หุ้นวิชั่น – PTT ปรับแผนลงทุน 5 ปี ทุ่ม 55,000 ล้าน ส่วนปีนี้ งบลงทุน 25,000 ล้านบาทในปี 2568 มุ่งขยายโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซ พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจ เน้นเพิ่มมูลค่าธุรกิจ Non-Hydrocarbon และนำเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน ขณะเดียวกันจับตาผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0 และแนวโน้มพลังงานสะอาด ด้านผลประกอบการปี 2567 คาดใกล้เคียงปีก่อน พร้อมย้ำไม่มีแผนควบรวมธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น แต่หาพันธมิตรเข้ามาเสริมแกร่ง
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจปี 2568 บริษัทได้วางงบลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2568-2572) ไว้ที่ 55,000 ล้านบาท โดยในปี 2568 จะใช้งบลงทุน 25,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เช่น การขยายโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซ รวมถึงการขยายกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง ขณะที่ปีนี้ยังไม่มีแผนลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยปรับแนวทางเน้นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม หรือต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่ใช้เงินลงทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอน พร้อมย้ำว่า การลงทุนที่สูงไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเสมอไป
ปตท. ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว ควบคู่ไปกับการลดคาร์บอน (Decarbonization) โดยในธุรกิจสำรวจและผลิต (Upstream) คาดว่าปริมาณขายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนยังคงอยู่ในระดับเดิม ด้านธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย (Downstream) คาดว่ามาร์จิ้นอาจปรับตัวดีขึ้น แต่กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นอาจได้รับผลกระทบจากแผนปิดซ่อมบำรุงของ TOP ส่วนธุรกิจไฟฟ้าคาดว่าจะฟื้นตัวตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น
สำหรับเป้าหมายสำคัญของปีนี้ บริษัทตั้งเป้าสร้าง EBITDA ส่วนเพิ่มของกำไรปกติของกลุ่ม PTT ภายในปี 2570 ประมาณ 30,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอน (Non-Hydrocarbon) เพิ่มมูลค่าจากโครงการ P1 ประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อปีภายใน 3 ปี และนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเพื่อลดต้นทุน รวมถึงดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ขณะเดียวกันยังมีแผนดำเนินโครงการ CCS และไฮโดรเจนในระยะยาว
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในปี 2568 ปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลต่อธุรกิจ เช่น นโยบาย Trump 2.0 ที่อาจส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอน (Recarbonization) และเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้า ขณะที่นโยบายพลังงานของภาครัฐ เช่น การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ (Single Pool, TPA) เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ส่วนปัจจัยภายในประกอบด้วยการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการบริหารความผันผวนทางการเงิน
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2567 ถือว่าทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยธุรกิจสำรวจและผลิตสามารถชดเชยแรงกดดันด้านราคาของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายได้ แม้จะได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถบริหารต้นทุนได้ดี ลดความผันผวนของผลประกอบการ และรับรู้กำไรพิเศษจากการทำ Bond Buy Back
ในส่วนของการลงทุนระยะยาว ปตท. เดินหน้าปรับโครงสร้างโรงกลั่นให้สอดคล้องกับมาตรฐานยูโร 5 และขยายการลงทุนด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ (SAF) ผ่าน PTTGC รวมถึงขยายธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดียผ่าน GPSC พร้อมมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และขยายโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่าน OR
ทั้งนี้ ปตท. ยืนยันว่าไม่มีแผนควบรวมธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นภายในกลุ่ม แต่กำลังเจรจากับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อเข้ามาร่วมลงทุน โดยมีเงื่อนไขว่ากลุ่ม PTT จะต้องคงสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ไว้ เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจในระยะยาว