#ทูน่ากระป๋อง


ส่งออกทูน่าปี 68 ฟื้นตัวแรง! คาดมูลค่าส่งออกโต6.2%

ส่งออกทูน่าปี 68 ฟื้นตัวแรง! คาดมูลค่าส่งออกโต6.2%

           แนวโน้มอุตสาหกรรมทูน่าปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2024 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องจะขยายตัวที่ 6.2% YOY สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก            ภาพรวมอุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2024 ถือว่าเติบโตได้ค่อนข้างดี ในช่วง 10 เดือนแรกที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของกลุ่มขยายตัว 24.6%YOY เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่เติบโตสูงถึง 35.2%YOY ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีนี้จะสามารถฟื้นกลับไปอยู่สูงกว่าช่วง Pre-COVID ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับภาพรวมการบริโภคในตลาดโลกและประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น อนึ่ง ปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้รับอานิสงส์จากอุปทานปลาทูน่าจับได้ (Tuna catch) ที่เพิ่มขึ้นมากจากผลพวงของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้อุณหภูมิในมหาสมุทรอุ่นขึ้น (Ocean warming) ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและทำให้มหาสมุทรสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังมีผลให้ฝูงปลา ทูน่าย้ายถิ่นฐาน (Tuna migration) หนีคลื่นน้ำอุ่นไปรวมตัวกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของมหาสมุทรเยอะมากเป็นพิเศษ จึงส่งผลดีต่อการทำประมงในบริเวณนั้น            สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมทูน่าในปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องจะขยายตัวที่ 6.2%YOY สอดคล้องกับภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกที่ดีขึ้นยังเป็นผลจากการเติบโตของความต้องการบริโภคอาหารฮาลาล สะท้อนได้จากมูลค่าการนำเข้าทูน่ากระป๋องจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง (Middle East) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องการสต็อกสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานโดยเฉพาะอาหารกระป๋องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย            ในระยะข้างหน้า ความท้าทายหลักที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าต้องให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือ คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสและแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางการไทยต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนด รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับมาตรการกำกับดูแลการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) พร้อม ๆ ไปกับการปรับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเมกะเทรนด์สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์เรื่องอาหารปลอดภัย และ Healthier choice เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Carbon-neutral tuna products” ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อลด Carbon footprint ในห่วงโซ่การผลิตทูน่าอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon neutrality ภายในปี 2050 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ Digitization และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการทั้งความทันสมัยและความสะดวกสบาย พร้อม ๆ ไปกับลดการพึ่งพาแรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ที่มา : SCB EIC

ทูน่ากระป๋องไทยพุ่ง ส่งออกโต 20% แรงหนุนดีมานด์จากสหรัฐฯ-ตะวันออกกลาง

ทูน่ากระป๋องไทยพุ่ง ส่งออกโต 20% แรงหนุนดีมานด์จากสหรัฐฯ-ตะวันออกกลาง

          การส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยมีแนวโน้มสดใสอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนสำคัญจากตลาดสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง และความต้องการกักตุนอาหารจากสถานการณ์ความขัดแย้งและสงคราม ในหลายจุด เช่น อิสราเอล-ปาเลสไตน์ และรัสเซีย-ยูเครน           นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติ การส่งออกทูน่ากระป๋อง (พิกัดศุลกากร 160414) ของไทย ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย. 2567) ของปี 2567 มีมูลค่ารวม 1,851 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 65,984 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกขยายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เรียงตามลำดับมูลค่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก ดังนี้           ภูมิภาคอเมริกา มีมูลค่าการส่งออก 632 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแคนาดา ตลาดส่งออกหลักของไทยในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) สหรัฐอเมริกา 402.39 ล้านเหรียญสหรัฐ (+15.41%) 2) แคนาดา 102.43 (+40.57%) และ 3) ชิลี 47.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (+6.01%)           ภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง มีมูลค่าการส่งออก 618 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว ถึงร้อยละ 38.97 โดยแรงหนุนที่ทำให้ดีมานด์ในตะวันออกกลางขยายตัว มาจากความกังวลต่อสถานการณ์สงคราม จึงกักตุนสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะ อิสราเอล (+103.43%) เลบานอน (+72.97%) และอิรัก (+110.31%) สำหรับในเอเชีย ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าทูน่าในปริมาณสูง แต่ด้วยปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง           ตลาดส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 168.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (-17.88%) 2) ซาอุดีอาระเบีย 110.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.79%) และ 3) สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ 100.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (+55.30%)           ภูมิภาคแอฟริกา มีมูลค่าการส่งออก 247 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีแรงกระตุ้นจากปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคนี้ ตลาดสำคัญในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) ลิเบีย 124.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (+12.62%) 2) อียิปต์ 75.97 ล้านเหรียญสหรัฐ (+106.17%) และ 3) แอฟริกาใต้ 28.87 ล้านเหรียญสหรัฐ (+61.04%)           ภูมิภาคออสเตรเลียและโอเชียเนีย มีมูลค่าการส่งออก 184 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ที่หันมาบริโภคอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น ตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 146.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (+18.81%) 2) นิวซีแลนด์ 23.02 (31.50%) และ3) ปาปัวนิวกินี 7.59 ล้านเหรียญสหรัฐ (186.86%)           ภูมิภาคยุโรป มีมูลค่าการส่งออก 170 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.48 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงการกักตุนอาหารกระป๋อง จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างประเทศและภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะยูเครน (+72.81%) ตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) สวิตเซอร์แลนด์ 30.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (+42.98%) 2) รัสเซีย 26.82 ล้านเหรียญสหรัฐ (19.70%) และ 3) สหราชอาณาจักร 26.76 (+66.54%)           นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ไทยครองตำแหน่งผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างยาวนาน มีปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ค่าแรงที่แข่งขันได้ และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้ไทยสามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตของสินค้าทูน่ากระป๋อง จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าที่ไทยเป็นผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างต่อเนื่อง           ปัจจุบัน อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ราคาย่อมเยา แต่ยังคงใส่ใจต่อสุขภาพ ประกอบกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และกระแสความกังวลสถานการณ์สงคราม ทำให้สินค้าทูน่ากระป๋องตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบันและสถานการณ์โลก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่มีนัยสำคัญ คือ การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสุนัขและแมวอันดับต้น ๆ ของโลก และส่วนใหญ่เป็นอาหารเปียกที่ทำจาก ปลาต่าง ๆ รวมถึงทูน่า ทำให้ไทยมีการนำเข้าปลาทูน่าเป็นปริมาณมากในแต่ละปี ไทยจึงเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทูน่าโลก           ในช่วงต่อไป อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ ภาวะเงินเฟ้อและการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบกำลังซื้อและการส่งออก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปริมาณปลาทูน่าลดลงและส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ตลอดจนมาตรการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fishing) และมาตรการด้านแรงงาน (Fair Labor Practice) ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในสินค้าทูน่ากระป๋องของไทย อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการขยายตลาดทูน่ากระป๋องของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน