รัฐลุย 'โครงการคุณสู้ เราช่วย' เคลียร์หนี้ครัวเรือน 2.1 ล้านบัญชี ยอดรวม 8.9 แสนล้าน!
รัฐบาลจับมือ ธปท. และสถาบันการเงิน เปิดตัวโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' ช่วยลูกหนี้รายย่อย-ธุรกิจ SMEs ผ่าน 2 มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” และ “จ่าย ปิด จบ” ครอบคลุมลูกหนี้ 2.1 ล้านบัญชี รวมยอดหนี้กว่า 8.9 แสนล้านบาท หวังลดภาระ-เพิ่มสภาพคล่อง พร้อมให้ลงทะเบียน 12 ธ.ค. 67 - 28 ก.พ. 68" โบรกมองว่า บวกต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีก การเงิน และ ธนาคาร ผ่านกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้น และ สัดส่วน NPL ที่คาดจะลดลง เช่น CPALL OSP CPAXT CPN CRC KKP TTB KBANK SCB KTC และ AEONTS หนี้ครัวเรือนเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญและร่วมกันผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2567 เป็นการวางรากฐานแนวทางแก้ไขปัญหาให้ลูกหนี้อย่างยั่งยืน ผ่านความเข้มงวดในการกำกับสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังการเป็นหนี้เสีย อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน รายได้ของครัวเรือนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บางกลุ่มยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ภาระหนี้และค่าครองชีพหรือต้นทุนการประกอบธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากยังเผชิญกับปัญหาในการชำระหนี้อยู่ กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง จึงได้ร่วมกันผลักดันมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม ภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม โดยมีกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงินควบคู่ ไปกับการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเสียวินัยในการชำระหนี้ (moral hazard) ในภายหลัง โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นับเป็นการประสานบทบาทของทั้งภาครัฐ เอกชน และลูกหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง โดยลูกหนี้จะต้องลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการและชำระหนี้ตามเงื่อนไข ขณะที่ภาครัฐและสถาบันการเงินจะร่วมสนับสนุนเม็ดเงินในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมฝ่ายละครึ่งหนึ่ง (50%) เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ร่วมโครงการ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ) มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตให้กับลูกหนี้ โดยค่างวดที่ลดลงจะทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเหลือสำหรับดำรงชีพเพิ่มเติมระหว่างอยู่ในมาตรการ ขณะที่ดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นจะช่วยให้ภาระหนี้โดยรวมของลูกหนี้ลดลง มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น ในช่วงเริ่มต้น โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ภาครัฐและเอกชนจึงร่วมกันออกโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ขนาดเล็ก ครอบคลุมลูกหนี้รวมจำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท ทั้งนี้ การแก้หนี้ที่ยั่งยืนต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มทักษะ (upskill/reskill) และเสริมสร้างรายได้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งเป็นอีกด้านที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาและยกระดับรายได้ของครัวเรือนให้ดียิ่งขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นงานที่ ธปท. ให้ความสำคัญและผลักดันมาต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้มี 2 จุดสำคัญที่ต่างจากที่ผ่านมา คือ (1) การปรับโครงสร้างหนี้ที่เน้นตัดเงินต้น และลดภาระผ่อนในช่วง 3 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ (2) การร่วมสมทบเงิน (Co-payment) จากภาครัฐและสถาบันการเงินเพื่อช่วยลดภาระจ่ายของลูกหนี้ โดยชื่อของโครงการนี้สะท้อนความตั้งใจของทุกฝ่าย โดย “คุณสู้” สะท้อนถึงลูกหนี้ที่พร้อมจะสู้ต่อในการแก้ไขปัญหาหนี้ ส่วน “เราช่วย” คือ ภาครัฐและสถาบันการเงินที่พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อลดภาระและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ความสำเร็จของโครงการนี้ จึงถือเป็นความร่วมมือจากทั้งลูกหนี้ ภาครัฐ และเจ้าหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน” นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนภาครัฐในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่มได้ราว 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท โดยการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการนี้ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยในการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากโครงสร้างหรือข้อจำกัดของระบบ และภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นั้น ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอย่างเป็นธรรม กระตุกพลังในการปรับโครงสร้าง เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” Mr. Giorgio Gamba ประธานสมาคมธนาคารนานาชาติ กล่าวว่า “สมาคมธนาคารนานาชาติพร้อมสนับสนุนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs และมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศอย่างเต็มที่ โดยเห็นพ้องกับแนวทางการดำเนินการของโครงการ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการสมทบเงินร่วมกับภาครัฐ (Co-payment) ผ่านกลไกการจัดตั้งแหล่งเงินทุนกลางภายใต้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) โดยสมาคมธนาคารนานาชาติยินดีให้ความร่วมมือและดำเนินการตามโครงการ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้สามารถชำระหนี้และไปต่อได้” นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า “สถาบันการเงินของรัฐ พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และ ธปท. ในการสนับสนุนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” อย่างเต็มที่ โดยโครงการนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ และยังมีการออกแบบกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงินควบคู่กับการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ด้วย ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐอยู่ระหว่างการหารือกับ ธปท. และกระทรวงการคลัง ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ของกลุ่ม Non-bank รวมถึงการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับกลุ่มลูกหนี้ของโครงการนี้ ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 2 มาตรการของสถาบันการเงินของรัฐ จำนวนประมาณ 6 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4.5 แสนล้านบาท” กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) มุ่งหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุด สามารถฟื้นตัวและกลับมาชำระหนี้ได้หลังสิ้นสุดโครงการ นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างบูรณาการต่อไป ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ด้านบริษัท หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุถึงว่า มองจะเป็นบวกต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีก การเงิน และ ธนาคาร ผ่านกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้น และ สัดส่วน NPL ที่คาดจะลดลง เช่น CPALL OSP CPAXT CPN CRC KKP TTB KBANK SCB KTC และ AEONTS