ถอดรหัสซีรีส์วายไทย ฮอตไกลไปอินเตอร์

          หุ้นวิชั่น - ซีรีส์วาย ธุรกิจสื่อบันเทิงไทยที่เติบโตแบบก้าวกระโดดและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดย SCB EIC คาดว่าสัดส่วนของซีรีส์วายต่อมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 0.7% ในปี 2019 เป็น 3.9% ในปี 2025 หรือเติบโตราว 17%YOY คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 4,900 ล้านบาท ตามกระแสความนิยมของภาพยนตร์และซีรีส์วายที่เพิ่มขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงสื่อบันเทิงของไทยได้ง่ายผ่านทางออนไลน์จากบริการ OTT (Over The Top) หรือสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ซึ่งทำให้ซีรีส์วายกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสื่อบันเทิงไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ซีรีส์วายไทยสามารถขยายความนิยมไปในหลายประเทศอย่างรวดเร็ว จากการนำเสนอความสัมพันธ์ของตัวละครอย่างเปิดเผย การสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ออกมาอยู่เสมอ และการเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายจากความนิยมของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม           ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ซีรีส์วายเป็นกระแสมาแรงในไทยและขยายความนิยมไปในต่างประเทศ ได้แก่  1) การแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้อย่างเปิดเผย จากวัฒนธรรมไทยที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศและเปิดกว้างให้กับการแสดงออกถึงตัวตนของทุกเพศวัย 2) การสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อเรื่องแปลกใหม่ โดยผู้ผลิตซีรีส์วายไทยได้สร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างและมีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านเนื้อเรื่อง บทละคร และเทคนิคการถ่ายทำ จึงทำให้ซีรีส์วายไทยในทุกวันนี้มีตัวเลือกที่หลากหลายและน่าติดตามมากขึ้น และ 3) ความนิยมของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ทำให้ซีรีส์วายไทยเข้าถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบัน ไทยมีภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้น Boy love / Girl love ที่ออกอากาศรวมแล้วมากกว่า 340 เรื่อง โดยในปี 2024 ไทยถือเป็นผู้นำตลาดภาพยนตร์และซีรีส์วายด้วยสัดส่วนที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของซีรีส์วายที่ออกอากาศทั้งหมดในเอเชีย ความสำเร็จของซีรีส์วายไทยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจอื่นเกาะกระแสเติบโตตามไปด้วย           การตอบรับที่ดีของซีรีส์วายไทยในหลายประเทศได้สร้างโอกาสให้ธุรกิจอื่นเติบโตไปพร้อมกับซีรีส์วาย เช่น 1) ธุรกิจหนังสือ เนื่องจากซีรีส์วายหลายเรื่องถูกดัดแปลงมาจากนิยายหรือการ์ตูน จึงทำให้นักอ่านนิยายเดิมสนใจอ่านนิยายวายมากขึ้น และยังดึงดูดให้ผู้ชมซีรีส์หันมาอ่านนิยายและการ์ตูนต้นฉบับเพิ่มมากขึ้นด้วย 2) ธุรกิจต่อเนื่องจากการโปรโมตซีรีส์วาย เช่น กิจกรรมแฟนมีต คอนเสิร์ต และงานเปิดตัวซีรีส์ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ MICE, ธุรกิจให้เช่าสถานที่จัดงาน และการผลิตสินค้าและของที่ระลึกจากซีรีส์ 3) ธุรกิจโฆษณา เนื่องจากนักแสดงวายหลายคนกลายเป็น Influencer ของแฟนคลับจากผู้ติดตามที่สูงกว่า 1 ล้านคน จนทำให้แบรนด์สินค้าทุ่มเม็ดเงิน เพื่อดึงนักแสดงวายมาเป็น Presenter/ Brand ambassador สินค้ามากขึ้น รวมถึง สื่อโฆษณานอกบ้านอย่างป้ายโฆษณายังถูกนำมาเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับสื่อสารระหว่างแฟนคลับกับนักแสดงด้วย และ 4) ธุรกิจอื่นที่ได้อานิสงส์จาก Soft power ซีรีส์วาย เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว และสายการบิน จากการเดินทางเข้ามาของแฟนคลับต่างชาติเพื่อท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ถ่ายทำซีรีส์และเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์วายในไทย ผู้ผลิตซีรีส์วายไทยจำเป็นต้องพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขยายโอกาสในการเติบโตในตลาดใหม่ควบคู่กับรักษาฐานผู้ชมในตลาดเดิม           