หุ้นวิชั่น – NPS ผู้ประกอบธุรกิจพลังงานและพลังงานหมุนเวียนกว่า 30 ปี ด้วยการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอื่น อย่างชิ้นไม้สับ เปลือกไม้ และแกลบ โดยธุรกิจเติบโตต่อเนื่องจากสัญญาขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐและเอกชนในอนาคต โดยเฉพาะจากโครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ ที่คาดจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2570 ซึ่งมีบริษัท Gulf เข้าร่วมลงทุน ทั้งนี้บริษัทเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำนวน 3 รุ่น อายุ 3, 5, 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.8%, 4.5%, 5% ต่อปี ตามลำดับ โดยเปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2568
NPS มุ่งผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2538 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงไอน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) แบบกังหันไอน้ำ ที่ผ่านมา บริษัทขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้า และธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจหลักภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม อย่างเช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทถือหุ้นในบริษัทย่อย 35 บริษัท และ บริษัทร่วม 2 บริษัท แบ่งการดำเนินงานได้เป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าและพลังงานที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจน้ำ ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจอื่นๆ
โรงไฟฟ้าของ NPS ผลิตได้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ โดยมีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด 15 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 860 .70 เมกะวัตต์ (MW) และกำลังผลิตไอน้ำติดตั้งรวม 2,661.80 ตันต่อชั่วโมง (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567)
ปัจจุบัน บริษัทมีการใช้เชื้อเพลิงหลัก 3 ประเภท คือ ถ่านหิน น้ำมันยางดำ และเชื้อเพลิงชีวมวล โดยมีการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงชีวมวลอื่น (ชิ้นไม้สับ เปลือกไม้ แกลบ) ในสัดส่วน 38.8% และ 34.4% ตามลำดับ
โครงสร้างรายได้ บริษัทมีรายได้หลักจากการขายไฟฟ้า ไอน้ำและน้ำ คิดเป็น 88.68% ของรายได้รวมปี 67 ตามมาด้วยรายได้จากค่าบริการ (จากการทำวิจัยและพัฒนา บริการทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเล เรือขนส่งสินค้า บริการซ่อมโรงงาน รถบรรทุก บริการไอที เป็นต้น) 5.78% และรายได้อื่นๆ
กลุ่มลูกค้าหลัก คือ บริษัท AA (บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ จำกัด (มหาชน)) และบริษัทที่เกี่ยวโยงกัน คิดเป็น 41.2% ของรายได้รวมปี 67 ตามมาด้วย กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบริษัทภายนอกในสวนอุตสาหกรรมที่จังหวัดปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา 28.9% และ กฟผ. 17% รวมถึงลูกค้าในประเทศอื่น อย่าง การไฟฟ้าประเทศฝรั่งเศส (EDF) และ VPK อีก 12.89%
บริษัทผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 7 ฉบับ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าตามสัญญารวม 844 MW โดย กฟผ. จะชำระค่าตอบแทนเป็นรายเดือนตามปริมาณไฟฟ้าที่บริษัทผลิตและจำหน่ายให้ได้จริง ค่าตอบแทนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่า CP ที่จะเปลี่ยนไปตามอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทและเงินสกุลเหรียญสหรัฐในแต่ละเดือน และค่า EP ซึ่งจะเปลี่ยนตามราคาเชื้อเพลิงในแต่ละเดือน
สำหรับบริษัท AA มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 4 ฉบับ และจำนวนไฟฟ้าตามสัญญา 87.91 MW รวมถึงสัญญาซื้อขายไอน้ำ อีก 6 ฉบับ ส่วนการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝรั่งเศส มีสัญญา 1 ฉบับ พลังงานไฟฟ้าตามสัญญา 50 MW
สภาพการแข่งขัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าเอกชนภายในประเทศจำนวนมาก ทำให้การพึ่งพาจากต่างประเทศค่อนข้างน้อย หรือคิดเป็น 12.13% ของกำลังการผลิตตามสัญญาแยกตามผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2567 รวม 51,414.3 MW ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ (IPP) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ ซึ่งมีจำนวนกำลังการผลิตตามสัญญา 38.1% ตามมาด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) 31.6% ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) มีสัดส่วนการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 18.1%
การเติบโตในอนาคต แม้ว่า NPS ยังไม่มีโรงไฟฟ้าในกลุ่ม IPP แต่บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ ซึ่งผ่านการคัดเลือกการประมูลไฟฟ้า IPP และมีปริมาณซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาที่ 540 MW โดยมี บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอรจี้ ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมลงทุน โดยได้ซื้อหุ้นสามัญของ BPH ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ NPS ในสัดส่วน 35%
นอกจากนี้ ในปี 2562 โครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ ได้เข้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลา 25 ปี อีกทั้ง ได้เข้าลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement) กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2570
ผลการดำเนินงาน บริษัทมีรายได้รวมในปี 2567 อยู่ที่ 17,801 ล้านบาท ลดลง 10.4% จากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ. ทยอยหมดอายุไปในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 861.7 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีปริมาณการขายไฟฟ้าในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมและบริษัท AA ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่มีสัดส่วนรายได้รวมกันมากกว่า กฟผ. เพิ่มขึ้นและช่วยชดเชยปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงของ กฟผ.
นอกจากนี้ ในปี 2567 บริษัทยังคงมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอยู่ที่ 2,710.7 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมกระแสเงินสดลงทุนและจัดหาเงินทุนที่รวมกันอยู่ที่ 2,344.3 ล้านบาท โดยบริษัทมีกระแสเงินสดจ่ายหลักๆ ไปกับการซื้อที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และการจ่ายคืนหนี้หุ้นกู้ ขณะที่มีการเพิ่มทุน 900 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เพื่อลดระดับหนี้สินทางการเงินในช่วงที่มีการลงทุน ส่งผลให้บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 1,701 ล้านบาท
หุ้นกู้ NPS
บริษัทออกหุ้นกู้มาแล้วทั้งหมด 25 รุ่น ตั้งแต่ปี 2554 และมีหุ้นกู้คงค้างปัจจุบัน 9 รุ่น มูลค่ารวม 16,501.5 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2568 อยู่ที่ 2,298.2 ล้านบาท (NPS258A) นอกจากนี้ บริษัทไม่มีประวัติเลื่อนหรือผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 ทริสเรทติ้ง จัดอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรอยู่ที่ BBB+ และหุ้นกู้จัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิตคงที่ สะท้อนการมีกระแสเงินสดต่อเนื่องจากสัญญาขายไฟฟ้าโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าบริษัท ซึ่งจะมาชดเชยสัญญาที่หมดอายุกับ กฟผ. ขณะที่ภาระหนี้สินลดลง D/E ratio อยู่ที่ 2.33 เท่า ในปี 67 จาก 3.00 เท่าในปี 66
หุ้นกู้เสนอขายใหม่
NPS ออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน ซึ่งผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายให้แก่ ผู้ลงทุนทั่วไป และ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน (โดยให้บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันจองซื้อในฐานะผู้ลงทุนทั่วไปเท่านั้น)
หุ้นกู้ดังกล่าวแบ่งออกเป็น ดังนี้
1. ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2571 อัตราดอกเบี้ย 3.80% ต่อปี
2. ชุดที่ 2 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2573 อัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี
3. ชุดที่ 3 อายุ 7 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2575 อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี
เปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2568 โดยมี ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ดังนี้
-บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด
-บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด
-บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด
-บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)
-บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
-บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด
-บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน)
-บริษัท หลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน)
-บริษัท หลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
-บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์ จำกัด
-บริษัท หลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด
-บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)
และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ ดังนี้
- เพื่อชำระคืนหนี้จากการออกตราสารหนี้ (Roll-over) มูลค่า 2,298.2 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนสิงหาคม 2568
- เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น 201.8 ล้านบาท
ปัจจัยเสี่ยง
- ความเสี่ยงจากการพึ่งพาเงินทุนจากการออกหุ้นกู้ จากการที่บริษัทออกหุ้นกู้อยู่เป็นประจำ ทำให้สัดส่วนหุ้นกู้อยู่ในระดับสูง หรือคิดเป็น 82% ของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยในปี 2567 ถ้าบริษัทไม่สามารถ roll over ได้ ก็อาจส่งผลต่อการชำระคืนหนี้หุ้นกู้รุ่นก่อนหน้าได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นได้ เช่น กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การจำหน่ายเงินลงทุนในหุ้นสามัญ วงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและการเพิ่มทุน
- ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาถ่านหิน ซึ่งถือเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักของ NPS แต่บริษัทเองก็ได้ติดตามสภาวะตลาดอย่างต่อเนื่อง และได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงทำสัญญาเช่าเรือระยะยาวมากขึ้นเพื่อควบคุมต้นทุนค่าระวางเรือ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
- ความเสี่ยงจากการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน ในการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ตามข้อกำหนดสิทธิของผู้ออกนั้น กำหนดให้หนี้สินนี้ไม่รวม หนี้ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้แปลงสภาพด้อยสิทธิ ทำให้ D/E ที่คำนวณตามสูตรของบริษัท น้อยกว่า D/E ของหุ้นกู้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีแผนควบคุมให้ D/E ณ วันสิ้นงวดบัญชีของแต่ละไตรมาสอยู่ในระดับไม่เกินอัตราที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิที่ 2.5 เท่า ซึ่ง ณ สิ้นปี 67 อัตราส่วนนี้อยู่ที่ 1.88 เท่า