หุ้นวิชั่น – DMT คาดปริมาณจราจรปี 68 โต 2-3% แตะ 115,000 คัน/วัน หนุนรายได้จากการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทาน พร้อมเดินหน้าประมูลโครงการ M82 และเร่งขยายธุรกิจใหม่เพิ่มรายได้ Recurring Income ตอกย้ำศักยภาพเติบโตระยะยาว คาดปีหน้าชัดเจน
“ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจในปี 2568 โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการจราจรจะเติบโต 2-3% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 115,000 คันต่อวัน จากปัจจุบันที่มีปริมาณจราจรเฉลี่ยอยู่ที่ 110,000 คันต่อวัน ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้งานสนามบินดอนเมืองมากขึ้น ซึ่งส่งผลบวกต่อปริมาณการจราจรที่เข้ามาใช้บริการทางยกระดับดอนเมือง
อีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนรายได้ในปีหน้าคือ การปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางยกระดับฯ ภายใต้เงื่อนไขสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. โดยรายละเอียดการปรับขึ้นมีดังนี้
• ช่วงดินแดง–ดอนเมือง ปรับขึ้น 10 บาท/คัน/เที่ยว
• ช่วงดอนเมือง–อนุสรณ์สถาน ปรับขึ้น 5 บาท/คัน/เที่ยว
• ช่วงอนุสรณ์สถาน–ดินแดง ปรับขึ้น 15 บาท/คัน/เที่ยว
• ช่วงดอนเมือง–ดินแดง ปรับขึ้น 10 บาท/คัน/เที่ยว
การปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้จากการดำเนินงานให้กับบริษัทในระยะยาว และสนับสนุนการเติบโตของกำไรอย่างมีนัยสำคัญ
รุกงานโครงการ M82 หนุนอนาคต นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเข้าประมูลงานโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ โครงการ M82 ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในปีหน้า DMT มั่นใจในศักยภาพของบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลและคาดหวังว่าจะสามารถคว้าโครงการดังกล่าวได้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเติบโตในระยะยาว และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น
เดินหน้าขับเคลื่อน ESG ลดต้นทุนพลังงานกว่า 30%
ในด้านการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน DMT ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนด้าน ESG (Environment, Social, Governance) โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ล่าสุดได้ดำเนินโครงการติดตั้ง Solar Rooftop ระยะที่ 2 ครอบคลุมอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้ง 8 ด่าน พร้อมทั้งติดตั้ง อุปกรณ์ประหยัดพลังงานบนโคมไฟถนน 1,540 ต้น เรียบร้อยแล้ว
ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทจะดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop ระยะที่ 3 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ในส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ติดตั้ง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีแผนนำวัสดุลดความร้อน เช่น สีลดโลกร้อน และ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) มาใช้ในการบำรุงรักษาทางยกระดับ ซึ่งจะช่วยลดความร้อนสะสมและประหยัดพลังงานได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทได้ติดตั้ง สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) และปรับปรุงศูนย์อำนวยความสะดวก ณ ด่านเก็บค่าผ่านทางดินแดง เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2567 การดำเนินงานดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถประหยัดต้นทุนพลังงานได้แล้วกว่า 30%
ปั้นธุรกิจใหม่–บริษัทย่อยกำไรเกินเป้า
นอกจากธุรกิจทางยกระดับ บริษัทได้เดินหน้าศึกษาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ที่เน้นรูปแบบของ “Recurring Income” เพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 จะมีความคืบหน้าให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนของบริษัทย่อย “บริษัท เอ สยาม อินฟรา จำกัด” ก็สามารถทำกำไรได้สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต โดยบริษัทตั้งเป้าเสริมสร้างรายได้จากทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่ เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน