#พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค


‘พลังงาน’ จับมือ ‘ซัสโก้’ ลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาท 1 เดือน ฉลองวันพ่อแห่งชาติ ลดค่าใช้จ่ายประชาชน

‘พลังงาน’ จับมือ ‘ซัสโก้’ ลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาท 1 เดือน ฉลองวันพ่อแห่งชาติ ลดค่าใช้จ่ายประชาชน

          หุ้นวิชั่น - วันนี้ (3 ธ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แถลงถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน และ กลุ่มบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) ในการลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 1.00 บาท เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2568 ณ สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของ ซัสโก้ และ ไซโนเปค ทั้ง 158แห่ง เนื่องในโอกาสวันมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชปณิธานในการสร้างประโยชน์และความสุขแก่พสกนิกรชาวไทย และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน           นายพีระพันธุ์ ระบุว่า กระทรวงพลังงานมีความมุ่งมั่นและดำเนินนโยบายทุกด้านในการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันและก๊าซ หรือพลังงานอื่นๆ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้ประชาชนถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ราคาก๊าซและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะขึ้นอยู่กับตลาดโลกซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงพลังงาน แต่ที่ผ่านมา ทางกระทรวงก็ไม่นิ่งนอนใจ และพยายามหาหนทางเพื่อลดภาระด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลด้านพลังงานอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง           “กระทรวงพลังงานขอขอบคุณกลุ่มบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) และ คุณมงคล สิมะโรจน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพี่น้องประชาชนชาวไทยในอีกทางหนึ่ง”           ด้าน นายมงคล สิมะโรจน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ซัสโก้ฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และเป็นผู้ริเริ่มจัดงาน 5 ธันวามหาราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการร่วมมือกับกระทรวงพลังงานครั้งนี้ว่า กลุ่มบริษัท ซัสโก้ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมันมีความตั้งใจที่จะปรับลดราคาน้ำมันดีเซล เพื่อสนองพระราชปณิธานในการสร้างประโยชน์และความสุขแก่พสกนิกรชาวไทย และช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การบริหารของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่มีนโยบายของทางกระทรวงพลังงานที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร อุตสาหกรรม และการขนส่ง รวมถึงประชาชนทั่วไปให้ได้เติมน้ำมันราคาถูก [PR News]

‘พีระพันธุ์’ ดันร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน ช่วยเกษตรกรรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

‘พีระพันธุ์’ ดันร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน ช่วยเกษตรกรรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

          ‘พีระพันธุ์’ ตั้ง ‘อรรถวิชช์’ นั่งประธานคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่เป็นธรรม พร้อมรับมือกองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยไบโอดีเซลอีก 2 ปีข้างหน้า คาด 5-6 เดือนเห็นรูปร่าง           วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2567) ที่กระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่จะปรับตัวสูงขึ้น หลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569 พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนในฐานะที่มีส่วนกำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมอบหมายให้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว และคาดว่าภายใน 5-6 เดือนหลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น           นายพีระพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มเป็นอย่างมาก และในอดีตน้ำมันปาล์มยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันดีเซลมีราคาแพง โดยนำมาผสมกับน้ำมันดีเซล ทำให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลง เรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ B 100 เนื่องจากน้ำมันปาล์มในช่วงเวลานั้นมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลหลายเท่า แต่ปัจจุบัน ราคาน้ำมันปาล์มตกอยู่ที่ประมาณ 41-42 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลที่นำมาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ 1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3 นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20%           นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เพื่อดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง จึงต้องร่างกฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อว่า กฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะมีรูปแบบเหมือนกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เพื่อเป็นการรองรับในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน และต้องเร่งทำให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน           “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะมีการศึกษาพัฒนาต่อยอดการนำผลผลิตไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายพีระพันธุ์กล่าว ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเคยออกกฎหมายที่เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล’ เพื่อวางระบบให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลประโยชน์จากการนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาล โดยมีการวางระบบจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกันเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และจะเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายเพื่อดูแลปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกันต่อไป

พีระพันธุ์ ประมูลซื้อไฟฟ้าต้องโปร่งใส

พีระพันธุ์ ประมูลซื้อไฟฟ้าต้องโปร่งใส

           “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เคลียร์ชัด ประมูลซื้อไฟฟ้าต้องโปร่งใสเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน เตรียมนำพลังงานไทยเข้าสู่ยุคพลังงานเขียว รักษาความสามารถในการส่งออกของประเทศ ยืนยันไม่มีนายทุนเบื้องหลัง            วันที่ 24 ตุลาคม 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะมีการเปิดประมูลเกี่ยวกับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ โดยยืนยันว่า ตนและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์            ทั้งนี้ โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์ โดยในโครงการหลัง 3,600 เมกะวัตต์นี้ กกพ. จะแบ่งการรับซื้อหรือการประมูลออกเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์            โดยโครงการแรกที่รับซื้อไฟฟ้าประมาณ 2,100 เมกกะวัตต์นั้น ปัจจุบัน กกพ. กำหนดให้สิทธิ์ผู้ที่เคยเข้าประมูลในโครงการ 5,200 เมกะวัตต์ แต่ไม่ชนะการประมูลเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นประมูล แต่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการยังไม่มีการประมูลเกิดขึ้น ซึ่งตนและกระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วยและเคยนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือ กบง. แล้ว แต่น่าจะเกิดความผิดพลาดจึงทำให้เกิดการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต่างไปจากนโยบาย ซึ่งตนได้สั่งการให้แก้ไขไปแล้วและกำลังจะมีการประชุม กบง. เพื่อแก้ไขในเรื่องนี้            แต่อย่างไรก็ดี กกพ. ที่เป็นผู้ดำเนินการนั้นเป็นองค์กรอิสระ มีสถานะคล้ายกับ กสทช. กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจบังคับบัญชา กล่าวโดยง่ายคือไม่สามารถไปสั่งได้ แต่ก็ได้ใช้อำนาจตามที่มีอยู่โดยทำหนังสือทักท้วงพร้อมกับขอให้ทบทวนโครงการไปยัง กกพ. แล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยเบื้องต้นได้รับการแจ้งว่าที่มาที่ไปทำให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว เกิดจากความผิดพลาดในการทำมติที่ประชุมซึ่งจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป และเมื่อมีการทบทวนในเรื่องนี้ให้รอบคอบและถูกต้องแล้ว ก็จะรายงานไปยังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ต่อไป            นายพีระพันธุ์ยังกล่าวอีกว่า กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จในระยะเวลา 1 เดือน และขอยืนยันว่าตนไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยได้มีการกำกับ ติดตาม อย่างใกล้ชิดตลอดมา สำหรับกรณีมีการกล่าวว่าการรับซื้อไฟฟ้านั้น นายพีระพันธุ์ชี้แจงว่า ในการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการผลิต ประเภทแรกคือส่วนที่ผลิตจากแสงแดดมีการรับซื้อที่ 2.16 บาทต่อหน่วย และประเภทที่ผลิตจากพลังงานลมมีการรับซื้อที่ 3.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนไม่ได้มีราคาสูงกว่าการรับซื้อเดิม ดังนั้น ตนจึงขอยืนยันว่าการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ไม่ได้แพงเกินจริงแต่อย่างใด            สำหรับคำถามที่ว่าในเมื่อจะมีการดำเนินการในส่วนของการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง หรือ Direct PPA แล้ว ทำไมจะต้องมีโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน หรือ RE รวมถึงการผลิตไฟฟ้าให้มีที่มาจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ นายพีระพันธุ์ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า Direct PPA หรือการรับซื้อไฟฟ้าตรง กับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน (RE) นั้นเป็นคนละเรื่องกันอย่างชัดเจน            Direct PPA เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกิจการโรงไฟฟ้ากับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง แต่สำหรับ RE หรือการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนซึ่งในโครงการที่กล่าวไปตอนต้นนั้น จะเป็นส่วนที่ส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ซึ่งเมื่อมีสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน หรือ RE ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็จะมีการจัดเก็บ UGT ที่ย่อมาจาก Utility Green Tariff หรืออัตราการเก็บค่าบริการสำหรับไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งไฟฟ้าสีเขียวจะได้มาจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น โดยจะมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ควบคู่มาด้วย โดย REC นี้ผู้ประกอบการจะใช้เป็นเอกสารประกอบเมื่อมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการกำหนดกำแพงภาษี การดำเนินการของ กกพ. จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของประเทศ            เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้น จะไม่สามารถแยกออกได้ว่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยใดมีที่มาจากแหล่งใด ซึ่งมิใช่แค่ UGT แม้กระทั่ง Direct PPA ก็ไม่สามารถแยกได้ เว้นแต่เอกชนจะดำเนินการเดินสายส่งไฟฟ้าด้วยตนเอง ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้เอกชนหลายรายพิจารณาใช้สายส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ กฟน. ทดแทน            สำหรับประเด็นคำถามเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการกับการประมูลพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนขนาด 5,200 เมกะวัตต์นั้น นายพีระพันธุ์ชี้แจงว่า ได้มีการสอบถามและหารือไปยัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินการใด ๆ อาจจะส่งผลให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อสังเกตและข้อแนะนำรวมถึงหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และขอยืนยันว่าท่านใดมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนในเรื่องนี้ตนยินดีที่จะรับฟังพร้อมเดินหน้าปฏิบัติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน            นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานกำลังปรับปรุง กฎ ระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เป็นการลดความยุ่งยากในการผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบของพี่น้องประชาชนจากค่าครองชีพหรือค่าไฟฟ้า            “ผมขอยืนยันว่า เบื้องหลังของผมมีแค่ผลประโยชน์ของประชาชน ไม่มีกลุ่มทุน อะไรที่สามารถแข้ามาแทรกแซง ผมจะดำเนินการแก้ไข โดยไม่บ่ายเบี่ยงว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคใดในสมัยใด ขอให้ท่านมั่นใจว่า ผมจะทำให้เต็มที่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง” นายพีระพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย

“พีระพันธุ์” แนะภาคอุตฯ ปรับตัวรับแผนพลังงานใหม่ มุ่งสู่ลดคาร์บอน

“พีระพันธุ์” แนะภาคอุตฯ ปรับตัวรับแผนพลังงานใหม่ มุ่งสู่ลดคาร์บอน

          "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้การปรับตัวภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องแผนพลังงานใหม่และเทรนด์โลกเป็นเรื่องจำเป็น เตรียมพร้อมสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าสะอาด เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและต้นทุนการผลิต           นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอคคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality” ในการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม   ซึ่งสาระสำคัญในการกล่าวปาฐกถาเป็นเรื่องการปรับตัว และไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ภาครัฐเองก็ต้องทำเช่นกัน โดยการปรับตัวไม่ได้แค่ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เท่านั้น แต่ต้องปรับให้เข้ากับเทรนด์โลกด้วย เพราะทุกภาคมีส่วนในการปล่อยมลภาวะส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เห็นได้จากภัยน้ำท่วมในไทย พายุเฮอริเคน ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ           สิ่งที่ต้องทำให้เราปรับตัวเข้ากับเทรนด์โลกคือ การลดคาร์บอนที่เกิดจากภาคพลังงาน เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero 2065 ซึ่งภาคอุตสหากรรมยังต้องใช้พลังงานฟอสซิล เพราะฉะนั้นในแผนพลังงานใหม่จึงวางไว้ให้การผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งไทยเน้นที่พลังงานจากแสงแดด แผน PDP ใหม่จึงต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น           อย่างไรก็ดี การปรับตัวดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย นับว่าเป็นสิ่งท้าทายสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในความเป็นจริงต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงนั้นถูก แต่ระบบการผลิตแพง และมีกฎระเบียบเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความยุ่งยากเป็นอุปสรรค ผมในฐานะเข้ามารับผิดชอบกระทรวงพลังงานจึงกำลังศึกษาและร่างกฎหมาย เพื่อทำอย่างไรให้เอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าได้เอง ง่าย เน้นให้สามารถผลิตในประเทศทำให้ต้นทุนต่ำ เพื่อลดต้นทุนให้กับทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยภาคอุตสาหกรรมอาจจะค่อนข้างเหนื่อย เพราะต้องเผชิญอุปสรรคทางการค้า หากสินค้าไม่ได้ผลิตจากพลังงานสะอาดก็จะถูกข้อกีดกันจากประเทศผู้นำเข้า อาจไม่รับซื้อ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ต้องปรับตัวให้เข้ากับแผนพลังงานใหม่ แต่ต้องปรับตัวเข้ากับโลกด้วย ซึ่งในภาคปฏิบัติ ภาคอุตสาหกรรมต้องช่วยคิดวิธีแก้ไขและนำเสนอมากับทางภาครัฐ           ภารกิจของแผนพลังงานฉบับใหม่จะต้องไม่ใช่เป็นภาระ แต่เพื่อประเทศเดินหน้าสอดคล้องโลก อย่างไรก็ดี ทั้งหมดของแผนต่างๆ ไม่ได้สำคัญไปกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ ซึ่งภาครัฐพยายามดำเนินการให้มั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานดำเนินการแผนพลังงานเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรม เพื่อประชาชน ซึ่งขณะนี้แผน PDP อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น หวังว่าท่านที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมจะได้ช่วยระดมความคิดช่วยมองให้สอดคล้องกัน           หรือพูดง่ายๆว่า ทำอย่างไรให้คาร์บอนลดลงจากภาคการผลิตและการใช้พลังงานก่อนจะเดินทางไปสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ และการจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจทุกฝ่าย เช่น ภาคอุตสาหกรรมทำอย่างไรให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง เพราะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำคัญต่อทุกภาคส่วน ภาระหน้าที่ของผมคือต้องสร้างความคล่องตัว ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงในการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมทั้งที่นำเข้าจากเมียนมา ผมมั่นใจว่าวันนี้วิทยากรที่มาร่วมสัมมนามีองค์ความรู้เพื่อจะเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมรับมือกับเทรนด์โลกได้อย่างทันท่วงที           “สิ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญและดำเนินการอยู่ คือ การนำแผนไปสู่การปฏิบัติด้วยการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมให้สามารถปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนก็สามารถประยุกต์แนวคิดดังกล่าวได้เช่นกัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยคาร์บอนจากดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการดูดกลับด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือการชดเชยคาร์บอน จัดการสภาวะปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่าน โดย “รื้อ” ระบบการผลิตการใช้พลังงานเก่าที่ล่าสมัยไร้ประสิทธิภาพออกไป ซึ่งจะเป็นการ “ลด” การใช้พลังงานของตนเองไปโดยอัตโนมัติ นั่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มีการผลิตที่ใช้พลังงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้นด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพพลังงานสูง “ปลด” พันธนาการจากการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกด้วยการผลิตพลังงานสะอาดใช้เอง ที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถกำหนดและควบคุมต้นทุนด้านพลังงานได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะต้นทุนด้านไฟฟ้าที่การผลิตไฟฟ้าของส่วนกลางต้องนำเข้าเชื้อเพลิง LNG จากต่างประเทศ ทำให้มีต้นทุนสูงและมีราคาผันผวนตามราคาตลาดโลก ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและกระทบต่อความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรม           ดังนั้น การที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต้องมีแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถบริหารจัดการได้เองที่จะช่วยลดปริมาณความต้องการไฟฟ้าได้ โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น เพื่อให้มีความทันสมัย ปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ลดขั้นตอนให้ผู้ประกอบการ และช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาดใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของตนเอง นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถ “สร้าง” มูลค่าเพิ่มให้กับของเสียน้ำเสียจากกระบวนการผลิตของตนเองต่อยอดสู่การผลิตเป็นพลังงานทดแทนสำหรับนำกลับมาใช้เอง “สร้าง” ระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของตนเองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งเป็นรถไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” นายพีระพันธุ์ กล่าว

