หุ้นวิชั่น - สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยกลุ่มพัฒนาแบบจำลองและเครื่องชี้วัด กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน ระบุว่า
1.แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ มีผลต่อเศรษฐกิจด้านใดบ้าง
เศรษฐกิจของไทยภายหลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ อยู่บ้าง แต่เชื่อว่าในภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลประโยชน์และมีการเติบโตในทิศทางที่ดี อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่คาดว่าจะมีต่อเศรษฐกิจของไทย มีดังต่อไปนี้
• ด้านการค้าระหว่างประเทศ จากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการความสามารถในการแข่งขันของไทย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกทดแทนและดึงดูดการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการย้ายฐานการผลิต
• ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ จากการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้า ทำให้โอกาสที่จะเข้ามาลงทุนภาคอุตสาหกรรมในไทยมากขึ้น ซึ่งไทยควรโอกาสนี้ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งด้าน
การวิจัยและพัฒนา พัฒนาแรงงานฝีมือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ อำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีเพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าและการลงทุน เพื่อเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
2. มองแนวโน้มจะเป็นบวกหรือลบต่อเศรษฐกิจไทย
คาดว่าการวางตัวเป็นกลางของไทยสามารถดึงดูดการค้าและการลงทุนได้จากนักลงทุนจากทุกฝ่าย ท่ามกลางนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะไปในทิศทางกีดกันทางการค้าและปกป้องทางการค้ามากขึ้น
• ผลจากสงครามการค้า ทำให้สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าทดแทนได้ เนื่องจากไทยและจีนอยู่บนตำแหน่งของห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าสำเร็จรูป อีกทั้งไทยและจีนมีโครงสร้างการส่งออกสินค้าที่คล้ายคลึงกันในตลาดสหรัฐฯ โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์
• ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีน รวมถึงนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ จะเพิ่มการลงทุนในประเทศที่เป็นกลางและเป็นมิตรกับทุกฝ่าย นอกจากนั้น ไทยยังควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการด้วยการหาโอกาสเข้าเกาะเกี่ยวในห่วงโซ่อุปทานสินค้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี
3. นโยบายไหนของทรัมป์ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก
• สหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก การออกมาตรการของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยนโยบายของทรัมป์จะเน้นการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐฯ การกลับมาของนโยบาย America First อย่างเข้มข้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีความยากลำบากมากขึ้น ด้วยการตั้งกำแพงภาษี สกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ
• ตัวอย่างรายละเอียดนโยบาย ได้แก่
o นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 60% และขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศ
อื่น ๆ อีก 10 - 20% กำหนดภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทนกับประเทศใดก็ตามที่เรียกเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ (Reciprocity) ให้ใช้อัตราภาษีเดียวกันกับประเทศคู่ค้าที่เรียกเก็บสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ยกเลิกการนำเข้าสินค้าจำเป็นจากจีน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กกล้า และยา พร้อมทั้งห้ามบริษัทจีนเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี และที่ดินสำหรับทำการเกษตร และอาจจะมีความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับไปสหรัฐฯ หรือประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เพื่อลดความเสี่ยงทางการค้าด้วยเช่นกัน
o นโยบายอุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดบทบาทของกฎหมาย Inflation Reduction Act คัดค้านนโยบาย Green New Deal ดำเนินการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล และลบขั้นตอนที่ไม่จำเป็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ่อนปรนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกฎระเบียบการปล่อยมลพิษสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และยกเลิกเครดิตภาษีคาร์บอน โดยจะดำเนินการลดกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งจะกระทบต่อทิศทางของอุตสาหกรรมที่สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมและ การแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อความรุนแรงของสภาพอากาศทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม พายุ และความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ซึ่งจะกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและการหยุดการดำเนินงานของโรงงานเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
o นโยบายการเมืองระหว่างประเทศ ยุติสงครามในยูเครนโดยจะยกเลิกความช่วยเหลือแก่ยูเครนแต่ยังคงสนับสนุนอิสราเอล ยุติความรุนแรงในเลบานอล และนำรัสเซียและยูเครนมาสู่โต๊ะเจรจา ในขณะขณะเดียวกัน การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนความมั่นคงในเวทีโลก โดยเฉพาะ NATO อาจทำให้มีความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ปะทุได้ง่ายขึ้น ซึ่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
• กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า การใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าที่สูงมากของทรัมป์จะปรากฎขึ้นประมาณกลางปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะทำให้การค้าโลกชะลอตัวลง 0.8% ในปี 2568 และจะลดลง 1.3 % ในปี 2569 เนื่องจากการตั้งภาษีจะขัดขวางการเติบโตของการค้าโลก ประเทศส่วนใหญ่จะเติบโตอย่างไม่แข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง ซึ่งการประเมินของ IMF มองว่าหากเกิดการแยกส่วนอย่างจริงจังและใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรในวงกว้างจะทำให้ GDP โลกลดลง 7%
4. ทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีการค้ากับจีนไว้สูงมาก ถ้ายังคงเกิดสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน เอเชียและไทยจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
ผลกระทบ
• นโยบายขึ้นภาษีสินค้าจีน 60% จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของไทยที่พึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและอาจเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบบางประเภท นอกจากนี้ สินค้าไทยอาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีผ่านการส่งออกผ่านประเทศไทยได้
โอกาส
• โอกาสจากการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ประเทศไทยมีโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่มีความเข้มแข็ง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ และอาหารแปรรูป ด้วยจุดแข็งของไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐาน แรงงานมีทักษะ ระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เพื่อให้ไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
• โอกาสในการเป็นฐานการผลิตทางเลือก ไทยมีโอกาสในการเป็นฐานการผลิตทางเลือกสำหรับตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียน อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับโลก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง
5. หากบางนโยบายไม่เอื้อต่อ ศก.ไทย มองว่า ไทยจะรับมืออย่างไร
• ติดตามสถานการณ์แนวโน้มทางการค้า โดยติดตามนโยบายที่สำคัญ และแนวโน้มการใช้มาตรการและการดำเนินการของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขันทางการค้าที่อาจส่งผลต่อการค้าไทย รวมถึงการเฝ้าระวังปริมาณการนำเข้าและส่งออก สินค้าของบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในรายการสินค้าที่ถูกใช้มาตรการทางภาษี โดยเฉพาะรายการสินค้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ตลอดจนการดำเนินการรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ไทยถูกใช้มาตรการทางภาษี รวมถึงการถูกไต่สวนและการถูกบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention) ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่มีการส่งออกสินค้าในรายการเดียวกัน
• ดำเนินมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ การดำเนินมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ในกรณีที่มีสินค้าราคาถูกไหลทะลักเข้ามา ในประเทศอย่างเหมาะสม อาทิ ยกระดับการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้านำเข้า กำหนดอัตราภาษีหรือโควตาสำหรับสินค้านำเข้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) มาตรการตอบโต้ การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) เป็นต้น
• การลดความผันผวนทางการค้าและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ การลดความผันผวนทางการค้าและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยการกระจายตลาดส่งออกและ เพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ/สินค้านำเข้า ไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ หรือจีนตั้งเป้าหมายขยายการผลิตในประเทศหรือส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reshoring) โดยส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่ อุปทานจะหยุดชะงัก
• การปรับตัวให้สอดรับกับการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน (decoupling) โดยการยึดโยงอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ และจีน โดยแสวงหาโอกาสในการเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ ผ่านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ เช่น เม็กซิโก แคนาดา ลาตินอเมริกา และประเทศพันธมิตรภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน เช่น ประเทศตามข้อริเริ่มสายแถบ และเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) และสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) รวมถึงประเทศที่อยู่ร่วมห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ และจีน อย่างประเทศ สมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)
• การปรับตัวสำหรับระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป การปรับตัวสำหรับระเบียบข้อบังคับโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะประเด็นด้าน ESG (Environmental Social และ Governance) ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกประเทศในการลงทุน/ตั้งฐานการผลิตของบริษัท ข้ามชาติ ตลอดจนเกี่ยวเนี่องกับด้านการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศมหาอำนาจจะใช้มาตรการด้านสังคมและ สิ่งแวดล้อมในการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากภาคการผลิตไทยปรับตัวรับกับประเด็น ดังกล่าวไม่ทัน อาจจะทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกได้