TTB รายงานกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกปี 2567 โต 17% แม้เผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจ

          ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) โชว์ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2567 ด้วยกำไรสุทธิ 15,919 ล้านบาท เติบโตขึ้น 17% YoY แม้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการปรับโครงสร้างธุรกิจที่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย การเติบโตของสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูง และการบริหารจัดการสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพช่วยหนุนผลการดำเนินงาน

          ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)หรือ TTB รายงานผลประกอบการ 9 เดือนปี 2567 ความไม่แน่นอนและปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังคงปกคลุมปัจจัยการเติบโตของธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) มีโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไปยังลูกค้ารายย่อยมากขึ้นหลังการรวมกิจการ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร ทีทีบียังคงดำเนินงานตามแผนธุรกิจที่รอบคอบผ่านกลยุทธ์การเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวัง การปรับโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินให้มีความเหมาะสม รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

          ส่งผลให้ผลประกอบการรอบ 9 เดือน ปี 2567 ยังคงปรับตัวดีขึ้น ด้วยกำไรสุทธิ 15,919 ล้านบาท (+ร้อยละ 17 YoY) หนุนโดย NIM ที่ยังขยายตัวได้ ควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่าย รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่บริหารจัดการได้ดี นอกเหนือจากกลยุทธ์การปรับโครงสร้างของสินเชื่อและเงินฝากให้มีความเหมาะสมแล้ว ทีทีบียังมีการปรับพอร์ตการลงทุนรวมถึงพอร์ตตราสารหนี้และเงินกู้ยืมของธนาคารให้สอดคล้องกับสภาวะดอกเบี้ยที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยหนุนการเติบโตของ NIM สำหรับด้านรายได้ค่าธรรมเนียม ธนาคารเห็นการฟื้นตัวที่ดีของค่าธรรมเนียมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ อย่างค่าธรรมเนียมกองทุนรวมและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต แม้ว่าสินเชื่อโดยรวมลดลง การเติบโตของสินเชื่อรายย่อยเป้าหมายที่ให้ผลตอบแทนสูงยังคงเพิ่มขึ้นได้ดีตามแผนกลยุทธ์การปรับโครงสร้างสินเชื่อ ขณะที่การหดตัวของเงินรับฝากเป็นไปตามแผนการบริหารสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงินเพื่อรักษาสมดุลกับการเติบโตของสินเชื่อ ในด้านคุณภาพสินทรัพย์นั้นยังสามารถบริหารจัดการได้ดี โดยอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 149 ทั้งนี้ในระยะยาว

          ทีทีบี จะยังคงเพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลพร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปสู่ digital-first เพื่อเตรียมความพร้อมของธนาคารที่จะดำเนินเกมรุก เพิ่มช่องทางรายได้ใหม่เมื่อสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในอนาคตให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน

          เน้นย้ำการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพและหมุนเวียนสภาพคล่องสู่สินเชื่อรายย่อยกลุ่มเป้าหมายที่ให้ผลตอบแทนสูง: ทีทีบียังคงดำเนินแผนการขยายฐานสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และเน้นหมุนเวียนสภาพคล่องไปเติบโตสินเชื่อรายย่อยคุณภาพในกลุ่มเป้าหมายเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นบนความเสี่ยงที่เหมาะสม อย่างไรก็ดีคุณภาพสินทรัพย์ยังคงควบคุมอย่างเข้มงวดผ่านการเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญและกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,253 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 YTD ขณะที่การปรับสัดส่วนของสินเชื่อไปยังสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูงดำเนินไปได้ดีตามแผน อย่างสินเชื่อรถแลกเงิน (Cash Your Car) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 YTD สินเชื่อบ้านแลกเงิน (Cash Your Home) เติบโตร้อยละ 10 YTD และสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตร้อยละ 9 YTD ในด้านสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเอสเอ็มอีลดลง ซึ่งเป็นผลจากการชำระคืนและตามแผนการหมุนสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปปล่อยบนสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูง รวมถึงแผนการปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง

          ภาคการเงินและธุรกิจธนาคารพาณิชย์: คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ในการประชุมครั้งที่ 4/2567 ในรอบเดือนสิงหาคม 2567 โดย กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม

          ด้านการเติบโตของสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 หดตัวร้อยละ 0.2 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ที่หดตัวร้อยละ 0.5 (YoY) ขณะที่ด้านเงินฝาก ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.5 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 (YoY) สำหรับค่าเงินบาทในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 34.71 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปรับแข็งค่าจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 36.71 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.2 เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) และอ่อนค่าลงที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2566

          ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จากการที่นักลงทุนปรับเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานเป็นสำคัญ ประกอบกับการแข็งค่าของค่าเงินเยนจากการที่นักลงทุนปิดสถานะการ short ค่าเงินเยน (Unwind Yen Carry Trade) เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และส่งสัญญาณเชิง hawkish ของธนาคารกลางญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ เงินบาทยังคงได้รับปัจจัยแข็งค่าเพิ่มเติมจากราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นเร็วทำสถิติสูงสุดใหม่

          แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2567: ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า จากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหลัก รวมถึงผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เช่นเดียวกับการลงทุนรวมที่มีแนวโน้มขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลของฐานต่ำในปีก่อน ทั้งนี้ ttb analytics ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

          ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4 จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่คาดว่าตลอดทั้งปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงต่ำกว่ากรอบล่างเป้าหมายเล็กน้อย ด้านภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทั้งปี 2567 จะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 35 ล้านคน สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะเห็นสัญญาณฟื้นตัวเป็นลำดับ โดยประเมินมูลค่าส่งออกสินค้าของไทยทั้งปี 2567 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 (YoY) สำหรับด้านตลาดเงินไทย ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.25 ณ สิ้นปีนี้ จากแรงส่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัย ด้านค่าเงินบาทในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 32.00 – 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส

 

          บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุถึง TTB ว่า TTB รายงานกำไรสุทธิ 3Q24 เท่ากับ 5.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% YoY แต่ลดลง 2% QoQ

  • สินเชื่อ ณ สิ้น 3Q24 ลดลง 8% YoY และ 3% QoQ จากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
  • NIM 3Q24 อยู่ที่ 3.28% ลดลง 8bps YoY (funding cost สูงขึ้น) แต่เพิ่มขึ้น 4bps QoQ (loan yield สูงขึ้น)
    • Cost/income ratio 3Q24 อยู่ที่ 42.4% ลดลงจาก 43.2% ใน 3Q23 แต่เพิ่มขึ้นจาก 41.5% ใน 2Q24
    • Credit cost 3Q24 อยู่ที่ 1.49% เพิ่มขึ้นจาก 1.28% ใน 3Q23 แต่ลดลงจาก 1.62% ใน 2Q24 ขณะที่ NPLs/loans ratio ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.64% ณ สิ้น 2Q24 มาที่ 2.73% ณ สิ้น 3Q24 สำหรับ loan-loss coverage ratio อ่อนตัวลงจาก 151.6% ณ สิ้น 2Q24 มาที่ 149.3% ณ สิ้น 3Q24 โดยรวมแล้วเราประเมินว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ TTB อ่อนแอลงบ้างในไตรมาสนี้
    • TTB มีการบันทึกรายได้ทางภาษีเข้ามา 64 ล้านบาทใน 3Q24 ลดลง 86% QoQ โดยธนาคารยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีคงเหลืออีก 1.17 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้จนถึงปี 2028

          Outlook: เราคาดว่ากำไรสุทธิ 4Q24 จะทรงตัว YoY (NIM ลดลง แต่จะถูกชดเชยด้วย Credit cost ที่ลดลง) แต่ลดลง QoQ (NIM ลดลงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงขึ้น)

          View from Fundamental: คาดว่ากำไรสุทธิปี 2024 จะเติบโต 11% YoY สูงสุดในกลุ่มธนาคาร และคาดว่า dividend yield จะอยู่ที่ราว 7% ต่อปี จึงยังแนะนำ ซื้อ

 

แชร์:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

WHA ย้ำศักยภาพนิคมฯ ไทย ลุยกรีนโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมใหม่ปี 68

WHA ย้ำศักยภาพนิคมฯ ไทย ลุยกรีนโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมใหม่ปี 68

SC ขายหุ้น SC L1 ให้โตเกียวทาเทโมโนะ ร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

SC ขายหุ้น SC L1 ให้โตเกียวทาเทโมโนะ ร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

ปตท. คว้าอันดับ 1 โลกความยั่งยืนจาก S&P Global พร้อมมุ่งมั่นเติบโตยั่งยืนระดับโลก

ปตท. คว้าอันดับ 1 โลกความยั่งยืนจาก S&P Global พร้อมมุ่งมั่นเติบโตยั่งยืนระดับโลก

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด