หุ้นวิชั่น# ROJNAนั่งแทนหุ้นใหญ่PHGหลังBig Lot 19.36% จากผู้ถือหุ้นเดิม ช่วงราคาซื้อขาย 17.00-17.25 บาทต่อหุ้น ที่ผ่านมีลงทุนอยู่แล้วตั่งแต่ IPO ในราคาจองซื้อหุ้นละ 21.00 บาท จำนวน15 ล้านหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 315.00 ล้านบาท มองโอกาสในการ Synergy ธุรกิจทั้งสองฝ่าย เนื่องจากโรจนะมีโรงงานยา และโอกาสขยายโรงพยาบาล ฐานลูกค้าเพิ่ม เผยทีมบริหารไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมจับตาการเติบโตที่แข็งแกร่งต่อเนื่องของ PHG ในปีหน้า ส่วนปีนี้ รายได้คาดเติบโต 10% จากปีก่อน
นายรณชิต แย้มสอาด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG เปิดเผยว่า ล่าสุด ได้มีการรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องของสรุปการซื้อขายหุ้นของบริษัท ผ่านระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Bord) ของกลุ่มผู้ถือหุ้น ในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้นกว่า 58,077,700 หุ้น คิดเป็น 19.36% ของหุ้นที่ชำระแล้วของบริษัท ส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่เปลี่ยน โดย บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1 มีสัดส่วนหลังทำรายการ เป็น 24.50% ถือหุ้นในจำนวน73,500,000 หุ้น จากเดิม 5.14% ถือหุ้นในจำนวน 15,422,300 หุ้น อันดับสองเป็น นางดวงใจ ตระกูลช่าง มีการขายหุ้นออกไป ลดสัดส่วนลงเหลือ 21,877,300 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 7.29% นอกจากนี้ นายกมลกฤช ตระกูลช่าง รวมไปถึงนางสาวธนัชภัสสร เศรษฐาตินันท์ และนางสาวฤทัยรัตน์ ตระกูลช่างก็มีการขายหุ้นออกไปทั้งหมด โดย ROJNA มีการเข้ามาลงทุนใน PHG ตั้งแต่ช่วงที่ IPO แล้ว
การปรับโครงสร้างการถือหุ้นระหว่าง ROJNA และ PHG ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน แต่เป็นการสร้างโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ (Synergy) เนื่องจาก ROJNA มีธุรกิจด้านยาที่สามารถต่อยอดร่วมกับ PHG ได้ หรือโอกาสที่จะเห็นการขยายโรงพยาบาลใหม่ ขยายฐานลูกค้าใหม่ ร่วมกับโรจนะต่อไป ซึ่งจะมีการเจรจารายละเอียดเพิ่มเติมในอนาคต โดยเหตุผลที่ ROJNA เลือกลงทุนใน PHG เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะกับผู้ร่วมก่อตั้งอย่างคุณกมลกฤช ตระกูลช่าง นอกจากนี้ โรงพยาบาลในเครือ PHG ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงไตรมาส 4/2567 อาจชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม รายได้จากการตรวจสุขภาพ (Check-up) ซึ่งมีจำนวนมากในช่วงปลายปี จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้รายได้รวมของปีนี้เติบโตได้ประมาณ 10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,160 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 โรงพยาบาลมีรายได้แล้ว 1,747 ล้านบาท
สำหรับปีหน้า คาดว่าธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของประกันสังคมที่คาดว่าจะได้รับโควตาเพิ่มเป็น 170,000 ราย จากปีนี้ที่ 156,000 ราย อีกทั้ง หากสำนักงานประกันสังคมปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ประเภทผู้ป่วยในด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง (AdjRW ≥ 2) กลับมาเป็นอัตราเดิมที่ 12,000 บาทต่อ AdjRW จะส่งผลให้รายได้จากส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากรายได้ของโรงพยาบาลกว่า 45% มาจากกลุ่มประกันสังคม
ทั้งนี้ บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการทางการแพทย์ในรูปแบบโรงพยาบาลทั่วไป(General Hospital) ภายใต้โรงพยาบาลแพทย์รังสิต (“PRH”) โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 (“PRH2”) และโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต (“MCH”) ซึ่งจดทะเบียนภายใต้บริษัท ปทุมรักษ์เวชการจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ให้บริการในรูปแบบโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสูตินรีเวชกรรมและกุมารเวชกรรม(เรียกรวมว่า “กลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต”) รวมมีจำนวนเตียงจดทะเบียนทั้งสิ้น 270 เตียง ประกอบด้วยจำนวนเตียงจดทะเบียนของโรงพยาบาลแพทย์รังสิต 155 เตียง โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 จำนวน 59 เตียงและโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต จำนวน 56 เตียง ตามลำดับโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเดียวกัน โดยให้บริการทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไปและกลุ่มลูกค้าภายใต้โครงการสวัสดิการภาครัฐ
อนึ่งฯ หากย้อนไปดู ROJNA มีการลงทุนในธุรกิจสุขภาพต่อเนื่อง อย่างในปี 2565 มีที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ไทยยูนิเวสต์ โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 30% ของทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว มูลค่ารวม 600 ล้านบาท โดยบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจหลักคือการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company)
ซึ่งประกอบด้วยบริษัทดังต่อไปนี้:
- บริษัท แอดวานซ์ ฟาร์มาซูติคอล แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์
- บริษัท เนเชอรัล โปรดักท์ ซัพพลาย พลัส จำกัด ดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเวชสำอาง
- บริษัท เภสัชกรรมนครพัฒนา จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยารักษาโรค
- บริษัท แคปซูลโปรดักส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตแคปซูลเปล่าบรรจุยา
- บริษัท ไบโอ-อันโนวา จำกัด ดำเนินธุรกิจวิจัยและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยา
- บริษัท เจนไซน์ รีเสิร์ช จำกัด ดำเนินธุรกิจวิจัยและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมถึง
การผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค
และในปี 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 มีมติอนุมัติให้จองซื้อหุ้นสามัญ
ของบริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจสถานพยาบาล ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 3 แห่ง ในราคาจองซื้อหุ้นละ 21.00 บาท จำนวน 15 ล้านหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 315.00 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 การลงทุนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในระยะยาว และเป็นการขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์ใหม่ อันเนื่องมาจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของชุมชนเมือง และกระแสการดูแลสุขภาพที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก
อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาซื้อขายหุ้น PHG ของ ROJNA อยู่ที่ประมาณ 17.00-17.25 บาทต่อหุ้น
นาย มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงดีลดังกล่าวว่า ปกติแล้ว ROJNAจะมีการกระจายการลงทุนอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็มีการเข้าลงทุนธุรกิจยาอยู่ด้วย ดังนั้นการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลยังมองว่าเป็นความต้องเนื่อง และช่วยเสริมการการเติบโตของรายได้ต่อไป