#สนค.


สำรวจแผนเที่ยวปลายปี 67 คนไทยเน้นงบประหยัด ‘ภาคเหนือ’ ยืนหนึ่งจุดหมายในฝัน

สำรวจแผนเที่ยวปลายปี 67 คนไทยเน้นงบประหยัด ‘ภาคเหนือ’ ยืนหนึ่งจุดหมายในฝัน

          หุ้นวิชั่น - นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 จำนวน 5,669 ราย ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวไทยปลายปี 2567 ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนที่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน -  ธันวาคม 2567 มีสัดส่วนค่อนข้างทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลการสำรวจของปี 2566 โดยภาคเหนือยังเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่ประชาชนวางแผนไปท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปัญหาทางการเงินและค่าใช้จ่ายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการแผนการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้ พฤติกรรมและแผนการท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567           ภาพรวมของการสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 32.28 มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2567 ซึ่งค่อนข้างทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากผลสำรวจปี 2566 (ร้อยละ 32.19) โดยภาคเหนือยังคงเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงเช่นเดิม อาจเนื่องด้วยเป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย ธรรมชาติและภูมิทัศน์สวยงาม รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ สำหรับสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 67.72 ที่ไม่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเงิน ซึ่งเป็นเหตุผลที่มีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 38.55 และตามมาด้วยความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงร้อยละ 32.12           เมื่อพิจารณาการจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มผู้ไม่ได้ประกอบอาชีพและเกษียณอายุ มีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวมากที่สุดที่ร้อยละ 46.40 อาจเนื่องมาจากประชาชนกลุ่มนี้ไม่ถูกจำกัดด้วยภาระ หน้าที่การงาน ทำให้สามารถวางแผนและเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวก รองลงมาคือ กลุ่มนักธุรกิจและเจ้าของกิจการ ที่ร้อยละ 42.52 สำหรับกลุ่มพนักงานบริษัทมีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 17.54 การจำแนกตามรายได้ต่อเดือน พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 40,000 - 50,000 บาท มีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวมากที่สุด ที่ร้อยละ 48.77 ตามมาด้วยกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ที่ร้อยละ 45.00 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็น กลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง จึงสามารถจัดสรรงบประมาณสำหรับการท่องเที่ยวได้มากกว่ากลุ่มรายได้อื่น ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ 5,001 – 10,000 บาท มีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวในช่วงเดือนดังกล่าวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 25.95 และการจำแนกตามภูมิภาค พบว่าผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นผู้มีสัดส่วนวางแผนการท่องเที่ยวมากที่สุดที่ร้อยละ 40.87 รองลงมาคือ ผู้อาศัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร้อยละ 34.88 ขณะที่ผู้อาศัยในเขตภาคกลางมีสัดส่วนการวางแผนการท่องเที่ยวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 27.14 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลสำรวจจากภูมิภาคต่าง ๆ พบว่า ผู้อาศัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือมีสัดส่วนการท่องเที่ยวในเขตภูมิภาคที่ตนเองอาศัยอยู่มากที่สุด มีเพียงกลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคกลางที่มีสัดส่วนการวางแผนการท่องเที่ยวนอกเขตภูมิภาคที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ การท่องเที่ยวธรรมชาติ ผจญภัย และกีฬา ซึ่งเป็นที่นิยมในเกือบทุกกลุ่มอายุ อาชีพ รายได้ และภูมิภาค โดยคิดเป็นร้อยละ 56.67 รองลงมาคือ การท่องเที่ยวร้านกาแฟและร้านอาหารยอดฮิตที่ร้อยละ 48.14 โดยกิจกรรมนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มอายุต่ำกว่า 39 ปี และกลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีผู้ตอบเกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มเดียวกัน           อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการวางแผนการท่องเที่ยว ประชาชนยังมีปัจจัยที่กังวลอยู่หลายประการ โดยความกังวลด้านความปลอดภัยและอุบัติเหตุเป็นปัจจัยหลักที่มีสัดส่วนสูงที่ร้อยละ 51.48 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญจากการสำรวจในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ร้อยละ 30.85) โดยเฉพาะในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีความกังวลในเรื่องนี้สูงถึงร้อยละ 71.05 นอกจากนี้ ประชาชนยังมีความกังวลในเรื่องความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 50.00 และกังวลด้านการจราจรที่ร้อยละ 47.49 การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567           ในภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 44.59 คาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท/คน/ทริป เพื่อเป็นค่าเดินทาง อาหาร และที่พัก โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจของปีก่อน (ปี 2566 ร้อยละ 42.07) รองลงมาคือ ใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 31.79 (ปี 2566 ร้อยละ 24.71) และใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 10,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 19.54 (ปี 2566 ร้อยละ 30.02) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประชาชนมีแผนการใช้จ่ายลดลงในวงเงินที่สูง สะท้อนถึงการปรับตัวและการควบคุมงบประมาณที่มากขึ้น สำหรับประเภทของค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คิดเป็นร้อยละ 71.64 รองลงมาคือค่าอาหาร คิดเป็นร้อยละ 70.71 และค่าที่พักคิดเป็นร้อยละ 62.35 ตามลำดับ           นายพูนพงษ์ กล่าวถึงการสำรวจครั้งนี้ว่า แม้ประชาชนจะมีความกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจสถานะทางการเงิน และภาระค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คาดว่า จะยังคงมีบรรยากาศที่คึกคักทั่วทุกภูมิภาค โดยภาครัฐได้มีการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง ดังนั้น หน่วยงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องควรเตรียมแนวทางและความพร้อมในการรับมืออย่างเข้มข้น พร้อมทั้งดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย           เพื่อบรรเทาความกังวลของประชาชนในการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2567 ภาครัฐได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการเพิ่มความปลอดภัยทางท้องถนน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางท้องถนน และมาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอกับความต้องการในการเดินทาง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อจะกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดของขวัญปีใหม่ ปี 2568 ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานพาณิชย์ลดราคา “New Year Mega Sale 2025” งานลดราคาสินค้าส่งออก “Made in Thailand” การมอบส่วนลดแพ็กเกจแฟรนไชส์ การแจกส่วนลดราคาสินค้าผ่าน 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ และการจัดงานแสดงและจุดจำหน่ายสินค้าในส่วนภูมิภาคกว่า 300 จุดทั่วประเทศ เป็นต้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยคาดว่ากิจกรรมดังกล่าว จะสามารถขยายโอกาสและสร้างมูลค่าทางการค้าไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่าง ๆ

ธุรกิจของเล่น รายได้ไม่เล่นๆ! LEGO แชมป์มูลค่าแบรนด์สูงสุดในโลก 10 ปีซ้อน ทะยานแตะ 7.9 พันล้านดอลลาร์

ธุรกิจของเล่น รายได้ไม่เล่นๆ! LEGO แชมป์มูลค่าแบรนด์สูงสุดในโลก 10 ปีซ้อน ทะยานแตะ 7.9 พันล้านดอลลาร์

           หุ้นวิชั่น - สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) มองแนวโน้มการค้าของเล่นและเกมทั่วโลกเติบโตดี พบผู้ซื้อกลุ่มผู้ใหญ่หัวใจเด็ก หรือ “Kidults” เป็นปัจจัยสำคัญดันยอดขายโลก ชี้แบรนด์ชั้นนำในหลายประเทศใช้ Pop Culture สร้างการรับรู้และกระตุ้นความต้องการซื้อ แนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก Pop Culture และให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา หาความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าสินค้า ดึงดูด Kidults เพื่อสร้างรายได้            นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอดขายของเล่นและเกมของโลกฟื้นตัวขึ้นในปี 2023 แม้จะมีปัจจัยกดดันด้านเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก ระบุว่ายอดขายของเล่นและเกมทั่วโลกในปี 2023 มีมูลค่า 2.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากปี 2022 และคาดว่าในช่วงปี 2023 - 2028 จะขยายตัวต่อเนื่องด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.4 ต่อปี จนทำให้มีมูลค่า 3.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2028 ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาด            ตามภูมิภาคพบว่า ปี 2023 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด มูลค่า 9.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 36.48) รองลงมาคือ อเมริกาเหนือ มูลค่า 8.40 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 30.80) และยุโรป มูลค่า 6.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 22.40) ข้อมูลจาก Euromonitor International ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันผู้ซื้อกลุ่ม “Kidults” และกระแส “Pop Culture” มีอิทธิพลอย่างมากในการขับเคลื่อนตลาดของเล่นและเกมโลกให้เติบโต โดย Kidults ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อ จึงมีพฤติกรรมการใช้จ่ายกับของเล่นหรือของสะสมที่ช่วยให้นึกถึงวัยเด็ก (Nostalgia) สอดคล้องกับที่บริษัทของเล่นและเกมชั้นนำในหลายประเทศ ใช้ Pop Culture เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ มีการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ของตนเข้ากับแบรนด์ ตัวละครจากภาพยนตร์หรือการ์ตูน หรือสื่อบันเทิง ทั้งที่เคยได้รับความนิยมในอดีตและกำลังเป็นที่นิยมปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงตอบสนองความต้องการของกลุ่ม Kidults แต่ยังเป็นวิธีที่ช่วยสร้างการรับรู้ได้เป็นวงกว้างให้กับผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว สร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายตามมา            ผอ.สนค. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงตัวอย่างของการสร้างการรับรู้และใช้ประโยชน์จาก Kidults และ Pop Culture ในตลาดของเล่นและเกมในประเทศต่าง ๆ อาทิ เดนมาร์กเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตของเล่นรายสำคัญอย่างบริษัท LEGO ที่มีกลยุทธ์สำคัญเพื่อดึงดูดความสนใจ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การเข้าสู่ตลาดเกมและสวนสนุก และการเข้าซื้อลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์จากการ์ตูนและภาพยนตร์ทั้ง Star Wars Marvel Harry Potter และ Jurassic Park เพื่อผลิตสินค้าที่เชื่อมโยงกับ Pop Culture สร้างประสบการณ์แบบใหม่ที่เสริมความสนุกให้กับผู้เล่น ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าได้ทั้งกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ ทำให้ LEGO เป็นบริษัทผลิตของเล่นชั้นนำที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดของโลก 10 ปีติดต่อกัน โดยปี 2023 มีมูลค่า 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 6.5            ญี่ปุ่นมีบริษัทของเล่นที่มีชื่อคือบริษัท BANDAI NAMCO ซึ่งเป็นการควบรวมของบริษัท BANDAI ผู้ผลิตฟิกเกอร์และของเล่นตัวการ์ตูน (เช่น Mobile Suit Gundam และ Ultraman) และบริษัท NAMCO ผู้นำในวงการเกม (เช่น Pac-Man และ Galaxian) BANDAI NAMCO สร้างรายได้จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ในลิขสิทธิ์และแฟรนไชส์ ทั้งหมดกว่า 1,929 IP ทั้งในส่วนของการ์ตูน คาแรคเตอร์ และเกม ส่งผลให้สามารถครองสัดส่วนรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ในอุตสาหกรรมของเล่นของโลก รองจากบริษัท LEGO โดยปี 2023 BANDAI NAMCO มีรายได้สูงถึง 7.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการพัฒนาสินค้าใหม่ตามความต้องการของตลาด การออกสินค้ารุ่นพิเศษคุณภาพสูงที่ผลิตตามจำนวนพรีออร์เดอร์เท่านั้น รวมถึงการใช้กลยุทธ์ Pop Culture ร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำอื่น ๆ เช่น BANDAI NAMCO x Nike เพื่อผลิตสินค้าลิมิเต็ดเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น            สหรัฐอเมริกามีบริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายรายที่ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและ Pop Culture อาทิ บริษัท JAKKS Pacific ผู้ผลิตของเล่นที่มีลิขสิทธิ์จากการ์ตูนและตัวละครชื่อดัง เช่น Disney และ The Simpsons บริษัท Hasbro เจ้าของแบรนด์ My Little Pony และเกม Monopoly และยังได้รับสิทธิ์ในการผลิตของเล่นเกี่ยวกับ Marvel รวมถึง บริษัท Mattel ผู้คิดค้นและผู้ผลิต Barbie และเกม UNO พร้อมทั้งถือลิขสิทธิ์ของเล่นของบริษัทบันเทิงระดับโลกอย่าง Disney และ Warner Brothers โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวทางสนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในอุตสาหกรรมของเล่น เพื่อให้ผู้ผลิตของเล่นสามารถปกป้องแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง            สหราชอาณาจักรมีมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมของเล่นปี 2023 อยู่ที่ 3.5 พันล้านปอนด์ ประเภทของเล่นที่มีสัดส่วนยอดขายสูงสุดคือ ของเล่นลิขสิทธิ์ (Licensed Toys) ที่ผสมผสานความเป็น Pop Culture โดยมีสัดส่วนร้อยละ 32 ของยอดขายของเล่นทั้งหมด และมีตลาดของเล่น Kidults เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เนื่องจาก ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28.7 ของยอดขายของเล่นทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านปอนด์ เติบโตจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6            ในขณะที่ จีน มีร้านขายของเล่น Art Toy แบรนด์ POP MART ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยในปี 2023 มียอดขายกว่า 6.3 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปี 2022 รายได้หลักมาจาก 2 ส่วน คือ Art Toy จากความร่วมมือกับศิลปินและนักออกแบบชื่อดัง อาทิ เคนนี หว่อง ศิลปินชาวฮ่องกง และ Art Toy จากความร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำ เช่น Walt Disney และ Universal Studios ที่นำตัวละครมาผลิตเป็นของเล่น ซึ่งความพิเศษของ POP MART คือการจำหน่ายของเล่นในรูปแบบกล่องสุ่ม (Blind Box) ที่ช่วยสร้าง ความตื่นเต้นให้นักสะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ POP MART ได้กลายเป็นผู้เล่นที่ครองตลาด Art Toy มากที่สุดในจีนถึงร้อยละ 13.6 ปัจจุบันมีหน้าร้านกว่า 350 สาขา และตู้ขายสินค้ากว่า 2,000 แห่งทั่วโลก และยังสามารถเลือกซื้อได้ทั้งทาง Online และ Offline ทำให้สะดวกในการเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น            ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลาดของเล่นและเกมยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง โดย Kidults และ Pop Culture เป็นปัจจัยน่าจับตามอง ที่แสดงให้เห็นว่าตลาดของเล่นไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มเด็กอีกต่อไป แต่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการควรสร้างความร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จาก Pop Culture สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับความทรงจำวัยเด็ก เพื่อกระตุ้นความสนใจและตอบสนองความต้องการซื้อของ Kidults ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเสริมสร้างแบรนด์ให้มีความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าทางการตลาด และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าระยะยาวได้ โดยเฉพาะในตลาดของสะสม

