โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่ง-โตช้าลง ไฟฟ้าภาคธุรกิจในปี 68 โตเพียง 1%

           หุ้นวิชั่น - ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลปี 2568 เผชิญต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก ขณะที่รายได้ต่อหน่วยทรงตัวจากนโยบายตรึงค่าไฟของรัฐ แม้ดีมานด์ใช้ไฟฟ้าทั้งภาครัฐและเอกชนจะเพิ่มขึ้น แต่การเติบโตชะลอตัวจากปีก่อนหน้า สะท้อนเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำบทวิเคราะห์ ระบุถึง  ต้นทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลของโรงไฟฟ้าในปี 2568 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก ขณะที่รายได้ต่อหน่วยของธุรกิจคาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2567 เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ต้องการรักษาระดับค่าไฟในประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลในปี 2568 ยังคงมีทิศทางเติบโตจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่ในจังหวะที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้า            ในปี 2568 รายได้จากการผลิตไฟฟ้าฟอสซิลเพื่อขายให้ภาครัฐมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าปี 2567 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในโครงข่ายภาครัฐที่ชะลอลงเป็น 1.4% ในปี 2568 จาก 3.5% ในปีก่อนหน้า โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจในปี 2568 คาดว่าจะโตเพียง 1% ตามการใช้ไฟฟ้าภาคผลิตและบริการที่ชะลอลงจากปี 2567 ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนคาดว่าจะโตเพียง 2% ในปี 2568 จากการเติบโตของจำนวนที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านที่ชะลอตัว            รายได้จากการขายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้งานในนิคมอุตสาหกรรมในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 0.9% ชะลอตัวจาก 2.7% ในปีก่อนหน้า ตามการเติบโตที่ช้าลงของกิจกรรมการผลิต เนื่องจากสินค้าจีนที่ล้นตลาด ความเสี่ยงของธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลในระยะกลางถึงยาว ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (ร่าง PDP 2024)มีเป้าหมายในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มลดลงจาก 38,108 MW ในปี 2566 สู่ 30,453 MW ในปี 2580 หรือลดลงราว 20% สัดส่วนอุปทานเชื้อเพลิงฟอสซิลคาดว่าจะลดลงจาก 72% ในปี 2566 สู่ 49% ในปี 2580 อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การผลิตไฟฟ้าโดยเชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีทิศทางลดลงได้อีก เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 ความจำเป็นในการปรับตัวและการเปลี่ยนผ่านสู่ประเภทเชื้อเพลิงใหม่โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนเมื่อหมดสัญญากับคู่ค้า แม้โรงไฟฟ้าฟอสซิลโดยมากจะถือสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับคู่ค้า แต่แรงกดดันจากกระแสรักษ์โลกและการพัฒนาของเทคโนโลยี ส่งผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัวสู่พลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินในการลงทุนในการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหันมาใช้ไฟฟ้าสะอาดมากขึ้นเนื่องจาก พ.ร.บ. Climate Change และกฎระเบียบการค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ที่มีการใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ทำให้ผู้ผลิตในนิคมอุตสาหกรรมเริ่มหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออก อุปทานก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศมีแนวโน้มลดลงส่งผลให้ต้องมีการนำเข้า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (ร่าง Gas Plan 2024) ระบุว่าจากอุปทานทั้งหมด การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในไทยมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 36% ในปี 2580 จาก 55% ในปี 2567 สวนทางกับการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้น โดยราคา LNG สูงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าฟอสซิลมีทิศทางเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุปทานก๊าซธรรมชาติในไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลง หากมีการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ทราบผลแน่ชัด และต้องใช้ระยะเวลา