ซีรีส์วายถือเป็นหนึ่งในธุรกิจสื่อบันเทิงของไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีความสนใจซีรีส์วายไทยมากขึ้นอย่างอเมริกาใต้และยุโรป โดยผู้ผลิตซีรีส์วายไทยต้องเข้าถึงและเข้าใจผู้ชมที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อคว้าโอกาสในการเจาะตลาดใหม่นี้ อาทิ การเพิ่มคำบรรยายภาษาต่าง ๆ และการเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลก เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพผลงานที่ดีขึ้น รวมถึงได้เข้าใจความต้องการของผู้ชมในตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตซีรีส์วายยังต้องคงเสน่ห์เฉพาะตัวของซีรีส์วายไทยด้วยการสอดแทรกวัฒนธรรมไทย และการพัฒนาคุณภาพผลงานให้หลากหลายเพื่อรักษาฐานผู้ชมในตลาดเดิมให้คงอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ การพิจารณานโยบายสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐ จะช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิตซีรีส์วาย และเพิ่มโอกาสในการส่งออกสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น           แม้กระแสซีรีส์วายของไทยจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมในหลายประเทศ แต่การขับเคลื่อนซีรีส์วายไทยให้เติบโตต่อเนื่อง จำเป็นต้องอาศัยการส่งเสริมจากนโยบายที่เหมาะสมจากภาครัฐ เพื่อยกระดับภาพยนตร์และซีรีส์วายไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น 1) การกระตุ้นเม็ดเงินการผลิตให้มากขึ้น อย่างการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการขยายนโยบายคืนเงินค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำให้ครอบคลุมถึงการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายไทยเช่นเดียวกับการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์จากต่างประเทศ 2) สนับสนุนการเผยแพร่สื่อบันเทิงไทยในต่างประเทศ อาทิ การอำนวยความสะดวกและสนับสนุนเงินทุนในการเดินทางไปเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ และงานจับคู่ธุรกิจเพื่อซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือซีรีส์ในต่างประเทศ และ 3) นโยบายอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตซีรีส์วาย เช่น การสนับสนุนเงินทุนในการผลิต และการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทยได้ร่วมงานกับผู้ผลิตต่างประเทศ เป็นต้น ซีรีส์วาย ธุรกิจสื่อบันเทิงไทยที่น่าจับตา           ซีรีส์วาย หนึ่งในปรากฏการณ์ที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในยุคแห่งความเท่าเทียม ซึ่งไม่ได้เป็นกระแสเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังโกอินเตอร์ไปในระดับโลกด้วย อีกทั้ง ความนิยมของซีรีส์วายยังมีแนวโน้มยกระดับความแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตคอนเทนต์สายวายกลายเป็นธุรกิจที่ผลักดันให้ธุรกิจสื่อบันเทิงไทยเดินหน้าเติบโตได้ไกลกว่าเดิมในระยะข้างหน้า           ที่ผ่านมารายได้รวมของผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องราว 17%YoY ในปี 2025 มีมูลค่ารวมมากกว่า 4,900 ล้านบาท ตามกระแสความนิยมของซีรีส์วายไทย ทั้ง Boy love และ Girl love ที่เพิ่มขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้สื่อบันเทิงของไทยเข้าถึงผู้ชมผ่านทางออนไลน์จากบริการ OTT (Over The Top) หรือสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มได้มากขึ้น แม้ปัจจุบันรายได้ของผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายจะมีสัดส่วนต่อมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมไม่สูงนัก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุก ๆ ปี จาก 0.7% ในปี 2019 เป็น 3.0% ในปี 2023 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% ในปี 2025 ซึ่งสะท้อนได้ว่าธุรกิจภาพยนตร์และซีรีส์วายเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมให้เติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า           