ไก่เนื้อหอม กระตุ้นการส่งออกไทย

ไก่เนื้อหอม กระตุ้นการส่งออกไทย

          หุ้นวิชั่น - นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าเนื้อไก่ พบว่า ในปี 2568 คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกเนื้อไก่โลกจะเพิ่มสูงที่สุดในประวัติการณ์ โดยจะเติบโต 2% อยู่ที่ 13.8 ล้านตัน สำหรับไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก ก็จะมีการส่งออกเนื้อไก่เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าระวังการขยายการส่งออกของบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับที่ 1 ของโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย           สนค. ได้ศึกษาข้อมูลรายงานสถานการณ์ตลาดสินค้าสัตว์ปีก ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) พบว่า ปี 2568 การผลิตเนื้อไก่ทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2% หรือประมาณ 104.9 ล้านตัน (ปี 2567 มีการผลิตประมาณ 103.0 ล้านตัน) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย และความต้องการผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งจีนที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้จีนกลับมาเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับที่ 1 ของโลกอีกครั้ง (จีนเคยเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับที่ 1 ของโลก และถูกบราซิลแซงในปี 2565)           สำหรับการส่งออกเนื้อไก่โลกปี 2568 จะเติบโตที่ 2% อยู่ที่ 13.8 ล้านตัน (ปี 2567 มีการส่งออกประมาณ 13.6 ล้านตัน) ซึ่งเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้น โดยไก่เป็นโปรตีนราคาถูกที่ดึงดูดผู้บริโภครายได้ปานกลาง รวมทั้งการสนับสนุนจากซัพพลายเออร์ผู้ผลิตเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการขยายการส่งออกของบราซิล ทำให้ส่วนแบ่งการส่งออกของบราซิลขยายตัวต่อเนื่อง และกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่ของยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในตลาดนำเข้า ได้แก่ เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งบราซิลสามารถแข่งขันกับซัพพลายเออร์อื่นในด้านราคา และมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้คาดว่าในอนาคตบราซิล อาจแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ส่งออกเนื้อไก่รายอื่น ๆ อาทิ สหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น           การส่งออกเนื้อไก่ของโลกในปี 2568 มีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ (1) การควบคุมโรคระบาด บราซิลคงสถานะปลอดโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza: HPAI) การระบาดจำกัดอยู่เฉพาะนกป่าและไม่มีการระบาดเชิงพาณิชย์ จึงไม่ส่งผลต่อการผลิตและการค้า เช่นเดียวกับไทยที่ไม่พบการระบาดเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2552 รวมทั้งการควบคุมการระบาดของโรค HPAI ของสหภาพยุโรป จะช่วยสนับสนุนการส่งออกเนื้อไก่ของโลกไปยังตลาดต่าง ๆ (2) การมุ่งผลิตเพื่อส่งออก บราซิลและไทยมีสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าเพื่อตลาดภายในประเทศ แตกต่างจากยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้บราซิลและไทยสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า เช่น ไก่ทั้งตัว เนื้อถอดกระดูก เนื้ออก ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่ง เป็นต้น และ (3) ต้นทุนการผลิต บราซิลเป็นผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และ กากถั่วเหลืองรายใหญ่ มีความได้เปรียบด้านต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่า           ไทยมีการส่งออกสินค้าไก่ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) มูลค่ารวม 3,592.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (126,976 ล้านบาท) ขยายตัว 4.9% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกไก่ปรุงสุกไปตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไก่ของไทยประกอบด้วย 1) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่าส่งออก 1,131.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (39,967 ล้านบาท) หดตัว 0.2% ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ (1) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 36.85% ของมูลค่าส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย) (2) จีน (สัดส่วน 32.39%) (3) มาเลเซีย (สัดส่วน 14.37%) (4) เกาหลีใต้ (สัดส่วน 4.37%) และ (5) ฮ่องกง (สัดส่วน 3.13%) 2) ไก่แปรรูป มูลค่าส่งออก 2,461.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (87,009 ล้านบาท) ขยายตัว 7.4% ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ (1) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 47.58% ของมูลค่าส่งออกไก่แปรรูปของไทย) (2) สหราชอาณาจักร (สัดส่วน 27.21%) (3) เนเธอร์แลนด์ (สัดส่วน 6.13%) (4) เกาหลีใต้ (สัดส่วน 4.47%) และ (5) สิงคโปร์ (สัดส่วน 4.24%)           ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2568 การส่งออกเนื้อไก่ของโลกและไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อื่น ๆ เช่น บราซิล สหภาพยุโรป ก็มีแนวโน้มขยายตัวดีเช่นกัน ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูป (พิกัดศุลกากร 160232) อันดับที่ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน เคยมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก สำหรับปี 2566 ไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 25.8% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก รองลงมา คือ จีน (สัดส่วน 11.0%) เยอรมนี (สัดส่วน 9.3%) โปแลนด์ (สัดส่วน 8.9%) และเนเธอร์แลนด์ (สัดส่วน 8.6%) ตามลำดับ ดังนั้น ไทยต้องรักษาความสามารถทางการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งตลาด และขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ โดยต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ดูแลต้นทุนการเลี้ยงไก่ของไทยให้เหมาะสมเพื่อสินค้าไทยแข่งขันได้ ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 2 ธันวาคม 2567

สนค. ชวนส่องเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มยอดนินมแห่งปี 68

สนค. ชวนส่องเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มยอดนินมแห่งปี 68

             นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์แนวโน้มของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 เพื่อชี้ช่องทางและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก               FoodNavigator สำนักข่าวออนไลน์ชั้นนำสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เผยแพร่บทความ เรื่อง “แนวโน้มอาหารและเครื่องดื่มแห่งปี 2568 (ค.ศ. 2025)[1]” พบว่า ผู้บริโภคมีแนวคิดใน        การเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะผสมผสานระหว่างสุขภาพและความพึงพอใจ นอกจากนี้     ยังเปิดใจรับอาหารจากแหล่งใหม่ ๆ อาหารที่ผ่านการใช้เทคโนโลยีการเกษตร (Ag-Tech) รวมถึงอาหาร        ดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) รวมทั้งมีความเข้าใจและยอมรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น  จึงยอมรับในวัตถุดิบและรสชาติอาหารจากแหล่งใหม่ ๆ ทั้งจากท้องถิ่นและทั่วโลก สรุปเป็น 4 เทรนด์สำคัญ ดังนี้             1) ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ ผู้บริโภคจะคำนึงถึงประโยชน์ด้านสุขภาพและคุณค่าโภชนาการก่อนจะพิจารณาว่าอาหารดังกล่าวมีการแปรรูปมากเกินไปหรือไม่ (Ultra-processed Food) โดยคำนึงถึงสารอาหารเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น ผู้ผลิตควรให้ข้อมูลโภชนาการที่เข้าใจง่ายเพื่อตอบสนองเทรนด์นี้ ตัวอย่างพฤติกรรมผู้บริโภค อาทิ ผู้บริโภคบราซิล 83% ต้องการอิ่มนานขึ้น ผู้บริโภคอินโดนีเซีย 67% ต้องการทดลองอาหารเพื่อสุขภาพเฉพาะบุคคล ผู้บริโภคจีน 64% ใช้โซเชียลมีเดียในการหาข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ ผู้บริโภคอินเดีย 52% ควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และผู้บริโภคไทย 33% จะใช้จ่ายกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น 2) เน้นความพึงพอใจควบคู่กับสุขภาพที่ดี ความพึงพอใจของผู้บริโภคมีความหมายแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนอาจหมายถึงความสะดวกสบาย การได้ลิ้มรสอาหารอร่อยทุกวัน หรือการไม่รู้สึกผิดต่อการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้ผลิตจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างการมี    ส่วนร่วมของผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด เช่น ผู้บริโภคชาวจีน 63% มองหาอาหารรสชาติใหม่ ๆ เพื่อทดลอง ผู้บริโภคสหราชอาณาจักร 58% ที่บริโภคขนมหวาน ต้องการเห็นผู้ผลิตในแบรนด์ต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่ง FoodNavigator ระบุว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการความสมบูรณ์แบบ มีความยืดหยุ่นขึ้น และผ่อนคลายจากกฎเกณฑ์ ซึ่งผู้ผลิตต้องแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคมองหาที่ออกจากกรอบกฎเกณฑ์เดิม ๆ ให้เกิดความชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์            3) ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอาหาร แนวโน้มด้านแหล่งที่มาของอาหารมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลแหล่งที่มาของอาหารที่แท้จริง ข้อมูลต้องโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลก ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจว่า ผู้ผลิตอาจต้องให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของธุรกิจมากกว่าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจความท้าทายดังกล่าว เช่น ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น 65% เข้าใจถึงเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ตนเองไม่มีอำนาจควบคุม และผู้บริโภคชาวฝรั่งเศส 74% เข้าใจดีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสินค้าที่วางในซูเปอร์มาร์เก็ตในอนาคต            4) คาดหวังและเต็มใจที่จะบริโภคอาหารที่ผ่านเทคโนโลยีการเกษตร (Ag-Tech) การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารสมัยใหม่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นตัวกระตุ้นทำให้เห็นการผลิตอาหารจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จึงทำให้ผู้บริโภคคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบอาหารเพิ่มขึ้น เช่น ผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา 52% ยอมรับประทานพืชผักที่ผ่านกระบวนการดัดแปรพันธุกรรม ผู้บริโภคสหราชอาณาจักร 40% ต้องการรู้ข้อมูลมากขึ้นว่าอาหารผลิตมาอย่างไร และผู้บริโภคชาวอิตาเลียน 23% สามารถเลือกซื้อสินค้าอาหารหรือเครื่องดื่มแม้จะระบุว่ามีการดัดแปรพันธุกรรม ดังนั้น ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถออกผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม            ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารของไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อผลิตอาหารที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ  รวมทั้งแหล่งที่มาของอาหารที่ต้องมีความโปร่งใส รวมทั้งเปิดกว้างต่ออาหารที่ผ่านเทคโนโลยีการเกษตร และอาหารที่มีการดัดแปรพันธุกรรมเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวในอนาคตได้ [1] https://www.foodnavigator.com/Article/2024/10/01/The-top-food-and-drink-trends-for-2025 เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

ติดอาวุธธุรกิจบริการ พุ่งทะยานด้วย Generative AI

ติดอาวุธธุรกิจบริการ พุ่งทะยานด้วย Generative AI

           นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า Generative AI คือรูปแบบหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนต์ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ตามการเขียนป้อนความต้องการหรือคำสั่งของผู้ใช้งาน จึงเป็นโอกาสต่อธุรกิจให้สามารถผลิตคอนเทนต์ที่แตกต่าง หรือน่าสนใจได้อย่างรวดเร็ว และจับกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลายขึ้น ด้วยการใช้ประโยชน์จาก Generative AI            ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ McKinsey รายงานว่า การใช้ Generative AI จะช่วยลดระยะเวลา และลดขั้นตอนในการทำงานที่ซ้ำซ้อนของแรงงานและบุคลากรในองค์กร ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า Generative AI จะสร้างมูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ให้เติบโตอยู่ที่ 2.6 ถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี1 และตลาดโลกของธุรกิจด้าน Generative AI คาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 46.47 ต่อปีในช่วงปี 2567 ถึง 25732 ภาคส่วนธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ จะได้อานิสงส์และประโยชน์จากการนำ Generative AI มาใช้ได้มาก โดยเนื้อหา ที่ Generative AI สามารถสร้างผลงานออกมาได้มีหลากหลาย เช่น ข้อความตัวอักษร รูปภาพ เสียง วิดีโอ ตลอดจนการเขียนโค้ด หรือเขียนคำสั่งที่ควบคุมการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ โดยหนึ่งใน Generative AI ที่บุคคลรวมถึงภาคธุรกิจรู้จักและนิยมนำมาใช้อย่างแพร่หลายคือ ChatGPT ซึ่งเป็นเครื่องมือ AI ที่สามารถโต้ตอบผ่านการป้อนคำสั่งของผู้ใช้งานได้ทันที รูปแบบการใช้งาน Generative AI ซึ่งเป็นที่นิยม ในธุรกิจบริการ อาทิ แชทบอท (Chatbot) คือโปรแกรมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่เลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ แชทบอทถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบกลับการสนทนาของผู้ใช้โดยอัตโนมัติแบบทันที (Real-Time) ทั้งในรูปแบบตัวอักษร (Text) หรือเสียง (Speech) แชทบอทสามารถเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจบริการ โดยสามารถตอบกลับการสนทนา หรือคำถามพื้นฐานของลูกค้าหรือผู้ใช้งานได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Assistant) เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์สามารถเข้าใจและตอบสนองต่อคำสั่งเสียงของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นเสมือนผู้ช่วยในการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง การวิเคราะห์ความรู้สึกลูกค้า (Sentiment Analysis) คือการใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ ตรวจสอบอารมณ์และความรู้สึกลูกค้า ที่แสดงออกผ่านทางข้อความและเสียง ว่าลักษณะเนื้อหามีแนวโน้มเป็นเชิงบวก เป็นกลาง หรือเชิงลบ หรือใช้ในการระบุอารมณ์ที่ลึกซึ้ง เช่น ความรัก ความเศร้า หรือความโกรธ โดยเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อความเสียง ข้อความบนโซเชียลมีเดีย รีวิว หรือแบบสอบถาม ซึ่งการวิเคราะห์ความรู้สึกเหล่านี้มีส่วนช่วยในการปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เข่น ช่วยประเมินความพึงพอใจของลูกค้าผู้ใช้บริการ ธุรกิจบริการสามารถนำ Generative AI มาใช้ในการให้บริการ เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าผู้ใช้บริการได้อย่างหลากหลาย เช่น ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีก ที่มีร้านค้าออนไลน์ สามารถใช้แชทบอท และระบบสั่งการด้วยเสียงในการอำนวยความสะดวกลูกค้า โดยช่วยในการตอบคำถาม ให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำสินค้าและบริการ นอกจากนี้ Generative AI ยังช่วยในด้านการตลาดและการขาย เนื่องจากสามารถใช้เครื่องมือ AI ในการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ ในการประชาสัมพันธ์ หรือช่วยในการคิดกลยุทธ์การส่งเสริมการขายของธุรกิจได้            ด้านธุรกิจห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ สามารถใช้ประโยชน์จาก Generative AI ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และคาดการณ์ความเป็นไปได้ของเส้นทาง เวลา และข้อจำกัดในการขนส่ง เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด และตรวจสอบสาเหตุของการขนส่งสินค้าที่ล่าช้ากว่ากรอบเวลาที่กำหนด            ผอ. สนค. เผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการยกระดับการให้บริการ ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการด้วยการใช้ Generative AI ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การให้บริการ AI Chatbot (น้องต้นคิด) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นแชทบอทบริการถาม-ตอบข้อมูล คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจร            สำหรับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสนับสนุนการใช้ Generative AI แก่ผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ (1) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านความรู้และการใช้งาน Generative AI แก่ผู้ประกอบการและแรงงาน (2) กำกับดูแลการใช้งาน Generative AI ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ            ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า การใช้ Generative AI มีประโยชน์หลายประการสำหรับธุรกิจบริการ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจึงควรเรียนรู้ ปรับตัว และใช้ประโยชน์ นำมาใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และปรับปรุงธุรกิจ เพื่อเสนอบริการแก่ลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น และควรคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งข้อมูลของธุรกิจและข้อมูลของลูกค้า จากการใช้ Generative AI มาช่วยในการทำงาน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 13 พฤศจิกายน 2567

