#ภูเก็ต


"ภูเก็ต" ยืนหนึ่งเรื่องท่องเที่ยว พร้อมจริงจังเรื่องยั่งยืน

          หุ้นวิชั่น - ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตดีจากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และดีกว่าภาพรวมทั้งประเทศ โดยเป็นผลจากกำลังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นมากแม้จำนวนนักท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว อีกทั้ง เศรษฐกิจภูเก็ตยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในปี 2568 จึงทำให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า  การท่องเที่ยวภูเก็ตมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในยุคหลังโควิด-19 ทั้งเทรนด์การท่องเที่ยวและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาต่อเนื่องตลอดทั้งปี ตามกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางสัญชาติมากขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยรับนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปเป็นหลักและส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามาในช่วง High season ตั้งแต่พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพที่เข้ามาใหม่อย่างอินเดีย คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอิสราเอลเป็นนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางเข้ามาในช่วงกรกฎาคม-ตุลาคม ซึ่งมาเสริมรายได้ให้ภาคท่องเที่ยวภูเก็ตในช่วง Low season ได้มากขึ้น ความหลากหลายของพฤติกรรมการท่องเที่ยวตามเทรนด์การท่องเที่ยวของแต่ละสัญชาติ โดยนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าพักในย่านเมืองเก่ามากขึ้นจากเดิมที่เน้นพักผ่อนอยู่ริมหาดตลอดทั้งทริป และแต่ละพื้นที่จะมีฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่แตกต่างกัน อย่างเช่น นักท่องเที่ยวอินเดียกว่า 64% จะเข้าพักในพื้นที่ป่าตองด้วยไลฟ์สไตล์ที่ชอบความบันเทิงและ Nightlife ขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียและคาซัคสถานที่ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาพำนักในไทยเป็นระยะเวลานาน มักเลือกพักในพื้นที่กะรนที่เงียบและสงบกว่า เป็นต้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูเก็ตเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงมากขึ้น จากภาพรวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT ที่มีสัดส่วนมากขึ้นแทนกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ราคาประหยัด รวมถึงการเข้ามาของกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพใหม่ที่ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสูงอย่างนักท่องเที่ยวรัสเซีย อิสราเอล คาซัคสถาน และตะวันออกกลาง จึงทำให้ภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มไลฟ์สไตล์หรูตามกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่เข้ามา  ในระยะข้างหน้า ภูเก็ตกำลังมุ่งพัฒนาใน 2 ด้านหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐานและความยั่งยืน โดยในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภูเก็ตมีแผนในการพัฒนาสนามบินทั้งการขยายสนามบินเดิม และการสร้างสนามบินใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ยังมีแผนพัฒนาระบบคมนาคมภายในจังหวัดให้มีความสะดวกและแก้ไขปัญหาการจราจร พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว สำหรับในด้านความยั่งยืน ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องที่อยู่ในโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยธุรกิจท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญเนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ปัจจุบันโรงแรมและที่พักในภูเก็ตที่ได้รับสัญลักษณ์ความยั่งยืนมีเพียง 4% ของโรงแรมในภูเก็ตทั้งหมด อย่างไรก็ดี ภูเก็ตยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง การจัดการกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น การเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ทันกับการเติบโต การขาดแคลนแรงงานทักษะด้านบริการ การเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของจังหวัดที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งสร้างความท้าทายต่อการวางแผนพัฒนา นอกจากนี้ การเติบโตของภาคท่องเที่ยวภูเก็ตนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชน โดยธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ที่เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภูเก็ตมากขึ้น ดังนั้น การนำเสนอสินค้าและบริการที่โดดเด่น และสามารถตอบโจทย์ความหลากหลายที่เข้ามาจะสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นได้ ซึ่งรวมถึงการยกระดับสินค้าหรือบริการให้นักท่องเที่ยวรับรู้ถึงความคุ้มค่าของบริการและการใช้จ่ายแม้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจภูเก็ตยังสร้างโอกาสการเติบโตให้กับหลายธุรกิจในภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลเอกชน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้เติบโตไปพร้อมกับภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย ทั้งนี้การพัฒนาการท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างยั่งยืนนั้นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐเป็นกำลังสำคัญ โดย 1. การยกระดับภาคการท่องเที่ยวสู่โซนท่องเที่ยวอันดามัน ให้ครอบคลุมพื้นที่ในหลายจังหวัดอันดามันทั้งพังงาและกระบี่ จะช่วยลดความแออัดของภูเก็ต ลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงให้มากขึ้น 2. การวางทิศทางด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ที่จะช่วยให้ภาพรวมการพัฒนาทั้งจังหวัดเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และยังสามารถสร้างจุดแข็งให้กับจังหวัดในการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้นอีกด้วย และ 3. การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านคมนาคมและสาธารณูปโภคให้ครบวงจรและเชื่อมต่อพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเป็นระบบ จะช่วยรองรับการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและการพัฒนาด้านความยั่งยืนของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี อ่านต่อรายงานฉบับเต็มได้ที่... https://www.scbeic.com/th/detail/product/phuket-041224 ผู้เขียนบทวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม นักวิเคราะห์อาวุโส ปุญญภพ ตันติปิฎก นักวิเคราะห์อาวุโส กีรติญา ครองแก้ว นักวิเคราะห์

[PR News] ORI เจาะตลาดภูเก็ต พร้อมคืนหุ้นกู้ 3,875 ล้าน

[PR News] ORI เจาะตลาดภูเก็ต พร้อมคืนหุ้นกู้ 3,875 ล้าน

          ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ครึ่งปีหลังยังแกร่ง กวาดยอดขายใหม่จากต่างชาติในภูเก็ต 1,000 ล้านตั้งแต่ยังไม่เปิดขายทางการ เตรียมลุยเปิดโครงการใหม่ตอกย้ำความสำเร็จทำเลภูเก็ตต่อเนื่อง และชำระคืนหุ้นกู้ครบกำหนดช่วงครึ่งปีหลัง 2567 จำนวน 5 รุ่นเต็มจำนวน 3,875 ล้านบาทตามกำหนด 100% ตอกย้ำประวัติชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยครบตามกำหนด 8 ปีต่อเนื่อง           นายพีระพงศ์​ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสไปสู่การตลาดใหม่ๆ อาทิ ภูเก็ต ซึ่งเป็นตลาดที่บริษัททยอยเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากที่ได้รับการตอบรับดี ดีมานด์แกร่ง ล่าสุดบริษัทสามารถกวาดยอดขายจาก 2 โครงการคอนโดมิเนียมใหม่ที่ยังไม่เปิดขายอย่างเป็นทางการ ได้แก่ 1.โซ​ ออริจิ้น กะตะ ภูเก็ต (So Origin Kata Phuket) และ 2.ออริจิ้น เพลส เซ็นเตอร์ ภูเก็ต (Origin Place Centre Phuket) ในตึกที่เป็นโควตาของผู้ซื้อชาวต่างชาติ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท           “ตลาดที่ยังมีดีมานด์แข็งแกร่งในขณะนี้ คือตลาดที่มีลูกค้าหลากหลายกลุ่มในพื้นที่เดียว ทั้งตลาดซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง ตลาดซื้อเพื่อลงทุน และตลาดต่างชาติ รวมไปถึงตลาดที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ตลาดคอนโดมิเนียมเลี้ยงสัตว์ได้ การเลือกโฟกัสในตลาดที่ยังมีดีมานด์ จะมีส่วนสำคัญให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย” นายพีระพงศ์ กล่าว           นายพีระพงศ์​ จรูญเอก เผยอีกว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 นี้ ถึงแม้ภาพรวมสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารสภาพคล่อง โดยครึ่งปีหลัง บริษัทสามารถชำระคืนหุ้นกู้พร้อมดอกเบี้ยได้ครบตามกำหนดทุกรุ่น ซึ่งมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ 5 รุ่น คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 3,875 ล้านบาท ได้แก่ 1. หุ้นกู้ครั้งที่ 2/2564 ชุดที่ 2 (ORI247A) อายุ 3 ปี ครบกำหนดวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 วงเงิน  1,431.7 ล้านบาท 2. หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 1 (ORI247B) อายุ 2.22  ปี  ครบกำหนดวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 วงเงิน 535 ล้านบาท 3.หุ้นกู้ครั้งที่ 3/2566 ชุดที่ 1 (ORI248A) อายุ 1 ปี ครบกำหนดวันที่ 30 สิงหาคม 2567 วงเงิน 500 ล้านบาท 4.หุ้นกู้ครั้งที่ 3/2565 ชุดที่ 2 (ORI249A) อายุ 2 ปี ครบกำหนดวันที่ 1 กันยายน 2567 วงเงิน 807.8 ล้านบาท และ 5.หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566 ชุดที่ 3 (ORI249B) อายุ 1 ปี 6 เดือน ครบกำหนด     วันที่ 22 กันยายน 2567 วงเงิน 600 ล้านบาท           “ที่ผ่านมา เราออกหุ้นกู้เพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตามแผนการดำเนินงานและเป้าหมายธุรกิจที่วางไว้ เราจึงได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนทั้งกลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มนักลงทุนรายย่อย เราขอขอบคุณนักลงทุนทุกรายที่ให้ความไว้วางใจ และจะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้” นายพีระพงศ์​ กล่าว           ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2559 บริษัทดำเนินการระดมทุนผ่านหุ้นกู้มาแล้วมากกว่า 30 ชุด โดยมีประวัติการชำระคืนที่        ดีมาโดยตลอด จากที่บริษัทมีการวางแผนการออกและเสนอขายหุ้นกู้โดยคำนึงถึงจำนวนและระยะเวลาครบกำหนดเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ลักษณะการทยอยชำระจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการและการรับรู้รายได้ของโครงการในอนาคตเนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้ตามแผนงาน และวัตถุประสงค์ของการออกหุ้นกู้           นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากภูเก็ต เช่น แถบนิคมอมตะ-ชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งงานที่มีความต้องการทั้งกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่เองทำงานบริเวณนิคม และกลุ่มผู้ซื้อปล่อยเช่าลงทุนระยะยาว           ขณะที่ด้านการโอนกรรมสิทธิ์นั้น บริษัทยังมียอดขายรอโอนกรรมสิทธิ์ (แบ็คล็อก) ณ ไตรมาส 2 /2567 มูลค่ารวมประมาณ 47,135 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 4/2567 บริษัทยังมีโครงการคอนโดมิเนียมที่จะทยอยโอนกรรมสิทธิ์ใหม่เป็นครั้งแรกเพิ่มเติมอีก 3 โครงการ ได้แก่ 1.โซ ออริจิ้น พหล 69 (So Origin Phahol 69) 2.ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ สิรินธร สเตชั่น (Origin Plug & Play Sirindhorn Station) และ 3. ไนท์บริดจ์ สเปซ สุขุมวิท-พระราม4 (KnightsBridge Space Sukhumvit-Rama4) โดยมีแบ็คล็อกใน 3 โครงการ คิดเป็น มูลค่ากว่า 6,350 ล้านบาท หรือกว่า 85% ของมูลค่าโครงการ บริษัทจึงมั่นใจว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI มีโครงสร้างธุรกิจหลากหลาย ประกอบด้วย           1.ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย (Residential Development Business) พัฒนาคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรมาแล้ว 163 โครงการ (ณ สิ้นไตรมาส 2/2567) เช่น แบรนด์ พาร์ค ออริจิ้น (Park Origin), โซ ออริจิ้น        (So Origin), ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ (Origin Plug & Play), ไนท์บริดจ์ (Knightsbridge), นอตติ้ง ฮิลล์ (Notting Hill), ออริจิ้น เพลส (Origin Place), ดิ ออริจิ้น (The Origin), เคนซิงตัน (Kensington), แฮมป์ตัน (Hampton), ออริจิ้น เพลย์ (Origin Play), บริกซ์ตัน (Brixton) และ บริทาเนีย (Britania) รวมมูลค่าโครงการกว่า 253,198 ล้านบาท           2.ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income Business) เช่น โรงแรม เซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ ค้าปลีก           3.ธุรกิจบริการ (Service Business) เช่น ธุรกิจให้บริการลูกบ้าน ธุรกิจการจัดการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจตัวแทนซื้อ ขาย เช่า อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์           4.ธุรกิจเมกะเทรนด์ระยะยาว (Mega Trends) กลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจเฮลท์แคร์ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจด้านการเงิน ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนท์ ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้บริโภคแบบครบวงจร