#หุ้น


IPO ปิดแรงสุดแห่งปี! LTS-APO-SEI เกิน100%

IPO ปิดแรงสุดแห่งปี! LTS-APO-SEI เกิน100%

หุ้นวิชั่น – เปิดหุ้น First Trading Day ปี 67 ผลตอบแทนสูง 5 อันดับ ได้แก่ LTS สุดเจ๋ง! ปิดเหนือจองสูงสุด +201.67% รองลงมาคือ APO ปิด +114.14% ต่อด้วย SEI ปิดที่ +103.23% TERA ปิดที่ +60.00% และ BPS ปิดที่ +36.67%           ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบ บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ปี 2567 ทั้งหมด 18 บริษัท ประกอบไปด้วย บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ EURO เข้าจดทะเบียนในวันที่ 14 ก.พ. 2567 บริษัท แนท แอบโซลูท เทคโนโลยีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NAT เข้าจดทะเบียนในวันที่ 15 ก.พ. 2567 บริษัท เพเนเล่ส์มาติก โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ  PANEL เข้าจดทะเบียนในวันที่ 22 ก.พ. 2567 บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO เข้าจดทะเบียนในวันที่ 2 เม.ย. 2567           บริษัท บีพีเอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ BPS เข้าจดทะเบียนในวันที่ 3 เม.ย. 2567 บริษัท คิวทีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ QTCG เข้าจดทะเบียนในวันที่ 4 เม.ย. 2567 บริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ TERA  เข้าจดทะเบียนในวันที่ 24 เม.ย. 2567 บริษัท สโตนวัน จำกัด (มหาชน) หรือ STX เข้าจดทะเบียนในวันที่ 26 เม.ย. 2567 บริษัท ไลท์อัพ โทเทิล โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ LTS เข้าจดทะเบียนในวันที่ 17 พ.ค. 2567           บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ  MAGURO เข้าจดทะเบียนในวันที่ 5 มิ.ย. 2567 บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด (มหาชน) หรือ CFARM เข้าจดทะเบียนในวันที่ 6 มิ.ย. 2567 บริษัท ไนซ์ คอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCP เข้าจดทะเบียนในวันที่ 31 ก.ค. 2567 บริษัท พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMC เข้าจดทะเบียนในวันที่ 11 ก.ย. 2567 บริษัท เอสอีไอ เมดิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ SEI เข้าจดทะเบียนในวันที่ 24 ก.ย. 2567           บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) หรือ TATG เข้าจดทะเบียนในวันที่ 8 ต.ค. 2567 บริษัท อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ IROYAL เข้าจดทะเบียนในวันที่ 5 พ.ย. 2567 บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPJ เข้าจดทะเบียนในวันที่ 6 พ.ย. 2567 บริษัท อินสไปร์ ไอวีเอฟ จำกัด (มหาชน) หรือ IVF เข้าจดทะเบียนในวันที่ 11 ธ.ค. 2567 และพบ 11 บริษัทจดทะเบียนวันแรกยืนเหนือจอง ประกอบไปด้วย NAT ปิดเหนือจอง +27.78% หรือปิดที่ 6.90 บาท จากราคาที่ IPO 5.40 บาท APO ปิดเหนือจอง +114.14% หรือปิดที่ 2.12 บาท จากราคาที่ IPO 0.99 บาท BPS ปิดเหนือจอง +36.67% หรือปิดที่ 1.23 บาท จากราคาที่ IPO 0.90 บาท TERA ปิดเหนือจอง +60.00% หรือปิดที่ 2.80 บาท จากราคาที่ IPO 1.75 บาท LTS ปิดเหนือจอง +201.67% หรือปิดที่ 9.05 บาท จากราคาที่ IPO 3.00 บาท MAGURO ปิดเหนือจอง +22.01% หรือปิดที่ 19.40 บาท จากราคาที่ IPO 15.90 บาท           CFARM ปิดเหนือจอง +10.37% หรือปิดที่ 1.49 บาท จากราคาที่ IPO 1.35 บาท NCP ปิดเหนือจอง +1.00% หรือปิดที่ 2.02 บาท จากราคาที่ IPO 2.00 บาท PMC ปิดเหนือจอง +1.65% หรือปิดที่ 1.85 บาท จากราคาที่ IPO 1.82 บาท SEI ปิดเหนือจอง +103.23% หรือปิดที่ 6.30 บาท จากราคาที่ IPO 3.10 บาท TATG ปิดเหนือจอง +23.20% หรือปิดที่ 1.54 บาท จากราคาที่ IPO 1.25 บาท โดยแสดงเป็นตารางและเรียงลำดับผลตอบแทนได้ ดังนี้ ที่มา https://www.settrade.com/th รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

WHA ย้ำศักยภาพนิคมฯ ไทย ลุยกรีนโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมใหม่ปี 68

WHA ย้ำศักยภาพนิคมฯ ไทย ลุยกรีนโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมใหม่ปี 68

          หุ้นวิชั่น-WHA ย้ำไทยยังเนื้อหอม ชูจุดเด่นโครงสร้างพื้นฐานครบครัน แรงงานฝีมือ และซัพพลายเชนแข็งแกร่ง ดันยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมพุ่งกว่า 2,500 ไร่ในปีนี้ พร้อมลุยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ EV และดาต้าเซ็นเตอร์ เดินหน้าผลักดันกรีนโลจิสติกส์ ยกระดับ ESG รับมือเมกะเทรนด์และดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกในปี 2568          นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ปิดเผยว่าภาพรวมธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมไทยก็มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบยประเทศไทยและเวียดนามถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในด้านนิคมอุตสาหกรรม แต่ต่างก็มีจุดเด่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าคนละกลุ่ม โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำ ไฟฟ้า ขนส่ง โทรคมนาคม รวมถึงระบบซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนแรงงานฝีมือ (Skill Labor) ที่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายยังมีความมั่นคงและเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน เวียดนามมีจุดเด่นในเรื่องของแรงงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมต้นทุนต่ำ จึงจับกลุ่มลูกค้าต่างกลุ่มกัน อุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมมาลงทึนในไทย ได้แก่ ยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งรวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของฐานอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขยายฐานอุตสาหกรรมใหม่: โอกาสการเติบโตในไทย          ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ต้อนรับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมและศักยภาพในการรองรับการลงทุนใหม่ๆ ด้านราคาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม WHA Corporation มีการขายที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากก่อนช่วงโควิด-19 ที่ขายได้ประมาณ 1,000 ไร่ หรือมีการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพื่อรองรับดีมานด์จากนักลงทุนหลากหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป โครงสร้างธุรกิจ WHA และเป้าหมายการเติบโต          WHA Corporation มีโครงสร้างธุรกิจ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจโลจิสติกส์: ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 ล้านตารางเมตร 2. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม: ดำเนินงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 12 แห่ง 3. ธุรกิจน้ำและไฟฟ้า: มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเกือบ 1,000 เมกะวัตต์ 4. ธุรกิจดิจิทัล: มุ่งเน้นนำ AI มาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสรายได้ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล          รายได้ของ WHA แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ รายได้จากการขาย และรายได้ประจำ โดยสัดส่วนอยู่ที่ 50:50 แต่ในบางช่วงรายได้จากการขายที่ดินอาจสูงขึ้นตามยอดขายที่ดินที่เพิ่มขึ้น ผลประกอบการและทิศทางอนาคต          ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ธุรกิจโลจิสติกส์มีการเติบโตต่อเนื่อง และยอดขายที่ดินปีนี้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ไร่ ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตที่แข็งแกร่ง          สำหรับปี 2568 บริษัทคาดการณ์ว่าภาพรวมจะดีต่อเนื่อง พร้อมผลักดันแนวคิดกรีนโลจิสติกส์ (Green Logistics) และยกระดับมาตรฐาน ESG ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก

SC ขายหุ้น SC L1 ให้โตเกียวทาเทโมโนะ ร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

SC ขายหุ้น SC L1 ให้โตเกียวทาเทโมโนะ ร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

          หุ้นวิชั่น - บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC Asset เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขายหุ้นในบริษัท เอสซี แอล1 จำกัด (SC L1) จำนวน 2,450,000 หุ้น รวมมูลค่า 17,150,000 บาท ให้แก่บริษัท โตเกียว ทาเทโมโนะ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TTT เพื่อร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยมีรายละเอียดดังนี้: • ชื่อบริษัท: บริษัท เอสซี แอล1 จำกัด (SC L1) • ทุนจดทะเบียน: 50,000,000 บาท (แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 5,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท) • โครงสร้างการถือหุ้น: 1. SC Asset ถือหุ้น 50.99% และบุคคลธรรมดา 0.01% 2. TTT ถือหุ้น 49% วัตถุประสงค์ของการลงทุน           เพื่อร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย โดยความร่วมมือครั้งนี้คาดว่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของทั้งสองบริษัท และตอบสนองความต้องการของตลาดที่อยู่อาศัยในอนาคต.

ปตท. คว้าอันดับ 1 โลกความยั่งยืนจาก S&P Global พร้อมมุ่งมั่นเติบโตยั่งยืนระดับโลก

ปตท. คว้าอันดับ 1 โลกความยั่งยืนจาก S&P Global พร้อมมุ่งมั่นเติบโตยั่งยืนระดับโลก

          หุ้นวิชั่น - วันนี้ (23 ธันวาคม 2567) – ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับคะแนนการประเมินด้านความยั่งยืน (Corporate Sustainability Assessment : CSA) ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2567 เป็นอันดับที่ 1 ของโลก ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Upstream & Integrated (OGX) และได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Index) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดำเนินธุรกิจบนหลักการ “ยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีพันธกิจในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย สร้างการเติบโตควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก           นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่ม ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI อีกด้วย           Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) เป็นดัชนีหลักทรัพย์ของบริษัทชั้นนำระดับสากลกว่า 3,500 บริษัททั่วโลก ที่ผ่านการประเมินความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Assessment: CSA) และคัดกรองโดย S&P Global ถือเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลจากผู้ลงทุนสถาบันและกองทุนต่าง ๆ ทั่วโลก

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต

          หุ้นวิชั่น - วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2567 | ฉบับที่ 281 / 2567 ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) (TSF) กับพวกรวม 6 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่บริษัท พร้อมทั้งรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในปี 2563 และได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในระหว่างปี 2560 - 2561 นายอรัญ อภิจารี ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF* และกรรมการ บริษัท ทีเอสเอฟ เอ็กซ์ตร้า จำกัด (บริษัทย่อย) ในขณะนั้น มีการทุจริตผ่านบริษัทย่อย โดยการทำสัญญาติดตั้งสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์บริเวณตู้โทรศัพท์สาธารณะกับบริษัท จี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด (GISP) (สัญญาหลัก) โดยระบุให้บริษัทย่อยจ่ายเงินค่ารับโอนสิทธิ จำนวน 3 ล้านบาท ให้ GISP แต่เงินดังกล่าวถูกโอนกลับไปให้นายอรัญ ต่อมาบริษัทย่อยทำสัญญาเพิ่มเติมจากสัญญาหลัก เพื่อจ่ายเงินค้ำประกัน จำนวน 50 ล้านบาท ให้ GISP แต่เงินดังกล่าวถูกโอนไปให้บริษัท ไลเกอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (Liger) และโอนต่อไปยังบุคคลอื่นอีกหลายทอดตามคำสั่งของนายอรัญ การกระทำของนายอรัญจึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่ TSF และบริษัทย่อย โดยมี (1) นางสาวมินทร์ฐิตา ปนาวัฒน์ธนยศ (2) นางสาวกาญจนกร เตชะพันธ์ (3) นางสาวโศภชา เจริญสุข (4) GISP และ (5) Liger เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน           การกระทำของนายอรัญและพวกเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 มาตรา 89/24 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป           พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการข้างต้นต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน           การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ บก.ปอศ.**           ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว หมายเหตุ : * ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) (TSF) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ** ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของ ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

MRT ร่วมฉลองเทศกาลปีใหม่  จอดรถฟรี 24 ชม. เปิดให้บริการข้ามปีถึงตี 2

MRT ร่วมฉลองเทศกาลปีใหม่ จอดรถฟรี 24 ชม. เปิดให้บริการข้ามปีถึงตี 2

           การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568 ด้วยการขยายเวลาการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT ทั้งสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เปิดให้บริการข้ามปี วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 06.00 น.- 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ และส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ            พร้อมกันนี้ ทาง รฟม. ยังได้ยกเว้นค่าบริการที่จอดรถ และขยายเวลาให้บริการอาคารและลานจอดแล้วจร ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 01.00 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2568  โดยมีรายละเอียดดังนี้ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน : อาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง ได้แก่ สถานีลาดพร้าว สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และสถานีหลักสอง (2 อาคาร) และลานจอดแล้วจร 11 แห่ง ได้แก่ สถานีกำแพงเพชร สถานีรัชดาภิเษก สถานีห้วยขวาง สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (2 ลาน) สถานีพระราม 9 สถานีเพชรบุรี สถานีสุขุมวิท สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (2 ลาน) และสถานีสามย่าน รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง : อาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ และสถานีแยกนนทบุรี 1            โดยผู้โดยสารสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูล โทร. 0 2624 5200 หรือตรวจสอบเวลาให้บริการรถไฟฟ้าขบวนสุดท้ายได้ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT แอปพลิเคชัน: Bangkok MRT และ  www.bemplc.co.th  รวมทั้งติดตามข่าวสารทาง Facebook (เฟซบุ๊ก) และ X (เอ็กซ์): BEM Bangkok Expressway and Metro

GPSC คว้าผู้ผลิต-ขายไฟฟ้า FiT ปี 2565-73 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง

GPSC คว้าผู้ผลิต-ขายไฟฟ้า FiT ปี 2565-73 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง

          หุ้นวิชั่น - นางพรรณพร ศาสนนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน  บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) หรือ GPSC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าตามโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ประเภท พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน รวมคิดเป็นกำลังการผลิตเสนอขายจำนวน 192.88 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังการผลิตคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เป็นจำนวน 97.19 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) รายละเอียดดังนี้: ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทฯ และได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการโครงการตามแผนพลังงานหมุนเวียนของประเทศ เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ได้ตามเป้าหมาย

abs

SSP : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน มอบความสุขต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card

เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน มอบความสุขต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card

          เมืองไทยประกันชีวิต และ แมกซ์ โซลูชัน บริษัทในเครือพีทีจี ผนึกกำลังส่งมอบความสุขและรอยยิ้มในช่วงเทศกาลต้อนรับปีใหม่ 2568 แก่สมาชิก Max Card ทั่วประเทศ ผ่าน “กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ (ไมโครอินชัวรันส์)” อุ่นใจด้วยความคุ้มครองครอบคลุมทั้งด้านชีวิตและค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุ เพียงสมาชิก Max Card  ใช้คะแนน 100 คะแนน แลกรับสิทธิ์ง่าย ๆ ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน Max Me           นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมืองไทยประกันชีวิต ได้ร่วมกับ แมกซ์ โซลูชัน ส่งมอบความอุ่นใจให้กับลูกค้าคนสำคัญ ต้อนรับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568  ให้เต็มไปด้วยความสุข รอยยิ้ม และความสนุกสนาน  พร้อมยังเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงประกันชีวิตเพื่อการมีหลักประกันที่มั่นคง  สอดรับกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีหลักประกันความคุ้มครองอุบัติเหตุให้กับตนเองและครอบครัว และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบการประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้สะดวก เข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น           ด้าน นายพร้อมศักดิ์  จรัญญากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมกซ์ โซลูชัน เซอร์วิส จำกัด  บริษัทในเครือพีทีจี กล่าวว่า  บริษัทยังคงยึดมั่นในพันธกิจที่อยากเห็นคนไทย “อยู่ดีมีสุข” จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับปีนี้ บริษัท แมกซ์ โซลูชัน ได้ร่วมมือกับ เมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ยาวนาน ร่วมส่งมอบความสบายใจและลดความกังวลให้กับสมาชิก Max Card กว่า 23 ล้านราย           โดยสมาชิก Max Card สามารถใช้คะแนนสะสมเพียง 100 คะแนน แลกรับสิทธิ์ "กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ (ไมโครอินชัวรันส์)" ผ่านแอปพลิเคชัน Max Me พร้อมความคุ้มครองนานถึง 30 วันนับจากวันเริ่มต้นความคุ้มครอง ทั้งนี้ จำกัดจำนวนสิทธิ์ 1,000 สิทธิ์ เพื่อให้สมาชิกทุกท่านได้เดินทางอย่างมั่นใจ คลายกังวล และมีความสุขตลอดการเดินทางในช่วงเทศกาลนี้ ทั้งนี้ความคุ้มครอง “กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ (ไมโครอินชัวรันส์)” ที่ลูกค้าจะได้รับ ประกอบด้วย ความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า การสูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท ความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า การสูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 50,000 บาท ความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า การสูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุสาธารณะ จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท ผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจ้างพยาบาลพิเศษ อุปกรณ์ค้ำยันต่าง ๆ (ยกเว้นไม้ค้ำยัน) รถเข็นผู้ป่วย อวัยวะเทียมภายนอกร่างกายค่ารักษาพยาบาลโดยแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) การฝังเข็ม จำนวนเงินเอาประกันภัยตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,000 บาท           โดย “กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ (ไมโครอินชัวรันส์)” มีระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน    นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาเอาประกันภัย ซึ่งผู้ที่จะได้รับสิทธิ์จะต้องถือสัญชาติไทยเท่านั้น และมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย  โดยสมาชิก Max Card ที่สนใจสามารถแลกคะแนนได้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2567 – 28 กุมภาพันธ์ 2568 (จำนวนสิทธิ์ 1,000 สิทธิ์) หมายเหตุ :                                 ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย และถือสัญชาติไทยเท่านั้น สมาชิก Max Card ใช้ 100 คะแนน รับสิทธิ์ลงทะเบียนกรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ (ไมโครอินชัวรันส์) ผ่านแอปพลิเคชัน Max Me (ไม่จำกัดสิทธิ์ / สมาชิก ซึ่งผู้รับความคุ้มครองต้องไม่ใช่บุคคลเดียวกัน) เริ่มต้นคุ้มครองตั้งแต่วันถัดไปของวันที่ลูกค้าลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ เวลา 01 น. จนถึงวันที่สิ้นสุดความคุ้มครอง 30 วัน เวลา 24.00 น. และไม่มีการต่ออายุอัตโนมัติ เงื่อนไขและความคุ้มครองเป็นไปตามที่ระบุในกรมธรรม์ การพิจารณารับประกันภัยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์การให้ความคุ้มครองโครงการนี้กับสมาชิก Max Card เท่านั้น บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการจัดส่งกรมธรรม์ครั้งนี้ โดยการยืนยันความคุ้มครองผ่านทาง SMS เท่านั้น ลูกค้าสามารถแลกคะแนนได้ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2567 – 28 กุมภาพันธ์ 2568 หรือ มีผู้รับสิทธิ์ครบ 1,000 สิทธิ์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร PT Call Center 1614 ทุกวัน เวลา 08.00-20.00 น.หรือเมืองไทยประกันชีวิต โทร. 1766 ตลอด 24 ชั่วโมง คำเตือน : ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครอง และเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง

เปิดกลยุทธ์การลงทุน หุ้นไทย ส่งท้ายปี | จัดเต็มการลงทุน

เปิดกลยุทธ์การลงทุน หุ้นไทย ส่งท้ายปี | จัดเต็มการลงทุน

https://youtu.be/9sf_98QgaEM เปิดกลยุทธ์การลงทุน หุ้นไทย ส่งท้ายปี | จัดเต็มการลงทุน ติดตามรายการ จัดเต็มการลงทุน ทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 9.00-9.30 น. ทาง ททบ.5

THG ปัด “หมอบุญ” ไม่เกี่ยว “จิณณ์ เวลบีอิ้ง ฯ”  พร้อมชี้แจงงบการเงินรวม

THG ปัด “หมอบุญ” ไม่เกี่ยว “จิณณ์ เวลบีอิ้ง ฯ” พร้อมชี้แจงงบการเงินรวม

          หุ้นวิชั่น - นางสาวจินดา อริยพรพงศ์ เลขานุการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) หรือ THG ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงบการเงินรวมของบริษัทฯ สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 และโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ นั้น คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 โดยได้พิจารณาข้อสอบถามเพิ่มเติมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้ 1.การตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากการดำเนินงานของบริษัทฯ           ตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ ได้ตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากการดำเนินงานของบริษัทฯ (“ค่าเผื่อฯ”) รวมทั้งสิ้นจำนวน 336 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 343 เมื่อเทียบกับงบการเงินรวมของบริษัทฯ สำหรับปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 นั้น บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงสาเหตุและรายละเอียดตามกลุ่มลูกหนี้ค่าเผื่อฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้           1.1 กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19           บริษัทฯ และบริษัทย่อย ได้แก่ บจ. โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง บมจ. โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี บจ. ตรังเวชกิจ และ บจ. ธนบุรี เวลบีอิ้ง (“บริษัทย่อยฯ”) มีลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19 ซึ่งรับรู้ค่าเผื่อฯ ในงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 จำนวนรวม 284 ล้านบาท           สาเหตุของการรับรู้ค่าเผื่อฯ ในงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 จำนวนรวม 284 ล้านบาท นั้นเป็นเพราะที่ผ่านมา บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ ประสบปัญหาเกี่ยวกับการได้รับชำระเงินจากหน่วยงานภาครัฐ ในส่วนของการเบิกจ่ายจากการให้บริการรักษาพยาบาลในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในช่วงปี 2564 – 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย โดยเฉพาะ บจ. โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง (“THB”) ได้รับรู้รายได้จากการให้บริการผู้ป่วยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการประมาณการส่วนลดเพื่อสะท้อนจำนวนเงินที่คาดว่าจะได้รับชำระ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลและอัตราที่ได้รับชำระจริงในอดีต โดยใช้อัตราส่วนที่คาดว่าจะได้รับชำระในช่วงระหว่างร้อยละ 29 ถึงร้อยละ 60 ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามหลักความระมัดระวัง และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป           ในปี 2567 เนื่องจากบริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ ได้รับรู้รายได้โดยรับรู้ประมาณการส่วนลดซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลและอัตราส่วนลดที่เกิดขึ้นจริงแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19 มีสถานะค้างชำระนานเกินกว่า 365 วัน และการชำระหนี้จากหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ จะติดตามทวงถามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนในอนาคต           ดังนั้น เพื่อสะท้อนความเสี่ยงทางการเงินอย่างเหมาะสมและระมัดระวัง บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ จึงได้ตั้งค่าเผื่อฯ จำนวนร้อยละ 75 ของมูลหนี้คงเหลือ           อย่างไรก็ตาม หากภายในสิ้นปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ ยังไม่ได้รับการชำระหนี้ค้างจากหน่วยงานภาครัฐสำหรับลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วย UCEP COVID-19 บริษัทฯ และบริษัทย่อยฯ จะพิจารณาตั้งค่าเผื่อฯ เพิ่มเติมเป็นร้อยละ 100 ของมูลหนี้คงเหลือ ซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 81 ล้านบาท การพิจารณาตั้งค่าเผื่อฯ ดังกล่าวสะท้อนถึงการประเมินความเสี่ยงผลขาดทุนด้านเครดิตและเป็นการดำเนินการตามหลักความระมัดระวัง           1.2 ลูกหนี้กลุ่มผู้ป่วยซึ่งรับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยตนเอง           ในปี 2566 บริษัทย่อยของบริษัทฯ รายบริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (“THB”) ได้บันทึกบัญชีลูกหนี้คงค้างในกลุ่มลูกหนี้ค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 42 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีอย่างละเอียดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วว่ารายการดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่อาจไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพื่อให้การบันทึกบัญชีสะท้อนถึงสภาพการณ์ที่แท้จริงและสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ จึงได้ตัดสินใจตั้งค่าเผื่อฯ ไว้เต็มจำนวนสำหรับยอดลูกหนี้ดังกล่าว           ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายการลูกหนี้ดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ในรูปแบบของรายการอันควรสงสัย และได้จัดส่งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) แล้ว           1.3 ลูกหนี้การค้าอื่น และลูกหนี้อื่น           ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 บริษัทย่อยของบริษัทฯ ราย บจ. ตรังเวชกิจ ตั้งค่าเผื่อฯ จำนวน 1 ล้านบาทสำหรับรายการลูกหนี้การค้าอื่น ซึ่งเป็นการตั้งค่าเผื่อฯ เพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งค้างชำระนานเกินกว่า 180 วัน เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ด้านเครดิตของลูกหนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลง ในช่วงเวลาเดียวกัน THB ได้ตั้งค่าเผื่อฯ เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาทสำหรับรายการลูกหนี้อื่น โดยบริษัทฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ารายการดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้และถือเป็นรายการอันควรสงสัย           ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 และจัดส่งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการดังกล่าวไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว           ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบกับการเปิดเผยข้อมูลตามรายละเอียดข้างต้น และมีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้ การตั้งค่าเผื่อฯ สำหรับลูกหนี้กลุ่ม COVID-19 เป็นการดำเนินการตามหลักความระมัดระวัง แม้ว่าลูกหนี้จะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สำหรับลูกหนี้อื่นนั้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของบริษัทฯ การตั้งค่าเผื่อฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ เนื่องจากผลประกอบการจากการดำเนินงานตามปกติ (ไม่รวมการบันทึกบัญชีค่าเผื่อฯ) ไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานแต่อย่างใด           การพิจารณาตั้งค่าเผื่อฯ นั้น บริษัทฯ ได้มีการหารือร่วมกับผู้สอบบัญชีเป็นประจำทุกปี โดยยึดหลักความระมัดระวังที่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เป็นกระบวนการที่เป็นไปตามปกติของการดำเนินธุรกิจ หากมีความจำเป็นต้องตั้งค่าเผื่อฯ หรือรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่า บริษัทฯ จะพิจารณาและดำเนินการตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลทางการเงินสะท้อนถึงสถานะและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ 2.รายการกับ Bewell Saigon Health Clinic Company Limited           ในปี 2566 บริษัทฯ ได้เข้าทำข้อตกลงร่วมทุนกับ IFF Holdings Joint Stock Company เพื่อจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง โดย IFF Holdings Joint Stock Company จะถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 60 และบริษัทฯ (หรือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทฯ) จะถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 40 (“บริษัทโฮลดิ้ง”) และบริษัทโฮลดิ้งจะถือหุ้นร้อยละ 100 ใน Bewell Saigon Health Clinic Company Limited (“Bewell”) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในประเทศเวียดนามเพื่อดำเนินธุรกิจคลินิกตรวจสุขภาพเชิงลึก โดย IFF Holdings Joint Stock Company มิได้เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ แต่อย่างใด           ในปี 2566 และ 2567 บริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบเงินให้กู้ยืมแก่ Bewell เพื่อใช้สำหรับการตกแต่งสถานที่ ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือ และการเช่าพื้นที่สำหรับการตั้งคลินิก ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ณ ปัจจุบัน Bewell มีภาระหนี้คงค้างประมาณ 49 ล้านบาท (เทียบเป็นเงินบาทไทย) นอกจากนี้ ผู้ร่วมทุน IFF Holdings Joint Stock Company ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ Bewell เช่นกัน จำนวนประมาณ 12.5 ล้านบาท (เทียบเป็นเงินบาทไทย) พร้อมทั้งสนับสนุนในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น การจัดหาสถานที่ การบริหารและควบคุมกระบวนการก่อสร้าง ตลอดจนการจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง           สำหรับเงินกู้บางส่วนซึ่งบริษัทฯ ได้ให้แก่ Bewell จำนวนประมาณ 12.6 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดชำระแล้วนั้น บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาแปลงหนี้ดังกล่าวเป็นเงินลงทุนในบริษัทโฮลดิ้ง และ/หรือ Bewell โดยมีกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2568           ในส่วนของใบอนุญาตดำเนินการคลินิกของ Bewell นั้น บริษัทฯ คาดการณ์ว่า Bewell จะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาสแรกของปี 2568           ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทฯ           คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบกับการเปิดเผยข้อมูลตามรายละเอียดข้างต้น และมอบหมายให้ฝ่ายบริหารดำเนินการติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด และรายงานผลให้คณะกรรมการบริษัทฯ ทราบในการประชุมคณะกรรมการคราวถัดไป เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด 3.รายการเกี่ยวกับหนี้ของบริษัทฯ           จากผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ซึ่งไม่เป็นไปตามคาดการณ์ รวมถึงรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินตามที่กำหนดไว้ในสัญญาที่บริษัทฯ ทำไว้กับ Credit Guarantee and Investment Facility, a trust fund of the Asian Development Bank (“CGIF”) ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทฯ ได้นั้น ไม่มีผลทำให้ผู้ค้ำประกันหนี้สามารถเพิกถอนการค้ำประกันหนี้ได้ และไม่มีผลทำให้บริษัทฯ ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตามหนี้แต่อย่างใด ทั้งนี้ ผลจากการไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าวได้ ทำให้บริษัทฯ มีภาระต้องชำระค่าปรับให้แก่ CGIF ตามข้อกำหนดในสัญญา ซึ่งถือเป็นมาตรฐานปกติของสัญญาประเภทนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ CGIF เพื่อขอผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการในสัญญา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะได้รับข้อสรุปดังกล่าวภายในไตรมาสแรกของปี 2568           ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทฯ           คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบกับการเปิดเผยข้อมูลตามรายละเอียดข้างต้น และมอบหมายให้ฝ่ายบริหารเจรจาผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการกับ CGIF เพื่อให้บริษัทฯ ไม่ต้องมีภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นมากนัก 4.รายการเกี่ยวกับโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้           4.1 สถานะและความคืบหน้าของการขายโครงการ           บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (“ธนบุรี เวลบีอิ้ง”) ยังคงดำเนินการขายโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ตามปกติ ซึ่งโครงการมีจำนวนห้องทั้งหมด 494 ห้อง ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 โครงการมีจำนวนห้องที่ ยังไม่ได้ขายจำนวน 234 ห้อง โดย ธนบุรี เวลบีอิ้ง ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น การออกบูธประชาสัมพันธ์โครงการ และการนำเสนอโครงการผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและสร้างความรับรู้ในตัวโครงการอย่างสม่ำเสมอ           และในเดือนธันวาคม 2567 ธนบุรี เวลบีอิ้ง เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวน 3 ห้อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ธนบุรี เวลบีอิ้ง ได้รับผลกระทบจากข่าวต่าง ๆ ในทางลบ ทำให้ลูกค้ายกเลิกการซื้อกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวน 2 ห้อง และขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดสำเร็จเพียง 1 ห้อง           4.2 การเปลี่ยนการบันทึกโครงการจากสินทรัพย์หมุนเวียนไปเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน           รายการซึ่งมีการเปลี่ยนการบันทึกโครงการจากสินทรัพย์หมุนเวียนไปเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนคือที่ดินที่ ธนบุรี เวลบีอิ้ง ได้จัดสรรไว้สำหรับการพัฒนาโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เฟส 2 และ 3 ในอนาคต โดยที่ดินดังกล่าวมีขนาดพื้นที่ 28,469.44 ตร.ว. มูลค่าต้นทุน 840.39 ล้านบาท ซึ่งเดิมจัดอยู่ในประเภทสินทรัพย์หมุนเวียน           อย่างไรก็ตาม หลังจากการประเมินสถานการณ์โดยรอบคอบ บริษัทฯ เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่จะยังไม่มีการเริ่มต้นก่อสร้างหรือพัฒนาในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า ซึ่งตามมาตรฐานบัญชี หากสินทรัพย์ไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะเวลาสั้น และมีลักษณะการถือครองเพื่อการพัฒนาในระยะยาว บริษัทฯ จำเป็นต้องปรับปรุงการจัดประเภทของที่ดินดังกล่าวจาก “สินทรัพย์หมุนเวียน” เป็น “สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน” เพื่อให้สะท้อนถึงลักษณะการใช้งานจริง และสอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต           4.3 การขายห้องชุดของโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน           ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 ธนบุรี เวลบีอิ้ง มีรายได้รอการรับรู้จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการขายห้องชุดแบบตกแต่งครบ (Fully Furnished) ให้กับบริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด ซึ่งราคาขายดังกล่าวได้รวมค่าเฟอร์นิเจอร์ไว้ด้วย แต่เนื่องจากการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ยังไม่แล้วเสร็จ ธนบุรี เวลบีอิ้ง จึงยังไม่สามารถรับรู้รายได้ในส่วนค่าเฟอร์นิเจอร์ตามมาตรฐานบัญชีได้           ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ขอยกเลิกการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ และ ธนบุรี เวลบีอิ้ง ได้หักกลับลบหนี้ระหว่างรายการค้างรับและรายการค้างจ่าย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดรายได้รอการรับรู้จำนวน 20 ล้านบาทนี้ ไม่ถือเป็นหนี้สินทางบัญชีอีกต่อไป           ความเห็นคณะกรรมการบริษัทฯ           คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบกับการเปิดเผยข้อมูลตามรายละเอียดข้างต้น และมอบหมายให้ฝ่ายบริหารเน้นย้ำให้สาธารณชนรับทราบว่านายแพทย์บุญ วนาสิน ไม่ได้มีส่วนร่วมในการลงทุนในโครงการดังกล่าว โดยโครงการนี้เป็นการลงทุนโดย ธนบุรี เวลบีอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นเกือบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน           บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าข้อมูลข้างต้นจะช่วยเพิ่มความชัดเจนแก่นักลงทุน ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในหลักการบริหารจัดการที่โปร่งใส และมุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างยั่งยืนในระยะยาว

abs

Hoonvision

เก็ง Easy E-Receipt ชู TNP-SPVI-JUBILE

เก็ง Easy E-Receipt ชู TNP-SPVI-JUBILE

          หุ้นวิชั่น -  จับตา Easy E-Receipt ชง ครม. สัปดาห์นี้ ฟากโบรก "วิลาสินี บุญมาสูงทรง" ชี้ค้าปลีก ออนไลน์ รีเทลรับอานิสงส์ ชู TNP เด่น ส่งซิกโค้งท้ายโตแรง รับไอซีซั่น เล็งปรับเพิ่มประมาณการกำไรทั้งปี 67 จากเดิมที่ 177 ลบ. พร้อมคัดหุ้น SPVI , JUBILE เด้งรับมาตรการ            ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน Easy E-Receipt รมช.คลัง ชง ครม. สัปดาห์นี้ออกมาตรการ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 5 หมื่น เริ่ม 15 ม.ค. – 28 ก.พ. 25 เพิ่มสิทธิใช้จ่ายการท่องเที่ยว คาดเงินหมุนเวียนในระบบ 7หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในวงเงิน 50,000 บาทนั้น แบ่งการใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การใช้สำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค วงเงิน 30,000 บาท และเพิ่มเติมสามารถในแพ็คเกจการท่องเที่ยวได้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทาง การใช้จ่ายการท่องเที่ยว เช่น แพ็คเกจทัวร์และการจองโรงโรม เป็นต้น การใช้จ่ายผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชุน และโอท็อป วงเงิน 20,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มเอสเอ็มอีและชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความเข็งแข็งขึ้น           นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นชั่น ว่า หากมาตรการ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 5 หมื่น เดินหน้าตามแผน โครงการดังกล่าวน่าจะเริ่มต้นปี 2568 หรือ ราวๆ วันที่ 15 ม.ค. – 28 ก.พ. 67           สำหรับกลุ่มธุรกิจที่คาดจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการ Easy E-Receipt คือ ธุรกิจค้าปลีก-ออนไลน์ และรีเทล โดยหุ้นที่ขจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) และคาดได้รับอานิสงส์ ได้แก่ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่รวมอาหารสดภายใต้ชื่อ "ธนพิริยะ"           บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SPVI ผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่าย (Reseller) ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า Apple ทั้งคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ประเภท iOS และอุปกรณ์เสริมต่างๆ           และ บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JUBILE ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับเพชรและเพชรกะรัต           ฝ่ายวิเคราะห์ แนะ "ซื้อ" ราคาเหมาะสม 5 บาท "กำไร 3Q67 ดีกว่าคาด 9% ส่วน 4Q67 เติบโตต่อ YoY QoQ" งวด 3Q67 มีกำไร 47 ลบ. +41%YoY +12%QoQ (ดีกว่าที่เราคาด 9%) ส่วนรายได้อยู่ที่ 730 ลบ. +12%YoY +3%QoQ (ดีกว่าที่เราคาด 2%) เติบโตแม้เป็น Low Season ที่เป็นฤดูฝน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจำเป็นมากขึ้น ประกอบกับได้อานิสงส์จากมาตรการแจกเงินสด 10,000 บาท ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย. สะท้อน SSSG ที่เติบโต 1.8% รวมทั้งมีการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 สาขาสู่ทั้งหมด 47 สาขา (+5 สาขา YoY +2 สาขา QoQ) ทั้งนี้ 9M67 มีกำไร 135 ลบ. +25%YoY คิดเป็น 76% ของประมาณการทั้งปี 67 เดิมที่ 177 ลบ. +10%YoY           ฝ่ายวิเคราะห์มีมุมมองบวกต่อกำไร 3Q67 ออกมาดีกว่าที่คาด ส่วน 4Q67 คาดเติบโตต่อเนื่อง YoY QoQ จาก 3 ประเด็น คือ 1) เข้าสู่ High Season 2) ได้อานิสงส์จากมาตรการแจกเงินสด 10,000 บาท ที่กลุ่มผู้มีสิทธิ์เพิ่งได้รับเมื่อช่วงปลาย 3Q67 รวมทั้งรอบเก็บตกในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.  และ 3) ขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 สาขา สู่ ณ สิ้นปี 67 ทั้งหมด 49 สาขา ทั้งนี้ฝ่ายวิเคราะห์เตรียมปรับเพิ่มประมาณการกำไรทั้งปี 67 จากเดิมที่ 177 ลบ. +10% YoY แนะนำ "ซื้อ" ราคาเหมาะสม 5 บาท รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

CPAXT ยันลงทุน The Happitat เพียงโครงการเดียว

CPAXT ยันลงทุน The Happitat เพียงโครงการเดียว

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.กรุงศรี เผย CPAXT ชี้แจงข้อมูลเพิ่มย้ำเข้าลงทุนโครงการ The Happitat เพียงโครงการเดียวไม่ ลงทุนในโครงการอื่นๆ ใน The Forestias ย้ำการเข้าลงทุนเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและเกณฑ์ของตลาดฯ ราคาเข้าลงทุนใช้วิธี Income Approach ซึ่งต่ำกว่าวิธี Cost Approach เฉลี่ยที่ 1.2 หมื่นล้านบาทจึงมองเป็นราคาเข้าลงทุนที่สมเหตุสมผล แต่พร้อมน้อมรับ ข้อคิดเห็น, คำแนะนำ และความห่วงใยจากทุกภาคส่วน

[ภาพข่าว] ADVICE ขึ้นแท่นเข้าคำนวณดัชนี sSET ปี 68

[ภาพข่าว] ADVICE ขึ้นแท่นเข้าคำนวณดัชนี sSET ปี 68

          นายณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ ADVICE เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 20 บริษัทฯ ที่เข้าคำนวณในดัชนี sSET รอบครึ่งปีแรกของปี 2568 (1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2568) ซึ่งสะท้อนถึงหุ้น ADVICE ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทุกกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-Float) และมีจำนวนหุ้นซื้อขายเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สอดรับกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่ง และมีศักยภาพเติบโตสูง           ทั้งนี้ ADVICE มีแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตที่ชัดเจน โดยในปี 2568 รายได้กลุ่มมือถือเติบโตเด่นจากทั้งกลุ่ม Apple และ Andriod จำนวนสาขา Standalone Apple ในต่างจังหวัด ตั้งเป้าไว้ที่ 8 สาขา ณ สิ้นปี 2567 และมีเป้าหมายเพิ่ม 30 สาขา ณ สิ้นปี 2568 เทียบกับ ณ สิ้น Q3/67 ที่มีเพียง 3 สาขา ทั้งนี้ การขยายสาขา Apple จะเป็นปัจจัยหลักหนุนการเติบโตของรายได้กลุ่มมือถือในปี 2568 ซึ่งมีศักยภาพเติบโตสูง มีอัตราการทำกำไรที่ดีให้แก่บริษัทฯ สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้ ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจโดยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

[ภาพข่าว] MMM ต้อนรับคณะผู้บริหาร “ก.ล.ต.- ตลท.” รับฟังข้อมูลธุรกิจ

[ภาพข่าว] MMM ต้อนรับคณะผู้บริหาร “ก.ล.ต.- ตลท.” รับฟังข้อมูลธุรกิจ

          นายประเสริฐ หวังรัตนปราณี ประธานกรรมการ (แถวแรก กลางขวา) นางสาวณิชา โรจน์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (แถวแรก ที่ 4 จากขวา) พร้อมคณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร บริษัท เอ็มเอ็มเอ็ม แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MMM หนึ่งในผู้นำตัวแทนการขายอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้การให้บริการที่ปรึกษาด้านการขายและการตลาดแก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ และซื้อขายอสังหาฯ ร่วมด้วย นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ (แถวสอง ที่ 4 จากขวา) บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คณะผู้บริหารจากตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ และ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมกิจการ และร่วมรับฟังข้อมูลธุรกิจ ตามแผนเสนอขาย หุ้นไอพีโอ 64.20 ล้านหุ้น เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดา  

[ภาพข่าว] BTG คว้า 2 รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ปี67

[ภาพข่าว] BTG คว้า 2 รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ปี67

            กรุงเทพฯ – 23 ธันวาคม 2567 – “บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)” หรือ BTG บริษัทอาหารครบวงจรชั้นนำของไทย คว้า 2 รางวัล อุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2567 ประเภทการเพิ่มผลผลิต โดยกระทรวงอุตสาหกรรม สะท้อนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ มุ่งสู่ความสำเร็จใน 4 มิติคือ 1.ความสำเร็จทางธุรกิจ 2.การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม 3.การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ไทย-ประชาคมโลก และ4.การกระจายรายได้ให้กับประชาชนเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น               เกณฑ์ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับการดำเนินงานทางธุรกิจของเบทาโกร ภายใต้หลัก ESG (Environmental, Social, Governance) สะท้อนถึงการเป็นบริษัทอาหารครบวงจรชั้นนำของไทย มุ่งมั่นเพิ่มคุณค่าชีวิตทุกคนด้วยอาหารที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน             โดยมีนายถวิล ทองทศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปสัตว์ปีกและอาหารปรุงสุก และนายธันว์ บุญมา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปสุกร เป็นตัวแทน บริษัท บี. ฟู้ดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จ.ลพบุรี และ บริษัทเบทาโกรอุตสาหกรรม จำกัด เข้ารับรางวัลจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ประกอบการที่พัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรวมของประเทศ

SCG ผนึก Serendix   ขยายศักยภาพ “SCG 3D Printing Mortar”

SCG ผนึก Serendix  ขยายศักยภาพ “SCG 3D Printing Mortar”

          บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ในเครือ SCG นำโดย นางสาวกัลยา วรุณโณ Green Solution and New Business Marketing Director และ Mr. Hiroyasu KOMA, CEO of Serendix หนึ่งใน Startup เครือข่ายผู้ประกอบการ 3D Printing ประยุกต์ใช้สร้างบ้านรายแรกจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขยายศักยภาพ SCG 3D Printing Mortar เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติด้วยปูนมอร์ตาร์รับการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลก           สำหรับความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติด้วยปูนมอร์ตาร์ (SCG 3D Printing Mortar) พร้อมทั้งการวางแผนการดำเนินงานตั้งแต่การกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ การพัฒนารูปแบบธุรกิจ การขยายตลาด รวมถึงการผลักดันใช้ในโครงการต่างๆ ได้หลากหลายประเภทการใช้งาน ด้วยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจร่วมกันที่แข็งแกร่งที่จะช่วยขยายโอกาส และความสามารถการทำตลาดของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติปูนมอร์ตาร์ให้เหมาะสมกับรูปแบบการก่อสร้างสำหรับการใช้งานของแต่ละประเทศ           SCG 3D Printing Mortar ได้รับการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การก่อสร้างยุคใหม่ ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านคุณภาพ ความแข็งแรงทนทาน รองรับการสร้างชิ้นงานที่มีความซับซ้อน ตั้งแต่การออกแบบเส้นสายความโค้งไปจนถึง การก่อสร้างอาคารหลายชั้น ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน สามารถควบคุมการต้นทุนการก่อสร้าง รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นหนึ่งในแนวทาง “SCG Inclusive Green Growth” ที่ใช้นวัตกรรมกรีนต่อยอดร่วมกับพันธมิตร ตอบโจทย์ในด้านความรวดเร็ว ความแม่นยำ และความคุ้มค่า โดยการเป็นพันธมิตรครั้งนี้ไม่เพียงมุ่งเน้นที่การขยายตัวของงานก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังเป็นการปรับตัวต่อความต้องการของตลาดยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากร และมุ่งสู่ความยั่งยืนในการดำเนินงาน ทางธุรกิจต่อไป [PR News]

[ภาพข่าว] DRT ‘ตราเพชร’ ได้รับรองมาตรฐาน ISO 3 ฉบับ

[ภาพข่าว] DRT ‘ตราเพชร’ ได้รับรองมาตรฐาน ISO 3 ฉบับ

          นายสาธิต สุดบรรทัด (ที่ 3 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT รับมอบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน ISO 3 ฉบับ ได้แก่ ISO 9001:2015 ระบบการบริหารคุณภาพ (Quality Management System : QMS), ISO 14001:2015 ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System : EMS) และ ISO 45001:2018 ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational health and safety Management System : OH&SMS) จาก นายเติมยศ เมนะรัตน์ (ที่ 4 จากซ้าย) Business Development Manager บริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด โดยการรับรองมาตรฐานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทฯ มีการจัดการด้านคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและมุ่งมั่นในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าบริษัทฯ มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพและมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

MOSHI มั่นใจ Q4 SSSG พุ่ง 20% คอลเลกชันคอลแลปหนุน

MOSHI มั่นใจ Q4 SSSG พุ่ง 20% คอลเลกชันคอลแลปหนุน

          ‘บมจ. โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น’ หรือ MOSHI ผู้นำในธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์รายใหญ่ของประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการออกคอลเลกชัน Collaboration Project ร่วมกับศิลปินและบุคคลที่มีชื่อเสียง ตลอดทั้งปี 2567 ส่งท้ายปี 67 ด้วยคอลเลกชันสุดพิเศษ Jukka and Friend ดันรายได้เติบโตทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 20% สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของสินค้าและกลยุทธ์ทางการตลาดที่ประสบความสำเร็จ เดินหน้านำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีนี้กว่า 15,000 SKUs มากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา แย้มผลงานไตรมาส 4 ทุบสถิติทำ SSSG (QTD) พุ่งทะยานกว่า 20%           นายสง่า บุญสงเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MOSHI เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจค้าปลีกที่มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบเป็นเลิศและโดดเด่นด้วยความน่ารัก ประณีต คุณภาพดี ในราคาที่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ เพื่อส่งมอบความสุขให้กับลูกค้าในทุกๆ วัน ด้วยการนำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายครอบคลุมทั้งของใช้ในบ้าน ตุ๊กตา เครื่องเขียน เครื่องแต่งกาย กระเป๋า แฟชั่น อุปกรณ์เสริมความงาม เครื่องสำอาง อุปกรณ์ IT ของเล่น ขนม อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง และหมวดอื่นๆ ที่นำเสนอสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมตามความต้องการของผู้บริโภค บริษัทฯ มีความโดดเด่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด มีความคล่องตัวในการปรับตัวตามเทรนด์ พร้อมทั้งมีศักยภาพทางการตลาดที่โดดเด่น ส่งผลให้สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม           ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด โดยตลอดทั้งปี MOSHI ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 15,000 รายการ (SKUs) ถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา นับเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายทั้งในด้านรูปแบบและการออกแบบ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ อีกทั้ง บริษัทฯ ยังได้พัฒนา Collection Collaboration Project ออกผลิตภัณฑ์ K-POP Merchandise คาแรกเตอร์ NCT Dream คอลเลกชัน Moshi x NCT DREAM DREAM( )SCAPE และ คาแรกเตอร์ TEN ในคอลเลกชัน “Moshi Moshi x TEN & CANELE” ซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าและเชื่อมโยงกลุ่มเป้าหมายให้ได้รู้สึกใกล้ชิดกับไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบมากยิ่งขึ้น           นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมทำ Collaboration กับ Designer ชาวไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยได้ร่วมกับ ศิลปินครีเอเตอร์แบรนด์ 'Butterclub' (บัตเตอร์คลับ) และ ศิลปินครีเอเตอร์แบรนด์ Fluffy Omelet (ฟลัฟ ฟี่ ออม เล็ต) และได้ทำจัดทำคอลเลกชันสุดพิเศษลาย Hello Kitty ครบรอบ 50 ปี และลายสุดพิเศษของกลุ่มตัวละครซานริโอ้ จัดจำหน่ายเฉพาะในงานนิทรรศการ Hello Kitty Exhibition Celebration of Friendship and Sario Characters the Funtastic Exhibition ณ House of Illumination เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 7 ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุนกับพันธมิตร โดยการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาโอกาสทางธุรกิจใหม่และสามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มคนวัยทำงานที่เป็นแฟนคลับ Hello Kitty ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพ พร้อมกันนี้ ยังได้มีวางจำหน่ายสินค้ากล่องสุ่มลิขสิทธิ์และอาร์ตทอยส์จำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการของตลาด Blind Box และ Model Toys ที่เป็นเทรนด์มาแรงมากในปีนี้           ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MOSHI กล่าวเพิ่มว่า ในช่วงส่งท้ายปี 2567 บริษัทฯ ได้เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ Jukka and Friends ต้าวน้อนจระเข้และแก๊งเพื่อนสุดน่ารัก ซึ่งจะยกขบวนความคิ้วท์มาที่ร้าน Moshi Moshi โดยมีครบทั้ง หมอนรองคอ, ผ้าห่ม, กิ๊บ, พวงกุญแจ, พรม และอีกเพียบ! ราคาเริ่มต้นเพียง 39 บาทเท่านั้น เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป สามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลสาขาร้าน Moshi Moshi ที่ร่วมรายการได้ที่ Facebook Fanpage Moshi Moshi: https://www.facebook.com/moshimoshi.jp และ ช่องทางออนไลน์ Shopee: https://shopee.co.th/moshimoshi_officialshop           อย่างไรก็ตาม คอลเลกชันทั้งหมดที่ได้ออกในปีนี้ จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าและสามารถกระตุ้นยอดขาย ผลักดันผลการดำเนินงานในปี 2567 ให้เติบโตได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20% ขณะเดียวกันอัตราการเติบโตดังกล่าว ยังมาจากการที่ MOSHI มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและความยืดหยุ่น โดยนำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์คุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้ ประกอบกับมีการขยายสาขาให้ครอบคลุมกว่า 60 จังหวัด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลดีต่อเติบโตของยอดขายจากร้านสาขาใหม่และสาขาเดิม โดยเฉพาะการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ในไตรมาส 4/67 ที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น โดยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% (QTD) อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ พร้อมเดินหน้ายกระดับประสบการณ์ลูกค้า การเพิ่มการรับรู้แบรนด์ผ่านกิจกรรมการตลาด การปรับปรุงประสิทธิภาพต้นทุน การปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศในห่วงโซ่อุปทานและความสามารถทางการตลาดที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอและความสามารถในการแข่งขันในตลาด ขณะเดียวกัน ยังได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทั้งการกลับมาของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลดีต่อกำลังซื้อให้ฟื้นตัวตามไปด้วย [PR News]

PTT-PTTEP ลุยลงทุน5ปี ปักธงพลังงานสะอาด

PTT-PTTEP ลุยลงทุน5ปี ปักธงพลังงานสะอาด

           หุ้นวิชั่น - PTT อัดงบ 54,463 ล้านบาท 5 ปี! เดินหน้าขยายท่อก๊าซ  เสริมแกร่งความมั่นคงพลังงาน ศึกษาและแสวงหาโอกาสในการขยายการลงทุน ด้าน  PTTEP ประกาศแผนลงทุน 5 ปี (2568-2572) วงเงินรวม 1.74 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เน้นขยายธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานลมนอกชายฝั่ง ไฮโดรเจน และเทคโนโลยี CCS มุ่งสู่เป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593            นางสาวภัทรลดา สง่าแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)หรือ PTT รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (“ปตท.”) ขอเรียนให้ทราบว่า คณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ได้มีมติอนุมัติงบลงทุน 5 ปี (ปี 2568 - 2572) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น ร้อยละ 100 วงเงินรวม 54,463 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้            ปตท. มีการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” โดยเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 64 ของงบลงทุน 5 ปี            โครงการหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง – โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7รวมถึงการลงทุนเพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน            ขณะเดียวกัน ปตท. ยังมีการลงทุนผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น ร้อยละ 100 เช่นการลงทุนของบริษัทในกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3            นอกจากนี้ ปตท. ยังคงศึกษาและแสวงหาโอกาสในการขยายการลงทุนในอนาคต เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตามวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท.            ด้านนางชนมาศ ศาสนนันทน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ขอแจ้งแผนการดําเนินงานประจําปี 2568 ของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อย (ปตท.สผ.) ภายใต้แผนกลยุทธ์ Drive-Decarbonize-Diversify เพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียม และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 รวมถึงขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) โดยจัดสรรงบประมาณประจําปี 2568 รวมทั้งสิ้น 7,819 ล้านดอลลาร์ สรอ. ประกอบด้วยรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) จํานวน 5,299 ล้านดอลลาร์ สรอ. และรายจ่ายดําเนินงาน (Operating Expenditure) จํานวน 2,520 ล้านดอลลาร์ สรอ.            เป้าหมายการดําเนินงานของบริษัทในปี 2568 ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งและขยายการลงทุนในธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยให้ความสําคัญกับแผนงานหลัก ดังนี้ 1.เพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการปัจจุบัน โครงการผลิตหลักที่สําคัญเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย โครงการซอติก้า และ โครงการยาดานา ในประเทศเมียนมา ที่มีการนําก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เข้ามาใช้ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตหลักในต่างประเทศที่สําคัญ เช่น โครงการในประเทศมาเลเซีย โครงการในประเทศโอมาน โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจํานวน 3,676 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว            นอกจากนี้ ยังมีแผนงานสําหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยครอบคลุม Scope 1 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง) และ Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน) ในธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดําเนินการ (Operational Control) พร้อมทั้งกําหนดเป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target) ในการลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Intensity) จากปีฐาน 2563 ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และร้อยละ 50 ภายในปี 2573 และ 2583 ตามลําดับ โดยได้ตั้งงบประมาณสําหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2568 ทั้งสิ้นจํานวน 77 ล้านดอลลาร์ สรอ. 2.เร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระยะพัฒนา (Development Phase) โครงการหลักที่อยู่ในระยะพัฒนา ได้แก่ โครงการสัมปทานกาชา โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 รวมถึงโครงการพัฒนาในประเทศมาเลเซีย เช่น โครงการมาเลเซีย เอสเค405บี โครงการมาเลเซีย เอสเค417 โครงการมาเลเซีย เอสเค438 โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,464 ล้านดอลลาร์ สรอ. 3.เร่งดำเนินการสำรวจในโครงการปัจจุบัน ทั้งโครงการที่อยู่ในระยะสำรวจ โครงการในระยะพัฒนา รวมถึงโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้ว เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 127 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลของโครงการในประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศเมียนมา            ปตท.สผ. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยได้เริ่มดำเนินการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จึงได้สำรองงบประมาณ 5 ปี (2568-2572) เพิ่มเติมจากงบประมาณข้างต้นอีกจำนวน 1,747 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจ พลังงานลมนอกชายฝั่ง, ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service), ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC)            ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต พร้อมกับการดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายต่อไป

[Vision Exclusive] HARN แตกไลน์การแพทย์ ต่อยอดธุรกิจเครื่องพิมพ์ 3D

[Vision Exclusive] HARN แตกไลน์การแพทย์ ต่อยอดธุรกิจเครื่องพิมพ์ 3D

          หุ้นวิชั่น - HARN แตกไลน์ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ต่อยอดเครื่องพิม์ 3D บิ๊กบอส "วิรัฐ  สุขชัย" คาดจดทะเบียนแล้วเสร็จไตรมาสแรกปี 68 ส่งซิกผลงานรวมปี 67 สดใส  อวด Backlog สิ้น Q3/67 แน่น 452 ล้านบาท เดินหน้ารักษามาร์จิ้น 30% ลุยแผน 5 ปีโรดแมพ เพิ่ม Market Cap. เป็น 5,000 ล้านบาท           นายวิรัฐ  สุขชัย  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HARN เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า  ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ได้มีมติอนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อย โดยบริษัทถือหุ้นร้อยละ100 ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจหลักในการค้าเครื่องมือแพทย์ ผลิต ทํา ประกอบ หรือประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์ แบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุเครื่องมือแพทย์ ปรับปรุง แปรสภาพ หรือดัดแปลงเครื่องมือแพทย์ ทําให้เครื่องมือแพทย์ปราศจากเชื้อ รวมตลอดถึงการผลิตและค้ายางเทียมสิ่งทําเทียม วัตถุดิบหรือสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทจะดําเนินการจดทะเบียนบริษัทย่อยให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2568           การขยายธุรกิจสู่การค้าเครื่องมือแพทย์ ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจการพิมพ์แบบ 3D และขยายตลาดไปยังธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ขณะที่ทิศทางธุรกิจเดิมในส่วนของการจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีในปี 2568 โดยแม้ว่าในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ผลประกอบการจะไม่ค่อยดีนัก แต่ผลประกอบการในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เริ่มกลับมาฟื้นตัวดี ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของแนวโน้มธุรกิจของบริษัท HARN           ขณะที่ Backlog ออเดอร์ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 452 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลข Backlog ที่อยู่ในระดับสูง และคาดจะทำให้ยอดขายใกล้เคียงเป้า ขณะเดียวกันเชื่อว่าอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ปี 2567 จะใกล้เคียงกับที่ผ่านมาที่ 30.09% โดน 9 เดือนแรกปี 2567 ที่ 27.58%           บริษัทมองทิศทางการเติบโตในปี 2568 กลุ่มธุรกิจของ HARN ยังมีแนวโน้มการเติบโต แม้เศรษฐกิจในประเทศถดถอย แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 เริ่มเห็นผลการเติบโตที่ดีขึ้น อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เพื่อเสริมรายได้ให้กับธุรกิจ           สำหรับคู่แข่งในตลาดปัจจุบันมีมากขึ้น แต่บริษัทกำลังมองหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท และรักษาอัตราการทำกำไร (มาร์จิ้น) โดยที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า ทำให้บริษัทมีต้นทุนสูงจากการนำเข้าสินค้า และบริษัทได้ปรับราคาขายให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยน และบริษัทจะพยายามบริหารอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ให้ได้ 30% โดยการบริหารต้นทุนและหาตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท           บริษัทมีเป้าหมายในการเติบโตระยะยาว 5 ปี โดยการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ หรือ Market Cap. จาก 1,350 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท และจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ รักษาความพึงพอใจของลูกค้าไม่ต่ำกว่า 90% และความพึงพอใจของพนักงานมากกว่า 85% รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

[Vision Exclusive] ขนมขบเคี้ยวไทย 5 หมื่นล. SNNP เจ้าตลาด-เป้า 20.8 บ.

[Vision Exclusive] ขนมขบเคี้ยวไทย 5 หมื่นล. SNNP เจ้าตลาด-เป้า 20.8 บ.

           หุ้นวิชั่น - KResearch ส่องยอดขายขนมขบเคี้ยว 50,400 ล้านบาท หรือโต 2% ชี้ปังกรอบ - บิสกิตมาแรงค้าปลีกหนุน ฟากผู้บริหาร SNNP "วิโรจน์ วชิรเดชกุล" ฉายภาพธุรกิจปี 68 ติดเครื่องวิ่งต่อ เล็งอัดงบการตลาดกระตุ้นยอดซื้อ โบรกลุ้นโค้งท้ายกลับมา New High เคาะราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 68 ที่ 20.80 บาท            ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) ปี 2568 ยอดขายขนมขบเคี้ยวไทยคาดอยู่ที่ 50,400 ล้านบาท หรือโต 2% ชะลอจากปี 2567 ที่โต 6% โดยกลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ด ซึ่งเป็นตลาดหลักจะโตได้ไม่มากที่ราว 1.4% ตามจำนวนผู้เดินทางท่องเที่ยวและจำนวนผู้ใช้การสตรีมวิดีโอที่เติบโตชะลอ รวมถึงจำนวนอีเวนต์ใหญ่ที่ลดลง            ขณะที่ยอดขายขนมขบเคี้ยวกลุ่มที่เติบโตได้สูงกว่าภาพรวมตลาดในปี 2568 คือ กลุ่มขนมปังกรอบและบิสกิตที่โต 2.7% แรงหนุนจากความเป็นเมืองและจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มขนมขบเคี้ยวที่ทำจากสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืช คาดโต 2.4% จากเทรนด์การบริโภคที่ดูแลสุขภาพมากขึ้น            ตลาดขนมขบเคี้ยวไทยแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามยอดขาย คือ กลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ด ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายมากที่สุดราว 51% ตามมาด้วยกลุ่มขนมปังกรอบและบิสกิต 36% และกลุ่มขนมที่ทำจากสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืช 13%            ผู้บริโภคมักจะบริโภคขนมขบเคี้ยวในช่วงเวลาทำกิจกรรมท่องเที่ยวหรือสังสรรค์ร่วมกับผู้อื่นเป็นหลัก หรือ “We Time” คิดเป็น 54% ของเวลาทั้งหมดที่บริโภคขนมขบเคี้ยว และอีก 46% จะบริโภคในเวลาที่ใช้อยู๋กับตัวเองหรือ “Me Time”            ตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศมีการแข่งขันสูง ทั้งจากจำนวนผู้เล่นมากรายและสินค้าที่เข้ามาเพิ่มเติม โดยปัจจุบันผู้เล่นในตลาดขนมขบเคี้ยวของไทยมีจำนวนมากกว่า 590 ราย (เฉพาะนิติบุคคลจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) และด้วยอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของตลาดขนมขบเคี้ยวที่สูงราว 20-35% ส่วนหนึ่งมาจากราคาวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตรที่มีราคาไม่สูง ทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มได้ดี จึงจูงใจให้มีผู้เล่นเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก และทำให้ตลาดขนมขบเคี้ยวมีการแข่งขันรุนแรง (Red Ocean)            ทั้งนี้ การแข่งขันที่รุนแรงมาจากผู้เล่นรายใหญ่ด้วยกันเองเป็นหลัก เนื่องจากรายใหญ่มี Economy of Scale รวมถึงมีสินค้าหมุนเวียนตลอด ไม่อยู่นิ่ง มีการคิดค้นนวัตกรรม/ความสร้างสรรค์ ด้วยการออก รสชาติหรือไลน์โปรดักส์ใหม่ๆ แม้ผลิตภัณฑ์เดิมจะยังได้รับความนิยม แต่การสร้างสีสันให้แบรนด์และตลาดยังเป็นแรงหนุนสำคัญของธุรกิจ อีกทั้งผู้เล่นรายใหญ่ยังบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านการตลาดได้ จึงสามารถจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายได้อย่างสม่ำเสมอ นำไปสู่การรับรู้แบรนด์ของผู้บริโภคและหนุนให้เกิดการบริโภค ขณะที่ผู้เล่นรายเล็กจะแข่งขันในตลาดได้ยากกว่า แม้ผู้เล่นรายใหญ่จะครองตลาดได้ แต่ในแง่การแข่งขันของผลิตภัณฑ์ก็ไม่ง่ายนัก เพราะต้องแข่งขันกันเองระหว่างผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวที่มีความหลากหลาย และยังต้องแข่งข้ามผลิตภัณฑ์ด้วยอย่างอาหารทานเล่นอื่นในตลาด เช่น ขนมหวาน ติ่มซ่า เฟรนช์ฟรายส์ ลูกชิ้น เป็นต้น ส่งผลให้ตลาดขนมขบเคี้ยวเติบโตได้จำกัดตามการเพิ่มความถี่ในการบริโภคที่ทำได้ยาก ทำให้ผู้เล่นบางรายมักทำการตลาดเพื่อดึงดูดและสร้างสีสันในการกระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างวัยรุ่น เช่น ออกของสะสมอย่างการ์ดเกม ซึ่งเป็นที่นิยม รวมถึงเหรียญ สติกเกอร์ และตุ๊กตา เป็นต้น            ขณะที่ขนมขบเคี้ยวนำเข้าที่หลากหลายรวมถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดสัญชาติจีนและเกาหลีอย่างไก่ทอดที่เป็นที่นิยม ก็เข้ามาตีตลาดไทยเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้การแข่งขันของตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศรุนแรงขึ้นอีก ทั้งนี้ ขนมขบเคี้ยวนำเข้าแม้จะมีปริมาณไม่มาก แต่ในปี 2563-2566 พบว่า ปริมาณการนำเข้าขนมปังกรอบและเวเฟอร์เติบโตเฉลี่ยกว่า 8% ต่อปี และในช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 โตถึง 11% ส่วนการส่งออกขนมขบเคี้ยวไทยที่มีสัดส่วนปริมาณราว 18% ก็มีความเสี่ยง โดยในปี 2564-2566 ปริมาณส่งออกขนมขบเคี้ยวไทยหดตัวเฉลี่ย 0.5% ต่อปี และแม้ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 จะพลิกโตเป็นบวกที่ 7% แต่ไปข้างหน้าก็ยังต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะในตลาดจีน ที่มีทั้งแบรนด์ขนมเก่าและใหม่ในตลาดจำนวนมาก อีกทั้งยังมีราคาถูก จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกขนมขบเคี้ยวของไทย            กลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ด เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยมันฝรั่งทอดกรอบและขนมขบเคี้ยวประเภทต่างๆ โดยในปี 2568 คาดว่ายอดขายขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ดจะขยายตัวที่ 1.4% ชะลอจาก 4.2% ในปี 2567 (รูปที่ 5) ทั้งนี้ แม้จะเป็นกลุ่มที่เติบโตได้น้อยกว่าภาพรวมตลาด แต่ด้วยขนมกลุ่มนี้มีลักษณะของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง (Brand Power) หรือพลังของแบรนด์ที่ทำให้ผู้บริโภคมีความภักดีต่อแบรนด์สูง จึงช่วยหนุนและรักษาระดับยอดขายให้ยังครองส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุดในตลาดขนมขบเคี้ยว สะท้อนจากมันฝรั่งทอดกรอบของผู้เล่นรายใหญ่ ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นสุดยอดแบรนด์ทรงพลังที่สุดในกลุ่มขนมขบเคี้ยวในงาน The Most Powerful Brands of Thailand 2567 กลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ด            คาดว่าจะมียอดขายเติบโตในปี 2568 ตามการขยายตัวของจำนวนผู้เดินทางท่องเที่ยวในไทยทั้งคนไทยและคนต่างชาติ แต่คงมีแนวโน้มเติบโตช้าลงจากฐานที่สูงในปี 2567 ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 จำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวเติบโตที่ 9.4% ขณะที่จำนวนคนต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวเติบโตสูงถึง 22.9% โดยมีค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มซึ่งรวมถึงขนมขบเคี้ยวของคนต่างชาติคิดเป็น 23% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)            นอกจากนี้ ผู้บริโภคมักนิยมบริโภคขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ดไปพร้อมกับการสตรีมวิดีโอและการมีอีเวนต์ใหญ่ ซึ่งในปี 2568 จำนวนผู้ใช้การสตรีมวิดีโอของไทยเพื่อรับชมภาพยนตร์ รายการทีวี วิดีโอ YouTube และการถ่ายทอดสด เช่น กีฬา เพลง เป็นต้น มีแนวโน้มเติบโตแต่คงชะลอลง ประกอบกับในอีกด้านหนึ่ง ด้วยจำนวนอีเวนต์ใหญ่ในปี 2568 ที่ลดลงเหลือเพียงกีฬาซีเกมส์ช่วงปลายปี เทียบกับปี 2567 ที่มีทั้งกีฬาโอลิมปิกและฟุตบอลยูโร ทำให้ภาพรวมการบริโภคขนมขบเคี้ยวกลุ่มนี้เติบโตได้ไม่มาก ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการจัดฟุตบอลโลกจะช่วยหนุนการบริโภคขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ดของไทยให้เพิ่มขึ้นราว 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันที่ไม่มีการจัดฟุตบอลโลก            อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักราว 30% ของต้นทุนการผลิตรวม โดยในปี 2568 ราคาวัตถุดิบหลักอย่างมันฝรั่งมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้น จึงลดโอกาสในการทำการตลาดของธุรกิจเพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่น การทำโปรโมชั่น (รางวัล ส่วนลด) สะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการขายที่ลดลง ซึ่งสวนทางกับราคาวัตถุดิบทำให้การแข่งขันด้านราคาทำได้อย่างจำกัด กลุ่มขนมปังกรอบและบิสกิต            ประกอบด้วยขนมปังกรอบและบิสกิต (แครกเกอร์ คุกกี้ และเวเฟอร์) โดยในปี 2568 คาดว่ายอดขายขนมปังกรอบและบิสกิตจะขยายตัวที่ 2.7% ชะลอจาก 8.7% ในปี 2567 ขนมปังกรอบและบิสกิตคาดว่าจะมียอดขายเติบโตในปี 2568 จากแรงหนุนของความเป็นเมือง ซึ่งมีความเร่งรีบในการบริโภคเพื่อรองท้องหรือทดแทนมื้ออาหารหลัก สะท้อนผ่านจำนวนคนในเมืองของไทยที่เพิ่มขึ้นในปี 2563-2566 เป็น 37.6 ล้านคน จากปี 2559-2562 ที่ 35.2 ล้านคน (ข้อมูลจาก Our World in Data)สอดคล้องกับปริมาณขายขนมปังกรอบและแครกเกอร์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 8.5 หมื่นตัน จาก 8.3 หมื่นตัน            นอกจากนี้ ผู้บริโภคไทยมักซื้อขนมปังกรอบและบิสกิตผ่านช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่เป็นหลัก โดยเฉพาะในไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่มีสัดส่วนสูงถึง 56% ของช่องทางขายทั้งหมด            อย่างไรก็ดี ตลาดขนมปังกรอบและบิสกิตจะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบหลักบางรายการในปี 2568 ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก จากการคาดการณ์ของ World Bank โดยเฉพาะราคาน้ำตาล คาดเพิ่มขึ้น 2.2% และราคาเนยคาดเพิ่มขึ้น 6.4% ซึ่งจะกระทบทิศทางการทำการตลาดของธุรกิจคล้ายกับกรณีของกลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ดดังกล่าวข้างต้น กลุ่มขนมที่ทำมาจากสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืช            ประกอบด้วยขนมขบเคี้ยวที่ทำมาจากสาหร่าย เนื้อปลา/ปลาหมึก/กุ้ง/หมู/ไก่ และถั่ว โดยในปี 2568 คาดว่ายอดขายขนมที่ทำมาจากสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืช จะขยายตัวที่ 2.4% ชะลอจาก 5.6% ในปี 2567            ขนมที่ทำมาจากสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืช คาดจะมียอดขายเติบโตในปี 2568 จากแรงหนุนของกระแสรักสุขภาพมากขึ้น เช่น บริโภคโปรตีนมากขึ้น รวมถึงการบริโภคโซเดียมที่ลดลง ซึ่งแม้ขนมกลุ่มสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืชจะมีปริมาณโซเดียมใกล้เคียงกับกลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ดในน้ำหนักที่เท่ากัน แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการขนมกลุ่มสาหร่ายรายใหญ่ได้ลดโซเดียมลง 50% ขณะที่ขนมกลุ่มมันฝรั่งทอดรายใหญ่ลดโซเดียมลง 30% ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันมาบริโภคขนมกลุ่มสาหร่ายทดแทนมากขึ้น            อย่างไรก็ตาม ความต้องการขนมขบเคี้ยวที่ทำจากสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืชของคนต่างชาติที่ซื้อเป็นของฝาก โดยเฉพาะสาหร่ายทอดที่เป็นของฝากยอดนิยม จะมีแนวโน้มเติบโตช้าลงตามจำนวนคนต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวไทยที่โตชะลอ โดยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝาก ซึ่งรวมถึงขนมขบเคี้ยวของคนต่างชาติราว 18% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) ขณะที่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่ขนมขบเคี้ยวไทยอยู่ที่ในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบไปด้วย BJC CHAO CH KCG NSL PM SNP SNNP SORKON TKN TU            นายวิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจในประเทศ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ผู้นำด้านเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า คาดว่าตลาดขนมขบเคี้ยวในปี 2568 จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2567 โดยประมาณ 3-5% ขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มสินค้า ขณะที่ภาพรวมในปี 2567 SNNP ยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มเจเล่พร้อมดื่ม และเบนโตะ ซึ่ง SNNP มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในกลุ่มเบนโตะสูงถึง 70% ส่วนกลุ่มเจเล่พร้อมดื่ม บริษัทสามารถผลักดันการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ            สำหรับแผนการตลาดในการจำหน่ายขนมขบเคี้ยวในปี 2568 บริษัทจะดำเนินการตลาดแต่ละแบรนด์เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2567 โดยทั่วไป สินค้าที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงหรือได้รับความนิยมมักจะต้องใช้งบประมาณในการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการตลาดและกระตุ้นยอดขาย ขณะที่กลยุทธ์การตลาดในแต่ละกลุ่มสินค้าอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการเจาะตลาดและกลุ่มเป้าหมายของสินค้านั้น ๆ เบื้องต้นบริษัทวางงบการตลาดปี 2568 ไว้ไม่เกิน 3% ของยอดขาย            บริษัทคาดว่าเป้าหมายการเติบโตในปี 2568 จะอยู่ในช่วงตัวเลข 2 หลัก (Two-Digit Growth) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการตลาดเพื่อผลักดันยอดขายให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง            ด้านบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาด SNNP กำไรใน 4Q67 คาดกลับมาทำ New High อีกครั้ง            คาดกำไรปกติใน 4Q67 ของ SNNP เบื้องต้นอยู่ในกรอบ 170-180 ล้านบาท กลับมาทำ New High ได้อีกครั้ง หนุนจาก 1) การเข้าสู่ช่วง High season ของทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงการได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐฯ ที่เข้ามาช่วยหนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงท้ายปี 2) คำสั่งซื้อในเวียดนามที่คาดจะสามารถเห็นการฟื้นตัว QoQ ได้ หนุนจากการปรับโครงสร้างการกระจายสินค้าที่เสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 80% ส่งผลให้ผู้จัดจำหน่ายบางส่วนเริ่มกลับมาสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น แต่อาจยังลดลงหากเทียบ YoY เนื่องจากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่จำกัด 3) การรับรู้ผลของการเพิ่มผู้จัดจำหน่ายรายที่ 2 ในฟิลิปปินส์เต็มไตรมาส ขณะที่ GPM คาดสูงขึ้นต่อเนื่อง QoQ หนุนจาก U-rate ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากทั้งโรงงานในไทยและเวียดนาม            นอกจากนี้ในปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้จัดจำหน่ายรายที่ 3 ในฟิลิปปินส์ที่มีความชำนาญด้านการจัดจำหน่ายในร้าน Traditional Trade ซึ่งทางผู้บริหารให้ข้อมูลว่าจะสามารถเซ็นสัญญากับผู้จัดจำหน่ายดังกล่าวได้ภายใน 4Q67-1Q68 ซึ่งเป็น Upside ที่ยังไม่รวมอยู่ในประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์            คาดจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง YoY หนุนจาก 1) ยอดคำสั่งซื้อจากเวียดนามที่คาดกลับเข้าสู่ระดับปกติใน 1Q68 จากการเพิ่มการทำงานของเครื่องจักรเป็น 2 กะ (16 ชม.) จากในช่วง 4Q67 ที่ 1 กะ (8 ชม.) และ 2) การรับรู้ผลของการเพิ่มผู้จัดจำหน่ายรายที่ 3 เต็มไตรมาส รวมถึง GPM ที่คาดจะปรับตัวสูงขึ้นต่อ QoQ จาก U-rate ของโรงงานในเวียดนามที่ดีขึ้นและ Product Mix ที่ดีขึ้นเนื่องจากอัตรากำไรของเวียดนามสูงกว่าไทย            ฝ่ายวิเคราะห์คงประมาณการกำไรปกติปี 2567 ที่ 667 ล้านบาท (+4.8% YoY) และคาดว่ากำไรจะยังสามารถเติบโตได้ต่อในปี 2568 เป็น 772 ล้านบาท (+15.8% YoY) โดยเป็นผลมาจาก 1) ยอดขายในเวียดนามที่กลับเติบโตจากการปรับกลยุทธ์การกระจายสินค้าที่สิ้นสุดลง รวมถึงการเพิ่มระยะเวลาการผลิตของเครื่องจักรตั้งแต่ 1Q68 2) ยอดขายในฟิลิปปินส์ที่เติบโตจากการรับรู้ผลของการเพิ่มผู้จัดจำหน่ายเต็มปี และ 3) ยอดขายในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการออกสินค้าใหม่มากขึ้น            คงราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2568 ที่ 20.80 บาท อิง PE ที่ 22.0 เท่า โดยราคาหุ้นในปัจจุบันซื้อขายบน PER67-68 เพียง 16.8 เท่า และ 14.6 เท่า ตามลำดับ จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” เรามองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนปัจจัยลบจากยอดขายในเวียดนามที่อ่อนแอไปมากแล้ว เชิงกลยุทธ์แนะนำสะสม

วิเคราะห์ผู้เล่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์: HANA [HoonVision x FynCorp]

วิเคราะห์ผู้เล่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์: HANA [HoonVision x FynCorp]

เซมิคอนดักเตอร์ในไทย เริ่มก้าวสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ           หากพูดถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ คงหนีไม่พ้น เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแผงวงจรควบคุมและประมวลผลข้อมูลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิด ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะการผลิตชิป ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของโลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยมูลค่าตลาดที่ถูกคาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ตามความต้องการใช้ AI, Data Center, IoT, EV, เครื่องมือแพทย์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้หน่วยประมวลผลที่ทำจากเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบหลัก           หากดูจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในส่วนกลางน้ำ (Midstream) และปลายน้ำ (Downstream) ซึ่งจะเป็นขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนประกอบ (components) และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (finished goods) เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ (OSAT) การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) โดยในปี 2566 BOI รายงาน ไทยมียอดส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.5 ล้านล้านบาท หรือ 25% ของการส่งออกทั้งหมด โดยเป็นมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มูลค่า 5.1 แสนล้านบาท           นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมากในไทยช่วง 2 ปีมานี้ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ไต้หวัน และญี่ป่น จนในปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศ นโยบายสส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ           บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าดึงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี (2568-2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในภูมิภาค ซึ่งในเดือนธันวาคม 2567 บริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำ ภายใต้กลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือของ Foxconn เข้ามาตั้งฐานการผลิตแห่งที่ 4 ของโลกในไทย ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรก 10,500 ล้านบาท โดยตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอมตะซิตี้ ระยอง ซึ่งบริษัทมีโรงงานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา           ดังนั้น การที่ FITI เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย จะเป็นขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) และจะเป็นโอกาสในการสร้างพันธมิตรที่ดีของผู้เล่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยได้ อีกทั้ง ในปี 2567 นี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่าง HANA ได้มีแผนร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิป (Wafer Fabrication) แห่งแรกในไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นจุดสำคัญที่ไทยจะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำ HANA: 1 ใน 50 บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก           บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) (HANA) ซึ่งบริษัทแม่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 และได้เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 บริษัทและบริษัทย่อยให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Electronics Manufacturing Service: EMS) แก่ลูกค้า (Original Equipment Manufacturer: OEM) ผ่านฐานการผลิตรวมทั้งสิ้น 7 แห่ง ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย จีน สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และเกาหลี ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของ HANA แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ การผลิตและประกอบแผงวงจร “PCBA” การผลิตและประกอบและทดสอบวงจร “IC” และการผลิตและประกอบ RFID และ Liquid Crystal on Silicon “LCOS”           1) ผลิตภัณฑ์ประเภทแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) - Printed Circuit Board Assembly Source: 56-1 One Report 2566           PCBA เป็นการประกอบแผงวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ลงบนแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ที่เป็นฐานสำหรับยึดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมต่อวงจรให้แผ่นวงจรไฟฟ้าให้สามารถทำงานได้ โดย HANA มีโรงงานผลิต PCBA 3 แห่ง อยู่ที่จังหวัดลำพูน ประเทศไทย ที่เมืองเจียซิง ประเทศจีน และจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา 2) ผลิตและทดสอบการทำงานของผลิตภัณฑ์แผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC Assembly) Source: 56-1 One Report 2566           แผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC) คือ สารกึ่งตัวนำที่ประกอบด้วยส่วนประกอบวงจร เช่น ตัวต้านทาน (Resistor) ตัวเก็บประจุตัวเหนี่ยวนำ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด เป็นต้น ซึ่งเชื่อมต่อด้วยสายไฟวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการพัฒนาขนาดที่เล็กลง โดยโรงงานประกอบ IC ของบริษัทมี 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย เมืองเจียซิง ประเทศจีน และที่จังหวัดชุงชองบุกโด ประเทศเกาหลีใต้ 3) การผลิตและประกอบ RFID Source: 56-1 One Report 2566           RFID หรือ Radio Frequency Identification คือ อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหรือระบุตัวตน ด้วยการอ่านรหัสคลื่นวิทยุ ใช้สำหรับรับส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วแบบไร้สาย ส่วน Microdisplay เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสัญญาณทางไฟฟ้าเป็นสัญญาณภาพที่มีความละเอียดสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ LCoS (Liquid Crystal on Silicon) อุปกรณ์ MEMS หรือ HTP (High-Temperature Polysilicon) ซึ่งใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ เช่น แว่นตาแสดงภาพเหมือน (Virtual and Augmented Reality Goggles) เครื่องฉายภาพ (Multimedia Projector) เป็นต้น โดยโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ เมืองทวินส์เบิร์กและโซลอน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา โครงสร้างรายได้           บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ PCBA เป็นหลัก คิดเป็น 61% ของรายได้จากการขายทั้งหมดในปี 2566 ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ IC Assembly หรือ 33% ส่วน RFID & Microdisplay มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 6% ซึ่งแบ่งรายได้ตามประเทศที่ตั้งหน่วยการผลิตได้ตามรูปด้านล่าง Source: 56-1 One Report 2566 สภาพตลาดและการแข่งขัน           HANA ถือว่าเป็น 1 ใน 50 บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก ซึ่งมีเพียงไม่กี่ผู้เล่นในไทยที่ทำธุรกิจเช่นนี้ แต่ถ้าดูผู้เล่นในไทยที่ผลิต PCBA จะเป็น SMT, Benchmark, Fabrinet และ SVI ส่วนคู่แข่งในด้าน IC Assembly ได้แก่ UTAC และ SMT ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่นอกประเทศที่ให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร อย่างเช่น IMI, Flextronics, Solectron, Plexus และ Pemstar นี้ บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะแข่งขันโดยตรง โดยเน้นการรับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทไมโครอิเล็กทรอนิกส์ การร่วมทุนกับกลุ่ม ปตท. ลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในไทยภายใน 2 ปี ยังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์           บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. มีแผนร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิปชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) แห่งแรกของไทย (Wafer Fabrication) ภายใต้ บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1) ภายหลังที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และออกบัตรส่งเสริมในเดือนสิงหาคม 2567 โดยโรงงานจะถูกก่อสร้างในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ด้วยระยะเวลาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร 2 ปีโดยประมาณ และคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาสแรก ปี 2570 Source: 56-1 One Report 2566           บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด มีแผนลงทุนกว่า 11,500 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตชิปต้นน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เป็นชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) เป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ มีคุณสมบัติแตกต่างจากชิปทั่วไปที่ผลิตจากซิลิคอน ตรงที่มีความสามารถทนไฟขั้นสูงสามารถแปลงแรงดันไฟฟ้ากำลังสูง เหมาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานในวงกว้างตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในครัวเรือน อุปกรณ์ Cloud Computing อินเวอร์เตอร์ไฟฟ้า EV/OBC รวมทั้งในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำให้ SiC มีความยากในการผลิตและต้นทุนสูง           อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ความต้องการในอุตสาหกรรม (FT1 Business Demand) ที่ชะลอตัวลงในปัจจุบัน ทำให้บริษัทยังคงจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจนกว่าจะถึงช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 ถึงความเหมาะสมที่จะตัดสินใจลงทุน ระยะเวลาเริ่ม รวมถึงมูลค่าเงินที่จะลงทุนในโครงการ Risk Factors ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ราคาขายและอุปสงค์ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในตลาดโลกที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น สงครามการค้า ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย สภาพเศรษฐกิจที่คาดว่าจะถดถอยและปัญหาพลังงาน           อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านนี้ โดยการรักษาฐานลูกค้าและกระจายการผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และจากนโยบายการค้าของสหรัฐที่ทำให้เกิดความเสียเปรียบทางธุรกิจสำหรับโรงงานผลิตในจีน บริษัทจึงปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นลูกค้าในจีนเป็นหลัก ทั้งนี้ สงครามการค้าอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจให้โรงงานในประเทศที่เหลือของบริษัท ความเสี่ยงของระบบห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสามารถเกิดขึ้นได้อีกโดยเฉพาะจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานโลกมีความซับซ้อนและบูรณาการมากขึ้น ทำให้บริษัทมีการประสานงานและทำงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ในส่วนวัตถุดิบและชิ้นส่วนหลักในการผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่ค้าที่เป็นพันธมิตร ความเสี่ยงของฐานลูกค้ารายใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงหลักที่กลุ่มฐานลูกค้ารายใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ การเปลี่ยนเจ้าของกิจการหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงโดยมีสัดส่วนสินค้าที่ผลิต กระจายตัวอยู่ในตลาดที่หลากหลายในอุตสาหกรรมและมีสัดส่วนการกระจายการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ด้วยการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น โดยลูกค้ารายใหญ่ที่สุดมียอดขายไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดขายกลุ่มบริษัท หุ้น HANA           หุ้น HANA มี Market Cap อยู่ที่ 21,514.41 ล้านบาท (อิงข้อมูล ณ วันที่ 19 ธันวาคม 67) หรือเป็นอันดับที่ 4 ให้หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) โดยผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ยังคงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลต่อต้นทุนเพิ่ม ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลง รวมถึงการตั้งด้อยค่าสินค้าคงคลัง ขณะที่ความต้องการใน SiC ยังคงอ่อนตัวลงและราคาลดลงจากการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ชะลอตัว รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาษี EV ที่กระทบต่อการผลิตที่ตลาดจีน           อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 ปี 2567 หน่วยงานพาวเวอร์ มาสเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ในเกาหลีใต้ (PMS) และหน่วยงานฮานา เทคโนโลยี (HTI) ในสหรัฐอเมริกามียอดขายเพิ่มขึ้น 40% YoY และ 20% YoY ตามลำดับ Unit: THB Million           ในด้านเงินปันผล บริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลตั้งแต่ 30% ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวมหลังหักเงินสำรองต่างๆทุกประเภท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการลงทุนและกระแสเงินสด โดยล่าสุด (13 ธันวาคม 67) บริษัทได้จ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.25 บาทต่อหุ้น (DPS) ซึ่งมูลค่าที่ลดลงอาจเกิดจากการวางแผนเก็บเงินสดไว้ลงทุน อย่างเช่นการสร้างโรงงาน หรือเน้นการเติบโตในระยะยาวมากกว่า รายละเอียดเพิ่มเติม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/8ebd9f84-5a2d-47c2-a2c5-068bd4084898

BEC ขายเงินลงทุนใน BID จำนวน 499,993 หุ้น

BEC ขายเงินลงทุนใน BID จำนวน 499,993 หุ้น

          หุ้นวิชั่น - นายนพดล เขมะโยธิน รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักงานการเงินและบัญชี บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ")หรือ BEC แจ้งต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ขายเงินลงทุนทั้งหมดที่บริษัทฯ ถืออยู่ในบริษัท บีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ดิสทริบิวชั่น จำกัด ("BID") จำนวน 499,993 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียน) ให้กับบุคคลธรรมดา ซึ่งไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน ในราคารวมทั้งสิ้น 5,000 บาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียที่แสดงในงบการเงินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 โดยมีรายละเอียดของรายการดังนี้ วัน เดือน ปีที่เกิดรายการ: ภายในเดือนธันวาคม 2567 คู่สัญญาที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ และผู้ซื้อไม่ถือเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน วัตถุประสงค์ เป็นการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยตามแผนบริหารการลงทุนของบริษัท เนื่องจาก BID เกิดผลขาดทุนสะสมสูงกว่าทุนจดทะเบียน ปัจจุบันไม่ได้ประกอบธุรกิจและมีภาระค่าใช้จ่ายในการคงสภาพบริษัท ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการคงสภาพบริษัท รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการชำระบัญชีเพื่อปิดบริษัท ลักษณะรายการ การคำนวณขนาดของรายการสามารถคำนวณได้ตามเกณฑ์สูงสุด คือ เกณฑ์มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทน (ตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ ที่สอบทานแล้วสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) และไม่มีรายการที่เกิดขึ้นย้อนหลัง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยขนาดรายการที่คำนวณได้มีขนาดรายการเท่ากับร้อยละ 0.98 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 15 จึงไม่เข้าข่ายที่จะต้องรายงานสารสนเทศตามประกาศรายการได้มาหรือจำหน่ายไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ.20/2551 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีหน้าที่รายงานการจำหน่ายบริษัทย่อยตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศและการปฏิบัติการใดๆ ของบริษัทจดทะเบียน พ.ศ.2560 เนื่องจากเป็นกรณีที่บริษัทจดทะเบียนจำหน่ายไปซึ่งเงินลงทุนในบริษัทอื่น ซึ่งเป็นผลให้บริษัทอื่นนั้นสิ้นสภาพในการเป็นบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียน มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทนที่ไดมา 5,000 บาท

BCPG ตั้ง รวี บุญสินสุข เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผล  1 ม.ค. 68

BCPG ตั้ง รวี บุญสินสุข เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผล 1 ม.ค. 68

หุ้นวิชั่น - ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ในการประชุม ครั้งที่ 16/2567  เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 มีมติแต่งตั้ง นายรวี บุญสินสุข ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (Chief Executive Officer & President) ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป [PR News]

IVF แจ้ง พลตำรวจโทธัชชัย ปิตะนีละบุตร ลาออก มีผล 19 ธ.ค.67

IVF แจ้ง พลตำรวจโทธัชชัย ปิตะนีละบุตร ลาออก มีผล 19 ธ.ค.67

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน นางสาวเกศิณี กุลดิลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินสไปร์ไอวีเอฟ จำกัด (มหาชน) หรือ IVF แจ้งข่าวต่อลาดหลักทรัพย์ ว่า บริษัท อินสไปร์ไอวีเอฟ จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งให้ทราบว่า พลตำรวจโทธัชชัย ปิตะนีละบุตร ประธานกรรมการ และกรรมการอิสระ ได้ยื่นหนังสือของลาออก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากมีภารกิจทางราชการเพิ่มขึ้นตามที่ได้รับแต่งตั้งจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2567           ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน จะดำเนินการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาและแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างลงต่อไป

ORI ยื่นไฟลิ่งหุ้นกู้ใหม่ขาย 10-13 ก.พ. 68

ORI ยื่นไฟลิ่งหุ้นกู้ใหม่ขาย 10-13 ก.พ. 68

          ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ หรือ ORI ยื่นไฟลิ่งเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ล็อตใหม่ 3 รุ่น คาดเปิดขายระหว่างวันที่ 10 – 11 และวันที่ 13 ก.พ.นี้ ระดับความน่าเชื่อถือ “BBB+/Stable” จากทริสเรทติ้ง กางพอร์ตที่อยู่อาศัย 9 เดือน ยอดขายแกร่ง 26,849 ล้าน ทะลุ 77% ของเป้าหมายทั้งปี พร้อมแบ็คล็อกแกร่ง 47,329 ล้าน กรุงเทพฯ-ปริมณฑล-EEC-ภูเก็ต คาดทยอยรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 4 จาก 3 โครงการร่วมทุนสร้างเสร็จใหม่มูลค่าโครงการกว่า 7,430 ล้าน คว้าอันดับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ในระดับ “AAA” พร้อมรับการประเมิน CGR ระดับ 5 ดาวต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจอย่างต่อเนื่องและมั่นคง           นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2568 เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ต่อผู้ลงทุนทั่วไป และ ผู้ลงทุนสถาบัน (Public Offering) โดยหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายมีจำนวน 3 รุ่น ได้แก่ หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี 1 เดือน 8 วัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.40-4.50% ต่อปี หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.85% ต่อปี และหุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.15% ต่อปี โดย เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ทริสเรทติ้ง ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ระดับ “BBB+” แนวโน้ม “คงที่” คาดว่าจะเสนอขายหุ้นกู้ 3 ชุดดังกล่าวในวันที่ 10-11 และ 13 ก.พ. 2568 นี้           ที่ผ่านมา ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.2567) บริษัทมียอดขายโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งกลุ่มบ้านจัดสรรภายใต้บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI และคอนโดมิเนียมภายใต้บริษัท ออริจิ้น เวอร์ติเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ORIGIN VERTICAL และบริษัทอื่นๆ ในเครือ รวมกันกว่า 26,849 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 77% ของเป้าหมายทั้งปี           ขณะเดียวกัน บริษัทยังมียอดโอนกรรมสิทธิ์จากทั้งกลุ่มโครงการร่วมทุน (Joint Venture หรือ JV) และกลุ่มโครงการที่ไม่ได้ร่วมทุน (Non-JV) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นยอดโอนกรรมสิทธิ์สะสม 9 เดือน 10,502 ล้านบาท เมื่อประกอบกับรายได้จากธุรกิจที่นอกเหนือจากที่อยู่อาศัยที่บริษัทได้วางรากฐานกระจายพอร์ตไว้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจโรงแรมภายใต้แบรนด์ดัง 11 แห่ง ธุรกิจคลังสินค้าหลากทำเลเปิดดำเนินการแล้วรวมกว่า 270,414 ตร.ม. ส่งผลให้กำไรสุทธิทั้งเครือในช่วงดังกล่าวสะสมอยู่ที่ 1,318 ล้านบาท           “เรายังมียอดขายรอรับรู้รายได้ หรือ แบ็คล็อก ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 สูงถึง 47,329 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้กระจายการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตลอดจนหัวเมืองท่องเที่ยวศักยภาพอย่างภูเก็ต ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เรามีทยอยรับรู้รายได้ได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจนถึงราวปี 2571” นายพีระพงศ์ กล่าว           ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4/2567 บริษัทจะมีโครงการร่วมทุนสร้างเสร็จใหม่ทั้งสิ้น 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 7,430 ล้านบาท ซึ่งมีแบ็คล็อกจาก 3 โครงการดังกล่าวแล้วกว่า 80% ได้แก่ 1.ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ สิรินธร สเตชั่น (Origin Plug & Play Sirindhorn Station) คอนโดมิเนียมเจาะตลาด Gen Y-Gen Z แห่งแรกของบริษัทในฝั่งธนบุรี ใกล้ MRT สิรินธร 2.โซ ออริจิ้น พหล 69 สเตชั่น (So Origin Phahol 69 Station) คอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เพียง 50 เมตร และใกล้สนามบินดอนเมือง และ 3.ไนท์บริดจ์ สเปซ สุขุมวิท-พระราม 4 (Knightsbridge Space Sukhumvit-Rama 4) คอนโดมิเนียมใกล้ BTS พระโขนง           นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า การกระจายพอร์ตธุรกิจของบริษัทไปสู่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจคลังสินค้า ตลอดจนธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร ถือเป็นทิศทางที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน โดยแนวโน้มของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวเข้ามามีส่วนช่วยสร้างสมดุล และสร้างรายได้ให้แก่ให้พอร์ต โดยในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2567 โรงแรมในเครือมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยถึง 75% ธุรกิจคลังสินค้ามีอัตราการเช่าเฉลี่ยถึง 90%           จากผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องและมั่นคง ใส่ใจสังคมและชุมชนรอบข้าง ส่งผลให้บริษัทได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ติดอันดับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ถึง 4 ปีซ้อน พร้อมทั้งได้รับการปรับระดับจาก AA ในปี 2566 สู่ระดับ “AAA” สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทด้านความยั่งยืน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และความมุ่งมั่นของบริษัทในการรักษามาตรฐานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน พัฒนาองค์กรให้เติบโต บริหารงานภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ขณะเดียวกัน ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ยังได้รับคะแนนการประเมินการกำกับดูแลกิจการในรายงาน Corporate Governance Report of Thai Listed Companies หรือ CGR ประจำปี 2567 ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในระดับ 5 ดาว หรือ “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) ต่อเนื่องถึง 5 ปีซ้อนอีกด้วย           ขณะที่บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI มีโครงสร้างธุรกิจหลากหลาย ประกอบด้วย           1.ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย (Residential Development Business) พัฒนาคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรมาแล้ว 163 โครงการ (ณ สิ้นไตรมาส 3/2567) เช่น แบรนด์ พาร์ค ออริจิ้น (Park Origin), โซ ออริจิ้น (So Origin), ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ (Origin Plug & Play), ไนท์บริดจ์ (Knightsbridge), นอตติ้ง ฮิลล์ (Notting Hill), ออริจิ้น เพลส (Origin Place), ดิ ออริจิ้น (The Origin), เคนซิงตัน (Kensington), แฮมป์ตัน (Hampton), ออริจิ้น เพลย์ (Origin Play), บริกซ์ตัน (Brixton) และ บริทาเนีย (Britania) รวมมูลค่าโครงการกว่า 253,516 ล้านบาท           2.ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income Business) เช่น โรงแรม เซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ ค้าปลีก           3.ธุรกิจบริการ (Service Business) เช่น ธุรกิจให้บริการลูกบ้าน ธุรกิจการจัดการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจตัวแทนซื้อ ขาย เช่า อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์           4.ธุรกิจเมกะเทรนด์ระยะยาว (Mega Trends) กลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจเฮลท์แคร์ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจด้านการเงิน ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนท์ ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้บริโภคแบบครบวงจร [PR News]

[ภาพข่าว] NOBLE คว้า SET ESG Ratings ปี 67 ระดับสูงสุด “AAA”

[ภาพข่าว] NOBLE คว้า SET ESG Ratings ปี 67 ระดับสูงสุด “AAA”

          หุ้นวิชั่น - กรุงเทพฯ-บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ “NOBLE” ติดอันดับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 เรทติ้งสูงสุด ระดับ “AAA” และติดรายชื่อหุ้นยั่งยืน 3 ปีซ้อน ตอกย้ำการเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายในแนวคิด “Live Different” ตามกรอบ ESG           นายธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน บริษัท จดทะเบียนที่ติดอันดับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 เรทติ้งสูงสุด ระดับ “AAA” ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และติดรายชื่อหุ้นยั่งยืน 3 ปีซ้อน สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทจดทะเบียนที่มุ่งเน้นพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาแนวปฏิบัติของธุรกิจในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) สอดรับกับนโยบายความยั่งยืนขององค์กร ภายในแนวคิด “Live Different” ด้วยแนวคิดและมุมมองในการดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ในทุกมิติของการใช้ชีวิตคนเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยสู่การพัฒนา อย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  

ITC โบรกคาด Q4 ยอดขายทะลุเป้า สินค้า Premium ยืนได้ไม่หวั่นภาษี Trump – OECD

ITC โบรกคาด Q4 ยอดขายทะลุเป้า สินค้า Premium ยืนได้ไม่หวั่นภาษี Trump – OECD

          หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงานว่า บล.ฟิลลิป  เผยยอดขายของ ITC ปี 67 คาดทะลุเป้าจากคำสั่งซื้อที่เติบโต และมีแนวโน้มเพิ่ม Payout Ratio แม้เผชิญความเสี่ยงด้านภาษี Global Minimum Tax ของ OECD และภาษีนำเข้าจากสหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่าคุณภาพสินค้า Premium ของ ITC และต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ผลิตในสหรัฐยังเป็นแก่นหลักในการแข่งขันท่ามกลางการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภาษีที่รายล้อม แนะนำ "ซื้อ" ที่ราคาพื้นฐานปี 68 ที่ 34.25 บาท คาดยอดขายปี 67 ทะลุเป้า ลุ้นเพิ่มปันผล           ใน 4Q67 ยอดสั่งซื้อสินค้าในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมโตขึ้น y-y โดยบริษัทขนส่งสินค้าลงเรือแล้วกว่า 74% ของยอดสั่งซื้อ ทางฝ่ายคาดว่ายอดขาย 4Q67 อยู่ที่ 5,279 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.0% q-q และ 11.2% y-y ประมาณการยอดขายรวมปี 67 อยู่ที่ 18,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.6% y-y (Company Guidance: +15-17%) ทั้งนี้ บริษัทเคยกล่าวว่าอาจเพิ่ม Payout Ratio หากยอดขายทั้งปีถึงเป้า หากบริษัทคง Payout Ratio ที่ 79% คาดว่าเงินปันผลจากผลประกอบการปี 67 อยู่ที่ 1.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็น Dividend Yield ประมาณ 4.5% โดยบริษัทจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.40 บาทต่อหุ้นไปแล้ว และคาดจ่ายที่เหลือ 0.60 บาทต่อหุ้น แต่ในกรณีที่บริษัทตัดสินใจเพิ่ม Payout Ratio เป็น 90% คาดว่าจะจ่ายที่เหลือ 0.75 บาทต่อหุ้น รวมทั้งสิ้น 1.15 บาทต่อหุ้น คิดเป็น Dividend Yield ประมาณ 5.2% อย่างไรก็ตาม การเพิ่มหรือไม่เพิ่ม Payout Ratio ต้องรอมติที่ประชุม AGM ต้นปี 68 ยังยืนได้ท่ามกลางพายุภาษีจาก Trump และ OECD           เนื่องจากไทยได้ดุลการค้าสหรัฐมากสุดเป็นลำดับที่ 11 และอาหารสัตว์เลี้ยงส่งออกของไทยคิดเป็น 34.8% ของการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมดของสหรัฐ ทำให้มีความเสี่ยงถูกเพิ่มภาษีนำเข้า 10-20% ตามนโยบายของทรัมป์ที่ต้องการลดการขาดดุลการค้า มีแนวโน้มที่ภาระภาษีนี้จะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาสินค้า และคาดว่าโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า และสินค้าส่วนมากเป็นกลุ่ม Economy จึงไม่ได้แข่งขันโดยตรงกับสินค้า Premium ของ ITC ที่เป็นเซกเมนต์ส่งออกหลักไปยังสหรัฐ           ในส่วนภาษี Global Minimum Tax 15% ของ OECD อาจถูกนำมาใช้ในไทย ซึ่ง ITC มี Effective Tax Rate ที่ 3-5% แต่มีรายได้ไม่ถึง 750 ล้านยูโร จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว คาดว่าปลอดภัยจนกว่าจะถึงปี 71 ที่รายได้คาดการณ์อาจเพิ่มจนถึงเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องเตรียมพร้อมหากการเติบโตทำให้บริษัทเข้าสู่เงื่อนไขในอนาคต ราคาพื้นฐานปี 68 ที่ 34.25 บาทต่อหุ้น           โดยวิธี DCF ประเมินราคาพื้นฐานหุ้นด้วยวิธีการ Discounted Cash Flow จาก Free Cash Flow to Equity (FCFE) โดยกำหนดค่า Beta ที่ 0.79 สำหรับปี 2568-2570 และใช้ Adjusted Beta ที่ 0.86 ในปี 2571 เป็นต้นไป สำหรับคำนวณ Terminal Value โดยมี Required Rate of Return for Equity (re) ที่ 6.5% สำหรับปี 2568-2570 และ 6.8% สำหรับปี 2571 เป็นต้นไป และมี Sustainable Growth Rate สำหรับปี 2571 ที่ 2.5% โดยใช้ Estimated Retention Ratio และ ROE เฉลี่ยของกลุ่มบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน           ด้วยตัวธุรกิจที่อยู่ใน Mega Trend ทำให้คาดว่ามีความต้องการสินค้ามากขึ้นในอนาคต ราคาพื้นฐานสำหรับปี 2568 อยู่ที่ 34.25 บาทต่อหุ้น แนะนำ “ซื้อ”

HMPRO โบรกคาด Q4 ฟื้นตัว

HMPRO โบรกคาด Q4 ฟื้นตัว "Easy E -receipt" หนุนโตต่อ แนะ “ซื้อ” เป้า 9.85 บาท

          หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงานว่า บล.ฟิลลิป คาด SSSG ของ HomePro ฟื้นตัวดีขึ้นใน 4Q67 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปีใหม่ ส่งผลให้ยอดขายดีขึ้นตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สำหรับต้นปี 68 รัฐบาลเตรียมออกโครงการ "Easy E-receipt" กระตุ้นกำลังซื้อผ่านการลดหย่อนภาษี ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่ม Commerce โดยเฉพาะสินค้าประเภท Durable Goods ใน HomePro ช่วยหนุนยอดขายใน 1Q68 ได้ดีจากความต้องการซื้อทดแทนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาพื้นฐานปี 68 : 9.85 บาทต่อหุ้น คาด SSSG 4Q67 ฟื้นตัวดี           ใน 4Q67 คาดว่า SSSG – HomePro จะอยู่ในช่วงลบ low-single digit และในส่วน SSSG – MegaHome อยู่ที่บวก mid-single digit คาดมี SSSG รวมอยู่ที่ -0.1% ทางฝ่ายประมาณการยอดขายใน 4Q67 จะอยู่ที่ 16,845 ล้านบาท +5.7% q-q, -0.2% y-y คาดโตขึ้น q-q จากปัจจัยบวก 2 เรื่อง ได้แก่ เงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ฤดูกาลท่องเที่ยว           ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงก่อนปีใหม่ ซึ่งได้สอดคล้องกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่เริ่มฟื้นตัวจาก 3Q67 โดยเห็นได้จากค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม (CCI) จากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 53.2 จุดจากระดับ 52.9 จุดในเดือนตุลาคม นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ คาดยอดขายรวมปี 67 อยู่ที่ 67,836 ล้านบาท -0.65% y-y รัฐบาลชง Easy E-receipt กระตุ้นกำลังซื้อต้นปี 68           กระทรวงการคลังมีแผนเสนอโครงการ “Easy E-receipt” เตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม. ในวันที่ 24 ธ.ค. 67 โดยโครงการนี้ให้ลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท โดยเป็นใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ 30,000 บาท และใบเสร็จปกติอีก 20,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค คาดเริ่มใช้ได้ ม.ค. 68 ทางฝ่ายคาดว่าโครงการนี้เป็นผลดีกับกลุ่ม Commerce โดยเฉพาะสินค้าที่เป็น Durable Goods ที่เป็นสัดส่วนหลักของสินค้าใน HomePro คาดสามารถกระตุ้นยอดขายใน 1Q68 ได้ เนื่องจากโครงการนี้จะกระตุ้น Demand ในอนาคต เร่งให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าใหม่ทดแทนของเก่าเพื่อที่จะได้ลดหย่อนภาษีไปในตัว ราคาพื้นฐานปี 68 ที่ 9.85 บาทต่อหุ้น           โดยวิธี DCF ประเมินราคาพื้นฐานหุ้นด้วยวิธีการ Discounted Cash Flow จาก Free Cash Flow to Equity (FCFE) โดยกำหนดค่า Beta ที่ 1.67 สำหรับปี 2568-2570 และใช้ Adjusted Beta ที่ 1.45 ในปี 2571 เป็นต้นไป โดยมี Required Rate of Return for Equity (re) ที่ 10.0% สำหรับปี 2568-2570 และ 9.1% สำหรับปี 2571 เป็นต้นไป และมี Sustainable growth rate สำหรับปี 2571 ที่ 1.3% ทางฝ่ายมองว่ายอดขาย 4Q67 ของ HomePro จะเพิ่มขึ้น q-q และมีปัจจัยบวกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ Easy E-receipt จากรัฐบาลช่วง 1Q68 ที่จะเสริมโมเมนตัมเชิงบวกของ HomePro ได้อย่างต่อเนื่อง ราคาพื้นฐานสำหรับปี 2568 อยู่ที่ 9.85 บาทต่อหุ้น แนะนำ “ซื้อ”

MTC สินเชื่อโตเด่น NPL ลดสวนทางกลุ่ม

MTC สินเชื่อโตเด่น NPL ลดสวนทางกลุ่ม

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงานว่า บล.ฟิลลิป ระบุว่า MTC ใช้กลยุทธ์ในการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในการขยายสินเชื่อ และทำให้กลายเป็น Non-bank ที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ และสินเชื่อของ MTC โดดเด่นกว่ากลุ่มมาโดยตลอด และในปี 67 ก็ยังโดดเด่นกว่า ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์กลับดีสวนทางกับกลุ่ม นอกจากนี้ยังมองว่า MTC จะได้ประโยชน์จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาล ยังคงประมาณการกำไร และยังคงราคาพื้นฐาน 53 บาท แนะนำ “ทยอยซื้อ” ขยายสินเชื่อผ่านการขยายสาขา จนเป็น Non-bank ที่มีสาขามากที่สุด           กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อของ MTC คือการไปเปิดสาขาในชุมชน โดย ณ สิ้น 3Q67 MTC มีสาขาอยู่ทั้งหมดถึง 8,031 สาขาทั่วประเทศ และทำให้ MTC เป็นผู้ประกอบการ Non-bank ที่มีสาขามากที่สุดในไทย และยังมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีกปีละ 500-600 สาขา และถึงแม้จะมีการเปิดสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่สินเชื่อเฉลี่ยต่อสาขาก็ไม่ได้ปรับลดลง และกลับเพิ่มสูงขึ้นได้จากปี 57 ที่มีสินเชื่อเฉลี่ยต่อสาขา 16.9 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 19.5 ล้านบาท ณ 3Q67 สินเชื่อโตเด่นกว่ากลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง           ที่ผ่านมา MTC มีการปล่อยสินเชื่อที่โดดเด่นกว่ากลุ่มมาโดยตลอด โดยตั้งแต่ปีที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 53 จนถึงสิ้นปี 66 MTC มีสินเชื่อเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 46% ต่อปี จะมีเพียงปี 65 ที่ SAWAD มีการโอนสินเชื่อมาจากธ.ออมสิน และปี 66 ที่ "เงินสดทันใจ" ซื้อหุ้นคืนมาจากธนาคารอื่น ทำให้ MTC ชะลอการปล่อยสินเชื่อลงเพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของ MTC น้อยกว่า SAWAD แต่ในปี 67 MTC กลับมาปล่อยสินเชื่อได้โดดเด่นกว่ากลุ่มอีกครั้ง โดย 3Q67 MTC สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่ม 10.99% YTD ในขณะที่ SAWAD สินเชื่อหดตัว 2.47% YTD และ TIDLOR ปล่อยได้เพิ่ม 4.85% YTD และมองว่าด้วยมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ของรัฐบาลจะทำให้กลุ่มรากหญ้ามีสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งความต้องการสินเชื่อ และคุณภาพสินทรัพย์ของ MTC ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง           กนง. เริ่มมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่การประชุมในครั้งก่อน และถึงแม้ว่าการประชุมรอบล่าสุดในวันที่ 18 ธ.ค. 67 จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ แต่ก็คาดว่าในปี 68 จะมีการปรับลดลงได้อีก ทำให้คาดว่า MTC จะได้ประโยชน์ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง โดยต้นทุนดอกเบี้ยนั้นคิดเป็น 22% ของต้นทุนทั้งหมดของ MTC ที่ผ่านมาในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ MTC ลดต่ำลง และหากอัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาลง คาดว่าจะช่วยทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ MTC รวมไปถึงผลประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ อาจไม่ใช่บริษัทที่ NPL ต่ำสุด แต่คุณภาพสินทรัพย์ดีสวนทางกลุ่ม           ถึงแม้ว่า MTC จะไม่ใช่บริษัทที่มี NPL ต่ำที่สุด โดย ณ 3Q67 จะมี NPL อยู่ 2.82% ในขณะที่ TIDLOR มี NPL เพียง 1.88% และ SAWAD มี NPL 3.39% แต่คุณภาพสินทรัพย์ของ MTC กลับดีสวนทางกับกลุ่ม ในขณะที่คู่แข่งมี NPL เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ MTC กลับสามารถลด NPL ลงมาได้แล้ว 5 ไตรมาสติดต่อกัน โดยสามารถลดจาก 3.36% ใน 2Q66 เหลือ 2.82% ใน 3Q67 และมองว่าด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐ จะทำให้ลูกหนี้ของ MTC มีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น และทำให้ NPL ลดลงได้ต่อ คงประมาณการ คงราคาพื้นฐาน แนะนำ “ทยอยซื้อ”           ทางฝ่ายยังคงประมาณการกำไรปี 67 ของ MTC ไว้ที่ 5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.8% Y-Y และคาดว่าปี 68 การที่สินเชื่อจะโตต่อเนื่อง ต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง รวมไปถึงการตั้งสำรองที่อาจจะลดลงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอีก 25% Y-Y เป็น 7.3 พันล้านบาท ยังคงราคาพื้นฐานไว้ที่ 53 บาท แนะนำ “ทยอยซื้อ”

COM7 เข้าดัชนี SET 50 นำสินค้าเทคโนโลยี มุ่งความยั่งยืน

COM7 เข้าดัชนี SET 50 นำสินค้าเทคโนโลยี มุ่งความยั่งยืน

          บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ได้รับเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 หุ้นใหม่ที่เข้าคำนวณดัชนี SET50 ในรอบครึ่งปีแรก 2568 พร้อมเดินหน้าวางกลยุทธ์นำสินค้าเทคโนโลยีตอบโจทย์ผู้บริโภค และความยั่งยืน           นายณรงค์ ศรีวรรณวิทย์ Chief Business Officer บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 เปิดเผยว่า COM7 ได้รับเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็น 1 ใน 4 หลักทรัพย์ใหม่ที่เข้าคำนวณดัชนี SET50 ในรอบครึ่งปีแรก พ.ศ. 2568 (1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2568) เป็นผลจากความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ที่เหมาะสมและแข็งแกร่ง ตอกย้ำผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าเทคโนโลยีที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ พร้อมกับ เดินหน้ากระจายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต เพื่อเพิ่มศักยภาพของ COM7 ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตลอดจน สร้างความเชื่อมั่นและความน่าสนใจ ในการลงทุนจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากดัชนี SET50 เป็นดัชนีที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคากลุ่มหลักทรัพย์ที่มี ขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Performance Benchmark) หรือใช้เป็นดัชนีอ้างอิง (Underlying Index) ในการออกตราสารทางการเงินต่าง ๆ           อย่างไรก็ดี ในปีนี้ COM7 ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนจากตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ประกอบด้วย ได้รับการประเมิน SET ESG Ratings 2024 ยกระดับที่ “AA”  รวมทั้ง คว้ารางวัล CGR 2024 ระดับ 5 ดาว “ดีเลิศ” ต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน และได้รับรางวัล CAC ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ตอกย้ำความมุ่งมั่นองค์กรโปร่งใส ต่อต้านคอร์รัปชัน สอดรับเทรนด์การลงทุนของโลก นักลงทุนให้ความสำคัญในการจัดสรรการลงทุนบนหลัก ESG มากขึ้นเรื่อยๆ โดย COM7 ให้ความสำคัญทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)           รวมทั้ง การนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน มุ่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น และอยู่ในอุตสาหกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานสะอาด ซึ่งในปีนี้ ได้เข้ามาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นธุรกิจไฮมาร์จิ้น สอดรับกับการเติบโตของยุค Digital Transformation ด้วยการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่ม Solar Cell รวมถึงการจับมือ Amazon Web Services (AWS) เพื่อร่วมมือกันขยายฟีเจอร์ใหม่ๆ รองรับการเติบโตในตลาด Cloud Service ให้กับลูกค้ากลุ่ม SME

KLINIQ มั่นใจผลงานโค้งสุดท้ายของปีดันเป้ารายได้โต เติบโต 30%

KLINIQ มั่นใจผลงานโค้งสุดท้ายของปีดันเป้ารายได้โต เติบโต 30%

          KLINIQ ประเมินแนวโน้มผลงานไตรมาส 4/67 ขยายตัวต่อเนื่อง หลังเร่งทำตลาดหนุนรายได้จากสาขาเดิมเพิ่มและการเปิดสาขาใหม่ในไตรมาสสุดท้ายเพิ่มเติมอีก 4 แห่งเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ดีขึ้น พร้อมบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ รับพฤติกรรมใช้จ่ายเพื่อความสวยความงามช่วงปลายปี มั่นใจปีนี้รายได้เติบโต 30% ตามแผน           นายแพทย์อภิรุจ ทองวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ KLINIQ เปิดเผยว่า แนวโน้มของการดำเนินงานในไตรมาส 4/2567 ประเมินว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้านี้ จากศักยภาพการดำเนินธุรกิจของ KLINIQ ที่ให้บริการด้านคลินิกเวชกรรมด้านผิวหนังความงามศัลยกรรมตกแต่งและการดูแลป้องกันฟื้นฟูสุขภาพที่ครอบคลุมความต้องการและกำลังซื้อของลูกค้า ภายใต้แบรนด์ที่หลากหลายทั้ง The KLINIQUE, L.A.B.X, L’CLINIC, KLINIQ Wellness Spa และ THE KLINIQUE SURGERY CENTER สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี รองรับพฤติกรรมการจับจ่ายเพื่อความสวยความงามของลูกค้าในช่วงปลายปี           ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 6 แห่งในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย The KLINIQUE จำนวน 2 สาขา L.A.B.X จำนวน 3 สาขาและ KLINIQ Wellness Spa อีก 1 สาขา ส่งผลภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีสาขารวมทั้งสิ้น 75 สาขา จะช่วยส่งเสริมศักยภาพการให้บริการที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน จะมุ่งทำตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าใหม่และดึงลูกค้าเก่ากลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น รวมถึงนำเสนอการให้บริการใหม่ๆ เพิ่มเติม ส่งผลดีต่อต่อการเติบโตของรายได้จากสาขาเดิมเพิ่มขึ้นหรือ SSSG (Same Store Sales Growth : SSSG) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ควบคู่กับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาอัตราการทำกำไรขั้นต้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และบริหารจัดการความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ยังไม่เติบโตเต็มศักยภาพอีกด้วย           “เรามองว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ผลการดำเนินงาน จะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ จากจำนวนสาขาใหม่ที่เปิดให้บริการเพิ่มเติมที่ทำให้มีลูกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น และแผนดึงดูดลูกค้าเก่าให้กลับมาใช้บริการเพื่อความสวยความงาม ซึ่งมั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะเติบโต 30% ตามแผนที่วางไว้ได้ ทีมงานทุกภาคส่วนกำลังเร่งมืออย่างแข็งขันและช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ถือว่าทิศทางรายได้เติบโตดี” นายแพทย์อภิรุจ กล่าว [PR News]

[Gossip] NEO เข้าคำนวณดัชนี sSET มุ่ง FMCG แห่งนวัตกรรมเอเชีย

[Gossip] NEO เข้าคำนวณดัชนี sSET มุ่ง FMCG แห่งนวัตกรรมเอเชีย

          หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมาหมาดๆ หุ้น NEO ก็อยู่ในโฟกัสของนักลงทุนรายย่อย-สถาบัน ส่งผลให้การซื้อขายมีความสม่ำเสมอ สภาพคล่องดี ล่าสุดได้เข้าคำนวณดัชนี sSET รอบใหม่ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 (1 ม.ค.– 30 มิ.ย. 2568) โดยเป็น 1 ใน 20 หลักทรัพย์ใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังผ่านเกณฑ์การพิจารณามีสภาพคล่องไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 และมีสัดส่วนการซื้อขายในแต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 0.5% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ ในช่วง 12 เดือนย้อนหลังตามรอบทบทวน เพื่อให้แน่ใจว่าการซื้อขายของหุ้นบริษัทนั้นมีความต่อเนื่อง แบบนี้ต้องยกนิ้วให้กับ “สุทธิเดช ถกลศรี” CEO บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) ที่วางรากฐาน NEO ไว้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ มุ่งผลักดันให้บริษัทสู่ FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ส่งผลให้หุ้น NEO มีพื้นฐานแข็งแกร่งและอยู่ในความสนใจของนักลงทุน

[ภาพข่าว] DRT คว้า SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AA

[ภาพข่าว] DRT คว้า SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AA

          ตอกย้ำการเป็นบริษัทที่รักษามาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ ‘สาธิต สุดบรรทัด’ ซีอีโอ บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร หรือ DRT นำบริษัทฯ ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ระดับ ‘AA’ ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างได้อีกครั้ง นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของบริษัทฯ จากการนำหลัก ESG และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกับดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

NKT เทรด SET วันแรก ชู 3 โครงการมุ่งโตระดับประเทศ

NKT เทรด SET วันแรก ชู 3 โครงการมุ่งโตระดับประเทศ

           “บมจ.โรงพยาบาลนครธน” หรือ NKT เข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เดินหน้า 3 โครงการหลักตามแผน ทั้งการก่อสร้างโครงการโรงพยาบาลนครธน 2 เพื่อมุ่งเน้นให้บริการแก่ผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคม โครงการนครธน ลองไลฟ์ เซ็นเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงแบบองค์รวม และโครงการขยายจำนวนเตียงให้บริการของโรงพยาบาลนครธนอีก 110 เตียง รวมเป็น 260 เตียง เพื่อขยายฐานผู้เข้ารับบริการและเพิ่มศักยภาพการเติบโตแก่บริษัทฯ            รองศาสตราจารย์ ญาณเดช ทองสิมา ประธานกรรมการบริษัท บริษัท โรงพยาบาลนครธน จำกัด (มหาชน) หรือ NKT เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้เข้าจดทะเบียนและซื้อขายหลักทรัพย์วันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันนี้ (20 ธันวาคม 2567) โดยใช้ชื่อย่อ NKT ในการซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัทฯ จะมุ่งขยายการลงทุนตามแผนงานที่วางไว้รวมถึงดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ เพื่อจะก้าวไปสู่การเป็น “หนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำระดับประเทศ” โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและขยายการลงทุน 3 โครงการหลัก เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตจากการขยายฐานผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลนครธนและการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ได้แก่ 1) โครงการโรงพยาบาลนครธน 2 บนถนนเอกชัย จำนวน 151 เตียง คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่เกี่ยวข้องประมาณ 900 ล้านบาท และจะเปิดให้บริการแก่ผู้รับบริการทั่วไปที่ชำระเงินเองในระยะเริ่มแรก และเริ่มรับรู้รายได้ประมาณปลายปี 2568 หลังจากนั้นจะยื่นขออนุญาตเป็นโรงพยาบาลประกันสังคมในช่วงต้นปี 2569 และคาดว่าจะเปิดให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคมได้ประมาณปี 2570 2) โครงการนครธน ลองไลฟ์เซ็นเตอร์ ซึ่งจะตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลนครธน เพื่อจะเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงแบบองค์รวม คาดว่าจะมีค่าใช้จ่าย ฝ่ายทุนที่เกี่ยวข้องประมาณ 557 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดดำเนินการประมาณปี 2569 และ 3) โครงการขยายจำนวนเตียงให้บริการของโรงพยาบาลนครธนอีก 110 เตียง จากปัจจุบัน 150 เตียง รวมเป็น 260 เตียง คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่เกี่ยวข้องประมาณ 414 ล้านบาท และคาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการปี 2568-2570 ซึ่งทั้ง 3 โครงการมีความคืบหน้าตามแผนงานที่วางไว้ ขณะที่โรงพยาบาลนครธน บนถนนพระรามที่ 2 ที่สร้างรายได้หลักแก่บริษัทฯ มีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งของโรงพยาบาลที่มีศักยภาพจะเป็น “เขตเมืองแห่งใหม่” (New Urbanized District) ของกรุงเทพฯได้ในอนาคต เนื่องจากเป็นหนึ่งในเขตพื้นที่อยู่อาศัยชั้นดีและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน รวมถึงพระรามที่ 2 เป็นถนนสายหลักที่มุ่งสู่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ และใช้เดินทางสู่ภาคใต้ของประเทศไทย อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อสู่ย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ ด้วยทางด่วน และมีการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ตลาดนัด และซุปเปอร์มาร์เก็ต จำนวนมาก นอกจากนี้ โรงพยาบาลนครธนตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการสำคัญ เช่น สำนักงานเขตบางขุนเทียน และสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน เป็นต้น            ดร.วิศาล สายเพ็ชร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลนครธน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลนครธน เป็นหนี่งในโรงพยาบาลชั้นนำของพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ที่มีความสามารถรักษาโรคที่มีความซับซ้อน (โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ) ซึ่งโรงพยาบาลระดับตติยภูมิส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก โดยโรงพยาบาลนครธนมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง 20 ศูนย์ อาทิ ศูนย์สมองและระบบประสาท ศูนย์หัวใจ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ศูนย์กระดูกสันหลัง ศูนย์มะเร็ง ศูนย์ทันตกรรม เป็นต้น และมีแผนกการรักษาผู้ป่วย 1 แผนก ได้แก่ แผนกไตเทียม โดยบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์การเติบโต ประกอบด้วย 1) มุ่งมั่นก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำในระดับประเทศ 2) พัฒนาคุณภาพการให้บริการด้วยบุคลากรและทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ 3) นำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการองค์กร 4) ขยายขอบเขตการให้บริการภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ 5) ต่อยอดความแข็งแกร่งของ Brand Image และพัฒนาความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการ 6) ขยายธุรกิจผ่านเครือข่ายของโรงพยาบาลและธุรกิจด้านสุขภาพอื่นๆ และ 7) ขยายการให้บริการแก่กลุ่มผู้รับบริการชาวต่างชาติ โดยได้แต่งตั้งตัวแทนด้านการตลาดในเมียนมา เพื่อเป็นศูนย์กลางติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและผู้ที่สนใจเข้ารับบริการทางการแพทย์ สามารถเดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับบริการที่โรงพยาบาลนครธนได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงขยายการทำการตลาดไปยังประเทศกัมพูชาและบังกลาเทศอีกด้วย            นายยศวีร์ สุทธิกุลพานิช ผู้บริหารสายงาน Investment Banking and Capital Market ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วมและตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า บมจ.โรงพยาบาลนครธน มีศักยภาพการเติบโตที่ดี เนื่องจากมีจุดเด่นที่หลากหลาย อาทิ สามารถให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนและโรคทั่วไป ทำเลที่ตั้งในบริเวณพระราม 2 ที่มีศักยภาพเป็นเมืองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ในอนาคต มีความร่วมมือกันพันธมิตรชั้นนำจัดตั้งศูนย์การแพทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ และมีฐานลูกค้าจำนวนมาก ฯลฯ ประกอบกับการเสนอขายหุ้น IPO ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินเพื่อรองรับการขยายธุรกิจต่อไป            นายคงสิทธิ์ หันจางสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ 1 บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วมและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ บมจ.โรงพยาบาลนครธน ในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาเสนอขายสุดท้ายที่ 7.80 บาท คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนทั้งสิ้น 1,053 ล้านบาท ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากจุดเด่นของโรงพยาบาลนครธน ที่เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำของพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก โดยโรงพยาบาลฯ มีแผนขยายฐานผู้เข้ารับบริการชาวต่างชาติ และมีแผนขยายการทำการตลาดแก่ลูกค้าต่างชาติ รวมถึงอยู่ระหว่างลงทุนเพิ่มจำนวนเตียงให้บริการในโรงพยาบาลนครธน และก่อสร้างโครงการใหม่ ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ปี 2564 – 2566 มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 1,551.67 ล้านบาท เป็น 2,036.89 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 14.57% ต่อปี และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 183.24 ล้านบาท เป็น 282.29 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 24.12% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการประกอบกิจการโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลัก รวมถึงการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2567 มีรายได้รวม 1,521.34 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 190.38 ล้านบาท [PR News]

[ภาพข่าว] “SNPS” คว้า 2 รางวัลใหญ่ Prime Minister’s Industry Award 2024

[ภาพข่าว] “SNPS” คว้า 2 รางวัลใหญ่ Prime Minister’s Industry Award 2024

          ดร.ธีรญา กฤษฎาพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNPS ผู้นำนวัตกรรมสารสกัดจากธรรมชาติ ผลิตและจำหน่ายสารสกัดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ดำเนินธุรกิจมามากว่า 25 ปี ได้เข้าร่วมพิธีรับมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2567 (The Prime Minister’s Industry Award 2024)  รับรางวัลรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น ประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานในพิธี นอกจากนี้ทาง บริษัท สเปเชียลตี้ อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทในเครือ) ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์

TIDLOR  เคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.438 บาทต่อหุ้น

TIDLOR เคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.438 บาทต่อหุ้น

           บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR หรือ บริษัทฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 มีมติอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นเงินสด ในอัตราหุ้นละ 0.438 บาท คิดเป็น 40% ของกำไรสุทธิ เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น และนโยบายการจัดสรรเงินทุนของผู้ถือหุ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 6 มกราคม 2568 และกำหนดจ่ายเงินปันผลภายในวันที่ 17 มกราคม 2568            นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า “เนื่องจากที่ผ่านมาเรา มีผลประกอบการที่ดีและกำไรสะสมในระดับสูง ประกอบกับสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สภาพคล่องทางการเงินสูง รวมถึงมีความมั่นใจกับการดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทฯ จึงเห็นถึงความเหมาะสมของการจ่ายปันผลรอบพิเศษในครั้งนี้”            นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้รับทราบความคืบหน้าของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทฯ โดยปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์พร้อมการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบัน ติดล้อ โฮลดิ้งส์ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการขออนุญาตและการเห็นชอบอื่น ๆ เพื่อดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทฯ จากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนกระบวนการแลกหุ้น (Tender Offer) เป็นภายในปี 2568 ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านนายหน้าประกันภัย (InsurTech Platform) เพื่อเดินหน้าต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนยังคงสามารถร่วมลงทุนกับหลักทรัพย์ TIDLOR ได้ตามปกติ            นายปิยะศักดิ์ มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ธุรกิจนายหน้าประกันภัยยังคงเติบโตได้ดี ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และยังคงสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถควบคุม NPL Ratio ให้ไม่เกิน 2% ตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งปัจจุบัน NPL Ratio ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอีกด้วย            ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถติดตามข้อมูลการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ และการแลกหุ้น ได้ที่เว็บไซต์ www.tidlorinvestor.com หรือ www.set.or.th [PR News]

[Vision Exclusive] JPARK ปักหมุดแลนด์มาร์ก CBD - เป้า 10.70บ.

[Vision Exclusive] JPARK ปักหมุดแลนด์มาร์ก CBD - เป้า 10.70บ.

           หุ้นวิชั่น - "สันติพล เจนวัฒนไพศาล" บอสใหญ่ JPARK กางแผนปีมะเส็ง คาดรายได้ปี 68 โต 30% กระเป๋ารับทรัพย์บริการจอดรถเต็มๆ เล็งขยายช่องจอดแตะ 5 หมื่นช่อง จากปี 67 ที่ 4 หมื่น ปักหมุดแลนด์มาร์ก CBD ทำเลทอง แย้มแผนลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ใหม่กลางปีหน้า ฟากโบรกส่งซิกธุรกิจปีทอง แนะ "ซื้อ" เป้าสิ้นปี 68 ที่ 10.70 บาท            นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า ในปี 2567 บริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากการบริหารที่จอดรถในโครงการ One Bangkok แล้ว และในปี 2568 จะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจนี้แบบเต็มปี คาดว่าแนวโน้มธุรกิจในปี 2568 จะเติบโตทุกส่วนของธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (Parking Service Business: PS), ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Parking Management Service Business: PMS) และธุรกิจให้คำปรึกษาและติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Consultant and Installation Parking System Business: CIPS)            ในปี 2568 บริษัทจะรับรู้รายได้จากธุรกิจให้บริการที่จอดรถจากอาคารจอดรถ อาคารจอดรถศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกศิริราชพยาบาล และ "JPARK กาญจนสุข" พื้นที่เชิงพาณิชย์ของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ซึ่งบริษัทได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว โดยอาคารจอดรถดังกล่าวเป็นอาคารสูง 6 ชั้น สามารถรองรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวมประมาณ 500 คัน มีพื้นที่ใช้สอย 18,242 ตารางเมตร และพื้นที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ 2,049 ตารางเมตร            บริษัทมีแผนขยายบริการที่จอดรถในโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น โรงพยาบาล สนามบิน และอื่นๆ โดยในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มช่องจอดรถเป็น 50,000 ช่อง จากปี 2567 ที่มีช่องจอดรถ 40,000 ช่อง จากการขยายบริการในย่าน CBD อีก 5-10 โครงการ            นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนลงทุนในโครงการขนาดใหญ่คล้ายกับ อาคารจอดรถศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกศิริราชพยาบาล โดยคาดว่าจะมีการลงทุนใหม่ 1-2 โครงการในช่วงกลางปี 2568 โดยมูลค่าการลงทุนจะใกล้เคียงกันที่ประมาณ 500 ล้านบาท            สำหรับทิศทางการเติบโตในปี 2568 บริษัทคาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 30% เมื่อเทียบกับปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย หรือเติบโต 25-30% ตามที่ตั้งเป้าไว้            อนึ่ง 9 เดือนแรกปี 2567 JPARK มีรายได้แล้วที่ 522.57 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 142.20 ล้านบาท            ด้าน  บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า JPARK ปี 2568 จะเป็นปีที่ดี รพ. พระนั่งเกล้า,One Bangkok และ The market หนุนกeไร 4Q67            คาดกำไรใน 4Q67เบื้องต้นที่ 20 –22 ลบ. เติบโตสูง YoY แม้ว่ารายได้จะลดลงเนื่องจากงาน CIPS ขนาดใหญ่ได้รับรู้รายได้ไปหมดแล้ว และงานใหม่คาดว่าจะทราบผลในปี 2568โดยรายได้ใน 4Q67ได้แรงหนุนจาก 1) งาน PS ของโครงการ รพ. พระนั่งเกล้าฯ ปัจจุบันมีปริมาณ Traffic เพิ่มขึ้นเป็นราว 60% และมีรายได้จากพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์ที่ทยอยรับรู้ในส่วนของดอกเบี้ยรับตามมาตรฐานบัญชี รับรู้รายได้ส่วนนี้เต็มไตรมาส 2) งาน PMS โครงการ One Bangkok เพิ่มขึ้นจาก 2,000 ช่องจอดเป็น 8,000 ช่องจองเต็มไตรมาสใน 4Q67 และ 3) งาน PS โครงการ The Market ขนาดมากกว่า 1,000 ช่องจอด เพิ่งเริ่มเข้าไปให้บริการในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าที่ความนิยมไม่สูง แต่อยู่ในพื้นที่ที่มีความต้องการพื้นที่จอดสูง ทำให้เริ่มทำกำไรได้ตั้งแต่เดือนแรก  CIPS ปี 68 มีโอกาสสูงกว่าเป้า...            งานPS ขนาดใหญ่ยังมีให้ลุ้นราคาหุ้นปรับตัวลงหลังรายงานงบ 3Q67 เนื่องจากความกังวลรายได้งาน CIPS ที่ลดลงมากและยังไม่มีงานใหม่เพิ่มเติม ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ไม่ได้กังวลเพราะเป็นประเด็นที่ทราบอยู่แล้วว่าเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเนื่องจากงานส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐฯ และถูกเลื่อนไปจากช่วงที่รอความชัดเจนเรื่องของตัวนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ งานส่วนใหญ่จึงไปกระจุกตัวในปี 2568 ตามที่ฝ่ายวิเคราะห์ระบุไปในบทวิเคราะห์ Initiate แต่จากการพูดคุยกับบริษัทเพิ่มเติมพบว่าปัจจุบันมีงาน CIPS ไม่น้อยกว่า 3 โครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาและมีบางโครงการมีโอกาสได้ข้อสรุปภายใน 1Q67 ซึ่งมูลค่ารวมทุกโครงการค่อนข้างสูง และรับรู้รายได้ได้ไว ทำให้มีโอกาสที่รายได้ส่วนนี้จะสูงกว่าเป้าหมายของบริษัทที่ 100ลบ./ปี (คาด 131ลบ. ในปี 2568)            ขณะที่รายได้จาก รพ. พระนั่งเกล้า, The Market, ตลาดบางกอกน้อย รับรู้เต็มปี ด้วยTraffic ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่งาน PMS ของ One Bangkok รับรู้รายได้เต็มปีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีงาน PS ขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับโครงการของ รพ. ศิริราช คาดว่าจะได้เพิ่มเติมในปี 2568 เช่นกัน ทำให้ประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์ยังมีความเป็นไปได้ กำไรโตสูงถึงปี69...            คงคำแนะนำซื้อด้วยโอกาสได้งาน CIPS สูง และเป็นงานที่รับรู้รายได้ไม่นานทำให้โอกาสที่รายได้ส่วนนี้จะสูงกว่าเป้าบริษัทได้ไม่ยาก รวมถึงโอกาสจากโครงการใหม่ๆ ขนาดใหญ่ทั้งที่มีรายได้ได้เลย และโครงการก่อสร้างใหม่ ยังคงคาดกำไรปี 2568 ที่ 153 ลบ. (+52.1% YoY)            ส่วนปี 2569 เป็นปีแรกที่เริ่มรับรู้รายได้จากอาคารจอดรถศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกศิริราชพยาบาล คาดกำไรเติบโตอีก 47.8% YoY เป็น 227 ลบ. เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่กว่า รพ. พระนั่งเกล้าฯ 2 เท่า ทั้งพื้นที่จอด และพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์   ปัจจุบันราคาหุ้นซื้อขาย PER68 ต่ำเพียง 16.4 เท่า คงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2568 ที่ 10.70 บาท รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

XO เครื่องปรุงรสแซ่บ โมเดิร์นเทรดทำเงิน

XO เครื่องปรุงรสแซ่บ โมเดิร์นเทรดทำเงิน

           หุ้นวิชั่น - XO ชูธงขายเครื่องปรุงรสต่างแดน เร่งเครื่องทำยอด จับเทรนด์ผู้บริโภค อาหารโตต่อ ด้าน บิ๊กบอส "จิตติพร จันทรัช" ตั้งเป้ารายได้ปี 68  โต 15% ลุยเจาะโมเดิร์นเทรด สาขา 1.2 หมื่นแห่ง แถมบาทอ่อนหนุนเงิน            นายจิตติพร จันทรัช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า บริษัทคาดว่าไตรมาส 4/2567 จะเป็นจุดต่ำสุด และในปี 2568 บริษัทจะเติบโตเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมของปี 2568 คาดว่าจะดีกว่าปี 2567 จากการขยายการขายสินค้าในตลาดหลัก เช่น ประเทศเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าโมเดิร์นเทรดกว่า 12,000 แห่ง ขณะที่บริษัทจำหน่ายซอสของบริษัทในร้านค้าเพียง 3,000 แห่ง ทำให้ยังมีโอกาสขยายช่องทางการขายในตลาดหลักได้อีกมาก            นอกจากนี้ บริษัทจะเดินหน้าขยายตลาดใหม่เพื่อเพิ่มฐานลูกค้า โดยเฉพาะในประเทศยุโรป ซึ่งมีความต้องการใช้เครื่องปรุงรสคล้ายคลึงกับตลาดที่ XO จำหน่ายอยู่ โดยบริษัทจะเน้นการออกงานแสดงสินค้าเพื่อเพิ่มการรับรู้และเปิดตลาดใหม่ในการขายสินค้า            สำหรับปี 2568 บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโต 15% จากปี 2567 ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) จัไม่ต่ำกว่า 45% ซึ่งดีมานด์การใช้เครื่องปรุงรส และซอสยังเติบดตต่อเนื่อง โดยเป็นไปตามการบริโภคอาหารของผู้บริโภคที่ต้องการได้รสชาติอาหารอร่อย            อย่างไรก็ดี บริษัทไม่กังวลประเด็นสงครามต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทสามารถสามารถจำหน่ายสินค้าได้เป็นปกติ แม้จะเกิดสงครามยูเครน รัสเซีย ส่วนประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยอยู่ในโซนอ่อนค่า เป็นผลดีต่อการจำหน่ายของ XO เนื่องจากบริษัทซื้อขายสินค้าเป็นสกุลเงินบาท            อนึ่ง 9 เดือนแรกปี 2567 XO มีรายได้แล้วที่ 1,979.16 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 670.48 ล้านบาท            ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) ระบุว่าถึง XO ว่า ฝ่ายวิเคราะห์ ลดเป้ารายได้ 2024F เหลือทรงตัว จากเดิม +10-15%  y-y(vs ฝ่ายวิเคราะคาด +3%  y-y) จากลูกค้าหลักทั้งยุโรป  (80% ของรายได้)  ชะลอตัวจากก่อนหน้านี้  เร่งออเดอร์ช่วง 2Q23-2Q24ไปมาก และเหลือสต็อคสูง ขณะที่ สหรัฐ (ลดจาก 25% เหลือ 3% ของรายได้) ยังมีปัญหา Supply เหลือสูงเช่นกัน และปัญหาการแข่งขัน ที่เจ้าตลาดตัดราคา             โดยระยะสั้น 4Q24F มองออเดอร์จะยังลดลง y-y และยังลงเล็กน้อย q-q ต่อเนื่อง  ซึ่งโดยรวม มองการจัดการด้านสต็อคต้องใช้เวลาอีกราว 1-2 ไตรมาส ขณะที่ อิงอดีตที่ผ่านมา ในรอบธุรกิจที่ดี หลังรายได้ทำจุด Peak จะใช้เวลา 5-7 ไตรมาส เพื่อกลับสู่ Peak อีกรอบ (รอบนี้รายได้พีค 4Q23) Line ผลิตใหม่เริ่มTest run และคงแผนสร้างโรงงาน โดย Line ผลิตใหม่อีก 1ไลน์ (ลงทุน 200ลบ., ตัดค่าเสื่อม 10ปี, สร้าง Max revenue 1พันลบ.) เริ่ม Test run 4Q24F และจะเริ่มเชิงพาณิชย์ 1Q25F โดยจะได้ BOI ขณะที่ คงแผนสร้างโรงงานใหม่ ลงทุนราว 700 ลบ. ใช้เวลา 12-18 เดือน คาด Eff tax rate ปี 2025F 8-9% หลังทยอยหมด BOI ไลน์ปัจจุบัน 3Q24 และรวมประโยชน์จาก BOI ไลน์ใหม่เข้าไปแล้ว โดยเทียบ Eff tax rate 1H243.3%, 3Q247.2% ความเห็นและคำแนะนำ มีมุมมอง “Slightly  negative” ต่อข้อมูลที่ได้รับจากงานประชุมนักวิเคราะห์และลดประมาณการกำไรปี 2024F-26F ลงเฉลี่ย 2% จากลดรายได้ลง  โดยกำไรปี 2024-25F ที่ 805ลบ. (+3%) และ 752ลบ. (-7%) ระยะสั้น 4Q24F คาดกำไรยังลดทั้ง y-y,  q-q จากรายได้ที่ยังชะลอ โดยจุดที่ต้องจับตา คือ ในแนวโน้มรายได้ชะลอตัว ขณะที่ จะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มเข้ามา อาจกระทบอัตรากำไรในช่วงแรก แม้ราคาหุ้นปรับลดมามาก และซื้อขาย Valuation PER25F เหลือ 11.4 เท่า (-1.6SD) แต่หุ้นยังขาดปัจจัยบวก ยังแนะนำ “Neutral” และจะหาจุดเข้าลงทุนต่อไป จาก TP25F ใหม่ 21.1บาท (เดิม 27บาท) อิง PER 12เท่า เทียบเท่า ค่าเฉลี่ย-1.5SD รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

ก.ล.ต. แจ้งให้ NRF ให้ความร่วมมือแก่ผู้สอบบัญชีและนำส่งงบการเงินฉบับแก้ไข

ก.ล.ต. แจ้งให้ NRF ให้ความร่วมมือแก่ผู้สอบบัญชีและนำส่งงบการเงินฉบับแก้ไข

            หุ้นวิชั่น - วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 | ฉบับที่ 277/2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งให้บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) ให้ความร่วมมือแก่ผู้สอบบัญชีในการสอบทานงบการเงินงวดไตรมาส 3 ปี 2567 และให้นำส่งงบการเงินฉบับแก้ไขที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีแล้วต่อ ก.ล.ต. พร้อมทั้งเปิดเผยงบการเงินดังกล่าวต่อสาธารณชนผ่านระบบ SETLink ภายในวันที่ 20 มกราคม 2568             สืบเนื่องจากผู้สอบบัญชีของ NRF เสนอรายงานการสอบทานข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลแบบมีเงื่อนไขต่องบการเงินงวดไตรมาส 3 ปี 2567 เนื่องจากผู้สอบบัญชีของ NRF ไม่สามารถหาหลักฐานการสอบทานที่เพียงพอเหมาะสมเกี่ยวกับราคาที่ใช้ในการวัดมูลค่ายุติธรรมของหุ้นที่ได้รับชำระจากผู้ซื้อจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยแห่งหนึ่ง และราคาดังกล่าวยังมีผลต่อการปรับมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นสำหรับส่วนที่กลุ่มบริษัทถืออยู่แล้ว  ผู้สอบบัญชีจึงไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ในการสอบทานกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยและกำไรจากการวัดมูลค่าหุ้นของผู้ซื้อ             ก.ล.ต. จึงแจ้งให้ NRF ให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีในการสอบทานประเด็นดังกล่าว และให้นำส่งงบการเงินฉบับแก้ไข ซึ่งผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีต่อ ก.ล.ต. พร้อมทั้งเปิดเผยงบการเงินฉบับที่แก้ไขและรายงานที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชนผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ระบบ SETLink) ภายในวันที่ 20 มกราคม 2568

SCB-BBL เด่น รับ กนง. คง ดอกเบี้ย

SCB-BBL เด่น รับ กนง. คง ดอกเบี้ย

          บล.หยวนต้า ชี้ กนง. คงดอกเบี้ย 2.25% ตามคาด หลังเศรษฐกิจยังขยายตัวจากภาคท่องเที่ยวและบริการ พร้อมส่งสัญญาณเฝ้าระวังความเสี่ยงสินเชื่อ SMEs ด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะเก็บหุ้นกลุ่ม Domestic Play เด่น SCB, KBANK, BBL, CPALL และ CRC           บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุถึง กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25% หลังจาก ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในครั้งที่ผ่านมา โดยการคง อัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เนื่องจากเงินเฟ้อที่ยังสามารถเติบโต ในกรอบเป้าหมาย และเศรษฐกิจยังขยายตัว โดยได้รับแรง หนุนจากภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น รวมถึง การส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารอย่างไรก็ดี ยังคงมีความ เสี่ยงด้านสินเชื่อที่ชะลอตัวและความสามารถในการคืนหนี้ที่ ลดลง           โทนจากการแถลงของ กนง. ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจน โดยเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบเป้าหมาย ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังไม่มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากยังไม่เห็นการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามแนวโน้มนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก           นอกจากนี้ยังคงมีความเสี่ยงด้านสินเชื่อที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs อย่างไรก็ดี โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” คาดว่าจะสามารถเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้สูง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างตรงจุดและส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ           เชิงกลยุทธ์การลงทุน มีมุมมองบวกต่อกลุ่ม Domestic Play เช่น ธนาคาร ค้าปลีก และอาหารและเครื่องดื่ม โดยหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ SCB, KBANK, BBL, TTB, CPALL, CPAXT, BJC, CRC, และ OSP

[ภาพข่าว] CPANEL จัดงาน Analyst Meeting

[ภาพข่าว] CPANEL จัดงาน Analyst Meeting

           นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม (ที่ 4 จากขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL จัดประชุมนักวิเคราะห์ Analyst Meeting ให้ข้อมูลกลยุทธ์สร้างการเติบโตช่วงโค้งสุดท้ายปี 2567 คว้างานภาครัฐ 5 โครงการ มูลค่ารวม 107 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีคุณภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขยายฐานลูกค้าภาครัฐ-เอกชนหลากหลาย เข้าร่วมประมูลงานใหม่ ต่อเนื่อง ควบคู่การบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตให้ผลการดำเนินงานในอนาคต

SEAFCO ชูธงรายได้2พันล.  รถไฟสายสีส้มดันยอด

SEAFCO ชูธงรายได้2พันล. รถไฟสายสีส้มดันยอด

          หุ้นวิชั่น - SEAFCO โกยงานรถไฟฟัาสายสีส้มเข้าพอร์ต ยอดพันล้าน เล็งกระชับพื้นที่ 10 มกราคมนี้ พร้อมบุ๊กเงิน 80% ด้านบอสใหญ่ "ณรงค์ ทัศนนิพันธ์" ชูธงรายได้ปี 68 ที่ 2 พันล้านบาท จับตางานรัฐ เอกชนทยอยออก เล็งตุน Backlog เต็มหน้าตัก           ดร.ณรงค์ ทัศนนิพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์ว่า ปี 2568 จะเป็นปีที่สดใสของ SEAFCO เนื่องจากคาดว่าจะมีงานประมูลการก่อสร้างออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด SEAFCO ได้รับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยาย มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่และดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2568 โดยบริษัทจะเริ่มนำอุปกรณ์เสาเข็มเจาะเข้าหน้างานในวันที่ 10 มกราคม 2568 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันที เนื่องจากงานนี้เป็นโครงการเร่งด่วน           โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยาย มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้ของ SEAFCO ในปี 2568 โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากโครงการดังกล่าวได้ประมาณ 70-80% ในปี 2568 และส่วนที่เหลือจะถูกบันทึกเป็นรายได้ในปีถัดไป           นอกจากนี้ SEAFCO ยังคงเดินหน้ารับงานขนาดกลางและขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 รายได้ของบริษัทจะไปแตะระดับ 2,000 ล้านบาท ส่วนงานในมือ หรือ Backlog คาดว่าจะสะสมได้ถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 600 ล้านบาท โดยหากรวมงานรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้ว คาดว่า Backlog จะสูงถึง 1,700-1,800 ล้านบาท           ล่าสุด SEAFCO ได้รับงานโครงการทางลอดหน้าสนามบินจังหวัดเชียงราย มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท และคาดว่าจะมีงานใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยบริษัทจะเน้นงานในมือเป็นหลัก โดยเฉพาะงานรถไฟฟ้าสายสีส้มที่บริษัทได้รับมอบหมายแล้ว           ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า บริษัทไม่กังวลกับประเด็นเรื่องค่าแรง เนื่องจากมีอัตราจ้างในระดับสูง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรง บริษัทอาจพิจารณาเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายอีกครั้ง ส่วนประเด็นการลงทุนภาคเอกชน บริษัทจะยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจับตาดูว่าผู้ประกอบการจะเริ่มก่อสร้างหรือลงทุนเพิ่มเติมหรือไม่ ในขณะเดียวกัน SEAFCO มองว่า ภาครัฐจะมีงานออกมาค่อนข้างมาก เช่น โครงการทางด่วน ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เสาเข็มเป็นส่วนประกอบหลัก           แม้ว่าจะมีคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน แต่ SEAFCO เชื่อว่าจะสามารถขยายส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ได้ โดยปัจจุบันบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 30%           ปัจจัยท้าทายที่สำคัญในปัจจุบัน คือ หากมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่มีปัจจัยกดดันทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม บริษัทจะต้องติดตามและระมัดระวังเรื่องการเก็บเงินและการรอบบิลให้รัดกุม เพื่อป้องกันปัญหาด้านการเงิน นอกจากนี้ เศรษฐกิจในประเทศยังเป็นปัจจัยที่น่าสนใจและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2568           ดร.ณรงค์ กล่าวในงาน SEAFCO 50 Anniversary Special Seminar Sustainability in Deep Foundation and Deep Excavation ว่า SEAFCO ก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างต่อเนื่องจากทีมผู้บริหารและคณะทำงาน ซึ่งมุ่งมั่นผลักดันผลงานให้เติบโตยิ่งขึ้น           ปัจจุบัน SEAFCO ยังคงเดินหน้าหางานใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทมีการพรีเซนต์งานให้กับลูกค้าต่างประเทศ และเดินทางไปพบปะลูกค้าต่างชาติ เพื่อขยายฐานการดำเนินธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการรับงานก่อสร้างในประเทศ           อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถือเป็นงานเร่งด่วนที่บริษัทจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถส่งมอบงานตามกำหนดเวลาและเสริมสร้างการเติบโตของบริษัทในอนาคต รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

COCOCO ปลื้ม! ติดอันดับคำนวณดัชนี SET 100

COCOCO ปลื้ม! ติดอันดับคำนวณดัชนี SET 100

           หุ้นวิชั่น - บมจ. ไทย โคโคนัท  หรือ COCOCO ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญ หลังได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี SET 100 สำหรับรอบครึ่งปีแรกของปี 2568 (1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2568) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานและการได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ            ดร.วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน)  COCOCO เปิดเผยว่า ความสำเร็จนี้เกิดจากการที่หุ้นของบริษัทฯ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ            ด้านการเติบโตของธุรกิจ บริษัทฯ คาดว่ารายได้ในปีนี้(2567) เติบโต 30-40% จากปีก่อน พร้อมตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2568 ไว้ที่ 10,000 ล้านบาท โดยมีแผนขยายตลาดต่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวและกะทิที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก            นอกจากนี้ COCOCO ยังมุ่งเน้นการขยายธุรกิจผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกเพื่อสุขภาพสำหรับสุนัขและแมวภายใต้ตราสินค้า Moochie โดยสินค้าทั้งสองประเภทมีทั้งแบบ การจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเอง และการรับจ้างผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacturer หรือ OEM) ซึ่งจัดจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มุ่งเป้าไปยังตลาดสากล ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และศึกษาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโต            สำหรับการติดอันดับในดัชนี SET 100 ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ยืนยันถึงความสำเร็จและศักยภาพของ COCOCO แต่ยังตอกย้ำบทบาทของบริษัทในฐานะผู้นำด้านผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวรายใหญ่ของไทย [PR News ]

STA คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ AAA ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน

STA คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ AAA ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน

           หุ้นวิชั่น - “บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี” (“STA” หรือ “บริษัทฯ”) ได้รับคัดเลือกเป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ที่ระดับ “AAA” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดปีที่ 2 ติดต่อกัน ตอกย้ำมาตรฐานและการมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจยางพาราครบวงจรสอดคล้องตามหลัก ESG พร้อมเดินหน้ายกระดับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง            นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางอันดับหนึ่งของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ในหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) ที่ระดับ “AAA” จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการผ่านเกณฑ์การประเมินที่ระดับสูงสุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และนับเป็นปีที่ 10 ที่ได้รับประเมินเป็นหุ้นยั่งยืน            การได้รับประเมินหุ้นยั่งยืนที่ระดับ AAA ครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานและขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ครบทุกมิติ ทั้งนี้ ในรอบปี 2567 บริษัทฯ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้นโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กรซึ่งสอดคล้องกับหลัก ESG อาทิ มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) บริษัทฯ มีการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและพลังงานโดยมุ่งเน้นการใช้ระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ใช้ประโยชน์จากของเสียและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Technologies)  เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ของบริษัทฯ มิติสังคม(Social) บริษัทฯ เคารพ ปกป้อง และปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและการไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนยึดถือเจตนารมณ์ของอนุสัญญา 8 ฉบับ ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO)  มีการดูแลและพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมสร้างคุณค่าผ่านโครงการต่างๆ ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านเด็กและเยาวชน ด้านการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ ด้านสุขภาพอนามัย ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติและผู้ด้อยโอกาส ด้านศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น และด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่ดี และมิติการกำกับดูแลกิจการและเศรษฐกิจ (Governance) บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและโปร่งใส ส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไปจนถึงการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน บริษัทฯ สนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยาง ให้มีความรู้ในการทำยางพาราที่มีคุณภาพ มาตรฐานที่ดี อีกทั้ง บริษัทฯ ยังสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ (Traceability) ของผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่แหล่งที่มาจนถึงปลายทาง เป็นต้น            “ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวศรีตรังที่ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืนที่ระดับสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นรักษามาตรฐานและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อนำพาบริษัทฯ เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำองค์กรแห่งยางสีเขียวแบบครบวงจรอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายวีรสิทธิ์ กล่าว [PR News]

ตลท.ต้อนรับ บมจ. โรงพยาบาลนครธน (NKT) เริ่มซื้อขาย 20 ธ.ค. นี้

ตลท.ต้อนรับ บมจ. โรงพยาบาลนครธน (NKT) เริ่มซื้อขาย 20 ธ.ค. นี้

          หุ้นวิชั่น - นายอำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์ 1 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. โรงพยาบาลนครธน เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจการแพทย์ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “NKT” ในวันที่ 20 ธันวาคม 2567           NKT ประกอบกิจการสถานพยาบาลขนาด 150 เตียง ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลนครธน” มากว่า 28 ปี ให้บริการรักษาระดับตติยภูมิ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญทั้งสาขาอายุรศาสตร์ และสาขาเฉพาะทางต่างๆ โดยมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง 20 ศูนย์ เช่น ศูนย์สมองและระบบประสาท ศูนย์หัวใจ ศูนย์มะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการร่วมกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทในเครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ให้บริการกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก (ย่านพระราม 2) จึงสามารถตอบสนองความต้องการ ในการรักษาพยาบาลและได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการด้วยดีเสมอมา           NKT มีทุนชำระแล้ว 535 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 135 ล้านหุ้น โดยเสนอขายให้แก่บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 67.50ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทและบริษัทย่อย 20.25 ล้านหุ้น และบุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย 13.50 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 2 - 4 ธันวาคม 2567 และผู้ลงทุนสถาบัน 33.75 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 9 และ 11 - 12 ธันวาคม 2567 ที่ราคาหุ้นละ 7.80 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,053 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 4,173 ล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญร่วม           ดร. วิศาล สายเพ็ชร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โรงพยาบาลนครธน เปิดเผยว่า โรงพยาบาลนครธนเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำที่ให้บริการแบบครบวงจร (One Stop Service) ในทำเลที่มีศักยภาพการเติบโตที่จะเป็นเขตเมืองใหม่ในอนาคต ซึ่งการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทที่มีแผนจะเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับการให้บริการของโรงพยาบาล และมีโครงการลงทุนเพื่อรองรับผู้ป่วยประกันสังคม และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงแบบองค์รวม อันจะเป็นการขยายการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้บริการได้มากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็นโรงพยาบาลชั้นนำระดับประเทศ           NKT มีผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กลุ่มครอบครัวทองสิมา 41.46% 2) กลุ่ม นพ. เกตุ สายเพ็ชร์ 11.87% 3) นพ. วิรัช อนันตชัย 1.41% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) หากคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 17.60 เท่า โดยคำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (1 ตุลาคม 2566 -  30 กันยายน 2567) หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและ ชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (Fully Diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.44 บาท ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท ภายหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจัดสรรทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัท           ผู้ลงทุนและผู้สนใจ โปรดดูรายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.thและข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.nakornthon.com และที่ www.set.or.th [PR News ]

KSS เคาะหุ้นเด่นปี 2025  คาด SET ผันผวนระยะสั้น ทยอยตั้งรับ   

KSS เคาะหุ้นเด่นปี 2025 คาด SET ผันผวนระยะสั้น ทยอยตั้งรับ  

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.กรุงศรี ระบุ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่คาดปรับลดดอกเบี้ยปี 2025F ช้าลง           Fed Meeting: ผลประชุม Fed ตามคาด ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 4.25% - 4.5% แต่รายงาน Dot Plot ปรับสะท้อนการกลับมาเป็นประธานาธิบดีของคุณ Trump มากกว่าที่เราคาด ทำให้ตัวเลขคาดการณ์ในรายงานค่อนข้าง Hawkish กว่าที่เราและตลาดมอง โดยปรับมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 2025 ลงเหลือเพียง 2 ครั้ง (จากเดิม 4 ครั้ง และความคาดหวังตลาด 2-3 ครั้ง) และคงมุมมองการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 2026 ลง 2 ครั้งตามเดิม สอดคล้องกับมุมมองเงินเฟ้อ PCE ที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งปี 2025 – 2026 จากเดิม +2.2%, +2.0% สู่ระดับ +2.5%, 2.1% นอกจากนี้ Fed ปรับการเติบโตของ GDP ปี 2025 ขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 2.0% เป็น 2.1% แต่ยังชะลอลงจากปี 2024F คาด +2.5% หลังประชุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับขึ้นแรง ตอบสนองต่อรายงาน Dot Plot ดังกล่าว รวมถึง Dollar Index แข็งค่าขึ้นสู่ 108 +/- จุด ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเร่งมาที่ 34.5-34.6 บาท ทำให้ระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังเคลื่อนไหวผันผวน อย่างไรก็ดี เราประเมินความผันผวนอยู่ในช่วงปลายแล้ว ทั้งจากภาพที่ตลาดหุ้นไทยปรับลดสถานะมาล่วงหน้า ผสานภาพหลักปี 2025F ที่วงจรดอกเบี้ยยังเป็นขาลง ยังหนุนภาวะ Search for Yield หลังผ่านช่วงตลาดผันผวน และหากอิงเศรษฐกิจสหรัฐ Soft Landing vs BOT ที่ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2025F เร่งขึ้นสู่ 2.9% จากปี 2024F คาดเติบโต 2.7% โดยมีภายในหนุน ทำให้เราประเมินความผันผวนระยะสั้นเป็นโอกาสทยอยตั้งรับ หุ้นเด่นคือกลุ่ม Domestic           กลยุทธ์การลงทุน: เราประเมินเป้าหมาย SET ปี 2025 ที่ 1660 จุด (อิงกำไรตลาด 96 บาท, ERP 3.06%) มองหุ้นกลุ่ม Domestic Plays เด่น แนะนำทยอยสะสมหุ้น Best Picks 2025: ADVANC, AWC, BJC, BTS, CPALL, HMPRO, IVL, KBANK, KTB, TRUE. Mid-Small Cap Play: INSET, JMT, MALEE, MOSHI Fact: ผลการประชุม Fed เมื่อคืนวานนี้ มติเอกฉันท์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps ลงสู่ระดับ 4.25-4.50% รายงานมุมมองเศรษฐกิจ Dot Plot สะท้อน: การปรับลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายปี 2025 ลดลงจาก 4 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง, ปี 2025 คงที่ 2 ครั้ง ปรับมุมมองเงินเฟ้อ PCE ขึ้นปี 2025 จาก +2.2% เป็น +2.5% และปี 2026 จาก +2.0% เป็น +2.1% ปรับเพิ่มมุมมองการเติบโตเศรษฐกิจปี 2025 ขึ้นเล็กน้อยจาก 2.0% เป็น +2.1% มองอัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อยจากเดิมปี 2025 มองระดับ 4.4% ลงสู่ระดับ 4.3% ถ้อยแถลงของประธาน Fed คุณ Jerome Powell ให้ความเห็นว่า Fed มองการลดดอกเบี้ยนโยบายชะลอลงเนื่องจากข้อมูลเงินเฟ้อเดือน ต.ค. - พ.ย. ที่เริ่มสะท้อนความหนืด (Sticky) มากขึ้นเป็นหลัก Fed ยังคงพิจารณาจากข้อมูลเป็นหลัก (Data-Driven Decision Making) ประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายการเงินระยะถัดไป Key Ideas: Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ -25bps ลงสู่กรอบ 4.25% - 4.5% ตามตลาดและเราคาด ส่งผลให้ปีนี้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง รวม 1.0% ตามทิศทางของเงินเฟ้อที่ชะลอลงได้ตามคาดนับตั้งแต่ 2Q24 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามมุมมองทิศทางการดำเนินนโยบายจากรายงาน Summary of Economic Projections (SEP) สะท้อนมุมมองที่ Hawkish มากขึ้น โดยเฉพาะมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 2025 จะปรับลงเหลือเพียง 2 ครั้ง จากเดิม 4 ครั้ง vs ตลาดคาดจะปรับลด 2-3 ครั้ง สะท้อนมุมมองเงินเฟ้อ PCE ที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ปรับมุมมองการเติบโตเศรษฐกิจและภาคการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย สินทรัพย์ต่างๆ ปรับเพื่อสะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ยที่ชะลอลงดังกล่าว ได้แก่ Dollar Index ปรับแข็งค่าขึ้น +1.16% ปิดที่ระดับ 108.2 จุด, อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตอบสนองต่อรายงาน Dot Plot ดังกล่าว โดยอายุ 2 ปี ปรับเพิ่มขึ้น +11bps สู่ระดับ 4.35% และอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น +12bps ขึ้นปิดที่ระดับ 4.51% ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานแรง นำโดย NASDAQ -3.7% และ S&P500 -2.95% ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าสู่ 34.5-34.6 บาท เป็นแรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงระยะสั้น.

DEMCO ปิดดีลใหม่ท้ายปี! ลุยสร้างสถานีไฟฟ้า มูลค่า 270 ลบ.

DEMCO ปิดดีลใหม่ท้ายปี! ลุยสร้างสถานีไฟฟ้า มูลค่า 270 ลบ.

          หุ้นวิชั่น - บมจ. เด็มโก้ (DEMCO) ส่งสัญญาณผลงานโตแกร่ง อานิสงส์คว้าโปรเจคใหม่ต่อเนื่อง ล่าสุดปิดดีลรับงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 230/115 เควี กับระบบสายส่งไฟฟ้าใต้ดิน 230 เควีและสายส่งไฟฟ้า 115 เควี มูลค่า 270 ล้านบาท ฟากซีอีโอ“พงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์” ระบุ Backlog ทะลุ 3,645.6 ล้านบาท พร้อมนำทีมประมูลงานภาครัฐ และเอกชนต่อเนื่อง หนุนธุรกิจสดใส นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) (DEMCO) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 230/115 เควี กับระบบไฟฟ้าใต้ดิน 230 เควีและสายส่งไฟฟ้า 115 เควี ที่โรงไฟฟ้าสยามเพาเวอร์ จังหวัดระยอง ของบริษัท สยามเพาเวอร์ เจนเนอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่างาน 270 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) เพิ่มเป็น 3,645.6 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ 1-2 ปี นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างยื่นซองประมูลงานทั้งโครงการภาครัฐ และเอกชนอีก 12 โครงการ มูลค่ารวม 1,934.19 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ามีโอกาสที่จะได้รับงานสูง ตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบการมีต่อบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมฐานรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง “บริษัทฯ มีความยินดีและภูมิใจอย่างมากที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินงานในโครงการดังกล่าว และยังคงมุ่งเข้าร่วมงานประมูลทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่าด้วยความเชี่ยวชาญและประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ผ่านมาจะทำให้สามารถได้รับงานโครงการใหม่ๆ ในอนาคตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิ 20.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 311.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 9.7 ล้านบาท [PR News]

RML มั่นใจคอนโดฯ ลีสโฮลด์โตต่อ ส่ง ‘เดอะ ริเวอร์’ ชิงดีมานด์ริมน้ำ

RML มั่นใจคอนโดฯ ลีสโฮลด์โตต่อ ส่ง ‘เดอะ ริเวอร์’ ชิงดีมานด์ริมน้ำ

          หุ้นวิชั่น - RML (ไรมอน แลนด์) ตอกย้ำความมั่นใจแนวโน้มการเติบโตของตลาดคอนโดฯ ลีสโฮลด์ ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งจากกลุ่มผู้อยู่อาศัยและนักลงทุน ล่าสุดเปิดขาย 52 ยูนิตพิเศษโครงการ ‘เดอะ  ริเวอร์’ คอนโดฯ ลักชัวรี่สไตล์รีสอร์ตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชูจุดเด่นพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ 58–146        ตร.ม. แบบ 1–3 ห้องนอน เริ่มต้นเพียง 100,000 บาท/ตร.ม. ชิงดีมานด์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้           นายกรณ์ ณรงค์เดช กรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร RML หรือ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “คอนโดมิเนียมแบบสิทธิการเช่าระยะยาวหรือลีสโฮลด์ (Leasehold) ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทำเลศักยภาพใจกลางเมือง เนื่องจากมีราคาที่จับต้องได้ง่ายกว่าคอนโดมิเนียมแบบกรรมสิทธิ์หรือฟรีโฮลด์ (Freehold) ซึ่งช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าที่ดีกว่า เฉลี่ยที่ 6% ต่อปี นอกจากนี้โครงการลีสโฮลด์ยังมีจุดเด่นที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติถือครองได้เต็ม 100% จึงกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในทำเลที่การถือครองแบบฟรีโฮลด์เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ดังนั้นเพื่อรองรับความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น RML จึงได้เปิดขาย ‘เดอะ ริเวอร์ ไพรเวท เรสซิเดนเซส’ (The River Private Residences) ยูนิตพิเศษในรูปแบบลีสโฮลด์จากโครงการ ‘เดอะ ริเวอร์’ ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ เพราะด้วยทำเลที่อยู่รายล้อมด้วยศูนย์การค้าชั้นนำ ร้านอาหารชื่อดัง โรงแรม 5 ดาว และโรงเรียนนานาชาติชั้นนำอย่างโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ซึ่งยูนิตพิเศษเหล่านี้มีราคาขายเฉลี่ยเพียง 147,000 บาท/ตร.ม. ต่ำกว่าคอนโดฯ แบบฟรีโฮลด์ในย่านเดียวกัน ถึง 30–40% ทั้งยังมีพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวางกว่า คาดว่าจะได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากกลุ่มลูกค้าที่มองหาคอนโดฯ ในทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยา”           สำหรับดีมานด์ในพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา จากข้อมูลการวิจัยของ CBRE ในไตรมาส 3 ปี 2567 พบว่ามีคอนโดฯ ทำเลริมน้ำเจ้าพระยาเพียง 18,671 ยูนิต หรือคิดเป็น 9.9% ของซัพพลายทั้งหมดในย่านนั้น ขณะที่อัตราดูดซับ (Absorption Rate) สูงถึง 98% แสดงให้เห็นถึงดีมานด์ที่แข็งแกร่งอย่างชัดเจน ด้วยความโดดเด่นด้านทัศนียภาพที่สวยงาม ตลอดจนการเดินทางที่สะดวก สามารถเชื่อมต่อกับย่านธุรกิจสำคัญ เช่น สีลมและสาทร ทำให้พื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยายังคงเป็นทำเลที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มผู้อยู่อาศัยและนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ           สำหรับยูนิตพิเศษ ‘เดอะ ริเวอร์ ไพรเวท เรสซิเดนเซส’ รูปแบบการขายเป็นสิทธิการเช่าหรือลีสโฮลด์ระยะยาว 30 ปี และได้รับสิทธิ์ต่ออายุอีก 30 ปี มีจำนวนทั้งหมด 52 ยูนิต  ตั้งอยู่บนชั้นสูง ชั้น 23–27 ทำให้ทุกยูนิตสามารถรับชมทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยาและวิวเส้นขอบฟ้ากรุงเทพฯได้   ห้องมีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่มอบความเป็นส่วนตัวสูงสุด โดยมีขนาดตั้งแต่ 58–146 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้นเพียง 100,000 บาท/ตร.ม.           ‘เดอะ ริเวอร์’ ตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดินทางสะดวกเพียง 5 นาทีถึงไอคอนสยาม และ 10 นาทีถึงเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ใกล้ทั้งโรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การค้าชั้นนำ ร้านอาหาร แหล่งไลฟ์สไตล์ และโรงแรมระดับ 5 ดาว สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ ขนส่งสาธารณะ หรือรถไฟฟ้า BTS สายสีทองที่เชื่อมต่อกับสายสีเขียว โครงการยังมอบความเป็นส่วนตัวและบรรยากาศสงบร่มรื่นด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกระดับสากล เช่น ท่าเรือส่วนตัว สระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก ห้องออกกำลังกายพร้อมวิวแม่น้ำ สนามเด็กเล่น และอื่นๆ อีกมากมาย           สัมผัสชีวิตหรูหราริมแม่น้ำเจ้าพระยา ค้นพบความประณีตและสุนทรียภาพของการอยู่อาศัยที่ห้อง ‘เดอะ ริเวอร์ ไพรเวท เรสซิเดนเซส’ ได้แล้ววันนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 02-029-1888 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ https://www.raimonland.com/th/projects/residential/49/the-river

โบรกมอง KTB บวก ลงทุนภาครัฐ หนุนพอร์ตสินเชื่อโต

โบรกมอง KTB บวก ลงทุนภาครัฐ หนุนพอร์ตสินเชื่อโต

           หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.กสิกรไทย มีมุมมองเชิงบวกต่อ KTB จากโอกาสเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลในปี 2568 พร้อมความสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีโดยมีลูกหนี้ 30% อยู่ภายใต้ MOU ที่สามารถหักเงินเดือนชำระหนี้ได้โดยตรง และมี Coverage Ratio ที่สูงราว 180% เป็นการป้องกันความเสี่ยง            คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2568 ซึ่งจะช่วยให้พอร์ตสินเชื่อเติบโตตามเป้าด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์อื่น มูลค่าหุ้นยังถูกที่อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) ที่ 0.6 เท่า มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) 9-10% และอัตราเงินปันผลตอบแทน 6%            KTB ราคาพื้นฐาน 23.00 บาท

SINO คาด Q4 แข็งแกร่ง  ดีมานด์ขนส่ง-ค่าระวางสูงต่อเนื่อง

SINO คาด Q4 แข็งแกร่ง ดีมานด์ขนส่ง-ค่าระวางสูงต่อเนื่อง

          หุ้นวิชั่น - ติดทำเนียบเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของวงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล ด้วยปริมาณขนส่งสินค้าทางทะเลบนเส้นทางไทย-สหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัท ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SINO ล่าสุด ‘นันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์’ ซีอีโอหนุ่มคนเก่ง กำลังเร่งทำผลงานไตรมาส 4 ของปีนี้ ที่คาดว่าจะมีอัตราเติบโตโดดเด่นไม่แพ้ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ที่มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น 186% จากการเร่งขยายฐานธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกด้านความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา และค่าระวางที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ตลอดจนเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยหนุนความสามารถการทำกำไรที่ดียิ่งขึ้น โดยบริษัทฯ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ SINO เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน [PR News]

CKPower คว้าเรตติ้งสูงสุด SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ

CKPower คว้าเรตติ้งสูงสุด SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ "AAA"

           หุ้นวิชั่น - กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. 2567 - บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งในผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ต่ำที่สุดรายหนึ่ง ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน "SET ESG Rating" ในระดับ AAA เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน  (คะแนนรวม 90-100) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources) ประจำปี 2567 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเป็น 1 ใน 228 บริษัทจดทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์และได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings และเป็น  1 ใน 56 บริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประมินระดับ AAA สะท้อนการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ซึ่งขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน "ซี เค พี" หรือแผนการดำเนินงาน 5 ปี สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (พ.ศ.2565-2569)  ที่มีการขับเคลื่อนในทุกกระบวนการ ตั้งเป้าหมาย ติดตามแผนงานปฏิบัติการ ที่สามารถวัดผลการดำเนินงาน พร้อมการทวนสอบและเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานสากล [PR News]

ADVANC – TRUE ในสนาม ICT ไทย  โบรกมองแข่งกันไม่ดุ ลงทุนต่ำ กำไรเพิ่ม

ADVANC – TRUE ในสนาม ICT ไทย โบรกมองแข่งกันไม่ดุ ลงทุนต่ำ กำไรเพิ่ม

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.เคจีไอ อัปเดตอุตสาหกรรม ICT Sector ระบุ วัฏจักรเชิงบวกหนุนพรีเมียม valuation การประมูลคลื่นความถี่อาจเสี่ยงต่อคำแนะนำของบล.ในการ re-rating กลุ่ม ICT ปี 2568 คาดว่าการประมูลคลื่นความถี่จะเกิดขึ้นใน 1H68 โดยไม่เกิดสงครามราคา           เพราะจุดสำคัญคือการให้บริการเครือข่ายดีต่อเนื่อง ขณะที่ True Corporation (TRUE.BK/TRUE TB) และ Advanced Info Service (ADVANC.BK/ADVANC TB)* ดูเหมือนจะไม่สนใจคลื่น 850MHz แต่จะมุ่งเน้นที่คลื่น 2300MHz และ 1800MHz ตามลำดับ           ในปี 2568 TRUE คาดว่าจะประหยัดค่าเช่าคลื่นความถี่ได้ 4-5 พันล้านบาทต่อปีจากคลื่น 850MHz และ 2300MHz หมดอายุ โดยเหลือเพียงคลื่น 2300MHz ส่วน ADVANC อาจประหยัดได้ ~1-1.5 พันล้านบาทต่อปีจากการแทนที่การเช่าคลื่น 2100MHz จาก NT ด้วยคลื่น 1800MHz Guidance ปี 2568 เป็นบวกต่อ           คาดว่า TRUE และ ADVANC จะให้ guidance ปี 2568 ด้านการเติบโต EBITDA และรายได้การให้บริการเป็นเลขหลักเดียว ด้วยงบลงทุน (CAPEX) ที่ต่ำลง (ไม่รวมค่าประมูลคลื่นฯ) ขณะที่แรงผลักดันรายได้ ด้วยการให้บริการมือถือเติบโตเล็กน้อย (1-3%) พร้อมกับ fixed broadband (FBB) เติบโตปานกลาง (>5%) การรับรู้ synergy ชัดเจนขึ้น และการประหยัดรายจ่ายจากการหมดอายุของคลื่นความถี่ เช่น คลื่น 850MHz และ 2300MHz ของ TRUE ใน 1Q68           โดย ADVANC อาจทำให้นักลงทุนดีใจด้วยเงินปันผลระหว่างกาล 2H67 ที่สูงกว่าคาด ขณะที่ TRUE อาจพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ ผู้แข่งขันในตลาดสองรายและศักยภาพการเติบโตกลุ่ม ICT ของไทย           กลุ่ม ICT ของไทยกำลังอยู่ในช่วงของผู้แข่งขันในตลาดเพียงสองราย ซึ่งช่วยเพิ่มกำไรผ่านการแข่งขันที่ลดลงและงบลงทุนต่ำลง โดยมี EBITDA margin คาดเพิ่มมาอยู่ที่ 50-60%           ขณะที่วัฏจักรขาขึ้นนี้อยู่ในช่วงของการขยายตัวและการแข่งขันลดลง ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการเติบโตแข็งแกร่งสำหรับ TRUE และ ADVANC ขณะที่ valuation ของกลุ่มอยู่ในระดับสูง แต่ทั้งสองบริษัทมี upside เพิ่มได้อีก และยอมรับได้จากการปรับ EPS ขึ้นต่อเนื่อง           EBITDA margin ดีขึ้นและเกิดแหล่งรายได้ใหม่จากศูนย์ข้อมูล           ทั้งนี้ TRUE มีช่องทางในการเพิ่ม ARPU มากขึ้น จะได้รับประโยชน์จาก synergy จากการควบรวมกิจการล่าสุดและรายได้จากการขายโทรศัพท์มือถือดีขึ้น รวมถึง iPhone16 ด้วย กำไรกลุ่ม ICT ปี 2568F จะเพิ่มขึ้น 17% YoY หลังจากพุ่งขึ้น 231% YoY ในปี 2567F           TRUE จะมีสัดส่วนของการเติบโตของกลุ่ม ICT สูงถึง 63% ในปี 2568F พร้อมกับการพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ           ขณะที่กำไรหลักของกลุ่ม ICT ปี 2567F/2568F ของบล.สูงกว่า consensus ราว 5%/2%           ทั้งนี้ ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตในปี 2568 น่าจะมาจากการเพิ่มขึ้นของ ARPUs ต้นทุนที่เหมาะสม และการ synergy กับ DTAC (สำหรับ TRUE) และ TTTBB (สำหรับ ADVANC)           อย่างไรก็ดี คาดกำไรปีนี้จะสูงสุดใน 4Q67 และเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ Valuation and action           คงให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มนี้ “เท่ากับตลาดฯ” โดยเลือก ADVANC เป็นหุ้นเด่นช่วง 1Q68 เนื่องจากคาดเห็นแรงเก็งกำไรจากเรื่อง gain on bargain purchase ในระหว่างการแปลงร่างของ NewCo, upside จากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2568 และอาจจ่ายเงินปันผลสูงขึ้น           ส่วน TRUE ก็ยังชอบเช่นกันด้วย reward/risk ที่น่าสนใจ มีโอกาสในการเพิ่มอัตรากำไรและ synergy ที่มาเร็วและมากกว่า ADVANC           ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านลบคือคดีความที่ศาลของ TRUE และ ADVANC รวมถึงต้นทุนการควบรวมสูง

[ภาพข่าว] ปตท. ผนึก เบทาโกร มุ่งนวัตกรรมพลังงาน - ระบบจัดการของเสีย

[ภาพข่าว] ปตท. ผนึก เบทาโกร มุ่งนวัตกรรมพลังงาน - ระบบจัดการของเสีย

          หุ้นวิชั่น - เมื่อเร็ว ๆ นี้ – บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมพลังงานและระบบบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนกับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) (เบทาโกร) โดยมี ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายชยธร แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานกลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม เพื่อแสวงหาโอกาสในการต่อยอดนวัตกรรมพลังงานสะอาดด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล อาทิ การใช้แพลตฟอร์มซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนของ ปตท. การพัฒนานวัตกรรมพลังงาน และระบบบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรม อาทิ การนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วของเบทาโกร ไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียที่สร้างมูลค่าเพิ่มและเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมไทยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

บอร์ด SNNP เคาะซื้อหุ้นคืน  ทุ่ม 640 ลบ. ดีเดย์ 23 ธ.ค.นี้

บอร์ด SNNP เคาะซื้อหุ้นคืน ทุ่ม 640 ลบ. ดีเดย์ 23 ธ.ค.นี้

          หุ้นวิชั่น - บอร์ด บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP) อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนในวงเงินไม่เกิน 640 ล้านบาท หรือจำนวนไม่เกิน 40 ล้านหุ้น ดีเดย์ 23 ธ.ค.67 - 20 มิ.ย.68 ฟากผู้บริหาร “ฐากร ชัยสถาพร” ระบุเพื่อบริหารสภาพคล่องส่วนเกินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการแสดงความเชื่อมั่นการดำเนินงานของบริษัทฯ ด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ส่วนแนวโน้มช่วงโค้งสุดท้ายปี 67 คาดว่ายอดขายสินค้าคึกคักรับอานิสงส์ช่วงไฮซีซั่น สนับสนุนผลงานโตสวย           นายฐากร ชัยสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ผู้นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยวของประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 ได้มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) ในวงเงินไม่เกิน 640 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนไม่เกิน 40 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท ซึ่งจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนคิดเป็นอัตรา 4.17% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ           สำหรับวัตถุประสงค์ในการเปิดโครงการครั้งนี้ เพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของกลุ่มบริษัทฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) รวมถึงซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นในอนาคตสามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรในอนาคต โดยบริษัทฯ จะเริ่มดำเนินการซื้อหุ้นคืนผ่านระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2567 - 20 มิถุนายน 2568           ทั้งนี้ บริษัทฯ ทยอยออกสินค้าใหม่วางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง และมีวางกลยุทธ์ทางด้านการตลาดด้วยการปรับโฉมสินค้า รวมถึงการเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ๆ เดินหน้ากลยุทธ์ส่งเสริมการขาย ณ จุดขาย การจัดโปรโมชั่น และทำการตลาดเชิงรุก เพื่อกระตุ้นการรับรู้แบรนด์สินค้าด้วยงบประมาณที่น้อยลงแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น ตลอดจนออกสินค้าใหม่ๆ ในทุกรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ ปลาหมึกบด ซึ่งเป็นสินค้าที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นได้มาก และมีกระแสตอบรับที่ดีเกินคาด           “แนวโน้มช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นช่วง High season ของตลาดเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวของบริษัทฯ คาดว่าจะเติบโตได้ดีจากการออกสินค้าเรือธงใหม่ๆ อย่าง เบนโตะหมึกบดรส ไทยคลาสสิคชิลลี่ และ เจเล่ ดับเบิ้ล เยลลี่ ไอซ์ โฉมใหม่ ที่ช่วยสร้างความคึกคักในตลาดเป็นอย่างมาก รวมถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเฟสที่ 2 ในช่วงก่อนตรุษจีนปี 68 จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนยอดขายให้ขยายตัวได้มากขึ้น และในส่วนของแผนระยะยาวบริษัทฯ วางกลยุทธ์ขยายตลาดในต่างประเทศ ทั้งรูปแบบการส่งสินค้าไปขาย และการร่วมการทำตลาด รวมถึงการแต่งตั้งตัวแทนจัดจำหน่าย เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว” นายฐากร กล่าวในที่สุด [PR News]

[ภาพข่าว] THCOM คว้า ‘หุ้นยั่งยืน’  SET ESG Ratings ระดับ AAA

[ภาพข่าว] THCOM คว้า ‘หุ้นยั่งยืน’ SET ESG Ratings ระดับ AAA

          หุ้นวิชั่น - กรุงเทพ, 19 ธันวาคม 2567 – บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ผู้นำธุรกิจดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ ได้รับการประเมินจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับเลือกเป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ในระดับ AAA  ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยได้รับคะแนนการประเมินสูงสุดในกลุ่มเทคโนโลยี นับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ภายใต้กรอบ ESG (Environmental, Social and Governance) ตลอดจนการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตขององค์กร โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีอวกาศหรือ Space Tech มาคิดค้นพัฒนาโซลูชันและบริการ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในหลายมิติต่อไป นอกจากความสำเร็จดังกล่าวแล้ว ในปีนี้ไทยคมยังได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน คือ Highly Commended Sustainability Awards จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังได้รับคะแนนบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการในระดับ 5 ดาว หรือ “ดีเลิศ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 (ปี 2556-2567) จากผลสำรวจรายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) อีกด้วย

โบรกแนะหุ้นอะไร?  หลัง กนง. คงอัตราดอกเบี้ย 2.25% 

โบรกแนะหุ้นอะไร? หลัง กนง. คงอัตราดอกเบี้ย 2.25% 

          หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.เอเซีย พลัส เผยแม้ FED จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามคาด แต่มุมมองที่ดูระมัดระวังมากขึ้นในการปรับลดดอกเบี้ยทำให้ FEDWATCH TOOL แสดงถึงโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยปี 2568 มีเพียง 2 ครั้ง ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งมี VALUATION ที่แพงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วมีแรงขายทำกำไรออกมา โดยดัชนีราคาหุ้นหลักปรับลดตั้งแต่ 2.58% จนถึง 3.6% และ หนุนให้ BOND YIELD ปรับสูงขึ้น           กลับมาที่บ้านเรา กนง. วานนี้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ตามคาด แต่เริ่มสะท้อนมุมมองเชิงกังวลต่อภาพเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี 2568 ซึ่งหากมีสัญญาณไม่ดีก็พร้อมจะพิจารณาดอกเบี้ย โดยภาพรวมเชื่อว่าจากนี้ไป ดอกเบี้ยจะอยู่ในภาวะลงช้าและลงน้อย ส่วนเรื่องอื่นที่อยู่ในความสนใจคือ การเมืองในประเทศที่คาดว่าจะมีแนวโน้มร้อนแรงขึ้นตามลำดับ ในปี 2568 ตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับลงแรง น่าจะส่ง SENTIMENT เชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยในเช้าวันนี้ ในทาง TECHNICAL ดูแนวรับแรกที่ 1390 จุด ถัดไปที่ 1384 จุด แนวต้าน 1410 จุด TOP PICK เลือก CK, PTTGC และ WHA

Aurora คาดกำไร Q4 สดใส  ธุรกิจค้าปลีก-ขายฝากทอง หนุน

Aurora คาดกำไร Q4 สดใส ธุรกิจค้าปลีก-ขายฝากทอง หนุน

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.ดาโอ คงแนะนำ “ซื้อ” Aurora แต่ปรับราคาเป้าหมายโดย rollover เป็นปี 2025E ที่ 18.00 บาท (เดิม 16.70 บาท) อิง PER ที่ 20 เท่า (-0.5SD below 2-yr average PER) เประเมินแนวโน้มกำไร 4Q24E จะยังสดใสจาก ธุรกิจค้าปลีกทอง จะได้ผลบวกจากราคาทองคำในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย 4Q24 QTD (ถึง 18 ธ.ค. 24) ปรับตัวเพิ่มขึ้น +5% อยู่ที่ 4.3 หมื่นบาท/บาททอง จากค่าเฉลี่ย 3Q24 ที่ 4.08 หมื่นบาท/บาททอง ส่งผลบวกต่อ GPM ที่จะดีขึ้นเป็น 9%-10% จาก 4Q23/3Q24 ที่ 8.9%/8.8% รวมถึงรายได้จะดีขึ้นจากการที่ลูกค้าเริ่มคุ้นเคยกับราคาทองคำที่ระดับ 4.0 หมื่นบาท ทำให้ความเชื่อมั่นในการซื้อทองกลับมา รวมถึงในช่วงปลายปีจะมีการซื้อทองเป็นของขวัญ ธุรกิจขายฝาก จะดีขึ้นต่อเนื่องจากพอร์ตลูกหนี้ขายฝากที่จะเพิ่มเป็น 4.5 พันล้านบาท จาก 4Q23/3Q24 ที่ 2.7/4.2 พันล้านบาท จากการขยายสาขาทองมาเงินไป ณ 3Q24 อยู่ที่ 210 สาขา เพิ่มจากสิ้นปี 2023 ที่ 138 สาขา           ยังคงประมาณการกำไรสุทธิ 2024E/25E ที่ 1.08/1.21 พันล้านบาท (+27% YoY/+12% YoY) สำหรับกำไร 4Q24E ประเมินจะอยู่ที่ราว 240-260 ล้านบาท ดีขึ้น YoY, QoQ (กำไร 4Q23/3Q24 อยู่ที่ 242/205 ล้านบาท) จากทั้งธุรกิจค้าปลีกทองและขายฝากที่ดีขึ้น           ส่วนปี 2025E จะดีขึ้น โดย AURA ยังประเมินราคาทองยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น และมีแผนขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจขายฝากรายได้ดอกเบี้ยรับจะทำ new high ได้ต่อเนื่อง           ราคาหุ้นปรับตัวลงและ underperform SET -4% ใน 3 เดือน จากกำไร 3Q24 ที่ปรับตัวลดลง หลังจาก 2Q24 มีกำไรเพิ่มขึ้นมาก แต่กลับมาเพิ่มขึ้นและ outperform SET ได้ +10% ในช่วง 1 เดือน ทั้งนี้เรายังแนะนำซื้อจากกำไร 4Q24E ที่จะกลับมาเพิ่มขึ้น และปี 2025E จะดีต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจค้าปลีกและขายฝาก ด้าน Valuation           ปัจจุบันยังน่าสนใจเทรดที่ 2025E PER ที่ 16.2 เท่า คิดเป็น -1.25SD Event: Company update           ❑ ธุรกิจค้าปลีกทอง 4Q24E ยังสดใสจากราคาทองคำในประเทศเฉลี่ย QTD ปรับตัวขึ้นช่วยหนุน GPM ดีขึ้น เราประเมินธุรกิจค้าปลีกทองใน 4Q24E จะยังสดใสจาก ราคาทองคำในประเทศเฉลี่ย 4Q24 QTD ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว +5% อยู่ที่ประมาณ 4.3 หมื่นบาท/บาททอง จากค่าเฉลี่ยใน 3Q24 ที่ 4.08 หมื่นบาท/บาททอง โดยราคาทองคำขึ้นมาทำ new high ในช่วงปลายเดือน ต.ค. 24 ที่ระดับ 4.44 หมื่นบาท/บาททอง และแกว่งตัวในกรอบราว 4.2-4.4 หมื่นบาท/บาททอง ซึ่งจากราคาทองคำในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุน GPM ของธุรกิจค้าปลีกทอง และเราประเมิน GPM จะดีขึ้นเป็นระดับ 9%-10% จาก 3Q24 ที่ 8.8% แนวโน้มรายได้ 4Q24E จะดีขึ้นเนื่องจากการที่ลูกค้าเริ่มคุ้นเคยกับราคาทองคำที่ระดับ 4.0 หมื่นบาทขึ้นไปต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2Q24 ทำให้เริ่มมีความเชื่อมั่นในการซื้อทองกลับมา รวมถึงในช่วงปลายปีจะมีการซื้อทองเป็นของขวัญมากขึ้น           ❑ ธุรกิจขายฝาก แนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากพอร์ตลูกค้าขายฝากที่เพิ่มขึ้น โดยเรายังคงประเมินยอดลูกหนี้ขายฝาก 4Q24E จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 พันล้านบาท จาก 3Q24 ที่ 4.2 พันล้านบาท และ 4Q23 ที่ 2.7 พันล้านบาท ส่งผลบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยรับใน 4Q24E ที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเรายังคงประมาณการรายได้ดอกเบี้ยรับในปี 2024E ที่ 519 ล้านบาท +73% YoY จากผลบวกของการขยายสาขาทองมาเงินไป ณ 3Q24 เป็น 210 สาขา เพิ่มจากสิ้นปี 2023 ที่ 138 สาขา และมากกว่าเป้าที่ AURA ทำไว้เดิมที่ 188 สาขาแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกใน 4Q24E และปี 2025E           ❑ แนวโน้มกำไร 4Q24E จะกลับมาดีขึ้น YoY, QoQ จากทั้งธุรกิจค้าปลีกทองและขายฝากที่ดีขึ้น เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2024E/25E ที่ 1.08 พันล้านบาท +27% YoY และ 1.21 พันล้านบาท +12% YoY ทั้งนี้ กำไร 9M24 อยู่ที่ 824 ล้านบาท +35% YoY ซึ่งคิดเป็น 76% จากทั้งปี สำหรับกำไร 4Q24E จะดีขึ้น YoY, QoQ จากทั้งธุรกิจค้าปลีกทองและธุรกิจขายฝากที่ดีขึ้น           ส่วนปี 2025E จะยังคงเติบโตได้ดีแม้ฐานกำไรปี 2024E ที่สูง จากราคาทองที่เพิ่มขึ้นมาก และยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ต่อในปี 2025E จากอานิสงส์ที่ธนาคารกลางจีนเริ่มกลับมาสะสมทองคำเข้าคลังสำรองอีกครั้ง ขณะที่ธุรกิจขายฝากจะยังมีรายได้ดอกเบี้ยรับทำ new high ได้ต่อเนื่องตามการขยายพอร์ตลูกค้าขายฝากเพิ่มขึ้น Valuation/Catalyst/Risk           ปรับราคาเป้าหมายเป็นปี 2025E ที่ 18.00 บาท (เดิม 16.70 บาท) อิง PER ที่ 20 เท่า (-0.5SD below 2-yr average PER) โดยยังมี catalyst ราคาทองในประเทศเฉลี่ย 4Q24E กลับมามีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุน GPM ดีขึ้น และธุรกิจขายฝากที่ยังทำ new high ได้ต่อเนื่อง

AOT คาดปี 68 นทท.โตต่อ ฟรีวีซ่า จีน-อินเดีย-ไต้หวัน-รัสซัย หนุน

AOT คาดปี 68 นทท.โตต่อ ฟรีวีซ่า จีน-อินเดีย-ไต้หวัน-รัสซัย หนุน

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.เอเอสแอล คาด AOT 1Q67/68F (ต.ค.-ธ.ค. 67) จะขยายตัว QoQ • คาดว่าปี 68 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ราว 129.97 ล้านคน +8.95% YoY (ในประเทศ +10.18% YoY, ต่างประเทศ +8.17% YoY) • คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน +10.32% YoY (ในประเทศ +12.02% YoY, ต่างประเทศ +9.02% YoY) • สำหรับนักท่องเที่ยวจีนยังเป็นขาขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดคิดเป็น 76% เมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากมาตรการฟรีวีซ่า ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากอินเดีย ไต้หวัน และรัสเซียปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง • คาดการณ์ผู้โดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่ (29 ธ.ค. 67 - 4 ม.ค. 68) ประมาณ 2.86 ล้านคน +92.9% เมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID           ล่าสุดได้ขออนุมัติจากรัฐบาลลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็น 80 ล้านคน/ปี คาดว่าจะเปิดประมูลในเดือน ก.พ. 68 และมีแผนงานจะสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ที่จะรองรับผู้โดยสารได้อีก 70 ล้านคน/ปี จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคน/ปี ทั้งนี้ อยู่ในระหว่างการพิจารณาโครงการส่วนต่อขยายด้านตะวันตกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะได้รับความชัดเจนช่วง เม.ย. 68 ด้านงบลงทุนในช่วงปี 68-78F อยู่ที่ 1.96 แสนล้านบาท           ในเชิง Sentiment ต้อนรับ Fund flow ไหลกลับ หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะช่วยให้ค่าเงินบาทชะลอการอ่อนค่า และเรามองว่า AOT เป็น 1 ในหุ้นเป้าหมายหุ้น Big cap. เนื่องจากราคาที่ปรับตัวลงมากว่า 8.5% ในรอบ 60 วันที่ผ่านมา รับรู้ปัจจัยลบจากการจ่ายค่าขอคืนพื้นที่บางส่วนของ "คิง เพาเวอร์"           ด้านแนวโน้มผลประกอบการ 1Q67/68F (ต.ค.-ธ.ค. 67)           คาดว่าจะขยายตัว QoQ ตามการเป็นช่วง High season ของธุรกิจ Aero และ Non-Aero และ YoY ที่จะโดดเด่นมากจากฐานที่ต่ำ (ช่วง ต.ค. 66 มีประเด็นกราดยิงในศูนย์การค้า) โดย Bloomberg ประเมินกำไรสุทธิราว 5-6 พันล้านบาท และมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 68.06 บาท

SNNP คาด Q4 กำไรพุ่ง แนะนำ “ซื้อ” เป้า 17.00 บาท

SNNP คาด Q4 กำไรพุ่ง แนะนำ “ซื้อ” เป้า 17.00 บาท

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.ดาโอ ชี้ SNNP (ซื้อ/เป้า 17.00 บาท) ประกาศซื้อหุ้นคืนวงเงินไม่เกิน 640 ล้านบาท จำนวนไม่เกิน 40 ล้านหุ้น วันที่ 18 ธ.ค. ทาง SNNP แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน วงเงินไม่เกิน 640 ล้านบาท และจำนวนหุ้นซื้อคืนไม่เกิน 40 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.17% ซึ่งไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท โดยกำหนดระยะเวลาซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2024 - 20 มิ.ย. 2025 (ที่มา: SET)           DAOL มีมุมมองเป็นบวก โดยแผนซื้อหุ้นคืนดังกล่าว imply ราคาซื้อคืนเฉลี่ยที่ 16 บาท/หุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาปิดเมื่อวานราว +33% ทำให้เรามองว่าจะเป็น sentiment เชิงบวกต่อราคาหุ้นได้ โดยราคาหุ้นเมื่อวานปรับตัวเพิ่มขึ้น +6% ปิดตลาดที่ 12.00 บาท           สำหรับ 4Q24E เราคาดกำไรขยายตัวจาก high season โดยรายได้ในประเทศที่โตต่อ ด้านรายได้ต่างประเทศโต QoQ จากรายได้เวียดนาม และรายได้ฟิลิปปินส์ขยายตัว เราคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2024E ที่ 659 ล้านบาท (+4% YoY) เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” และคงราคาเป้าหมายที่ 17.00 บาท อิง 2025E PER 22.5x

KSS คาด SET “ช่วงปลายความผันผวน” ต้าน 1415 จุด ชู KTB, SCB, BTS

KSS คาด SET “ช่วงปลายความผันผวน” ต้าน 1415 จุด ชู KTB, SCB, BTS

           หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) คาด SET วันนี้ “ช่วงปลายความผันผวน” ต้าน 1411/1415 จุด รับ 1380/1363 จุด ดัชนีS&P500 ดิ่ง -2.95% ตอบ รับผลประชุม Fed ที่แม้ปรับลดดอกเบี้ย -25 bps ตามคาด แต่ประเด็นที่ตลาดให้น ้าหนัก คือ Dot Plot ปี2025F ที่คาดปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 2 ครั้ง (vs ตลาดคาด 2-3 ครั้ง, เดิม 4 ครั้ง) โดยรวมผลกระทบนโยบาย Trump 2.0 ขณะที่ปรับเพิ่ม GDP ปี2025F สู่ 2.1% (เดิม 2.0%) vs prev. 2.5% หลังประชุม US Bond Yield 10 ปี+12 bps มาที่ 4.51% Dollar Index แข็งค่าสู่ 107.9 จุด ประเมินระยะสั้นท าให้เกิดภาพปรับสถานะ สินทรัพย์เสี่ยงโลกอีกรอบ แต่ประเมินความผันผวนจะอยู่ในช่วงปลาย โดยไทยกดดันจากเงินบาทอ่อนค่าสู่ 34.5 +/- บาท อย่างไรก็ตาม ภาพ หลักปี2025F ที่ Fed ยังมองวงจรดอกเบี้ยเป็นขาลง เศรษฐกิจสหรัฐ Soft Landing vs BOT ที่ยังคงคาดการณ์ GDP ปี2025F เร่งขึ้น โดย มีภายในหนุน เราประเมินความผันผวนระยะสั้นเป็นโอกาสทยอยตั้งรับ หุ้นเด่น คือ กลุ่ม Domestic ที่เกาะไปกับกระแส Yield เร่งขึ้น+เศรษฐกิจ ภายในเด่น อาทิธนาคาร ประกัน ผสาน หุ้น Defensive อาทิสื่อสาร ค้าปลีก (สินค้าจ าเป็น) ร.พ. กลุ่มที่ได้จิตวิทยาบวกเงินบาทอ่อนค่าหนุน วันนี้แนะน ำ KTB, SCB, BTS

[Vision Exclusive] PIMO อัพเกรด BLDC ทุ่ม 40ล. เพิ่มกำลังเท่าตัว!

[Vision Exclusive] PIMO อัพเกรด BLDC ทุ่ม 40ล. เพิ่มกำลังเท่าตัว!

            หุ้นวิชั่น - PIMO กางกลยุทธ์ปีมะเส็ง ตั้งเป้ารายได้ปี 68 โต 25% บอร์ดอนุมัติงบ 40 ล้านบาท อัพไลน์ผลิตมอเตอร์ BLDC เท่าตัว จากปัจจุบันที่ 2 หมื่นลูก ส่องดีมานด์ 48 ล้านลูกต่อปี ลั่นออเดอร์เรียงคิวโค้งแรก ลุยบริหารต้นทุนดันมาร์จิ้นพุ่ง             นายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO ผู้ประกอบธุรกิจหลักผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ (Air Conditioning Motor) มอเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป (Induction Motor) เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง มอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำ มอเตอร์สำหรับปั๊มบ้าน (Submersible Pump,Pool Spa Pump and Home Pump) เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า บริษัทตั้งเป้าการเติบโตในปี 2568 ที่ 25% โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มกำไรมากกว่าการเพิ่มยอดขาย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าหมุนเวียนและสินค้ามาร์จิ้นสูง (High Margin) เช่น มอเตอร์ BLDC หรือ มอร์เตอร์ชนิดพิเศ๋ษ ซึ่งเจาะตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม หรือ  Niche Market             ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท อนุมัติงบลงทุน 40 ล้านบาท ในการขยายไลน์สินค้าใหม่เพิ่มเติม มอเตอร์ BLDC บริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลีงผลิตอีกเท่าตัว จากปัจจุบัน PIMO มีกำลังผลิตอยู่ที่ 20,000 ลูก เพื่อรองรับดีมานด์หรือความต้องการของตลาดที่ 48 ล้านลูกค้าต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตสินค้ารุ่นใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม หรือ เมษายน ปี 2568 และจะเร่งยอดขายในปี 2568             สำหรับในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตและวางแผนในด้านการเติบโตยอดขายและกำไรเป็นที่สำคัญ โดยการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา ซึ่งมีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้สูง ขณะเดียวกันมีกำลังผลิตสินค้าในกลุ่ม AC หรือมอเตอร์ปกติคาดจะเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมียอดสั่งซื้อในไตรมาส 1/2568 เข้ามาจำนวนมาก และอยู่ระหว่างเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบสินค้า พร้อมรองรับการขายให้ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศในไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่สองของปีหน้า             พร้อมกันนี้บริษัทให้ความสำคัญกับการขยายอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit) และอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit) มากกว่าการมุ่งเน้นที่ยอดขายเพียงอย่างเดียว โดยการบริหารจัดการต้นทุนให้นัดกุม และเร่งส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าให้รวดเร็ว             อนึ่ง 9 เดือนแรกปี 2567 PIMO มีรายได้แล้วที่ 907.40 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 91.63 ล้านบาท รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

SNNP ซื้อหุ้นคืน 640ล. โบรกมองบวก Q4 งบดี

SNNP ซื้อหุ้นคืน 640ล. โบรกมองบวก Q4 งบดี

          บอร์ด SNNP อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนวงเงิน 640 ลบ. เก็บหุ้นไม่เกิน 40 ล้านหุ้น หรือ 4.17% ของหุ้นทั้งหมด เริ่ม 23 ธ.ค. 67 - 20 มิ.ย. 68 หวังเพิ่ม ROE-EPS เสริมความเชื่อมั่นสถานะการเงิน ด้าน บล.ดาโอ มองบวก ชี้ราคาซื้อคืนสูงกว่าราคาปัจจุบัน 42% คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 17 บาท รับแรงหนุนจากไฮซีซั่น Q4/67 และการเติบโตในเวียดนาม-ฟิลิปปินส์           บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ขอรายงานมติที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 8/2567 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เกี่ยวกับการอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารการเงิน วงเงินสูงสุดที่จะใช้ในการซื้อหุ้นคืน ไม่เกิน 640 ล้านบาท โดย จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืน ไม่เกิน 40,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท คิดเป็นร้อยละ 4.17 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด           วิธีการและกำหนดเวลาในการซื้อหุ้นคืน ซื้อด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติผ่านระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์กำหนดระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2568 (บริษัทต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน) เปิดเผยข้อมูลมาประกอบการพิจารณากำหนดราคาหุ้นด้วยราคาหุ้นที่จะซื้อคืนจะไม่เกินกว่าร้อยละ 115 ของราคาปิดเฉลี่ย 5 วันทำการซื้อขายก่อนหน้าวันที่ทำการซื้อ หุ้นคืน ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ราคาหุ้นเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 4พฤศจิกายน 2567 ถึง วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เท่ากับ 11.94 บาทต่อหุ้น (ราคาปิดถัวเฉลี่ย 30 วันทำการ ย้อนหลัง) ส่วน ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท มีกำไรสะสมและสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัท           ข้อมูลจากงบการเงินงบเฉพาะกิจการสอบทานตรวจสอบงวดล่าสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 - กำไรสะสมของบริษัท (ยังไม่ได้จัดสรร) เท่ากับ 857 ล้านบาท - หนี้สินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จะเริ่มซื้อหุ้นคืนเท่ากับ 138 ล้านบาท           อธิบายความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่จะเริ่ม ซื้อหุ้นคืน โดยระบุแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการชำระหนี้คืน ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทมีรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 67 ล้านบาท บริษัทประมาณการว่า บริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของงบการเงินเฉพาะกิจการในครึ่งปีแรกของปี 2568 เป็นจำนวน 890 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดใน 6 เดือน นับแต่วันที่จะซื้อหุ้นคืน และมีเงินสดคงเหลือเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการซื้อหุ้นคืนตามโครงการ ส่วนจำนวนผู้ถือหุ้นสามัญชายย่อย (Free fioat) ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นหรือวันที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นลำสุด เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 เท่ากับร้อยละ 28.78 ของทุนชำระแล้วของบริษัท เหตุผลในการซื้อหุ้นคืน - เพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด - เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ส่วนเกินของผู้ถือหุ้น (ROE) รวมถึงเพิ่มอัตราทำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) -เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ผลกระทบภายหลังซื้อหุ้นคืนต่อผู้ถือหุ้น -ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนโดยคำนวณจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตราทำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)เพิ่มสูงขึ้น และผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผลต่อหุ้นสูงขึ้น เนื่องจากหุ้นที่บริษัทซื้อคืนจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล - ทำให้ปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดลดลง ช่วยทำให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น 4.2 ต่อบริษัท - บริษัทจะมีสินทรัพย์สภาพคล่อง และมูลค่าทางบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง (Book Value Per Share) - หากบริษัทดำเนินการซื้อหุ้นคืนได้ครบตามวงเงินที่ได้ระบุได้ทั้งหมด เมื่อสินสุดโครงการการซื้อหุ้นคืนบริษัทจะมีสินทรัพย์ สภาพคล่อง และมูลค่าทางบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเป็นจำนวนเท่ากับวงเงินดังกล่าว การจำหน่ายและการตัดหุ้นที่ซื้อคืน - วิธีการจำหน่ายหุ้นบริษัทอาจทำการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน โดยการขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในขณะนั้น โดยจะพิจารณาอีกครั้งภายหลังเสร็จสิ้นโครงการซื้อหุ้นคืน กำหนดระยะเวลาจำหน่ายและตัดหุ้นที่ซื้อคืน           คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณากำหนดระยะเวลาจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนอีกครั้งภายหลังเสร็จสิ้นโครงการซื้อหุ้นคืน และจะแจ้งให้ทราบต่อไป (กำหนดระยะเวลาจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน จะทำได้ภายหลัง 3 เดือนนับแต่การซื้อหุ้นคืนเสร็จสิ้น แต่ต้องไม่เกิน 3ปี ทั้งนี้ ทันทีที่จำหน่ายได้บริษัทจะเร่งพิจารณาและจำหน่ายออกในเวลาที่เหมาะสม)           ด้าน บล.ดาโอ ระบุว่า SNNP ประกาศซื้อหุ้นคืนวงเงินไม่เกิน 640 ล้านบาท จำนวนไม่เกิน 40 ล้าน โดยมีมุมมองเป็นบวก โดยแผนซื้อหุ้นคืนดังกล่าว imply ราคาซื้อคืนเฉลี่ยที่ 16 บาท/หุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาปัจจุบันราว +42% ทำให้เรามองว่าจะเป็น sentiment เชิงบวกต่อราคาหุ้นได้           สำหรับ ไตรมาส 4/2567 คาดกำไรขยายตัว จาก high season โดยรายได้ในประเทศที่โตต่อ ด้านรายได้ต่างประเทศโต QoQ จากรายได้เวียดนาม และรายได้ฟิลิปปินส์ขยายตัว เราคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2024E ที่ 659 ล้านบาท (+4% YoY) เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” และคงราคาเป้าหมายที่ 17.00 บาท อิง 2025E PER 22.5x

BGRIM ลุยดาต้าเซนเตอร์ ปี68 ลงทุน1.36 แสนล้านบ.

BGRIM ลุยดาต้าเซนเตอร์ ปี68 ลงทุน1.36 แสนล้านบ.

           หุ้นวิชั่น - BGRIM เปิดทิศทางธุรกิจและแผนกลยุทธ์สำคัญในปี 2568 ประกาศลงทุนรวม 136,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 10 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ตอกย้ำสู่ผู้นำพลังงานสะอาด เดินหน้าขยายธุกิจระดับโลก ผ่านการร่วมทุน ซื้อกิจการ และพันธมิตรทางธุรกิจพร้อมจัดสรรแหล่งทุนของบริษัทรวม 70,000 ล้านบาท รองรับการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน เปิดตัวธุรกิจใหม่ Data Center อยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาทำสัญญา ซื้อขายไฟฟ้ากับศูนย์ข้อมูลขนาดรวม 310 เมกะวัตต์ บี.กริม เพาเวอร์ หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์            "สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี" พร้อมเติบโตสู่อนาคตพลังงานสะอาด และการขยาย ธุรกิจระดับโลก ซึ่งล่าสุดได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับเป้าหมายดังกล่าว แบ่งเป็น 3 กลุ่มงานได้แก่กลุ่มธุรกิจพัฒนาพลังงานหมุนเวียน, กลุ่มธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชันธุรกิจอุตสาหกรรม และกลุ่มงานการเงินและบัญชี ภายใต้การนำทัพของ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บี.กริมเพาเวอร์ และ 3 ผู้บริหารระดับสูง นายพีรเดช พัฒนจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน, นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชั่นธุรกิจ อุตสาหกรรม และนางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร งานการเงินและบัญชี            ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า ในปี 2567 บี.กริม เพาเวอร์ ประสบความสำเร็จในการขยายกำลังผลิตโครงการโรงไฟฟ้าหลากหลายโครงการโดยเฉพาะโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งยังเป็นทิศทางหลักที่บริษัทจะมุ่งไปตลอดปี 2568 เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ "สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี" พร้อมเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของ "ค่านิยมองค์กร" บี.กริม เพาเวอร์ ใน 4 เรื่องหลัก คือ ความเป็นมืออาชีพ การมีทัศนคติที่ดี ความร่วมมือกัน และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สำหรับแผนกลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2568 ได้แก่            1. การเติบโตของพลังงานหมุนเวียน และการขยายธุรกิจในระดับโลก โดยตั้งเป้ามีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 10 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ผ่านการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์พลังงานลม และพลังน้ำ พร้อมดำเนินการตามแนวทาง Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 ควบคู่กับการขยายธุรกิจในตลาดโลก อาทิ เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการร่วมทุน การเข้าซื้อกิจการ และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน            2.การเป็นพันธมิตรด้านพลังงานสำหรับ Data Centers บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งสู่การเป็นพันธมิตรหลักในการจัดหาพลังงานให้กับ Data Centers ในประเทศไทย โดยร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะเพื่อจัดหาพลังงานหมุนเวียนและให้บริการโซลูชั่นพลังงานครบวงจรรองรับความต้องการของ Data Centers ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรี นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาทำสัญญา ซื้อขายไฟฟ้ากับศูนย์ข้อมูลขนาดรวม 310 เมกะวัตต์            3. การจัดสรรเงินทุน (Capital Allocation) อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เราให้ความสำคัญกับการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน โดยวางแผนการลงทุนในโครงการต่างๆ ในช่วงปี 2567-2573 รวมทั้งสิ้น 136,000 ล้านบาท ซึ่งเน้นลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนถึง 85%            ในขณะที่แผนการลงทุนเฉพาะส่วนทุนของ บี.กริม เพาเวอร์จำนวน 70,000 ล้านบาท จะเป็นพลังงานหมุนเวียนถึง 94% ทั้งนี้แหล่งที่มาของเงินลงทุนของ บี.กริม เพาเวอร์ จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน, การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ และหุ้นกู้ทั่วไป, เงินกู้จากสถาบันการเงิน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากพันธมิตรเชิงกล ยุทธ์ และการขายสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ            ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า เรา ยังดำเนินกลยุทธ์การลงทุนด้วยการพิจารณาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (EIRR) เป้าหมายอยู่ที่ 10-15% ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของเทคโนโลยีในแต่ละโครงการ ความ น่าเชื่อถือของประเทศและผู้รับซื้อไฟฟ้า (Oftaker) รวมถึงความผันผวนของกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้            นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังมุ่งเน้นการบริหารหนี้สินและทุนอย่างเหมาะสม โดยตั้งเป้าอัตราหนี้สินต่อทุน ที่ 3.0 เท่าในช่วงเริ่มต้นของการจัดหาเงินทุนโครงการ พร้อมทั้งใช้ linited-recourse loan และ backend equity ทั้งนี้ เราให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงและยกระดับการลงทุนในภูมิภาคเอเชียและตลาดโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว            สำหรับเป้าหมายในระยะยาว บี.กริม เพาเวอร์ พร้อมเดินหน้าเติบโตสองค์กรชั้นนำระดับโลก ก้าวสู่ความสำเร็จและขยายธุรกิจไปในหลายประเทศทั่วโลก ผลักดันให้ต่างประเทศเห็นถึงศักยภาพของคนไทยและช่วยนำพาธุรกิจ และพันธมิตรทุกคนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน [PR News]

CPAXT ปั้น ‘Lotus’s Mall Bangna’ คุ้มค่า

CPAXT ปั้น ‘Lotus’s Mall Bangna’ คุ้มค่า

           CPAXT ย้ำชัดแผนพัฒนาโครงการ Lotus’s Mall Bangna (The Happitat) มูลค่า 15,000 ลบ. ชูทำเลทองบางนา-ตราด เสริมศักยภาพธุรกิจค้าปลีก-ศูนย์การค้า ดึงกลยุทธ์โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น มั่นใจผลตอบแทนคุ้มค่า ดันโตยั่งยืนในระยะยาว            ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวเรื่องการเข้าลงทุนของ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งข้อมูลบางส่วนในโซเชียลมีเดีย อาจทำให้นักลงทุนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ล่าสุด ซีพี แอ็กซ์ตร้า ได้ออกมาชี้แจงแสดงความชัดเจน เพื่อคลายความกังวลของนักลงทุน โดยย้ำจุดยืนในการดำเนินการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น และการเติบโตของบริษัทฯ โดยเนื้อหามีดังต่อไปนี้            บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT เข้าลงทุนในโครงการ Lotus’s Mall Bangna (the Happitat) เพื่อจะได้มี ศูนย์การค้าและพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ซึ่งองค์ประกอบหลักของพื้นที่และรายได้มาจากการบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าขนาด 48,000 ตร.ม. และมีร้านโลตัส Hypermarket ในรูปแบบใหม่ เพื่อต่อยอดจากรูปแบบธุรกิจในปัจจุบันของ CPAXT ซึ่ง CPAXT มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกและการบริหารพื้นที่เช่า ปัจจุบัน CPAXT ในฐานะผู้นำค้าส่ง-ค้าปลีกระดับเอเชีย ด้วยพื้นที่ขายกว่า 2.7 ล้านตารางเมตร และบริหารพื้นที่เช่าศูนย์การค้ากว่า 1.5 ล้านตารางเมตร (รวมการบริหารพื้นที่ใน AXTRART) และได้เดินหน้าดำเนิน            กลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยการขยายสาขา การเพิ่มศักยภาพของสินทรัพย์ และการหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น โดย CPAXT ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาศูนย์การค้าและพื้นที่ค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง            ที่ผ่านมา CPAXT เปิดตัว โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นแฟลกชิปต้นแบบศูนย์รวมการใช้ชีวิตแบบสมาร์ทของชุมชน บนพื้นที่รวมกว่า 47,000 ตารางเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อขยายพื้นที่เช่าในสาขาหลายแห่ง เช่น โลตัสอุดรธานี โลตัสสระบุรี และแม็คโครสาทร รวมทั้งมีแผนพัฒนาพื้นที่เช่าในอนาคตในทำเลศักยภาพอีก 16 แห่ง โดยคาดว่าภายในปี 2572 บริษัทฯ จะสามารถขยายพื้นที่เช่าถาวร (NLA) ได้กว่า 200,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้กำไรจากการบริหารพื้นที่ศูนย์การค้ามีสัดส่วนเป็นสาระสำคัญของกำไรสุทธิของบริษัทฯ            โดย CPAXT มีประสบการณ์ด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมิได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับบริษัทฯ แต่เป็นการขยายโอกาสในสิ่งที่ทำได้ดี โดยเฉพาะทำเลที่เป็นยุทธศาสตร์ ซึ่งพื้นที่ศักยภาพย่านบางนา-ตราด ถือเป็นโอกาส เพราะมีการขยายการคมนาคมขนส่ง การเกิดขึ้นของหมู่บ้านราคาสูง การขยายตัวของสนามบิน ทำให้การลงทุนในทำเลยุทธศาสตร์ เป็นการขับเคลื่อนเพื่อการเติบโตของธุรกิจCPAXT ตัดสินใจลงทุนใน Lotus’s Mall Bangna (the Happitat) เนื่องจากโครงการ Lotus’s Mall Bangna (the Happitat) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ในย่านบางนา ซึ่งจะทำให้ CPAXT สามารถมีพื้นที่ ซึ่งองค์ประกอบหลักของพื้นที่และรายได้จะมาจากร้านโลตัส Hypermarket ในรูปแบบใหม่ และการบริการพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า นอกจากนี้ โครงการยังประกอบด้วยอาคารสำนักงานเกรด A และพื้นที่สีเขียวที่สะท้อนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่ง CPAXT สามารถใช้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกและการบริหารพื้นที่เช่าเพื่อขยายธุรกิจของ CPAXT ในทำเลยุทธศาสตร์ในย่านบางนา ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทางธุรกิจของ CPAXT จุดเด่นของโครงการ Lotus’s Mall Bangna (the Happitat)            ทำเลยุทธศาสตร์พร้อมทั้งมีสินทรัพย์อาคาร 3 หลัง ติดถนนในย่านบางนา อยู่ในสภาพแวดล้อมด้วยป่าในเมือง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางเศรษฐกิจและการอยู่อาศัยที่ครบครัน ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ของ 4 มุมเมืองของกรุงเทพฯ และปริมณฑล            ใช้ดำเนินธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักปกติของบริษัทฯ คือเปิดสาขาโลตัส Hypermarket ในรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งบริหารพื้นที่สำหรับร้านค้า การให้บริการ และพื้นที่สำหรับกิจกรรมเพื่อทุกไลฟ์สไตล์ของชุมชน รวมพื้นที่เช่าถาวร (NLA) เกือบ 48,000 ตร.ม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.2 ของพื้นที่ NLA ในปัจจุบัน            กลุ่มลูกค้าหลัก: ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่บางนาเขตรัศมีไม่เกิน 7 กม. ซึ่งมีจำนวนถึง 1.2 ล้านคน, ผู้ใช้บริการสำนักงาน และนักท่องเที่ยว คาดการณ์ผู้มาเยือน 36,000 คนต่อวัน            ผลตอบแทนที่รวดเร็ว เนื่องจากอาคารที่ลงทุนได้ก่อสร้างไปกว่าร้อยละ 80 และสามารถเปิดดำเนินการบางส่วนได้ภายใน 12 เดือน ซึ่งเร็วกว่าการพัฒนาพื้นที่ใหม่ซึ่งหาได้ยากในทำเลยุทธศาสตร์ในย่านบางนา และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปีกว่าที่จะเปิดดำเนินการได้ การลงทุนในโดยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางอ้อมในโครงการ Lotus’s Mall Bangna (the Happitat) สร้างความมั่นคงให้บริษัทมากกว่าการเป็นผู้เช่าการออกแบบที่มุ่งเน้นความยั่งยืน มีพื้นที่สีเขียวจากป่าใหญ่ใกล้โครงการการลงทุนผ่านการประเมินมูลค่าที่รอบคอบ            คณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาความเหมาะสมของการลงทุนอย่างรอบคอบ โดยการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในโครงการนี้ผ่านผู้ประเมินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“ก.ล.ต.”) โดยใช้ราคาเฉลี่ยของผู้ประเมิน 3 ราย มูลค่าการลงทุน            บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ ที่วงเงินการลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยมีผลตอบแทนการลงทุนเป็นไปตามนโยบายของบริษัทฯ ในการบริหารร้านค้าขนาดใหญ่ การลงทุนผ่านรูปแบบ Holding company            การจัดตั้งบริษัท แอ็กซ์ตร้า โกรท พลัส จำกัด (“AGP”) เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัทในการขับเคลื่อนธุรกิจบริหารศูนย์การค้า โดยการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการเงินลงทุนของบริษัทและเป็นโครงสร้างที่เอื้อให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถทำธุรกรรมร่วมกับพันธมิตร และเป็นการวัดผลงานที่ชัดเจนขึ้น ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส            บริษัทฯ ขอยืนยันและให้ความมั่นใจว่าบริษัทฯ ยึดถือและปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนมาโดยตลอด และในการพิจารณาการลงทุนในครั้งนี้ ได้ดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการที่เข้าลงทุน มูลค่าการลงทุน ผลประโยชน์จากการลงทุน การประเมินมูลค่าทรัพย์สินในโครงการโดยผู้ประเมินที่ได้รับความเห็นชอบ ก.ล.ต. และคำแนะนำของที่ปรึกษากฎหมายที่มีชื่อเสียง อย่างรอบคอบ และพิจารณามุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมที่จะตอบคำถามและข้อสงสัยในการเข้าลงทุนครั้งนี้และน้อมรับข้อเสนอแนะจากนักลงทุนเพื่อนำมาปรับปรุงการสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูลต่อไป            บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการลงทุนในครั้งนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และสอดคล้องกับแผนธุรกิจเดิม ที่นำมาซึ่งการเติบโต และบริษัทฯ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารและดำเนินงานในโครงการ Lotus’s Mall Bangna (the Happitat)            บริษัทฯ ขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้นและนักลงทุนที่ให้ความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์และแผนการดำเนินธุรกิจของ CPAXT เรามุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกท่าน            ก่อนหน้านี้ ทางผู้บริหาร ซีพี แอ็กซ์ตร้า ได้มีการสื่อสารกับนักลงทุน ตอกย้ำมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ และมี criteria ในการลงทุน โดยการลงทุนดังกล่าวเป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติ (business as usual) อยู่บนพื้นฐานของความชำนาญขององค์กร เป็นไปตามยุทธศาสตร์และนโยบายของบริษัทฯ เพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ

ธุรกิจอาหาร 6.57แสนล. AU ฮอต! ขนมหวานติดตลาด

ธุรกิจอาหาร 6.57แสนล. AU ฮอต! ขนมหวานติดตลาด

          หุ้นวิชั่น - KResearch คาดมูลค่าคลาดธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่มปี 68 ที่ 6.57 แสนล้าน โต 4.6% ชี้ท่องเที่ยวในประเทศหนุน "อาฟเตอร์ ยู" ติดโผ หุ้นเด่น ฮอตขนมหวานติดตลาด ใส่เกียร์ขยายสาขา ขายแฟรนไชส์ทำเงิน แนะ “ซื้อ” เป้า 12.50 บาท           ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) ระบุว่า แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 657,000 ล้านบาท เติบโต 4.6% จากปี 2567 จากภาคการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังเติบโต การขยายสาขาของผู้ประกอบการไปยังภูมิภาค รวมถึงไลฟ์ สไตล์ของผู้บริโภคและความต้องการอาหารและเครื่องดื่มใหม่ที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนการเติบโตของตลาด แต่ธุรกิจมีการแข่งขันสูงทำให้การลงทุนยังต้องระวัง           ธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 572,000 ล้านบาท เติบโต 4.8% จากปี 2567 กลุ่มร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีอัตราการเติบโตดีกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้รับความนิยมจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) ในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 85,320 ล้านบาท เติบโต 3.2% จากปี 2567           แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ ในปี 2568 คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 657,000 ล้านบาท เติบโต 4.6% แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวจากปี 2567           การเติบโตของธุรกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวทั้งการเดินทางท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติที่คาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องจากปี 2567 โดยการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกอปรกับไทยมีร้านอาหารที่ติดอยู่ในมิชลินไกด์ กว่า 482 ร้านอาหาร จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า การใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 ของการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหมด           นอกจากนี้การเติบโตของมูลค่าตลาดยังเป็นผลมาจากราคาที่ปรับสูงขึ้นตามภาวะแนวโน้มต้นทุนทางธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงการขยายสาขาของผู้ประกอบการและกลยุทธ์การตลาดกระตุ้นให้รายได้ต่อครั้งการสั่งอาหารเพิ่มขึ้น การแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม           ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศมีการแข่งขันรุนแรงในทุกระดับราคาและประเภทของอาหาร ประเทศไทยมีความหนาแน่นของร้านอาหารต่อประชากรอยู่ที่ 9.6 ร้านต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราส่วนที่สูง โดยในปี 2568 คาดว่าร้านอาหารและเครื่องดื่มจะมีจำนวนประมาณ 6.9 แสนร้าน ในปี 2568 ผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบรายเล็ก (บุคคล) ยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการในตลาดมีแผนที่จะขยายสาขาในกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มเดิม รวมถึงการเปิดแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มใหม่ครอบคลุมทุกเช็กเม้นท์ของตลาด และส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มร้านอาหารเอเชีย           นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มยังมาจากแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเปิดใหม่เป็นปัจจัยสนับสนุนจำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทิศทางลงทุนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวสูง อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพ โดยจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศ           นอกจากนี้ การแข่งขันในธุรกิจยังมาจากการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้นสะท้อนได้จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มูลค่าทุนจดทะเบียนร้านอาหารและเครื่องดื่มจำแนกตามสัญชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มจากจีนมีมูลค่าการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น และแนวโน้มการเข้ามาลงทุนน่าจะเพิ่มสูงขึ้น           ทั้งนี้การแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงก็ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปิด-ปิดกิจการของผู้ประกอบการใหม่และเก่าเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน สะท้อนจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ร้านอาหารปิดตัวเร่งขึ้นโดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ร้านอาหารมีการจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจสูงถึง 89% (YoY) ขณะที่การเปิดตัวใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แนวโน้มธุรกิจร้านอาหาร           ในปี 2568 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านอาหาร (รวมร้านอาหารประเภทร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด และร้านอาหารข้างทางหรือ Street Food ที่มีหน้าร้าน) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 572,000 ล้านบาท เติบโต 4.8% จากปี 2567           การเติบโตของร้านอาหารแต่ละรูปแบบมีปัจจัยเฉพาะที่ต่างกัน อาทิ ทำเลที่ตั้งของร้าน ความหนาแน่นของร้านอาหารทั้งที่เป็นประเภทเดียวกันและต่างกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงราคา คุณภาพ/รสชาติของอาหาร และการให้บริการ รวมไปถึงเทรนด์การบริโภคของผู้บริโภค การนำเสนอเมนูใหม่ๆ และมีเอกลักษณ์ก็มีผลต่อการเติบโตของร้านอาหาร - ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 2.9%จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 213,000 ล้านบาท โดยร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่มองเรื่องความคุ้มค่าและไลฟ์ สไตล์ที่เปลี่ยนไป สำหรับกลุ่มร้านอาหารประเภทอะลาคาร์ท (A La Carte)อย่างกลุ่ม Casual Dining อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ไทย และตะวันตก ในกลุ่มราคาระดับกลางจะเจอกับความท้าทายจากกำลังซื้อและการแข่งขันจากร้านที่เปิดให้บริการจ านวนมาก - ร้านอาหารที่ให้บริการ จำกัด (Limited Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 3.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 93,000 ล้านบาท การขยายตัวจะมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการอย่างกลุ่มพิซซ่า และไก่ทอด และจากผู้ประกอบการที่ให้บริการในรูปแบบ Full Service ได้ปรับรูปแบบร้านอาหารมาเป็นแบบ Quick service มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นและเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ - ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ที่มีหน้าร้าน คาดว่าจะเติบโต 6.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 266,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่สูง ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้ยังขยายตัวดีกอปรกับร้านอาหารแนว Street Food ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติ แนวโน้มธุรกิจร้านเครื่องดื่ม           ในปี 2568 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 85,320 ล้านบาท เติบโต 3.2% จากปี 2567 การเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก (บุคคล) ยังมีการเปิดร้านใหม่ รวมถึงการขยายแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มของชาวต่างชาติที่น่าจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น นอกจากนี้เครื่องดื่มและเบเกอรี่ใหม่ๆจากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาด มีส่วนกระตุ้นความต้องการบริโภคเครื่องดื่มและเบเกอรี่มากขึ้น ความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม • กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อภาวะการมีงานทำและกำลังซื้อของผู้บริโภค • ต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2568 ต้นทุนรอบด้านของธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่า รวมถึงต้นทุนสำคัญ ได้แก่ - ต้นทุนค่าแรง โดยผู้ประกอบการยังต้องติดตามนโยบายของภาครัฐในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2568ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก - ต้นทุนวัตถุดิบอาหารซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจร้านอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของต้นทุนธุรกิจ ด้วยสภาวะอากาศที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในหลายประเทศทำให้ราคาวัตถุดิบอาจปรับขึ้นได้โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบนำเข้าอย่างนมผง เนย ชีส โกโก้ และแป้งสาลี โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าในปี 2568 ยังทรงตัวสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนในกลุ่มร้านเบเกอรี่และอาหารตะวันตกค่อนข้างมาก • พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจบริการโดย “ความแปลกใหม่+ประสบการณ์+สุขภาพ+ราคาสมเหตุสมผล” ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำและเปลี่ยนแปลงตามกระแสอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว           ขณะที่ นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ได้เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า ธุรกิจร้านอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่น่าสนใจ ได้แก่ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU จากแผนการขยายสาขา ขายแฟรนไชส์ การวางขายสินค้าใน Modern Trade ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ได้รับกระแสนิยมทุกปี อีกทั้ง 9 เดือนแรกปี 2567 AU สามารถทำยอดขายได้ถึง 210.22 ล้านบาท           ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) คาด AU ในไตรมาส 4/2567 บริษัทจะยังคงเติบโต YoY, QoQ จากการขยายรายได้ในทุกช่องทาง ได้แก่ รักษา SSSG ที่เป็นบวก (เทียบกับ 4.5% ใน ไตรมาส 3/2567) และขยายสาขาเพิ่ม 1-2 แห่ง เป็น 63 สาขาในปี 2567           โดยมีเป้าหมายเพิ่มอีก 10 สาขาในปี 2568 รายได้จากการขายสินค้า AU ขยายการขายใน 7-Eleven เพื่อให้ครอบคลุม 14,000 สาขาภายในต้นปี 2568 (จากปัจจุบันที่ 8,000 สาขา) รวมถึงการจับมือกับการบินไทยในการจำหน่ายขนมปังของ After You ในเที่ยวบินตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2024 ถึง 31 พฤษภาคม 2025 และวางแผนขยายฐานลูกค้า OEM เพื่อเพิ่มสัดส่วนช่องทางนี้จากปัจจุบัน 13% ในไตรมาส 3/2567 ฝ่ายวิเคราะห์ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2567-2569 ขึ้น 9-14% การปรับเพิ่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขาย 4-7% ซึ่งขับเคลื่อนโดยยอดขายสำหรับร้านขนมหวานที่เติบโตกว่าคาด และการขยายช่องทางการขายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ เช่น 7-Eleven และสายการบินไทย           อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น (65.5% ในปี 2567, 64.7% ในปี 2568-2569) เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นและผลประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด ดังนั้นคาดว่าอัตรากำไรสุทธิจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 18.4% ในปี 2567-2569 เพิ่มขึ้นจาก 14.6% ในปี 2566           คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายใหม่ 12.50 บาท (DCF) ด้วยราคาเป้าหมายที่ปรับขึ้นเป็น 12.50 บาท (จากเดิม 11.50 บาท) อิงจาก DCF โดยสมมติฐาน Rf 2.5%, RPM 8% และ Beta 0.9 ซึ่งเทียบเท่ากับ 29 เท่า PER ปี 2024F และ PEG ที่ 1.5 เท่า โดยพิจารณาจากการเติบโตกำไร 19% YoY ที่มา https://www.settrade.com/th/research/businessanalysis

ก.ล.ต. สั่งให้ CPAXT ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการร่วมลงทุนในโครงการ The Happitat 

ก.ล.ต. สั่งให้ CPAXT ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการร่วมลงทุนในโครงการ The Happitat 

           หุ้นวิชั่น - วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567 | ฉบับที่ 273 / 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (CPAXT) ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการร่วมลงทุนในโครงการ The Happitat ผ่านการร่วมลงทุนใน บริษัทย่อยบริษัท แอ็กซ์ตร้า โกรท พลัส จำกัด (AGP) พร้อมให้เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบ SETLink ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2567            ตามที่ CPAXT เปิดเผยข้อมูลการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ The Happitat ผ่านการร่วมลงทุนในบริษัทย่อย AGP ในสัดส่วนร้อยละ 95 คิดเป็นมูลค่า 7,970 ล้านบาท ซึ่ง AGP จะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท แฮปปี้แทท แอท เดอะ ฟอเรสเทียส์ จำกัด (HATF) ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed-Use Development) ภายใต้โครงการชื่อ The Happitat แล้วนั้น            อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อมูลที่ CPAXT เปิดเผยอาจยังไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะอาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนหรือต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์            ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 58(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ให้ CPAXT ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อาทิ ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบในการพิจารณาอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ The Happitat มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ ความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการ ระยะเวลาที่คาดว่าจะมีรายได้จากโครงการ เงินลงทุนทั้งหมดที่คาดว่าจะใช้ในโครงการ และรายการดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลือบริษัทในกลุ่มหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น พร้อมทั้งเปิดเผยคำชี้แจงดังกล่าวผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ระบบ SETLink) ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2567            นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน รวมถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งปฏิบัติตามธรรมาภิบาลที่ดี พร้อมทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ”

[ภาพข่าว] PRTR จับมือ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เสริมแกร่งการจ้างงาน

[ภาพข่าว] PRTR จับมือ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เสริมแกร่งการจ้างงาน

          นางสาวริศรา  เจริญพานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PRTR ได้รับเกียรติจาก พลเอก เดชนิธิศ เหลืองงามขำ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และการช่วยเหลือทหารผ่านศึก โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูง ให้เกียรติถ่ายภาพร่วมกัน ณ ห้องเกียรติศักดิ์ อาคาร ๑ ชั้น ๑ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์           สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ PRTR ได้นำความเชี่ยวชาญด้านการจัดจ้าง สรรหาและพัฒนาบุคลากร มาสนับสนุนองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างโอกาสด้านอาชีพให้กับทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ ผ่านการจัดหาตำแหน่งงานที่เหมาะสม การฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ และการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ อผศ. และหน่วยงานกิจการพิเศษ           โครงการนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ PRTR ในการสนับสนุนเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานที่เหมาะสมให้กับทหารผ่านศึก บุคลากรผู้เสียสละและทรงคุณค่าของประเทศ ต่อยอดความสามารถและทักษะให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและเศรษฐกิจโดยรวมร่วมขับเคลื่อนการเติบโตของสังคมไทยอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

TNP เผย Q4/67 ขยายแลนด์มาร์กแตะ 50 สาขา

TNP เผย Q4/67 ขยายแลนด์มาร์กแตะ 50 สาขา

          ธนพิริยะ (TNP) แย้มทิศทาง Q4/67 ดีต่อเนื่องรับเทรนด์การท่องเที่ยว และการขยายสาขาที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และกำไร มุ่งมั่นหาสินค้าอุปโภค บริโภคใหม่ๆที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยราคาที่แข่งขันได้ ขยายแลนด์มาร์คแตะ 50 สาขา มั่นใจเป้ารายได้ โตตามแผน 10-15%           เภสัชกรหญิงอมร พุฒิพิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในจังหวัดเชียงราย เผยทิศทางไตรมาส 4 ปี 2567 มุ่งเน้นกลยุทธ์หลัก ขยายอาณาจักรร้านค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งศูนย์กระจายสินค้าที่ได้ก่อสร้างเพิ่มเติมก็คาดจะเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ธนพิริยะ มีพื้นที่จัดเก็บสินค้าที่สามารถรองรับการเติบโตได้มากถึง 60 สาขา อีกทั้งภาพรวมการทำรายได้ก็คาดว่าจะรักษาระดับการเติบโตได้อย่างดี ล่าสุด ธนพิริยะ จุดพลุฉลอง เปิดให้บริการ สาขา ม.พะเยา จ.พะเยา สาขาที่ 50 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแหล่งย่านนักศึกษา คาดว่าจะเป็นสาขาที่มีผู้เข้ามาใช้บริการอย่างคึกคัก และเป็นสาขาที่น่าจะสร้างรายได้ที่เติบโตอย่างน่าสนใจในอนาคต โดยปัจจุบัน ธนพิริยะ มีสาขาทั้งสิ้น 50 สาขา โดยแบ่งเป็นร้านค้าปลีก 49 สาขา และร้านค้าส่ง 1 สาขา แบ่งเป็น จ.เชียงราย 39 สาขา จ.เชียงใหม่ 4 สาขา จ.พะเยา 7 สาขา  ซึ่งพื้นที่ขายรวมกว่า 17,400 ตารางเมตร  ด้วยสินค้าอุปโภค บริโภคที่มีมากกว่า 15,000 รายการ สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของธนพิริยะ มีอยู่ 3 ช่องทางหลัก คือ หน้าร้านค้าแบบออฟไลน์ ช่องทางออนไลน์ และการเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย โดยมุ่งเน้นหาสินค้าที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ พร้อมตามเทรนด์สินค้าใหม่ๆที่เป็นโอกาส ในการสร้างกำไร ด้วยราคาที่แข่งขันได้ ที่มาพร้อมมาตรฐานในระดับสากล เภสัชกรหญิงอมร กล่าวเสริม “สำหรับโค้งสุดท้ายของปี มองทิศทางการเติบโต จากการเดินหน้าเปิดสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระจายร้านค้าเข้าสู่ชุมชน ในทำเลที่มีศักยภาพ ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ก็คาดว่าจะทำให้รายได้ของปี 2567 เป็นไปตามเป้าที่วางไว้อยู่ที่ 10-15%” [PR News]

GULF ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AAA

GULF ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AAA

          บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ในระดับสูงสุด ‘AAA’ กลุ่มทรัพยากร (Resources) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย GULF ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ GULF ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงอย่างครอบคลุม และการนำข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) มาดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน           GULF มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อสร้างความเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของโลกและการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดย GULF เดินหน้าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ภายในปี 2578 เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ           ในปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์และได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings รวม 228 บริษัท โดยมี 56 บริษัท ที่ได้รับการประเมินระดับ AAA โดย SET ESG Ratings คัดเลือกจากบริษัทจดทะเบียนที่สมัครใจเข้าร่วมการประเมิน และมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินผ่าน 50% ในมิติ E S และ G และต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เช่น เป็นบริษัทที่มีผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (CGR) โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ไม่เป็นบริษัทหรือมีกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดเรื่อง ESG จากหน่วยงานทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นบริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย CB, CC, CF, CS เป็นต้น โดยปัจจุบันมีกองทุนบางประเภทที่ใช้ SET ESG Ratings เป็นหนึ่งในนโยบายการลงทุน เช่น กองทุน Thailand ESG Funds (TESG) มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุน (AUM) กว่า 14,545 ล้านบาท และกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง หน่วยลงทุนประเภท ก. มี AUM 150,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนด้าน ESG เพิ่มขึ้น สอดรับกับทิศทางความตื่นตัวของ บจ. ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน           ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ESG ของ GULF ได้ในรายงานความยั่งยืนของบริษัทที่ https://investor.gulf.co.th/th/document/sustainability-reports

BEM ได้รับประเมิน “หุ้นยั่งยืน” ปี 67 ที่ระดับ “AAA”

BEM ได้รับประเมิน “หุ้นยั่งยืน” ปี 67 ที่ระดับ “AAA”

          บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จากัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้ำ MRT ได้รับการประเมิน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ประจาปี 2567 ที่ระดับสูงสุด “AAA” ติดอันดับรายชื่อหุ้นยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ในกลุ่มบริการ (Services) ตอกย้ำควำมมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) ให้ความสำคัญแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม อย่างรอบด้าน พร้อมส่งมอบการบริการคมนาคมขนส่งที่ปลอดภัย สะดวก และรวดเร็ว

[ภาพข่าว] GCAP คว้าเรตติ้ง “A” หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567

[ภาพข่าว] GCAP คว้าเรตติ้ง “A” หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567

          บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการประกาศผลการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ “A” ในกลุ่มธุรกิจการเงิน จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย GCAP เป็น 1 ใน 228 บริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปีนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยบริษัทยึดมั่นต่อการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ตลอดจนคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ภายใต้แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value) ระหว่างธุรกิจและสังคมให้เติบโตควบคู่กันได้อย่างยั่งยืน และคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม           รางวัลดังกล่าวเป็นความภาคภูมิใจขององค์กรที่บริษัทได้รับการประกาศผล SET ESG Ratings ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มั่นคง และยั่งยืน ทั้งนี้บริษัทจะไม่หยุดยั้งในการพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสีย และเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนต่อไป

เมืองไทยประกันชีวิต คว้ารางวัล “Superbrands Thailand 2024”

เมืองไทยประกันชีวิต คว้ารางวัล “Superbrands Thailand 2024”

          เมืองไทยประกันชีวิต ประกาศความภาคภูมิใจอีกครั้งด้วยการคว้ารางวัลอันทรงเกียรติ "Superbrands Thailand" ประจำปี 2024 สูงสุด 19 ปีต่อเนื่อง นับเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์แบรนด์ที่แข็งแกร่งและได้รับการยอมรับในระดับสากล รางวัลดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จในด้านความน่าเชื่อถือ ความโดดเด่น และความเป็นที่หนึ่งในใจผู้บริโภคที่บริษัทให้ความสำคัญเสมอมา           นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  “นับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งของบริษัทฯ ที่ได้รับรางวัล Superbrands Thailand ปี 2024  โดยเป็นองค์กรเพียงแห่งเดียวที่ได้รับรางวัลดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่  19  ซึ่งการได้รับรางวัล Superbrands Thailand ไม่เพียงช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ในสายตาผู้บริโภค แต่ยังส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ อีกทั้งยังสร้างโอกาสใหม่ในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส           ทั้งนี้ รางวัล Superbrands Thailand นี้ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในสายงานด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ การประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชน และตัวแทนคณะกรรมการอิสระ ผ่านกระบวนการพิจารณาที่ครอบคลุมผลการสำรวจการตลาดจากทั่วประเทศ โดยมีนางสาวนิรัตน์ บูชาสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนบริษัทฯ เข้ารับรางวัลจากนางสาวแชมเปญ เทียนแขวะ ผู้อำนวยการซูเปอร์แบรนด์ประเทศไทย   โดยงานจัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ทรู ดิจิทัล พาร์ค           สำหรับรางวัล Superbrands เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บริษัทที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากการประเมิน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่  คุณภาพของแบรนด์ (Brand Quality) ที่เมืองไทยประกันชีวิตได้รับการยอมรับในด้านการให้บริการที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต และการดูแลลูกค้าด้วยความใส่ใจอย่างมืออาชีพ ความน่าเชื่อถือ (Brand Trust) ด้วยประวัติการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานกว่า 72 ปี เมืองไทยประกันชีวิตได้สร้างความไว้วางใจในกลุ่มลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคคือหัวใจสำคัญของแบรนด์   และการสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Distinction)  เมืองไทยประกันชีวิตเป็นที่จดจำในฐานะแบรนด์ที่มุ่งมั่นสร้างความสุขและการดูแลสุขภาพครบวงจรผ่านแนวคิด “Happiness Means Everything” ซึ่งสะท้อนถึงพันธกิจหลักในการยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า           เมืองไทยประกันชีวิตยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของแบรนด์เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ พร้อมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม ภายใต้พันธกิจหลักในการเป็นคู่คิดด้านการวางแผนชีวิตและสุขภาพที่ลูกค้าวางใจ ที่พร้อมดูแลและสนับสนุนลูกค้าในทุกช่วงชีวิต           “การได้รับรางวัลนี้ไม่เพียงเป็นเกียรติประวัติแก่บริษัทฯ แต่ยังยืนยันถึงความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ที่บริษัทฯ ยึดมั่นมาโดยตลอด พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค พันธมิตรทางธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ด้วยความสำเร็จครั้งนี้ เมืองไทยประกันชีวิตขอขอบคุณลูกค้าและพันธมิตรทุกท่านที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางครั้งสำคัญ และสัญญาว่าจะเดินหน้าสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเพื่อลูกค้าต่อไป” นายสาระ กล่าว [PR News]

BGRIM คว้าสัญญาผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน 51.12 MW

BGRIM คว้าสัญญาผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน 51.12 MW

          หุ้นวิชั่น - บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (“บี.กริม เพาเวอร์”) ขอเรียนให้ทราบว่าบริษัทย่อยได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับรัฐบาล ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คิดเป็นกำลังการผลิตรวมตามสัญญาที่ 51.12 เมกะวัตต์ โดยมีรายละเอียดดังตารางด้านล่าง           นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ขอเรียนให้ทราบว่า บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟท็อป จำกัด (บริษัทย่อยที่บี.กริม เพาเวอร์ถือหุ้นทั้งหมด) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ลงนามในสัญญาจ้างงานตามโครงการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตติดตั้ง 10.26 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยมีรายละเอียดดังตารางด้านล่าง           ด้วยประสบการณ์ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน บี.กริม เพาเวอร์ ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงานและการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ “GreenLeap – Global and Green” ของบี.กริม เพาเวอร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593

[ภาพข่าว] DMT ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating 2024 ในระดับ AA ประจำปี 2567

[ภาพข่าว] DMT ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating 2024 ในระดับ AA ประจำปี 2567

          หุ้นวิชั่น - บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ “AA” ประจำปี 2567 ในกลุ่มธุรกิจบริการ จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์และได้รับการประเมินรวมทั้งสิ้น 228 บริษัท โดยแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้: AAA จำนวน 56 บริษัท, AA จำนวน 80 บริษัท, A จำนวน 71 บริษัท และ BBB จำนวน 21 บริษัท การได้รับการประเมินในระดับ “AA” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ DMT ในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ภายใต้กรอบการพัฒนาที่คำนึงถึงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance หรือ ESG) อย่างต่อเนื่อง DMT มุ่งเน้นการเป็นองค์กรที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้วยความยืดหยุ่น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างมีวินัย การดำเนินธุรกิจในทุกมิติตามหลัก ESG พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นองค์กร Net Zero ในอนาคต

TPOLY เฮ! ส่งท้ายปี 67 คว้างานใหม่ของ บ.เซ็นทรัลฯ มูลค่า 368 ลบ.

TPOLY เฮ! ส่งท้ายปี 67 คว้างานใหม่ของ บ.เซ็นทรัลฯ มูลค่า 368 ลบ.

          บมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) เฮสนั่น! ส่งท้ายปี 67 คว้างานใหม่โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม อุบลราชธานี 2 ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาฯ มูลค่า 368 ล้านบาท สนับสนุนผลงานเติบโตตามเป้าหมาย           นายปฐมพล สาวทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) (TPOLY) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับงานโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม อุบลราชธานี 2 ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา เรซซิเด้นซ์ จำกัด มูลค่าโครงการ 368,000,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาก่อสร้าง วันที่ 1 เมษายน 2568 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2569           “การที่บริษัทฯ ได้รับงานก่อสร้างใหม่ในครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อบริษัทฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง TPOLY มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาใช้กับงานก่อสร้าง เพื่อเพิ่มศักยภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมทั้งสามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนด และช่วยผลักดันผลงานให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ได้” นายปฐมพล กล่าวในที่สุด [PR news]

ศาลแพ่งไฟเขียว! คดีแบบกลุ่มหุ้น STARK  ผู้เสียหายลุ้นความยุติธรรม

ศาลแพ่งไฟเขียว! คดีแบบกลุ่มหุ้น STARK ผู้เสียหายลุ้นความยุติธรรม

          หุ้นวิชั่น - ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ดำเนินคดีแบบกลุ่ม สืบเนื่องจากคำประกาศฉบับที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 กลุ่มตัวแทนโจทก์ผู้เสียหาย มีคำร้องขอให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ช่วยกระจายข่าวสารไปยังกลุ่มผู้เสียหายเมื่อมีความคืบหน้าของคดี การยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 ซึ่งศาลได้กำหนดนัดฟังคำสั่งเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มในวันนี้ (วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น.)                     วันนี้-18 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 611 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลได้โปรดมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 โดยอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าในคดีดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ และศาลได้กำหนดขอบเขตของสมาชิกกลุ่ม ดังนี้ “กลุ่มบุคคลที่ซื้อหรือขายหุ้นของบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2566”           ทั้งนี้ จำเลยในคดียังคงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลดังกล่าวได้           ผลของคำสั่งศาลที่อนุญาตให้คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญของ STARK ดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action นับเป็นคดีแบบกลุ่มเกี่ยวกับหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญคดีแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับแต่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของกระบวนการยุติธรรมในการเริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนมากให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้           โดยผลของการที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มจะส่งผลให้ผลของคดีที่ดำเนินการโดยโจทก์ทั้งห้าในคดี และคำพิพากษาของคดีดังกล่าว (เมื่อศาลมีคำพิพากษาในลำดับต่อไป) มีผลผูกพันสมาชิกในกลุ่มที่มีลักษณะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกันด้วยโดยอัติโนมัติ           สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตามกระบวนการยุติธรรม ให้บังเกิดผล และช่วยกระจายข่าวสารไปยังกลุ่มผู้เสียหายตามคำร้องขอของโจทก์ตัวแทนผู้เสียหายเมื่อมีความคืบหน้าของคดี เป็น “คำประกาศ” ไปแล้ว เป็นจำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1/2567 ลว. 19 กันยายน 2567 และ ฉบับที่ 2/2567 ลว. 12 พฤศจิกายน 2567           นอกจากนี้ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ยังมีการแจ้งข้อมูล ผ่านช่องทางการสื่อสาร คือ 1) ระบบออนไลน์ ตามอีเมล์ของผู้เสียหายแต่ละบุคคลที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคมฯ  2) ระบบออนไลน์ ในหน้าเว็ปไซด์ ของสมาคมฯ คือ www.thaiinvestors.com (ชื่อเมนู Class  Action) ตลอดจนได้รับความอนุเคราะห์ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน และสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับทราบข้อมูล ตระหนักแห่งสิทธิของตนอย่างทั่วถึง           หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมอย่างไร สมาคมฯ จะแจ้งให้ทุกท่านทราบต่อไป

GUNKUL โบรกคาด Q4 กำไรโต รับอานิสงส์ภาครัฐ

GUNKUL โบรกคาด Q4 กำไรโต รับอานิสงส์ภาครัฐ

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บล.กรุงศรี ระบุ GUNKUL มี Catalyst 2 ส่วนจากภาครัฐ มอง Positive ต่อข่าว 2 ประเด็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งออกมาเมื่อวานนี้ โดย i) GUNKUL เป็นผู้ได้รับคัดเลือกพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 ในปริมาณมากที่สุดรวม 319 MW ซึ่งจะทยอย COD ในปี 2027-2030F เราประเมินโครงการดังกล่าวเป็น Upside ต่อประมาณการปี 27-30F ราว 16% ซึ่งเรายังไม่รวมเข้ามา ii) มีปัจจัยบวกจากข่าวยกเว้นการขอใบอนุญาตติดตั้ง Solar rooftop ในทุกขนาด ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของธุรกิจ Solar rooftop (จากปัจจุบันมีสัดส่วน 8% ของรายได้รวม)           ด้าน Outlook คาดกำไรปกติ 4Q24F เติบโต y-y แต่ลดลง q-q หลังปริมาณแรงลมลดลงตาม Seasonality           คงคำแนะนำ Buy และราคาเป้าหมาย (TP25F) ที่ 3.85 บาท อิง SOTP ประเด็น วานนี้มี 2 ประเด็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน i) กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 รวม 2,145 MW แบ่งเป็นพลังงานลม 565 MW และพลังงานโซลาร์ 1,580 MW โดยจะมีการทยอยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายใน 14-60 วันหลังประกาศผลคัดเลือก ii) กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศยกเว้นให้การติดตั้ง Solar rooftop ทุกระดับกำลังการผลิต ไม่เข้าข่ายต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (เดิมกำลังการผลิตเกิน 1 MW ต้องขอใบอนุญาต) นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาขยายกรอบการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) และโซลาร์โฟลทติ้ง (Solar Floating) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต ความเห็นและคำแนะนำ มีมุมมอง Positive ต่อทั้ง 2 ข่าว i) โดย GUNKUL เป็นผู้ได้รับคัดเลือกพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 ในปริมาณมากที่สุดรวม 319 MW จากทั้งหมด 2,145 MW โดยแบ่งเป็นพลังงานลม 284 MW และพลังงานโซลาร์ 35 MW ซึ่งจะเป็นโครงการที่ทยอย COD ในปี 2027-2030F อิงโครงการล่าสุดที่ GUNKUL ได้รับในพลังงานหมุนเวียนเฟส 1 มีกำไรราว 1.5 ลบ. ต่อ MW และหากคิดบนสมมติฐานเดียวกัน จะเป็น Upside จากประมาณการของเราราว 16% ii) มองบวกต่อการยกเว้นการขอใบอนุญาตทุกกำลังการผลิต เนื่องจากเป็นปัจจัยหนุนช่วยอำนวยความสะดวกการติดตั้ง Solar rooftop เร่งขึ้น จาก ณ ปัจจุบัน GUNKUL มีสัดส่วนรายได้จาก Solar rooftop ราว 8% คาดกำไรปกติ 4Q24F เติบโต y-y จากงาน EPC และ Trading ที่เป็นตัวหนุนตลอดปี 24F ซึ่งมีโอกาสได้รับงานเพิ่ม เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจาก PPA พลังงานหมุนเวียนรอบ 5,203 MW ซึ่งเตรียม COD ในปี 25-26F เริ่มก่อสร้าง ส่วนกำไรลดลง q-q หลังปริมาณแรงลมลดลงตาม Seasonality ด้าน Outlook ในระยะกลาง-ยาว มีโรงไฟฟ้าใหม่ทยอย COD ตั้งแต่ปี 2026F (โซลาร์ 652 MW, ลม 180 MW) ซึ่งสามารถชดเชย Adder โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 30 MW (ถือเป็น JV ร่วมกับ GULF) ที่จะหมดในปี 2026F ได้ เบื้องต้นยังคงคำแนะนำ Buy และราคาเป้าหมายเดิม (TP25F) ที่ 3.85 บาท อิง SOTP โดยยังไม่รวม Upside จากการคัดเลือกดังกล่าวจนกว่าจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติม

[Gossip] PIS หุ้นเทคฯ อนาคตไกล! เปิดฉากโรดโชว์ กรุงเทพฯ 24 ธ.ค.นี้

[Gossip] PIS หุ้นเทคฯ อนาคตไกล! เปิดฉากโรดโชว์ กรุงเทพฯ 24 ธ.ค.นี้

          เริ่มนับถอยหลัง เตรียมพบกับผู้บริหารหญิงคนเก่ง “เบญญาภา เฉลิมวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ควงคู่ “นวัช ทัฬหิกรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท โปร อินไซด์ จำกัด (มหาชน) (PIS) มีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 140 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25.93 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้ว  เตรียมเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เร็วๆนี้ พร้อมนำเสนอข้อมูลการขายหุ้น IPO ในวันที่ 24 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30-12.00 น. ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ... งานนี้ ใครสนใจหุ้นไอพีโอสายเทคฯ พื้นฐานแน่น อนาคตไกล ห้ามพลาดเลยคร้าาา

EURO ขึ้นแท่นตัวแทนขาย Bang & Olufsen แบรนด์ดังเดนมาร์ก

EURO ขึ้นแท่นตัวแทนขาย Bang & Olufsen แบรนด์ดังเดนมาร์ก

          บมจ.ยูโร ครีเอชั่นส์ (EURO) รุกตลาดไลฟ์สไตล์! ประกาศเป็นตัวแทนจำหน่าย Bang & Olufsen (B&O) แบรนด์เครื่องเสียงระดับไฮเอนด์สัญชาติเดนมาร์กในรูปแบบ Mono-brand stores แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เตรียมจัด 2 โชว์รูมเป็น Mono-brand คาดเปิดให้บริการในไตรมาส 2/2568 ด้านหัวเรือใหญ่ "เควิน กัมบีร์" เชื่อมั่นศักยภาพแบรนด์ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเดิม และสนับสนุนแผนการขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ เพิ่มการรับรู้ในแบรนด์ Euro Creations และสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง           นายเควิน กัมบีร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (EURO) ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ “Luxurious & High Quality Living” เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจาก Bang & Olufsen (B&O) แบรนด์เครื่องเสียงระดับไฮเอนด์สัญชาติเดนมาร์ก ให้เป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวในการดำเนินการและจัดจำหน่ายในฐานะ Mono-brand stores ในประเทศไทย โดยมีกำหนดเปิดตัวสาขาแรกที่ Euro Creations ทองหล่อ ชั้น 2 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Beo Home” และเตรียมเปิดอีกหนึ่งสาขาที่ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ชั้น 4 ในช่วงประมาณไตรมาส 2/2568           “Bang & Olufsen (B&O) ให้ความสำคัญในเรื่องของ Design อันโดดเด่น (Iconic Design) คุณภาพเสียงที่มีระดับ (Superior Sound Quality) เทคโนโลยีอันล้ำสมัย (Innovative Technology) และ ศิลปะแห่งการสร้างสรรค์ (Craftsmanship) จึงทำให้ product ของ B&O มีความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนที่หลงไหลในเสียงเพลง คนที่ชื่นชอบดีไซน์ หรือชิ้นงานที่เป็น Iconic piece ทำให้กลุ่มลูกค้าของแบรนด์มีความหลากหลาย ดังนั้นเราเชื่อมั่นว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า B&O จะเป็นแบรนด์ที่ลูกค้านึกถึงเป็นแบรนด์แรกถ้าเขาต้องการสินค้าและบริการในกลุ่มเครื่องเสียงและลำโพง”           ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EURO กล่าวต่อว่า “เรามีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับ B&O ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ที่มีดีไซน์โดดเด่น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ EURO ที่ระบุว่า ชีวิตดีขึ้นได้ในพื้นที่ที่งดงาม เราเชื่อมั่นว่าแบรนด์นี้จะช่วยตอบโจทย์ลูกค้าปัจจุบันของเราด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น และจะเป็นหนึ่งในแบรนด์สำคัญของบริษัทฯ เราที่ช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เนื่องจาก B&O สามารถดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักฟังเพลงที่หลงใหลในคุณภาพเสียงระดับสูง ผู้ที่ชื่นชอบการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจเทคโนโลยีขั้นสูง จึงทำให้แบรนด์นี้เป็นส่วนเสริมที่ตอบโจทย์และสามารถดึงดูดลูกค้าได้ในวงกว้างยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสะท้อนถึงภาพลักษณ์ ความประทับใจ ความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์ และเพิ่มโอกาสในการเติบโตในระยะยาว”           อนึ่ง Bang & Olufsen (B&O) เป็นแบรนด์เครื่องเสียงระดับไฮเอนด์สัญชาติเดนมาร์ก ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1925 มีชื่อเสียงโดดเด่นในด้านผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงคุณภาพสูง และ B&O ขึ้นชื่อในเรื่องการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ คุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยม และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดยมีประวัติอันยาวนานในการผสมผสานความสวยงามเข้ากับฟังก์ชันการใช้งาน แบรนด์นี้ยังร่วมมือกับนักออกแบบชั้นนำระดับโลก สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อันเป็น Iconic ซึ่งช่วยยกระดับชื่อเสียงให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับพรีเมียม           ในประเทศไทย B&O เป็นตัวแทนของความหรูหรา ดึงดูดลูกค้าที่พิถีพิถันและให้ความสำคัญทั้งด้านประสิทธิภาพและสไตล์ อีกทั้งตั้งอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา B&O ได้สร้างชื่อเสียงในการนำเสนอคุณภาพอันยอดเยี่ยมและการออกแบบที่โดดเด่น ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคไทยที่ชื่นชอบความหรูหราและความประณีต ผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงระดับลักซ์ชัวรี่ของแบรนด์ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าชาวไทยที่มีกำลังซื้อสูง ผลักดันให้แบรนด์เติบโตอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมอย่างยั่งยืน

[ภาพข่าว] WHAUP ลงนามกับ MAX Thailand ซื้อขายไฟฟ้า Solar Rooftop 998kW

[ภาพข่าว] WHAUP ลงนามกับ MAX Thailand ซื้อขายไฟฟ้า Solar Rooftop 998kW

          หุ้นวิชั่น - เมื่อเร็วๆ นี้ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (กลางซ้าย) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ระหว่าง บริษัท ดับบลิวเอชเอ โซล่าร์ จำกัด โดย นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ริมซ้าย) บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายคูนิมิตซึ ทาคาฮาชิ  กรรมการผู้จัดการ (กลางขวา) และ นายอิสระ เงียวชัยภูมิ กรรมการ (ริมขวา) บริษัท เอ็มเอเอ็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามสัญญาฯ เพื่อดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาดการผลิตไฟฟ้า 998 กิโลวัตต์  ณ WHA Tower

OR คว้า SET ESG Ratings ระดับสูงสุด “AAA” 2ปี ต่อเนื่อง

OR คว้า SET ESG Ratings ระดับสูงสุด “AAA” 2ปี ต่อเนื่อง

          หุ้นวิชั่น - OR ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ที่ระดับสูงสุด “AAA” ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินงานธุรกิจตามวิสัยทัศน์ “Empowering All toward Inclusive Growth: OR เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน”           ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ (OR) เปิดเผยว่า OR ได้รับการประเมินผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ที่ระดับสูงสุด “AAA” ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เนื่องด้วย OR ให้ความสำคัญของภาคธุรกิจในการเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี พร้อมความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตที่ยั่งยืน ความสำเร็จในปีนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจ และตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของ OR เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมาย OR 2030 ที่ครอบคลุมทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ผ่านการบูรณาการโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้าสู่การดำเนินธุรกิจของ OR ไม่ว่าจะเป็น โครงการ “ไทยเด็ด”  ซึ่งสนับสนุนช่องทางการขายสินค้าชุมชนทั่วประเทศผ่านสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) โครงการ “Café Amazon for Chance” ที่มุ่งสร้างโอกาสให้สังคม ผ่านการพัฒนาอาชีพให้แก่ผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น นอกจากนี้ OR ยังขยายความแข็งแกร่งให้ธุรกิจต้นน้ำผ่านการริเริ่มโครงการอุทยาน         คาเฟ่อเมซอน (Café Amazon Park) ที่ จ. ลำปาง ตลอดจนพัฒนา “โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมการปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยความตั้งใจและมีเป้าหมายสำคัญเพื่อขยายผลองค์ความรู้การทำงานพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟร่วมกับภาคีเครือข่ายในอีกหลายพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะความรู้ได้มีองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน และนำเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพจากเกษตรกรไทยมาจำหน่ายในร้าน Café Amazon ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับสังคมชุมชน รวมถึงการเปิดจุดรับซื้อและโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรชุมชนในพื้นที่แล้วกว่า 370 ตัน ซึ่งนอกจากจะเป็นโรงงานแปรรูปเมล็ดกาแฟต้นแบบแล้ว ยังสร้างการเติบโตร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืนตามแนวทาง OR SDG           การได้รับการจัดอันดับ AAA จาก SET ESG Ratings สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ OR ในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจะยังคงเดินหน้าสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ม.ล. ปีกทอง กล่าวทิ้งท้าย [PR News]

ตลท. เพิกถอนหุ้น NOK - PRO – STHAI เปิดซื้อขายชั่วคราว เช็กด่วน!

ตลท. เพิกถอนหุ้น NOK - PRO – STHAI เปิดซื้อขายชั่วคราว เช็กด่วน!

          หุ้นวิชั่น - ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิกถอนหลักทรัพย์ของ NOK , PRO และ STHAI จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และจะ เปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 8 มกราคม 2568 โดยให้ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance           ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) (NOK) บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) (PRO) และบริษัท ซันไทย อุตสาหกรรมถุงมือยาง จำกัด (มหาชน) (STHAI) ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ และไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนหมดไปหรือให้มีคุณสมบัติก ลับมาซื้อขายได้ภายในระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด อันเป็นเหตุเพิกถอนตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2542 ข้อ 9(6)(ง) และข้อ 9(15)           ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของ NOK PRO และ STHAI เป็นเวลา 7 วันทำการ ก่อนวันที่มีผลเป็นการเพิกถอนหลักทรัพย์ คือ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 8 มกราคม 2568 ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้ 1. ให้หลักทรัพย์ NOK PRO และ STHAI ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance กล่าวคือ ผู้ซื้อต้องชำระเงินทั้งจำนวนก่อนการซื้อหลักทรัพย์ 2. ขึ้นเครื่องหมาย NC กำกับตลอดระยะเวลาที่เปิดให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ 3. ไม่กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) ของหลักทรัพย์ NOK PRO และ STHAI ในวันแรกที่มีการซื้อขาย (วันที่ 27 ธันวาคม 2567)1/ 4. ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่นำหลักทรัพย์ NOK PRO และ STHAI มารวมในการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index)           เมื่อครบระยะเวลาดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิกถอนหลักทรัพย์ NOK PRO และ STHAI จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยศึกษาข้อมูลของบริษัทโดยละเอียด เช่น ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน ความเห็นผู้สอบบัญชี ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คณะกรรมการ ข่าวย้อนหลัง เป็นต้น ตลอดจนความเสี่ยงและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง           เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงบการเงินงวดล่าสุดพร้อมความเห็นผู้สอบบัญชี และแบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ล่าสุดที่บริษัทได้เปิดเผยผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลสำคัญของบริษัทได้ ที่ https://weblink.set.or.th/dat/news/202412/0681NWS181220240841210260T.pdf

OKJ ปี68 ตั้งเป้า 157 สาขา คาดหนุนกำไรสุทธิโต 65%

OKJ ปี68 ตั้งเป้า 157 สาขา คาดหนุนกำไรสุทธิโต 65%

          หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงานว่า บทวิเคราะห์ บล.ดาโอ แนะนำ “ถือ” OKJ และราคาเป้าหมายที่ 15.00 บาท อิง 2025E PER ที่ 25x (สูงกว่า peers ที่ 21x จากอัตราการเติบโตของกำไรที่สูงกว่า) หรือเทียบเท่า 2024E-26E PEG = 0.6x โดยเราชอบ OKJ จาก 1. เป็นร้านอาหารคุณภาพระดับ premium (อาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแบบเกษตรอินทรีย์) 2. มีแผนขยายสาขาอย่างต่อเนื่องจาก 57 สาขาในปี 2024E โดยตั้งเป้าที่ 157 สาขาในปี 2028E (โอ้กะจู๋จาก 41 เป็น 67 สาขา, Oh! Juice จาก 15 เป็น 70 สาขา และ Ohkajhu Wrap & Roll จาก 1 เป็น 20 สาขา)           บทวิเคราะห์ประเมินกำไรสุทธิปี 2024E/25E ที่ 232/360 ล้านบาท เติบโต +65%/+55% ตามลำดับ หนุนโดยการขยายสาขา, GPM ขยายตัวจากระดับ 45% ในปี 2023 สู่ระดับ 46% ในปี 2026E จาก revenue contribution ในส่วนของ Oh! Juice และ Ohkajhu Wrap & Roll ที่มีบทบาทมากขึ้น โดยทั้งสองร้านมี GPM ที่ราว 55% ในขณะที่ร้าน โอ้กะจู๋ อยู่ที่ราว 45%-50% ส่วน SG&A to sale ประเมินมีสัดส่วนลดลงจากระดับ 34% ในปี 2023 เป็น 32% ในปี 2026E จาก economy of scale           ราคาหุ้น outperform SET +47% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (เข้าเทรด 4 ต.ค. 2024) สะท้อนความคาดหวังผลประกอบการเติบโตเด่นในอนาคตจากการขยายสาขาที่มีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เราประเมินราคาสะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปมาก และการเติบโตจะเริ่มเข้าสู่ช่วง deterioration rate จากฐานกำไรและจำนวนสาขาที่เริ่มทำฐานสูง ส่งผลให้ในอนาคต (หากขาดปัจจัยหนุนใหม่) การให้ valuation premium ที่มากกว่า peers ของตลาดจำเป็นต้องลดลง           เราจึงแนะนำเพียง “ถือ” Event: Initial Coverage ❑ ร้านอาหาร & เครื่องดื่ม และผู้ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพระดับ premium ที่แบรนด์ โอ้กะจู๋ (OKJ) มี brand positioning / brand awareness ที่แข็งแรง ได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภคถึงความสดใหม่ของวัตถุดิบที่เป็นเกษตรอินทรีย์ (organic) คุณภาพ และรสชาติของอาหาร ซึ่งมีการปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยตัวเอง ผ่านการควบคุม/บริหารจัดการ value chain ของบริษัท ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การบริหารจัดการครัวกลาง การบริหารจัดการสาขา ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพในแต่ละกระบวนการได้ ❑ ขยายสาขาต่อเนื่องในอุตสาหกรรมร้านอาหารในประเทศที่ยังเติบโตดี บริษัทมีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง โดยเน้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ นับจากสิ้นปี 2024E ถึงปี 2028E ดังนี้ ร้าน โอ้กะจู๋ จาก 41 สาขา ขยายเพิ่มเป็น 67 สาขา ร้าน Oh! Juice จาก 15 สาขา เป็น 70 สาขา Ohkajhu Wrap & Roll จาก 1 สาขา เป็น 20 สาขา ในขณะที่คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมร้านอาหารในประเทศไทยจะยังคงเติบโตเฉลี่ย 9-12% CAGR 2022-28E ❑ แนวโน้มกำไรเติบโตแข็งแกร่ง เราประเมินกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 51% CAGR 2023-26E จากระดับ 141 ล้านบาทในปี 2023 สู่ระดับ 485 ล้านบาทในปี 2026E หนุนโดยการขยายสาขาที่ต่อเนื่อง และประเมินจะได้เห็นการขยายตัวของ GPM จากระดับ 45% ในปี 2023 สู่ระดับ 46% ในปี 2026E จาก revenue contribution ในส่วนของ Oh! Juice และ Ohkajhu Wrap & Roll ที่มีบทบาทมากขึ้น โดยทั้งสองร้านมี GPM ที่ราว 55% ในขณะที่ร้าน โอ้กะจู๋ อยู่ที่ราว 45%-50% ส่วน SG&A to sale ประเมินมีสัดส่วนลดลงจากระดับ 34% ในปี 2023 เป็น 32% ในปี 2026E จาก economy of scale Valuation/Catalyst/Risk เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2025E ที่ 15.00 บาท/หุ้น อิง EPS ปี 2025E ที่ 0.59 บาท และ PER ที่ 25x เราประเมิน PER premium เหมาะสมเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมจากแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่า (Earnings growth OKJ 2025E 55% VS Industry avg. 27%) ในขณะที่หากอิง PEG จะอยู่ที่ 0.6x (PER 25x, CAGR 2024E-26E 45%) Key catalyst คือการขยายสาขาเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดตัวสินค้าใหม่

Honda - Nissan เจรจาควบรวมกิจการ โอกาสหรือความเสี่ยง?

Honda - Nissan เจรจาควบรวมกิจการ โอกาสหรือความเสี่ยง?

หุ้นวิชั่น - บล.ยูโอบี Honda Motor และ Nissan Motor เข้าสู่การเจรจาควบรวมกิจการ ผนวกรวมทรัพยากรของสองบริษัทเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้นยังตั้งเป้าที่จะนำ Mitsubishi Motors (Nissan ถือหุ้น 24%) เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้งนี้ด้วย Nissan-Honda-Mitsubishi มียอดขายรถยนต์รวมกันมากกว่า 8 ล้านคันต่อปี ตามรายงานของ Nikkei หากมีการควบรวมกิจการ จะทำให้บริษัทอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ลำดับสองรองจาก Toyota Motor ที่มียอดขาย 11.2 ล้านคันในปี 2023      ฝ่ายวิจัยมองเป็นกลางต่อกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ฝ่ายวิจัยมองว่าการควบรวมกิจการเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ที่บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับงานเพิ่มขึ้นหรือลดลง อย่างไรก็ตามในขั้นตอนสั่งซื้อชิ้นส่วนต้องใช้เวลาล่วงหน้าราว 3-4 ปี จึงไม่มีนัยสำคัญในระยะสั้น โดยหุ้นที่มองว่ามีโอกาสมากที่สุด ฝ่ายวิจัยมองเป็น STANLY ที่มีสัดส่วนลูกค้า Honda ราว 30%, SAT ที่สัดส่วนลูกค้า Mitsubishi ราว 22%

ตลท. เร่ง RML แจงงบ Q3/67 ปมเงินลงทุนล่วงหน้า-หุ้นกู้ครบชำระ 2.7 พันลบ.

ตลท. เร่ง RML แจงงบ Q3/67 ปมเงินลงทุนล่วงหน้า-หุ้นกู้ครบชำระ 2.7 พันลบ.

          ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) (RML) ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ในประเด็นดังต่อไปนี้ (1) การจ่ายเงินล่วงหน้าค่าเงินลงทุนให้กรรมการบริหาร และรายการด้อยค่าในเงินจ่ายล่วงหน้าค่าเงินลงทุนที่มีนัยสำคัญ (2) การลงทุนในตั๋วเงินแปลงสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและวันครบกำหนด (3) ภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าหุ้นเพิ่มทุนและจ่ายค่าหุ้นแทนผู้ลงทุนจากการลงนามสัญญาเพื่อร่วมลงทุน           จึงขอให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 สำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบภายในวันที่ 2 มกราคม 2568 โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ RML และติดตามคำชี้แจงของบริษัท สรุปข้อมูลสำคัญในงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ขอให้ RML ชี้แจงข้อมูลดังนี้ เงินจ่ายล่วงหน้าค่าเงินลงทุนสุทธิ ที่มาและความจำเป็นที่ต้องฝากเงินมัดจำให้กรรมการบริหารตามข้อ 1 รายละเอียดของกรรมการบริหาร สัญญาร่วมทุนและบริษ้ทย่อยที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การร่วมลงทุนก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือไม่ สาเหตุที่ FV ลดลง มาตรการติดตามการคืนเงินมัดจำ รายละเอียดการลงทุนและความคืบหน้าของรายการที่ 2 เหตุผลและความเหมาะสมที่ชำระค่าเงินก่อนจัดตั้งบริษัทย่อย มาตรการดูแลเงินดังกล่าว เงื่อนไขการชำระของคู่สัญญา สาเหตุและความเพียงพอของการตั้งด้อยค่า มาตรการติดตามและกรอบเวลาการรับคืนเงินหากยกเลิกสัญญา ผลกระทบต่อของบริษัท รายละเอียดของตั๋วเงินและผู้ออกตั๋วเงินตามรายการข้อ 2 สรุปเงื่อนไขการแปลงสภาพเป็นหุ้น สาเหตุที่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาและวันที่ครบกำหนดของตั๋วเงิน ผลกระทบต่อบริษัท สรุปสัญญาและกำหนดเวลาร่วมลงทุนตามรายการข้อ 3 ภาระผูกพันที่ RML ต้องจ่ายเพิ่มและสาเหตุที่ต้องจ่ายแทน ผู้ลงทุน ผลกระทบต่อสภาพคล่อง และหากยกเลิกสัญญา กลุ่มบริษัทต้องคืนเงินมัดจำอย่างไรและเมื่อใดนอกจากนี้ ขอให้ชี้แจงแหล่งเงินทุนและแผนชำระคืนเงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระใน 1 ปีด้วย ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบต่อการทำรายการในตารางข้างต้น การติดตามความคืบหน้าของการทำรายการ นโยบาย และการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนของบริษัท

NER ออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/67 อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3.41% ขายผู้ลงทุนสถาบัน-รายใหญ่ 18 - 19 ธ.ค.นี้

NER ออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/67 อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3.41% ขายผู้ลงทุนสถาบัน-รายใหญ่ 18 - 19 ธ.ค.นี้

          หุ้นวิชั่น - บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ หรือ NER ยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. ออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567  อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.41 % เสนอขายวันที่ 18 – 19 ธันวาคม 2567  เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยนำเงินไปใช้เพื่อชำระคืนหนี้อื่น           บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 ของบริษัท โดยมีรายละเอียดดังนี้ หุ้นกู้ หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ มีผู้ค้ำประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ วันที่เสนอขาย วันที่ 18 – 19 ธันวาคม 2567 หุ้นกู้ หุ้นกู้ของบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2567 เสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีผู้ค้ำประกัน อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2572 อัตราดอกเบี้ย 3.41% ต่อปี           ทั้งนี้ บริษัทจะชำระดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ ซึ่งจะเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่สำหรับวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายนำเงินที่ได้จากการเสนอขายใช้ชำระคืนหนี้อื่น           โดยมีบริษัท โดยมี ธนาคารยูโอบี และ บล.เอเซีย พลัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ และ บล.เอเซีย พลัส เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ขณะที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือโดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 องค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ BBB- หุ้นกู้จัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ AAA

KSS คาด SET

KSS คาด SET "แกว่งผันผวน" ต้าน 1415 จุด ชู AWC, CPALL, BTS

หุ้นวิชั่น - ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) คาด SET วันนี้“แกว่งผันผวน” ต้าน 1411/1415 จุด รับ 1390/1380 จุด ดัชนีS&P500 -0.39% ตลาดจับตาการประชุม Fed (เช้าทราบผล 19 ธ.ค.) ให้น ้าหนักมุมมอง Fed ต่อผลกระทบ Trump 2.0 ผ่าน Dot Plot ใหม่และคาดการณ์ GDP vs ปัจจุบันที่ตลาดประเมิน Fed จะปรับดอกเบี้ยในปี2025 ที่ 2-3 ครั้ง (Dot Plot ล่าสุด 4 ครั้ง) และประเมินเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้2.1% (Fed ล่าสุด คาด 2.0%) ส่วนภายในการปรับฐานแรงวานนี้อีกส่วนน่าจะมีผลจากความกังวลเสถียรภาพการเมือง หลัง ปปช. มีมติไต่สวน 12 เจ้าหน้าที่รัฐ เอื้อรักษาอาการป่วยคุณทักษิณที่มีความเชื่อมโยงพรรคเพื่อไทย    ทั้งนี้ แม้ตลาดปัจจุบันอยู่ในโซนการลงทุนระยะกลาง-ยาว Current Equity Risk Premium ที่ 3.92% vs จุดกลับตัวภาวะปกติที่ Avg + 1 S.D. ขณะที่การประชุม กนง. เราประเมินคงดอกเบี้ยแต่มีโอกาสส่งสัญญาณ Dovish แต่ภาพทางเทคนิคที่ตลาดหลุดแนวรับส าคัญ EMA 200 วัน คาดท าให้ตลาดระยะสั้นผันผวน โดยหุ้นที่เคลื่อนไหวดีกว่าตลาด กลุ่มที่มีประเด็นบวก ท่องเที่ยว ภาคบริการ (นักท่องเที่ยว +10.5%w-w) โรงกลั่น (ค่าการกลั่น +18%d-d) หุ้นไฟฟ้า (กกพ. ประกาศผู้ชนะประมูลไฟฟ้าหมุนเวียน+ครม.เร่งผลักดัน Solar Rooftop) วันนี้แนะน ำ AWC, CPALL, BTS

[Vision Exclusive] THANA ปล่อยโปรดึงยอดท้ายปี-เปิด 1.5 พันล.

[Vision Exclusive] THANA ปล่อยโปรดึงยอดท้ายปี-เปิด 1.5 พันล.

หุ้นวิชั่น - "สุทธิรักษ์  เสถียรภาพอยุทธ์" บิ๊กบอส THANA ฉายภาพอสังหาฯท้ายปี ใส่เกียร์ปล่อยโปรโมชั่นดึงยอดโอน เล็งเปิดโครงการใหม่ปี 68 มูลค่า 1.5 พันล้านบาท ชี้บ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทขายดี จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุน           นายสุทธิรักษ์  เสถียรภาพอยุทธ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THANA  เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่น ว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2568 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจมีความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆ ที่ทยอยส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและงานก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 เมื่อสถานการณ์ตลาดและอุตสาหกรรมดังกล่าวดูดซับปัจจัยต่างๆ ได้มากขึ้น ขณะที่การเปิดโครงการใหม่ของ THANA ในช่วงปลายปี 2567 คาดจะช่วยกระตุ้นยอดโอน ซึ่ง THANA มีโปรโมชั่นที่น่าสนใจจะช่วยกระตุ้นความต้องการในการซื้อที่อยู่อาศัย และโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงสิ้นปี 2567 นี้ THANA มีแผนเปิดโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 1 โครงการ มูลค่า 1,500 ล้านบาท โดยจะมีการเปิดโครงการใหม่ขนาดกลาง คาดว่าจะสามารถสร้างยอดรับรู้รายได้ได้ดี แม้ในตลาดที่ยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะกระตุ้นยอดขายและสร้างความสนใจจากลูกค้าด้วยโปรโมชั่นพิเศษที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าที่มีราคาน่าสนใจ หรือไม่เกิน 3 ล้านบาท อย่างไรก็ดี THANA จะพิจารณาเปิดโครงการขนาดเล็ก หากภาพรวมเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว สำหรับการปล่อยสินเชื่อมองว่ายังคงอยู่ในลักษณะเดิม โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลดลงในปลายปี 2567 ตามทิศทางของสงครามและสภาวะเศรษฐกิจ พร้อมทั้งได้มีการหารือกับสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง บริษัทคาดว่าในปี 2568 การเติบโตจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดโครงการใหม่และการขยายพื้นที่ขาย โดยตั้งเป้ายอดขายในปี 2568 ไว้ที่ 15-20% จากโครงการพร้อมขายของ THANA ที่มีอยู่ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้จากสินค้าที่มีในมือ ขณะเดียวกันยังมองว่าสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทมีเสถียรภาพ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยไม่สูงขึ้นมากและยังคงเห็นโอกาสในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันทางการเงิน ทั้งนี้ยอดปฏิเสธสินเชื่อของ THANA อยู่ที่ระดับ 20% ซึ่งยอมรับว่าเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ 15-16% แต่ THANA จะพยายามควบคุมยอดปฏิเสธสินเชื่อไม่ให้เพิ่มขึ้นสูง จากการคัดกรองลูกค้าก่อนยื่นเอกสารกู้เงินจากสถาบันทางการเงิน อย่างไรก็ตาม THANA การดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 30 ปี มีประสบการณ์และความเชื่อมั่นจากลูกค้าในหลากหลายกลุ่ม โดยบริษัทมุ่งเน้นคุณภาพและความคุ้มค่าในการพัฒนาโครงการให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มได้อย่างครบถ้วน อนึ่ง 9 เดือนแรกปี 2567 THANA มีรายได้แล้วที่ 368.47 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 32.63 ล้านบาท รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

[Vision Exclusive] TRP โรงพยาบาลใหม่ ศัลยกรรมครบจบปัง!

[Vision Exclusive] TRP โรงพยาบาลใหม่ ศัลยกรรมครบจบปัง!

          หุ้นวิชั่น - "ธีรพรคลินิก" เปิดโรงพยาบาลใหม่ไฉไลกว่าเดิม ลุยศัลยกรรมครบวงจร ดีเดย์เมษายนปีหน้า ฟากผู้บริหารหนุ่มไฟแรง "คงศักดิ์ เตชะวิบูลย์ผล" เจาะฐาน Wellness ทำเงิน แถมดีมานด์ศัลยกรรมล้น ปักธงรายได้ปี 68 โต 15%           นายแพทย์คงศักดิ์ เตชะวิบูลย์ผล กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) หรือ TRP ผู้ให้บริการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า ภายใต้ชื่อ "ธีรพรคลินิก" เปิดเผยกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า ในปี 2568 บริษัทเตรียมเปิดให้บริการโรงพยาบาลใหม่ และขยายธุรกิจโดยการเพิ่มหัตถการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเพิ่มมูลค่าธุรกิจให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นการรักษาความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ           สำหรับแผนการเปิดโรงพยาบาลใหม่คาดว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ซึ่งโรงพยาบาลใหม่จะมีพื้นที่ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ตารางเมตร จากเดิมที่มีพื้นที่เพียง 1,100 ตารางเมตร การขยายพื้นที่นี้จะช่วยให้ TRP สามารถนำบริการใหม่ๆ เช่น ศัลยกรรมครบวงจร การดูแลผิวพรรณ (สกิน) และเวลเนส (Wellness) มานำเสนอแก่ลูกค้าเพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มความหลากหลายในการให้บริการ รวมถึงการสร้างแบรนด์ดิ้งให้เป็นที่รู้จัก           TRP วางแผนเจาะตลาด Wellness และเน้นกลยุทธ์การขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าหลัก (Cross Selling) โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมักมีปัญหาด้านสุขภาพ บริษัทจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ ในส่วนของตลาด Wellness บริษัทมองว่าเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มมีครอบครัวน้อยลงและมีสังคมเดี่ยวมากขึ้น จึงหันมานำเงินที่มีมาใช้ในการดูแลตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและเติบโตในตลาดนี้           นายแพทย์คงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความต้องการบริการศัลยกรรมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับช่วงหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มศึกษาข้อมูลมากขึ้นและใส่ใจในการใช้จ่าย เพื่อให้มั่นใจว่าเงินที่ใช้ไปในการดูแลตัวเองจะคุ้มค่ามากที่สุด           บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในปี 2568 เพิ่มขึ้น 10-15% จากปี 2567 โดยมุ่งรักษาอัตรากำไรในระดับที่ใกล้เคียงปี 2567 ซึ่งไม่มีค่าเสื่อมโรงพยาบาลใหม่  ทั้งนี้ ธุรกิจศัลยกรรม สกิน และเวลเนสคาดปี 2568 จะมีต้นทุนใกล้เคียงเดิม แต่จะมีปัจจัยที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลัง 2568 คือค่าเสื่อมจากการเปิดโรงพยาบาลใหม่ เนื่องจากมีค่าเสื่อมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นในช่วงแรกที่ยังไม่มีเคสมากนัก แต่เมื่อจำนวนเคสเพิ่มขึ้น คาดจะสามารถชดเชยค่าเสื่อมและทำให้อัตรากำไรดีขึ้นในภายหลัง           ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) แนวโน้ม 4Q24 ยังฟื้นตัว ส่วนปี 25F คาดฟื้นตัวแต่มี Downside กำไร 9M24 คิดเป็น 73% ของทั้งปี 24F ที่ 146 ล้านบาท (-24%) ยังคงไว้ มองกำไร 4Q24F ยังลด YoY, +QoQ ตามฤดูกาล           ขณะที่กำไรปี 25F คาดไว้ที่ 198 ล้านบาท (+36%) คาดมี Downside 10% เนื่องจากแนวโน้มรายได้ยังเติบโตช้า และแผนเปิดโรงพยาบาลใหม่ใน 1Q25F (ห้องผ่าตัดเพิ่มจาก 6 เป็น 12 ห้อง) คาดมีค่าใช้จ่ายขึ้นราว 10-20 ล้านบาท/ปี ซึ่งแผนปรับปรุงทั้งการเพิ่มศัลยกรรมใหม่ ขยายไปกลุ่ม Skin รวมถึงการปรับการตลาดและการขาย ยังต้องใช้เวลารับรู้จากกลุ่มลูกค้าทั้งกลุ่มเดิม (อายุ 40+)(80% ของรายได้) และกลุ่มวัยรุ่น & คนทำงานช่วงเริ่มต้น (20% ของรายได้)           แนะนำ "Buy" เชิงตั้งรับจาก TP25F ที่ 11.40 อิง PER 20x หุ้นปรับลง YTD -48% และซื้อขายที่ PER 25F 16x เป็น Valuation โซนลงทุน แต่ยังมี Downside กำไร 25F จึงแนะนำ "Buy" เชิงตั้งรับจาก TP25F ที่ 11.40 บาท อิง PER 20 เท่า.           อนึ่ง 9 เดือนแรกปี 2567 TRP มีรายได้แล้วที่ 417.26 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 106.80 ล้านบาท รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

GUNKUL-BGRIM ปลื้มได้ไฟเพิ่ม รัฐสั่งลุยไฟฟ้าทดแทน 2.1 พัน MW

GUNKUL-BGRIM ปลื้มได้ไฟเพิ่ม รัฐสั่งลุยไฟฟ้าทดแทน 2.1 พัน MW

          กกพ. ไฟเขียวผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 2,145 MW ด้าน GUNKUL กวาด 7 โครงการ 319 MW ดันกำลังการผลิตเพิ่ม ปักหมุดรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท ส่วน EGCO คว้าสิทธิ 11 โครงการ 448 MW ฟาก BGRIM รับ 60 MW เสริมฐานพลังงานหมุนเวียน ส่วน EA ได้เพิ่ม 90 MW หนุนแผนขยายธุรกิจ จ่อทยอย SCOD ปี 2569-2573 โบรกมอง GUNKUL เด่นสุด เนื่องจากกำลังผลิตที่ได้รับคัดเลือกในรอบดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของกำลังผลิตทั้งหมดในปัจจุบัน           สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประชุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 72 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 2,145.4 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นพลังงานลม จำนวน 8 ราย รวม 565.40 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ตั้งแต่ปี 2571-2573 และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย รวม 1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ 2569-2573           โดยมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ให้การไฟฟ้าคู่สัญญาแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 14 วันนับถัดจากวันที่สำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อ และกลุ่มที่ 2 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่มีรูปแบบการเชื่อมต่อสถานีไฟฟ้าเดียวกัน ตกลงรูปแบบการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายตามหลักการแบ่งปันสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน (Common Facilities Sharing) และยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่ประกาศผลการคัดเลือก           นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในปี 2568 เชื่อว่ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2567 เนื่องจากภาพรวมตลาดยังมีศักยภาพ ทั้งงานจากโครงการพลังงานทดแทนรอบใหม่ และงานของภาครัฐที่มีงบลงทุนด้านพื้นฐานเพิ่มเติมตามความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากประมาณการรายได้ปี 2567 ที่คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตตามเป้า 15% จากปีก่อน ซึ่งปัจจุบันถือว่าใกล้เคียงแล้ว หลัก ๆ การเติบโตยังคงมาจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) และเทรดดิ้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า           ทั้งนี้ ปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้างานในมือจากธุรกิจ EPC ไว้ที่ประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าวางเป้ากำลังการผลิตเติบโต 35% ใน 2 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่กว่า 1,500 เมกะวัตต์           โดยล่าสุดสำนักงาน กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 กำลังการผลิตที่เสนอขายรวม 2,145 เมกะวัตต์ ซึ่งกลุ่มบริษัทย่อยที่ GUNKUL ถือหุ้นทางตรงผ่านบริษัท กันกุล วิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี 9 จำกัด ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 319 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 284 เมกะวัตต์ และโซลาร์กำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ โดยจะทยอย COD ตั้งแต่ปี 2570-2573 ส่งผลทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็นประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งเป้าหมายของบริษัทฯ คือการมีเมกะวัตต์สะสมเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2569 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าพลังงานลม           ขณะที่โครงการพลังงานหมุนเวียนจำนวน 832 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าวินด์ฟาร์ม ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปก่อนหน้านี้ จะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตั้งแต่ปี 2569-2573 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 38,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังมีเงินลงทุนเพียงพอ และปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนยังอยู่ในระดับต่ำ พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง           “ตามที่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้บริษัทในกลุ่มของ GUNKUL ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการขายสินค้าในระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและรับเหมาก่อสร้างจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมไปด้วย โดยเฉพาะงานรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับโอกาสทำสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมองว่าในอนาคตหากประเทศไทยมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและต้องการมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น GUNKUL ก็ยังมีโอกาสในการที่จะเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้น รวมถึงภาคเอกชนที่ตอนนี้ก็หันมาใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจโซลาร์ที่เป็น Private PPA ของ GUNKUL จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน” นางสาวโศภชา กล่าวในที่สุด           ส่วน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผ่านการคัดเลือกกว่า 60 เมกะวัตต์ ขณะที่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผ่านการคัดเลือก 90 เมกะวัตต์           บล. หยวนต้า ระบุว่า โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้น บริษัทในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกมากที่สุดคือ EGCO (ได้รับคัดเลือก 11 โครงการ ขนาดรวม 448 MW และเป็นโครงการแสงอาทิตย์ทั้งหมด) ตามมาด้วย GUNKUL (ได้รับคัดเลือก 7 โครงการ ขนาดรวม 319 MW แบ่งออกเป็นโครงการลม 4 โครงการ ขนาดรวม 284 MW และโครงการแสงอาทิตย์ 3 โครงการ ขนาดรวม 35 MW) มองว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดคือ GUNKUL ([email protected]) เนื่องจากกำลังผลิตที่ได้รับคัดเลือกในรอบดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของกำลังผลิตทั้งหมดในปัจจุบัน (ทั้งที่ COD แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

STECON แจ้งบริษัทย่อย  รับงานก่อสร้างบางกอกมอลล์ (Zone 2-4) มูลค่า 5,800 ลบ.

STECON แจ้งบริษัทย่อย รับงานก่อสร้างบางกอกมอลล์ (Zone 2-4) มูลค่า 5,800 ลบ.

          หุ้นวิชั่น - นายภาคภูมิ ศรีชานิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (“STECON”) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (“STEC”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STECON (สัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 99.60) ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงจ้างและรับจ้างก่อสร้างโครงการศูนย์การค้าบางกอกมอลล์ Zone 2, 3 และ 4 โดยมีรายละเอียดดังนี้ ชื่อโครงการ : โครงการศูนย์การค้าบางกอกมอลล์ Zone 2, 3 และ 4 (หนังสือแสดงเจตจำนงฯ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2567) เจ้าของโครงการ : บริษัท บางนา ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ จำกัด ผู้ว่าจ้าง : บริษัท บางนา ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ จำกัด ผู้รับจ้าง : บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น มูลค่าโครงการ : 5,800,000,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ลักษณะงานก่อสร้าง : งานก่อสร้างโครงสร้าง สถาปัตย์ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ระยะเวลาการก่อสร้าง : 1 มีนาคม 2568 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2572

SYNEX คว้า SET ESG ระดับ AA  ควบ CGR 5 ดาว ระดับ “ดีเลิศ”

SYNEX คว้า SET ESG ระดับ AA ควบ CGR 5 ดาว ระดับ “ดีเลิศ”

         นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX ดิสทริบิวเตอร์ผู้นำด้านไอทีอีโคซิสเต็ม เผยบริษัทฯ ได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็น 1 ในบริษัท ที่ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ AA (SET ESG Ratings: AA) ประจำปี 2567 ในกลุ่ม Technology ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ยกระดับจากปี 2566 ที่อยู่ในระดับ A  สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่พัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยึดตามแนวทางความยั่งยืน เป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาล ควบคู่กับให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ทั้งนี้ ซินเน็คฯ ยังได้รับคะแนนการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในระดับดีเลิศ (Excellent) หรือระดับ 5 ดาว จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2567 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2024 : CGR) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สะท้อนภาพรวมการบริหารงานของซินเน็คฯ ที่ให้ความสำคัญทั้งการบริหารงานที่สร้างการเติบโต และขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมุ่งสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ลงทุนในระยะยาว [PR News]

BGRIM เชื่อมั่น ปฏิรูปภาษี GMT ไม่ส่งผลต่อธุรกิจปี 2567 จับตากฎหมาย GMT ไทย เริ่มใช้ ปี 2568

BGRIM เชื่อมั่น ปฏิรูปภาษี GMT ไม่ส่งผลต่อธุรกิจปี 2567 จับตากฎหมาย GMT ไทย เริ่มใช้ ปี 2568

          หลังจากที่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศด้วยการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global minimum tax) จากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ในอัตรา 15% โดยมีประเทศสมาชิกจำนวนมากเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 ล่าสุดในปี 2567 กฎหมายเกี่ยวกับ GMT เริ่มมีผลบังคับใช้ในหลายประเทศแล้ว รวมถึงประเทศที่ BGRIM เข้าไปลงทุน ได้แก่ เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินในเบื้องต้น การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดภาษีส่วนเพิ่มที่มีสาระสำคัญต่อ BGRIM ในปี 2567 แต่อย่างใด           สำหรับประเทศไทย ณ ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ “ร่าง พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม” เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ตามแนวทาง GMT แล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งจะทำให้บริษัทข้ามชาติที่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.ก. ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มหากอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แท้จริงในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุนอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 15% โดยจากข้อมูลเบื้องต้นมีการเปิดเผยว่า จะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสนันสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น ซึ่ง BGRIM ได้ติดตามความคืบหน้าของการออกกฎหมายและมาตรการบรรเทาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจมีต่อ BGRIM ในปี 2568 ต่อไป           ทั้งนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก หรือ Global Minimum Tax (GMT) คือภาษีที่จัดเก็บกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่มีรายได้รวมต่อปีเกิน 750 ล้านยูโร มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ (Tax Competition) ดึงดูดการลงทุน และป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งนับเป็นการปฏิรูประบบภาษีครั้งสำคัญของโลก

สเตคอน กรุ๊ป คว้า SET ESG Ratings ระดับ AA ปี 67

สเตคอน กรุ๊ป คว้า SET ESG Ratings ระดับ AA ปี 67

          บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ได้รับผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ในระดับ AA ประจำปี 2567 ในกลุ่มก่อสร้าง โดยเป็น 1 ใน 228 บริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประเมินและจัดอันดับจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องของ STECON ในด้าน ESG ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล           นับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ STECON ได้รับคัดเลือกเข้าสู่หุ้นยั่งยืน “SET ESG Rating” โดยได้รับการจัดอันดับในระดับ “Rating AA” นับเป็นความสำเร็จและภาคภูมิใจของบริษัทฯ ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยบริษัทกำหนดนโยบายและเป้าหมายหลักด้านการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) ให้ความสำคัญกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจแบบเติบโตไปพร้อมกันทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability Development ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านบรรษัทภิบาลเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทย สร้างคุณค่าแก่สังคมไทยในทุกภาคส่วน           ทั้งนี้การประเมินหุ้นยั่งยืนหรือ SET ESG Ratings นี้ ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุน ใช้ควบคู่กับข้อมูลอื่น ๆ ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสการเติบโตของธุรกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) จะยิ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจ           STECON มีความมุ่งมั่นสร้างการเติบโตทางธุรกิจ นำหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ มีเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม และจากนี้บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสู่การเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป [PR News]

UAC คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ปี 2567 ระดับ “A”

UAC คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ปี 2567 ระดับ “A”

          นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ “UAC” เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 228 บริษัทจดทะเบียน ที่ได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ “ระดับ A” โดยรางวัลดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินกิจการเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้การบริหารความเสี่ยงอย่างมีวินัย ดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิดของการคำนึงถึง Environmental, Social and Governance หรือ ESG ผ่านกระบวนการทางธุรกิจในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เป็นองค์กรแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สอดรับวิสัยทัศน์ความมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงานสะอาด ปิโตรเคมี และสาธารณูปโภค ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์นโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมธุรกิจพลังงาน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (For Sustainable Future) และการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) [PR News]

[ภาพข่าว] PHOL คว้าหุ้นยั่งยืน ปี 67  SET ESG Ratings “A”

[ภาพข่าว] PHOL คว้าหุ้นยั่งยืน ปี 67 SET ESG Ratings “A”

           นายธันยา หวังธำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ผลธัญญะ (PHOL) ผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้รับผลการประเมินหุ้นยั่งยืน หรือ SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ในระดับ “A” เป็นปีที่ 2 ต่อเนื่อง ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทฯในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) การขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดย PHOL เป็น 1 ใน 228 บริษัทจดทะเบียน ที่ผ่านเกณฑ์และได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2567 ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

[ภาพข่าว] READY เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุน

[ภาพข่าว] READY เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุน

           นายทรงยศ คันธมานนท์ (กลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยนายบุรินทร์ เกล็ดมณี (ที่ 8 จากขวา) รองกรรมการผู้จัดการบริหาร และนางสาวอนัญญา แสงรัตนเดช (ที่ 7 จากซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) “READY” ให้การต้อนรับคณะนักลงทุน เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมชมกิจการ พร้อมบรรยายภาพรวม แผนการดำเนินธุรกิจของ บริษัทฯ และทิศทางการเติบโตของแพลตฟอร์มการขายและการตลาดดิจิทัลแบบ All-in-One Sales and Marketing Platform ครอบคลุมทั้งการสร้างเว็บไซต์ โฆษณาออนไลน์ ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า และระบบจองโรงแรมโดยตรง ที่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องรับเทรนด์การตลาดใหม่ในอนาคต พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหาร ถึงแผนและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ READY  ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้น ณ บมจ.เรดดี้แพลนเน็ต อาคารเมเจอร์ ทาวเวอร์ กทม.

OR มอบของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ไม่ขึ้นราคาน้ำมัน 7 วัน

OR มอบของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ไม่ขึ้นราคาน้ำมัน 7 วัน

         พีทีที สเตชั่น มอบของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เติมเต็มความสุขให้คนไทย ไม่ขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิดระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2567 – 2 ม.ค. 2568 รวม 7 วัน และหากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดก็จะปรับลดราคาน้ำมันลง เตรียมความพร้อมให้ พีทีที สเตชั่น ทุกแห่งมีน้ำมันเพียงพอในช่วงเทศกาล พร้อมมอบสิทธิพิเศษจากร้านค้าในเครือ OR ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ก๊าซหุงต้ม ปตท. และคาเฟ่ อเมซอน ตลอดช่วงเทศกาลแห่งความสุข          ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ OR ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยว และการเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยได้สำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และคลังน้ำมันของ OR ทั่วประเทศให้เพียงพอ และจะไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 ถึงแม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น และหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง OR ก็จะปรับราคาน้ำมันลงด้วย พร้อมทั้งจัดเตรียมให้ พีทีที สเตชั่น เป็นจุดแวะพักที่จะช่วยเติมเต็มความสุขให้ทั้งผู้คน สังคม และชุมชน ตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่นี้          นอกจากนี้ OR ยังได้เตรียมมอบสิทธิพิเศษเพื่อเติมเต็มความสุขให้ผู้บริโภค เป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ด้วยโปรโมชั่นพิเศษมากมายสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และร้านค้าต่าง ๆ ในเครือ OR ดังนี้ • สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น จัดโปรโมชันพิเศษ เมื่อเติมน้ำมันทุกชนิดครบ 500 บาท รับฟรี น้ำดื่ม 1 ขวด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2568 และพิเศษสำหรับลูกค้าที่เติมน้ำมัน Super Power ครบ 1,200 บาท รับฟรี หมวก GODJI Limited Edition 1 ใบ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567- 25 มกราคม 2568 รวมทั้ง เมื่อเติมน้ำมันทุกชนิดครบ 100 บาทขึ้นไป รับฟรี ประกันอุบัติเหตุคุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 - 3 มกราคม 2568 นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มรถใหญ่ เมื่อเติมน้ำมันทุกชนิดครบ 150 ลิตร รับส่วนลด 0.50 บาทต่อลิตร หรือ เมื่อเติมครบ 200 ลิตร รับส่วนลด 0.60 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 -31 มกราคม 2568 • สำหรับลูกค้า ก๊าซหุงต้ม ปตท. รับส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม ปตท. เมื่อสั่งผ่านแอปพลิเคชัน OR LPG สำหรับการสั่งครั้งแรก รับทันทีส่วนลด 100 บาท เพียงกรอกโค้ดส่วนลด NEW100 และสามารถกดรับคูปองส่วนลดพิเศษ อีก 30 บาท นอกจากนี้ สมาชิก Blue Card ยังสามารถรับโค้ดส่วนลด 40 บาท ได้จาก แอปพลิเคชัน xplORe ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 - 31 มกราคม 2568 • ศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ จัดโครงการ "FIT Auto Tune up ฟิตรถรับปีใหม่" ให้บริการตรวจเช็ครถยนต์ฟรี 35 รายการ บริการเติมลมไนโตรเจน และปะยางแบบแทงไยไหมฟรี พร้อมโปรโมชันพิเศษรับส่วนลดสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเครื่องเกรด 10,000 กิโลเมตร เริ่มต้น 690 บาท ฟรี! ค่าแรงและไส้กรองน้ำมันเครื่อง รวมทั้ง ส่วนลด 10% สำหรับไส้กรองอากาศ ส่วนลดสูงสุด 15% สำหรับไส้กรองแอร์ และส่วนลดสูงสุด 20% สำหรับบริการล้างแอร์ด้วยกล้อง Micro Cam และบริการเติมน้ำยาแอร์ รวมทั้งเมื่อซื้อยางรถยนต์ 2 เส้น แถมฟรี 2 เส้น เฉพาะรุ่น ระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 – 15 มกราคม 2568 ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ช่วยลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 และเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางช่วงปีใหม่อย่างอุ่นใจ • พิเศษสำหรับลูกค้า คาเฟ่ อเมซอน เมื่อซื้อเครื่องดื่มคาเฟ่ อเมซอน เมนูใดก็ได้ 1 แก้วรับฟรี หน้ากากผ้าอนามัย Café Amazon Limited Edition1 ชิ้น ณ ร้านคาเฟ่ อเมซอน ที่ร่วมรายการ 30 สาขา ที่ตั้งอยู่บริเวณจุดรอยต่อสู่ภูมิภาคและจังหวัดใหญ่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2567 - 1 มกราคม 2568          ในปี 2567 ที่ผ่านมา OR ขอขอบคุณผู้บริโภคทุกท่านที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของ OR อย่างดียิ่งมาโดยตลอด OR พร้อมอยู่เคียงข้างคนไทยในทุกช่วงเวลาด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ครบครัน และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกผู้เดินทาง ตลอดจนสร้างทางเลือกที่หลากหลายสำหรับการดำเนินชีวิตแบบครบวงจรเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกไลฟสไตล์ และสำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ พีทีที สเตชั่น ร้าน คาเฟ่ อเมซอน ทุกสาขา รวมทั้งร้านค้าต่าง ๆ ในเครือ OR พร้อมอยู่เคียงข้าง เติมเต็มความสุข และเป็นจุดแวะพักเพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้าระหว่างการเดินทางสำหรับทั้งคนและรถให้เดินทางต่ออย่างปลอดภัย ในเทศกาลปีใหม่นี้ OR ขอให้ทุกท่านใช้ความระมัดระวังในการขับรถเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง และขอให้ทุกท่านเดินทางถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพและมีความสุขตลอดเทศกาลแห่งความสุขนี้ ม.ล. ปีกทอง กล่าวในตอนท้าย

GC จับมือ Honeywell ศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์จากคาร์บอนอย่างคุ้มค่า

GC จับมือ Honeywell ศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์จากคาร์บอนอย่างคุ้มค่า

          หุ้นวิชั่น - กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย – บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต และ Honeywell ผู้นำด้านเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนระดับโลก  ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยมุ่งเน้นการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีของ Honeywell มาใช้ในกระบวนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) ในโรงงานของ GC Group และการใช้ประโยชน์จากคาร์บอน หรือ Carbon Capture Utilization (CCU) เพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593           นายพรศักดิ์  มงคลตรีรัตน์  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจเพื่อความเป็นเลิศ  บริษัท พีทีที   โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า “ GC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือระหว่าง GC และ Honeywell ในครั้งนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยของ Honeywell มาเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำของ GC นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรมร่วมกันจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจในความต้องการของอุตสาหกรรม และสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านความยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น”           Tsui Tsui Young, ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Honeywell UOP กล่าวว่า “Honeywell ผู้ดำเนินธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนระดับโลก  สามารถดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15 ล้านตันต่อปี  โดยความร่วมมือกับ GC ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย  และมีความมุ่งหวังในการร่วมดำเนินโครงการอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคตด้วย”           ความร่วมมือนี้ สนับสนุนกลยุทธ์ของ GC ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 [PR News]