GUNKUL-BGRIM ปลื้มได้ไฟเพิ่ม รัฐสั่งลุยไฟฟ้าทดแทน 2.1 พัน MW

          กกพ. ไฟเขียวผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 2,145 MW ด้าน GUNKUL กวาด 7 โครงการ 319 MW ดันกำลังการผลิตเพิ่ม ปักหมุดรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท ส่วน EGCO คว้าสิทธิ 11 โครงการ 448 MW ฟาก BGRIM รับ 60 MW เสริมฐานพลังงานหมุนเวียน ส่วน EA ได้เพิ่ม 90 MW หนุนแผนขยายธุรกิจ จ่อทยอย SCOD ปี 2569-2573 โบรกมอง GUNKUL เด่นสุด เนื่องจากกำลังผลิตที่ได้รับคัดเลือกในรอบดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของกำลังผลิตทั้งหมดในปัจจุบัน

          สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประชุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 72 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 2,145.4 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นพลังงานลม จำนวน 8 ราย รวม 565.40 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ตั้งแต่ปี 2571-2573 และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย รวม 1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ 2569-2573

          โดยมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ให้การไฟฟ้าคู่สัญญาแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 14 วันนับถัดจากวันที่สำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อ และกลุ่มที่ 2 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่มีรูปแบบการเชื่อมต่อสถานีไฟฟ้าเดียวกัน ตกลงรูปแบบการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายตามหลักการแบ่งปันสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน (Common Facilities Sharing) และยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่ประกาศผลการคัดเลือก

          นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในปี 2568 เชื่อว่ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2567 เนื่องจากภาพรวมตลาดยังมีศักยภาพ ทั้งงานจากโครงการพลังงานทดแทนรอบใหม่ และงานของภาครัฐที่มีงบลงทุนด้านพื้นฐานเพิ่มเติมตามความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากประมาณการรายได้ปี 2567 ที่คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตตามเป้า 15% จากปีก่อน ซึ่งปัจจุบันถือว่าใกล้เคียงแล้ว หลัก ๆ การเติบโตยังคงมาจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) และเทรดดิ้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า

          ทั้งนี้ ปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้างานในมือจากธุรกิจ EPC ไว้ที่ประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าวางเป้ากำลังการผลิตเติบโต 35% ใน 2 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่กว่า 1,500 เมกะวัตต์

          โดยล่าสุดสำนักงาน กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 กำลังการผลิตที่เสนอขายรวม 2,145 เมกะวัตต์ ซึ่งกลุ่มบริษัทย่อยที่ GUNKUL ถือหุ้นทางตรงผ่านบริษัท กันกุล วิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี 9 จำกัด ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 319 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 284 เมกะวัตต์ และโซลาร์กำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ โดยจะทยอย COD ตั้งแต่ปี 2570-2573 ส่งผลทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็นประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งเป้าหมายของบริษัทฯ คือการมีเมกะวัตต์สะสมเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2569 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าพลังงานลม

          ขณะที่โครงการพลังงานหมุนเวียนจำนวน 832 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าวินด์ฟาร์ม ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปก่อนหน้านี้ จะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตั้งแต่ปี 2569-2573 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 38,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังมีเงินลงทุนเพียงพอ และปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนยังอยู่ในระดับต่ำ พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง

          “ตามที่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้บริษัทในกลุ่มของ GUNKUL ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการขายสินค้าในระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและรับเหมาก่อสร้างจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมไปด้วย โดยเฉพาะงานรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับโอกาสทำสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมองว่าในอนาคตหากประเทศไทยมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและต้องการมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น GUNKUL ก็ยังมีโอกาสในการที่จะเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้น รวมถึงภาคเอกชนที่ตอนนี้ก็หันมาใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจโซลาร์ที่เป็น Private PPA ของ GUNKUL จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน” นางสาวโศภชา กล่าวในที่สุด

          ส่วน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผ่านการคัดเลือกกว่า 60 เมกะวัตต์ ขณะที่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผ่านการคัดเลือก 90 เมกะวัตต์

          บล. หยวนต้า ระบุว่า โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้น บริษัทในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกมากที่สุดคือ EGCO (ได้รับคัดเลือก 11 โครงการ ขนาดรวม 448 MW และเป็นโครงการแสงอาทิตย์ทั้งหมด) ตามมาด้วย GUNKUL (ได้รับคัดเลือก 7 โครงการ ขนาดรวม 319 MW แบ่งออกเป็นโครงการลม 4 โครงการ ขนาดรวม 284 MW และโครงการแสงอาทิตย์ 3 โครงการ ขนาดรวม 35 MW) มองว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดคือ GUNKUL ([email protected]) เนื่องจากกำลังผลิตที่ได้รับคัดเลือกในรอบดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของกำลังผลิตทั้งหมดในปัจจุบัน (ทั้งที่ COD แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

SC ขายหุ้น SC L1 ให้โตเกียวทาเทโมโนะ ร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

SC ขายหุ้น SC L1 ให้โตเกียวทาเทโมโนะ ร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

ปตท. คว้าอันดับ 1 โลกความยั่งยืนจาก S&P Global พร้อมมุ่งมั่นเติบโตยั่งยืนระดับโลก

ปตท. คว้าอันดับ 1 โลกความยั่งยืนจาก S&P Global พร้อมมุ่งมั่นเติบโตยั่งยืนระดับโลก

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริต

GPSC คว้าผู้ผลิต-ขายไฟฟ้า FiT ปี 2565-73 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง

GPSC คว้าผู้ผลิต-ขายไฟฟ้า FiT ปี 2565-73 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด