#หุ้นกู้ไทย


แนวโน้มตลาดหุ้นกู้ และหุ้นกู้เสนอขายต้นปี 68 [HoonVision x FynnCorp]

แนวโน้มตลาดหุ้นกู้ และหุ้นกู้เสนอขายต้นปี 68 [HoonVision x FynnCorp]

            หุ้นวิชั่น - หุ้นกู้ครบกำหนดปี 2568 มูลค่ากว่า 860,000 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade กว่า 75% ซึ่งเป็นหุ้นกู้กลุ่มที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะที่ความเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศยังไม่กลับมา จากเหตุการณ์หุ้นกู้ผิดนัดชำระ ส่งผลให้หุ้นกู้กลุ่ม High Yield ยังคงให้ผลตอบแทนที่สูงตามความเสี่ยง             หุ้นกู้กลุ่ม ENERG, FIN, PROP ยังคงมีมูลค่าคงค้างมากสุดตามลำดับ สะท้อนจากมูลค่าการออกหุ้นกู้ในปี 2567 มากสุดและหุ้นกู้ครบกำหนดปี 2568 สูงสุดรวมมูลค่าเกือบ 449,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ของมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดชำระทั้งหมดในปีนี้ ทำให้ปี 2568 เราอาจเห็นหุ้นกู้ roll over จาก 3 กลุ่มนี้มาก             หุ้นกู้เสนอขายต้นปี 2568 ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม PROP และ ENERG ซึ่งเราได้เปรียบเทียบโดยดูจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน และ ความสามารถในการชำระดอกเบี้ยของผู้ออกแต่ละราย ซึ่งจะสะท้อนความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินระยะสั้นเบื้องต้น ภาพรวมในปีที่ผ่านมาและแนวโน้มตลาดหุ้นกู้ 2568             ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ของไทยในปี 2567 ได้เผชิญกับภาวะดอกเบี้ยที่ยังคงสูง ก่อนที่ในเดือนตุลาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% ต่อปี มาเป็น 2.25% ต่อปี ซึ่งทาง กนง. มองว่าเป็นการลดในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ และในเดือนธันวาคม กนง. ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เนื่องจากสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งถูกประเมินไว้ที่ 2.7% และ 2.9% สำหรับปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ท่ามกลางเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานในปี 2567 - 68 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนหน้าและยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการปรับลดดอกเบี้ยที่ผ่านมา เป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางใหญ่ในโลกที่มีการปรับลดลงก่อนหน้าอย่าง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางสวิส (SNB) ธนาคารกลางแคนาดา (BoC) และตามด้วยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่ตลาดคาด             โดยตลอดทั้งปี 2567 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รายงาน กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) มีมูลค่าการขายสะสมสุทธิประมาณ 67,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากผลรวมของการขายตราสารหนี้ในช่วงครึ่งแรกของปีจากการที่ Fed ยังคงดอกเบี้ยระดับสูง และในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ภายหลังที่ กนง. ปรับลดดอกเบี้ย จึงอาจส่งผลให้ Fund flow ในช่วงดังกล่าวไหลออก ต่อมา เดือนธันวาคม มียอดซื้อสุทธิอยู่ที่ 5,870 ล้านบาท จากความคาดหวังของนักลงทุนต่างชาติที่มองทิศทางดอกเบี้ยไทยอาจลดลงในอนาคต ประกอบกับความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งสะท้อนผ่านการเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะยาวรวม 20,232 ล้านบาทในเดือนธันวาคม             อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 2567 เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government Bond Yield Curve) ปรับตัวลดลงในรุ่นอายุหลักเดือน แต่ปรับตัวสูงขึ้นในรุ่นอายุ 3 ปีขึ้นไป สะท้อนสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติที่ยังน้อย (5.4% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย) อาจไม่ส่งผลต่อ Yield อย่างมีนัยสำคัญมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักลงทุนในประเทศที่อาจมองแนวโน้มตลาดต่างออกไป ทำให้ Yield ระยะยาวสูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงตามมุมมองนักลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2568 จะยังสูงโดยเฉพาะในหุ้นกู้กลุ่ม Non-Investment Grade ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังไม่กลับมาจากเหตุการณ์ผิดนัดชำระและเลื่อนนัดชำระของผู้ออกหุ้นกู้ตลอด 2 ปีมานี้ รวมถึงความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจ             จากปัจจัยข้างต้น ส่งผลให้มูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในปี 2567 ลดลงมาอยู่ที่ 908,186 ล้านบาท หรือลดลง 8.62% จากปี 2566 ซึ่งมีมูลค่าเสนอขาย 993,895 ล้านบาท โดยเฉพาะหุ้นกู้กลุ่ม High Yield (Non-investment grade และ non-rated) ที่มีมูลค่าการออกลดลงถึง 38.7% YoY ขณะที่หุ้นกู้ Investment Grade มีมูลค่าการออกใกล้เคียงปีก่อน (-2.7% YoY) สะท้อนว่าหุ้นกู้ในกลุ่มนี้ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอยู่             หากดูเป็นรายกลุ่มธุรกิจ (Sector) พบว่า กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) เป็น sector ที่มีการออกหุ้นกู้มากที่สุดในปี 67 มูลค่า 155,919 ล้านบาท ตามมาด้วย กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) 134,894 ล้านบาท และ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) 128,889 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้ง 3 เป็นกลุ่มมีมูลค่าคงค้างในตลาดปัจจุบันมากสุด และยังเป็นกลุ่มที่จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดในปี 2568 มากที่สุดตามลำดับ รวมมูลค่า 448,951 ล้านบาท จากยอดหุ้นกู้เอกชนที่จะครบกำหนดในปี 2568 ทั้งหมด 862,391 ล้านบาท ดังนั้น เป็นไปได้ที่เราจะเห็นหุ้นกู้ roll over โดยเฉพาะของ 3 กลุ่มนี้ในปี 2568 ค่อนข้างมาก หุ้นกู้เสนอขายต้นปี 2568             ในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2568 มีหุ้นกู้เสนอขายในหลายกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) และพลังงาน (ENERG) โดยเราได้รวมหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็น 6 sector ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีมูลค่าหุ้นกู้คงค้างในตลาดปัจจุบันมากสุดติด 9 อันดับแรก พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับผู้ออกในกลุ่มเดียวกัน ดังนี้ Sector: Property Development (PROP)             กลุ่ม PROP ยังคงเป็นกลุ่มที่มีการออกหุ้นกู้มาอย่างต่อเนื่อง และมีหุ้นกู้ออกมาในต้นปีนี้จำนวน 9 บริษัท ได้แก่ S, Noble, MQDC, DHOUSE, SIRI, AP, SC, CWTTG และ ORI ด้วยอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 4.50% ไปจนถึง 7.50% ต่อปีตาม Rating องค์กรและหุ้นกู้ โดยเราได้เปรียบเทียบอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ในกลุ่มผู้ออก sector เดียวกัน เพื่อสะท้อนโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ยิ่งมีค่าสูงแสดงถึงโครงสร้างเงินทุนที่มีหนี้สินมากกว่าส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (ICR) ถ้าค่านี้สูง แสดงถึงความสามารถของบริษัทในการจ่ายดอกเบี้ยจากกำไร (EBIT) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางการเงินในระยะสั้น             จากกราฟด้านล่าง แสดงให้เห็นว่า DHOUSE และ AP มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำกว่า 1 แสดงถึงการมีส่วนเงินทุนของตัวเองมากกว่าหนี้สิน ขณะที่ AP, SC, SIRI และ S มีอัตราส่วน ICR มากกว่า 2 สะท้อนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่แข็งแกร่งและบริหารต้นทุนดอกเบี้ยที่โดดเด่นกว่าผู้เล่นอื่น Sector: Energy & Utilities (ENERG)             หุ้นกู้กลุ่ม ENERG เสนอขายต้นปี 2568 มีจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ BSRC, AGE และ SUPER ซึ่งหากดูค่า D/E ratio ตามกราฟด้านล่าง จะเห็นว่า BSRC มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า AGE และ SUPER ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2567 และมีค่า ICR สูงกว่า สะท้อนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่สูงตามมา Sector: Finance & Securities (FIN)             กลุ่ม FIN เป็น Sector ที่มีมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดชำระในปี 2568 มากที่สุด ด้วยมูลค่า 184,204 ล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ที่เสนอขายปัจจุบัน ได้แก่ MTC และ SCAP แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน หากเปรียบเทียบทั้ง 2 บริษัท จะพบว่า SCAP มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนน้อยกว่า ในขณะที่ MTC แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่สูงกว่า Sector: Food & Beverage (FOOD)             สำหรับกลุ่ม FOOD ที่เสนอขายหุ้นกู้ในปัจจุบัน ได้แก่ บริษัท CPF และ BTG ซึ่งทั้งคู่มี Rating องค์กรและหุ้นกู้เป็น A โดยหากเปรียบเทียบทั้ง 2 ผู้ออก จะพบว่า BTG มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำกว่า และ มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับ CPF Sector: Information & Communication Technology (ICT)             กลุ่ม ICT ประกอบไปด้วย TRUE เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป และ INET เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว TRUE จะมีอัตราส่วนที่สูงกว่าทั้งอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่สูงกว่าเช่นกัน Sector: Transportation & Logistics (TRANS)             กลุ่ม TRANS ได้แก่ BTSG และ TTA ซึ่งหากวิเคระห์อิงจาก D/E และ ICR พบว่า TTA มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยได้ดีกว่า ขณะที่ BTSG พึ่งพาหนี้สินในโครงสร้างทางการเงินมากกว่า เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Infrastructure) และลักษณะธุรกิจของ BTSG ที่มีระยะเวลาคืนทุนยาวจากรายได้หลักมาจากค่าบริการผู้โดยสาร ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจของ TTA ที่เป็นธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ             หมายเหตุ: การเปรียบเทียบอัตราส่วนข้างต้น เป็นการวิเคราะห์ความน่าลงทุนเบื้องต้น ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดและวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มเติมได้ในเอกสาร fact sheet รวมไปถึง สภาพคล่องและลักษณะธุรกิจของแต่ละบริษัทผู้ออก เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน อ่านรายละเอียดเพิมเติม https://app.visible.vc/shared-update/ab0b9719-0f5e-405a-aa09-ee837232663d

ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ไทย มูลค่าหุ้นกู้เสนอขาย ก.ย. ลดลง 32.85% [HoonVision x FynnCorp]

ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ไทย มูลค่าหุ้นกู้เสนอขาย ก.ย. ลดลง 32.85% [HoonVision x FynnCorp]

Key Highlights: • (Figure 1) ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 มูลค่าตราสารหนี้คงค้างเฉพาะที่เป็นตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชน มีมูลค่าอยู่ที่ 4.35 ล้านล้านบาท ลดลง 0.46% (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในปัจจุบันมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2567 มูลค่าคงเหลือ 0.21 ล้านล้านบาท จากยอดครบกำหนดของทั้งปีที่ 0.89 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 4.8% ของมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวคงค้างทั้งหมด Figure 1 : Outstanding Value of Long-term Bond with Maturity • ในเดือนกันยายน NWR และ EP