เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง Ondo Finance และ Mastercard ในการนำ Real-World Assets (RWA) มาโทเค็นและเชื่อมเข้าสู่เครือข่าย Multi-Token Network (MTN) กำลังสร้างกระแสความตื่นตัวครั้งใหญ่ให้กับวงการการเงิน และสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก
โดยสินทรัพย์แรกที่เปิดตัวในโครงการนี้คือกองทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น (OUSG) ของ Ondo ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ธุรกิจและผู้ถือโทเค็นสามารถรับผลตอบแทนรายวัน พร้อมการทำธุรกรรมได้แบบ 24/7 โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานคริปโตใด ๆ เพิ่มเติม
Ondo Finance
เป็นสตาร์ตอัปด้านการเงินแบบโทเค็น (Tokenized Finance) ที่เน้นพัฒนาวิธีการลงทุนผ่านสินทรัพย์ในโลกความเป็นจริง (Real-World Assets หรือ RWA) ในรูปแบบโทเค็น โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การออกโทเค็นกองทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ OUSG ซึ่งได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินและนักลงทุนทั่วโลก
Mastercard Multi-Token Network (MTN)
คือโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ Mastercard พัฒนาขึ้น เพื่อให้ธนาคารและผู้ให้บริการการเงินสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนได้ในรูปแบบดิจิทัล ชูจุดเด่นในเรื่องความโปร่งใส การชำระเงินรวดเร็ว และขยายความสามารถในการทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องช่วงเวลาทำการหรือความแตกต่างของเขตเวลา
OUSG (Ondo Short-Term U.S. Government Bond Fund)
เป็นหนึ่งในกองทุนของ Ondo Finance ที่อยู่ในระบบ Blockchain โดยกองทุนตัวนี้ มุ่งลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุสั้น (ตั๋วเงินคลัง หรือ Treasury Bills) และสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสดอื่น ๆ โดยผ่านการแปลงเป็นโทเค็นดิจิทัลบนเครือข่ายบล็อกเชน. ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของ OUSG นำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนใน กองทุนสภาพคล่องดิจิทัลสกุลเงินดอลลาร์ของ BlackRock (BUIDL)
โดยจุดเด่นของ OUSG คือ OUSG ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้น ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูง จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความผันผวน และ มีกลไกการคำนวณและสะสมดอกเบี้ยเป็นรายวัน ทำให้นักลงทุนรับรู้การเติบโตของมูลค่ากองทุนได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องรอเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส
แต่ OUSG แม้ว่าจะดำเนินการด้วยระบบ blockchain ก็ยังมีข้อจำกัดในบางประการเช่นกัน เมื่อนำมาเชื่อมต่อกับโลกแห่งการเงินในปัจจุบัน นั่นคือ การซื้อขายหรือการไถ่ถอนอาจถูกจำกัดด้วย settlement windows ที่ต้องไปเชื่อมต่อเครือข่ายการเงินแบบดั้งเดิม
จุดแตกต่างของ OUSG บน MTN ของ Master Card
- ธุรกรรม 24/7 ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา: การผสานเข้ากับ MTN ของ Mastercard ช่วยให้ OUSG สามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ไม่จำกัดด้วยเวลาทำการของธนาคารหรือ settlement windows
- เชื่อมต่อกับระบบการเงินดั้งเดิมให้ง่ายขึ้น: MTN ช่วยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสินทรัพย์โทเค็นกับเครือข่ายการชำระเงินเอกชน (private payment rails) ของธนาคาร ซึ่งทำให้การชำระเงินและการเคลียร์ธุรกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสในการเข้าถึงมากขึ้น
แล้วเหตุใดจึงนับเป็น “หมุดหมายสำคัญ” ในวงการการเงิน ?
- เชื่อมต่อโลกการชำระเงินแบบดั้งเดิมกับบล็อกเชนสาธารณะ
ความร่วมมือระหว่าง Ondo และ Mastercard ถือเป็นครั้งแรก ๆ ที่ระบบเครือข่ายการชำระเงินภาคเอกชน (Private Payment Rails) สามารถโต้ตอบกับโทเค็นซึ่งทำงานบนบล็อกเชนสาธารณะได้อย่างราบรื่น - เปิดประตูสู่ระบบการเงิน 24 ชั่วโมง
นวัตกรรมนี้ช่วยให้สถาบันการเงินและธุรกิจต่าง ๆ ก้าวสู่การบริหารสินทรัพย์ (treasury management) ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาทำการของธนาคาร ไม่ต้องกังวลเรื่อง Time Zone จึงมีโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพการหมุนเวียนเงินสด (Cash Flow) ได้มากขึ้น - ต้นแบบการใช้งานจริง (Real Use Case) ของ RWA Tokenization
ในขณะที่สินทรัพย์โทเค็นรูปแบบต่าง ๆ อาจเคยมีปัญหาด้านกฎระเบียบและเทคโนโลยีมาโดยตลอด การเคลื่อนไหวครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินที่เป็นที่ยอมรับอย่าง Mastercard เริ่มเปิดรับและสนับสนุนการนำ RWA มาสู่บล็อกเชนในลักษณะที่ถูกกำกับดูแลตามมาตรฐานทางการเงิน
ประโยชน์ต่อภาคการเงินและธุรกิจ
- ธุรกิจและธนาคารเข้าถึง “ผลตอบแทนรายวัน” ได้ง่ายขึ้น
จากเดิมที่อาจต้องอาศัยบัญชีพิเศษหรือโบรกเกอร์เพื่อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แต่เมื่อทุกอย่างอยู่ในรูปแบบโทเค็น สามารถส่งเงินสดและรับโทเค็น OUSG ได้ทันที - ลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่
การทำธุรกรรมบนบล็อกเชนที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย MTN ช่วยให้ชำระเงินหรือแลกเปลี่ยนมูลค่าได้ทุกวันทุกเวลา ลดเวลาในการรอคิวชำระบัญชี (Settlement Windows) - การบริหารความเสี่ยงและความโปร่งใสที่ดีขึ้น
เนื่องจากบล็อกเชนเป็นระบบแบบบัญชีสาธารณะ (Public Ledger) สามารถตรวจสอบรายการโอนเข้าออกได้ และมี Smart Contract คอยควบคุมเงื่อนไขการโอนหรือล็อกสินทรัพย์
เกี่ยวข้องอย่างไรกับประเทศไทย
จากกรณีศึกษาที่กล่าวมา Ondo Finance มีส่วนคล้ายกับการศึกษา Stable Coin ของประเทศไทย โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการที่กระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้ ในการนำเทคโนโลยี Tokenization พัฒนา Stablecoin ใหม่ มีพันธบัตรรัฐบาลที่ออกใหม่ Asset-Backed มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งแพลตฟอร์มเทรดใหม่เสร็จภายในปีนี้ เฟสต่อไปเตรียมเปิดให้ Stablecoin ใช้ซื้อสินค้าได้ ซึ่งความคล้ายเคียงของ OUSG และ Stable Coin ของประเทศไทยนั้นคือโดน back ด้วยพันธบัตรเหมือนกัน
ดังนั้น การเปิดกว้างต่อ Stablecoin ที่มีพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน อาจเป็นก้าวสำคัญสู่ยุคใหม่ของระบบการเงินไทย ซึ่งในอนาคตอาจเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายบล็อกเชนระดับโลกเช่นเดียวกับกรณี Ondo Finance และ Mastercard การยกระดับเทคโนโลยีและการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กและใหญ่ รวมถึงนักลงทุนทั่วไป มีโอกาสเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลคุณภาพได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเราสามารถเห็นโอกาสต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น
- การพัฒนาระบบการเงินดิจิทัล:
แนวทาง Stablecoin ที่มีพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของประเทศไทยสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะเป็นก้าวสำคัญในการที่ภาครัฐเป็นผู้ออกโทเคนเอง - ส่งเสริมสภาพคล่องและการเข้าถึงตลาด:
หาก Stablecoin ในไทยประสบความสำเร็จ จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนและผู้ประกอบการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณภาพได้ตลอด 24 ชั่วโมง - การเชื่อมต่อระหว่างระบบการเงินดั้งเดิมและดิจิทัล:
โมเดลที่ได้จาก Ondo Finance และ Mastercard แสดงให้เห็นว่าการผสานเทคโนโลยีบล็อกเชนกับระบบการชำระเงินแบบดั้งเดิมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดข้อจำกัดในด้านเวลาการทำธุรกรรมได้
บทเรียนจากกรณีศึกษาในต่างประเทศเช่น Ondo Finance และ Mastercard จึงอาจจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญให้ประเทศไทยสามารถมองหาโอกาสและวางกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบการเงินที่มีความทันสมัยและครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับยุคสินทรัพย์ดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้เขียน สุทธิรัตน์ หาญพานิชย์ Head of Business Development, Token X