เปิด 5 มาตรการรัฐบาลเพื่อไทย
หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า เปิดมาตรการกระตุ้น 5 ด้านของรัฐบาล จะเป็นความหวังให้กับเศรษฐกิจไทย 1.มาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ 2. การลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3. ภาคการเกษตร 4. ภาคการท่องเที่ยวและบริการ และ 5. การบริโภคภาคเอกชน แม้เศรษฐกิจโลกจะยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย-ยูเครนที่ยังอาจจะไม่สงบ รวมไปถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยประเทศที่มีสัดส่วนการค้าต่อ GDP ในระดับสูงมีโอกาสได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากนโยบายของคุณ Donald Trump ที่นำเสนอนโยบายในช่วงหาเสียงว่าจะขึ้นภาษีกับประเทศจีน 60% และประเทศอื่น 10-20% ดังนั้นฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลกระทบไม่น้อย เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยคิดเป็นถึง 60% ของ GDP อีกทั้งยังมีผลกระทบทางอ้อมคือภาคการท่องเที่ยว หากเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว อย่างไรก็ดีฝ่ายวิเคราะห์เห็นถึงศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังมีปัจจัยบวกจากภายในประเทศคือการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้จะยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างจากปัจจัยการเมืองที่ไม่แน่นอน แต่ฝ่ายวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสไม่มากที่จะเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้ง ในวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมซีอีโอระดับโลก (Forbes Global CEO Conference) เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ของเศรษฐกิจไทยว่า การขยายตัวในช่วงที่ผ่านมายังไม่ดีนัก โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงในด้านการพัฒนาต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งในรายละเอียดมาตรการที่คุณแพทองธารนำเสนอมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ประเมินถึงผลกระทบและความเป็นไปได้ของมาตรการระยะสั้น ดังนี้ มาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร เพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นการลงทุน การจ้างงานในธุรกิจโรงแรม สินเชื่อเพื่อซื้อ สร้าง หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มองว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นบวกต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น SIRI, SPALI, ASW, AL และ LH การลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท เร่งการลงทุนผ่าน BOI และ EEC โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ฝ่ายวิเคราะห์มองว่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะเป็นบวกต่อผู้ใช้บริการเดินรถไฟฟ้าอย่าง BTS และ BEM เนื่องจากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายส่วนต่างค่าโดยสารที่ปรับลดลงให้กับผู้เดินรถ ส่วนนโยบายที่เร่งการลงทุนจะเป็นบวกกับกลุ่มรับเหมาก่อสร้างอย่าง CK และ STEC รวมไปถึงกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมอย่าง WHA และ AMATA ภาคการเกษตร โครงการช่วยเหลือเกษตรผ่านโครงการไร่ละ 1,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สินในระยะสั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกรอบใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อการบริโภคในระยะถัดไป เป็นบวกต่อกลุ่ม Domestic Play อย่างไฟแนนซ์และค้าปลีก เช่น CPALL, CPAXT, GLOBAL, SWAD และ TIDLOR ภาคการท่องเที่ยวและบริการ โครงการของขวัญปีใหม่ 2568 เพื่อกระตุ้นจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมไปถึงโครงการอื่นๆ อย่าง "แอ่วเหนือคนละครึ่ง" และงานเฟสติวัลต่างๆ ในช่วงเทศกาล ซึ่งภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีสัดส่วนสูงต่อเศรษฐกิจไทย และภาครัฐยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมนี้จึงยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ฝ่ายวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวก เพราะนอกจากจะสนับสนุนกลุ่มการท่องเที่ยวแล้ว ยังได้ประโยชน์ในทางอ้อมต่อกลุ่ม Domestic Play เนื่องจากจะช่วยให้รายได้ของภาคบริการขยายตัวได้ต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชน โครงการช่วยเหลือเงินอุดหนุนค่าครองชีพ เริ่มจากกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีบัตรสวัสดิการและผู้สูงอายุ โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการอาชีพอิสระ โครงการแก้ปัญหาหนี้สิน โดยการลดภาระของลูกหนี้ ซึ่งจะครอบคลุมถึงลูกหนี้กว่า 3 ล้านบัญชี