ได้ขอเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ออกไป ส่งผลให้สถานการณ์ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีผู้ออกหุ้นกู้ขอเลื่อนชำระรวมอยู่ที่ 12 ราย ขณะที่หุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระของปีนี้ ยังคงอยู่ที่ 3 ราย (DP: Default Payment) แม้จะมีหุ้นกู้ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย DP เพิ่มในเดือนกันยายนอย่าง WTX แต่บริษัทก็ได้ชำระดอกเบี้ยเป็นที่เรียบร้อยภายในเดือนเดียวกัน • จากสถานการณ์หุ้นกู้ข้างต้น ยิ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น จนส่งผลต่อบริษัทผู้ออกระดมทุนผ่านหุ้นกู้ได้ยากขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหม่และบริษัทที่ออกหุ้นกู้ในกลุ่ม High-Yield ซึ่งเรามองว่าได้มีส่วนที่ทำให้มูลค่าหุ้นกู้เสนอขายในเดือนกันยายนนี้ลดลง 32.85% YoY • (Figure 2) กลุ่มธุรกิจพลังงาน (ENERG) กลุ่มเงินทุน (FIN) และ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีหุ้นกู้คงค้างในตลาดปัจจุบันมากที่สุดตามลำดับ โดยกลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ มีสัดส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคงเหลือภายในปีมากที่สุด ด้วยมูลค่า 45.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 8.5% ของมูลค่าคงค้างรวมในกลุ่ม ขณะที่รองลงมา เป็นกลุ่มอสังหาฯ ด้วยมูลค่าที่จะครบกำหนดภายในปีเหลือ 39.1 พันล้านบาท หรือ 8% ของมูลค่าคงค้างรวมในกลุ่ม Figure 2 : Outstanding Value of Long-term Bond with Maturity by Sector หุ้นกู้เสนอขายในเดือนกันยายน 2567 •ในเดือนกันยายน 2567 ตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับทาง ThaiBMA จำนวน 37 รุ่น จาก 18 บริษัท มูลค่ารวม 62.89 พันล้านบาท ลดลง 22.61% MoM และลดลง 32.85% YoY เรามองว่าส่วนหนึ่งยังมาจากบริษัทผู้ออกกำลังดูแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะมีการประชุมในวันที่ 16 ตุลาคม 67 นี้ •ผู้ออกรายใหญ่ในเดือนกันยายน ได้แก่ GULF และ BJC ซึ่งมีมูลค่าการออกหุ้นกู้รวม 38.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 60.42% ของมูลค่าผู้ออกหุ้นกู้รวมในเดือน •หากไม่นับกลุ่มสถาบันการเงิน มูลค่าการระดมทุนจะอยู่ที่ 61.8 พันล้านบาท สะท้อนว่าในเดือนกันยายนบริษัทในกลุ่มสถาบันการเงินมีการออกหุ้นกู้น้อยเมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมาของปีนี้ •หุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนที่เสนอขายในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย หุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade ทั้งหมด 22 รุ่น (Issue rating) ได้แก่ BJC, GULF, NOBLE, BGRIM, BEM, SJWD, PRIN, UNIQ, KTX •ส่วนหุ้นกู้กลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิตจำนวน 15 รุ่น (Issue rating) จาก FSX, NUSA, CHAYO, GRAND, RML, DTP, NCH, FPT, PTTC •FSX (FINANSIA X PUBLIC COMPANY LIMITED) เป็นผู้ออกตราสารหนี้ระยะยาวรายใหม่ในเดือนกันยายน • (Table 2) จากตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ขึ้นทะเบียนในเดือนกันยายน เราพบว่าส่วนใหญ่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมาย ยกเว้น 6 บริษัทจากทั้งหมด 18 บริษัทผู้ออก ส่วนหนึ่งเรามองว่านักลงทุนมีตัวเลือกจากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้รายใหญ่ที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงและนักลงทุนยังคงมีความระมัดระวังในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง Table 2: Long- Term Corporate Bonds for Sales Registered in September 2024 การปรับอันดับเครดิตองค์กร (Issuer Rating) ในเดือนกันยายน 2567 TRIS Rating เพิ่มอันดับ เครดิตองค์กร 3 แห่ง คือ BCP BSRC และ BBGI ลดอันดับ เครดิตองค์กร 7 แห่ง คือ PSH PS EP AGE SG LALIN และ LH การปรับเพิ่มอันดับเครดิต •BCP (Bangchak Corporation) ถูกปรับเพิ่มอันดับเครดิตจาก A เป็น A+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable จากการที่บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) ทำให้บริษัทมี EBITDA เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6.0-7.0 พันล้านบาทต่อปี รวมถึงกำลังการผลิตของโรงกลั่นและปริมาณการขายผ่านช่องทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นมาจากการขยายขนาดของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งการบูรณาการในแนวดิ่งและการลงทุนที่กระจายตัว ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นต่อความผันผวนของราคา โดยการปรับเพิ่มอันดับของ BCP ได้ส่งผลต่อการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทย่อยอย่าง BSRC จาก A เป็น A+ และ BBGI จาก A- เป็น A การปรับลดอันดับเครดิต PSH (Pruksa Holding) ถูกปรับลดอันดับเครดิตจาก A- เป็น BBB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable เนื่องจากผลการดำเนินงานยังคงอ่อนแอกว่าคาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความเสี่ยงจากการลงทุนขนาดใหญ่และภาระหนี้ของกลุ่มบริษัทที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการปรับลดของบริษัทย่อยหลักอย่าง PS (Pruksa Real Estate) ในอันดับเดียวกัน EP (Eastern Power Group) ถูกปรับลดจากเดือนก่อนอีกครั้ง จาก BB เป็น BB- ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Negative เนื่องจากสภาพคล่องที่อ่อนแอ ส่งผลต่อความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่สามารถชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะอันใกล้ได้ ซึ่งบริษัทได้รับอนุมัติการขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไป 1 ปีเป็นที่เรียบร้อย AGE (Asia Green Energy) ถูกปรับลดจาก BBB- เป็น BB+ แนวโน้มอันดับเครดิตยังคง Negative สะท้อนความสามารถในการทำกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง และความไม่แน่นอนของการเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัท เอเชีย ไบโอแมส ซึ่งทริสมองว่าการรวมบัญชีงบการเงินของ ABM จะส่งผลให้สถานะการเงินบริษัทด้อยลงได้ SG (S 11 Group) ถูกปรับลดจาก BBB- มาอยู่ที่ BB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable สะท้อนผลการดำเนินงานที่อ่อนแอจากการลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อภายหลังการบังคับใช้เพดานดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ LALIN (Lalin Property) ถูกปรับลดจาก BBB+ เป็น BBB แนวโน้มอันดับเครดิต Stable สะท้อนผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าคาดและภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อบ้านที่อ่อนแอลง LH (Land and Houses) ถูกปรับลดจาก A+ เป็น A แนวโน้มอันดับเครดิตยังคง Stable ต่อเนื่อง การปรับลดสะท้อนผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดและระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สรุปภาพรวมใน 9 เดือนแรก 2567 ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร 33 แห่ง ขณะที่เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร 12 แห่ง หุ้นกู้เสนอขายใหม่ •สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะเสนอขายในช่วงกลางเดือนตุลาคม ได้แก่ TSE, TAA, CMC, TBEV, TNL, CIMBT, JMT, WEH, PF และในต้นเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ PF, SST, ADVANC (Table 1) เราได้จัดทำตารางที่แสดงค่าเฉลี่ยของอัตราคูปองหุ้นกู้ที่อายุ 2 ปี แยกตามเรทติ้ง (Issue Rating) และอุตสาหกรรมของหุ้นกู้ที่จะเสนอขายดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบเบื้องต้นให้กับผู้ที่สนใจ อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม คลิก https://app.visible.vc/shared-update/52af336a-9226-4a1c-85f9-1448ca47d4b8 LINE OA FynnCorp  https://lin.ee/wiSLCuK