#กระทรวงพาณิชย์


สำรวจแผนเที่ยวปลายปี 67 คนไทยเน้นงบประหยัด ‘ภาคเหนือ’ ยืนหนึ่งจุดหมายในฝัน

สำรวจแผนเที่ยวปลายปี 67 คนไทยเน้นงบประหยัด ‘ภาคเหนือ’ ยืนหนึ่งจุดหมายในฝัน

          หุ้นวิชั่น - นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 จำนวน 5,669 ราย ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวไทยปลายปี 2567 ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนที่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน -  ธันวาคม 2567 มีสัดส่วนค่อนข้างทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลการสำรวจของปี 2566 โดยภาคเหนือยังเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่ประชาชนวางแผนไปท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปัญหาทางการเงินและค่าใช้จ่ายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการแผนการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้ พฤติกรรมและแผนการท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567           ภาพรวมของการสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 32.28 มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2567 ซึ่งค่อนข้างทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากผลสำรวจปี 2566 (ร้อยละ 32.19) โดยภาคเหนือยังคงเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงเช่นเดิม อาจเนื่องด้วยเป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย ธรรมชาติและภูมิทัศน์สวยงาม รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ สำหรับสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 67.72 ที่ไม่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเงิน ซึ่งเป็นเหตุผลที่มีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 38.55 และตามมาด้วยความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงร้อยละ 32.12           เมื่อพิจารณาการจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มผู้ไม่ได้ประกอบอาชีพและเกษียณอายุ มีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวมากที่สุดที่ร้อยละ 46.40 อาจเนื่องมาจากประชาชนกลุ่มนี้ไม่ถูกจำกัดด้วยภาระ หน้าที่การงาน ทำให้สามารถวางแผนและเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวก รองลงมาคือ กลุ่มนักธุรกิจและเจ้าของกิจการ ที่ร้อยละ 42.52 สำหรับกลุ่มพนักงานบริษัทมีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 17.54 การจำแนกตามรายได้ต่อเดือน พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 40,000 - 50,000 บาท มีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวมากที่สุด ที่ร้อยละ 48.77 ตามมาด้วยกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ที่ร้อยละ 45.00 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็น กลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง จึงสามารถจัดสรรงบประมาณสำหรับการท่องเที่ยวได้มากกว่ากลุ่มรายได้อื่น ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ 5,001 – 10,000 บาท มีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวในช่วงเดือนดังกล่าวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 25.95 และการจำแนกตามภูมิภาค พบว่าผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นผู้มีสัดส่วนวางแผนการท่องเที่ยวมากที่สุดที่ร้อยละ 40.87 รองลงมาคือ ผู้อาศัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร้อยละ 34.88 ขณะที่ผู้อาศัยในเขตภาคกลางมีสัดส่วนการวางแผนการท่องเที่ยวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 27.14 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลสำรวจจากภูมิภาคต่าง ๆ พบว่า ผู้อาศัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือมีสัดส่วนการท่องเที่ยวในเขตภูมิภาคที่ตนเองอาศัยอยู่มากที่สุด มีเพียงกลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคกลางที่มีสัดส่วนการวางแผนการท่องเที่ยวนอกเขตภูมิภาคที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ การท่องเที่ยวธรรมชาติ ผจญภัย และกีฬา ซึ่งเป็นที่นิยมในเกือบทุกกลุ่มอายุ อาชีพ รายได้ และภูมิภาค โดยคิดเป็นร้อยละ 56.67 รองลงมาคือ การท่องเที่ยวร้านกาแฟและร้านอาหารยอดฮิตที่ร้อยละ 48.14 โดยกิจกรรมนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มอายุต่ำกว่า 39 ปี และกลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีผู้ตอบเกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มเดียวกัน           อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการวางแผนการท่องเที่ยว ประชาชนยังมีปัจจัยที่กังวลอยู่หลายประการ โดยความกังวลด้านความปลอดภัยและอุบัติเหตุเป็นปัจจัยหลักที่มีสัดส่วนสูงที่ร้อยละ 51.48 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญจากการสำรวจในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ร้อยละ 30.85) โดยเฉพาะในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีความกังวลในเรื่องนี้สูงถึงร้อยละ 71.05 นอกจากนี้ ประชาชนยังมีความกังวลในเรื่องความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 50.00 และกังวลด้านการจราจรที่ร้อยละ 47.49 การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567           ในภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 44.59 คาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท/คน/ทริป เพื่อเป็นค่าเดินทาง อาหาร และที่พัก โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจของปีก่อน (ปี 2566 ร้อยละ 42.07) รองลงมาคือ ใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 31.79 (ปี 2566 ร้อยละ 24.71) และใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 10,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 19.54 (ปี 2566 ร้อยละ 30.02) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประชาชนมีแผนการใช้จ่ายลดลงในวงเงินที่สูง สะท้อนถึงการปรับตัวและการควบคุมงบประมาณที่มากขึ้น สำหรับประเภทของค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คิดเป็นร้อยละ 71.64 รองลงมาคือค่าอาหาร คิดเป็นร้อยละ 70.71 และค่าที่พักคิดเป็นร้อยละ 62.35 ตามลำดับ           นายพูนพงษ์ กล่าวถึงการสำรวจครั้งนี้ว่า แม้ประชาชนจะมีความกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจสถานะทางการเงิน และภาระค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คาดว่า จะยังคงมีบรรยากาศที่คึกคักทั่วทุกภูมิภาค โดยภาครัฐได้มีการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง ดังนั้น หน่วยงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องควรเตรียมแนวทางและความพร้อมในการรับมืออย่างเข้มข้น พร้อมทั้งดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย           เพื่อบรรเทาความกังวลของประชาชนในการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2567 ภาครัฐได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการเพิ่มความปลอดภัยทางท้องถนน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางท้องถนน และมาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอกับความต้องการในการเดินทาง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อจะกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดของขวัญปีใหม่ ปี 2568 ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานพาณิชย์ลดราคา “New Year Mega Sale 2025” งานลดราคาสินค้าส่งออก “Made in Thailand” การมอบส่วนลดแพ็กเกจแฟรนไชส์ การแจกส่วนลดราคาสินค้าผ่าน 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ และการจัดงานแสดงและจุดจำหน่ายสินค้าในส่วนภูมิภาคกว่า 300 จุดทั่วประเทศ เป็นต้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยคาดว่ากิจกรรมดังกล่าว จะสามารถขยายโอกาสและสร้างมูลค่าทางการค้าไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่าง ๆ

ไก่เนื้อหอม กระตุ้นการส่งออกไทย

ไก่เนื้อหอม กระตุ้นการส่งออกไทย

          หุ้นวิชั่น - นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าเนื้อไก่ พบว่า ในปี 2568 คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกเนื้อไก่โลกจะเพิ่มสูงที่สุดในประวัติการณ์ โดยจะเติบโต 2% อยู่ที่ 13.8 ล้านตัน สำหรับไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก ก็จะมีการส่งออกเนื้อไก่เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าระวังการขยายการส่งออกของบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับที่ 1 ของโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย           สนค. ได้ศึกษาข้อมูลรายงานสถานการณ์ตลาดสินค้าสัตว์ปีก ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) พบว่า ปี 2568 การผลิตเนื้อไก่ทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2% หรือประมาณ 104.9 ล้านตัน (ปี 2567 มีการผลิตประมาณ 103.0 ล้านตัน) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย และความต้องการผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งจีนที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้จีนกลับมาเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับที่ 1 ของโลกอีกครั้ง (จีนเคยเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับที่ 1 ของโลก และถูกบราซิลแซงในปี 2565)           สำหรับการส่งออกเนื้อไก่โลกปี 2568 จะเติบโตที่ 2% อยู่ที่ 13.8 ล้านตัน (ปี 2567 มีการส่งออกประมาณ 13.6 ล้านตัน) ซึ่งเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้น โดยไก่เป็นโปรตีนราคาถูกที่ดึงดูดผู้บริโภครายได้ปานกลาง รวมทั้งการสนับสนุนจากซัพพลายเออร์ผู้ผลิตเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการขยายการส่งออกของบราซิล ทำให้ส่วนแบ่งการส่งออกของบราซิลขยายตัวต่อเนื่อง และกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่ของยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในตลาดนำเข้า ได้แก่ เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งบราซิลสามารถแข่งขันกับซัพพลายเออร์อื่นในด้านราคา และมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้คาดว่าในอนาคตบราซิล อาจแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ส่งออกเนื้อไก่รายอื่น ๆ อาทิ สหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น           การส่งออกเนื้อไก่ของโลกในปี 2568 มีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ (1) การควบคุมโรคระบาด บราซิลคงสถานะปลอดโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza: HPAI) การระบาดจำกัดอยู่เฉพาะนกป่าและไม่มีการระบาดเชิงพาณิชย์ จึงไม่ส่งผลต่อการผลิตและการค้า เช่นเดียวกับไทยที่ไม่พบการระบาดเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2552 รวมทั้งการควบคุมการระบาดของโรค HPAI ของสหภาพยุโรป จะช่วยสนับสนุนการส่งออกเนื้อไก่ของโลกไปยังตลาดต่าง ๆ (2) การมุ่งผลิตเพื่อส่งออก บราซิลและไทยมีสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าเพื่อตลาดภายในประเทศ แตกต่างจากยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้บราซิลและไทยสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า เช่น ไก่ทั้งตัว เนื้อถอดกระดูก เนื้ออก ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่ง เป็นต้น และ (3) ต้นทุนการผลิต บราซิลเป็นผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และ กากถั่วเหลืองรายใหญ่ มีความได้เปรียบด้านต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่า           ไทยมีการส่งออกสินค้าไก่ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) มูลค่ารวม 3,592.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (126,976 ล้านบาท) ขยายตัว 4.9% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกไก่ปรุงสุกไปตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไก่ของไทยประกอบด้วย 1) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่าส่งออก 1,131.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (39,967 ล้านบาท) หดตัว 0.2% ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ (1) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 36.85% ของมูลค่าส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย) (2) จีน (สัดส่วน 32.39%) (3) มาเลเซีย (สัดส่วน 14.37%) (4) เกาหลีใต้ (สัดส่วน 4.37%) และ (5) ฮ่องกง (สัดส่วน 3.13%) 2) ไก่แปรรูป มูลค่าส่งออก 2,461.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (87,009 ล้านบาท) ขยายตัว 7.4% ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ (1) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 47.58% ของมูลค่าส่งออกไก่แปรรูปของไทย) (2) สหราชอาณาจักร (สัดส่วน 27.21%) (3) เนเธอร์แลนด์ (สัดส่วน 6.13%) (4) เกาหลีใต้ (สัดส่วน 4.47%) และ (5) สิงคโปร์ (สัดส่วน 4.24%)           ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2568 การส่งออกเนื้อไก่ของโลกและไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อื่น ๆ เช่น บราซิล สหภาพยุโรป ก็มีแนวโน้มขยายตัวดีเช่นกัน ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูป (พิกัดศุลกากร 160232) อันดับที่ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน เคยมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก สำหรับปี 2566 ไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 25.8% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก รองลงมา คือ จีน (สัดส่วน 11.0%) เยอรมนี (สัดส่วน 9.3%) โปแลนด์ (สัดส่วน 8.9%) และเนเธอร์แลนด์ (สัดส่วน 8.6%) ตามลำดับ ดังนั้น ไทยต้องรักษาความสามารถทางการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งตลาด และขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ โดยต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ดูแลต้นทุนการเลี้ยงไก่ของไทยให้เหมาะสมเพื่อสินค้าไทยแข่งขันได้ ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 2 ธันวาคม 2567

สนค. ชวนส่องเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มยอดนินมแห่งปี 68

สนค. ชวนส่องเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มยอดนินมแห่งปี 68

             นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์แนวโน้มของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 เพื่อชี้ช่องทางและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก               FoodNavigator สำนักข่าวออนไลน์ชั้นนำสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เผยแพร่บทความ เรื่อง “แนวโน้มอาหารและเครื่องดื่มแห่งปี 2568 (ค.ศ. 2025)[1]” พบว่า ผู้บริโภคมีแนวคิดใน        การเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะผสมผสานระหว่างสุขภาพและความพึงพอใจ นอกจากนี้     ยังเปิดใจรับอาหารจากแหล่งใหม่ ๆ อาหารที่ผ่านการใช้เทคโนโลยีการเกษตร (Ag-Tech) รวมถึงอาหาร        ดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) รวมทั้งมีความเข้าใจและยอมรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น  จึงยอมรับในวัตถุดิบและรสชาติอาหารจากแหล่งใหม่ ๆ ทั้งจากท้องถิ่นและทั่วโลก สรุปเป็น 4 เทรนด์สำคัญ ดังนี้             1) ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ ผู้บริโภคจะคำนึงถึงประโยชน์ด้านสุขภาพและคุณค่าโภชนาการก่อนจะพิจารณาว่าอาหารดังกล่าวมีการแปรรูปมากเกินไปหรือไม่ (Ultra-processed Food) โดยคำนึงถึงสารอาหารเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น ผู้ผลิตควรให้ข้อมูลโภชนาการที่เข้าใจง่ายเพื่อตอบสนองเทรนด์นี้ ตัวอย่างพฤติกรรมผู้บริโภค อาทิ ผู้บริโภคบราซิล 83% ต้องการอิ่มนานขึ้น ผู้บริโภคอินโดนีเซีย 67% ต้องการทดลองอาหารเพื่อสุขภาพเฉพาะบุคคล ผู้บริโภคจีน 64% ใช้โซเชียลมีเดียในการหาข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ ผู้บริโภคอินเดีย 52% ควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และผู้บริโภคไทย 33% จะใช้จ่ายกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น 2) เน้นความพึงพอใจควบคู่กับสุขภาพที่ดี ความพึงพอใจของผู้บริโภคมีความหมายแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนอาจหมายถึงความสะดวกสบาย การได้ลิ้มรสอาหารอร่อยทุกวัน หรือการไม่รู้สึกผิดต่อการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้ผลิตจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างการมี    ส่วนร่วมของผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด เช่น ผู้บริโภคชาวจีน 63% มองหาอาหารรสชาติใหม่ ๆ เพื่อทดลอง ผู้บริโภคสหราชอาณาจักร 58% ที่บริโภคขนมหวาน ต้องการเห็นผู้ผลิตในแบรนด์ต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่ง FoodNavigator ระบุว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการความสมบูรณ์แบบ มีความยืดหยุ่นขึ้น และผ่อนคลายจากกฎเกณฑ์ ซึ่งผู้ผลิตต้องแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคมองหาที่ออกจากกรอบกฎเกณฑ์เดิม ๆ ให้เกิดความชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์            3) ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอาหาร แนวโน้มด้านแหล่งที่มาของอาหารมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลแหล่งที่มาของอาหารที่แท้จริง ข้อมูลต้องโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลก ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจว่า ผู้ผลิตอาจต้องให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของธุรกิจมากกว่าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจความท้าทายดังกล่าว เช่น ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น 65% เข้าใจถึงเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ตนเองไม่มีอำนาจควบคุม และผู้บริโภคชาวฝรั่งเศส 74% เข้าใจดีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสินค้าที่วางในซูเปอร์มาร์เก็ตในอนาคต            4) คาดหวังและเต็มใจที่จะบริโภคอาหารที่ผ่านเทคโนโลยีการเกษตร (Ag-Tech) การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารสมัยใหม่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นตัวกระตุ้นทำให้เห็นการผลิตอาหารจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จึงทำให้ผู้บริโภคคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบอาหารเพิ่มขึ้น เช่น ผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา 52% ยอมรับประทานพืชผักที่ผ่านกระบวนการดัดแปรพันธุกรรม ผู้บริโภคสหราชอาณาจักร 40% ต้องการรู้ข้อมูลมากขึ้นว่าอาหารผลิตมาอย่างไร และผู้บริโภคชาวอิตาเลียน 23% สามารถเลือกซื้อสินค้าอาหารหรือเครื่องดื่มแม้จะระบุว่ามีการดัดแปรพันธุกรรม ดังนั้น ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถออกผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม            ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารของไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อผลิตอาหารที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ  รวมทั้งแหล่งที่มาของอาหารที่ต้องมีความโปร่งใส รวมทั้งเปิดกว้างต่ออาหารที่ผ่านเทคโนโลยีการเกษตร และอาหารที่มีการดัดแปรพันธุกรรมเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวในอนาคตได้ [1] https://www.foodnavigator.com/Article/2024/10/01/The-top-food-and-drink-trends-for-2025 เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567

ติดอาวุธธุรกิจบริการ พุ่งทะยานด้วย Generative AI

ติดอาวุธธุรกิจบริการ พุ่งทะยานด้วย Generative AI

           นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า Generative AI คือรูปแบบหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนต์ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ตามการเขียนป้อนความต้องการหรือคำสั่งของผู้ใช้งาน จึงเป็นโอกาสต่อธุรกิจให้สามารถผลิตคอนเทนต์ที่แตกต่าง หรือน่าสนใจได้อย่างรวดเร็ว และจับกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลายขึ้น ด้วยการใช้ประโยชน์จาก Generative AI            ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ McKinsey รายงานว่า การใช้ Generative AI จะช่วยลดระยะเวลา และลดขั้นตอนในการทำงานที่ซ้ำซ้อนของแรงงานและบุคลากรในองค์กร ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า Generative AI จะสร้างมูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ให้เติบโตอยู่ที่ 2.6 ถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี1 และตลาดโลกของธุรกิจด้าน Generative AI คาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 46.47 ต่อปีในช่วงปี 2567 ถึง 25732 ภาคส่วนธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ จะได้อานิสงส์และประโยชน์จากการนำ Generative AI มาใช้ได้มาก โดยเนื้อหา ที่ Generative AI สามารถสร้างผลงานออกมาได้มีหลากหลาย เช่น ข้อความตัวอักษร รูปภาพ เสียง วิดีโอ ตลอดจนการเขียนโค้ด หรือเขียนคำสั่งที่ควบคุมการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ โดยหนึ่งใน Generative AI ที่บุคคลรวมถึงภาคธุรกิจรู้จักและนิยมนำมาใช้อย่างแพร่หลายคือ ChatGPT ซึ่งเป็นเครื่องมือ AI ที่สามารถโต้ตอบผ่านการป้อนคำสั่งของผู้ใช้งานได้ทันที รูปแบบการใช้งาน Generative AI ซึ่งเป็นที่นิยม ในธุรกิจบริการ อาทิ แชทบอท (Chatbot) คือโปรแกรมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่เลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ แชทบอทถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบกลับการสนทนาของผู้ใช้โดยอัตโนมัติแบบทันที (Real-Time) ทั้งในรูปแบบตัวอักษร (Text) หรือเสียง (Speech) แชทบอทสามารถเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจบริการ โดยสามารถตอบกลับการสนทนา หรือคำถามพื้นฐานของลูกค้าหรือผู้ใช้งานได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Assistant) เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์สามารถเข้าใจและตอบสนองต่อคำสั่งเสียงของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นเสมือนผู้ช่วยในการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง การวิเคราะห์ความรู้สึกลูกค้า (Sentiment Analysis) คือการใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ ตรวจสอบอารมณ์และความรู้สึกลูกค้า ที่แสดงออกผ่านทางข้อความและเสียง ว่าลักษณะเนื้อหามีแนวโน้มเป็นเชิงบวก เป็นกลาง หรือเชิงลบ หรือใช้ในการระบุอารมณ์ที่ลึกซึ้ง เช่น ความรัก ความเศร้า หรือความโกรธ โดยเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อความเสียง ข้อความบนโซเชียลมีเดีย รีวิว หรือแบบสอบถาม ซึ่งการวิเคราะห์ความรู้สึกเหล่านี้มีส่วนช่วยในการปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เข่น ช่วยประเมินความพึงพอใจของลูกค้าผู้ใช้บริการ ธุรกิจบริการสามารถนำ Generative AI มาใช้ในการให้บริการ เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าผู้ใช้บริการได้อย่างหลากหลาย เช่น ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีก ที่มีร้านค้าออนไลน์ สามารถใช้แชทบอท และระบบสั่งการด้วยเสียงในการอำนวยความสะดวกลูกค้า โดยช่วยในการตอบคำถาม ให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำสินค้าและบริการ นอกจากนี้ Generative AI ยังช่วยในด้านการตลาดและการขาย เนื่องจากสามารถใช้เครื่องมือ AI ในการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ ในการประชาสัมพันธ์ หรือช่วยในการคิดกลยุทธ์การส่งเสริมการขายของธุรกิจได้            ด้านธุรกิจห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ สามารถใช้ประโยชน์จาก Generative AI ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และคาดการณ์ความเป็นไปได้ของเส้นทาง เวลา และข้อจำกัดในการขนส่ง เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด และตรวจสอบสาเหตุของการขนส่งสินค้าที่ล่าช้ากว่ากรอบเวลาที่กำหนด            ผอ. สนค. เผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการยกระดับการให้บริการ ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการด้วยการใช้ Generative AI ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การให้บริการ AI Chatbot (น้องต้นคิด) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นแชทบอทบริการถาม-ตอบข้อมูล คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจร            สำหรับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสนับสนุนการใช้ Generative AI แก่ผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ (1) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านความรู้และการใช้งาน Generative AI แก่ผู้ประกอบการและแรงงาน (2) กำกับดูแลการใช้งาน Generative AI ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ            ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า การใช้ Generative AI มีประโยชน์หลายประการสำหรับธุรกิจบริการ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจึงควรเรียนรู้ ปรับตัว และใช้ประโยชน์ นำมาใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และปรับปรุงธุรกิจ เพื่อเสนอบริการแก่ลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น และควรคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งข้อมูลของธุรกิจและข้อมูลของลูกค้า จากการใช้ Generative AI มาช่วยในการทำงาน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 13 พฤศจิกายน 2567

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

ทูน่ากระป๋องไทยพุ่ง ส่งออกโต 20% แรงหนุนดีมานด์จากสหรัฐฯ-ตะวันออกกลาง

ทูน่ากระป๋องไทยพุ่ง ส่งออกโต 20% แรงหนุนดีมานด์จากสหรัฐฯ-ตะวันออกกลาง

          การส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยมีแนวโน้มสดใสอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนสำคัญจากตลาดสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง และความต้องการกักตุนอาหารจากสถานการณ์ความขัดแย้งและสงคราม ในหลายจุด เช่น อิสราเอล-ปาเลสไตน์ และรัสเซีย-ยูเครน           นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติ การส่งออกทูน่ากระป๋อง (พิกัดศุลกากร 160414) ของไทย ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย. 2567) ของปี 2567 มีมูลค่ารวม 1,851 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 65,984 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกขยายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เรียงตามลำดับมูลค่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก ดังนี้           ภูมิภาคอเมริกา มีมูลค่าการส่งออก 632 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแคนาดา ตลาดส่งออกหลักของไทยในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) สหรัฐอเมริกา 402.39 ล้านเหรียญสหรัฐ (+15.41%) 2) แคนาดา 102.43 (+40.57%) และ 3) ชิลี 47.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (+6.01%)           ภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง มีมูลค่าการส่งออก 618 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว ถึงร้อยละ 38.97 โดยแรงหนุนที่ทำให้ดีมานด์ในตะวันออกกลางขยายตัว มาจากความกังวลต่อสถานการณ์สงคราม จึงกักตุนสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะ อิสราเอล (+103.43%) เลบานอน (+72.97%) และอิรัก (+110.31%) สำหรับในเอเชีย ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าทูน่าในปริมาณสูง แต่ด้วยปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง           ตลาดส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 168.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (-17.88%) 2) ซาอุดีอาระเบีย 110.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.79%) และ 3) สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ 100.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (+55.30%)           ภูมิภาคแอฟริกา มีมูลค่าการส่งออก 247 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีแรงกระตุ้นจากปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคนี้ ตลาดสำคัญในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) ลิเบีย 124.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (+12.62%) 2) อียิปต์ 75.97 ล้านเหรียญสหรัฐ (+106.17%) และ 3) แอฟริกาใต้ 28.87 ล้านเหรียญสหรัฐ (+61.04%)           ภูมิภาคออสเตรเลียและโอเชียเนีย มีมูลค่าการส่งออก 184 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ที่หันมาบริโภคอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น ตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 146.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (+18.81%) 2) นิวซีแลนด์ 23.02 (31.50%) และ3) ปาปัวนิวกินี 7.59 ล้านเหรียญสหรัฐ (186.86%)           ภูมิภาคยุโรป มีมูลค่าการส่งออก 170 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.48 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงการกักตุนอาหารกระป๋อง จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างประเทศและภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะยูเครน (+72.81%) ตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่ 1) สวิตเซอร์แลนด์ 30.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (+42.98%) 2) รัสเซีย 26.82 ล้านเหรียญสหรัฐ (19.70%) และ 3) สหราชอาณาจักร 26.76 (+66.54%)           นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ไทยครองตำแหน่งผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างยาวนาน มีปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ค่าแรงที่แข่งขันได้ และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้ไทยสามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตของสินค้าทูน่ากระป๋อง จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าที่ไทยเป็นผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างต่อเนื่อง           ปัจจุบัน อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ราคาย่อมเยา แต่ยังคงใส่ใจต่อสุขภาพ ประกอบกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และกระแสความกังวลสถานการณ์สงคราม ทำให้สินค้าทูน่ากระป๋องตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบันและสถานการณ์โลก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่มีนัยสำคัญ คือ การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสุนัขและแมวอันดับต้น ๆ ของโลก และส่วนใหญ่เป็นอาหารเปียกที่ทำจาก ปลาต่าง ๆ รวมถึงทูน่า ทำให้ไทยมีการนำเข้าปลาทูน่าเป็นปริมาณมากในแต่ละปี ไทยจึงเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทูน่าโลก           ในช่วงต่อไป อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ ภาวะเงินเฟ้อและการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบกำลังซื้อและการส่งออก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปริมาณปลาทูน่าลดลงและส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ตลอดจนมาตรการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fishing) และมาตรการด้านแรงงาน (Fair Labor Practice) ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในสินค้าทูน่ากระป๋องของไทย อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการขยายตลาดทูน่ากระป๋องของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

พาณิชย์จับตาผลกระทบจากนโยบายผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

พาณิชย์จับตาผลกระทบจากนโยบายผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

          นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ระหว่างรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดยนโยบายของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในประเด็นด้านการค้า การลงทุน และนโยบายที่อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ           ในกรณีที่แฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง คาดว่าจะมีการสนับสนุนการค้าเสรีมากขึ้น โดยอาจมีการผลักดันให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยพิจารณาเข้าร่วมเพื่อขยายการค้ากับประเทศสมาชิก นอกจากนี้ อาจมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตรในเอเชีย ซึ่งไทยอาจได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในอุตสาหกรรม 4.0 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มใช้มาตรการที่นุ่มนวลกว่าทรัมป์ในเรื่องมาตรการทางภาษีกับจีน แต่ก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้ไทยอาจต้องปรับตัวโดยการกระจายความเสี่ยงและหาพันธมิตรทางการค้าใหม่           ในทางกลับกัน หากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่ง อาจมีการเพิ่มภาษีนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% หรือมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นโอกาสให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเพิ่มขึ้น และความต้องการสินค้าทดแทนจากไทยในตลาดสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ สหรัฐฯ อาจเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ           ในกรณีที่แฮร์ริสได้รับชัยชนะ อาจส่งผลดีต่อการลงทุนในประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรม การส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล อาจเปิดโอกาสให้บริษัทไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เข้าร่วมลงทุนในสหรัฐฯ นอกจากนี้ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน อาจนำมาซึ่งโอกาสในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมลงทุนในการผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงสำหรับประเทศไทย ในด้านนวัตกรรม นโยบายของแฮร์ริสอาจส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมและซอฟต์แวร์ของไทยเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก อีกทั้งการสนับสนุนการพัฒนา Smart City อาจนำมาซึ่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดโอกาสในการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและสหรัฐฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย           ในทางกลับกัน หากทรัมป์ได้รับชัยชนะ นโยบาย "America First" อาจส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐฯ ในประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การใช้มาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อดึงการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ อาจทำให้บริษัทสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตในไทยพิจารณาย้ายกลับประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย นอกจากนี้ อาจเกิดการชะลอตัวของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ สู่ไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในระยะยาว การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมจากบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในไทยอาจลดลง รวมถึงอาจเกิดการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์ หรือเทคโนโลยี 5G ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย           นโยบายของแฮร์ริสที่มุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวชนชั้นแรงงานและการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยในทางที่เป็นประโยชน์ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการสังคมในสหรัฐฯ แม้จะอาจเพิ่มต้นทุนการผลิต แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อในไทย ในขณะเดียวกัน มาตรการควบคุมราคายา ค่ารักษาพยาบาล และพลังงานในสหรัฐฯ อาจช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมเงินเฟ้อในไทย นอกจากนี้ นโยบายที่มุ่งเน้นการควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทและอัตราเงินเฟ้อในไทย           ในทางตรงกันข้าม นโยบายของทรัมป์ที่เน้นการลดอัตราดอกเบี้ยและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยในหลายมิติ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก นำไปสู่แรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศคู่ค้าอย่างไทย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำอาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย และอาจนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินค้าภายในประเทศ ซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วในสหรัฐฯ อาจเพิ่มความต้องการสินค้าในตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยสูงขึ้น ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจเพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ ส่งผลต่อราคาสินค้าในประเทศไทย ท้ายที่สุด นโยบายการคลังแบบขยายตัว เช่น การลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ อาจก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทยในระยะยาว           ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและนโยบายที่อาจตามมา ประเทศไทยควรดำเนินการในหลายด้าน เริ่มจากภาคธุรกิจที่ควรกระจายความเสี่ยงโดยขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ควรติดตามนโยบายการค้าและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวได้ทันท่วงที และพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานทางเลือกเพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอนาคต           ในระดับประเทศ ไทยควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมถึงพัฒนานโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง           ในด้านเศรษฐกิจและการเงิน ภาครัฐควรเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้านำเข้า และพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในภาคธุรกิจ           ผอ. สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการเตรียมมาตรการรองรับที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ จะเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนโยบายเศรษฐกิจที่จะตามมา รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายและฉกฉวยโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 3 ปี 2567

ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 3 ปี 2567

          ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาส ขณะที่ผลกระทบของอุทกภัยต่อค่าบริการขนส่งยังไม่ชัดเจน           นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับอัตราค่าจ้าง และอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการและปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยที่ส่งผลต่อการคมนาคมขนส่งในหลายพื้นที่ ยังไม่ส่งผลต่อค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนอย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป           โดยดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามกิจกรรมการผลิต ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าบริการขนส่งในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 (ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย) ตามด้วยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 0.9 (ถ่านหินและลิกไนต์ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ) และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ร้อยละ 0.8 (กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร)           ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.0 (YOY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 โดยประเภทรถที่ดัชนีค่าบริการขนส่งเพิ่มขึ้น อาทิ รถตู้บรรทุก ร้อยละ 2.1 รถบรรทุกเฉพาะกิจ ร้อยละ 1.9 รถบรรทุกวัสดุอันตราย ร้อยละ 1.8 รถกระบะบรรทุก ร้อยละ 1.3 และรถบรรทุกของเหลวร้อยละ 0.7 ขณะที่ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าโดยรถพ่วง ปรับลดลงร้อยละ 0.1 ส่วนดัชนีราคาค่าบริการขนส่งรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาวไม่เปลี่ยนแปลง           สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุนที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมันดีเซล อัตราค่าจ้างที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงาน และอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการและปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับค่าบริการสูงขึ้น เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อได้ แม้ว่าจะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยที่ทำให้เส้นทางการคมนาคมขนส่งเสียหาย การผลิตบางสาขาและการค้าในพื้นที่หยุดชะงัก ในไตรมาสที่ 3 นี้ ยังไม่ส่งผลต่อดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนอย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับแนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าผู้ประกอบการได้ทยอยปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนมาบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีปัจจัยหนุนสำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันดีเซล (มีมาตรการตรึงราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ถึง 31 ตุลาคม 2567) อัตราค่าจ้าง และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังอยู่ระดับสูง ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า และการผลิต ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงช่วงปลายปีเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด จะส่งผลให้ความต้องการการขนส่งเพิ่มขึ้น ผลกระทบจากอุทกภัยที่ส่งผลต่อเส้นทางการขนส่งสินค้า อาจจะทำให้ค่าบริการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเช่นจีน ประกอบกับประเทศในกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกยังคงลดกำลังการผลิตและชะลอแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน           อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในและประต่างประเทศ และมาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานของภาครัฐ รวมถึงความผันผวนของค่าเงินบาท อาจจะส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไม่เป็นไปตามที่คาดได้           นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ และกระทบไปถึงการประกอบธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวสร้างความเสียหายค่อนข้างมากให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ประกอบกับต้นทุนในการประกอบธุรกิจทรงตัวในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป กระทรวงพาณิชย์ได้ตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี โดยเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการสวมสิทธิ์ การถือหุ้น และการจดทะเบียนนิติบุคคลอย่างเข้มงวด การเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมถึงการจัดทำและพัฒนาแดชบอร์ดธุรกิจ โลจิสติกส์บนเว็บไซต์ คิดค้า.com เพื่อเป็นศูนย์กลางระบบฐานข้อมูลด้านธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศที่ครอบคลุมและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากปัญหาดังกล่าวได้

abs

SSP : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

[PR News] สนค. เสนอ Digital Twin กระจกสะท้อนที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต

[PR News] สนค. เสนอ Digital Twin กระจกสะท้อนที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต

          สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แนะภาคธุรกิจประยุกต์ใช้ Digital Twin เทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบใหม่ ช่วยคาดการณ์และปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กร ตอบสนองความต้องการของลูกค้า สร้างโอกาสทางการค้า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโต           นายพูนพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว และช่วยให้กิจกรรมของภาคส่วนต่าง ๆ มีประสิทธิภาพดีขึ้น อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ก็ยังคงมีข้อจำกัดและอาจเกิดความผิดพลาดได้ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทำหน้าที่เสมือนกระจกสะท้อนและคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่า ฝาแฝดดิจิทัล หรือ Digital Twin           ผอ.สนค. อธิบายว่า Digital Twin คือ แบบจำลองเสมือน (virtual representation) ของส่วนประกอบ วัตถุ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือระบบต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเกิดจากการติดตั้งและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายประเภท เข้ากับ “ต้นแบบ” สำหรับจำลองและส่งข้อมูลสถานะหรือการเปลี่ยนแปลงของต้นแบบแบบ real-time อาทิ การสร้างแบบจำลองและวัตถุเสมือนจริงแบบ 3 มิติ เทคโนโลยี Sensor และ Internet of Things (IoT) โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลโดยเทคโนโลยี Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อแจ้งเตือนความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาด หรือให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาต้นแบบ จะเห็นได้ว่า Digital Twin เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางกายภาพ โดยการประสานข้อมูลทางกายภาพของต้นแบบกับแบบจำลองเสมือนเข้าด้วยกัน           ปัจจุบัน Digital Twin ถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ และในหลายระดับ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน รวมถึงพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ตรงกับความต้องการของตลาด และมีแนวโน้มที่จะถูกนำไปใช้เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลก McKinsey คาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะผลักดันให้การลงทุนใน Digital Twin อาจมีมูลค่ามากถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2026 ทั้งนี้ ปัจจุบัน Digital Twin ยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและซับซ้อน อาทิ ในอุตสาหกรรมอวกาศ บริษัท SpaceX สร้าง Digital Twin ของยานอวกาศ Dragon Capsule เพื่อตรวจสอบและปรับเปลี่ยนแนววิถี และระบบขับเคลื่อนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัท General Electric ที่ใช้ Digital Twin กับเครื่องยนต์ของอากาศยาน เพื่อติดตามการทำงานของเครื่องยนต์แบบ Real-Time คาดการณ์การซ่อมบำรุงล่วงหน้า ซึ่งช่วยลดต้นทุนการซ่อมบำรุงและการดูแลรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ด้วย และในอุตสาหกรรมก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) สร้าง Digital Twin ของการใช้พลังงานและน้ำ การปล่อยคาร์บอน และขยะ ในทุกอาคาร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษาและบริหารจัดการอาคารได้ร้อยละ 35 และลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ Digital Twin ยังถูกนำไปใช้ในภาคส่วนหรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ พลังงาน สุขภาพ ก่อสร้าง ตลอดจนการวางผังเมือง           สำหรับภาคธุรกิจ สามารถประยุกต์ใช้ Digital Twin เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือบริการ ดังนี้ (1) ด้านคุณภาพสินค้าและบริการ เนื่องจาก Digital Twin สามารถคาดการณ์และตรวจสอบแนวโน้มความผิดพลาดและข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตหรือกระบวนการดำเนินงาน ทำให้ผู้ผลิตสามารถทราบปัญหาและแก้ไขได้ทันท่วงที และส่งผลให้คุณภาพของสินค้าหรือบริการดีขึ้น (2) ด้านการบริหารจัดการ ภาคธุรกิจสามารถใช้ Digital Twin ในการออกแบบหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ให้ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสินค้า และลดต้นทุนและระยะเวลาในการผลิตสินค้าหรือให้บริการ และ (3) ด้านการรับประกันและการให้บริการหลังการขาย ข้อมูล ที่รวบรวมได้จาก Digital Twin สามารถนำไปใช้ในการออกแบบนโยบายการรับประกันสินค้าและการให้บริการหลังการขายให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และต้นทุนของภาคธุรกิจ           ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาครัฐและภาคเอกชนควรเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล ทั้งในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล และแรงงาน เพื่อรองรับ Digital Twin ที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของภาคอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ช่วยสร้างโอกาสทางการค้า ช่วยบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตมากขึ้น

สนค. ชวนถอดรหัสการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าไทย-จีน

สนค. ชวนถอดรหัสการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าไทย-จีน

          สนค. ชวนถอดรหัสการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีนด้วย Data Analytics Dashboard บนเว็บไซต์ คิดค้า.com พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกทุเรียนไทยเป็นมูลค่าสูงที่สุด ขณะที่จีนใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ากลับมาที่ไทยภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าอาเซียน-จีน           นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์สถานการณ์การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปี 2566 เพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าที่มีอยู่ พร้อมแนะให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าให้มากขึ้น           ปัจจุบันไทยและจีนอยู่ภายใต้ความตกลงทางการค้าร่วมกันทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลง เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 โดยลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันครอบคลุมสินค้ามากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน (Tariff lines) และความตกลงหุ้นส่วน ทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โดยลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกครอบคลุมสินค้าร้อยละ 65 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน           สนค. พบว่าสัดส่วนมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่อมูลค่าการส่งออก/นำเข้าของไทยสูงกว่าจีน แต่หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าขอใช้สิทธิพบว่าจีนมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในมูลค่าที่สูงกว่าไทย จากข้อมูลการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าปี 2566 ไทยมีมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ที่ร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกรวม เทียบกับจีนที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอยู่ที่ร้อยละ 32 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมิติของมูลค่า จีนมีมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ 22,905 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ามูลค่า การขอใช้สิทธิประโยชน์ของไทย ซึ่งอยู่ที่ 20,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ           นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบสินค้าที่มีมูลค่าการขอใช้สิทธิสูงที่สุดของแต่ละประเทศ พบว่าไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในสินค้าทุเรียนสดสูงที่สุด ขณะที่จีนใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า โดยประเทศไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกทุเรียน (HS 0810.60) เป็นมูลค่า 4,021 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าว ขณะเดียวกันจีนใช้สิทธิประโยชน์ ทางการค้าส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (HS 8703.80) เป็นมูลค่า 2,464 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีน ดังนั้น หากเปรียบเทียบเฉพาะสินค้าสำคัญอันดับ 1 ของทั้งสองประเทศ ไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในมูลค่าที่สูงกว่าจีน           ความตกลงทางการค้าระหว่างไทย-จีนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรที่ไทยมีความได้เปรียบ เช่น ทุเรียน และมันสำปะหลัง และจะเห็นได้ว่าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าระหว่างไทยและจีนได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสที่จะขยายการใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางการค้าได้มากขึ้น ด้วยการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้กับผู้ส่งออกไทยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความตกลงทางการค้า รวมถึงการใช้ Data Analytics Dashboard บนเว็บไซต์คิดค้า.com เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนทางการค้าได้อย่างแม่นยำ           ผอ.สนค. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เว็บไซต์ “คิดค้า.com” เป็นศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกที่สำคัญของประเทศ ประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกรายสินค้า รวมทั้งมิติการค้าทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือไว้ใช้งานวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์การค้าได้อย่างเจาะลึกและทันต่อสถานการณ์การค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยใช้แนวคิด Big Data Analytics วิเคราะห์และประมวลผลหลายมิติ หลากมุมมอง โดย “คิดค้า.com” มี Data Analytics Dashboard เผยแพร่แล้วรวม 4 หัวข้อ ได้แก่ ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าสินค้าเกษตร (Agriculture Trade Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจระดับจังหวัด (Province Economy Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (Global Trade and Economy Dashboard) และข้อมูลเชิงลึกด้านโลจิสติกส์ (Logistic Dashboard)           ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม และสนใจข้อมูลแนวโน้มการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในสินค้าและตลาดอื่น ๆ สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ คิดค้า.com หรือเพจเฟซบุ๊กสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 2 ตุลาคม 2567

พาณิชย์ชี้ 'คลีนบิวตี้' โอกาสทองเครื่องสำอางไทย

พาณิชย์ชี้ 'คลีนบิวตี้' โอกาสทองเครื่องสำอางไทย

          พาณิชย์ เผยทั่วโลกเลือกใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ชี้เป็นโอกาสทองของธุรกิจเครื่องสำอางไทย แนะทุกภาคส่วนควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยและเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศ           นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คลีนบิวตี้ (Clean Beauty) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวคิดดูแลร่างกายและผิวพรรณ ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เครื่องสำอางที่ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผิว โดยจะต้องมีการคัดสรรวัตถุดิบและส่วนผสมของเครื่องสำอางที่มีความสะอาด ปลอดภัย สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ และไม่ทดลองผลิตภัณฑ์กับสัตว์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีฉลากที่บอกข้อมูลชัดเจนครบถ้วน ซึ่งจะมีความแตกต่างจากเครื่องสำอางประเภทอื่นที่อาจมีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกายเข้ามาผสมด้วย อาทิ สารพาราเบน (สารกันเสีย) ที่อาจพบในเครื่องสำอางและสกินแคร์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้ร่างกายของผู้ใช้ มีความเสี่ยงและเป็นอันตราย           สำหรับปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดกระแสความนิยมเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ คือ การที่ผู้บริโภคตื่นตัวหันมาใส่ใจในสุขภาพและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจของผู้บริโภคจำนวน 2,200 ราย ในสหรัฐอเมริกา พบว่าตามปกติแล้วผู้บริโภคมีการใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายเฉลี่ยประมาณ 12 ชิ้นต่อวัน[1] โดยเครื่องสำอางเหล่านี้มีส่วนประกอบมากกว่า 112 ชนิด ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความกังวลทางตรงต่อร่างกายและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ส่วนประกอบจำนวนมาก ปัจจัยถัดมาคือการเพิ่มระดับความเข้มงวดของกฎระเบียบในบางประเทศ อาทิ พระราชบัญญัติ The Toxic-Free Cosmetics ของสหรัฐอเมริกา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามใช้สารเคมีที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งอย่างที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบันคือ อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ได้อย่างรอบคอบ รวมถึงการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(E-Commerce) ที่อำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยได้ง่ายขึ้น           ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องสำอางใหม่ ๆ ทำให้เครื่องสำอางคลีนบิวตี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลการเข้าชม hashtag #CleanBeauty บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปี 2566 ที่มีมากกว่า 1.9 พันล้านครั้งบน TikTok และ 6.1 พันล้านครั้งบน Instagram[2] นอกจากนี้ ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด MarketResearch.biz ระบุว่า ในปี 2566 ตลาดเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ของโลกมีมูลค่า 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 16.65 จนมีมูลค่าสูงถึง 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2576 ซึ่งภูมิภาคที่มีการเติบโตของตลาดเครื่องสำอางคลีนบิวตี้รวดเร็วที่สุดคือ ทวีปอเมริกาเหนือ โดยกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ในกลุ่มมิลเลนเนียล (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 2523-2539) ที่มีกำลังทรัพย์และเต็มใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและสอดคล้องกับค่านิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถดูแลผิวให้ดูอ่อนเยาว์และชะลอวัยจากการบำรุงอย่างล้ำลึกและเป็นธรรมชาติ           จากกระแสความนิยมเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ที่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลก ถือเป็นโอกาสดี หากผู้ประกอบการไทยได้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบรับกระแสความต้องการที่กำลังเติบโต เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญของทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ รวมถึงเป็นผู้ส่งออกเครื่องสำอาง (HS 3303-3307, 3401) อันดับที่ 2 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์) และอันดับที่ 17 ของโลก โดยในปี 2566 ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 2,588.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.58 จากปีที่ผ่านมา ประเทศที่ไทยส่งออกเครื่องสำอางสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ไทยนำเข้าเครื่องสำอางเป็นมูลค่า 1,199.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.71 จากปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้า 3 อันดับแรกของไทยคือ ฝรั่งเศส จีน และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกเครื่องสำอางไทย แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของความนิยมเครื่องสำอางไทยที่ได้รับการไว้วางใจจากคนทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเครื่องสำอางไทยมีคุณภาพ ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ และราคาย่อมเยา           ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีศักยภาพในการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเครื่องสำอางคลีนบิวตี้นับเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ของโลกและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางการค้าจึงต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการพัฒนาเครื่องสำอางคลีนบิวตี้ของไทยให้มีคุณสมบัติลดริ้วรอยและชะลอวัย เพื่อสอดรับกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของทั้งสังคมไทยและโลก และยกระดับการผลิตเครื่องสำอางไทย ให้ได้รับมาตรฐาน/รางวัลทั้งในประเทศและระดับสากล อาทิ Thailand Trust Mark (T mark) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่แสดงถึงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าไทย รวมถึงผสมผสานการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติของไทย เพื่อสร้างอัตลักษณ์และจุดขายที่แตกต่างจากแบรนด์ของประเทศอื่น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องส่งเสริมความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับสร้างโอกาสในการประชาสัมพันธ์เพื่อผลักดันให้เครื่องสำอางคลีนบิวตี้ของไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับสากล ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า [1] Survey finds use of personal care products up since 2004 – what that means for your health,2023, Morning Consult x EWG [2] Clean Beauty Market Size, Share & Trends Report, 2023, Grand View Research

abs

Hoonvision