#กองทุนรวม


รู้ก่อนลงทุน!! เช็กให้ชัวร์ก่อนซื้อกองทุนรวม

รู้ก่อนลงทุน!! เช็กให้ชัวร์ก่อนซื้อกองทุนรวม

          หุ้นวิชั่น - การซื้อกองทุนรวมในยุคนี้ง่ายแสนง่าย ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็สามารถซื้อกองทุนรวมผ่านโมบายแอปของผู้ให้บริการการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) หรือธนาคารพาณิชย์ ที่ล้วนแต่มีช่องทางออนไลน์ให้บริการแก่ผู้ลงทุนแทบทั้งนั้น           แต่ก็มีผู้ลงทุนอีกจำนวนมากขอเลือกที่จะเดินไปซื้อกองทุนรวมที่สาขาดีกว่า เพราะอยากพบปะกับเจ้าหน้าที่โดยตรง เพื่อขอคำปรึกษาพร้อมสอบถามข้อมูลของกองทุนรวมที่สนใจ เป็นทางที่ตอบโจทย์การตัดสินใจลงทุนมากกว่าการค้นหาข้อมูลในโลกออนไลน์ด้วยตัวเอง ที่ไม่แน่ใจว่าจะตรงกับที่ตัวเองต้องการหรือไม่           บทความตอนนี้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนกองทุนรวม ไม่ว่าเราจะถนัดช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ จะได้ทราบถึงการได้รับบริการที่ถูกต้องเป็นมาตรฐาน รู้เท่าทันในสิทธิพึงมี และหน้าที่ที่ควรทำในฐานะผู้ลงทุน และถึงแม้คุณจะยังไม่ได้ลงทุนกองทุนรวม แต่ลงทุนหรือซื้อผลิตภัณฑ์การเงินอื่น ก็สามารถนำไปปรับใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อหรือใช้บริการทางการเงินได้เหมือนกัน ซื้อกองทุนรวมกับเจ้าหน้าที่ถามอะไรดีนะ? (Ask First)           เมื่อเดินเข้าไป ณ สำนักงาน หรือ สาขา เพื่อปรึกษาเรื่องการลงทุนในกองทุนรวมกับเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการอาจมีหลายคนที่ไม่รู้จะถามอะไรหรือถามไม่ค่อยถูก ไม่ต้องห่วง เราเตรียมโพยคำถามที่ควรถามกับเจ้าหน้าที่ ที่ให้บริการให้เบื้องต้น 4 ประเด็น ดังนี้ Q: เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และได้รับแต่งตั้งจากผู้ให้บริการให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แนะนำการลงทุนหรือไม่?           คำถามนี้สำคัญมาก เพื่อให้เราได้รับบริการและคำแนะนำจากคนที่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และปฏิบัติตามขั้นตอนการขายกองทุนรวม นั่นคือผู้แนะนำการลงทุน หรือ Investment Consultant (IC) ซึ่งมีหน้าที่ประเมินลูกค้าว่ารับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ระดับไหนหรือรับผลขาดทุนได้แค่ไหน และมีเป้าหมายการลงทุนเพื่ออะไร เช่น เพื่อลดหย่อนภาษี หรือเพื่อหาผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากแต่ไม่เสี่ยงมาก เพื่อที่ IC จะสามารถแนะนำกองทุนที่เหมาะกับ “ระดับความเสี่ยง” และ “เป้าหมาย” ของลูกค้าได้นั่นเอง ดังนั้น หากซื้อกองทุนรวมที่สาขาก็ลองสังเกตป้ายชื่อ ณ จุดให้บริการ หรือขอทราบเลขที่ทะเบียนผู้แนะนำการลงทุน ซึ่งปกติผู้ให้บริการจะจัดให้มี IC ประจำที่สาขา หรือมี IC พร้อมติดต่อให้บริการลูกค้าได้ Q: กองทุนรวมที่จะซื้อมีลักษณะอย่างไร?           เข้าใจว่าหลายคนตอนจะไปที่สาขาก็อาจจะมีไอเดียอยู่แล้วว่าสนใจกองทุนรวมแบบใด เช่น กองหุ้น หรือ กองตราสารหนี้ ถ้าแบบนั้นก็สอบถามให้ IC แนะนำตัวเลือกให้เรา หรือหากยังไม่รู้ก็ให้ IC เป็นคนแนะนำ แต่อย่าลืมว่า ก่อนได้รับคำแนะนำ จะต้องมีขั้นตอนการทำ KYC (know your client) และ suitability test คือเราต้องให้ข้อมูลแก่ IC เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเราว่ามีเป้าหมายการลงทุนอย่างไร มีข้อจำกัดหรือ รับความเสี่ยงได้แค่ไหน ทำเสร็จแล้วค่อยไปถึงขั้นตอนการดูว่าแล้วกองแบบใดที่เหมาะกับเรา ใช่กองที่เราคิดก่อนมาที่สาขาหรือไม่           ถัดไปก็ต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดว่ากองนั้นว่าเอาเงินไปลงทุนในตราสารหรือสินทรัพย์ใด มีระดับความเสี่ยงเท่าใด และมีความเสี่ยงด้านใดบ้าง เช่น ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกรณีไปลงทุนต่างประเทศ รวมถึงการคิดค่าธรรมเนียม (เรียกเก็บจากผู้ลงทุน/เรียกเก็บจากกองทุนรวม) และเงื่อนไขการซื้อขาย (ขายแล้วอีกกี่วันเงินถึงจะเข้า) เป็นต้น  ถ้ายังไม่ปิ๊งหรือยังไม่เข้าใจจริง ๆ ก็ชวน IC ให้แนะนำเราจนกว่าจะเจอกองที่ใช่ Q: การตรวจสอบการซื้อขายว่าได้กองทุนรวมที่ถูกต้องตรงความต้องการ?           เมื่อตกลงซื้อแล้ว ก็ต้องตรวจสอบหลักฐานการซื้อขายให้ดี โดยเช็กว่า เราได้ซื้อกองทุนรวมที่เราสนใจจริง ๆ โดยตรวจสอบชื่อกองทุนรวมและจำนวนเงินลงทุนให้ถูกต้อง รวมถึงเอกสารหลักฐานในการซื้อขายกองทุนรวมมีอะไรบ้าง เป็นรูปแบบเอกสารหรือเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และเราได้ลงนามหรือยืนยันอะไรไปบ้าง ได้รับบริการถูกต้องตามที่ลงนามหรือยืนยันไปหรือไม่ เช่น มีสมุดบัญชีกองทุนรวมหรือมีเอกสารรับรองการซื้อขายหน่วยลงทุนให้หรือไม่อย่างไร โดยต้องสังเกตว่าเอกสารต่าง ๆ ต้องออกโดยผู้ให้บริการเท่านั้น ไม่ใช่เอกสารที่ IC จะเขียนหรือทำให้เราโดยเฉพาะ เราได้รับข้อมูลคำแนะนำตามหนังสือชี้ชวน และได้รับการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่าง ๆ ของกองทุนรวมนั้น ๆ ตามที่เราได้ลงนามหรือยืนยันไปหรือไม่ เป็นต้น Q: เมื่อมีปัญหาติดต่อใคร?           หลังจากตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมแล้ว ผู้ลงทุนควรถามว่า ในกรณีประสบปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการได้ช่องทางใดบ้าง ซึ่งผู้ให้บริการมักมีช่องทางติดต่อหลายช่องทาง อาทิ call center อีเมล ช่องทางออนไลน์ หรือโมบายแอปพลิเคชัน โดยทั่วไปผู้ให้บริการจะสามารถตอบคำถามและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากกว่า แต่หากผู้ลงทุนไม่สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการได้ หรือได้รับบริการที่ไม่เป็นธรรม หรือพบเบาะแสใดที่ไม่น่าไว้วางใจ ก็สามารถติดต่อมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ก.ล.ต.[1] เพื่อดำเนินการต่อไป รู้จัก IC/IP เขามีความสำคัญอย่างไร?           ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant: IC) และผู้วางแผนการลงทุน (Investment Planner: IP) เป็นบุคลากรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ต้องได้รับความเห็นชอบในการทำหน้าที่ โดยผู้แนะนำการลงทุนในปัจจุบันมี 4 ประเภท คือ ผู้แนะนำการลงทุนด้านตราสารทั่วไป (IC plain) ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 (IC complex 1)  ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 (IC complex 2) และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 3 (IC complex 3)  ขณะที่ ผู้วางแผนการลงทุน (IP) นอกจากจะแนะนำการลงทุนได้แล้ว ยังสามารถช่วยวางแผนการลงทุนได้ด้วย (คลิกอ่านประเภท IC และขอบเขตการทำหน้าที่)           ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น IC และ IP ต้องมีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ สามารถให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้า และต้องมีจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ด้วย เพราะเป็นผู้ติดต่อใกล้ชิดกับลูกค้า รวมทั้งอาจได้รับประโยชน์ผ่านการขายผลิตภัณฑ์ของต้นสังกัด ซึ่งเส้นแบ่งอยู่ที่การยึดผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน รวมทั้งเปิดเผย conflict อย่างโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ลงทุนผ่านแอปให้ปลอดภัยต้องใส่ใจอีกนิด           การทำธุรกรรมการลงทุนผ่านออนไลน์ ต้องใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องดูแลระบบให้มีมาตรฐานตามกำหนด มีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งพัฒนาระบบให้รองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ           แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ลงทุนในฐานะผู้บริโภคที่จะต้องปกป้องตัวเองด้วย ควรมีความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล (digital literacy) ก่อนทำธุรกรรมลงทุนออนไลน์ เพราะนอกเหนือจากปลอดภัยทางไซเบอร์แล้ว ยังเป็นการป้องกันการทำธุรกรรมผิดพลาดที่อาจเกิดผลกระทบต่อเงินลงทุนของตัวเองด้วย เพราะสมัยนี้มีมิจฉาชีพที่พยายามหลอกให้เราหลงเชื่อว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องโดยใช้ชื่อใกล้เคียงหวังหลอกให้คนเข้าใจผิด เรามีคำแนะนำเบื้องต้นในการทำธุรกรรมลงทุนออนไลน์ให้ปลอดภัย ดังนี้ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากแหล่งที่ถูกต้อง ใน app store หรือ google play store พร้อมเช็กก่อนว่าเป็นแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการตัวจริง เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่สร้างแอปปลอมมาหลอกลวง สำหรับตัวเครื่องโทรศัพท์ต้องไม่ดัดแปลง ไม่ Root ไม่ Jailbreak อ่านข้อตกลงเงื่อนไขการใช้งาน และนโยบายความเป็นส่วนตัว ซึ่งจะเป็นการแจ้งข้อจำกัดสิทธิในการใช้บริการของแอปพลิเคชัน อ่านนโยบายการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล ให้เข้าใจก่อนตัดสินใจว่าจะยินยอมให้ใช้ข้อมูล ส่วนบุคคลหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การขอนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการวิเคราะห์ทางการตลาด เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น ก่อนทำรายการลงทุน ควรทำแบบทดสอบการยอมรับความเสี่ยง (suitability test) โดยตอบตามความจริง เพื่อให้ผลประเมินสะท้อนระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ และศึกษาทำความเข้าใจกองทุนรวมหรือผลิตภัณฑ์ที่จะลงทุนให้เข้าใจชัดเจนก่อนว่า เหมาะกับตัวเองหรือไม่ ก่อนจะกดยอมรับความเสี่ยงหรือกดยืนยันการส่งคำสั่ง (Accept) ต้องอ่านข้อมูลให้เข้าใจและรู้จริงว่า เรากำลังจะตัดสินใจลงทุนสิ่งนั้นจริง ๆ ขอย้ำว่า “อย่ากดยอมรับโดยไม่อ่าน” เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเราเอง เช่น ในกรณีที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงกว่าความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ จะมีให้กดรับทราบและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หากกดยอมรับยืนยันที่จะลงทุน ผู้ลงทุนต้องรู้ว่าหากการลงทุนไม่เป็นไปในทิศทางที่คิดไว้ ต้องยอมรับผลที่จะตามมา ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะระบบได้เก็บประวัติการทำธุรกรรม (transaction log) ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่าเรายอมรับความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว           จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะซื้อกองทุนรวมผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม เราในฐานะผู้ลงทุนและเจ้าของเงินต้องปกป้องตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ รู้จักสิทธิของตัวเองที่พึงมี รวมทั้งหน้าที่ในฐานะผู้ลงทุนที่ต้องดูแลตัวเอง เช่น ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาต อัพเดทข้อมูลส่วนตัวเป็นปัจจุบัน ติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เราลงทุนไปแล้ว เป็นต้น           และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การศึกษาข้อมูลกองทุนรวมก่อนตัดสินใจ ซึ่งทุกคนสามารถศึกษาข้อมูลและเปรียบเทียบกองทุนรวมได้ด้วย SEC Fund Check เครื่องมือดี ๆ ที่ ก.ล.ต. พัฒนาขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมได้มีตัวช่วยในการหาข้อมูลกองทุนรวม เช่น ความเสี่ยงของกองทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งสามารถเรียกดู fund fact sheet เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมว่ากองทุนรวมนั้นลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง           ทิ้งท้ายอีกสักครั้ง สำหรับใครที่พบเห็น หรือถูกชักชวนให้ลงทุน หรือพูดคุยแนะนำการลงทุนกองทุนรวมแบบไม่พบหน้า เช่น ผ่านออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย หลังจากที่ตรวจสอบด้วย SEC Check First แล้ว ควรสอบถามไปยังหน่วยงานต้นสังกัดอีกครั้งว่า เป็นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจริงหรือไม่ มีผลิตภัณฑ์ลงทุนดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะตอนนี้มีทั้งการแอบอ้างเลขทะเบียนผู้แนะนำตัวจริง และปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจแอบอ้างชื่อให้ใกล้เคียงกับบริษัทตัวจริง ขอย้ำ! เจอโฆษณาชวนลงทุนแอบอ้างชื่อ ภาพโลโก้ ก.ล.ต. ให้คิดไว้เลยว่าหลอกลวง อย่าแอดไลน์ และอย่าโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดาเด็ดขาด [1] ช่องทางร้องเรียน แจ้งเบาะแส สอบถามข้อมูล ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/AboutUs/SECHelp.aspx โดย นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

อย่าลืม! กองทุน Thai ESG ลดภาษี 3แสนบาทต่อคนต่อปี

อย่าลืม! กองทุน Thai ESG ลดภาษี 3แสนบาทต่อคนต่อปี

          หุ้นวิชั่น - ใกล้สิ้นปีแล้ว เชื่อว่าผู้ลงทุน ประชาชนทั่วไป จะเริ่มมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากการซื้อประกันในประเภทต่าง ๆ ที่นำมาช่วยประหยัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กองทุนรวมก็เป็นหนึ่งตัวเลือกที่หลาย ๆ คนนิยมลงทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยเช่นกัน ปัจจุบันไทยมีกองทุนรวมที่เป็นเครื่องมือช่วยประหยัดภาษีมีอยู่ 3 ประเภท คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ที่กำลังจะหมดอายุในสิ้นปี 2567 และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งแต่ละกองทุนต่างมีความน่าสนใจและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างกัน           แต่ที่น่าสนใจในมุมของสิทธิประโยชน์ทางภาษีและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวคงหนีไม่พ้น Thai ESG ที่กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ตลท. ได้ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับเงื่อนไขใหม่ของกองทุนรวมดังกล่าวเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยที่กระทรวงการคลังได้พิจารณาเพิ่มวงเงินลงทุนสำหรับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 1  แสนบาทต่อคนต่อปี เป็น 3 แสนบาทต่อคนต่อปี สำหรับปีภาษี 2567-2569 และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี จากเดิม 8 ปี โดยกระทรวงการคลัง จะประเมินผลมาตรการนี้อีกครั้งเมื่อสิ้นสุดปี 2569           นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของ Thai ESG โดย Thai ESG ขยายขอบเขตการลงทุนให้กว้างขึ้น ส่งผลให้ Thai ESG สามารถจัดสรรเงินลงทุนไปยังกิจการไทยที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในระดับดีเลิศได้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยในส่วนของการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีธรรมาภิบาล (Governance) ในระดับดีเลิศ จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 องค์ประกอบ ดังนี้ด้วย มีธรรมาภิบาลที่ดีเลิศ โดยได้รับ CGR ซึ่งจัดทำโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งแต่ 90 คะแนนขึ้นไป มีการเปิดเผยเป้าหมายและแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (Corporate value up plan) เช่น บริษัทที่มีแผนยกระดับด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น มีการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับผู้ลงทุน เช่น การเข้าร่วมกิจกรรม SET Opportunity day กับผู้ลงทุน/นักวิเคราะห์การเปิดเผยความคืบหน้าของแผน Value up เป็นต้น           ต้องบอกว่า การที่หลักเกณฑ์ใหม่ของ Thai ESG กำหนดให้ บจ. เปิดเผยแผนและเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าบริษัท (Corporate value up plan) โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันที่ได้เปิดเผยแผน เช่น แผนดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อเข้ารับการประเมินจากผู้ประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล หรือการมีเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน เป็นต้น นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนที่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมให้ บจ. ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับธรรมาภิบาล และมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของ UN SDGs และเป็นไปตามเป้าประสงค์ของภาครัฐด้วย           หลักเกณฑ์ใหม่ยังเสริมบทบาทหน้าที่ของ บลจ. ที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ความรับผิดชอบ เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน (fiduciary duty) ตั้งแต่การปรับปรุงให้ บลจ. มีหน้าที่กำหนดนโยบายและกลยุทธ์การลงทุนเพื่อคัดเลือกทรัพย์สินที่มีคุณภาพเพื่อการลงทุนของ Thai ESG และมีกระบวนการในการบริหารจัดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (responsible investment) รวมถึงการคัดเลือกผู้ประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล (ผู้ประเมินฯ) ที่จะเป็นผู้คัดเลือกหุ้นที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (environment) และความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อการลงทุนของกองทุน Thai ESG โดยที่ผู้ประเมินฯ ก็จะต้องมีความน่าเชื่อถือด้วย กล่าวคือ เป็นตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) หรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นอิสระ           มาถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพรวมผลประโยชน์ของ Thai ESG ตามเงื่อนไขใหม่กันแล้ว โดย ก.ล.ต. มุ่งหวังว่า Thai ESG จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับธรรมาภิบาลและเพิ่มความน่าสนใจของกิจการในตลาดหลักทรัพย์ไทยควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมเป็นการลงทุนระยะยาวในตลาดทุน เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวสำหรับผู้ลงทุน นอกเหนือจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืนต่อไป ที่มา ฝ่ายสื่อสารองค์กร และ ฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

อยากเลือกลงทุนกองทุนรวม กองทุนแบบไหนที่ใช่? เลือกลงทุนที่เหมาะกับเรา

อยากเลือกลงทุนกองทุนรวม กองทุนแบบไหนที่ใช่? เลือกลงทุนที่เหมาะกับเรา

          เรื่องราวที่หลายคนอยากรู้ สำหรับผู้เริ่มสนใจลงทุนในกองทุนรวม แต่เลือกไม่ถูกว่าจะลง (ทุน) กองไหนดี ประมาณว่า เดินเข้ามาถึงประตูสู่การลงทุน แต่ยังยืนงงในดงกองทุนรวมนับพันกองอยู่           คีย์เวิร์ดของคำตอบนี้ คือ “รู้จักตัวเอง” ที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถค้นหากองทุนที่ใช่ เพราะคนแต่ละคนล้วนมีมุมมอง แนวคิด การใช้ชีวิต ความจำเป็น และความสนใจ ที่แตกต่างกัน ฉะนั้น การตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนรวม จึงต้องรู้จักตัวเองใน 2 เรื่อง คือ เป้าหมายการเงินคืออะไร และยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ตั้งเป้าหมายการเงินให้ปังด้วยหลัก SMART           เป้าหมายการเงิน ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะการเลือกกองทุนรวมเท่านั้น แต่เป็นส่วนสำคัญของการวางแผนการเงินในชีวิตเลยทีเดียว เพราะการมีเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน จะเพิ่มโอกาสช่วยให้เราวางแผนการเงิน ได้สำเร็จมากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นภาพว่า เราต้องการเงินเพื่ออะไร จำนวนเท่าใด เป้าหมายระยะสั้น กลาง หรือยาว โดยแต่ละเป้าหมายจะรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ซึ่งเราเริ่มต้นตั้งเป้าหมายการเงินที่ดีได้ ด้วยหลัก SMART ที่ประกอบด้วย R S : Specific ชัดเจน โดยเป้าหมายควรจะระบุได้ชัดเจนและเข้าใจได้ R M : Measurable วัดผลได้ ด้วยการกำหนดเป็นจำนวนเงินที่ชัดเจน R A : Achievable รู้วิธีที่ทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ R R : Realistic อยู่บนความเป็นจริง สมเหตุสมผล R T : Time - bound มีกรอบเวลาชัดเจน ว่าเป้าหมายนั้นกำหนดระยะเวลาเมื่อใด ตัวอย่างการตั้งเป้าหมาย SMART เช่น           (S) ฉันจะออมเพื่อเกษียณ           (M) เป็นเงิน 10 ล้านบาท           (A) ฝากธนาคาร ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี = 22,013 บาท/เดือน หรือลงทุนกองทุนรวมผสมผลตอบแทนเฉลี่ย 5% = 12,016 บาท/เดือน หรือลงทุนกองทุนรวมตราสารทุน ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% = 6,710 บาท/เดือน           (R) แบ่งเงินออมมาจากเงินเดือนและอาชีพเสริม           (T) ภายในเวลา 30 ปี หรือ 360 เดือน           ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ในส่วนของ (A) หรือวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จ มีได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการยอมรับความเสี่ยง ซึ่งหากรับความเสี่ยงได้สูง ด้วยระยะเวลายาวถึง 30 ปี อาจนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนหรือกองทุนรวมหุ้น ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี จะลดการออมต่อเดือนเหลือ 6,710 บาท หรือ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการฝากธนาคาร ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี และถ้าออมมากขึ้นก็มีโอกาสถึงเป้าหมาย เร็วขึ้นอีกด้วย รู้การยอมรับความเสี่ยงตัวเองนั้นสำคัญยิ่งยวด           นอกจากการกำหนดเป้าหมายการเงินที่ชัดเจนตามหลัก SMART จะช่วยเราเลือกกองทุนที่เหมาะกับเราได้ ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญและต้องนำมาดูประกอบด้วยเสมอ คือ การยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน เพราะแต่ละคนยอมรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน แม้จะอายุเท่ากันหรือมาจากครอบครัวเดียวกันก็ตาม หากคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อราคาสินทรัพย์ลดลง อาจรับการสูญเสียเงินไม่ไหวและเกิดการวิตกกังวล ต่างจากคนที่รับความเสี่ยงได้สูงที่สามารถรับไหวเมื่อราคาสินทรัพย์ลดลง เพราะเป็นความเสี่ยงที่ตัวเองพึงพอใจและรับได้           ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุนต้องเช็กก่อนว่า เรายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหนจาก การทำแบบประเมินความเสี่ยง (suitability test) เพื่อช่วยให้เราสามารถเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับเราได้ ซึ่งการประเมินความเสี่ยง จะพิจารณาจากการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน (Risk Profile) ใน 2 มิติ ได้แก่ ความสามารถในการรับความเสี่ยง (Ability to take risk) ประเมินจากปัจจัยที่สะท้อนความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง เช่น อายุ ระยะเวลาลงทุน ภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สิน ประสบการณ์ลงทุน เป็นต้น ความเต็มใจในการรับความเสี่ยง (Willingness to take risk) ประเมินจากปัจจัยที่สะท้อนความเต็มใจในการรับความเสี่ยง ได้แก่ ทัศนคติเกี่ยวกับการรับความเสี่ยง เช่น สามารถรับผลขาดทุนได้มากน้อยเท่าไหร่ รวมถึงความอดทนต่อความผันผวนหรือการขาดทุน เป็นต้น           การพิจารณาการยอมรับความเสี่ยงจะต้องดูจากหลายปัจจัยร่วมกัน จึงจะออกมาเป็นผลของการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ที่แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง เสี่ยงสูง และเสี่ยงสูงมาก           ระดับการยอมรับความเสี่ยงนี้จะช่วยบอกเราว่า เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (เช่น หุ้น หรือทรัพย์สินทางเลือกอย่างทองคำ หรือน้ำมัน) ได้สัดส่วนประมาณเท่าใด เช่น ผู้รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตประมาณ 10% ขณะที่ผู้ที่รับความเสี่ยงได้เสี่ยงสูงมาก อาจมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตได้สูงถึง 80% โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็มาจากความคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั่นเอง           ข้อควรรู้ คือ ระดับการยอมรับความเสี่ยงของคนเรานั้น “เปลี่ยนแปลงได้”  ดังนั้น ควรทบทวนการรับความเสี่ยงตัวเองอย่างน้อยทุก 1 - 2 ปี ซึ่งจะดีต่อการวางแผนลงทุนและปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย กองทุนรวมแบบไหน “ใช่” สำหรับเรา           เพราะผลิตภัณฑ์การลงทุนแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนแตกต่างกัน กองทุนรวมมีการจัดระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม ตั้งแต่เสี่ยงต่ำระดับ 1 ไปจนถึงเสี่ยงสูงระดับ 8  กองทุนรวมซึ่งกระจายลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็มีโอกาสและความเสี่ยงที่หลากหลายตามนโยบายการลงทุน ตอบโจทย์ ผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน เช่น ถ้าผู้ลงทุนมีเป้าหมายการเงินระยะยาว และรับความเสี่ยงได้สูง ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนรวมตราสารทุนดังที่กล่าวไปแล้ว แต่หากเป็นคนที่รับความเสี่ยงจากหุ้นได้น้อย ก็อาจลดความเสี่ยงลงด้วยการเลือกกองทุนรวมผสม ซึ่งจะมีความผันผวนน้อยกว่ากองทุนรวมหุ้น เพราะมีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาฯ จึงช่วยกระจายหรือลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวได้           ในทางกลับกันถ้าผู้ลงทุน มีเป้าหมายระยะสั้น ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ การเลือกลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนรวมพันธบัตรก็จะเหมาะสมกว่า           แต่ถ้าใครยังไม่มีเป้าหมายการเงินเพื่อลงทุนในกองทุนรวม ลองตั้งเป้าหมาย “ออมเพื่อเกษียณ” ดูไหม??           อย่าเพิ่งคิดว่า อายุยังน้อย เป้าหมายเกษียณช่างไกลตัวเกินไป ไม่จริงเลย เพราะการออมเพื่อเกษียณยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบ เพราะหากออม/ลงทุนสม่ำเสมอ จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ย/ผลตอบแทนทบต้น มีเวลาให้เงินทำงาน และด้วยความที่อายุยังน้อย จึงรับความผันผวนของการลงทุนระหว่างทางได้           ปัจจุบันมี 2 ประเภทกองทุนที่โดดเด่นในด้านการลงทุนระยะยาว และได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายหลากหลายให้เลือก ทั้งการลงทุนในประเทศ ต่างประเทศ ในหุ้น หรือตราสารหนี้ หรือจัดพอร์ตเป็นธีม ก็มีให้เลือกเช่นกัน           หรือถ้าใครต้องการออมต่อเนื่องระยะยาว ได้ลดหย่อนภาษี และสนับสนุนธุรกิจรักษ์โลกไปด้วย ก็ลองพิจารณา กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ที่เป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยล่าสุดกองทุน Thai ESG ได้ปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ โดยขยายวงเงินลดหย่อนภาษีเป็น 3 แสนบาทต่อคนต่อปี ลดระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุน เหลือ 5 ปี สำหรับการลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2569           อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องลงทุนในกองทุนรวมเพียงกองเดียวเท่านั้น หากเรามีรายได้เพิ่มขึ้น มีเป้าหมายมากกว่า 1 เป้าหมาย ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมอื่นเพิ่มเติม เช่น เป้าหมายระยะสั้น และเป้าหมายนั้นมีความสำคัญสูง เช่น เก็บเงินเรียนต่อปริญญาโท ในอีก 2 ปี ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนพันธบัตรที่เน้นปลอดภัยไม่ผันผวน เป็นต้น           แต่ที่สำคัญกว่า.. ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละกองทุนรวมอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม หรือ Fund Fact Sheet เพื่อหากองทุนรวมที่เหมาะสมและตอบโจทย์เรามากที่สุด แล้วใน fund fact sheet มีข้อมูลอะไรบ้าง ตอนหน้าจะพาไปเจาะลึกลายแทงขุมทรัพย์ข้อมูลกองทุนรวมกัน โดย นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)