‘พีระพันธุ์’ ดันร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน ช่วยเกษตรกรรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

          ‘พีระพันธุ์’ ตั้ง ‘อรรถวิชช์’ นั่งประธานคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่เป็นธรรม พร้อมรับมือกองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยไบโอดีเซลอีก 2 ปีข้างหน้า คาด 5-6 เดือนเห็นรูปร่าง           วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2567) ที่กระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่จะปรับตัวสูงขึ้น หลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569 พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนในฐานะที่มีส่วนกำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมอบหมายให้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว และคาดว่าภายใน 5-6 เดือนหลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น           นายพีระพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มเป็นอย่างมาก และในอดีตน้ำมันปาล์มยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันดีเซลมีราคาแพง โดยนำมาผสมกับน้ำมันดีเซล ทำให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลง เรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ B 100 เนื่องจากน้ำมันปาล์มในช่วงเวลานั้นมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลหลายเท่า แต่ปัจจุบัน ราคาน้ำมันปาล์มตกอยู่ที่ประมาณ 41-42 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลที่นำมาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ 1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3 นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20%           นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เพื่อดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง จึงต้องร่างกฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อว่า กฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะมีรูปแบบเหมือนกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เพื่อเป็นการรองรับในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน และต้องเร่งทำให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน           “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะมีการศึกษาพัฒนาต่อยอดการนำผลผลิตไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายพีระพันธุ์กล่าว ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเคยออกกฎหมายที่เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล’ เพื่อวางระบบให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลประโยชน์จากการนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาล โดยมีการวางระบบจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกันเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และจะเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายเพื่อดูแลปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกันต่อไป