#ส่งออกไทย


ส่งออกไทย ปี68 โต 2.5% ยังมีแรงกดดัน

ส่งออกไทย ปี68 โต 2.5% ยังมีแรงกดดัน

           หุ้นวิชั่น - คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2568 มูลค่าแตะ 307,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 2.5 จากปี 2567 แม้ได้รับแรงหนุนจากสินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และการย้ายฐานการผลิต แต่ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้า นโยบายกีดกันทางการค้า และความผันผวนของค่าเงินบาท ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป อาจถูกกดดัน แต่ตลาดอาเซียนยังเติบโตแข็งแกร่ง วิเคราะห์ ทิศทางการส่งออกและ ตลาดส่งออก สินค้าของไทย ปี 68 ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2568            สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าการส่งออกของไทย จะขยายตัวร้อยละ 2 – 3 (ค่ากลางร้อยละ 2.5) หรือคิดเป็นมูลค่า 306,000 – 309,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่ากลาง  307,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากฐานปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 5.2) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลก และมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในปีหน้า ทั้งนี้ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ แล้ว แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงจะต้องติดตามการประกาศมาตรการของสหรัฐฯ และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปี 2568 ปัจจัยหนุนมี 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) การทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลก (2) ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง (3) วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางของไทย (สินค้า PCB) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ (4) การได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต จากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ปัจจัยท้าทายมี 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน (2) ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ (3) ปริมาณการค้าที่ขยายตัวลดลง จากการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า และ (4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวน สินค้าส่งออกของไทยในปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเกษตร จากอิทธิพลของลานีญาตั้งแต่กลางปี 2567 อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากปัญหาโลกร้อนจะยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อการผลิตภาคการเกษตร ตลาดยังคงขยายตัวได้ดี ตามการฟื้นตัวของการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในส่วนของผลของราคาส่งออกสินค้าเกษตรน่าจะลดลง จากอุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่จะเพิ่มขึ้นผลจากการยกเลิกมาตรการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศผู้ส่งออกสำคัญ นอกจากนี้ปัญหาโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่ชะงักงันน่าจะผ่อนคลายลงความรุนแรงของปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนหรือตะวันออกกลางคาดว่าจะมีระดับทรงตัว ขณะที่ค่าเงินบาทคาดว่าจะแข็งค่ากว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรไทยเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการผลิตเป็นสำคัญ ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การเผชิญกับคู่แข่งผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกและยกระดับผลผลิตได้ดีทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันมาตรการทางการค้าที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าบางประเทศ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมเกษตรต้องปรับตัวและบริหารจัดการต้นทุนให้แข็งขันได้ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย ยางพารา ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย คาดว่าผู้ส่งออกจะเร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะเริ่มมีสัญญาณชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และยุโรป เนื่องจากการออกมาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะมีความชัดเจนขึ้นซึ่งจะสร้างอุปสรรคในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนในระยะต่อไป นอกจากนี้สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงตามการปรับลดลงของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อย่างไรก็ดีไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการปรับโครงสร้างการผลิตของไทย เช่น Data Center การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น wafer หรือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สอดรับกับกระแสการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยที่จะพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดโลกมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว สินค้าอุตสาหกรรมที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รถยนต์ EV และเคมีภัณฑ์ อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ทั้งไทยและจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เหมือนกัน และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง ตลาดส่งออกของไทยในปี 2568            คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะเติบโตปานกลาง จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่จะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สร้างความเสี่ยงให้เงินเฟ้อกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง การชะลอการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายลงเพิ่มเติม จึงอาจจะไม่เห็นการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมากนัก ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงอยู่ และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะกลับมารุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักจะช่วยเพิ่มการลงทุนและการบริโภคให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่ตลาดอาเซียนคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการส่งออกในปีหน้าจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนและฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก และคว้าโอกาสจากการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง            ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะรักษาตลาดส่งออกหลักเดิม ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และเพิ่มเติมตลาดรองที่มีศักยภาพ อาทิ เอเชียใต้ (อินเดีย) ตะวันออกกลาง  แอฟริกา ลาตินอเมริกา ที่มา : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน

ส่งออกไทยโต 5 เดือนต่อเนื่อง คาดกระทบกีดกันการค้าครึ่งหลังปี68

ส่งออกไทยโต 5 เดือนต่อเนื่อง คาดกระทบกีดกันการค้าครึ่งหลังปี68

           หุ้นวิชั่น - ส่งออก พ.ย. แรงยังดี SCB EIC มองสงครามการค้ารอบใหม่จะกระทบส่งออกไทยครึ่งหลังปี 2025  มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน พ.ย. 2024 ยังโตดี 8.2% ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง            มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน พ.ย. 2024 อยู่ที่ 25,608.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.2%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน) สูงกว่าคาดการณ์ (SCB EIC ประเมินไว้ 6.5%) หากไม่รวมทองคำจะยังขยายตัวได้ 6.4% ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 275,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.1% (ตัวเลขระบบศุลกากร) ภาพรวมการส่งออกไทยเดือน พ.ย. ขยายตัวดีต่อเนื่อง            แม้หดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล -0.5%MOM_SA ผลจาก (1) อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวสูงสองหลักติดต่อกัน (สินค้ากลุ่มนี้มีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 2.5%) (2) ส่งออกทองคำขยายตัวสูง (ทองคำมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้น 2.2%) ผลจากราคาทองคำอยู่ในระดับสูง และความต้องการสะสมทองคำเพื่อรองรับจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และ (3) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตบางชนิดเริ่มกลับมาขยายตัว เช่น รถยนต์และส่วนประกอบกลับมาขยายตัว 4.8% หลังหดตัวนาน 3-4 เดือนก่อน ส่งออกเดือน พ.ย. ได้แรงขับเคลื่อนจากทุกหมวด ยกเว้นแร่และเชื้อเพลิง            หากพิจารณารายหมวด พบว่า (1) สินค้าอุตสาหกรรมเติบโต 9.5% ชะลอลงเทียบ 18.6% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะทองคำยังไม่ขึ้นรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่เหล็ก เครื่องยนต์สันดาป และอุปกรณ์ กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอดเป็นสินค้าหลักที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง 7.7% ใกล้เคียงเดือนก่อน โดยอาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่ม ยังขยายตัวดี ขณะที่ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์และน้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (3) สินค้าเกษตรขยายตัวชะลอลงเหลือ 