บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) [SUPER]
Key Highlights:
- ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทน ด้วยแสงอาทิตย์เป็นแหล่งรายได้หลัก บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก หรือคิดเป็น 78.4% ของรายได้รวมในปี 2566 รองลงมา คือ รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ตามลำดับ
- กระแสเงินสดจากธุรกิจสัมปทาน โครงสร้างพื้นฐานกับหน่วยงานรัฐ บริษัทมีรายได้และกระแสเงินสดจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานรัฐบาลทั้งในไทยและเวียดนาม และมุ่งขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อสร้างกระเเสเงินสดได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต อีกทั้งมีการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่าน Strategic partner ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงินจน D/E ratio ลดลง
- อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าในไทยเติบโต กระทรวงพลังงานตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน จากการผลิตและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ท่ามกลางแผนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนใน PDP 2024 เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
- SUPER เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุด เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป และ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน จองซื้อตั้งแต่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2568 แบ่งเป็น ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.25-5.50% ต่อปี และชุดที่ 2 อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.75-6.00% ต่อปี
ภาพรวมธุรกิจ SUPER
ก่อนจะมาเป็น SUPER ในปัจจุบัน
บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SUPER) เดิมใช้ชื่อ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอิฐมวลเบา และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2548 ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเริ่มดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนในปี 2556
บริษัทเริ่มจากการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโครงการแรก หลังจากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง อย่างการจดทะเบียนเป็น Holding Company โดย SUPER มีรายได้หลักจากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมที่ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหลากหลายแห่ง อีกทั้งประกอบธุรกิจด้านการดูแลบำรุงรักษาโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน และถือหุ้นในธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำ ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ
ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทน ด้วยแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหลัก
SUPER ประกอบธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะ 2) กลุ่มผลิตและจำหน่ายน้ำดิบและน้ำประปา และ 3) กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอื่นๆ โดยธุรกิจหลัก คือ พลังงานทดแทน คิดเป็น 92.6% ของรายได้รวมทั้งหมดในปี 2566 (พลังงานแสงอาทิตย์ 78.4%, พลังงานขยะ 9.7% และ พลังงานลม 4.5%) ตามมาด้วย ธุรกิจจำหน่ายน้ำฯ คิดเป็น 2.2% และกลุ่มเทคโนโลยี 0.8%
กำลังการผลิตมากกว่า 2,300 MW พร้อมสัญญาซื้อขายกับหน่วยงานภาครัฐ
บริษัทมีกำลังการผลิตทั้งหมด 2,353.8 เมกะวัตต์ (MW) โดยเป็นกำลังการผลิตที่เสนอขายตาม PPA (Power Purchase Agreement) ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) 1,626.1 MW จำนวน 184 โครงการ ทั้งในไทยและเวียดนาม แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายกับหน่วยงานภาครัฐ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย: EGAT, การไฟฟ้านครหลวง: MEA, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค: PEA และการไฟฟ้าเวียดนาม: EVN) และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเอกชน (Private PPA) ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกปริมาณ 727.7 MW
กลยุทธ์การเติบโต เน้นธุรกิจสัมปทาน โครงสร้างพื้นฐานกับหน่วยงานรัฐ
บริษัทเน้นการขยายกำลังการผลิตจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อเร่งการโตของรายได้และสร้างกระแสเงินสดได้ต่อเนื่อง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20-25 ปี กับหน่วยงานรัฐ (ปัจจุบันอายุสัญญาคงเหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 18-19 ปี) และสร้างโครงการเพื่อให้มีรายได้จากสัมปทานที่มั่นคงต่อเนื่องไปในอนาคต ซึ่งใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 44,500 ล้านบาท พร้อมกับสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ด้วยการมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic partner) ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ทำให้บริษัทมีกำไรพิเศษ เพื่อนำไปปรับดอกเบี้ยตามแผน ช่วยลดต้นทุนทางการเงินและนำไปลงทุนเพิ่มเติม ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ณ ไตรมาส 3 ปี 2567 ลดลงไปอยู่ที่ 2.21 เท่า จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.80 เท่า นอกจากนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นโครงการในไทยเป็นหลัก โดยมองสัดส่วนรายได้ในอนาคตเป็นไทย 70% และเวียดนาม 30%
Industry Analysis: ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในไทย
การใช้ไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว ในปี 2566 กระทรวงพลังงานรายงาน การใช้ไฟฟ้ารวมทั้งหมด 203,923 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เพิ่มขึ้น 3.4% YoY และใน 9 เดือนแรกของปี 2567 การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.1% YoY อยู่ที่ 163,311 GWh จากภาคอุตสาหกรรม (41%) ครัวเรือน (29%) และธุรกิจ (25%) โดยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 9.1% YoY และ 7.5% YoY ตามลำดับ
การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องรวมถึงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในปี 2566 การผลิตพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 223,295 GWh เพิ่มขึ้น 3.5% YoY โดยการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วนการผลิตคิดเป็น 58% และ 10% ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน น้ำมัน พลังน้ำ และไฟฟ้านำเข้า มีปริมาณลดลง ส่วนใน 9M2567 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.6% YoY มาอยู่ที่ 180,438 GWh
กระทรวงพลังงานตั้งเป้าใน PDP 2024 เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยคาร์บอน ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan: PDP 2024) ซึ่งอยู่ในระหว่างการนำเสนอร่าง โดยวางแผนเร่งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่จากเดิมที่จะเข้าระบบทั้งหมด 24,000 MW หลังปี 2573 เป็นให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ 10,000 MW แรกภายในปี 2573 และส่วนที่เหลือเข้าระบบหลังปี 2573 เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายของ COP26 ที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 รวมทั้งพิจารณาถึงเป้าหมาย 40% ของแผนในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (NDC)
(อ้างอิงข่าวสารจากกระทรวงพลังงาน ณ วันที่ 17 มิ.ย. 67)
พลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มเติบโตโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และลม ด้วยแรงสนับสนุนจาก Private และ Public PPA โดยเฉพาะในกลุ่มนอกระบบที่มีการขยายตัวมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตตามแผน PDP 2024 และการเข้าสู่ Net Zero ของไทย นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะเวียดนาม มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมากด้วยสภาพภูมิประเทศและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงไทยที่มีสภาพที่เหมาะในการติดตั้ง Wind Turbine Power ที่จะผลิตไฟฟ้าได้อีกจำนวนมาก ดังนั้น เรามองว่ากลุ่มธุรกิจของ SUPER ที่เน้นพลังงานแสงอาทิตย์และยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนาม รวมถึงโครงการที่กำลังก่อสร้าง จะมีโอกาสเติบโตไปได้อีกในอนาคต
Financial Performance: ผลการดำเนินงาน
รายได้จากการขายและให้บริการในภาพรวม 9M2567 ลดลงเล็กน้อย ขณะที่รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเติบโตขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มพลังงานการผลิตของโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบครบวงจรที่จังหวัดหนองคาย และมีการปรับขึ้นของค่าไฟพื้นฐาน (FT) ตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ รายได้จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย ได้รับผลกระทบจากการจำหน่ายหุ้นกลุ่มบริษัทย่อยภายใต้ Sunflower สัดส่วน 90% ทำให้สถานะเปลี่ยนจากบริษัทย่อย เป็นบริษัทร่วม อีกทั้ง รายได้จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม ประสบกับค่าความเข้มแสงลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาพอากาศและฤดูกาลของประเทศเวียดนาม ส่วนโครงการพลังงานลมที่เวียดนาม ได้รับผลจากสภาพอากาศและความเร็วลมเฉลี่ยลดลงกว่าปีก่อน
กำไรสุทธิใน 9M2567 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มาอยู่ที่ 2,060.72 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยเป็นจำนวน 2,256.02 ล้านบาท (Sunflower และ SEE1)
รายได้จากการขายและให้บริการ
หุ้นกู้ SUPER
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ SUPER ที่ระดับ BBB ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable และ SUPER ได้รับอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน อยู่ที่ BBB- จากสินทรัพย์ในการผลิตไฟฟ้าของบริษัทที่มีขนาดใหญ่และกระจายตัวดี ด้วยโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วมากกว่า 100 แห่งในสถานที่ตั้งหลากหลาย รวมถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและหน่วยงานภาครัฐของไทยและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามพร้อมกับภาระดอกเบี้ยในระดับสูงทำให้เป็นปัจจัยกดอันดับเครดิตของทริส
ประวัติอันดับเครดิต
การดำรงอัตราส่วนทางการเงิน บริษัทในฐานะผู้ออกหุ้นกู้มีหน้าที่ดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) ตามข้อกำหนดสิทธิ ไม่เกิน 3:1 ณ วันที่ 31 ธันวาคมในแต่ละปี โดย ณ 30 กันยายน 2567 บริษัทดำรงอัตราส่วนนี้ เท่ากับ 1.99 เท่า ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 2.48 เท่า จากการจ่ายชำระคืนเงินกู้และภาระหนี้ของกลุ่ม Sunflower ที่ไม่ได้ถูกนำมารวมแล้ว
หุ้นกู้คงค้างของบริษัท (Outstanding bonds) ปัจจุบันเหลืออยู่ทั้งหมด 5 รุ่น รวมมูลค่าประมาณ 6,160 ล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่ง SUPER ออกหุ้นกู้มาแล้วทั้งหมด 15 รุ่น ตั้งแต่ปี 2560 และไม่เคยมีประวัติการเลื่อนหรือผิดนัดชำระหุ้นกู้ ซึ่งจากรูปด้านล่างแสดงมูลค่าหุ้นกู้เทียบกับเงินสด ณ สิ้นไตรมาส
หุ้นกู้เสนอขายใหม่ 2 ชุดแก่ประชาชนและผู้ลงทุนสถาบัน เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน แบ่งเป็น ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 อัตราดอกเบี้ย 5.25% – 5.50% ต่อปี และชุดที่ 2 อายุ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 อัตราดอกเบี้ย 5.75 – 6.00% ต่อปี โดยวัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อ 1) ชำระคืนหุ้นกู้ SUPER252A ที่จะครบกำหนดเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมีมูลค่า 800 ล้านบาท 2) เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นที่มีกับสถาบันการเงินที่จะครบกำหนดเดือนเมษายน 2568 และ 3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น
ปัจจัยเสี่ยง
- การลงทุนโครงการใหม่ในอนาคต บริษัทมีแผนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่อย่างต่อเนื่องในอนาคต ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรือ ผลประกอบการไม่เป็นตามที่คาด อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้
- การเป็น Holding Company เนื่องจากรายได้หลักของบริษัท มาจากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม ทำให้เงินที่จะนำมาใช้ชำระคืนหนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการประกอบธุรกิจของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมเป็นหลัก ไม่ได้มาจากธุรกิจของตนเอง
- Roller Risk จากการที่บริษัทมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตหลายโครงการ ทำให้บริษัทต้องจัดเตรียมกระแสเงินสดไว้เพื่อเสริมสภาพคล่องช่วง 1-3 ปีข้างหน้า จากภายในกิจการและการกู้ยืมสถาบันการเงิน บริษัทจึงจำเป็นต้องออกและเสนอขายหุ้นกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนด (Roll over)
รายละเอียดเพิมเติม https://app.visible.vc/shared-update/e0a84481-50c4-4c94-9273-4068f726e482