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

[PR News] ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 42 ผลักดันแนวทางพลังงานยั่งยืน

[PR News] ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 42 ผลักดันแนวทางพลังงานยั่งยืน

          วันนี้ (๒๖ ก.ย. ๖๗) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน คณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ ๔๒ และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (The 42nd ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: The 42ndAMEM) ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมทั้งหมด ๓ ฉบับซึ่งระบุผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของอาเซียนได้แก่ ถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ ๔๒ ถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านพลังงาน (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ ๒๑ และถ้อยแถลงร่วมสำหรับโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ ๕           ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์เพื่อแสดงถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของไทยซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานในอาเซียน โดยเน้นย้ำแนวทาง รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อปฏิรูประบบพลังงาน การผลักดันการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับการลดการใช้ถ่านหิน รวมทั้งกล่าวสนับสนุนให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาค           ที่ประชุมได้รายงานถึงทิศทางอนาคตพลังงานของอาเซียน ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นประมาณสามเท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยภาคอุตสาหกรรมและคมนาคมมีแนวโน้มใช้พลังงานมากที่สุด ในขณะที่ ภาคครัวเรือนจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานแบบดั้งเดิม สู่การใช้ LPG และไฟฟ้าในการประกอบอาหารมากขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๕๐ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงความก้าวหน้าใน ๗ สาขาพลังงานของอาเซียน ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำมันและ ก๊าซธรรมชาติ การจัดการถ่านหินและคาร์บอนประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน นโยบายและแผนพลังงาน และพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน และเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงานโดยที่ประเทศไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคในการดำเนินงานทางด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานซึ่งได้มี    การพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และได้ทำหน้าที่เป็นประธานสาขาประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานซึ่งมีการดำเนินการสำคัญที่รายงานในปี ๒๕๖๗ คือการผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานของอาเซียน ได้ร้อยละ ๒๔.๕           นอกจากนี้ ไทยได้มีการหารือทวิภาคีกับ สปป.ลาว และมาเลเซีย ถึงแนวทางการกระชับความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และได้ร่วมแสดงความยินดีกับคณะผู้ประกอบการจากประเทศไทยที่เข้ารับรางวัล ASEAN Energy Awards ประจำปี ๒๕๖๗ ซึ่งในปีนี้ไทยเป็นผู้ได้รับรางวัลมากที่สุด ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ๙ รางวัล ด้านพลังงานหมุนเวียน ๑๐รางวัล และได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านการบริหารจัดการพลังงานอีก ๕ รางวัลอีกด้วย