TISCO รายงานงบไตรมมาส3/67 ที่ 1,713 ล้านบาท ลดลง 8.6% กำไรต่อหุ้นลดลงเหลือ 2.14 บาท

           บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงาน กำไรสุทธิสำหรับผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 ของบริษัทอยู่ที่ 1,713.43 ล้านบาท ลดลง 161.05 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.6 จากไตรมาส 3 ปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากการฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลัก พร้อมกับการรับรู้ผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน

           ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น ทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 จากการขยายตัวของส่วนแบ่งทางการตลาดของ บล.ทิสโก้ และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ตามการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร นอกจากนี้ บริษัทมีการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงร้อยละ 3.0 เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นตามการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นไปตามแผนการเพิ่มสำรองกลับสู่ระดับปกติ รวมทั้งสะท้อนความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

           เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2567 กำไรสุทธิลดลง 39.58 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 สาเหตุจากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ และผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักฟื้นตัว โดยเฉพาะจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของตลาดทุนไทย โดยค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 และค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 นอกจากนี้ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 1.1 จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิคงที่จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 ส่วนสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า

           กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน (Basic earnings per share) สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 2.14 บาทต่อหุ้น ลดลงจาก 2.34 บาทต่อหุ้นในไตรมาส 3 ปี 2566 และจาก 2.19 บาทต่อหุ้นในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ร้อยละ 16.6
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยหนุนมาจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจำนวน 26 ล้านคนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวท่ามกลางความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพที่ยังสูง และผลกระทบจากน้ำท่วมในประเทศไทย ยอดขายรถยนต์ในประเทศงวด 8 เดือนแรกของปี 2567 ลดลงร้อยละ 23.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

           ด้านการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้น โดยได้เริ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567 หรือเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 1 แก่กลุ่มเปราะบาง วงเงินรวม 140,000 ล้านบาท ในเดือนกันยายน 2567 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

           ในไตรมาสนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.75-5.00 เพื่อสะท้อนอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo-1 วัน) ที่ร้อยละ 2.50 อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง คงที่จากไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ร้อยละ 1.14 ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อยู่ที่ร้อยละ 7.12 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ร้อยละ 7.56 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ร้อยละ 7.31

           สำหรับภาวะตลาดทุนในไตรมาส 3 ปี 2567 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการเปิดตัวของกองทุนวายุภักษ์ ทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าตลาดทุนไทย ทั้งจากนักลงทุนสถาบันไทยและนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายตัว โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,467.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 43,074.07 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2567 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดที่ 1,448.83 จุด เพิ่มขึ้น 147.87 จุด หรือร้อยละ 11.4 จากสิ้นไตรมาสก่อนหน้า

แชร์:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

WHA ย้ำศักยภาพนิคมฯ ไทย ลุยกรีนโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมใหม่ปี 68

WHA ย้ำศักยภาพนิคมฯ ไทย ลุยกรีนโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมใหม่ปี 68

SC ขายหุ้น SC L1 ให้โตเกียวทาเทโมโนะ ร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

SC ขายหุ้น SC L1 ให้โตเกียวทาเทโมโนะ ร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

ปตท. คว้าอันดับ 1 โลกความยั่งยืนจาก S&P Global พร้อมมุ่งมั่นเติบโตยั่งยืนระดับโลก

ปตท. คว้าอันดับ 1 โลกความยั่งยืนจาก S&P Global พร้อมมุ่งมั่นเติบโตยั่งยืนระดับโลก

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด
live-sticky
LIVE