STA: ผู้นำยางพาราไทย สู่เวทีระดับโลก [HoonVision x FynnCorp]

บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) [STA]

  • ประกอบธุรกิจยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแบบครบวงจร
  • ผลิตและส่งออกยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และถุงมือยาง
  • เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่สุดในประเทศและอันดับต้นๆของโลก

Key Highlights

  • ดำเนินธุรกิจยางพาราครบวงจรในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 10% ของอุปสงค์ทั่วโลก ตั้งแต่ธุรกิจสวนยางพารา ผลิตผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่น และน้ำยางข้น รวมถึงถุงมือยางและท่อไฮดรอลิกแรงดันสูง โดยมียางแท่งเป็นสัดส่วนรายได้หลักมากกว่า 70%
  • ขยายกำลังการผลิตมากกว่า 4 ล้านตันต่อปีภายในปี 2568 โดยเป็นส่วนของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ไปในโรงงานผลิตอีก 5 ที่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่ยังมีต่อเนื่อง
  • เสนอขายหุ้นกู้ 5 ชุด เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน จองซื้อ 31 มกราคม 2568 และ 3-4 กุมภาพันธ์ 2568 โดยชุดที่ 1 อายุ 2 ปี เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย) และชุดที่ 2-5 เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยระหว่าง 3.4% – 4.0% ต่อปี ตามอายุ 3, 5, 8, 10 ปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยบริษัทไม่มีประวัติการเลื่อนหรือผิดนัดชำระหุ้นกู้

 

รู้จัก “ศรีตรัง” ผู้ประกอบธุรกิจยางพาราครบวงจรรายใหญ่ต้นๆของโลก

บริษัทยางพาราแห่งแรกในไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA) ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 เริ่มต้นประกอบธุรกิจผลิตยางแผ่นรมควัน ต่อมาเริ่มผลิตน้ำยางข้น ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ และขยายประเภทผลิตภัณฑ์ครอบคลุมยางแท่งตามลำดับ จนในปี 2534 ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมาได้ขยายแหล่งจัดจำหน่ายและฐานการดำเนินธุรกิจไปในต่างประเทศ และได้นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ในปี 2554 ถือเป็นบริษัทยางพาราจดทะเบียนไทยแห่งแรกที่เข้าจดทะเบียนใน SGX

ธุรกิจยางธรรมชาติแบบครบวงจร (Fully Integrated Natural Rubber Company)

ปัจจุบัน ธุรกิจของศรีตรังครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ ด้วยการมีพื้นที่เพาะปลูกสวนยางพาราและพืชเศรษฐกิจอื่น ครอบคลุมกว่า 47,000 ไร่ ใน 19 จังหวัดทั่วประเทศ และธุรกิจกลางน้ำ อย่างการผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติขั้นพื้นฐานทุกประเภท เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น ด้วยกำลังการผลิตกว่า 3.8 ล้านตันต่อปี จากจำนวน 36 โรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดสามอันดับแรกของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และประเทศไอวอรี่โคสต์ รวมถึง เมียนมา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางที่มีศักยภาพ ไปจนถึงธุรกิจปลายน้ำ ที่ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติ รวมถึงจำหน่ายถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้ในทางการแพทย์และทางอุตสาหกรรมไปในมากกว่า 175 ประเทศทั่วโลก ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง (Installed Capacity) ของถุงมือยางมากกว่า 51,000 ล้านชิ้นต่อปี ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ภายใต้บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (STGT) ซึ่งได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2563

ประเภทผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มหลัก

1) ธุรกิจสวนยางพารา ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่สำหรับการทำสวนยางพาราขนาดใหญ่กระจายอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาวัตถุดิบในราคาที่เหมาะสม ส่งผลดีต่อการควบคุมต้นทุนการผลิตและการทำกำไรดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทสามารถนำไม้ยางพาราขายให้กับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมการผลิตไม้พาเลทอีกด้วย

2) ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ซึ่งถือว่าบริษัทเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายที่ครบวงจรรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลกด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 10% ของอุปสงค์ทั่วโลก โดยมีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมอย่าง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น

  • ยางแท่ง ((Technically Specified Rubber: TSR) แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ STR10, STR20 และ STR Compound ซึ่งจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ โดยยางแท่ง STR 20 ซึ่งมีคุณภาพรองลงมาจาก STR 10 เป็นประเภทยางแท่งที่มีปริมาณส่งออกมากที่สุดของประเทศไทย
  • ยางแผ่น (Ribbed Smoked Sheet: RSS) ประกอบด้วย ยางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ยางล้อรถยนต์ สายพาน ท่อน้ำ รองเท้า อะไหล่รถยนต์ เป็นต้น ยางแผ่นรมควันชนิดพิเศษ ซึ่งมีความบริสุทธิ์สูง และมีความใสที่สามารถมองเห็นทะลุได้
  • น้ำยางข้น (Concentrated Latex: LTX) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าอื่น เช่น ถุงมือยาง ยางยืด กาว เป็นต้น โดยมี นาทูเท็กซ์ (NATUTEX) เป็นน้ำยางเพื่อใช้ในการผลิตถุงมือของบริษัทโดยเฉพาะ

3) ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ประกอบด้วย ถุงมือยาง (ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์) ถุงมือทางการแพทย์ รวมไปถึง ท่อไฮดรอลิกแรงดันสูง ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติด้วยโรงงานขนาดใหญ่สุดในประเทศในการผลิตท่อไฮดรอลิกเพื่อใช้สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมอื่นๆ

โครงสร้างรายได้: ยางแท่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก

บริษัทมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ยางแท่งเป็นหลัก หรือคิดเป็น 72% ของรายได้จากการขายปี 2566 ตามมาด้วย ถุงมือยาง (23%) ยางแผ่นรมควัน (5%) และน้ำยางข้น (0.4%) และอื่นๆ

ผลการดำเนินงานดีขึ้นตามราคาและปริมาณขายยางพารา

บริษัทมีรายได้จากการขายใน 9M2567 สูงขึ้น 29.7% YoY มาอยู่ที่ 81,116.9 ล้านบาท มาจากปริมาณการขายเพิ่มขึ้นจากการเร่งซื้อยางของผู้ผลิตยางล้อ เพื่อนำไปสต๊อกก่อนการบังคับใช้กฎ EUDR ประกอบกับไม่มีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเหมือนปีก่อนที่เกิดเอลนีโญ ขณะที่กำไรสุทธิ แม้ลดลงในไตรมาสสาม 17% QoQ แต่พลิกจากขาดทุนในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แสดงถึงการเติบโตของธุรกิจยางธรรมชาติตามราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้ง กำไรสุทธิในงวดเก้าเดือนเติบโตขึ้นอย่างมากอยู่ที่ 816 ล้านบาท จากขาดทุนปีก่อน (9M2566) 12.3 ล้านบาท

แผนการเติบโตสู่การเพิ่มกำลังการผลิตยางธรรมชาติมากกว่า 4.1 ล้านตันต่อปี

บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตส่วนของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติจาก 3.85 ล้านตันในปี 2567 สู่กำลังการผลิต 4.14 ล้านตัน ภายในปี 2568 (กำลังการผลิตติดตั้ง) แบ่งเป็น TSR Plants ในประเทศเมียนมาและไอวอรี่โคสต์ รวมถึงในจังหวัดเชียงราย และสกลนคร และ LTX Plants ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งทั้ง 5 ที่นี้จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2568

หุ้นกู้ STA ไม่เคยมีประวัติเลื่อนหรือผิดนัดชำระ

ทริสคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันอยู่ที่ A- ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคงที่ สะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นผู้นำในธุรกิจยางธรรมชาติ และความสามารถในการแข่งขันจากกลยุทธ์การขยายธุรกิจในแนวดิ่ง ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ถุงมือยางและยางธรรมชาติยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีภาระหนี้ที่สูงขึ้นตามราคายาง ซึ่งเป็นวงจรขึ้น-ลงและความผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมถึงกำไรที่ไม่ได้สูงมากสำหรับลักษณะของธุรกิจยางพารา

ประวัติอันดับเครดิต

ข้อกำหนดการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน บริษัทในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ มีหน้าที่ดำรงอัตราส่วนของหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Debt to Equity Ratio) ณ วันสิ้นงวดบัญชีรายไตรมาส ไม่เกิน 3:1 ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทดำรงอัตราส่วนดังกล่าวเท่ากับ 0.59 เท่า

หุ้นกู้คงค้าง ณ ปัจจุบัน ของบริษัทมีอยู่ 18 รุ่น รวมมูลค่า 21,838 ล้านบาท (มูลค่าเงินต้น) ซึ่งลดลงจากการชำระคืนรุ่นล่าสุดในไตรมาส 4/2567 มูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ STA ส่วนใหญ่เป็นการออกในระยะยาวอายุตั้งแต่ 2 -12 ปี ซึ่งหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระงวดต่อไป คือในเดือนมีนาคม ปี 2568 มูลค่า 2,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2568 มีมูลค่ารวม 4,500 ล้านบาท

บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้ 5 ชุด เพื่อจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อชำระคืนหนี้จากการออกตราสารหนี้ (roll-over) โดยเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน โดยหุ้นกู้ชุดที่ 1 เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ส่วนชุดที่ 2-5 เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 ไม่มีการชำระดอกเบี้ย รอประกาศราคาเสนอขายและอัตราส่วนลด
  • ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2571 อัตราดอกเบี้ย 3.40% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
  • ชุดที่ 3 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2573 อัตราดอกเบี้ย 3.70% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
  • ชุดที่ 4 อายุ 8 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2576 อัตราดอกเบี้ย 3.85% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
  • ชุดที่ 5 อายุ 10 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2578 อัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน

เปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2568 และ 3-4 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ หุ้นกู้ชุดที่ 1: ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

หุ้นกู้ชุดที่ 2-5: ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ปัจจัยเสี่ยง

  • ความผันผวนด้านราคาของยางธรรมชาติ การเติบโตอุปสงค์ของยางธรรมชาติและถุงมือยาง สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย รวมถึงการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในประเทศของประเทศที่เข้าไปลงทุน ซึ่งทิศทางราคายางธรรมชาติในไตรมาสล่าสุดยังคงมีความผันผวนอย่างมากอยู่
  • ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จากรายได้จากการส่งออกส่วนใหญ่ของบริษัท อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 85% ของรายได้ทั้งหมด ทำให้หากเกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อาจส่งผลกระทบทางลบต่อฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน รวมถึงส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของบริษัท
  • ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ อย่างความเสี่ยงทางด้านข้อกฏหมาย การแทรกแซงของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบต่อการดำเนินธุรกิจ ผลการดำเนินงานในกลุ่มบริษัทฯ

อ่านรายละเอียดเพิ่ม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/dffc5b71-423b-4e94-95db-4e0ece5d2bc5

แชร์:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

BEM แจ้งเบี่ยงการจราจรชั่วคราว บริเวณหน้าด่านฉิมพลี

BEM แจ้งเบี่ยงการจราจรชั่วคราว บริเวณหน้าด่านฉิมพลี

PTTGC มุ่งคาร์บอนต่ำ จับมือพันธมิตรโลก

PTTGC มุ่งคาร์บอนต่ำ จับมือพันธมิตรโลก

AEONTS โบรกมองสดใส มาตรการรัฐหนุน แนะ “ซื้อ”  

AEONTS โบรกมองสดใส มาตรการรัฐหนุน แนะ “ซื้อ”  

TRUE คาด Q4 ผลประกอบดี  โบรกแนะทยอยสะสม เป้า 12.10 บ.

TRUE คาด Q4 ผลประกอบดี โบรกแนะทยอยสะสม เป้า 12.10 บ.

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด