#ก.ล.ต.


รู้ก่อนลงทุน!! เช็กให้ชัวร์ก่อนซื้อกองทุนรวม

รู้ก่อนลงทุน!! เช็กให้ชัวร์ก่อนซื้อกองทุนรวม

          หุ้นวิชั่น - การซื้อกองทุนรวมในยุคนี้ง่ายแสนง่าย ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็สามารถซื้อกองทุนรวมผ่านโมบายแอปของผู้ให้บริการการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) หรือธนาคารพาณิชย์ ที่ล้วนแต่มีช่องทางออนไลน์ให้บริการแก่ผู้ลงทุนแทบทั้งนั้น           แต่ก็มีผู้ลงทุนอีกจำนวนมากขอเลือกที่จะเดินไปซื้อกองทุนรวมที่สาขาดีกว่า เพราะอยากพบปะกับเจ้าหน้าที่โดยตรง เพื่อขอคำปรึกษาพร้อมสอบถามข้อมูลของกองทุนรวมที่สนใจ เป็นทางที่ตอบโจทย์การตัดสินใจลงทุนมากกว่าการค้นหาข้อมูลในโลกออนไลน์ด้วยตัวเอง ที่ไม่แน่ใจว่าจะตรงกับที่ตัวเองต้องการหรือไม่           บทความตอนนี้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนกองทุนรวม ไม่ว่าเราจะถนัดช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ จะได้ทราบถึงการได้รับบริการที่ถูกต้องเป็นมาตรฐาน รู้เท่าทันในสิทธิพึงมี และหน้าที่ที่ควรทำในฐานะผู้ลงทุน และถึงแม้คุณจะยังไม่ได้ลงทุนกองทุนรวม แต่ลงทุนหรือซื้อผลิตภัณฑ์การเงินอื่น ก็สามารถนำไปปรับใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อหรือใช้บริการทางการเงินได้เหมือนกัน ซื้อกองทุนรวมกับเจ้าหน้าที่ถามอะไรดีนะ? (Ask First)           เมื่อเดินเข้าไป ณ สำนักงาน หรือ สาขา เพื่อปรึกษาเรื่องการลงทุนในกองทุนรวมกับเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการอาจมีหลายคนที่ไม่รู้จะถามอะไรหรือถามไม่ค่อยถูก ไม่ต้องห่วง เราเตรียมโพยคำถามที่ควรถามกับเจ้าหน้าที่ ที่ให้บริการให้เบื้องต้น 4 ประเด็น ดังนี้ Q: เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และได้รับแต่งตั้งจากผู้ให้บริการให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แนะนำการลงทุนหรือไม่?           คำถามนี้สำคัญมาก เพื่อให้เราได้รับบริการและคำแนะนำจากคนที่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และปฏิบัติตามขั้นตอนการขายกองทุนรวม นั่นคือผู้แนะนำการลงทุน หรือ Investment Consultant (IC) ซึ่งมีหน้าที่ประเมินลูกค้าว่ารับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ระดับไหนหรือรับผลขาดทุนได้แค่ไหน และมีเป้าหมายการลงทุนเพื่ออะไร เช่น เพื่อลดหย่อนภาษี หรือเพื่อหาผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากแต่ไม่เสี่ยงมาก เพื่อที่ IC จะสามารถแนะนำกองทุนที่เหมาะกับ “ระดับความเสี่ยง” และ “เป้าหมาย” ของลูกค้าได้นั่นเอง ดังนั้น หากซื้อกองทุนรวมที่สาขาก็ลองสังเกตป้ายชื่อ ณ จุดให้บริการ หรือขอทราบเลขที่ทะเบียนผู้แนะนำการลงทุน ซึ่งปกติผู้ให้บริการจะจัดให้มี IC ประจำที่สาขา หรือมี IC พร้อมติดต่อให้บริการลูกค้าได้ Q: กองทุนรวมที่จะซื้อมีลักษณะอย่างไร?           เข้าใจว่าหลายคนตอนจะไปที่สาขาก็อาจจะมีไอเดียอยู่แล้วว่าสนใจกองทุนรวมแบบใด เช่น กองหุ้น หรือ กองตราสารหนี้ ถ้าแบบนั้นก็สอบถามให้ IC แนะนำตัวเลือกให้เรา หรือหากยังไม่รู้ก็ให้ IC เป็นคนแนะนำ แต่อย่าลืมว่า ก่อนได้รับคำแนะนำ จะต้องมีขั้นตอนการทำ KYC (know your client) และ suitability test คือเราต้องให้ข้อมูลแก่ IC เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเราว่ามีเป้าหมายการลงทุนอย่างไร มีข้อจำกัดหรือ รับความเสี่ยงได้แค่ไหน ทำเสร็จแล้วค่อยไปถึงขั้นตอนการดูว่าแล้วกองแบบใดที่เหมาะกับเรา ใช่กองที่เราคิดก่อนมาที่สาขาหรือไม่           ถัดไปก็ต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดว่ากองนั้นว่าเอาเงินไปลงทุนในตราสารหรือสินทรัพย์ใด มีระดับความเสี่ยงเท่าใด และมีความเสี่ยงด้านใดบ้าง เช่น ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกรณีไปลงทุนต่างประเทศ รวมถึงการคิดค่าธรรมเนียม (เรียกเก็บจากผู้ลงทุน/เรียกเก็บจากกองทุนรวม) และเงื่อนไขการซื้อขาย (ขายแล้วอีกกี่วันเงินถึงจะเข้า) เป็นต้น  ถ้ายังไม่ปิ๊งหรือยังไม่เข้าใจจริง ๆ ก็ชวน IC ให้แนะนำเราจนกว่าจะเจอกองที่ใช่ Q: การตรวจสอบการซื้อขายว่าได้กองทุนรวมที่ถูกต้องตรงความต้องการ?           เมื่อตกลงซื้อแล้ว ก็ต้องตรวจสอบหลักฐานการซื้อขายให้ดี โดยเช็กว่า เราได้ซื้อกองทุนรวมที่เราสนใจจริง ๆ โดยตรวจสอบชื่อกองทุนรวมและจำนวนเงินลงทุนให้ถูกต้อง รวมถึงเอกสารหลักฐานในการซื้อขายกองทุนรวมมีอะไรบ้าง เป็นรูปแบบเอกสารหรือเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และเราได้ลงนามหรือยืนยันอะไรไปบ้าง ได้รับบริการถูกต้องตามที่ลงนามหรือยืนยันไปหรือไม่ เช่น มีสมุดบัญชีกองทุนรวมหรือมีเอกสารรับรองการซื้อขายหน่วยลงทุนให้หรือไม่อย่างไร โดยต้องสังเกตว่าเอกสารต่าง ๆ ต้องออกโดยผู้ให้บริการเท่านั้น ไม่ใช่เอกสารที่ IC จะเขียนหรือทำให้เราโดยเฉพาะ เราได้รับข้อมูลคำแนะนำตามหนังสือชี้ชวน และได้รับการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่าง ๆ ของกองทุนรวมนั้น ๆ ตามที่เราได้ลงนามหรือยืนยันไปหรือไม่ เป็นต้น Q: เมื่อมีปัญหาติดต่อใคร?           หลังจากตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมแล้ว ผู้ลงทุนควรถามว่า ในกรณีประสบปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการได้ช่องทางใดบ้าง ซึ่งผู้ให้บริการมักมีช่องทางติดต่อหลายช่องทาง อาทิ call center อีเมล ช่องทางออนไลน์ หรือโมบายแอปพลิเคชัน โดยทั่วไปผู้ให้บริการจะสามารถตอบคำถามและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากกว่า แต่หากผู้ลงทุนไม่สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการได้ หรือได้รับบริการที่ไม่เป็นธรรม หรือพบเบาะแสใดที่ไม่น่าไว้วางใจ ก็สามารถติดต่อมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ก.ล.ต.[1] เพื่อดำเนินการต่อไป รู้จัก IC/IP เขามีความสำคัญอย่างไร?           ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant: IC) และผู้วางแผนการลงทุน (Investment Planner: IP) เป็นบุคลากรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ต้องได้รับความเห็นชอบในการทำหน้าที่ โดยผู้แนะนำการลงทุนในปัจจุบันมี 4 ประเภท คือ ผู้แนะนำการลงทุนด้านตราสารทั่วไป (IC plain) ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 (IC complex 1)  ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 (IC complex 2) และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 3 (IC complex 3)  ขณะที่ ผู้วางแผนการลงทุน (IP) นอกจากจะแนะนำการลงทุนได้แล้ว ยังสามารถช่วยวางแผนการลงทุนได้ด้วย (คลิกอ่านประเภท IC และขอบเขตการทำหน้าที่)           ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น IC และ IP ต้องมีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ สามารถให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้า และต้องมีจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ด้วย เพราะเป็นผู้ติดต่อใกล้ชิดกับลูกค้า รวมทั้งอาจได้รับประโยชน์ผ่านการขายผลิตภัณฑ์ของต้นสังกัด ซึ่งเส้นแบ่งอยู่ที่การยึดผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน รวมทั้งเปิดเผย conflict อย่างโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ลงทุนผ่านแอปให้ปลอดภัยต้องใส่ใจอีกนิด           การทำธุรกรรมการลงทุนผ่านออนไลน์ ต้องใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องดูแลระบบให้มีมาตรฐานตามกำหนด มีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งพัฒนาระบบให้รองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ           แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ลงทุนในฐานะผู้บริโภคที่จะต้องปกป้องตัวเองด้วย ควรมีความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล (digital literacy) ก่อนทำธุรกรรมลงทุนออนไลน์ เพราะนอกเหนือจากปลอดภัยทางไซเบอร์แล้ว ยังเป็นการป้องกันการทำธุรกรรมผิดพลาดที่อาจเกิดผลกระทบต่อเงินลงทุนของตัวเองด้วย เพราะสมัยนี้มีมิจฉาชีพที่พยายามหลอกให้เราหลงเชื่อว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องโดยใช้ชื่อใกล้เคียงหวังหลอกให้คนเข้าใจผิด เรามีคำแนะนำเบื้องต้นในการทำธุรกรรมลงทุนออนไลน์ให้ปลอดภัย ดังนี้ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากแหล่งที่ถูกต้อง ใน app store หรือ google play store พร้อมเช็กก่อนว่าเป็นแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการตัวจริง เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่สร้างแอปปลอมมาหลอกลวง สำหรับตัวเครื่องโทรศัพท์ต้องไม่ดัดแปลง ไม่ Root ไม่ Jailbreak อ่านข้อตกลงเงื่อนไขการใช้งาน และนโยบายความเป็นส่วนตัว ซึ่งจะเป็นการแจ้งข้อจำกัดสิทธิในการใช้บริการของแอปพลิเคชัน อ่านนโยบายการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล ให้เข้าใจก่อนตัดสินใจว่าจะยินยอมให้ใช้ข้อมูล ส่วนบุคคลหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การขอนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการวิเคราะห์ทางการตลาด เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น ก่อนทำรายการลงทุน ควรทำแบบทดสอบการยอมรับความเสี่ยง (suitability test) โดยตอบตามความจริง เพื่อให้ผลประเมินสะท้อนระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ และศึกษาทำความเข้าใจกองทุนรวมหรือผลิตภัณฑ์ที่จะลงทุนให้เข้าใจชัดเจนก่อนว่า เหมาะกับตัวเองหรือไม่ ก่อนจะกดยอมรับความเสี่ยงหรือกดยืนยันการส่งคำสั่ง (Accept) ต้องอ่านข้อมูลให้เข้าใจและรู้จริงว่า เรากำลังจะตัดสินใจลงทุนสิ่งนั้นจริง ๆ ขอย้ำว่า “อย่ากดยอมรับโดยไม่อ่าน” เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเราเอง เช่น ในกรณีที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงกว่าความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ จะมีให้กดรับทราบและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หากกดยอมรับยืนยันที่จะลงทุน ผู้ลงทุนต้องรู้ว่าหากการลงทุนไม่เป็นไปในทิศทางที่คิดไว้ ต้องยอมรับผลที่จะตามมา ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะระบบได้เก็บประวัติการทำธุรกรรม (transaction log) ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่าเรายอมรับความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว           จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะซื้อกองทุนรวมผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม เราในฐานะผู้ลงทุนและเจ้าของเงินต้องปกป้องตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ รู้จักสิทธิของตัวเองที่พึงมี รวมทั้งหน้าที่ในฐานะผู้ลงทุนที่ต้องดูแลตัวเอง เช่น ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาต อัพเดทข้อมูลส่วนตัวเป็นปัจจุบัน ติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เราลงทุนไปแล้ว เป็นต้น           และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การศึกษาข้อมูลกองทุนรวมก่อนตัดสินใจ ซึ่งทุกคนสามารถศึกษาข้อมูลและเปรียบเทียบกองทุนรวมได้ด้วย SEC Fund Check เครื่องมือดี ๆ ที่ ก.ล.ต. พัฒนาขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมได้มีตัวช่วยในการหาข้อมูลกองทุนรวม เช่น ความเสี่ยงของกองทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งสามารถเรียกดู fund fact sheet เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมว่ากองทุนรวมนั้นลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง           ทิ้งท้ายอีกสักครั้ง สำหรับใครที่พบเห็น หรือถูกชักชวนให้ลงทุน หรือพูดคุยแนะนำการลงทุนกองทุนรวมแบบไม่พบหน้า เช่น ผ่านออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย หลังจากที่ตรวจสอบด้วย SEC Check First แล้ว ควรสอบถามไปยังหน่วยงานต้นสังกัดอีกครั้งว่า เป็นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจริงหรือไม่ มีผลิตภัณฑ์ลงทุนดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะตอนนี้มีทั้งการแอบอ้างเลขทะเบียนผู้แนะนำตัวจริง และปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจแอบอ้างชื่อให้ใกล้เคียงกับบริษัทตัวจริง ขอย้ำ! เจอโฆษณาชวนลงทุนแอบอ้างชื่อ ภาพโลโก้ ก.ล.ต. ให้คิดไว้เลยว่าหลอกลวง อย่าแอดไลน์ และอย่าโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดาเด็ดขาด [1] ช่องทางร้องเรียน แจ้งเบาะแส สอบถามข้อมูล ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/AboutUs/SECHelp.aspx โดย นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ก.ล.ต. ขอให้พนักงานอัยการฟ้อง 3 ราย ต่อศาลแพ่ง กรณีปั่นหุ้น BM

ก.ล.ต. ขอให้พนักงานอัยการฟ้อง 3 ราย ต่อศาลแพ่ง กรณีปั่นหุ้น BM

          หุ้นวิชั่น - สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้พนักงานอัยการฟ้องผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ (1) นายฐนริศร์ พรพัฒนะแจ่มใส (2) นางสาวอัจฉราภรณ์ ราชนาจันทร์ และ (3) นายศักดิ์สุมิตร สมรพิทักษ์กุล กรณีสร้างราคาหุ้นของบริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด (มหาชน) (BM) เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด           ตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ได้มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดรวม 6 ราย* ในกรณีสร้างราคาหุ้นของ BM โดยกำหนดให้ชำระเงินรวม 8,001,949 บาท (ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด) และกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นระยะเวลารายละ 6 เดือน หรือ 11 เดือน (แล้วแต่กรณี) และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นระยะเวลารายละ 12 เดือน หรือ 22 เดือน (แล้วแต่กรณี)           ทั้งนี้ มีผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ส่วนผู้กระทำความผิดอีก 3 ราย ได้แก่ นายฐนริศร์ นางสาวอัจฉราภรณ์ และนายศักดิ์สุมิตร ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ซึ่งพิจารณาได้ว่าผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย ไม่ยินยอมที่จะระงับคดีในชั้น ก.ล.ต.           ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายดังกล่าวต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยให้ชำระเงินรวมทั้งสิ้น 7,212,741.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งกำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย ซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ           อนึ่ง ก.ล.ต. ได้นำส่งการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หมายเหตุ : * ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 75/2567 เผยแพร่เมื่อที่ 2 เมษายน 2567 “ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 6 ราย กรณีสร้างราคาหุ้น BM” https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=10709

ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้นกู้ SABUY 4 รุ่น ใช้สิทธิประชุม 12 ธ.ค. นี้

ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้นกู้ SABUY 4 รุ่น ใช้สิทธิประชุม 12 ธ.ค. นี้

          หุ้นวิชั่น - สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ SABUY จำนวน 4 รุ่น ใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ศึกษาข้อมูล ซักถามผู้ออกหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงมติในวันที่ 12 ธันวาคม 2567           ตามที่บริษัท สบาย เทคโนโลยี จํากัด (มหาชน) (SABUY) ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ SABUY24DA SABAY254A และ SABUY258A จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น. และ SABUY263A จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 13.00 น. ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-meeting) โดยมีเรื่องเพื่อพิจารณา ดังนี้ สำหรับหุ้นกู้ SABUY24DA และ SABUY254A (1) ขอผ่อนผันการไม่ชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ SABUY258A ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 และการไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ (2) ขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 3 ปี (3) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 2-7 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนใหม่ สำหรับหุ้นกู้ SABUY258A และ SABUY263A (1) ขอผ่อนผันให้การเข้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ยืมกับสถาบันการเงิน และการขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 3 ปี ซึ่งมีลักษณะเป็นการผ่อนผันการชำระหนี้ รวมทั้งการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาชำระหนี้ ไม่ให้ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ (2) ขอยกเลิกหน้าที่ในการดำรงอัตราส่วน “หนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” (net debt-to-equity ratio) ตลอดอายุของหุ้นกู้ (3) ขอผ่อนผันข้อกำหนดสิทธิให้ผู้ออกหุ้นกู้สามารถดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญาใด ๆ กับเจ้าหนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 (4) ขอผ่อนผันการไม่ชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ SABUY258A ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 และการไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ รวมถึงยกเลิกการเรียกให้หนี้หุ้นกู้ SABUY258A ถึงกำหนดชำระโดยพลัน (5) ขอผ่อนผันการดำรงมูลค่าหลักประกันต่อมูลค่าหุ้นกู้ที่ในอัตราส่วนอย่างน้อย 1.5:1 และในการนำทรัพย์สินทดแทนมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติมในกรณีอัตราส่วนน้อยกว่า 1.5:1 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2568 (SABUY263A) (6) ขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 3 ปี (SABUY258A) (7) เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในแต่ละช่วงเวลา เป็นร้อยละ 2-7 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนใหม่ (SABUY258A) (8) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 2 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน (SABUY263A)           ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และผลกระทบที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับจากการมีมติอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ ให้ชัดเจนในแต่ละทางเลือก พร้อมเหตุผลประกอบ โดยมีความเห็นของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ประกอบด้วย ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ในการรักษาประโยชน์ของตนเอง พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ด้วย

ก.ล.ต.-ตลท. จับมือขับเคลื่อนตลาดทุน รับยุทธศาสตร์ปี 68-70

ก.ล.ต.-ตลท. จับมือขับเคลื่อนตลาดทุน รับยุทธศาสตร์ปี 68-70

          หุ้นวิชั่น - คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567เพื่อขับเคลื่อนแผนงานในปี 2568-2570 มุ่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย พร้อมเปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างโอกาสในการเข้าถึงการลงทุนและการระดมทุนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้แก่ประชาชน           คณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายอัสสเดช คงสิริ กรรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หารือร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานของทั้ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568-2570 เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้สอดคล้องกันและตอบโจทย์การรักษาความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย การเปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ การสร้างโอกาสเพื่อส่วนรวมในการเข้าถึงการลงทุนและการระดมทุนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างประโยชน์ต่อผู้ร่วมตลาด และประชาชนในยุคดิจิทัล สอดรับกับกระแสด้านความยั่งยืน รวมถึงเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้แก่ประชาชน           ที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงแนวทางการดำเนินการร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้บทบาทส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น การใช้เทคโนโลยีมาตรวจจับการกระทำผิดและเร่งการบังคับใช้กฎหมาย และเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในตลาดทุนแบบดิจิทัล end-to-end 100% ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการในตลาดทุน (Your data) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านความยั่งยืน ผ่านโครงการ Corporate value-up program ที่สร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างมีคุณภาพ และการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศและตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมมือกันให้ความรู้ทางการเงินและเพิ่มจำนวนของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีในระยะยาวให้กับประชาชน           สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568 – 2570 ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์อยู่ภายใต้กรอบและกระบวนการที่พิจารณาครอบคลุมปัจจัยต่าง ๆ ในทุกมิติสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้การกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ควบคู่กับการรักษาสมดุลทั้งด้านการกำกับดูแลและด้านการพัฒนาตลาดทุนไทยในทุกมิติ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายหลัก 4 ด้าน ดังนี้ (1) ตลาดทุนมีความน่าเชื่อถือ (Trust & Confidence) (2) ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Technology) (3) ตลาดทุนเป็นกลไกไปสู่ความยั่งยืน (Sustainable Capital Market) (4) ผู้ลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี (Financial well-being)           ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้มีแผนองค์กรซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินงานตามพันธกิจของ ก.ล.ต. (SEC Excellence) เพื่อผลักดันภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้อีกด้วย [PR News]

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

ก.ล.ต. แจ้งเตือนผู้ถือหุ้นกู้ EP24DA ใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567

ก.ล.ต. แจ้งเตือนผู้ถือหุ้นกู้ EP24DA ใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567

          หุ้นวิชั่น - วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2567 | ฉบับที่ 265/2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ EP24DA ใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ศึกษาข้อมูล ซักถามผู้ออกหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงมติ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567           ตามที่บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ EP24DA จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 14.00 น. ด้วยวิธีการประชุมแบบผสมผสาน (Hybrid meeting) โดยจัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-meeting) และจัดประชุม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ (ห้องแมจิค 1 ชั้น G) เลขที่ 99 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีเรื่องเพื่อพิจารณาอนุมัติ ดังนี้ (1) ขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 1 ปี (2) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้อีกร้อยละ 0.5 ต่อปี จากเดิมร้อยละ 6.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 6.75 ต่อปี ในช่วงระยะเวลาที่ได้ขยายอายุหุ้นกู้ออกไป           ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และผลกระทบที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับจากการมีมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ให้ชัดเจนในแต่ละทางเลือก พร้อมเหตุผลประกอบโดยมีความเห็นของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ประกอบด้วย ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ในการรักษาประโยชน์ของตนเอง พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ด้วย           หมายเหตุ : บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ EP24DA ครบกำหนดชำระวันที่ 27 ธันวาคม 2567

ก.ล.ต. สนับสนุนกองทุน Thai ESG เพิ่มทางเลือกลงทุน พร้อมลดหย่อนภาษีได้

ก.ล.ต. สนับสนุนกองทุน Thai ESG เพิ่มทางเลือกลงทุน พร้อมลดหย่อนภาษีได้

          หุ้นวิชั่น - นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศ สำหรับผู้มีเงินได้ที่ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: Thai ESG) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2567 – 2569 ได้ เพิ่มจาก 100,000 บาทเป็นไม่เกิน 300,000 บาทต่อปีต่อคน ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกฎกระทรวง โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567           ทั้งนี้ กองทุน ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนซึ่งนอกจากจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงประกาศเพื่อขยายขอบเขตการลงทุนกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน รวม 5 ฉบับ โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ซึ่งมีผลให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สามารถจัดตั้งหรือแก้ไขโครงการจัดการเพื่อลงทุนตามขอบเขตการลงทุนใหม่ที่กว้างขึ้นได้”

ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์โฆษณา เพิ่มคำเตือนความเสี่ยงลงทุนใน

ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์โฆษณา เพิ่มคำเตือนความเสี่ยงลงทุนใน "โทเคนดิจิทัล"

          หุ้นวิชั่น - ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) และของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ICO issuer) ในส่วนของคำเตือนความเสี่ยงการลงทุนในโทเคนดิจิทัล เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงหรือข้อจำกัดก่อนการตัดสินใจลงทุน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2567           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของ ICO portal และ ICO issuer ในส่วนของคำเตือนความเสี่ยงการลงทุนในโทเคนดิจิทัล ให้เหมาะสม เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีวิธีการนำเสนอคำเตือนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงหรือข้อจำกัดก่อนการตัดสินใจใช้บริการหรือลงทุนในโทเคนดิจิทัล โดยได้เปิดรับความฟังความคิดเห็นและผู้ร่วมแสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว           ก.ล.ต. จึงออกประกาศ* กำหนดให้ ICO portal และ ICO issuer ต้องจัดทำคำเตือนประกอบการโฆษณาตามหลักเกณฑ์ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ (1) ระบุข้อความคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือข้อจำกัดของโทเคนดิจิทัลอย่างครบถ้วน (2) นำเสนอคำเตือนในรูปแบบที่มีความคมชัดและสังเกตได้ง่าย โดยใช้โทนสีที่แตกต่างจากสีพื้นของโฆษณาหรือใช้ตัวอักษรหนาขึ้น และมีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าขนาดตัวอักษรส่วนใหญ่ในโฆษณานั้น (3) จัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนตลอดเวลาที่โฆษณา โดยข้อความที่เป็นคำเตือนต้องเป็นภาษาเดียวกับภาษาหลักที่ใช้ในการโฆษณา และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด (4) ในกรณีการโฆษณาที่มีการแสดงภาพและเสียง และการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ต้องจัดทำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด           ทั้งนี้ การออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป           หมายเหตุ : * ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 34/2567 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 https://publish.sec.or.th/nrs/10464s.pdf

abs

SSP : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

ก.ล.ต. สั่งพักผู้แนะนำการลงทุน กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ

ก.ล.ต. สั่งพักผู้แนะนำการลงทุน กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ

                    หุ้นวิชั่น – ก.ล.ต. สั่งพักการให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุนรายนางสาวธีรนุช รุ่งทิวากรอุทัย (นางสาวธีรนุช) เป็นเวลา 3 เดือน 22 วัน กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ โดยไม่บันทึกที่มาของคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้มีการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ขณะกระทำผิดสังกัดบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบพบว่า ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 นางสาวธีรนุช ผู้แนะนำการลงทุนสังกัดของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด (บริษัทหลักทรัพย์) ได้ส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้ารายหนึ่ง มากกว่า 200 คำสั่ง โดยไม่บันทึกที่มาของคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ได้เคยพบพฤติกรรมดังกล่าวของนางสาวธีรนุช ในการส่งคำสั่งซื้อขายหลายหลักทรัพย์ และได้ตักเตือนหรือลงโทษมาก่อนแล้ว แต่ยังพบพฤติกรรมอีก           การกระทำของนางสาวธีรนุชดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน* ก.ล.ต. จึงพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1** เป็นเวลา 3 เดือน 22 วัน นับตั้งแต่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567***             สำหรับการพิจารณาการมีลักษณะต้องห้าม และการกำหนดระยะเวลาการพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบบุคลากรในตลาดทุน ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน          ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่บันทึกที่มาของการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ และติดตามดูแลให้ผู้แนะนำการลงทุนปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของลูกค้า และสามารถแสดงถึงพฤติกรรมในการส่งคำสั่งของลูกค้า รวมทั้งการทำหน้าที่ของผู้แนะนำการลงทุนด้วย ซึ่งการไม่บันทึกที่มาของคำสั่งซื้อขายจึงอาจเป็นช่องทางในการปกปิดการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม และ ก.ล.ต. มีการติดตามให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ____________________ หมายเหตุ : *การไม่ปฏิบัติตามข้อ 23(2) เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 31(1) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 48/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560  **ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 หมายถึง ผู้แนะนำการลงทุนที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ไม่มีความซับซ้อนและผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนได้ทุกประเภท เช่น หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า *** หมายความว่า นางสาวธีรนุช ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แนะนำการลงทุนในช่วงระยะเวลา 3 เดือน 22 วัน นับจากวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567

ก.ล.ต. เตือน ผู้ถือหุ้นกู้ SABUY ใช้สิทธิ์ประชุม วันที่ 20 พ.ย. 67

ก.ล.ต. เตือน ผู้ถือหุ้นกู้ SABUY ใช้สิทธิ์ประชุม วันที่ 20 พ.ย. 67

          หุ้นวิชั่น - สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ บริษัท สบาย  เทคโนโลยี จํากัด (มหาชน) จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ SABUY24DA, SABUY254A, SABUY258A ใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ศึกษาข้อมูล ซักถามผู้ออกหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงมติ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567           บริษัท สบาย เทคโนโลยี จํากัด (มหาชน) (SABUY) ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ SABUY24DA SABAY254A และ SABUY258A จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น.  ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) โดยมีวาระเพื่อพิจารณาอนุมัติ ดังนี้ (1) ขอผ่อนผันให้การเข้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ยืมกับสถาบันการเงิน และการขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้ง 3 รุ่น ออกไปอีก 3 ปี มีลักษณะเป็นการผ่อนผันการชำระหนี้ รวมทั้งการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาชำระหนี้ ไม่ให้ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ (2) ขอยกเลิกหน้าที่ในการดำรงไว้ซึ่งอัตราส่วนของ “หนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” (net debt-to-equity ratio) ตลอดอายุของหุ้นกู้ (3) ขอผ่อนผันข้อกำหนดสิทธิให้ผู้ออกหุ้นกู้สามารถดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญาใด ๆ กับเจ้าหนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 (4) ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ โดยขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 ปี (5) ขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 2-5 ต่อปี ในแต่ละช่วงเวลา นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนใหม่ และขอเปลี่ยนแปลงการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ จากเดิมทุก 3 เดือนเป็นทุก 6 เดือน (6) ขอผ่อนผันให้การชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น SABUY258A ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ประจำงวดวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ไม่ให้ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ           ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และผลกระทบที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับจากการมีมติอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ ให้ชัดเจนในแต่ละทางเลือก พร้อมเหตุผลประกอบ โดยมีความเห็นของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ประกอบด้วย ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ในการรักษาประโยชน์ของตนเอง พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ด้วย           ตามที่บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) แจ้งเรื่องการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ หุ้นกู้ SABUY258A, หุ้นกู้ SABUY254A และหุ้นกู้ SABUY24DA ในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 10.00 น. โดยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-meeting) โดยบริษัทฯ จะถ่ายทอดสดจากสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เลขที่ 230 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร           ทั้งนี้ การประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทฯ ทั้ง 3 รุ่น ได้แก่ หุ้นกู้ SABUY258A, หุ้นกู้ SABUY254A และหุ้นกู้ SABUY24DA จะจัดขึ้นในวันและเวลาเดียวกันเพื่อพิจารณาวาระต่างๆ นั้น           บริษัทฯ ขอแจ้งเปลี่ยนสถานที่ถ่ายทอดสดการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้จากเดิมเป็นสำนักงานของบริษัทฯ ชั้น 14 อาคารเซ็นทรัลทาวเวอร์ @เซ็นทรัลเวิลด์ (Central Tower @ Central World) โดยวัน เวลา และวาระการประชุมยังคงเดิม           หมายเหตุ : บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 3 รุ่น

ก.ล.ต. ฟันบอร์ด BCP อินไซเดอร์ ESSO

ก.ล.ต. ฟันบอร์ด BCP อินไซเดอร์ ESSO

          หุ้นวิชั่น - ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรายนายจำเริญ โพธิยอด กรณีซื้อหุ้นบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 2,622,557 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์) เมื่อเดือนมีนาคม 2566 และตรวจสอบเพิ่มเติม พบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการซื้อหุ้นโดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในของบุคคลรายนายจำเริญ ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการของ BCP ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับการที่ BCP จะเข้าซื้อหุ้นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) และทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ESSO จากการทำหน้าที่กรรมการในการประชุมคณะกรรมการบริษัทของ BCP ในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ซึ่งภายหลังการล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าว นายจำเริญได้ซื้อหุ้น BCP ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 จำนวน 300,000 หุ้น ก่อนที่ BCP จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการที่ BCP จะเข้าซื้อหุ้น ESSO และทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ESSO ต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 8.40 น. ทำให้นายจำเริญได้รับผลประโยชน์จากมูลค่าหุ้น BCP ที่มีราคาเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่ BCP ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์           การกระทำของนายจำเริญข้างต้น เป็นการซื้อหุ้น BCP โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน อันเป็นความผิดตาม มาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 วรรคหนึ่ง และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559           คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ กับผู้กระทำความผิดรายนายจำเริญ โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงิน ในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,622,557 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือ บริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 12 เดือน           การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุด ที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด           ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง

abs

Hoonvision

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร IEC กับพวก รวม 4 ราย ต่อ DSI กรณีทุจริตทำให้ IEC เสียหาย

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร IEC กับพวก รวม 4 ราย ต่อ DSI กรณีทุจริตทำให้ IEC เสียหาย

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2567 | ฉบับที่ 238 / 2567            ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (IEC) กับพวกรวม 4 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในข้อหาร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ผ่านการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชีวมวลและ Plastic Recycling ที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ IEC ได้รับความเสียหาย            สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับเรื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในช่วงกลางปี 2564 ขอให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานกรณีมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า IEC* มีการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าส่อไปทางทุจริตและแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีที่ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษต่อ DSI ไปก่อนหน้านั้นแล้ว** ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) และดำเนินการกล่าวโทษนายภูษณ ปรีย์มาโนช และนางสัณห์จุฑา วิชชาวุธ อดีตกรรมการและผู้บริหาร IEC กับพวกอีก 2 ราย ได้แก่ พลโท อนุธัช บุนนาค และนายสราญ เลิศเจริญวงษา โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2557 – 2558 บุคคลทั้ง 4 ราย ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตผ่านธุรกรรมการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชีวมวลและ Plastic Recycling ที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ในราคาสูงเกินสมควร และให้ IEC จ่ายเงินค่าจ้างในการจัดหาสิทธิกำจัดขยะ เพื่อให้ IEC เข้าทำสัญญารับช่วงสิทธิกำจัดขยะ โดยนายภูษณและนางสัณห์จุฑารู้อยู่แล้วว่า IEC ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ เนื่องจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ IEC ถูกยกเลิกไปแล้ว อันเป็นเหตุให้ IEC ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 156.8 ล้านบาท            การกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 รายต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป            การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ DSI***            ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว __________________ หมายเหตุ: * ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (IEC) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ** ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 104/2560 เรื่อง “ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร IEC กับพวกรวม 25 ราย กรณีร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ ทำให้บริษัทเสียหาย” https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=6831 *** ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้นกู้ JKN ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 4 ธ.ค. นี้

ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้นกู้ JKN ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 4 ธ.ค. นี้

          สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอแจ้งเตือนให้ผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (JKN) ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือยื่นด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจด้วยแบบฟอร์มของกรมบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี หรือสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ ภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2567           ตามที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ให้ JKN ฟื้นฟูกิจการและได้ตั้ง JKN เป็นผู้ทำแผน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ซึ่งขั้นตอนต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 กำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 ธันวาคม 2567* นี้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้ถือหุ้นกู้เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้คืน ก.ล.ต. จึงขอแจ้งเตือนให้ผู้ถือหุ้นกู้ ทุกรายดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามวิธีการดังนี้           (1) การยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ถือหุ้นกู้สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้และแนบพยานหลักฐานประกอบคำขอ ตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดทางเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี https://reorg-service.led.go.th/index/           (2) การยื่นเอกสารที่กรมบังคับคดี โดยผู้ถือหุ้นกู้สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ณ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ชั้น 8 เลขที่ 120 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 หรือ สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ทางเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี ที่ลิงก์ https://www.led.go.th/th/views/?runno=82           ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ JKN สามารถศึกษาข้อมูลเรื่องเอกสารประกอบและแนวทางการยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ที่เว็บไซต์ของกรมบังคับคดี ที่ลิงก์ https://www.led.go.th/th/views/index.asp?runno=216 หรือโทรสอบถามได้ที่ กรมบังคับคดี 0-2152-5221

ก.ล.ต. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริม บลจ. สู่ Net Zero

ก.ล.ต. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริม บลจ. สู่ Net Zero

          ก.ล.ต ร่วมกับ Principles for Responsible Investment (PRI) และ Asia Investor Group on Climate Change (AIGCC) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเชิงลึกภายใต้หัวข้อ “Deep-dive Masterclass on ICAPs Expectations Ladder: Governance” ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero           การอบรมเชิงปฏิบัติการเชิงลึกครั้งนี้มุ่งเน้นเสาหลักด้าน ‘ธรรมาภิบาล’ ของ Investor Climate Action Plans (ICAPs) ซึ่งให้แนวทางแก่ผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกในการบูรณาการเรื่องสภาพภูมิอากาศในโครงสร้างการกำกับดูแลการพัฒนานโยบาย การมอบหมายความรับผิดชอบ และการรายงานต่อคณะกรรมการ โดยผู้เข้าร่วมการอบรมได้รับความรู้และคำแนะนำเชิงปฏิบัติในการเริ่มต้นจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกระบวนการทำงาน การติดตามและประเมินผลในแต่ละระยะ           นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ในขณะที่การลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังเติบโตทั่วโลก อุตสาหกรรมกองทุนไทยต้องคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ โดยต้องมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติจริงและการมองไปข้างหน้า การอบรมเชิงปฏิบัติการเชิงลึกครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (responsible investment) โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของ บลจ. ในการวางแผนงานองค์กรด้านสภาพภูมิอากาศที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อสนับสนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน และผลักดันการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของผู้ลงทุนสถาบันไทย ในฐานะฟันเฟืองหลักในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศ”           การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของ ก.ล.ต. PRI และ AIGCC ในการสนับสนุน บลจ. ไทยอย่างต่อเนื่อง ให้มีเครื่องมือและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมให้ บลจ. ทุกแห่ง ไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดของ climate change journey ร่วมกันมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืนและผลักดันการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ [PR News]

ก.ล.ต. เตือนประชาชนระวังมิจฉาชีพหลอกลงทุน

ก.ล.ต. เตือนประชาชนระวังมิจฉาชีพหลอกลงทุน

          วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2567 | ฉบับที่ 218 / 2567           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งเตือนประชาชนและผู้ลงทุนให้ระมัดระวังมิจฉาชีพหลอกลวง แอบอ้างเป็นผู้ประกอบธุรกิจชักชวนให้ลงทุน สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูง พร้อมแนะนำ 3 ข้อสังเกตระมัดระวังก่อนลงทุน           จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ภัยหลอกลวงลงทุนได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนเป็นมูลค่าสูงมาก และมักมาพร้อมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างแนบเนียน จนทำให้ผู้ถูกชักชวนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นการชักชวนโดยบุคคลหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จากสถิติการดำเนินการของ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแส รวมทั้งสิ้น 3,451 ครั้ง โดยมีบัญชีโซเชียลมีเดียเข้าข่ายหลอกลงทุนที่ประสานผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อปิดกั้น จำนวน 1,877 บัญชี โดยได้ปิดกั้นไปแล้วร้อยละ 99 และส่วนที่เหลือเป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องการหลอกลงทุนกรณีอื่น ๆ           สำหรับพฤติการณ์หลอกลวงที่พบในระยะนี้ เช่น มิจฉาชีพมักยิงโฆษณาในพื้นที่โฆษณาของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เหมือนกับบริษัททั่วไปที่จะยิงโฆษณาเพื่อกระตุ้นการซื้อในสินค้าหรือบริการ โดยภาพและข้อความของโฆษณามักแอบอ้างชื่อ/โลโก้ของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพื่อให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดและคิดว่าเป็นโฆษณาของบริษัทที่อ้างมา พร้อมด้วยข้อความเชิญชวนให้เข้ากลุ่มสนทนาเพื่อรับฟังข้อมูลการลงทุน อาทิ การซื้อขาย Big Lot และเมื่อเข้ากลุ่มมาแล้วหากแสดงความสนใจ มิจฉาชีพจะเข้ามาคุยกับผู้ที่สนใจเป็นการส่วนตัว และโน้มน้าวให้ลงทุนพร้อมกับจัดส่งลิงก์หน้าเว็บไซต์จริงของบริษัทที่นำไปแอบอ้าง เมื่อถึงขั้นตอนการโอนเงินเพื่อเปิดบัญชีซื้อขาย จะส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอมและบัญชีธนาคาร (ของเครือข่ายมิจฉาชีพทั้งที่เป็นชื่อบุคคลธรรมดาและนิติบุคล) ที่ไม่ใช่ชื่อของบริษัทที่นำมาใช้แอบอ้าง           นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการหลอกลวงที่แนบเนียบขึ้น โดยมิจฉาชีพจะส่งเลขบัญชีโอนเงินที่เป็นชื่อของบริษัทที่นำมาแอบอ้างเพื่อเปิดบัญชีซื้อขายให้กับผู้ที่สนใจ แต่หลังจากนั้นการโอนเงินเพื่อซื้อในครั้งถัด ๆ ไป จะลวงให้โอนเงินค่าซื้อเข้าบัญชีอื่น (ของเครือข่ายมิจฉาชีพทั้งที่เป็นชื่อของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ที่ไม่ใช่ชื่อของบริษัทที่นำมาใช้แอบอ้าง           ก.ล.ต. จึงแจ้งเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังในการรับข้อมูลชักชวนให้ลงทุน โดยฉพาะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย อย่าหลงเชื่อเมื่อพบความผิดปกติ และควรตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยมีจุดสังเกต 3 ข้อควรระวังก่อนตัดสินใจลงทุน ดังนี้ (1) หากถูกทักส่วนตัวและชักชวนลงทุนในช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น ส่งข้อความในไลน์ส่วนตัว หรือกล่องข้อความส่วนตัวในเฟซบุ๊ก (Messenger) ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ เพราะผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่มักไม่ชักชวนลงทุนในลักษณะส่วนตัวผ่านโซเชียลมีเดีย (2) หากถูกชักชวนโดยอ้างชื่อ/ภาพของบุคคลใดก็ตามในข้อความโฆษณา ให้สงสัยไว้ก่อนและสอบถามด้วยตัวเองกับบริษัทที่ถูกอ้างชื่อว่า มีบุคคลนั้นเป็นบุคคลากรทำหน้าที่ผู้แนะนำการลงทุนอยู่ในบริษัทจริงหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพมักจะแอบอ้างเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือหรือมีชื่อเสียง รวมทั้งต้องตรวจเช็กด้วยว่าบริษัทนั้น ๆ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และ (3) ก่อนโอนเงินชำระค่าเปิดบัญชีซื้อขายหรือค่าซื้อต้องตรวจดูชื่อบัญชีธนาคารปลายทางก่อนโอนทุกครั้งว่า เป็นชื่อบัญชีของบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนจริงหรือไม่           นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า “ภัยหลอกลวงลงทุนถือเป็นภัยร้ายแรงที่ส่งผลกระทบทางลบต่อประชาชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมของประเทศ ซึ่ง ก.ล.ต. ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้มาตรการ “ป้อง ปราม ปราบ” ในการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการเงินการลงทุน รวมทั้งสามารถป้องกันตนเองจากภัยหลอกลงทุน นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการป้องปรามอีกด้วย เช่น การปิดกั้นแพล็ตฟอร์มหลอกลงทุน เป็นต้น เพื่อยับยั้งหรือจำกัดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนไม่ให้ขยายออกวงออกไปให้มากทึ่สุด”           ทั้งนี้ หากสงสัย สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัท บุคคล ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th/seccheckfirst หรือที่แอปพลิเคชัน “SEC Check First” และหากพบเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัย หรือสงสัยว่าถูกชักชวนหลอกลงทุน โทรขอคำปรึกษาหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โทร. 1207 กด 22 หรือ เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.

ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนใบอนุญาตนายสิทธิพงศ์ จุมปาลี 10 ปี ฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์

ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนใบอนุญาตนายสิทธิพงศ์ จุมปาลี 10 ปี ฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์

วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 | ฉบับที่ 214 / 2567           ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุนรายนายสิทธิพงศ์ จุมปาลี เป็นเวลา 10 ปี กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ซื่อสัตย์สุจริต ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของลูกค้าโดยมิชอบ ขณะกระทำผิดสังกัดธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับรายงานการตรวจสอบจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา และตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า ระหว่างปี 2565 – 2566 นายสิทธิพงศ์ ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยมิชอบ จำนวน 11 ราย เป็นเงินรวม 19,950,000 บาท* โดยให้ลูกค้าถอนเงินและมอบเงินสด และ/หรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนายสิทธิพงศ์เพื่อซื้อหน่วยลงทุน และให้ลูกค้าลงนามในคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน แต่นายสิทธิพงศ์ไม่ได้ทำรายการตามความประสงค์ของลูกค้า รวมทั้งจัดทำรายงานการลงทุนและแจ้งผลตอบแทนเพื่อให้ลูกค้าเชื่อว่าได้ลงทุนจริง ทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ นายสิทธิพงศ์ยังหลอกลูกค้าบางรายให้ลงทุนต่อ โดยให้ข้อมูลว่าหน่วยลงทุนที่ลูกค้าถืออยู่ครบกำหนดและให้ลูกค้าลงนามในใบคำสั่งสับเปลี่ยนการถือหน่วยลงทุน หรือเมื่อลูกค้าต้องการไถ่ถอนหน่วยลงทุน นายสิทธิพงศ์จะให้ลูกค้าลงนามในใบคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนและโอนเงินจากบัญชีส่วนตัวของนายสิทธิพงศ์เข้าบัญชีของลูกค้า           ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายสิทธิพงศ์เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยมิชอบ อันเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน** ก.ล.ต. จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2*** และกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของนายสิทธิพงศ์เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไป เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2567****           ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดระยะเวลาข้างต้น ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน           ก.ล.ต. ขอย้ำให้ผู้ลงทุนตรวจสอบรายการซื้อขายหน่วยลงทุนที่ดำเนินการแล้วเสร็จทันทีจากหลักฐานการซื้อขายที่ออกโดยธนาคารหรือบริษัทจัดการลงทุน และตรวจสอบรายงานการถือหน่วยลงทุนและบัญชีเงินฝากอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งในการโอนเงินลงทุนจะต้องโอนเข้าบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น โดยไม่โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของผู้แนะนำการลงทุน เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดจากการทุจริตได้ หมายเหตุ: * ปัจจุบันลูกค้าได้รับชดใช้เงินคืนแล้ว 10 ราย และมีลูกค้า 1 รายอยู่ต่างประเทศ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการติดต่อประสานงาน ** ข้อ 23(1) เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 31(1) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 48/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560 *** ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 หมายถึง ผู้แนะนำการลงทุนที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ไม่มีความซับซ้อน และหน่วยลงทุนหรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน เช่น หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง **** หมายความว่า หากนายสิทธิพงศ์มายื่นคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในช่วงระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ก.ล.ต. จะไม่รับพิจารณาคำขอดังกล่าวของนายสิทธิพงศ์

ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้นกู้”อารียา พรอพเพอร์ตี้” ร่วมประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 21 ต.ค. 67

ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้นกู้”อารียา พรอพเพอร์ตี้” ร่วมประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 21 ต.ค. 67

วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 | ฉบับที่ 213 / 2567            สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) จำนวน 14 รุ่น ใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ศึกษาข้อมูล ซักถามผู้ออกหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงมติ ในวันที่ 21 ตุลาคม 2567            บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) (A) ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ ได้แก่ A24NA A251A A255A A257A A258A A258B A25OA A261A A265A A268A A269A A271A A271B และ A275A จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00 น. ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) โดยมีวาระเพื่อพิจารณา ดังนี้ (1) ขอผ่อนผันการขออนุมัติขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้ง 14 รุ่น ออกไปอีก 2 ปี โดยมีมูลหนี้รวมกันเกินกว่า 400 ล้านบาท ไม่ให้ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ (2) ขอให้สามารถนำหลักประกันประเภทอสังหาริมทรัพย์ไปก่อภาระผูกพัน โดยจดทะเบียนจำนองลำดับถัดไปเพื่อประกันการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นได้ (3) ขอขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ ทั้ง 14 รุ่น เพิ่มอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี สำหรับระยะเวลาที่ขอขยายอายุหุ้นกู้ออกไป (4) ขอแบ่งชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้บางส่วนในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และให้พักการชำระดอกเบี้ยส่วนที่เหลือเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนนับแต่วันประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 แล้วนำดอกเบี้ยส่วนที่พักชำระไว้ไปรวมคำนวณชำระในวันครบกำหนดไถ่ถอน หรือวันที่มีการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอนทั้งจำนวน (แล้วแต่กรณี)            ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และผลกระทบที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับจากการมีมติอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ ให้ชัดเจนในแต่ละทางเลือก พร้อมเหตุผลประกอบ โดยมีความเห็นของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ประกอบด้วย ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ในการรักษาประโยชน์ของตนเอง พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ด้วย            หมายเหตุ : บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 14 รุ่น (หุ้นกู้ A24NA ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567, หุ้นกู้ A251A A255A A257A A258A A258B A25OA ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568, หุ้นกู้ A261A A265A A268A A269A ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 และ หุ้นกู้ A271A A271B A275A ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570)

ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 2 ราย ต่อ บก.ปอศ.

ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 2 ราย ต่อ บก.ปอศ.

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 | ฉบับที่ 210 / 2567           ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 2 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีซื้อหรือขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนทำรายการซื้อขายของกองทุน โดยใช้ข้อมูลการลงทุนของกองทุน และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2566 และตรวจสอบเพิ่มเติมพบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้กระทำความผิดรวม 2 ราย ได้แก่ (1) นายโกเมน นิยมวานิช และ (2) นางสาวมนสิชา อุ้นพิพัฒน์ ได้ร่วมกันกระทำการเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น ในประการที่น่าจะทำให้กองทุนรวมเสียประโยชน์ โดยนายโกเมนในฐานะผู้จัดการกองทุน (ขณะกระทำผิดสังกัดบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)) ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนที่ตนเป็นผู้จัดการ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งของกองทุนรวมที่นายโกเมนเป็นผู้จัดการกองทุนให้แก่นางสาวมนสิชา และนางสาวมนสิชาได้ส่งคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก่อนที่นายโกเมนจะส่งคำสั่งซื้อหรือขายให้แก่บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนจำนวนหลายรายการ ในช่วงปี 2565 อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 244/2 ประกอบมาตรา 244/1 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 2 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป           พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม           ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

[PR News] ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการยกเลิกการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นข้อมูลประจำปีของบจ.

[PR News] ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการยกเลิกการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นข้อมูลประจำปีของบจ.

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 | ฉบับที่ 209 / 2567           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อยกเลิกการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัทจดทะเบียนและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน           ตามที่ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 กำหนดให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ไม่เคยถูกดำเนินการเปรียบเทียบความผิดหรือถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. จากกรณีที่ไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามที่กฎหมายกำหนด และมีการชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีภายในกำหนดระยะเวลา ได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีในอัตราร้อยละ 20 ของค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระแก่ ก.ล.ต.           ในการนี้ ก.ล.ต. มีแนวคิดในการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อยกเลิกการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีตามประกาศดังกล่าว เนื่องจากหน้าที่ในการจัดทำและนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามที่กฎหมายกำหนด และหน้าที่ในการชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนดระยะเวลา เป็นหน้าที่สำคัญที่บริษัทจดทะเบียนควรยึดถือปฏิบัติ รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง           ก.ล.ต. จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการยกเลิกการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของบริษัทจดทะเบียน เพื่อยกเลิกการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีให้สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัทจดทะเบียน สภาพแวดล้อมของตลาดทุน และการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.           นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังคงส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินการในเรื่องที่สำคัญต่าง ๆ ผ่านมาตรการการลดหย่อนค่าธรรมเนียมตามเดิม ได้แก่ การนำค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาและ/หรือผู้ทวนสอบมาใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีสำหรับบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. มีแผนงานที่จะทบทวนเงื่อนไขและมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้ เพื่อลดภาระและสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนให้ความร่วมมือและดำเนินการได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป           ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1021 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDQ1N0RHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ= ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail [email protected] จนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567

ก.ล.ต. ร่วมเปิดตัว “โครงการ Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์”

ก.ล.ต. ร่วมเปิดตัว “โครงการ Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์”

           นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ และนางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมงานเปิดตัว “โครงการ Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. ในการพัฒนากลไกให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ให้บริการและหน่วยงานต่าง ๆ ไปยังผู้ให้บริการที่ต้องการใช้บริการ ได้อย่างสะดวกและปลอดภัยผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อได้รับบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์มากขึ้น โดยได้รับเกียรติจากนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและสมาคมผู้ให้บริการทางการเงินร่วมแสดงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนโครงการนี้ร่วมกัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ณ ห้องภัทรรวมใจ ธนาคารแห่งประเทศไทย            นางวรัชญา กล่าวว่า โครงการนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาตลาดทุนให้ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนในการสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดี หรือ financial well-being โดยเป็นการสร้างกลไกให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเดิมของตนเองเพื่อเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น หรือรวมข้อมูลสถานะการเงินการลงทุนเพื่อนำไปบริหารจัดการทางการเงินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก.ล.ต. จะร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อกำหนดรูปแบบ มาตรฐานของข้อมูล รวมถึงระบบเชื่อมโยงข้อมูล และส่งเสริมให้เกิด aggregator ที่ช่วยรวบรวม จัดประเภท วิเคราะห์ วางแผนการลงทุนและให้คำแนะนำ เพื่อนำไปสู่การลงทุนหรือการจัดการลงทุนที่ตรงกับความต้องการและเป้าหมายของผู้ลงทุน อันจะช่วยเสริมสร้างความสามารถจัดการลงทุนและการบริหารจัดการด้านการเงินของผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มความมั่งคั่งได้อย่างเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการ

ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้น SABUY

ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้น SABUY

          ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้น SABUY ไปใช้สิทธิออกเสียงการเข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญในบริษัท LOCKBOX และ LOCKVENT ซึ่ง IFA เห็นว่าผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติการเข้าทำรายการ วันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567 | ฉบับที่ 203 / 2567           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ถือหุ้นบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SABUY) ศึกษาข้อมูลและไปเข้าร่วมประชุมและใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เกี่ยวกับการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญในบริษัท ลอคบอกซ์ กรุ๊ป จำกัด (LOCKBOX) และบริษัท ลอคบอกซ์ เวนเจอร์ส จำกัด (LOCKVENT) ซึ่งจะชำระค่าตอบแทนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SABUY โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ให้ความเห็นว่าผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติการเข้าทำรายการลงทุนดังกล่าว           ตามที่ SABUY จะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เพื่อพิจารณาวาระการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ รวมทั้งวาระการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทอื่นโดยหุ้นสามัญเพิ่มทุนส่วนหนึ่งจำนวน 360 ล้านหุ้น จะเสนอขายให้แก่บริษัท โฮลดิ้ง แอล โค จำกัด เพื่อจ่ายชำระค่าหุ้นสามัญของ LOCKBOX และ LOCKVENT รวมมูลค่า 360 ล้านบาท ทั้งนี้ IFA เห็นว่า ผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติการเข้าทำรายการลงทุนใน LOCKBOX และ LOCKVENT เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องในปัจจุบันของ SABUY ที่จำเป็นต้องได้รับเงินทุนมาเพื่อชำระหนี้สินที่มีนัยสำคัญในระยะสั้น ดังนั้น การออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของ SABUY ในการทำธุรกรรมดังกล่าวโดยไม่ได้รับเงินทุนในทันที จึงไม่ได้แก้ปัญหาสภาพคล่อง และไม่ได้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นของ SABUY ในสถานการณ์ปัจจุบัน           นอกจากนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้นตามที่กล่าวข้างต้น SABUY จะขออนุมัติออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ (1) บริษัท Insignia Holding Limited (Insignia) (ซึ่งนางสาวเกษรา โล่ห์ทองคำ ถือหุ้นร้อยละ 100) จำนวน 350 ล้านหุ้น พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญโดยไม่คิดมูลค่า จำนวน 350 ล้านหน่วย และ (2) นายวริศ ยงสกุล จำนวน 50 ล้านหุ้น พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญโดยไม่คิดมูลค่า จำนวน 50 ล้านหน่วย โดยมีอัตราใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้นสามัญ อายุ 2 ปี ราคาใช้สิทธิ 1.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งถือเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด ที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากมีผลกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรหรือสิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้น (EPS/Control Dilution) เกินร้อยละ 25 และมีผลให้ Insignia กลายเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงสูงสุดใน SABUY ทั้งนี้ IFA เห็นว่าราคาเสนอขายหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิ ตลอดจนราคาใช้สิทธิข้างต้นไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นการเสนอขายในราคา           ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้น SABUY ซึ่ง IFA ประเมินด้วยวิธีปรับปรุงมูลค่าตามบัญชีที่หุ้นละ 1.38 บาท อย่างไรก็ดี เนื่องจาก SABUY มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจการจากการมีมูลค่าหนี้สูงและอาจผิดนัดชำระหนี้ และด้วยข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง อันส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว (going concern) SABUY จึงมีความจำเป็นในการได้รับเงินทุนจากการเสนอขายหุ้นให้บุคคลดังกล่าว IFA จึงเห็นว่าผู้ถือหุ้นควรอนุมัติรายการดังกล่าว เนื่องจากมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อ SABUY           ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบของ SABUY เห็นว่า การเข้าทำรายการดังกล่าว มีความเหมาะสม สมเหตุสมผล และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ SABUY และผู้ถือหุ้น โดยรายการเข้าลงทุนใน LOCKBOX และ LOCKVENT เป็นการสรรหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะสร้างกระแสเงินสด นอกจากนี้ นายอิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน LOCKBOX และ LOCKVENT จะเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ SABUY           ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ถือหุ้นศึกษาข้อมูลโดยละเอียด วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ ความเสี่ยงและผลกระทบที่จะได้รับจากการมีมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ และใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในการรักษาประโยชน์ของตนเอง พร้อมกับสอบถามผู้บริหาร SABUY เพื่อให้ได้รับข้อมูลครบถ้วนในการประกอบการตัดสินใจ           อนึ่ง รายการข้างต้นต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง โดยไม่นับรวมส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย

ก.ล.ต. รับฟังความคิดเห็นปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายหลักทรัพย์

ก.ล.ต. รับฟังความคิดเห็นปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายหลักทรัพย์

          ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ และการขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง (ธุรกรรม short sell และ long sell)           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการ และร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ และการขายหลักทรัพย์ โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง เพื่อยกระดับการกำกับดูแลการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ รักษาความเป็นธรรม และสร้างความชัดเจนในการให้บริการของ บล.           ปัจจุบันปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนต่างประเทศ นับเป็นสัดส่วนที่สำคัญของการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งส่วนมากเป็นการส่งคำสั่งผ่าน บล. ในต่างประเทศ ที่ส่งคำสั่งซื้อขายมายัง บล. ไทย อีกทอดหนึ่ง โดย บล. ไทยที่รับคำสั่งซื้อขายดังกล่าว อาจไม่ทราบถึงข้อมูลหรือพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้าของ บล. ต่างประเทศนั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่ทำให้มั่นใจได้ว่า บล. ไทยที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ ก.ล.ต. มีขั้นตอนและระบบงานที่รัดกุมในการกลั่นกรองและดูแลให้ บล. ต่างประเทศที่เป็นลูกค้าของตน ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม short sell และ long sell* อย่างถูกต้องด้วย           ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ และการขายหลักทรัพย์โดยที่ บล. ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง ซึ่งคณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ในการนี้ ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ กำหนดให้ บล. ที่มีลูกค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายต่างประเทศที่ให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนเพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่น (inter broker) มีหน้าที่ทำความรู้จักระบบงานของลูกค้า (Know Your Process: KYP) เพิ่มเติม เพื่อให้ลูกค้าทราบและเข้าใจหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และมีการสื่อสารหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ลูกค้าของตนทราบต่อไป รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้ามีระบบงานในการควบคุมและติดตามให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้ บล. ต้องมีระบบงานในการติดตามและตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขายของลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ กำหนดให้ บล. ต้องมีข้อตกลงกับลูกค้าก่อนเริ่มให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ายินยอมจ่ายค่าปรับในกรณีที่ บล. ถูกลงโทษปรับจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือสำนักหักบัญชี อันเนื่องมาจากการที่ลูกค้าปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม short sell และ บล. มีหน้าที่ต้องบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว กำหนดให้ บล. ต้องมีระบบงานในการรับส่งและแปลงคำสั่งของลูกค้าเข้าสู่ระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด และมีระบบงานในการรับส่งคำสั่งที่มีประสิทธิภาพสามารถจำแนกได้ว่าเป็นธุรกรรม short sell หรือ long sell ก่อนส่งคำสั่ง บล. ต้องมีการตรวจสอบคำสั่งขายหลักทรัพย์ของลูกค้า เพื่อยืนยันได้ว่าลูกค้ามีการยืมหลักทรัพย์หรือมีหลักทรัพย์ของตนเองครบถ้วนก่อนส่งคำสั่งขาย หลังส่งคำสั่ง บล. ต้องจัดให้มีระบบในการติดตามและตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขายของลูกค้า เพื่อสุ่มตรวจสอบธุรกรรม short sell และ long sell ที่อาจเข้าข่ายไม่เหมาะสม           ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1018 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDM5NERHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ= ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถศึกษาและแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรือทาง e-mail : [email protected] [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567

ก.ล.ต. สั่ง Bitazza ปิดรับลูกค้าใหม่

ก.ล.ต. สั่ง Bitazza ปิดรับลูกค้าใหม่

         คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้ บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (Bitazza) ระงับการเปิดรับลูกค้าใหม่ เนื่องจากยังไม่สามารถแก้ไขการดำเนินงาน ในเรื่องการทำความรู้จักและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าของบริษัทได้ตามการสั่งการ โดยให้แก้ไขการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567          ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีหนังสือสั่งการตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ไปยัง Bitazza ให้แก้ไขระบบเปิดบัญชีและทำความรู้จักลูกค้า ระบบการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าประเภทเงินบาท การประกอบกิจการอื่น และมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) และการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า ตามมติของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ทั้งนี้ Bitazza ได้ชี้แจงมายัง ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 แล้ว นั้น          คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุม ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 พิจารณาแล้วเห็นว่า Bitazza สามารถแก้ไขการดำเนินงานในเรื่องระบบการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าประเภทเงินบาท การประกอบกิจการอื่น และมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) และการเข้าถึงข้อมูลของบริษัทได้ อย่างไรก็ดี บริษัทยังไม่สามารถแก้ไขการดำเนินงานในเรื่องการทำความรู้จักและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าของบริษัทที่บกพร่องได้ตามการสั่งการของคณะกรรมการ          คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ มีมติสั่งการให้ Bitazza ระงับการเปิดรับลูกค้าใหม่ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2567 โดยในระหว่างที่บริษัทระงับการเปิดรับลูกค้าใหม่ Bitazza ต้องดำเนินการ ดังนี้          (1) เสนอแผนการแก้ไขการดำเนินงานในเรื่องการทำความรู้จักและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าโดยไม่ชักช้า โดยให้รวมถึงในกรณี 1) เงินลงทุนไม่สอดคล้องกับข้อมูลรายได้ของลูกค้า 2) อีเมลของลูกค้าคล้ายกันหรือที่อยู่ซ้ำกันและอาจเป็นลูกค้าที่มีความเสี่ยง 3) รอบการทบทวนข้อมูลลูกค้าไม่เหมาะสม และ 4) การจัดกลุ่มความเสี่ยงของลูกค้า          (2) ระงับการดำเนินงานในส่วนที่เป็นการเปิดรับลูกค้าใหม่ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2567 จนกว่าจะแก้ไขตาม (1) ให้ถูกต้องครบถ้วน และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้ดำเนินการเปิดรับลูกค้าใหม่ได้          ในการนี้ ให้ Bitazza ดำเนินการแก้ไขตามแผนการแก้ไขที่เสนอตาม (1) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 และรายงานความคืบหน้าการดำเนินการต่อ ก.ล.ต. จนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยบริษัทจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.          ทั้งนี้ สำหรับลูกค้า Bitazza สามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้าของบริษัท และสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส” โทร. 1207 กด 8 หรืออีเมล [email protected] หรือ เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th          นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ให้ความสำคัญในการติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากบริษัทดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ สามารถส่งเอกสารหลักฐานให้ ก.ล.ต. ได้ทันที โดย ก.ล.ต. จะตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวของบริษัทก่อนเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาต่อไป”

[PR News] ก.ล.ต. จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงานสัมมนาสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลที่ดี ยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุน

[PR News] ก.ล.ต. จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงานสัมมนาสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลที่ดี ยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุน

          ก.ล.ต. จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงานสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกันบริษัทจดทะเบียนด้วย 3 lines of defense” สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลที่ดี ยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุน           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) จัดสัมมนาหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกันบริษัทจดทะเบียนด้วย 3 lines of defense” ภายใต้โครงการบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน สอดคล้องแนวทางในการยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุนผ่านการเปิดเผยข้อมูลที่ดี โดยมีกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมงานมากกว่า 400 คน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567           การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของ 3 lines of defense ต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมทั้งเข้าใจถึงแนวทางในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน รวมถึงสื่อสารให้บริษัทจดทะเบียนเข้าใจถึงความคาดหวังต่อการเปิดเผยข้อมูลที่ดีที่สะท้อนภาพการดำเนินงานที่ผ่านมาและการดำเนินงานต่อไปในอนาคตที่ชัดเจนของบริษัทจดทะเบียน ผ่านมุมมองของผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ตรงในการเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียน โดยมีนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. และนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกล่าวเปิดงาน และมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนามากกว่า 400 คน           “ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการทำหน้าที่ของ 3 lines of defense ได้แก่ คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ และผู้สอบบัญชี ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการกำกับและส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ งานสัมมนาในครั้งนี้ จึงเน้นส่งเสริมในเรื่องการสร้างความตระหนักรู้ในบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบและความท้าทายในการทำงานระหว่างกัน รวมถึงแนวทางในการแก้ไขสภาพปัญหาต่าง ๆ และ การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่บริษัทจดทะเบียนอาจต้องเผชิญในอนาคต นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่ดีของบริษัทจดทะเบียนเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย เพื่อให้เป็นที่ดึงดูดของผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ โดยเน้นด้านส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอ ถูกต้อง เชื่อถือได้ ชัดเจน เข้าใจง่าย และทันเวลา โดยผู้ลงทุนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมกัน และข้อมูลที่เปิดเผยต้องสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาและการดำเนินการต่อไปในอนาคตด้วย” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว           ภายในงาน ได้จัดเสวนาในประเด็นความสำคัญและการทำงานร่วมกันของ 3 lines of defense มุมมองภาพรวมและมุมมองต่อสภาพปัญหาในตลาดทุนไทย พร้อมทั้งแนวทางในการแก้ไขสภาพปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเสวนา ได้แก่ คุณสุรศักดิ์ ดุษฎีเมธา รองผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสายงานตรวจสอบ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), คุณสิริวิภา สุพรรณธเนศ กรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียน, คุณรัตนา จาละ Country Managing Partner สำนักงานอีวาย, คุณวิน พรหมแพทย์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย, คุณไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการสายระดมทุน ก.ล.ต. และ คุณศมานันท์ สงเคราะห์ราษฎร์ ผู้อำนวยการฝ่ายผู้ออกหลักทรัพย์ 2 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองในเรื่องดังกล่าว           ทั้งนี้ งานสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้โครงการบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับ การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ และส่งเสริมให้บุคลากรของบริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อตลาดทุนไทย ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับชมการสัมมนาย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ “บริษัทจดทะเบียนเข้มแข็ง” www.sec.or.th/StrengthenCG