#พลังงาน


พลังงาน จับมือ  World Bank ขับเคลื่อนแผนลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานของประเทศ

พลังงาน จับมือ World Bank ขับเคลื่อนแผนลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานของประเทศ

          หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงาน จากนโยบายที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญด้านราคาพลังงาน ซึ่งจะต้องไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับประชาชนในระดับค่อนข้างสูงเกินความจำเป็น  แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์หรือสงครามระหว่างประเทศ เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก  จึงได้มีนโยบายให้กระทรวงพลังงานวางมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาผันผวนในระดับสูงและอาจกระทบต่อประชาชนและภาคเอกชนในวงกว้าง นายสมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลดภาระด้านราคาพลังงานตามนโยบายท่านรัฐมนตรีนี้  ถือเป็นกรอบแผนงานสำคัญในการเตรียมพร้อมและบริหารจัดการวิกฤติพลังงานที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เห็นชอบเมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา และให้เร่งขับเคลื่อนให้เกิดผล   ดังนั้นวันนี้กระทรวงพลังงานจึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก วอชิงตัน ดีซี มาให้ความรู้ในการนำเครื่องมือทางการเงินที่รัฐบาลหลายประเทศได้นำมาใช้บริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาพลังงาน โดยได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการการใช้เครื่องมือทางการเงินบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิงเตรียมพร้อมวิกฤตพลังงาน หรือ Workshop on Managing Thailand’s exposure to Oil and LNG Price Risk ซึ่งกระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพร่วมกับธนาคารโลก โดยมีนายฟาบิโอ ดาซิลวา ผู้แทนจากธนาคารโลกเป็นผู้แทนบรรยายให้ความรู้ เมื่อวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2567 ณ กระทรวงพลังงาน โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกว่า 60 คน  จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานเอกชนด้านพลังงาน โดยคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมจะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงและความผันผวนด้านราคาพลังงานในตลาดโลก และในระยะต่อไปจะ จะศึกษาความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย ทั้งในบริบทด้านกฎหมายกฎระเบียบและการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ ซึ่งหากมีความเป็นไปได้ในการนำมาเครื่องมือทางการเงินในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงของการเกิดวิกฤติราคาพลังงาน ก็จะมีการศึกษารายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมีเป้าหมายให้เกิดผลในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน “หลังจากที่ได้รับมอบนโยบายจากท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่แสดงถึงความห่วงใยที่มีต่อประชาชนที่จะได้รับผลกระทบด้านราคาพลังงาน หน่วยงานในสังกัดก็ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้พร้อม ในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ  อย่างในวันนี้ ก็ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการขึ้น โดยร่วมมือกับธนาคารโลก ที่ได้ให้ความรู้กับบุคลากรในการใช้กลไกทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงด้านราคาพลังงาน ซึ่งหลายประเทศก็ได้ใช้มาตรการนี้ ซึ่งผลการสัมมนาฯ ครั้งนี้ จะนำไปศึกษาความเป็นไปได้ต่อการนำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทยทั้งในเชิงกฎหมายและระเบียบ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  และแนวทางการบริหารจัดการ ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับประเทศ เพื่อพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับมาตรการจัดการด้านราคาพลังงานของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายภาคประชาชน และเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป” นายสมภพ กล่าว

“พลังงาน” เตรียมพร้อมรับมือภาวะสงครามตะวันออกลาง

“พลังงาน” เตรียมพร้อมรับมือภาวะสงครามตะวันออกลาง

          หุ้นวิชั่น - “พลังงาน” เตรียมพร้อมรับมือภาวะสงครามตะวันออกลาง ย้ำประชาชนมั่นใจสต็อกน้ำมันไทยมีเพียงพอ คุมเข้มราคาไม่ให้ผันผวน           กระทรวงพลังงาน เผยปริมาณสำรองน้ำมันมันในสต็อกยังมีเพียงพอใช้นานกว่า 60 วัน ขอคนไทยไม่ต้องกังวล กระทรวงพลังงานจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมหากจำเป็นต้องใช้แผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อช่วยลดผลกระทบในทุกมิติหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น           นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะสถานการณ์สู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันจากพื้นที่ตะวันออกกลาง ทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยขณะนี้ในด้านปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีเพียงพอใช้ในประเทศอย่างแน่นอน ปัจจุบัน มีน้ำมันดิบคงเหลือประมาณ 3,365 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ได้ 26 วัน น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง 2,055 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 16 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 2,414 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 20 วัน รวมจำนวนมีปริมาณน้ำมันคงเหลือและปริมาณสำรองที่สามารถใช้ได้ 62 วัน           นอกจากนี้ ในด้านราคา กระทรวงพลังงานจะบริหารดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนมากนัก โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งสถานภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มมีสภาพคล่องมากขึ้น มีการติดลบลดลง จึงขอให้ประชาชนอย่าวิตกต่อสถานการณ์ และสามารถมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก็จะรักษาเสถียรภาพไม่ให้ผันผวนมากนัก           “จากข่าวสงครามในตะวันออกกลางที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และสร้างความกังวลให้นานาประเทศ จนส่งผลให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นราคาน้ำมันดิบ WTI ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 อยู่ที่ 68 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่วันนี้ (7 ตุลาคม 2567) หลังสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 74 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นกว่า 8% ใน 1 สัปดาห์ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในด้านความมั่นคง กระทรวงพลังงานมีปริมาณน้ำมันสำรองสำหรับใช้ภายในประเทศมากกว่า 60 วัน ส่วนในด้านราคา กระทรวงพลังงานก็จะติดตามและใช้กลไกที่มีเพื่อให้เกิดผลกระทบด้านราคากับประชาชนให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้มีการซ้อมแผนการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อวางมาตรการต่างๆ และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน อาทิ การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดหาก๊าซในประเทศให้ได้มากที่สุด การลดความต้องการใช้ เป็นต้น ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล และขอให้ติดตามข่าวสารที่เป็นทางการของทางราชการ กระทรวงพลังงานจะบริหารจัดการอย่างเต็มความสามารถให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด” นายวีรพัฒน์ กล่าว