4.1% จาก 6.8% ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และยางพารา ขณะที่ข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงยังคงหดตัว -7.1% แม้จะหดตัวน้อยลงเทียบ -22.2% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวถึง -16.3% (รูปที่ 1 และ 2) ส่งออกไปจีนขยายตัวดี ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญส่วนมากชะลอตัว            หากพิจารณารายตลาดหลัก พบว่า (1) ตลาดจีน ขยายตัว 16.9% มากกว่าเดือนก่อนสองเท่า โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ ที่ขยายตัว 126.8%, 94.6% และ 59.9% ตามลำดับ (2) ตลาดสหรัฐฯ ชะลอลงเหลือ 9.5% จาก 25.3% ในเดือนก่อน โดยมีเพียง 12 ใน 15 สินค้าส่งออกสำคัญที่ยังขยายตัว (เทียบ 14 ใน 15 รายการที่ขยายตัวได้ในเดือนก่อน) โดยเฉพาะเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่หดตัว -13.5% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกภายในปีนี้ (3) ตลาดยุโรป ชะลอตัวลงเหลือ 11.2% จาก 27.3% ในเดือนก่อน นำโดยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่พลิกกลับมาหดตัว -37.2% ขณะที่แผงวงจรไฟฟ้าหดตัวต่อเนื่องทั้งปี (4) ตลาดญี่ปุ่น พลิกกลับมาหดตัว -3.7% โดยกว่าครึ่ง 8 ใน 15 สินค้าส่งออกสำคัญไปตลาดญี่ปุ่นหดตัว (5) ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ชะลอตัวมากเหลือ 28.7% จาก 127.1% ในเดือนก่อน สาเหตุหลักจากการส่งออกทองคำเติบโตชะลอลง เหลือเพียง 63.1% จาก 164.4% และ (6) ตลาด CLMV ชะลอตัวลงเล็กน้อยเหลือ 21.0% จาก 27.9% เนื่องจากการส่งออกไปกัมพูชาชะลอลงบ้าง ขณะที่การส่งออกไปเวียดนาม เมียนมา และ สปป.ลาว ยังขยายตัวต่อเนื่อง ดุลการค้ากลับมาขาดดุล หลังเกินดุลมา 3 เดือนติดต่อกัน            มูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยเดือน พ.ย. อยู่ที่ 25,832.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชะลอตัวเหลือ 0.9% เทียบ 15.9% เดือนก่อน การนำเข้าไทยขยายตัวติดต่อกัน 6 เดือน โดยการนำเข้าอาวุธและยุทธปัจจัยกลับมาขยายตัว 16.1% จากที่หดตัวแรง -13.2% ในเดือนก่อน นอกจากนี้ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 14.0% และ 8.9% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุนหดตัว -25.3% -21.1% และ -1.5% ตามลำดับ ดุลการค้าระบบศุลกากรเดือน พ.ย. ขาดดุล -224.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าไทยขาดดุล -6,269.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขระบบศุลกากร) SCB EIC มองทั้งปี 2024 ส่งออกไทยอาจโตสูงเกิน 4% หากตัวเลขเดือน ธ.ค. ดีต่อเนื่อง            SCB EIC มองว่ามูลค่าการส่งออกไทยขยายตัวสูงต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งปี 2024 มีโอกาสขยายตัวสูงกว่า 4% แม้ที่ผ่านมาส่งออกไทยจะเผชิญอุปสรรคตั้งแต่ต้นปีจากเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ว่าจะชะลอลงและอุปสรรคการขนส่งทางเรือในโลกหลายที่ แต่ส่งออกไทยกลับได้แรงหนุนจากหลายปัจจัยบวกที่ชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว Soft landing ได้ การส่งออกทองคำสูงขึ้นมาก อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปสงค์ต่างประเทศเริ่มเร่งตัวจากความกังวลประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มในปี 2025 ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทย 11 เดือนขยายตัวมากถึง 5.2% จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปีอาจจะออกมาขยายตัวเกิน 4% สูงกว่าที่ SCB EIC และกระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.9% และ 4% ตามลำดับ ส่งออกไทยปี 2025 อาจไม่ง่าย ผลกระทบสงครามการค้าจะเริ่มเห็นชัดขึ้นครึ่งหลังปี 2025            แม้ส่งออกดูจะขยายตัวดีในช่วงท้ายปี 2024 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปช่วงต้นปี 2025 SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกของไทยระยะต่อไปจะเริ่มเจอแรงกดดันจากนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ที่มาตรการกีดกันการค้าประเทศต่าง ๆ นอกจากจีนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ โดยประเมินว่าประเทศไทยเสี่ยงสูงที่จะเจอนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจาก Trump 2.0 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบผ่านช่องทางการค้าเป็นหลัก สะท้อนจาก สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นเทียบช่วงทรัมป์ 0 : แม้สหรัฐฯ จะขาดดุลการค้ากับไทยมานานต่อเนื่อง แต่การขาดดุลยิ่งสูงขึ้นก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2021 โดยมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก -2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2017-2020 (Trump 1.0) เป็น -4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 ซึ่งไทยจัดเป็นประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับ 12 จาก 99 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ในปี 2023 (รูปที่ 4 ซ้าย) หลายงานศึกษาประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก Trump 2.0 มาก สะท้อนจาก Trump Risk Index สูง และอาจติดเกณฑ์ประเทศเข้าข่าย "Unfair Trade" กับสหรัฐฯ : จากผลศึกษาของ Information Technology and Innovation Foundation (ITIF) (รูปที่ 4 ขวา) พบว่าประเทศไทยมีคะแนน Trump Risk Index ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากเม็กซิโก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียจาก 38 ประเทศพันธมิตรทั้งหมดของสหรัฐฯ สอดคล้องกับผลศึกษา Unfair Trade ของ Global Trade Alert (Nov 2024) ที่พบว่า ประเทศไทยจะติด 3 ใน 5 เกณฑ์ หากพิจารณาเกณฑ์เดียวกับที่ Trump 1.0 เคยใช้มาก่อน โดยไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ที่จะติดเกณฑ์นี้ (รูปที่ 4 ซ้าย) สินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีความเสี่ยงถูกตั้งกำแพงภาษีจากนโยบาย Trump 2.0 : SCB EIC ประเมินว่ากว่า 70% ของสินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับโลก และต้องการส่งเสริม Local supply chain อาทิ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ (รูปที่ 5 ขวา) ทั้งนี้นโยบายจาก Trump 2.0 มีแนวโน้มจะกระทบภาคส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางตรง (Direct impacts) : สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ1 ของไทย (17% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด) และไทยยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ค่อนข้างสูง (รูปที่ 5 ซ้าย) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกไทยโดยตรง จากนโยบายภาษีสินค้านำเข้า Trump 2.0  อย่างไรก็ดี ผลกระทบอาจจำกัดในบางกลุ่มสินค้า เนื่องจากสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าบางชนิดจากไทย เนื่องจากผลิตในประเทศไม่พอความต้องการ ผลกระทบทางอ้อม (Indirect impacts) : ความต้องการสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายอาจชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นปลายที่จีนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และปัญหาจีนผลิตล้นตลาด (China’s overcapacity) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน (รูปที่ 6 ขวา) จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย ทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว            ปี 2025 อาจไม่ง่ายสำหรับภาคส่งออกไทย จากแรงกดดันภายนอกประเทศที่ท้าทายขึ้น โดย SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้ราว 2% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเทียบการเติบโตของการส่งออกในปี 2024 ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมแนวทางเจรจา/ต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงต่อนโยบายภาษีนำเข้า Trump 2.0 ในช่วงปี 2025 โดยเฉพาะประเด็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคส่งออกไทยตั้งแต่ก่อนสงครามการค้ารอบใหม่จะเริ่มมีผลชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี หมายเหตุ : (*) หากความต่างเป็นบวก หมายถึง การนำเข้าขยายตัวได้สูงกว่าอัตราการเติบโตของการผลิตในประเทศหรือหดตัวน้อยกว่าการหดตัวของการผลิตในประเทศ ขณะที่ความต่างที่ติดลบ หมายถึง การนำเข้าขยายตัวต่ำกว่าอัตราการเติบโตของการผลิตในประเทศหรือหดตัวต่ำกว่าการลดลงของปริมาณการผลิตในประเทศ (**) ระดับความเสี่ยงประเมินจากลำดับมูลค่าการขาดดุลของ US จากสินค้าทั้งหมด 97 ประเภท โดย US ขาดดุลมากถึง 75 ประเภทสินค้า และมูลค่าสินค้าที่ขาดดุลมากที่สุดอันดับ 1 คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ สินค้าที่เสี่ยงสูง (สีแดงหรือส้มเข้ม) คือ สินค้า 8 อันดับแรกที่ US มีการขาดดุลการค้ามากที่สุด ณ ปี 2023 (Percentile ที่ 10)  (***) สินค้าต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะเมื่อปี 2023 ได้ถูกสหรัฐกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทุ่มตลาด โดยเฉพาะยางรถบรรทุกและรถบัส ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trademaps บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-251224 ผู้เขียนบทวิเคราะห์ ภาวัต แสวงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์ ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์ นักเศรษฐศาสตร์