เช็ก 5จุด ต้องรู้ในงบการเงินก่อนซื้อหุ้น

 

           การลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จอย่างที่หลายคนรู้ และหัวใจสำคัญที่จะช่วยค้นหาหุ้นพื้นฐานดีก็คือ “การอ่านและวิเคราะห์งบการเงิน” แต่เรื่องนี้กลับเป็นอุปสรรคสำหรับนักลงทุนมือใหม่หลายคน บางคนถึงขั้นมองว่าเป็น “ยาขม” จนไม่กล้าเริ่มต้นลงทุน หรือลงทุนแบบไร้ทิศทาง ด้วยเหตุนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงได้รวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจพื้นฐานของบริษัทได้ง่ายขึ้น

โดยนักลงทุนสามารถเข้าไปดูข้อมูลการวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียนได้ง่าย ๆ เพียง 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ค้นหาชื่อหุ้นที่ต้องการในช่องค้นหา ที่เว็บไซต์ set.or.th
  2. ไปที่ “งบการเงิน”
  3. เลือก “การวิเคราะห์งบการเงิน”

เมื่อกดเข้าไปแล้ว ก็จะเจอข้อมูลการวิเคราะห์ที่แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบไปด้วย..

คุณภาพของยอดขาย

  • คุณภาพรายได้ ดูว่าบริษัทสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีการเติบโตอย่างมีคุณภาพหรือไม่ รวมถึงจัดเก็บรายได้หลังการขายได้มากน้อยเพียงใด โดยวิเคราะห์จาก “รายได้จากการดำเนินธุรกิจ” และ “ระยะเวลาเก็บหนี้”
  • ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด ดูว่า บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะพิจารณา 2 ส่วนสำคัญ คือ “กำไร (ขาดทุน) สุทธิ” และ “เงินสดสุทธิที่ได้มา (ใช้ไป) ในกิจกรรมดำเนินงาน”

คุณภาพของกำไรสุทธิ

  • อัตรากำไรขั้นต้น ดูว่าบริษัทเหลือกำไรจากการขายสินค้าหรือบริการมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง “รายได้” และ “ต้นทุน” ที่เปลี่ยนแปลงไป
  • อัตรากำไรระดับอื่น ๆ
    • อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย :
      สะท้อนความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจหลัก ทำให้เห็นว่าธุรกิจที่เป็นรายได้หลักของบริษัท มีความสามารถในการทำกำไรได้จริงหรือไม่
    • อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย :
      กำไรที่บริษัทได้รับจากธุรกรรมทั้งหมดไม่ว่าจากธุรกิจหลัก หรือรายการพิเศษ ทำให้เห็นภาพรวมความสามารถในการทำกำไรทั้งหมดของบริษัท ไม่ว่าจะมาจากธุรกิจหลักหรือช่องทางอื่น ๆ
    • อัตรากำไรสุทธิ :
      กำไรบรรทัดสุดท้ายที่บริษัทได้รับจริง ช่วยให้เห็นว่าหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรมากน้อยเพียงใด
  • กำไรจากการดำเนินธุรกิจหรือรายการพิเศษ เป็นส่วนที่ช่วยให้นักลงทุนแยกแยะได้ว่า กำไรที่เห็นนั้นมาจากการดำเนินงานปกติ หรือเป็นเพียงกำไรจากเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นชั่วคราว เช่น การขายสินทรัพย์ การได้รับเงินชดเชย เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญสำหรับการประเมินความสามารถในการทำกำไรที่แท้จริงของบริษัท

วงจรเงินสด

  • วงจรเงินสดโดยรวม
    เพื่อดูว่า บริษัทใช้เวลาเท่าไรในการหมุนเงินสด ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบจนไปถึงการจำหน่ายสินค้า ถ้าวงจรเงินสด “มีค่ามาก” แสดงว่าบริษัทขายสินค้าและเก็บหนี้ได้ช้ากว่าการจ่ายหนี้ ในทางกลับกัน ถ้าวงจรเงินสด “มีค่าน้อย หรือ ติดลบ” ก็ยิ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ดี
    โดยวงจรเงินสด จะคำนวณจาก : (ระยะเวลาเก็บหนี้ + ระยะเวลาขายสินค้า) – ระยะเวลาชำระหนี้

    • ระยะเวลาเก็บหนี้ :
      คือ จำนวนวันที่ใช้ในการเก็บเงินจากลูกค้าหลังการขาย ถ้าตัวเลขนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น หมายถึง การเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้ช้าลง
    • ระยะเวลาขายสินค้า :
      คือ จำนวนวันที่บริษัทมีสินค้าคงเหลือ ถ้าตัวเลขนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หมายความว่า บริษัทต้องหาเงินทุนมาจัดการสินค้าคงคลังเพิ่มมากขึ้น
    • ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า :
      คือ จำนวนวันที่บริษัทได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้ ถ้าตัวเลขนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หมายความว่า บริษัทมีการชำระหนี้ช้าลง

คุณภาพของสินทรัพย์

  • การด้อยค่าของสินทรัพย์
    ช่วยประเมินความเสี่ยงของสินทรัพย์และเงินลงทุน ที่อาจกระทบต่อผลประกอบการในอนาคตได้
    เช่น ถ้าสินทรัพย์หรือเงินลงทุนของบริษัทถูกประเมินด้อยค่า อาจทำให้บริษัทต้องบันทึกผลขาดทุน ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ และ/หรือ งบกระแสเงินสด
  • สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ค่าความนิยม
    ช่วยประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณามูลค่าและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ว่าอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทหรือไม่

ความสามารถในการชำระหนี้

  • อัตราหนี้สิน และความสามารถในการชำระหนี้
    แสดงภาพรวมภาระหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท โดยพิจารณาจาก 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่

    • อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น : ดูว่าบริษัทใช้เงินกู้ยืมมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้น ยิ่งอัตราส่วนนี้สูงเท่าไร ยิ่งแสดงถึงการพึ่งพาเงินกู้ที่มากขึ้น
    • อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย : ดูว่าบริษัทมีกำไรเพียงพอรองรับภาระดอกเบี้ยหรือไม่
    • อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้โดยพิจารณาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน : ดูว่าเงินสดที่ได้จากการดำเนินธุรกิจเพียงพอต่อการชำระหนี้หรือไม่
    • อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยโดยพิจารณาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน : ดูว่าบริษัทมีเงินสดจากการดำเนินธุรกิจเพียงพอต่อการจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่

           อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ก็ต้องบอกว่า แม้การวิเคราะห์งบการเงินทั้ง 5 ด้าน จะช่วยให้เข้าใจพื้นฐานของบริษัทได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันผลตอบแทนที่ดีเสมอไป 🙅‍♂️ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนเช่นกัน ดังนั้น นักลงทุนควรประเมินปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจลงทุนให้มีประสิทธิภาพ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ :www.set.or.th

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนวโน้มตลาดหุ้นกู้ และหุ้นกู้เสนอขายต้นปี 68 [HoonVision x FynnCorp]

แนวโน้มตลาดหุ้นกู้ และหุ้นกู้เสนอขายต้นปี 68 [HoonVision x FynnCorp]

ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียม การยื่นรายงานประจำปีบริษัทจดทะเบียน

ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียม การยื่นรายงานประจำปีบริษัทจดทะเบียน

คาดค่าเงินบาทวันนี้กรอบ 34.10-34.30 บ./ดอลลาร์

คาดค่าเงินบาทวันนี้กรอบ 34.10-34.30 บ./ดอลลาร์

ตลท. ปรับคุณสมบัติ บจ. เข้าตลาดหุ้น ทัง SET-mai เริ่ม 1 ม.ค. 68

ตลท. ปรับคุณสมบัติ บจ. เข้าตลาดหุ้น ทัง SET-mai เริ่ม 1 ม.ค. 68

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด