#กกพ.


“กกพ.” หนุนลดค่าไฟช่วยค่าครองชีพประชาชน

“กกพ.” หนุนลดค่าไฟช่วยค่าครองชีพประชาชน

         หุ้นวิชั่น - ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ครั้งที่ 52/2567 (ครั้งที่ 937) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 กกพ. มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และได้พิจารณากรณีศึกษา การปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 และมีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บเท่ากับ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงจากงวดปัจจุบัน (กันยายน – ธันวาคม 2567) จาก 4.18 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย “ในการพิจารณาทบทวนเพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 จากการรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้ง กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พิจารณาร่วมกันถึงการทบทวนแนวโน้มต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในระยะถัดไปพบว่ามีแนวโน้มผ่อนคลายและกดดันต่อค่าไฟลดลง จึงได้ปรับลดค่าไฟลงได้อีกเล็กน้อย เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าของพี่น้องประชาชน และค่าไฟระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ยังคงเป็นอัตราที่ยังสามารถรักษาความมั่นคง เสถียรภาพ และความยั่งยืนให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศระยะยาวได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว ก่อนหน้านี้ กฟผ. ยังได้ทำเรื่องมายัง กกพ. เพื่อขอให้พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรอัตโนมัติ (Ft) ประจำเดือนมกราคม - เมษายน 2568 เพื่อประกอบการพิจารณาในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนแล้วด้วย โดยรายละเอียดเอกสารเผยแพร่ค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th

สำนักงาน กกพ. จับมือ 4 หน่วยงาน กระชับพื้นที่ ผู้ป่วยติดเตียงต้องไม่ถูกตัดไฟ

สำนักงาน กกพ. จับมือ 4 หน่วยงาน กระชับพื้นที่ ผู้ป่วยติดเตียงต้องไม่ถูกตัดไฟ

          หุ้นวิชั่น - นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อวางกรอบความร่วมมือในการบูรณาการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานเชิงรุก ให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองต่อชีวิต และทรัพย์สินกับพี่น้องประชาชนในฐานะผู้ใช้พลังงานเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ให้ความสำคัญ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันกับความพยายามที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน และการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อให้การบริการด้านไฟฟ้าให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ “การให้บริการด้านพลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคนอย่างเป็นธรรม แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การให้ความคุ้มครองสิทธิในการดูแลความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และขอเน้นย้ำเรื่องผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาลจะต้องไม่ถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกกรณี เพื่อให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย กลุ่มนี้เป็นศูนย์” นายพีระพันธุ์ กล่าว ดร. พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่าง 4 หน่วยงาน จะเป็นการทำงานเชิงรุกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกคนในทุกกรณี ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และเป็นปัจจุบัน การร่วมกันรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างองค์ความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิที่ผู้ป่วยได้รับความคุ้มครองจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้า การอำนวยความสะดวกในการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสาร ประสานงานให้กับผู้ใช้พลังงานในหลากหลายช่องทางให้ได้รับสิทธิอย่างทั่วถึง ผ่านช่องทางที่สะดวกและใกล้ชิดพี่น้องประชาชน ได้แก่ หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) และเครือข่าย สำนักงาน กกพ. ประจำเขตพื้นที่ รวมถึงสำนักงานที่ทำการการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ “สาเหตุหลักๆ ที่เราพบปัญหา คือ ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยอยู่ในความดูแลไม่ได้แจ้งข้อมูลกับทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ ทำให้การไฟฟ้าฯ ขาดข้อมูลและนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลังจากการงดจ่ายไฟฟ้า ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันประสานข้อมูลเพื่อให้เป็นปัจจุบันและครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือที่เกิดขึ้น” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว นพ. วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าด้วยประสิทธิภาพและศักยภาพเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้มแข็งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ลงลึกและครอบคลุมถึงระดับตำบลพร้อมด้วยเครือข่าย อสม. รวมทั้งการมีฐานข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเข้ามาประสานและทำให้การให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบันเพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น “กระทรวงสาธารณสุขยินดีอย่างยิ่ง พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการผลักดันและ ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วน จะนำมาซึ่งความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย” นพ. วีรวุฒิ กล่าว นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ในการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าได้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าว MEA ดำเนินการตามประกาศของ สำนักงาน กกพ. มาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ MEA สามารถเข้าถึง และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และ ต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วย การไฟฟ้านครหลวงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งและขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกันในครั้งนี้ และยืนยันว่าการไฟฟ้านครหลวงจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการพัฒนาบริการไฟฟ้า ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าเพื่อการรักษาพยาบาล นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประชาชนทุกคน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันท่วงที เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ โดยมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการไฟฟ้าโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยระบบ GIS และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ PEA ยังวางแผนการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ให้พร้อมให้บริการแก่ประชาชนที่มีความต้องการใช้งานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ การให้ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างระบบในการบูรณาการข้อมูลในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างระบบการบริหารจัดการไฟฟ้า  เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในทุกพื้นที่ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และยั่งยืน

“กกพ.” เคาะ ลดเงินประกันการใช้ไฟฯ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ประวัติดี

“กกพ.” เคาะ ลดเงินประกันการใช้ไฟฯ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ประวัติดี

          ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 40/2567 (ครั้งที่ 925) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 กิจการขนาดกลาง ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ และประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ) ปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี ตามแนวทางที่ กกพ. ได้วางไว้           “กกพ. เข้าใจดีถึงภาระต้นทุนในการทำธุรกิจจากการวางหลักทรัพย์เพื่อเป็นการประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าบางประเภทและในบางอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ในขณะเดียวกันคำนึงถึงคู่สัญญาคือการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายด้วย เพราะหากเกิดกรณีไม่ชำระค่าไฟฟ้า หรือค้างชำระค่าไฟฟ้าเกินกำหนด หรือละเมิดการใช้ไฟฟ้า ก็จะเป็นความเสี่ยงและเกิดภาระต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเองก็ต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าไปให้ผู้ใช้ก่อนแล้วค่อยเรียกเก็บเงินค่าไฟในภายหลัง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย กกพ. จึงมีมติโดยวางกรอบให้สิทธิได้รับการลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าตามประวัติการชำระค่าไฟและสถานะหนี้คงค้างค่าไฟเป็นหลัก ซึ่งขอย้ำว่าการวางเงินประกันการชำระค่าไฟฟ้ายังคงมีความจำเป็น เพื่อไม่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมรับผิดชอบการไม่ชำระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าบางราย ดังนั้น จึงไม่สามารถยกเลิกการวางเงินประกันทั้งหมดได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว           ทั้งนี้ กกพ. ได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี โดยกำหนดวงเงินประกันตามลักษณะการชำระค่าไฟฟ้า ดังนี้           สำหรับมติดังกล่าว กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่รอบบิลต้นปี 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้มีหนังสือถึง การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อแจ้งแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ตามมติ กกพ. ดังกล่าว โดย กกพ. ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รายละเอียดจำนวนผู้ที่ได้รับประโยชน์และจำนวนเงินที่จะได้รับเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี โดยประมาณการจากข้อมูลของการใช้ไฟฟ้า และควรมีการศึกษาข้อมูลว่าในกรณีเกิดหนี้สูญจากการไม่ชำระค่าไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ดำเนินการอย่างไรกับหนี้สูญดังกล่าว และรายงานเสนอ กกพ. ต่อไป

[PR News] กกพ.ตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า 2,180 MW ภายในเดือนกันยายนนี้และจะประกาศผลสิ้นปี67

[PR News] กกพ.ตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า 2,180 MW ภายในเดือนกันยายนนี้และจะประกาศผลสิ้นปี67

          ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสอง จำนวน 3,668.50 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้ (1) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 1,052 เมกะวัตต์) (2) พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 400 เมกะวัตต์) (3) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.50 เมกะวัตต์ และ (4) ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์           ปัจจุบัน กกพ. ได้ออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกลุ่มรายชื่อเดิมที่เป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่ผ่านความพร้อมทางด้านเทคนิคและได้รับการประเมินคะแนนแล้ว แต่ไม่ได้รับคัดเลือก จำนวน 198 ราย ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) แต่เนื่องจากการจัดหาครบตามเป้าหมายแล้วจึงไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่ผ่านมา ในขั้นตอนต่อไป           กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยให้สิทธิ์กับกลุ่มรายชื่อเดิม จำนวน 198 ราย มายื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือก ทั้งนี้ กกพ. จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข คำเสนอขายไฟฟ้า ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งคาดว่าสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลคัดเลือกได้ภายในสิ้นปี 2567           ที่ผ่านมา กกพ. ได้ติดตามสถานะโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ได้แก่ (1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) (2) ลม (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และ (4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ และโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 (ครั้งที่ 159) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 เมกะวัตต์ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้เกิดกรณีฟ้องร้องทางกฎหมายส่งผลให้ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม จำนวน 22 ราย ส่งผลให้การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมออกไป มีผลต่อกระบวนการรับรองไฟฟ้าสีเขียวตามแนวทาง Utility Green Tariff (UGT) ของ กกพ. ที่ต้องอาศัยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวด้วย           “ภายหลังจากที่เกิดข้อพิพาททางปกครอง และศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม ทำให้ กกพ. จะต้องชะลอโครงการเพื่อรอความชัดเจนจากผลของการอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว ซึ่งในระยะเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว และล่าสุดบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ได้ยื่นขอถอนฟ้องคดี โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ส่งผลให้ในปัจจุบันกระบวนการรับซื้อไฟฟ้า ในรอบใหม่ที่ได้ล่าช้าไปจากกำหนดเดิมสามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว           ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังลมที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครอง และมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อน SCOD ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ซึ่งต้องไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573 โดยให้ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 22 ราย แจ้งความประสงค์การขอปรับเลื่อน SCOD เสนอให้ กกพ. พิจารณาก่อนลงนามสัญญาต่อไป           “ด้วยการเร่งเดินหน้าการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net - Zero Carbon Emission)” ดร.พูลพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน