิภาพใช้เพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์ดัชนีประสิทธิภาพหลักของเว็บไซต์ซึ่งจะช่วยให้สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นแก่ผู้เยี่ยมชม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้โฆษณาใช้เพื่อส่งโฆษณาที่ได้รับการปรับแต่งตามการเข้าชมก่อนหน้านี้ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

#เศรษฐกิจ


จัดธนบัตร 4 หมื่นล้าน รับใช้จ่ายช่วงสงกรานต์

จัดธนบัตร 4 หมื่นล้าน รับใช้จ่ายช่วงสงกรานต์

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน นางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการสายโครงสร้างพื้นฐานและบริการระบบชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้เตรียมธนบัตรรองรับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2568 ซึ่ง ธปท. ประเมินว่าธนาคารพาณิชย์จะเบิกจ่ายธนบัตรเป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยพิจารณาจากจำนวนวันหยุดยาว และมาตรการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวของภาครัฐ ทั้งนี้ ธปท. ได้เตรียมสำรองธนบัตรชนิดราคาต่าง ๆ ไว้อย่างเพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกและทั่วถึง

พาณิชย์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโตต่อเนื่อง 6 เดือน สะท้อนมุมมองบวกประชาชน

พาณิชย์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโตต่อเนื่อง 6 เดือน สะท้อนมุมมองบวกประชาชน

             หุ้นวิชั่น - นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 6,275 ราย ซึ่งครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 52.0 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกัน เป็นเดือนที่ 6 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงมุมมองเชิงบวกของประชาชนต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกที่เติบโตได้ดีในตลาดสำคัญ นอกจากนี้ มาตรการของภาครัฐที่เข้มงวดกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ช่วยเพิ่ม ความมั่นใจในการทำธุรกรรมของประชาชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัญหาภายในประเทศที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงยังมีปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ความผันผวนของสถานการณ์โลกจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่จะส่งผลกระทบทั้งในภาคการค้าระหว่างประเทศและสถานการณ์ความขัดแย้งโลก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นหรือมีค่ามากกว่าระดับ 50              โดยอยู่ที่ระดับ 52.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.5 ในเดือนก่อน โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น เนื่องจาก (1) การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน อาทิ มาตรการภาษี Easy E-Receipt 2.0 และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ (เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท) เป็นต้น              ซึ่งช่วยลดภาระค่าครองชีพและส่งเสริมภาคธุรกิจ (2) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและยางพารา รวมถึงพืชผลการเกษตรหลายชนิดทยอยเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร (3) การเร่งแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างเข้มงวด ช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชน และ (4) การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีในตลาดส่งออกสำคัญ              ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ด้านเศรษฐกิจไทยส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.15 รองลงมาคือ มาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 14.82 ราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 7.76 เศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 7.33 สังคม/ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 7.22 การเมือง คิดเป็นร้อยละ 3.90 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 3.86 ภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 2.79 และอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 2.17 ตามลำดับ              ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภูมิภาค จำนวน 5 ภูมิภาค พบว่า ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น 4 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 54.9 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 52.2 ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 51.0 และภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 50.6 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้มีความเชื่อมั่นคือ เศรษฐกิจไทย สังคม/ความมั่นคง มาตรการ ของภาครัฐ และเศรษฐกิจโลก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของภาคเหนือปรับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่อยู่ต่ำกว่า ช่วงเชื่อมั่นเล็กน้อย ที่ระดับ 49.8              ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายอาชีพ จำนวน 7 อาชีพ พบว่า ทั้ง 7 กลุ่มอาชีพมีดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่นทั้งหมด โดยพนักงานของรัฐ อยู่ที่ระดับ 55.8 ผู้ประกอบการ อยู่ที่ระดับ 53.1 นักศึกษา อยู่ที่ระดับ 52.0 เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 51.8 พนักงานเอกชน อยู่ที่ระดับ 50.9 ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ อยู่ที่ระดับ 50.7 และอาชีพรับจ้างอิสระ อยู่ที่ระดับ 50.4 สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น โดยอยู่ที่ระดับ 43.9              ทั้งนี้ นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาชนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยว่าจะสามารถขยายตัว และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพ การส่งเสริมการส่งออก การสนับสนุนสินค้าเกษตร และการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายของประชาชน ตลอดจนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 คาดว่าจะช่วยลดความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้สินภาคธุรกิจ และกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น              นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้จัดโครงการ "ชูใจ วัยเก๋า 60+" ซึ่งเป็นการสานต่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านผู้สูงอายุที่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และแพลตฟอร์มออนไลน์ กว่า 200 ราย ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบริการ และกลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ในราคาถูกลง ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 30 เมษายน 2568 ซึ่งการดำเนินโครงการนี้ จะช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพ เพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย และคาดว่าจะช่วยสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและทั่วประเทศ

เปิดผลสำรวจ! 61% จาก 41 ซีอีโอไทย ชี้ธุรกิจรอดยากในทศวรรษหน้า หากไม่ปรับตัว

เปิดผลสำรวจ! 61% จาก 41 ซีอีโอไทย ชี้ธุรกิจรอดยากในทศวรรษหน้า หากไม่ปรับตัว

              หุ้นวิชั่น - PwC ประเทศไทย เผยรายงานผลสำรวจล่าสุดพบซีอีโอไทยแสดงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโลกลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 67 ขณะที่มองการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังในปี 2568 ส่งผลให้แผนการเพิ่มจำนวนพนักงานลดลง และมากกว่าครึ่งยังไม่มีแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่การลงทุนใน GenAI และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ซีอีโอไทยคาดหวังว่าจะช่วยพลิกโฉมรูปแบบธุรกิจใหม่ในอนาคต ‘รายงานผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 28 ฉบับประเทศไทย: ปฏิรูปรูปแบบธุรกิจ เพื่อพิชิตโลกอนาคต’ ของ PwC ประเทศไทย ยังได้แนะนำให้ผู้บริหารระดับสูงต้องมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มคุณค่าใหม่จากการดำเนินงาน               นาย พิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ซีอีโอไทยมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโลกลดลงเล็กน้อย โดย 44% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2568 (ลดลง 1% จากปีก่อน) และ 51% กล่าวว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะดีขึ้นในปีนี้  (ลดลง 1% จากปีก่อน) ขณะที่ 27% แสดงความเชื่อมั่นในระดับสูงหรือสูงมากต่อรายได้ของบริษัทในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 44% สำหรับแนวโน้มในช่วงสามปีข้างหน้า นอกจากนี้ ซีอีโอไทย 61% กล่าวว่าธุรกิจของตนจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในทศวรรษหน้า หากยังดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเดิม ๆ ซึ่งลดลงจากการสำรวจเมื่อปีก่อนที่ 67%               “ซีอีโอไทยมีแนวโน้มที่จะดำเนินกลยุทธ์์ด้วยความระมัดระวังมากขึ้นในปีนี้ แม้ว่าจะมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้และความสามารถในการดำเนินธุรกิจของตนเอง เนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและโลกด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ยังคงกดดัน sentiment โดยรวมของการลงทุนและการขยายกิจการใหม่ ๆ อย่างไรก็ดี มีซีอีโอไทยจำนวนไม่น้่อยที่กำลังปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองเพื่อความอยู่รอด โดยในปีที่ผ่านมา เราเห็นหลายธุรกิจตื่นตัวในเรื่องของ AI การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งแสวงหาโอกาสในการสร้างคุณค่าด้วยวิธีการใหม่ ๆ มากขึ้นและโฟกัสไปที่การสร้างรายได้จากธุรกิจหลัก” นาย พิสิฐ กล่าว              ทั้งนี้ รายงานฉบับประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘รายงานผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 28 ของ PwC’ ได้รวบรวมความคิดเห็นของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้น 4,701 ราย ซึ่งรวมถึงซีอีโอจากประเทศไทย จำนวน 41 ราย ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 8 พฤศจิกายน 2567             สำหรับปัจจัยความเสี่ยงที่สร้างความกังวลให้กับผู้นำธุรกิจไทยนั้นพบว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค และความเสี่ยงทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามอันดับแรกที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ (24% เท่ากัน) ตามมาด้วยเงินเฟ้อ และการหยุดชะงักของเทคโนโลยี (20% เท่ากัน) และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (15% เท่ากัน)             นอกจากนี้ ซีอีโอไทยยังคงมีความระมัดระวังต่อการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า เห็นได้จากแผนการสรรหาบุคลากรที่ลดลง โดยมีเพียง 29% ที่วางแผนจะเพิ่มจำนวนพนักงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ลดลงจากปีก่อนที่ 33% และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 42% และ 46% ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น ซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง (56%) ยังไม่มีแผนที่จะจัดสรรเงินทุนให้กับการดำเนินงานในต่างประเทศในอีก 12 เดือนข้างหน้า และ 41% ไม่มีแผนที่จะควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในช่วงสามปีข้างหน้า “ในขณะที่ปี 2568 จะเป็นปีที่ซีอีโอบริหารงานด้วยความระมัดระวัง สิ่งสำคัญที่พวกเขาจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้ คือ จะต้องกล้าที่จะปฏิรูปรูปแบบธุรกิจเพื่ือเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้าง ส่งมอบ และสรรหาคุณค่าใหม่” นาย พิสิฐ กล่าว  GenAI และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ             ในช่วงปีที่ผ่านมา ซีอีโอไทยตื่นตัวต่อกระแสการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (generative AI: GenAI) ที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก โดย 30% รายงานว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ 37% พบว่ามีความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น และ 20% ระบุว่าจำนวนพนักงานของธุรกิจเพิ่มขึ้นจากที่ซีอีโอ 33% คาดการณ์ว่าจำนวนพนักงานจะลดลงในปี 2567 แต่อย่างไรก็ดี ยังมีซีอีโอไทย 27% ที่รายงานว่ามีความไว้วางใจใน AI น้อยหรือไม่ไว้วางใจเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการประยุกต์ใช้ AI ที่ยังคงมีอยู่             นอกจากนี้ ซีอีโอไทยยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง หลังผู้นำธุรกิจเริ่มมองเห็นโอกาสทางการตลาดและความต้องการสินค้าและบริการอย่างยั่งยืนที่สูงขึ้นของผู้บริโภค โดย 76% กล่าวว่า พวกเขาได้ลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีที่ผ่านมา ขณะที่ 37% กล่าวว่า สามารถยอมรับอัตราผลตอบแทนสำหรับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ยอมรับได้สำหรับการลงทุนอื่น ๆ และถึงแม้ว่าจะมีซีอีโอไทยเพียง 22% ที่กล่าวว่า องค์กรของตนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผนวกโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ             “ผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้ามาของเทคโนโลยีเกิดใหม่ และเมกะเทรนด์อื่น ๆ กำลังเป็นตัวเร่งให้ผู้นำธุรกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างคุณค่า และตอบสนองความคาดหวังที่เปลี่ยน แปลงไปของลูกค้า กำลังแรงงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ นอกจากนี้ จะต้องนำแนวปฏิบัติการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบมาผนวกกับกลยุทธ์การทำธุรกิจในทุกมิติ ซึ่งถึงแม้ว่าในบางกรณีอาจจะไม่ได้สร้างผลตอบแทนในทันที แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว” นาย พิสิฐ กล่าว 

3 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน! เศรษฐกิจโลกเสียหายหนัก โตชะลอเหลือ 3.2%

3 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน! เศรษฐกิจโลกเสียหายหนัก โตชะลอเหลือ 3.2%

          หุ้นวิชั่น - นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ครบรอบ 3 ปีในวันที่ 24 ก.พ. นี้ ว่านับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งกองกำลังเข้าไปปฏิบัติการทหารในยูเครนเมื่อ 24 ก.พ. 65 และเดินหน้าโจมตีจนสามารถยึดครองดินแดนของยูเครนมาได้มากกว่าหนึ่งในห้า ในขณะเดียวกัน ยูเครนก็ได้รับการสนับสนุนทางทหารจากชาติตะวันตกและพันธมิตร NATO อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งร่วมกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงต่อรัสเซีย เพื่อกดดันให้รัสเซียยุติการสู้รบ จนนำมาสู่วิกฤตการณ์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมาจนถึงขณะนี้ อย่างไรก็ตาม สงครามที่ดำเนินมาเป็นเวลานานถึง 3 ปี กำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ภายหลังการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้เร่งเดินหน้าเปิดทางเจรจาสันติภาพของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ท่ามกลางความหวังว่าความขัดแย้งที่มีแนวโน้มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศษฐกิจการค้าโลกในระยะข้างหน้า สงคราม 3 ปี สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมหาศาล           ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีสาเหตุหลักจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจโลกและไทย เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสู้รบในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ และความผันผวนของราคาพลังงานโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกช่วงปี 2565-2567 เติบโตอย่างอ่อนแอ ที่ 3.6%  3.3% และ 3.2% ตามลำดับ ซึ่งชะลอลงอย่างมากจากระดับ 6.6% ในปี 2564 และยังต่ำกว่าการเติบโตในทศวรรษก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 (ปี 2543-2562) ที่เติบโตเฉลี่ย 3.8% เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลงในปี 2566 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกที่กลับมาหดตัวในรอบ 3 ปี จากผลของการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของประเทศต่าง ๆ ที่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโดยรวม สิ้นปีที่ 3 สู่ 3 ความคาดหวังการยุติสงครามภายในปีนี้           ความหวังแรก : การเจรจายุติสงคราม จุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามในยูเครนเกิดขึ้นภายหลัง การกลับมาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือน ม.ค. 68 ที่ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเพื่อยุติสงครามในยูเครนโดยเร็วที่สุด ซึ่งนำไปสู่การหารือแบบพบหน้ากันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัสเซียที่กรุงริยาดของซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 18 ก.พ.  ที่ผ่านมา เกี่ยวกับแนวทางยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องที่จะฟื้นฟูภารกิจการทูตระหว่างกัน และจะทำงานร่วมกันเพื่อการเจรจายุติสงครามในยูเครน รวมถึงการแต่งตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อการเจรจาสันติภาพที่จะนำไปสู่การยุติสงครามในยูเครน ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือ ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการยุติสงครามในยูเครน แม้ว่ายูเครนและประเทศพันธมิตรในยุโรปไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ แต่ก็เชื่อว่าการประชุมดังกล่าวจะเป็นการปูทางสู่การเจรจาสันติภาพโดยตรงระหว่างประธานาธิบดีรัสเซียกับยูเครนต่อไป           ความหวังที่สอง : หนุนฟื้นเศรษฐกิจโลก สัญญาณการใช้ความพยายามทางการทูตเพื่อยุติการสู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อมานานถึง 3 ปี ไม่เพียงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ขัดแย้งโดยตรงเท่านั้น แต่จะยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย โดย IMF ประเมินเมื่อปลายปี 2567 ว่า หากสงครามสิ้นสุดภายในปลายปี 2568 เศรษฐกิจของยูเครนอาจกลับมาเติบโตถึง 4% ซึ่งสูงกว่าที่ประเมินไว้ในเดือน ต.ค. 67 ที่ 2.5% หลังจากที่เผชิญความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนักจนทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 28.8% ในปี 2565 ขณะที่ทางด้านของรัสเซียเมื่อยอมยุติสงคราม เชื่อว่าชาติตะวันตกจะทยอยผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งจะทำให้รัสเซียกลับเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการกลับมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตอาหารและพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมารัสเซียได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพในการรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แม้จะหดตัว 1.3% ในปี 2565 แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้ถึง 3.6% ในปี 2566-2567           ความหวังที่สาม : ผลักดันเศรษฐกิจการค้าไทย ตลอดช่วงเวลาแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจของรัสเซียจากการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก กระทรวงพาณิชย์มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างความร่วมมือและรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับรัสเซีย โดยแยกประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจออกจากความสัมพันธ์ทางการค้า แม้ว่าการส่งออกไปรัสเซียในปี 2565 จะลดลงจากปี 2564 ถึงกว่า 43.4% แต่ก็กลับมาขยายตัว 40.5% ในปี 2566 และขยายตัวต่อเนื่อง 7.9% ในปี 2567 ด้วยมูลค่า 885.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับระดับการส่งออกในช่วงก่อนเกิดสงครามในยูเครน ขณะที่การส่งออกไปยูเครนที่แม้จะยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดสงครามแต่ก็เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยการส่งออกไปยูเครนขยายตัวถึง 110.5% ในปี 2567 สถานการณ์สงครามและความตึงเครียดทางเศรษฐกิจของรัสเซียที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงหลังจากนี้ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสในการผลักการค้าการลงทุนของไทยกับรัสเซียได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งจะเอื้อประโยชน์ต่อการเร่งรัดเจรจา FTA ไทย-ยูเรเซีย (EAEU) ที่จะช่วยเปิดประตูการค้าการลงทุนกับกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ที่ประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งล้วนเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ของไทย           นายพูนพงษ์ฯ กล่าวปิดท้ายว่า ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์หรือสงครามในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ใช้อาวุธสู้รบหรือสงครามที่ไม่มีการใช้อาวุธอย่างสงครามการค้า กระทรวงพาณิชย์มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด พร้อมทั้งประสานงานกับภาคเอกชนและร่วมมือกันวางแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการค้าไทยในภาพรวม และในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเดินหน้าผลักดันการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมั่นใจว่าจะทำให้การส่งออกไทยในปีนี้บรรลุได้ตามเป้าหมายหรือสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