สนค. เผยดัชนีเศรษฐกิจการค้า ตค.67 เปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือน 18,262 บาท

สนค. เผยดัชนีเศรษฐกิจการค้า ตค.67 เปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือน 18,262 บาท

           สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยดัชนีเศรษฐกิจการค้า ประจำเดือนตุลาคม 2567  พร้อมเปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือนของไทยที่ 18,262 บาท            นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ของไทยเดือนตุลาคม 2567 เท่ากับ 108.61 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.72 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) โดยปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าได้มีการปรับสูงขึ้นเนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปีนี้ ขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก            อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกันยายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.61 (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 20 จาก 140 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 9 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว)            อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้            หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.95 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด (ต้นหอม กะหล่ำปลี ผักชี ผักกาดขาว มะเขือ พริกสด กะหล่ำดอก) ผลไม้สด (เงาะ กล้วยน้ำว้า มะม่วง แตงโม กล้วยหอม) ไก่สด ไข่ไก่ กุ้งขาว เนื้อสุกร และข้าวสารเจ้า กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำหวาน) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ไก่ย่าง มะนาว น้ำมันพืช หัวหอมแดง กระเทียม ปลาทู และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เป็นต้น            หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.04 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) และค่าถ่ายเอกสาร ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ แก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี) เป็นต้น            อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY) ทรงตัวเท่ากับเดือนกันยายน 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY)            ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2567 ลดลงร้อยละ 0.06 (MoM) ตามการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.11 ปรับลดลงตามราคาผักสดบางชนิด อาทิ แตงกวา ผักคะน้า พริกสด มะนาว และต้นหอม ผลไม้บางชนิด อาทิ ฝรั่ง ส้มเขียวหวาน ลองกอง และกล้วยน้ำว้า รวมทั้ง ไก่สด เนื้อสุกร ไข่ไก่ และอาหารโทรสั่ง (Delivery) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ ผักบุ้ง กะหล่ำปลี มะเขือ ข้าวสารเหนียว แก้วมังกร และมะม่วง และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.03 ตามการลดลงของราคาแก๊สโซฮอล์ และของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู ครีมนวดผม สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า น้ำยาถูพื้น) ค่าเช่าบ้าน น้ำมันดีเซล และค่าโดยสารเครื่องบิน เป็นต้น            ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.26 (AoA)            แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่ากระแสไฟฟ้าของภาครัฐในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา (3) สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (เดือนพฤศจิกายน 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง (2) ราคาผักสดกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวของอุทกภัยและน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่สิ้นสุดลง และ (3) คาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง - ค้าปลีกรายใหญ่ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง            ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.2 – 0.8 (ค่ากลาง ร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง            ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.9 จากระดับ 51.6 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับเพิ่มมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 44.8 จากระดับ 43.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 58.3 จากระดับ 57.2 สาเหตุของการปรับเพิ่มคาดว่ามาจาก (1) การดำเนินนโยบายที่เร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท) ช่วยส่งเสริมการบริโภคในประเทศ (2) การส่งออกขยายตัวดีตามความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น และ (3) การทยอยลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ช่วยผ่อนคลายความกังวลด้านการเงินให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ตาราง สรุปดัชนีเศรษฐกิจการค้า ปี 2566 - 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนตุลาคม 2567            ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนตุลาคม 2567 เท่ากับ 108.61 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.72 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) โดยปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผลไม้สดและผักสด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าได้มีการปรับสูงขึ้นเนื่องจากฐานราคา ที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปีนี้ ขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัว ลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก โดยมีรายละเอียด ดังนี้ — หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.95 เป็นการสูงขึ้นทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มผักสด สูงขึ้นร้อยละ 5.09 (ต้นหอม กะหล่ำปลี ผักชี ผักกาดขาว มะเขือ พริกสด กะหล่ำดอก) กลุ่มผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 6.49 (เงาะ กล้วยน้ำว้า มะม่วง แตงโม กล้วยหอม) กลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 2.98 (ข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารตามสั่ง) กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 1.84 (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.85 (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำหวาน) กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.44 (นมสด ไข่ไก่ นมผง นมถั่วเหลือง ไข่เป็ด) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.33 (ไก่สด ปลานิล ปลาทูนึ่ง กุ้งขาว เนื้อสุกร ปลาทับทิม) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 1.21 (น้ำตาลทราย มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.28 (ข้าวสารเจ้า ขนมอบ อาหารธัญพืช เต้าหู้) — หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.04 ได้แก่ หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.41 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน น้ำยารีดผ้า ไม้กวาด ผ้าปูที่นอน น้ำยาถูพื้น) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.57 (ค่าถ่ายเอกสาร ค่าทัศนาจรต่างประเทศ เครื่องถวายพระ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.86 (สุรา เบียร์ บุหรี่) สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.27 (แก๊สโซฮอล์ ค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้า ค่าส่งพัสดุไปรษณีย์ เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 0.60 (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม น้ำยาระงับกลิ่นกาย ลิปสติก น้ำยาบ้วนปาก) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.49 (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษและสตรี)            อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY)            ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.26 (AoA) ตารางแสดง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและอัตราการเปลี่ยนแปลง เดือนตุลาคม 2567 (2562 = 100) หมายเหตุ : ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน  หมายถึง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงาน Concept    ดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศไทย ปีฐาน 2562 มีจำนวนรายการสินค้าและบริการ ทั้งสิ้น 430 รายการ (ปีฐาน 2558 มีจำนวน 422 รายการ) ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 3) หมวดเคหสถาน 4) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 5) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 6) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ 7) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยการคํานวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปนั้น จะเปรียบเทียบราคาสินค้าในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ กับราคาสินค้าในช่วงเวลาเริ่มต้น เรียกว่า “ปีฐาน” ที่กําหนดตัวเลขดัชนีเท่ากับ 100 ทั้งนี้ ครัวเรือนผู้บริโภคที่ครอบคลุมในการคำนวณดัชนีปีฐาน 2562 ได้แก่ ครัวเรือนรวมเขตเทศบาล กรอบรายได้ 6,987 – 50,586 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน รวมค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นตัวเงินไม่เกิน ร้อยละ 42.19 สมาชิกครัวเรือนตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภูมิภาค 4 ภาค รวมทั้งสิ้น 48 จังหวัด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ดัชนีราคาผู้บริโภคสามารถสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคได้ดียิ่งขึ้น ในปี 2566 ได้มีการเพิ่มจังหวัดตัวแทนอีก 4 จังหวัด รวมเป็น 52 จังหวัด 1/     1/52 จังหวัด ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1. กรุงเทพมหานคร 2.นนทบุรี 3.ปทุมธานี 4.สมุทรปราการ ภาคกลาง  5.พระนครศรีอยุธยา 6.ลพบุรี 7.สิงห์บุรี 8.ชลบุรี 9.ระยอง 10.จันทบุรี 11.ปราจีนบุรี 12.ราชบุรี 13.สุพรรณบุรี 14.เพชรบุรี 15.ประจวบคีรีขันธ์ 16.ฉะเชิงเทรา 17.นครปฐม 18.สระแก้ว 19.กาญจนบุรี ภาคเหนือ 20.นครสวรรค์ 21.ตาก 22.แพร่ 23.เชียงใหม่ 24.เชียงราย 25.อุตรดิตถ์ 26.พิษณุโลก27.เพชรบูรณ์  28.น่าน 29. พะเยา 30. ลำปาง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31.นครราชสีมา 32.ขอนแก่น 33.สุรินทร์ 34.อุบลราชธานี 35.หนองคาย 36.ศรีสะเกษ 37.มุกดาหาร  38.อุดรธานี 39.ร้อยเอ็ด 40.นครพนม 41.เลย 42.กาฬสินธุ์ 43.บึงกาฬ  ภาคใต้  44.สุราษฎร์ธานี 45.นครศรีธรรมราช 46.ตรัง 47.สงขลา 48.ยะลา 49.ภูเก็ต 50.กระบี่  51. นราธิวาส  52.ระนอง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนตุลาคม 2567            ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.9 จากระดับ 51.6 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับเพิ่มมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 44.8 จากระดับ 43.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 58.3 จากระดับ 57.2 สาเหตุของการปรับเพิ่มคาดว่ามาจาก 1) การดำเนินนโยบายที่เร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท) ช่วยส่งเสริมการบริโภค ในประเทศ 2) การส่งออกขยายตัวดีตามความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น และ 3) การทยอยลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ช่วยผ่อนคลายความกังวลด้านการเงินให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ด้านเศรษฐกิจไทย คิดเป็นร้อยละ 86 ด้านมาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 86 ด้านเศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 31 ด้านสังคม/ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 86 ด้านราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 50 ด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 67 ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 13 ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 14 ด้านอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 1.67 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 53.2 มาอยู่ที่ระดับ 56.0 ภาคกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 50.9 มาอยู่ที่ระดับ 52.7 ภาคเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 48.9 มาอยู่ที่ระดับ 4 ภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 48.1 มาอยู่ที่ระดับ 48.9 กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวลดลง จากระดับ 57.5 มาอยู่ที่ระดับ 58 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ พบว่า ผู้ประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 53.2 มาอยู่ที่ระดับ 54.2 เกษตรกร ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 50.9 มาอยู่ที่ระดับ 53.2 นักศึกษา ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 52.9 มาอยู่ที่ระดับ 53 พนักงานเอกชน ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 51.1 มาอยู่ที่ระดับ 52.1 รับจ้างอิสระ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 48.4 มาอยู่ที่ระดับ 50.9 ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 46.0 มาอยู่ที่ระดับ 47.3 พนักงานของรัฐ ปรับตัวลดลง จากระดับ 56.1 มาอยู่ที่ระดับ 50 เมื่อพิจารณากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 43.5 มาอยู่ที่ระดับ 48.4 ตาราง แสดงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนตุลาคม 2567 หมายเหตุ    1.  สำรวจข้อมูลจากผู้บริโภคจำนวน 5,802 คน ในทุกอำเภอทั่วประเทศ (884 อำเภอ/เขต)  แยกเป็น 7 กลุ่มอาชีพ ตามโครงสร้างอาชีพประชากรในแต่ละภาค โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 2. การอ่านค่าดัชนี : ระดับค่าของดัชนีมีค่ายู่ระหว่าง 0 - 100 หากค่าของดัชนีมีค่าตั้งแต่ระดับ 50 ขึ้นไป หมายถึง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ (อยู่ในช่วงเชื่อมั่น) และหากค่าดัชนีต่ำกว่า 50 หมายถึง ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ (อยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น)

ทูน่ากระป๋องไทยพุ่ง ส่งออกโต 20% แรงหนุนดีมานด์จากสหรัฐฯ-ตะวันออกกลาง

ทูน่ากระป๋องไทยพุ่ง ส่งออกโต 20% แรงหนุนดีมานด์จากสหรัฐฯ-ตะวันออกกลาง

          การส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยมีแนวโน้มสดใสอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนสำคัญจากตลาดสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง และความต้องการกักตุนอาหารจากสถานการณ์ความขัดแย้งและสงคราม ในหลายจุด เช่น อิสราเอล-ปาเลสไตน์ และรัสเซีย-ยูเครน           นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติ การส่งออกทูน่ากระป๋อง (พิกัดศุลกากร 160414) ของไทย ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย. 2567) ของปี 2567 มีมูลค่ารวม 1,851 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 65,984 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกขยายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เรียงตามลำดับมูลค่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก ดังนี้           ภูมิภาคอเมริกา มีมูลค่าการส่งออก 632 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแคนาดา ตลาดส่งออกหลักของไทยในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) สหรัฐอเมริกา 402.39 ล้านเหรียญสหรัฐ (+15.41%) 2) แคนาดา 102.43 (+40.57%) และ 3) ชิลี 47.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (+6.01%)           ภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง มีมูลค่าการส่งออก 618 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว ถึงร้อยละ 38.97 โดยแรงหนุนที่ทำให้ดีมานด์ในตะวันออกกลางขยายตัว มาจากความกังวลต่อสถานการณ์สงคราม จึงกักตุนสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะ อิสราเอล (+103.43%) เลบานอน (+72.97%) และอิรัก (+110.31%) สำหรับในเอเชีย ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าทูน่าในปริมาณสูง แต่ด้วยปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง           ตลาดส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 168.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (-17.88%) 2) ซาอุดีอาระเบีย 110.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.79%) และ 3) สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ 100.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (+55.30%)           ภูมิภาคแอฟริกา มีมูลค่าการส่งออก 247 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีแรงกระตุ้นจากปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคนี้ ตลาดสำคัญในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) ลิเบีย 124.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (+12.62%) 2) อียิปต์ 75.97 ล้านเหรียญสหรัฐ (+106.17%) และ 3) แอฟริกาใต้ 28.87 ล้านเหรียญสหรัฐ (+61.04%)           ภูมิภาคออสเตรเลียและโอเชียเนีย มีมูลค่าการส่งออก 184 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ที่หันมาบริโภคอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น ตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 146.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (+18.81%) 2) นิวซีแลนด์ 23.02 (31.50%) และ3) ปาปัวนิวกินี 7.59 ล้านเหรียญสหรัฐ (186.86%)           ภูมิภาคยุโรป มีมูลค่าการส่งออก 170 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.48 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงการกักตุนอาหารกระป๋อง จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างประเทศและภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะยูเครน (+72.81%) ตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) สวิตเซอร์แลนด์ 30.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (+42.98%) 2) รัสเซีย 26.82 ล้านเหรียญสหรัฐ (19.70%) และ 3) สหราชอาณาจักร 26.76 (+66.54%)           นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ไทยครองตำแหน่งผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างยาวนาน มีปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ค่าแรงที่แข่งขันได้ และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้ไทยสามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตของสินค้าทูน่ากระป๋อง จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าที่ไทยเป็นผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างต่อเนื่อง           ปัจจุบัน อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ราคาย่อมเยา แต่ยังคงใส่ใจต่อสุขภาพ ประกอบกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และกระแสความกังวลสถานการณ์สงคราม ทำให้สินค้าทูน่ากระป๋องตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบันและสถานการณ์โลก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่มีนัยสำคัญ คือ การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสุนัขและแมวอันดับต้น ๆ ของโลก และส่วนใหญ่เป็นอาหารเปียกที่ทำจาก ปลาต่าง ๆ รวมถึงทูน่า ทำให้ไทยมีการนำเข้าปลาทูน่าเป็นปริมาณมากในแต่ละปี ไทยจึงเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทูน่าโลก           ในช่วงต่อไป อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ ภาวะเงินเฟ้อและการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบกำลังซื้อและการส่งออก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปริมาณปลาทูน่าลดลงและส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ตลอดจนมาตรการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fishing) และมาตรการด้านแรงงาน (Fair Labor Practice) ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในสินค้าทูน่ากระป๋องของไทย อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการขยายตลาดทูน่ากระป๋องของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

abs

SSP : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

พาณิชย์จับตาผลกระทบจากนโยบายผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

พาณิชย์จับตาผลกระทบจากนโยบายผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

          นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ระหว่างรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดยนโยบายของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในประเด็นด้านการค้า การลงทุน และนโยบายที่อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ           ในกรณีที่แฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง คาดว่าจะมีการสนับสนุนการค้าเสรีมากขึ้น โดยอาจมีการผลักดันให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยพิจารณาเข้าร่วมเพื่อขยายการค้ากับประเทศสมาชิก นอกจากนี้ อาจมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตรในเอเชีย ซึ่งไทยอาจได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในอุตสาหกรรม 4.0 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มใช้มาตรการที่นุ่มนวลกว่าทรัมป์ในเรื่องมาตรการทางภาษีกับจีน แต่ก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้ไทยอาจต้องปรับตัวโดยการกระจายความเสี่ยงและหาพันธมิตรทางการค้าใหม่           ในทางกลับกัน หากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่ง อาจมีการเพิ่มภาษีนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% หรือมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นโอกาสให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเพิ่มขึ้น และความต้องการสินค้าทดแทนจากไทยในตลาดสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ สหรัฐฯ อาจเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ           ในกรณีที่แฮร์ริสได้รับชัยชนะ อาจส่งผลดีต่อการลงทุนในประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรม การส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล อาจเปิดโอกาสให้บริษัทไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เข้าร่วมลงทุนในสหรัฐฯ นอกจากนี้ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน อาจนำมาซึ่งโอกาสในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมลงทุนในการผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงสำหรับประเทศไทย ในด้านนวัตกรรม นโยบายของแฮร์ริสอาจส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมและซอฟต์แวร์ของไทยเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก อีกทั้งการสนับสนุนการพัฒนา Smart City อาจนำมาซึ่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดโอกาสในการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและสหรัฐฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย           ในทางกลับกัน หากทรัมป์ได้รับชัยชนะ นโยบาย "America First" อาจส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐฯ ในประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การใช้มาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อดึงการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ อาจทำให้บริษัทสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตในไทยพิจารณาย้ายกลับประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย นอกจากนี้ อาจเกิดการชะลอตัวของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ สู่ไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในระยะยาว การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมจากบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในไทยอาจลดลง รวมถึงอาจเกิดการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์ หรือเทคโนโลยี 5G ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย           นโยบายของแฮร์ริสที่มุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวชนชั้นแรงงานและการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยในทางที่เป็นประโยชน์ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการสังคมในสหรัฐฯ แม้จะอาจเพิ่มต้นทุนการผลิต แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อในไทย ในขณะเดียวกัน มาตรการควบคุมราคายา ค่ารักษาพยาบาล และพลังงานในสหรัฐฯ อาจช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมเงินเฟ้อในไทย นอกจากนี้ นโยบายที่มุ่งเน้นการควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทและอัตราเงินเฟ้อในไทย           ในทางตรงกันข้าม นโยบายของทรัมป์ที่เน้นการลดอัตราดอกเบี้ยและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยในหลายมิติ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก นำไปสู่แรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศคู่ค้าอย่างไทย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำอาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย และอาจนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินค้าภายในประเทศ ซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วในสหรัฐฯ อาจเพิ่มความต้องการสินค้าในตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยสูงขึ้น ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจเพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ ส่งผลต่อราคาสินค้าในประเทศไทย ท้ายที่สุด นโยบายการคลังแบบขยายตัว เช่น การลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ อาจก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทยในระยะยาว           ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและนโยบายที่อาจตามมา ประเทศไทยควรดำเนินการในหลายด้าน เริ่มจากภาคธุรกิจที่ควรกระจายความเสี่ยงโดยขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ควรติดตามนโยบายการค้าและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวได้ทันท่วงที และพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานทางเลือกเพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอนาคต           ในระดับประเทศ ไทยควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมถึงพัฒนานโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง           ในด้านเศรษฐกิจและการเงิน ภาครัฐควรเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้านำเข้า และพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในภาคธุรกิจ           ผอ. สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการเตรียมมาตรการรองรับที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ จะเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนโยบายเศรษฐกิจที่จะตามมา รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายและฉกฉวยโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

[PR News] สนค. เสนอ Digital Twin กระจกสะท้อนที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต

[PR News] สนค. เสนอ Digital Twin กระจกสะท้อนที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต

          สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แนะภาคธุรกิจประยุกต์ใช้ Digital Twin เทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบใหม่ ช่วยคาดการณ์และปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กร ตอบสนองความต้องการของลูกค้า สร้างโอกาสทางการค้า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโต           นายพูนพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว และช่วยให้กิจกรรมของภาคส่วนต่าง ๆ มีประสิทธิภาพดีขึ้น อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ก็ยังคงมีข้อจำกัดและอาจเกิดความผิดพลาดได้ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทำหน้าที่เสมือนกระจกสะท้อนและคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่า ฝาแฝดดิจิทัล หรือ Digital Twin           ผอ.สนค. อธิบายว่า Digital Twin คือ แบบจำลองเสมือน (virtual representation) ของส่วนประกอบ วัตถุ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือระบบต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเกิดจากการติดตั้งและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายประเภท เข้ากับ “ต้นแบบ” สำหรับจำลองและส่งข้อมูลสถานะหรือการเปลี่ยนแปลงของต้นแบบแบบ real-time อาทิ การสร้างแบบจำลองและวัตถุเสมือนจริงแบบ 3 มิติ เทคโนโลยี Sensor และ Internet of Things (IoT) โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลโดยเทคโนโลยี Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อแจ้งเตือนความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาด หรือให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาต้นแบบ จะเห็นได้ว่า Digital Twin เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางกายภาพ โดยการประสานข้อมูลทางกายภาพของต้นแบบกับแบบจำลองเสมือนเข้าด้วยกัน           ปัจจุบัน Digital Twin ถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ และในหลายระดับ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน รวมถึงพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ตรงกับความต้องการของตลาด และมีแนวโน้มที่จะถูกนำไปใช้เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลก McKinsey คาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะผลักดันให้การลงทุนใน Digital Twin อาจมีมูลค่ามากถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2026 ทั้งนี้ ปัจจุบัน Digital Twin ยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและซับซ้อน อาทิ ในอุตสาหกรรมอวกาศ บริษัท SpaceX สร้าง Digital Twin ของยานอวกาศ Dragon Capsule เพื่อตรวจสอบและปรับเปลี่ยนแนววิถี และระบบขับเคลื่อนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัท General Electric ที่ใช้ Digital Twin กับเครื่องยนต์ของอากาศยาน เพื่อติดตามการทำงานของเครื่องยนต์แบบ Real-Time คาดการณ์การซ่อมบำรุงล่วงหน้า ซึ่งช่วยลดต้นทุนการซ่อมบำรุงและการดูแลรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ด้วย และในอุตสาหกรรมก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) สร้าง Digital Twin ของการใช้พลังงานและน้ำ การปล่อยคาร์บอน และขยะ ในทุกอาคาร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษาและบริหารจัดการอาคารได้ร้อยละ 35 และลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ Digital Twin ยังถูกนำไปใช้ในภาคส่วนหรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ พลังงาน สุขภาพ ก่อสร้าง ตลอดจนการวางผังเมือง           สำหรับภาคธุรกิจ สามารถประยุกต์ใช้ Digital Twin เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือบริการ ดังนี้ (1) ด้านคุณภาพสินค้าและบริการ เนื่องจาก Digital Twin สามารถคาดการณ์และตรวจสอบแนวโน้มความผิดพลาดและข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตหรือกระบวนการดำเนินงาน ทำให้ผู้ผลิตสามารถทราบปัญหาและแก้ไขได้ทันท่วงที และส่งผลให้คุณภาพของสินค้าหรือบริการดีขึ้น (2) ด้านการบริหารจัดการ ภาคธุรกิจสามารถใช้ Digital Twin ในการออกแบบหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ให้ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสินค้า และลดต้นทุนและระยะเวลาในการผลิตสินค้าหรือให้บริการ และ (3) ด้านการรับประกันและการให้บริการหลังการขาย ข้อมูล ที่รวบรวมได้จาก Digital Twin สามารถนำไปใช้ในการออกแบบนโยบายการรับประกันสินค้าและการให้บริการหลังการขายให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และต้นทุนของภาคธุรกิจ           ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาครัฐและภาคเอกชนควรเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล ทั้งในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล และแรงงาน เพื่อรองรับ Digital Twin ที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของภาคอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ช่วยสร้างโอกาสทางการค้า ช่วยบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตมากขึ้น

สนค. ชวนถอดรหัสการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าไทย-จีน

สนค. ชวนถอดรหัสการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าไทย-จีน

          สนค. ชวนถอดรหัสการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีนด้วย Data Analytics Dashboard บนเว็บไซต์ คิดค้า.com พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกทุเรียนไทยเป็นมูลค่าสูงที่สุด ขณะที่จีนใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ากลับมาที่ไทยภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าอาเซียน-จีน           นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์สถานการณ์การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปี 2566 เพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าที่มีอยู่ พร้อมแนะให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าให้มากขึ้น           ปัจจุบันไทยและจีนอยู่ภายใต้ความตกลงทางการค้าร่วมกันทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลง เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 โดยลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันครอบคลุมสินค้ามากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน (Tariff lines) และความตกลงหุ้นส่วน ทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โดยลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกครอบคลุมสินค้าร้อยละ 65 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน           สนค. พบว่าสัดส่วนมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่อมูลค่าการส่งออก/นำเข้าของไทยสูงกว่าจีน แต่หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าขอใช้สิทธิพบว่าจีนมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในมูลค่าที่สูงกว่าไทย จากข้อมูลการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าปี 2566 ไทยมีมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ที่ร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกรวม เทียบกับจีนที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอยู่ที่ร้อยละ 32 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมิติของมูลค่า จีนมีมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ 22,905 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ามูลค่า การขอใช้สิทธิประโยชน์ของไทย ซึ่งอยู่ที่ 20,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ           นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบสินค้าที่มีมูลค่าการขอใช้สิทธิสูงที่สุดของแต่ละประเทศ พบว่าไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในสินค้าทุเรียนสดสูงที่สุด ขณะที่จีนใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า โดยประเทศไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกทุเรียน (HS 0810.60) เป็นมูลค่า 4,021 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าว ขณะเดียวกันจีนใช้สิทธิประโยชน์ ทางการค้าส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (HS 8703.80) เป็นมูลค่า 2,464 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีน ดังนั้น หากเปรียบเทียบเฉพาะสินค้าสำคัญอันดับ 1 ของทั้งสองประเทศ ไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในมูลค่าที่สูงกว่าจีน           ความตกลงทางการค้าระหว่างไทย-จีนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรที่ไทยมีความได้เปรียบ เช่น ทุเรียน และมันสำปะหลัง และจะเห็นได้ว่าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าระหว่างไทยและจีนได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสที่จะขยายการใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางการค้าได้มากขึ้น ด้วยการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้กับผู้ส่งออกไทยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความตกลงทางการค้า รวมถึงการใช้ Data Analytics Dashboard บนเว็บไซต์คิดค้า.com เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนทางการค้าได้อย่างแม่นยำ           ผอ.สนค. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เว็บไซต์ “คิดค้า.com” เป็นศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกที่สำคัญของประเทศ ประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกรายสินค้า รวมทั้งมิติการค้าทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือไว้ใช้งานวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์การค้าได้อย่างเจาะลึกและทันต่อสถานการณ์การค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยใช้แนวคิด Big Data Analytics วิเคราะห์และประมวลผลหลายมิติ หลากมุมมอง โดย “คิดค้า.com” มี Data Analytics Dashboard เผยแพร่แล้วรวม 4 หัวข้อ ได้แก่ ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าสินค้าเกษตร (Agriculture Trade Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจระดับจังหวัด (Province Economy Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (Global Trade and Economy Dashboard) และข้อมูลเชิงลึกด้านโลจิสติกส์ (Logistic Dashboard)           ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม และสนใจข้อมูลแนวโน้มการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในสินค้าและตลาดอื่น ๆ สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ คิดค้า.com หรือเพจเฟซบุ๊กสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 2 ตุลาคม 2567

abs

Hoonvision