ความสำเร็จของซีรีส์วายไทย มีส่วนช่วยผลักดันมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมให้เติบโต โดยคาดว่าจะขยายตัวราว 4.1%YoY ในปี 2025 อยู่ที่ 1.26 แสนล้านบาท (รูปที่ 3) ที่ผ่านมาการผลิตสื่อบันเทิงของไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้การผลิตสื่อบันเทิงบางส่วนต้องหยุดลงชั่วคราวส่งผลให้มูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงหดตัวลงถึง -12%YOY ในปี 2020 สวนทางกับรายได้ของการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และจากความสำเร็จของซีรีส์วายที่มีฐานผู้ชมอยู่ทั่วโลกบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ผู้ผลิตสื่อบันเทิงไทยหันมาผลิตซีรีส์วายเพิ่มขึ้นและถือได้ว่าการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงให้ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับสู่ระดับปกติในปี 2023 อีกทั้งยังเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ เช่น ธุรกิจให้เช่าสถานที่ถ่ายทำ ธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายทำ (Production) และธุรกิจหลังการถ่ายทำ (Post-Production) อย่างอุปกรณ์สำหรับตัดต่อวีดีโอด้วย ซีรีส์วายไทย อันดับหนึ่งครองใจคนทั่วโลก           การตอบรับที่ดีของซีรีส์วายไทยจากผู้ชมในหลายประเทศ ทำให้ซีรีส์วายถูกผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันกระแสซีรีส์วายของไทยกำลังเติบโตและครองใจฐานผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว ไม่เพียงเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในต่างประเทศด้วย จากการรับชมได้พร้อมกันทั่วโลกผ่านสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มยอดนิยม เช่น Youtube, WeTv (จีน), iQiYi (จีน), VIU (ฮ่องกง)  รวมถึงแพลตฟอร์มที่นำเสนอเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ อย่าง GagaOOLala ของไต้หวัน จนทำให้ซีรีส์วายไทยติดเทรนด์โซเชียลมีเดียในหลายประเทศในช่วงเวลาออกอากาศอย่างซีรีส์ Boy love เรื่อง “KinnPorsche The Series” ที่ติดเทรนด์ X อันดับ 1 ในไทยและอินโดนีเซีย และอันดับ 4 ในตุรกี และเรื่อง “HighSchool Frenemy” ที่ติดเทรนด์ X อันดับ 1 ในไทย เวียดนาม มาเลเซีย และมียอดผู้ชมสูงเป็นอันดับ 1 ใน VIU ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ รวมถึงซีรีส์ Girl love เรื่อง “Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก : Episode 1” ที่ติดเทรนด์ X อันดับ 1 ในไทยและมาเลเซีย และ 5 อันดับแรกในเวียดนาม บราซิล ฟิลิปปินส์ ดังนั้น ด้วยกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชมทั่วโลก จึงดึงดูดให้ผู้ผลิตสื่อบันเทิงของไทยสนใจเกาะกระแสความนิยมหันมาผลิตซีรีส์วายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะซีรีส์ Boy love ที่ออกอากาศมากกว่าปีละ 50 เรื่องตั้งแต่ปี 2022 ทำให้จนถึงปัจจุบัน ไทยมีภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้น Boy love ที่ออกอากาศรวมแล้วมากกว่า 300 เรื่อง โดยในปี 2024 ไทยถือสัดส่วนราว 55% ของซีรีส์ Boy love ที่ออกอากาศทั้งหมดในเอเชีย รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันที่มีสัดส่วนรวมกันราว 28% และเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดซีรีส์วายด้วย (รูปที่ 2)           ขณะที่ซีรีส์ Girl love ของไทยก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากสถิติยอดรับชมบน Youtube ณ เดือนพฤศจิกายน 2024 ของเรื่อง “Blank เติมคําว่ารักลงในช่องว่าง” ที่มียอดชมเฉลี่ยราว 5.8 ล้านครั้งต่อตอน ใกล้เคียงกับซีรีส์ Boy love เรื่อง “we are คือเรารักกัน” ซึ่งออกฉายครั้งแรกในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ที่มียอดรับชมเฉลี่ย 6.8 ล้านครั้งต่อตอน ทั้งนี้ ในปี 2024 ภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้น Girl love ของไทยออกอากาศมากกว่า 40 เรื่อง หรือคิดเป็น 60% ของเอเชีย รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานผู้ชมสำคัญของซีรีส์วายไทย (รูปที่ 3) ทำไมซีรีส์วายของไทยถึงได้รับความนิยมในหลายประเทศ ? ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ซีรีส์วายไทยได้รับความนิยมอย่างมากด้วยฐานผู้ชมในไทยที่เหนียวแน่นและขยายความนิยม ไปในต่างประเทศอีกหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ การนำเสนอเรื่องราวที่สามารถแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้อย่างเปิดเผย เนื่องจากวัฒนธรรมของไทยที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศและเปิดกว้างให้กับการแสดงออกถึงตัวตนของกลุ่ม LGBTQIA+ บนสื่อบันเทิง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลสำรวจความคิดเห็นต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ในปี 2024 ของ Ipsos จากกลุ่มตัวอย่างใน 23 ประเทศทั่วโลก พบว่า คนไทยมีมุมมองที่สนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในหลายด้าน เช่น การคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) การสมรสเท่าเทียม และการอุปการะบุตรบุญธรรมของคู่รักเพศเดียวกัน อีกทั้ง กลยุทธ์แฟนเซอร์วิส (Fan service) อย่างการแสดงออกอย่างเปิดเผยถึงความสนิทสนมของนักแสดงวายในงานอิเวนต์ต่าง ๆ เช่น งานเปิดตัวซีรีส์ และงานแฟนมีต ทำให้ผู้ชม “จิ้น” หรือจินตนาการ (Imagine) ถึงความสัมพันธ์ของนักแสดง จึงเป็นอีกแรงเสริมที่ทำให้ซีรีส์วายและนักแสดงของไทยได้รับความนิยมเกินคาด การสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อเรื่องแปลกใหม่ตลอดเวลา ด้วยผลงานใหม่ที่ออกมามากกว่าปีละ 50 เรื่อง สะท้อนถึงการแข่งขันที่สูงของตลาดซีรีส์วายไทย และเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตซีรีส์ต้องสร้างสรรค์ผลงาน ที่แตกต่างและมีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเนื้อเรื่อง บทละคร และเทคนิคการถ่ายทำ ซึ่งปัจจุบัน นอกจากการนำเสนอเนื้อหาในมุมมองความรักที่สดใสของกลุ่มวัยรุ่นแล้ว ผู้ผลิตซีรีส์วายยังเริ่มนำเสนอเนื้อหาในหลากหลายแนวทั้งแนวดรามา แอ็กชัน สืบสวนสอบสวน แฟนตาซี อีกทั้ง ยังนำประเด็นทางสังคมที่สำคัญเข้ามาสอดแทรกในเนื้อเรื่องมากขึ้น เช่น การขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ การตีแผ่ปัญหาทางสังคม จึงทำให้ซีรีส์วายไทยในทุกวันนี้มีตัวเลือกที่หลากหลายและน่าติดตามมากขึ้น ความนิยมของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ที่ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายได้ง่ายขึ้น จากการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบทั้งในภาพรวมของโลกและไทย ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยจากข้อมูลของ GSMA พบว่า อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของโลกเติบโตจาก 50% ในปี 2018 เป็น 66% ในปี 2024 และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทยเติบโตจาก 58% ในปี 2018 เป็น 88% ในปี 2024 ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การรับชมความบันเทิงผ่านทางออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่เติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2023 ผู้ใช้บริการ Netflix เติบโตราว 6%YOY และแพลตฟอร์ม GagaOOLala มีจำนวนผู้ใช้บริการเติบโตสูงถึง 33%YOY โดยเฉพาะผู้ใช้บริการจากอินเดียที่เพิ่มขึ้นถึง 40%YOY ขณะที่ในปี 2024 ผู้ใช้บริการ WeTV เติบโตสูงถึงกว่า 14%YOY นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชมภาพยนตร์และซีรีส์วายยังได้สร้างชุมชนออนไลน์ (Online community) บนสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อบอกต่อซีรีส์ที่ชื่นชอบ บอกเล่าความรู้สึกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างรับชมซีรีส์ในช่วงออกอากาศ รวมถึงอัพเดตตารางงานของนักแสดงเพื่อนัดรวมกลุ่มให้กำลังใจในอิเวนต์ต่าง ๆ ทำให้เกิดเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์และกระแสความนิยมนักแสดงตามมาด้วย โอกาสธุรกิจจากความสำเร็จของซีรีส์วาย ความสำเร็จของซีรีส์วายไทยนอกจากจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงของไทยเติบโตแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสให้ธุรกิจอื่นเกาะกระแสซีรีส์วายเติบโตตามไปด้วย เช่น ธุรกิจหนังสือทั้งในรูปแบบเล่มและแพลตฟอร์มออนไลน์ (e-book) โดยซีรีส์วายหลายเรื่องถูกดัดแปลงมาจากนิยายหรือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมของนักอ่านมาก่อน เช่น วันดีวิทยา, 23.5 องศาที่โลกเอียง และ PLUTO นิทาน ดวงดาว ความรัก เป็นต้น ทำให้ซีรีส์ที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากนิยายหรือการ์ตูนวายได้รับความสนใจจากฐานผู้อ่านเดิม และในทางกลับกันยังช่วยดึงดูดผู้ชมซีรีส์ให้สนใจมาอ่านนิยายและการ์ตูนต้นฉบับได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักเขียนและนักวาดการ์ตูนในการขยายฐานผู้อ่าน และสร้างสรรค์ผลงานแนวใหม่ออกมามากขึ้น ปัจจุบันมีนิยายวาย ทั้ง Boy love และ Girl love วางขายในเว็บไซต์ขายหนังสือและแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 3,800 เรื่อง ประกอบกับข้อมูลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52 ในช่วงเดือนเมษายน 2024 พบว่า นิยายวายได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นอันดับสองหรือราว 21% รองจากนิยายทั่วไป สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมซีรีส์และนิยายวายของไทยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้ง ข้อมูลของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้ปัจจุบันสัดส่วนมูลค่าหนังสือนิยาย Boy love และ Girl love จะมีเพียง 30% ของมูลค่าหนังสือนิยายทั้งหมด แต่ฐานผู้อ่านนิยายวายค่อนข้างเหนียวแน่น และพร้อมจ่ายแม้ราคาเฉลี่ยต่อเล่มจะสูงกว่านิยายทั่วไป ซึ่งความร่วมมือระหว่างธุรกิจหนังสือและผู้ผลิตซีรีส์วาย เช่น การเปิดตัวซีรีส์พร้อมโปรโมตหนังสือ และการจำหน่ายหนังสือในงานแฟนมีตนักแสดง จะช่วยดึงดูดแฟนซีรีส์ให้หันมาอ่านหนังสือมากขึ้น 2. ธุรกิจต่อเนื่องจากการโปรโมตซีรีส์วาย เช่น กิจกรรมแฟนมีต คอนเสิร์ต และงานเปิดตัวซีรีส์ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) หรือธุรกิจจัดอิเวนต์ รวมถึงธุรกิจให้เช่าสถานที่จัดงานอิเวนต์ด้วย จากตัวเลขงานอิเวนต์ซีรีส์วายของ GMMTV ซึ่งเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายรายใหญ่ของไทยในช่วงปี 2023-2024 ที่มีไม่น้อยกว่า 35 งานในไทยทั้งการจัดงานให้เหล่าแฟนคลับได้ร่วมนั่งชมตอนสุดท้ายของซีรีส์พร้อมกันกับนักแสดง งานแฟนมีต งานคอนเสิร์ต ซึ่งยังไม่รวมแฟนมีตและคอนเสิร์ตที่จัดในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ได้คาดการณ์มูลค่าตลาดธุรกิจ MICE ของไทยในปี 2025 จะอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจที่ได้อานิสงส์ยังรวมถึงการผลิตสินค้าและของที่ระลึกจากซีรีส์ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ โปสเตอร์ โฟโต้บุ๊ก และสินค้าที่ตัวละครใช้ในซีรีส์อย่างตุ๊กตา พวงกุญแจ ผ้าห่ม แก้วน้ำ เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มแฟนคลับนักสะสม อีกทั้ง กลุ่มแฟนคลับซีรีส์วายยังมีวัฒนธรรมให้กำลังใจศิลปินระหว่างการถ่ายทำผลงานและโอกาสพิเศษต่าง ๆ ด้วยการส่ง Food support ทั้งอาหารและเครื่องดื่มให้กับศิลปินตามงานคอนเสิร์ต งานโปรโมตผลงานใหม่ และวันเกิดศิลปิน จึงทำให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในรูปแบบ Food truck ได้รับผลบวกตามไปด้วย ธุรกิจโฆษณา ทั้งสื่อโฆษณาวิทยุและโทรทัศน์ สื่อโฆษณาออนไลน์ และสื่อโฆษณานอกบ้าน ด้วยเจ้าของแบรนด์สินค้าตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงแบรนด์สินค้าระดับ Luxury ของโลกต่างเกาะกระแสทุ่มเม็ดเงินโฆษณาดึงนักแสดงวายมาเป็น Presenter หรือ Brand ambassador สินค้ามากขึ้น ด้วยฐานแฟนคลับของนักแสดงสายวายที่ค่อนข้างเหนียวแน่นและมีอยู่ทั่วโลกสะท้อนจากยอดผู้ติดตาม Instagram ของนักแสดงสายวายหลายคนที่สูงกว่า 5 ล้านคนและบางคนทะลุ 10 ล้านคนไปแล้ว ทำให้นักแสดงวายกลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) ของแฟนคลับซึ่งส่งเสริมให้แบรนด์สินค้าที่มีนักแสดงสายวายเป็น Presenter / Brand ambassador ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สื่อโฆษณานอกบ้านยังได้รับผลบวกต่อเนื่องจากกระแสซีรีส์วาย เนื่องจากสื่อโฆษณานอกบ้านถือเป็นแพลตฟอร์มกลางที่นิยมใช้สำหรับสื่อสารระหว่างแฟนคลับกับเหล่านักแสดงคนดังที่มักใช้ป้ายโฆษณาในการทักทาย แสดงความชื่นชมและสนับสนุน อีกทั้ง เหล่านักแสดงก็ใช้ป้ายโฆษณาเพื่อแสดงความขอบคุณกลุ่มแฟนคลับของพวกเขาด้วยเช่นกัน ธุรกิจอื่นที่ได้อานิสงส์จาก Soft power ความโด่งดังของซีรีส์วาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ซีรีส์วายทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของผู้ชมซีรีส์ทั่วโลกมากขึ้น และช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอื่น ๆ ตามมาด้วย อาทิ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว และสายการบิน จากการเดินทางมาตามรอยสถานที่ถ่ายทำซีรีส์และการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์วายในไทยของแฟนคลับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวสามารถเจาะตลาดใหม่นำเสนอบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มแฟนคลับซีรีส์วายโดยเฉพาะอย่างเช่นการทำแพ็กเกจทัวร์ตามรอยซีรีส์ แพ็กเกจที่พักพร้อมรถรับส่งสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตหรือแฟนมีต หรือการร่วมมือกับผู้จัดอิเวนต์นำเสนอแพ็กเกจที่พักพร้อมบัตรเข้าคอนเสิร์ตหรือแฟนมีต เป็นต้น โอกาสที่มาพร้อมกับความท้าทายของซีรีส์วายไทยในระยะต่อไป ซีรีส์วายถือเป็นหนึ่งในธุรกิจสื่อบันเทิงของไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสพัฒนาไปได้อีกไกลในอนาคต โดยเฉพาะการขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดใหม่ที่มีความสนใจซีรีส์วายไทยมากขึ้น สะท้อนได้จากงานเปิดตัวซีรีส์วายเรื่องใหม่ที่จะออกอากาศในปี 2025 ของ GMMTV ที่ติดเทรนด์ X อันดับ 1 ในหลายพื้นที่ในยุโรปอย่างสเปน, โปแลนด์ และกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ เช่น บราซิล, เอกวาดอร์, กัวเตมาลา, เม็กซิโก, เปรู และเปอร์โตริโก ประกอบกับอินเดียที่เป็นกลุ่มผู้ชมที่มีแนวโน้มเติบโตสูงจากผู้ใช้บริการสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม Gagaoolala ในปี 2023 ที่เพิ่มขึ้นถึง 40%YOY จึงถือเป็นโอกาสที่ซีรีส์วายไทยจะได้ขยายฐานผู้ชมให้กว้างขึ้น แต่โอกาสที่ดีย่อมมาพร้อมกับการแข่งขันที่สูงตามมาด้วย ซึ่งผู้ผลิตซีรีส์วายไทยจะต้องเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตในตลาดใหม่และรักษาฐานผู้ชมในตลาดเดิมให้ได้ต่อเนื่อง ผู้ผลิตซีรีส์วายไทยต้องเข้าถึงและเข้าใจผู้ชมที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อคว้าโอกาสในการเจาะตลาดใหม่ ทั้งการเพิ่มคำบรรยายภาษาที่หลากหลายกว่าเดิม อย่างเช่น ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส และภาษาฮินดี รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้ซีรีส์วายไทยสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจุบันสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างประเทศยังร่วมลงทุนกับผู้ผลิตซีรีส์คุณภาพในการผลิตซีรีส์วายที่มีรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้ชมกลุ่มศักยภาพใหม่ของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเอง ซึ่งการร่วมลงทุนนี้ ผู้ผลิตซีรีส์วายไทยยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับทีมงานต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพผลงานที่ดีขึ้น และเข้าใจความต้องการของผู้ชมในตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย ขณะที่ความท้าทายสำคัญคือการรักษาฐานผู้ชมในตลาดเดิมให้คงอยู่ได้ในระยะยาว เนื่องจากผู้ผลิตซีรีส์วาย มีแนวโน้มต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ตามกระแสความแรงของซีรีส์วายที่ดึงดูดให้ผู้ผลิตซีรีส์ของประเทศอื่น เริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะไต้หวันและญี่ปุ่นที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย เนื่องจากวัฒนธรรมของคนไต้หวัน และญี่ปุ่นเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น รวมถึงเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้นำการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ในเอเชีย ก็เริ่มให้ความสนใจตลาดซีรีส์วายด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ผลิตซีรีส์วายของไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันที่จะเข้มข้นขึ้น อาทิ การคงเสน่ห์เฉพาะตัวของซีรีส์วายไทยที่ยังสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทั่วโลกด้วยการสอดแทรกวัฒนธรรมไทยควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพผลงานด้วยการนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลายและนำเทคนิคการถ่ายทำที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น ซึ่งการสร้างซีรีส์ที่มีความหลากหลายในเนื้อหาก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ซีรีส์วายไทยสามารถขยายฐานผู้ชมได้กว้างขึ้นด้วย นโยบายภาครัฐกับการสนับสนุนธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงไทย ปัจจุบันภาครัฐได้มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงในภาพรวม โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี และยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์จำเป็น สำหรับผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ลงทุนเพิ่มเติมและลงทุนใหม่ในธุรกิจโรงถ่ายภาพยนตร์ (Studio), ผู้ผลิตภาพยนตร์ และกลุ่มบริการธุรกิจภาพยนตร์ เช่น ให้เช่าอุปกรณ์ สถานที่ถ่ายทำ และรับตัดต่อ เป็นต้น แต่การสนับสนุนซีรีส์วายโดยเฉพาะยังอยู่ภายใต้นโยบาย Soft power ผ่านการออกงาน Roadshow โปรโมตในต่างประเทศอย่าง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่สนับสนุนให้ผู้ผลิตซีรีส์วายเดินทางไปเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ซีรีส์ในตลาดต่างประเทศ ขณะที่การสนับสนุนการผลิตซีรีส์วายไทยอย่างเป็นรูปธรรมนั้นยังอยู่ระหว่างการกำหนดนโยบายหลังได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านละครและซีรีส์ไทยแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี หากภาครัฐพิจารณานโยบายสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายไทยเพิ่มเติม จะช่วยพัฒนาคุณภาพซีรีส์ของไทย และเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐในหลายประเทศที่กำหนดนโยบายสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ ได้แก่ การกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนในการผลิตให้มากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ที่มีคุณภาพที่ดี ทั้งด้านเนื้อหา การถ่ายทำ และการตัดต่อ จำเป็นต้องใช้เงินทุนที่สูง ขณะที่การผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ของไทยยังคงมีข้อจำกัดด้านเงินทุนผลิตต่อเรื่องที่ต่ำกว่าประเทศอื่น เนื่องจากยังคงพึ่งพาแหล่งเงินลงทุนของผู้ผลิตและนักลงทุนเป็นหลัก โดยจากข้อมูลของ Nash Information Services ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและบริการข้อมูลด้านธุรกิจผลิตสื่อบันเทิง พบว่า การผลิตภาพยนตร์ไทยมีเงินทุนต่อเรื่องอยู่ที่ราว 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 250 ล้านบาท ขณะที่การผลิตภาพยนตร์ของเกาหลีใต้มีเงินทุนต่อเรื่องสูงกว่าไทยกว่าเท่าตัวอยู่ที่ราว 16.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 580 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านกองทุนสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ทำให้ผู้ผลิตสื่อบันเทิงสามารถผลิตภาพยนตร์คุณภาพสูงได้ ดังนั้น การปรับใช้นโยบายภาครัฐที่เหมาะสมในการส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทย จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ที่ถ่ายทำในประเทศ เช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักรที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษี 25% ของค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่มีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านปอนด์ ทำให้ผู้ผลิตกล้าทุ่มเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นเพื่อผลิตซีรีส์ฟอร์มใหญ่ เช่น ซีรีส์ Game of Thrones ที่มีเงินลงทุนสูงถึง 47-70 ล้านปอนด์ต่อซีซัน ซึ่งการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลนอกจากจะทำให้เนื้อหาและคุณภาพของซีรีส์สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทั่วโลกได้ไม่ยากแล้ว ยังช่วยให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเมือง Belfast ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำหลักเกิดการพัฒนา อีกทั้ง ความนิยมของซีรีส์ยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของเมืองทั้งการท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ถ่ายทำ และ Studio tour ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวในระยะยาวได้ การขยายนโยบายคืนเงินค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนตร์ให้ครอบคลุมภาพยนตร์และซีรีส์วายของผู้ผลิตชาวไทย เช่นเดียวกับการคืนเงินสูงสุดไม่เกิน 20% ให้กับการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 50 ล้านบาท โดยภาครัฐอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ของไทย เช่น การปรับการกำหนดวงเงินขั้นต่ำ การสอดแทรกเนื้อหาที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่หรือจังหวัดเมืองรอง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ต่อเรื่อง และเป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของภาพยนตร์และซีรีส์ไทยให้ดีขึ้นได้ สนับสนุนการเผยแพร่สื่อบันเทิงไทยในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศและขยายฐานผู้ชมให้กว้างขึ้น อาทิ การอำนวยความสะดวกและสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ผลิตและนักแสดงภาพยนตร์และซีรีส์วายที่มีศักยภาพส่งออกในการเดินทางไปเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและงานจับคู่ธุรกิจเพื่อซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือซีรีส์ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายพัฒนาคุณภาพผลงานให้ดียิ่งขึ้นพร้อมแข่งขันในตลาดต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย นโยบายอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตซีรีส์วาย เช่น การสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วาย ของไทยมีโอกาสร่วมงานกับผู้ผลิตซีรีส์วายต่างประเทศอย่างเกาหลี, ญี่ปุ่น และไต้หวัน เช่นเดียวกับรัฐบาลฮ่องกง ที่เป็นสื่อกลางให้ผู้สร้างภาพยนตร์ท้องถิ่นและต่างประเทศได้ทำงานร่วมกันพร้อมสนับสนุนเงินทุนต่อโครงการสูงสุด 9 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงหรือประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตซีรีส์ท้องถิ่นโดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเรียนรู้เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพได้           ทั้งนี้แม้กระแสซีรีส์วายของไทยจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมในหลายประเทศ แต่การขับเคลื่อนซีรีส์วายของไทยให้เติบโตต่อเนื่องอย่างมีศักยภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพผลงานของผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายเพื่อยกระดับให้ภาพยนตร์และซีรีส์วายไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง กระแสความนิยมของภาพยนตร์และซีรีส์วายยังช่วยสร้าง Soft power ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย ในภาพรวมด้วย ซีรีส์วาย คืออะไร? “ซีรีส์วาย” เป็นประเภทของซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน โดยเป็นได้ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชายและชาย (Boy love) และความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและหญิง (Girl love) คำว่า “วาย” มาจากการ์ตูนญี่ปุ่นประเภทยาโออิ (YAOI) ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายและชาย และยูริ (Yuri) ซึ่งแสดงถึงความรักระหว่างหญิงและหญิง ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มนักอ่าน ทำให้ถูกดัดแปลงเป็นการ์ตูนแอนิเมชันและซีรีส์ในปัจจุบัน บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/BL-GL-070125 ผู้เขียนบทวิเคราะห์ กีรติญา ครองแก้ว นักวิเคราะห์