abs

ปตท. แข็งแกร่งร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน

ดัชนีค่าขนส่งทางถนน Q4/67 เพิ่ม 2.7% รับแรงหนุนเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวโตต่อเนื่อง

ดัชนีค่าขนส่งทางถนน Q4/67 เพิ่ม 2.7% รับแรงหนุนเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวโตต่อเนื่อง

         นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งสูง แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงเช่นกัน การปรับค่าบริการจึงเป็นไปอย่างจำกัด และยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้          ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามกิจกรรมการผลิต ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 2.7 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งในทุกหมวดสินค้าโดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.1 (ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 0.9 (ถ่านหินและลิกไนต์ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ) และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ร้อยละ 0.6 (กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.5 (YoY)          ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (YOY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการสูงขึ้นเกือบทุกประเภทรถที่ใช้บริการขนส่งสินค้า อาทิ รถบรรทุกวัสดุอันตราย ร้อยละ 3.8 รถตู้บรรทุก ร้อยละ 2.8 รถบรรทุกเฉพาะกิจและรถบรรทุกของเหลวสูงขึ้นเท่ากันที่ร้อยละ 2.2 รถกระบะบรรทุก ร้อยละ 1.9 และรถพ่วง ร้อยละ 0.7 ขณะที่ค่าบริการขนส่งรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (YoY) สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ปรับสูงขึ้น ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุน โดยราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศอยู่ระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับอัตราค่าจ้างและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการขนส่งสินค้ามีมากขึ้น ค่าบริการขนส่งสินค้าจึงปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน เกี่ยวกับผลกระทบจากอุทกภัยต่อค่าบริการขนส่งทางถนนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผชิญปัญหา เรื่องต้นทุนการขนส่งสูง แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงเช่นกัน จึงปรับค่าบริการขนส่งสินค้าได้ไม่มากนัก และยังพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 85.58 ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีเพียงร้อยละ 14.42 เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา (กลางเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567) สำหรับผลกระทบที่ได้รับ ได้แก่ เส้นทางขนส่งประจำเสียหาย และทรัพย์สินบริษัทเสียหาย ส่วนความต้องการความช่วยเหลือ จากภาครัฐ อาทิ ลดหรือสนับสนุนราคาน้ำมัน ตามด้วยต้องการเงินช่วยเหลือ และให้เร่งปรับปรุงเส้นทางการขนส่ง            แนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกสินค้า ประกอบกับต้นทุนสำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศที่สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2567 และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงาน และอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือ (พนักงานขับรถบรรทุก) อาจจะปรับขึ้นตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการของภาครัฐ และความเสี่ยงจากการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อาจจะส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ไม่เป็นไปตามที่คาดได้ นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย รวมถึงธุรกิจให้บริการการขนส่งสินค้าในประเทศ อาจจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งเรื่อง ภาระหนี้สินของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนในการดำเนินมาตรการ ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงภาคการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์กับความต้องการ ของผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัลให้มากขึ้น โดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการให้บริการ เพิ่มศักยภาพบุคลากร และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งมอบและผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น

พฤอา
311234567891011121314151617181920212223242526272829301234567891011