ค้าปลีกผ่าทางตันโต รอนโยบายภาครัฐชี้ชะตา

          หุ้นวิชั่น - แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2568 จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่คาดว่ายอดขายของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงซึ่งจะกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ฟื้นตัวได้ช้าลง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากช่องทางออนไลน์ที่มี Key players ใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะ Platform จากจีน ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตราว 5.1%YOY จากที่คาดว่าจะเติบโต 4.8%YOY ในปี 2567 ทั้งนี้แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตชะลอลง แต่คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มดำเนินการในปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 (เฟส 2 และ3) จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ผู้บริโภคอาจจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายโดยเลือกใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นก่อน และอาจชะลอการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกลับมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด (Pre-covid) และหากภาครัฐปรับขึ้นค่าแรงคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคในระยะข้างหน้า การเติบโตของ E-commerce ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรง แม้จะมีการชะลอตัวลงหลังจากช่วงโรคระบาดผ่านไป อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกสบาย โดยเฉพาะกลุ่ม Marketplace retailers ซึ่งมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและบริการของแต่ละร้านค้าได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกัน เทรนด์ Social Commerce ก็มีสัดส่วนยอดขายต่อ E-commerce เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงอิทธิพลของ Social media ที่ผู้บริโภคมีการใช้งานอยู่เป็นประจำ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG โดยมุ่งเน้นไปที่ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลากหลายช่องทาง ตัวอย่างเช่น ลดใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ส่งเสริม Circular economy และใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้ง Solar rooftop นอกจากนี้ ยังเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และเพิ่มสัดส่วนสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เป็นต้น           กลุ่มที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ยังคงเป็นหมวดร้านค้าสินค้าจำเป็น เช่น CVS, Supermarket และ Hypermarket ซึ่งมียอดขายที่เติบโต รวมถึงมีการขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้ง ยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มที่ตอบโจทย์เทรนด์ต่าง ๆ ก็ยังเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน อาทิ ธุรกิจ Health & Beauty โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน และกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวที่นิยมซื้อสินค้าประเภทนี้ สำหรับกลุ่มที่เติบโตแต่ยังมีข้อจำกัด ได้แก่ กลุ่ม Department store เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง และกำลังซื้อที่เปราะบาง ร้านค้าเฉพาะทางที่มีความหลากหลาย รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ ขณะที่กลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้แก่ สินค้าแฟชั่น เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้า Home & Garden จากการซบเซาของตลาดที่อยู่อาศัย กลุ่ม Modern grocery : ยอดขายของทุกกลุ่ม (CVS, Supermarket, Hypermarket) กลับไปอยู่สูงกว่าช่วง Pre-COVID แล้ว โดยแม้ว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ความต้องการในหมวดสินค้าจำเป็นยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง อีกทั้ง หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทยอยปรับตัวดีขึ้น กลุ่ม Department store : ในสถานการณ์กำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวอย่างจำกัด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น อย่างไรก็ดี กลุ่ม Department store ยังได้แรงหนุนของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด ในปี 2568 ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายภายในห้างสรรพสินค้าและส่งผลให้ยอดขายเติบโตดีขึ้น อีกทั้ง ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ กลุ่ม Health & Beauty : ยอดขายเติบโตสอดคล้องกับการที่ผู้บริโภคหันไปให้ความสนใจสินค้าทั้งในกลุ่มสุขภาพและความงามมากขึ้น ท่ามกลางตัวเลือกในตลาดที่หลากหลาย โดยผู้บริโภคจะเลือกสินค้าที่มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ ถึงแม้จะมีราคาที่สูงกว่า ขณะเดียวกัน เทรนด์การรักษาสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยยังทำให้มีความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเวชศาสตร์ป้องกัน อย่างไรก็ดี ช่องทางออนไลน์อย่าง Marketplace และ Social media ทำให้มีจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดมากขึ้น และยังทำให้การแข่งขันในหมวดสินค้าสุขภาพและความงามรุนแรงขึ้นตามไปด้วย กลุ่ม Home & Garden : ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง สาเหตุหลักมาจากความต้องการซื้อหรือลงทุนในที่อยู่อาศัยหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สินค้าหมวดนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการ Renovate ที่อยู่อาศัยจากทั้งกลุ่มที่อยู่อาศัยบ้านเก่าและกลุ่มที่นิยมซื้อบ้านมือสองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับการซ่อมแซม/ปรับปรุง/ตกแต่งบ้าน มากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การเติบโตของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทั้งในด้าน Product mixed ให้ตอบโจทย์กลุ่ม Renovate รวมถึงการขยายสาขาที่ต้อง Selective มากขึ้น กลุ่ม Apparel & Footwear : ยอดขายเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินค้าในกลุ่ม Fast fashion ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่ม Traditional fashion ยอดขายยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด ส่วนกลุ่ม Sportswear และ Luxury fashion ยอดขายกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้วตั้งแต่ปี 2566 อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจกดดันให้ยอดขายสินค้าแฟชั่นเติบโตได้ไม่มากนัก           ผู้ประกอบการค้าปลีกในไทยมีการตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงานด้าน ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่ผู้บริโภคเองก็มีความตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญในการสนับสนุนสินค้าที่มีความยั่งยืน (Sustainable products) คือ ปัจจัยด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปและตัวเลือกที่น้อย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและราคา เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น สำหรับในด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้น พบว่าร้านค้าขนาดใหญ่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากมีเงินทุนมากกว่า ขณะที่ร้านค้าขนาดเล็กอาจเริ่มจากการให้ความรู้และเริ่มวางจำหน่ายสินค้าที่มีความยั่งยืนให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย บทวิเคราะห์โดย  ชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)